ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ตำรวจพระ” หรือ “พระวินยาธิการ” มีไว้ทำไม.?  (อ่าน 1350 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 :25: :25: :25:

“ตำรวจพระ” หรือ “พระวินยาธิการ” มีไว้ทำไม.?

ว่าด้วยเรื่องพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ)

พระวินยาธิการเป็นองค์กรคณะสงฆ์ที่เกิดขึ้นมาใหม่ในยุคของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน มิได้มีมาในอดีตกาล เพราะในอดีตกาลจะมีคณะสงฆ์ที่เรียกว่า พระวินัยธรกับพระธรรมธร

พระวินัยธร หมายถึงภิกษุผู้ทรงพระวินัย ดูแลเกี่ยวกับการประพฤติปฏิบัติทางด้านพระวินัย
พระธรรมธร หมายถึงภิกษุผู้ทรงพระธรรม ดูแลเกี่ยวกับการกล่าวธรรม การเทศนาธรรม ว่าถูกต้องตามพระสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้หรือไม่

ปัจจุบันคณะพระวินัยธรกับคณะพระธรรมธรดูเหมือนจะเลือนรางค่อยๆ หายไป แม้จะมีการแต่งตั้งพระวินัยธรจังหวัดและพระธรรมธรจังหวัด แต่ก็ได้แค่แต่งตั้งให้ปรากฏชื่อไว้เท่านั้น มิได้มีอำนาจในการตัดสินอรรถคดีหรืออธิกรณ์ที่เกิดขึ้นในหมู่ภิกษุสงฆ์แต่ประการใด แต่คณะสงฆ์กลับแต่งตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ใช้ชื่อว่า พระวินยาธิการพระวินยาธิการที่ท่านให้ความหมายด้วยคำจำกัดความว่า ตำรวจพระ



ตำรวจพระ ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร ในยุคของพระเดชพระคุณพระสุเมธาธิบดี ในสมัยดำรงตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ในปีพุทธศักราช 2533 ด้วยวัตถุประสงค์ 10 ประการ

     1. เพื่อความยอมรับว่าดีแห่งสงฆ์
     2. เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์
     3. เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก
     4. เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก
     5. เพื่อป้องกันอาสวะอันจะเกิดขึ้นในปัจจุบัน
     6. เพื่อกำจัดอาสวะจักเกิดขึ้นในอนาคต
     7. เพื่อความเลื่อมใสของปวงชนที่ยังไม่ได้เลื่อมใส
     8.เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของปวงชนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว
     9. เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม
   10. เพื่อเอื้อเฟื้อพระวินัย

ซึ่งในยุคนั้นสมัยนั้น มหาเถรสมาคมยังไม่มีมติรับรองว่า เป็นองค์กรที่ถูกต้องตามกฎระเบียบของมหาเถรสมาคม แต่ก็มิได้ขัดข้องหรือให้ยกเลิกแต่ประการใด เพราะเป็นอำนาจของเจ้าคณะปกครองที่จะแต่งตั้งคณะภิกษุสงฆ์เข้ามาช่วยเหลืองานด้านการปกครอง


@@@@@@

เน้นเฉพาะด้านการปกครองเท่านั้น

โดยมีเนื้อหาย่อๆ ว่า พระวินยาธิการ ถือเป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งของการปกครองคณะสงฆ์ ที่คอยช่วยเหลือเจ้าคณะพระสังฆาธิการทำหน้าที่คอยตรวจตรา แนะนำ ดูแล แก้ไข ให้พระภิกษุสามเณรประพฤติปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย ฯลฯ กำจัดคนพาลอภิบาลคนดี ทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองพระพุทธศาสนา มิให้เกิดความเสียหายโดยส่วนรวม…ฯ

สาเหตุแห่งการแต่งตั้งพระวินยาธิการขึ้นมานั้น เพราะเจ้าคณะผู้ปกครองได้เห็นการประพฤติปฏิบัติผิดธรรม ผิดวินัยของภิกษุผู้ไม่เอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัย ท่องเที่ยวไปในสถานที่อโคจรบ้าง บิณฑบาตเกินเวลาแห่งการบิณฑบาตบ้าง นั่งรับบิณฑบาตแบบหมุนเวียนเพื่อการขายอาหารบิณฑบาตบ้าง

