ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ประวัติพญายมราช  (อ่าน 144666 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 3 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ประวัติพญายมราช
« เมื่อ: สิงหาคม 03, 2010, 07:52:47 pm »
0
ประวัติพญายมราช
ตำนานท้าวพญายมราช (พระยม)


    ท้าว พญายมราช หรือ พระยม ในเทวตำนานยุคต้น ท้าวจตุโลกบาลแห่งทิศทักษิณ กล่าวไว้คือพระยม เป็นองค์เดียวกัน มีลักษณะใบหน้าดุดัน พระวรกายสีแดงทรงเครื่องอย่างกษัตริย์ พระหัตถ์ขวาถือบ่วงยมบาศก์(บ่วงบาศก์ที่ใช้จับมัดวิญญาณทั้งหลาย) พระหัตถ์ซ้ายทรงไม้ท้าวยมทัณฑ์ ทรงกระบือเป็นพาหนะ มีอิทธิฤิทธิ์มากทำหน้าที่พิพากษาและปกครองดวงวิญญาณทั้งหลายในนรกภูมิ มีบริวารคือ ยมฑูต หรือ นายนิรยบาล มีหน้าที่นำวิญญาณทั้งหลายไปยังสำนักพญายม และลงโทษแก่ดวงวิญญาณในนรก

ซึ่งบริวารท้าวพญายมราชที่คนไทยรู้จักดีมีด้วยกัน ๒ องค์ ได้แก่ พระกาฬไชยศรี และ เจ้าพ่อเจตตคุปต์ ซึ่งมีรูปเคารพอยู่ที่ศาลหลักเมือง ทำหน้าที่จดชื่อและจับวิญญาณชั่วร้ายที่จะมารบกวนบ้านเมือง ท้าว พญายมราช เป็นเทวดาที่มีการกล่าวถึงในตำนานของทุกชาติพันธุ์ภาษา ของทุกวัฒนธรรมทั่วโลก ต่างกันเพียงการเรียกนามที่เป็นเอกลักษณ์ของแต่ละภาษาเท่านั้น ส่วนหน้าที่และอำนาจนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ตำนานลัทธิข้างจีนฝ่าย มหาญาน กล่าวว่า พญายมเป็นพระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่ง

      ตำนานท้าวพญายมราช มีการกล่าวถึงกำเนิดไว้หลากหลาย อาจเป็นเพราะพญายมเป็นตำแหน่งเทวราชผู้ปกครองยมโลก มีการหมุนเวียนเปลี่ยนไปตามมติของเทวสภา หรือบารมีที่สั่งสมมาอย่างเหมาะสมทำให้ไปเกิดเป็นท้าวพญายมราช จากเทวตำนานในยุคต้นที่กล่าวว่าท้าวจตุโลกบาลทิศทักษิณ คือ พระยม

ด้วยในยุคต้นที่ยังไม่มีวิญญาณใดที่เหมาะสม ท้าวจตุโลกบาลทิศทักษิณ คือ ท้าววิรุฬหก ทรงเป็นเทวกำเนิดจึงต้องรับภาระในตำแหน่งพญายม หรือ พระยม ซึ่งก็มีตำนานได้กล่าวไว้ว่า บริวารของพญายมคือ ยมฑูต ก็ คือกุมภัณฑ์ พวกหนึ่งนั่นเอง แต่เมื่อมีมนุษย์มากขึ้นสั่งสมบารมีหรือมีความเหมาะสมย่อมได้รับการสถาปนา ให้ดำรงตำแหน่ง

      ท้าวพญายมราช องค์ปัจจุบันในอดีตชาติก่อนที่ท่านจะได้รับสถาปนาเป็นท้าวพญายมราชนั้น ท่านเป็นมนุษย์ในครั้งก่อนพุทธกาล ในยุคที่ยังมนุษย์อยู่กันเป็นชุมชนยังไม่ใหญ่นัก ซึ่งท่านเป็นหัวหน้าชุมชนในหมู่บ้านเป็นผู้มีวิชาความรู้ เมื่อเกิดเหตุความไม่สงบขึ้นในชุมชนหมู่บ้านท่านเป็นผู้นำปราบปรามแก้ไข และต้องตัดสินพิพากษา

ครั้งหนึ่งเกิดเหตุการณ์ฆ่ากันตายในหมู่บ้านที่ท่านดูแลอยู่ แต่ไม่มีผู้ใดยอมรับว่าเป็นผู้กระทำด้วยเกรงกลัวความผิด เพราะโทษนั้นหนักถึงกับต้องประหารให้ตายตกตามกันคือชีวิตต้องชดใช้ด้วยชีวิต ท่านในฐานะผู้ปกครองดูแลเมื่อสอบสวนแล้วไม่มีผู้ยอมรับผิด จึงได้ใช้วิชาความรู้ที่ร่ำเรียนมาเสกแป้งฝุ่นแล้วซัดออกไปก็จะปรากฎรอยเท้า ผู้กระทำผิด

เมื่อตามรอยเท้านั้นไปปรากฎว่าผู้เป็นเจ้าของรอยเท้านั้นคือพ่อบังเกิดเกล้า ของท่านเอง ท่านมีความเสียใจเป็นอย่างมากไม่รู้จะทำอย่างไร ท่านพิจารณาด้วยใจอันเป็นธรรมอย่างที่สุดจึงได้ตัดสินให้ประหารพ่อ ของท่านเอง แล้วก็ออกจากหมู่บ้านเร่ร่อนไปจนท่านเสียชีวิตเพียงลำพัง เป็นการแสดงให้เห็นว่าท่านมีความเที่ยงธรรมอย่างหาที่เปรียบมิได้

เพราะหากท่านไม่บอกแก่ใครย่อมไม่มีผู้ใดล่วงรู้ได้ อีกทั้งท่านก็ยังได้ดำรงอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านมีความสุขสบายไม่ต้อง ลำบากเร่ร่อนไปอย่างเดียวดาย เมื่อท่านได้เสียชีวิตดวงวิญญาณของท่านเป็นยกย่องในความเที่ยงธรรม เทวดาทั้งหลายจึงแสดงฉันทามติสถาปนาท่านให้ดำรงตำแหน่งท้าวพญายมราช

องค์พญายมราชจะมีผู้ช่วยสำคัญในการไปนำดวงวิญญาณ ของสัตว์โลกมาสู่แดนปรโลก หรือแดนยมโลกคือ องค์เจ้าพ่อพระกาฬชัยศรี เจ้าพ่อพระกาฬชัยศรีนี้มีรูปปั้นอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กรุงเทพมหานคร มีเทวะลักษณะเป็นเทพยดาที่สี่กร กรหนึ่งถือดวงไฟหมายถึงดวงวิญญาณ กรหนึ่งถือบ่วงบาศเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการใช้จับดวงวิญญาณทั้งปวง ขี่นกเค้าแมวเป็นพาหนะ

พระองค์เป็นบริวารของพญายมราชทำหน้าที่เก็บดวงวิญญาณต่างๆ บ้านไหนที่จะมีคนตาย พระองค์จะทรงใช้นกแสกบ้าง นกเค้าแมวบ้าง ไปเกาะลังคาบ้านร้องเตือนให้ทราบล่วงหน้า หรือบันดาลนิมิตดีร้ายให้ทราบ หากผู้นั้นมีปัญญาจะได้รีบขวนขวายทำบุญก่อนจะหมด โอกาสในโลก

นอกจากนี้พระองค์ยังมีบริวารเรียกว่าเหล่ายมฑูต ทำหน้าที่ไปเก็บดวงวิญญาณต่างๆให้พระองค์อีกทีหนึ่งด้วย ซึ่งเราชาวโลกจะเรียกท่านว่า พญามัจจุราชนั่นเองนอกจากนี้องค์พญายมราชยังมีบริวารที่ทำหน้าที่บันทึกการ กระทำความดีความชั่ว เรียกว่าสุวัณ และสุวาณ