จึงเป็นสาเหตุให้เกิดพระวินยาธิการขึ้น เมื่อพระวินยาธิการดำเนินการจับภิกษุที่ประพฤติตัวไม่เหมาะสมมีการละเมิดพระวินัย จนเป็นเหตุให้สละสมณเพศ บางครั้งบางคดีที่ผู้ถูกจับไม่ยินยอมสละสมณเพศ แต่ถูกบังคับให้สละสมณเพศแล้ว ก็ไปฟ้องร้องศาลโลก

@@@@@@

ผู้พิพากษาหลายท่านที่พิจารณาตามหลักกฎหมายให้สอดคล้องด้วยพระธรรมวินัย ก็ไม่ยอมรับพระวินยาธิการว่าเป็นผู้แทนคณะสงฆ์โดยชอบธรรม เพราะสถานะพระวินยาธิการไม่มีปรากฏในพระไตรปิฎก แต่ศาลโลกยอมรับแต่คณะพระวินัยธรกับคณะพระธรรมธรว่า เป็นผู้แทนคณะสงฆ์โดยชอบธรรมที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัย

นี้จึงเป็นเหตุให้มหาเถรสมาคมควรไตร่ตรององค์กรที่จะเป็นผู้แทนหรือตัวแทนในการดำเนินงานให้ถูกต้องตามพระวินัยที่ทางศาลโลกได้รับรู้ได้เข้าใจและรับรองว่า ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความบกพร่องในระเบียบปฏิบัติของคณะผู้ปฏิบัติงาน

เมื่อถามถึงความบกพร่องแห่งการประพฤติปฏิบัตินี้เกิดขึ้นจากสาเหตุใด จุดเริ่มต้นจากใคร นี่เป็นคำถามที่เจ้าคณะผู้ปกครองควรพิจารณาไตร่ตรองในเบื้องต้นให้แยบยลยิ่งขึ้น



อันดับแรกของจุดเริ่มต้น ก็คือพระอุปัชฌาย์

พระอุปัชฌาย์ให้การอุปสมบทแล้วได้อบรมสั่งสอนให้สัทธิวิหาริกได้รู้ได้เข้าใจในหลักการประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย โดยเฉพาะเสขิยวัตรหรือไม่.?

มิใช่ให้การอุปสมบทแล้วก็บอกอนุศาสน์ 8 อย่าง แค่นิสัย 4 อกรณียกิจ 4 ก็ถือว่าจบในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์แล้ว หลังจากนั้นก็ปล่อยปละละเลยมิได้สนใจอีกเลย การปล่อยปละละเลยจนกระทั่งไม่รู้ว่าสัทธิวิหาริกของท่านในปีนั้นๆ มีใครบ้าง? ชื่ออะไรบ้าง? อยู่ที่ไหนบ้าง?

นี่คือความบกพร่องในเบื้องต้นของพระอุปัชฌาย์ แม้จะไปให้การอุปสมบทนอกอาราม หน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ก็ต้องเอาใจใส่คอยดูแล คอยแนะนำ คอยพร่ำสอนมิให้สัทธิวิหาริกประพฤติผิดธรรม ผิดวินัย

การให้การอุปสมบทนอกอารามหรือว่านอกวัด แม้จะมีพระกรรมวาจาจารย์หรือพระอนุสาวนาจารย์คอยเป็นผู้ดูแล คอยแนะนำ คอบอบรม คอยพร่ำสอนในฐานะภิกษุผู้บวชใหม่มีสถานะเป็นอันเตวาสิกก็ตาม แต่กรรมวาจาจารย์ก็ดี อนุสาวนาจารย์ก็ดี มิได้มีอำนาจเหมือนพระอุปัชฌาย์ ซึ่งในข้อนี้พระอุปัชฌาย์ย่อมรู้ดี แต่พระอุปัชฌาย์บางรูปก็ยังประพฤติย่อหย่อนในหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์ของตน โดยการเพิกเฉย ละเลย ถือว่าให้การอุปสมบทแล้วก็หมดหน้าที่ของพระอุปัชฌาย์