สุวัณนั้นทำหน้าที่จดการกระทำความดีของผู้ที่กระทำความดีตั้งอยู่ในศีลใน ธรรม การจดนั้นท่านใส่สมุดทองคำ ยามรายงานองค์พญายมราชเสร็จเรียบร้อยจะทำการยกขึ้นจบเหนือหัวเป็นการ อนุโมทนา ส่วนสุวาณทำหน้าที่จดการกระทำของคนชั่วประพฤติบาป ไม่ตั้งอยู่ในศีลในธรรม การจดก็จดใส่สมุดหนังหมา เป็นการ คาดโทษเอาไว้

     ใน พระไตรปิฏกกล่าวว่าองค์พญายมราชนั้นเมื่อได้ฟังเทศน์จากองค์สมเด็จพระสัมมา สัมพุทธเจ้ามีดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบันนั่นเป็นเบื้องต้น ครูบาอาจารย์ที่ถอดจิตได้อย่างหลวงพ่อฤาษีลิงดำ ท่านกล่าวว่าองค์พญายมราชนั้นปัจจุบันท่านมีภูมิธรรมชั้นพระอนาคามี เป็นภูมิพรหม ดำรงตำแหน่งการพิพากษาตัดสินดวงวิญญาณในแดนยมโลกอย่างยุติธรรม ประกอบด้วยเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา คือดวงวิญญาณแต่ละดวงที่ตกมายังยมโลกนั้น


พระองค์จะไต่ถามด้วยความเมตตาว่าระลึกถึงบุญอันใดได้บ้าง หากดวงวิญญาณนั้นๆระลึกได้แม้สักอย่างท่านจะอนุโมทนาและให้ไปรับส่วนบุญ นั้นๆ หากดวงวิญญาณไม่อาจระลึกถึงคุณงามความดีใดๆได้เลยท่านก็ทรงจิตไว้เป็น อุเบกขา ว่าเป็นกรรมของสัตว์โลก ท่านก็จัดส่งไปลงโทษตามควรแก่ฐานานุโทษของสัตว์นั้นๆ

     ในด้านของไสยศาสตร์นั้น พระยายมราช นับเป็นเทวะราชาพระองค์หนึ่งที่มีเทพอาวุธอันทรงอานุภาพเปรียบได้กับอาวุธ ปรมาณู ซึ่งมีอานุภาพทำลายล้างสูงสุดเป็นที่เกรงกลัวของทั้งสามภพ ในตำราทางไสยศาสตร์นั้นเทพอาวุธอันทรงอานุภาพมีด้วยกัน ๕ อย่าง เป็นของเทพ ๕ พระองค์ มีดังนี้ครับ     

วัชระ ของพระอินทร์ ๒ ผ้าโพกหัวของอาฬาวะกะยักษ์ ๓ นัยตาของพญาอาวุธทั้ง ๕ นี้ถือเป็นของที่มีอานุภาพสามารถทำลายล้างสารพัดสรรพสิ่งได้เป็นจุณมหาจุณ  เป็นที่เกรงกลัวของภูติผีปีศาจอย่างยิ่ง ครูบาอาจารย์ได้นำเอาเรื่องราวของอาวุธทั้ง ๕ มาประพันธ์เป็นพระคาถาในการป้องกันและปราบปรามภูติผีปีศาจได้อย่างชะงัด 

    ด้านการอานิสงค์ของการบูชานับถือพญายมราชนั้น เชื่อกันว่าภูติผีปีศาจไม่กล้าระราน ผู้นั้นจะมีตบะบารมีที่น่าเกรงขาม ใครคิดร้ายด้วยทุจริตมิชอบอิจฉาตาร้อน จะแพ้ภัยด้วยตัวเขาเอง นอกจากนี้หากหมั่นบูชาพระองค์ท่านเสมอๆท่านว่าจะห่างไกลจากความป่วยไข้มี อายุยืนนาน หากรับราชการหรือทำมาค้าขายด้วยความซื่อตรงก็จะบังเกิดความเจริญมีความสุขใน ชีวิตยิ่งๆขึ้นไป

ที่มา  http://www.pootor.net/p001
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติพญายมราช
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: สิงหาคม 03, 2010, 08:04:31 pm »
0
ท่านพระยายม


ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายและพระคุณเจ้าที่เคารพ เมื่อวันพุธก่อน กระผมได้นำท่านพุทธศาสนิกชนและบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพ ไปนั่งพักอยู่ที่สำนักของพระยายม แล้วก็กำลังนั่งที่เก้าอี้แก้วมณี อัน นี้บรรดาญาติโยมพุทธบริษัทและพระคุณเจ้าอาจจะสงสัยว่า สำนักของพระยายมสำนักนี้ ถ้าเราอ่านตามหนังสือไตรภูมิจะรู้สึกว่า เป็นสำนักที่เต็มไปด้วยความโหดร้ายทารุณมีแต่บุคคลที่น่ากลัว หน้าตาถมึงทึงด้วยประการทั้งปวง แม้แต่พระยายมเองก็เหมือนกัน นักแสดงโทรทัศน์ทำเขาให้พระยายมเสียสองเขา แสดงว่าพระยายมมีเขา และมีสภาพดุร้าย

สำหรับคนของพระยายมก็เหมือนกัน ที่เรียกกันว่า ยมทูต อันนี้ เขามีสัญญลักษณ์ มีหัวกะโหลกไขว้ และมีหัวกะโหลกเป็นสัญญลักษณ์ อันไม่จริง

ความจริงคนที่เขียนอย่างนั้น เป็นการวาดภาพเอาเองคล้าย ๆ กับว่าการเขียนรูปของโจร โจรผู้ร้ายเขามักจะเขียนหน้าตาถมึงทึงน่ากลัว มีหนวดเครารุงรัง แต่โดยที่แท้แล้ว โจรจริง ๆ มีรูปร่างหน้าตาสะสวยยิ่งกว่าเราเสียอีก

นี่แหละบรรดาท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย และบรรดาพระคุณเจ้าที่เคารพที่รักฟัง ความจริงไม่ตรงกัน คือ ถ้าหากมาฟังจากพระที่ท่านท่องเที่ยวในเมืองนรกได้ ท่านบอกว่า จะมีอาการเป็น ๒ อย่างด้วยกัน การเห็นในระยะแรกถ้ากำลังฌานของเราดี แต่ว่าวิปัสสนาญาณไม่ดี จะเห็นคนในที่นั้น หน้าตาไม่สะสวยไม่งดงาม มีหน้าตาน่ากลัว

แต่มาถึงขั้นวิปัสสนาญาณดีแล้ว เรียกว่า วิปัสสนาญาณเข้าขั้น เข้าระดับที่ไม่ถอยหลังลงมา มีอารมณ์แจ่มใจตัดอุปาทานได้เด็ดขาด อันนี้จะเห็นสำนักของพระยายมอีกสภาพหนึ่ง คือ เป็นสภาพที่เต็มไปด้วยความสวยสดงดงาม

นี่ เรื่องของตาก็มีความสำคัญมาก ถ้าคุณตามัวเห็นของสวยก็มัวไปด้วย ส่วนคนเห็นตาดีก็เห็นได้ตามความเป็นจริง นี่ว่ากันถึงตาเนื้อ ตาเนื้อมีสภาพฉันใด ตาใจก็เหมือนกันนะ พระคุณเจ้าที่เคารพ ตาใจนี่มีความสำคัญมาก โดยมากมักจะยึดตาฌาน ตาเนื้อหรือความรู้สึก คือ มีความนึกคิดไว้ก่อนว่า สภาพของสวรรค์ เป็นยังงั้น นี่ความตรงกันระหว่างตากับความเป็นจริงมันมีอยู่ แล้วอารมณ์ของจิตก็เหมือนกัน ถ้าจิตของบุคคลใดมีอุปาทานอยู่ อันนั้นจะเห็นของจริงไม่ได้ เอาละ เรื่องนี้ขอผ่านไป เพราะเป็นหลักวิชาน่าเบื่อ