@@@@@@

คตินิยมแบบนี้ถือว่า เป็นความผิดในคุณสมบัติของความเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระอุปัชฌาย์ไม่สนใจให้การอบรมสั่งสอนมาแต่ต้น จึงก่อให้เกิดปัญหาการประพฤติย่อหย่อนในพระธรรมวินัยตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

การประพฤติย่อหย่อนในพระวินัยที่มีภาพปรากฏให้เห็นทั่วประเทศ ก็คือประพฤติผิดหลักเสขิยวัตรเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นอาบัติในทางพระวินัยเป็นเพียงเล็กน้อย แต่ความผิดที่เป็นโลกวัชชะกลับร้ายแรงและรุนแรงกว่าอาบัติทุกกฎ ยิ่งปัจจุบันสังคมโลกออนไลน์ โลกโซเชียล มีอิทธิพลสูงสุด เร็วสุด ในทุกวงการ การประพฤติผิดเสขิยวัตรนอกวัดก็จะปรากฏไปในโลกโซเชียล โลกออนไลน์ อย่างรวดเร็ว ยากที่จะตามแก้ไขได้ทันท่วงที

นอกจากนั้นแล้วก็จะมีอาหารเสริมในเรื่องกามกิเลส กามคุณ มาสนับสนุนให้มีการประพฤติผิดพระวินัยมากยิ่งขึ้น แม้จะมีเพียงประปรายในรายของพระเถระผู้ใหญ่



คำว่า พระเถระ ตามพระวินัย คือภิกษุผู้มีพรรษาเกินกว่า 10 พรรษา ขึ้นไป ถือว่าเป็นพระเถระ

ตามพระวินัยได้แบ่งฐานะภิกษุในพระพุทธศาสนาไว้ 3 ระดับ ตามที่ปรากฏในพระวินัยปิฎก มหาวิภังค์ว่า มี
    - ภิกษุชั้นนวกะ มีพรรษาไม่เกิน 5 พรรษา
    - ภิกษุชั้นมัชฌิมะมีพรรษาตั้งแต่ 5 พรรษา แต่ไม่เกิน 10 พรรษา
    - ส่วนภิกษุที่มีพรรษาตั้งแต่ 10 พรรษาขึ้นไป เรียกว่า ชั้นพระเถระ

ในครั้งพุทธกาลได้มีการกล่าวถึงพระวินัยธรกับพระธรรมธร ในเรื่องภิกษุชาวเมืองโกสัมพี ก่อเหตุวิวาทกันในเรื่องเว้นน้ำที่ชำระแล้วไว้ในภาชนะในถาน (ส้วม)

เมื่อมีพระวินัยธรและพระธรรมธรมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คณะสงฆ์ซึ่งมีมหาเถรสมาคมเป็นผู้ดูแล ควบคุม ออกกฎ ระเบียบ ว่าด้วยเรื่องการประพฤติปฏิบัติของภิกษุสามเณรในปัจจุบัน ควรเอื้อเฟื้อพระวินัยในการใช้ศัพท์ตามพระวินัย คือคำว่า พระวินัยธร และพระธรรมธร มากกว่าการใช้คำใหม่ว่า พระวินยาธิการ

    ถามว่า คำว่า พระวินยาธิการ ผิดพระวินัยไหม.?
    ก็ตอบได้ว่า ไม่ผิด

@@@@@@

แต่อยากให้ใช้รูปศัพท์ที่เป็นของเก่าตามพระวินัย จะดูเหมาะสมกว่า ดีกว่า สง่างามกว่า ศักดิ์สิทธิ์กว่า เพราะมีที่มาที่ไปในครั้งพุทธกาล มส.ควรพิจารณาศัพท์ตามพระวินัยและออกกฎระเบียบให้เอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยในการไต่สวนอรรถคดีหรืออธิกรณ์ตามลำดับ เช่น

    1. พระวินัยธร พระธรรมธรชั้นต้น มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมในระดับจังหวัดหรือระดับภาคก็ได้
    2. พระวินัยธร พระธรรมธรชั้นอุทธรณ์ มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมในระดับหน
    3. พระวินัยธร พระธรรมธรชั้นฎีกา ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของมหาเถรสมาคม (มส.)

เพราะเท่าที่ศึกษาดูงานในอำนาจหน้าที่ของพระวินยาธิการ ก็สอดคล้องกับงานในอำนาจหน้าที่ของพระวินัยธรและพระธรรมธรอยู่แล้ว แต่มีข้อแตกต่างตรงที่ว่า พระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) มีอำนาจจับพระภิกษุสามเณรที่ประพฤติผิดในชุมชนนอกวัดเป็นส่วนใหญ่ จับแล้วก็ไม่ได้ไต่สวนสอบสวนตามขั้นตอนตามระบบการปกครองคณะสงฆ์ตามพระวินัย

พอจับได้ว่าประพฤติผิด ก็ส่งให้เจ้าคณะปกครองดำเนินการสละสมณเพศทันที จึงไม่รู้ว่าเป็นพระจริงหรือพระปลอม เพราะไม่มีการไต่สวนสอบสวนและประกาศให้สงฆ์ได้ทราบโดยทั่วกัน


@@@@@@

ภิกษุผู้ประพฤติปฏิบัติอันเป็นปาปสมาจาร ควรลงนิคหกรรมตามสมควรแก่อาบัติที่ภิกษุนั้นละเมิดเป็นอาจิณทั้งครุกาบัติหรือลหุกาบัติ ถ้าลงนิคหกรรมในความผิดอันเป็นปาราชิกสิกขาบท ก็ให้ภิกษุนั้นได้สละสมณเพศในทันที ถ้าเป็นคดีอาญาก็ให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองดำเนินการต่อไป และเมื่อดำเนินการแล้วก็ประกาศให้เจ้าคณะปกครองตามลำดับชั้นได้ทราบตั้งแต่เจ้าคณะใหญ่ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล และเจ้าอาวาสได้ทราบโดยทั่วกันทั้งประเทศ เพื่อป้องกันการบวชใหม่แห่งบุคคลนั้น

แต่การจะลงนิคหกรรมตามพระวินัยควรมีรูปแบบในการพิจารณาอธิกรณ์ด้วยพระวินัยธรและพระธรรมธร แม้ในปัจจุบันจะเป็นอำนาจของเจ้าคณะปกครองแล้วก็ตาม แต่ควรแยกการปกครองกับคณะวินัยธร คณะธรรมธรให้ออกจากกันให้เป็นเสมือนฝ่ายบริหารบ้านเมืองแยกขาดจากตุลาการโดยสิ้นเชิง ไม่มีการก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน สร้างสรรค์รูปแบบให้สวยงาม สง่างาม เพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ของพระธรรมวินัย

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ก็เพื่อเป็นการรักษาหลักการ อุดมการณ์ และวิธีการ ตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ทรงบัญญัติไว้แล้วเพื่อมิให้เสื่อมไป สิ้นไป และสูญไป ของพระธรรมวินัยในพระพุทธศาสนา

@@@@@@

คราวนี้มาดูอำนาจหน้าที่ของพระวินยาธิการ ตามหลักการของมหาเถรสมาคม ตามมติที่ออกมาแล้ว

“มติ มส.ดังกล่าว ระบุว่า พระพรหมมุนี (สุชิน อคฺคชิโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กรรมการ มส. ได้ปรารภว่า ปัจจุบันพระวินยาธิการ คือ พระภิกษุที่ได้รับการแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัด หรือเจ้าคณะผู้ปกครอง ให้เป็นผู้ช่วยเหลือสนับสนุนการปกครองของเจ้าอาวาส และเจ้าคณะผู้ปกครองทุกระดับชั้น ช่วยตรวจตรา ดูแล ชี้แจง และแนะนำพระภิกษุสามเณรให้

ประพฤติปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย กฎ กฎหมาย กฎ มส. ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง มติ ประกาศ พระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน เพื่อการปกป้อง คุ้มครอง และจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีความมั่นคงและยั่งยืนสืบไป เพื่อให้งานด้านการปกครองของ มส.เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จึงเสนอแต่งตั้งกรรมการ ประกอบด้วย พระพรหมมุนี วัดราชบพิธฯ และพระพรหมบัณฑิต วัดประยุรวงศาวาส เป็นที่ปรึกษา พระพรหมโมลี วัดปากน้ำ เป็นประธาน

โดยกรรมการมีผู้แทนมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ผู้แทนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย รอง ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผอ.สำนักเลขาธิการ มส. ผอ.กลุ่มคุ้มครองพระพุทธศาสนา และผู้แทนกลุ่มนิติการ มีหน้าที่ยกร่างกฎ ระเบียบ พระวินยาธิการ แล้วนำเสนอคณะกรรมการร่างกฎพิจารณาต่อไป”

พระพรหมโมลี (สุชาติ ธมฺมรตโน) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) แม่กองบาลีสนามหลวง เจ้าคณะภาค 5 กล่าวว่า ตามที่ มส.มีมติเห็นชอบแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎ ระเบียบ พระวินยาธิการหรือที่คนทั่วไปเรียกว่า ตำรวจพระ โดยมีตนเป็นประธานคณะกรรมการนั้น เร็วๆ นี้จะนัดหารือคณะกรรมการเพื่อหาแนวทางพิจารณายกร่างกฎระเบียบเพื่อรองรับสถานะของพระวินยาธิการต่อไป (ข้อความจาก น.ส.พ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 7 กรกฎาคม 2561)

@@@@@@

คณะกรรมการยกร่างกฎระเบียบพระวินยาธิการได้ประชุมครั้งแรก เมื่อวันจันทร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2561 เวลา 13.00 น. ณ วัดหงส์รัตนาราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร และพระพรหมโมลี ประธานกรรมการพิจารณายกร่างกฎ ระเบียบ พระวินยาธิการ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วย

     1. พระเทพปริยัติมุนี วัดหงส์รัตนาราม กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     2. พระเทพปริยัติโมลี วัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     3. พระราชวรมุนี วัดสังเวชวิศยารามกรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     4. พระศรีสุทธิเวที วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     5. พระสิทธินิติธาดา วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     6. พระสุนทรกิจโกศล วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     7. พระครูชัยสารสุนทร วัดเวฬุราชิณ กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน
     8. พระครูศรีปัญญาธร วัดสังข์กระจาย กรุงเทพมหานคร คณะทำงาน

รวมคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎ ระเบียบ พระวินยาธิการ จำนวน 9 รูป

@@@@@@

และถ้าคณะกรรมการพิจารณายกร่างกฎ ระเบียบ พระวินยาธิการ ชุดนี้ ได้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานของพระวินยาธิการที่ผ่านมาได้ผจญปัญหาใดบ้าง ทั้งทางเจ้าคณะปกครองและการดำเนินการในศาลโลก ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่งว่ามีความน่าเชื่อถือในคณะองค์กรใด ระหว่างการใช้รูปแบบของพระวินัยธร พระธรรมธร กับรูปแบบพระวินยาธิการ เพื่อให้สมบูรณ์แบบทั้งทางโลกและทางธรรม

แต่ผมยังเห็นว่าองค์กรในรูปแบบพระวินัยธรกับพระธรรมธร จะดูสง่างาม น่าเกรงขามและมีความศักดิ์สิทธิ์กว่ารูปแบบของพระวินยาธิกา



ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 19-25 เมษายน 2562
คอลัมน์ : รายงานพิเศษ
ผู้เขียน : ฉมณ์คิด แผนสมบูรณ์
เผยแพร่ ; วันเสาร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/special-report/article_189064
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 29, 2019, 06:03:24 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

fasai

  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 540
  • ทางสายกลาง
  • Respect: +1
    • ดูรายละเอียด
Re: “ตำรวจพระ” หรือ “พระวินยาธิการ” มีไว้ทำไม.?
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤษภาคม 02, 2019, 07:49:17 pm »
0
 st12 st12 st12
บันทึกการเข้า
ทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นไปตามกรรม
ใครสร้างกรรมอย่างไร ก็รับผลกรรมอย่างนั้น