เป็นอันว่า เวลานี้ท่านพุทธศาสนิกชน และพระคุณเจ้าที่กำลังติดตามรายการทัศนาจรนรก กำลังนั่งอยู่ที่เก้าอี้แก้วมณี เห็นหรือไม่เห็น? เห็นหรือยัง? ถ้าไม่เห็นก็นึกเห็นเอาก็แล้วกัน เพราะความจริงไม่ได้พาไปจริง ๆ เป็นการเล่าสู่กันฟัง

ท่านทั้งหลายฟังไว้ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติถึงแล้วจะได้ไม่สงสัยว่า สภาพของสำนักของพระยายมเป็นยังไง เวลาที่เราได้ฌานโลกีย์อย่างต่ำ หรือว่า ฌานโลกีย์อย่างสูง เราเห็นสภาพเป็นยังไง มัว ๆ เหมือนกับบ้านธรรมดา หน้าตาในสำนักนั้นเหมือนคนธรรมดา

ตานี้ พระที่ท่านได้อภิญญาด้วย แล้วก็ได้อรหัตผลว่ากันยังงี้ก็แล้วกัน ได้อรหัตผลด้วย แล้วก็ทรงอภิญญาด้วย บอกว่าไม่ใช่ยังงั้น ความจริง พระยายมมีความสวยสดงดงาม มีวิมานเป็นที่อยู่ บางท่านย่องเขียนเอาไว้ว่า พระยายมเป็นเวมานิกเปรต เป็นเปรตจำพวกหนึ่งที่อยู่วิมาน ว่าเข้าไปนั่น นี่ไม่ใช่พระอรหันต์ว่านะ คนกินเหล้าเขียนหนังสือให้ ชาวบ้านอ่าน เขาเขียนยังงั้น เขาเลยเอาอารมณ์เหล้ามาเขียน เป็น อันว่า เวลานี้ท่านนั่งอยู่ในสำนักของพระยายมแล้ว

มองดูไปข้างหน้า หันหน้าไปทางทิศตะวันตกนะ เรานั่งทางด้านทิศตะวันออก บริเวณอาคารหลังใหญ่ ภายในเป็นห้องโถงใหญ่ มองเห็นหรือไม่เห็น ไม่เห็นก็นึกตามไปก็แล้วกัน เป็นห้องโถงใหญ่ มีทางเข้าอีกด้านหนึ่ง ทางเดียวกับที่พามา แต่ว่าเป็นประตูที่ ๒เข้ามาทางพื้นราบเรียบ แล้วในบริเวณนั้น


ตอนกลาง ๆ ตรงประตูเข้า เข้ามาพอดี มีบัลลังก์สำหรับนั่ง มีพระยายมนั่งคอยพิพากษาโทษสัตว์ คำว่า สัตว์ในที่นี้ ก็หมายถึง คนที่ลงไปในนรก ที่เขามาเชิญตัวไป มีบัลลังก์ตั้งอยู่ตรงกลาง
ด้านหน้าของพระยายม เบื้องขวามีเทวดาท่านหนึ่งนั่งอยู่ มีเครื่องทรงพื้นสีแดง เครื่องทรงประดับไปด้วยแก้วมณีแพรวพราว สวยงาม หน้าตาสดชื่น

โต๊ะอีกโต๊ะหนึ่ง อยู่เบื้องซ้ายของพระยายม มีนายบัญชีใหญ่นั่งอยู่ ถือบัญชี แต่งเครื่องทรงมีพื้นเป็นสีเหลืองแล้วก็เครื่องทรง ที่เสื้อกางเกงก็ประดับไปด้วยแก้วมณี

 
พระยายมเองก็เหมือนกัน มีเครื่องทรงเป็นพื้นสีเหลืองเป็นทอง แล้วก็มีเครื่องประดับไปด้วยแก้วมณี
ความจริงพระยายมก็ดี เทวดาคนที่เป็นหัวหน้าใหญ่ฝ่ายติดตามคนที่ตายก็ดี นายบัญชีก็ดี มีความสวยสดงดงามหน้าตาอิ่มเอิบ สวยงาม มีอารมณ์ยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่มีใครหน้าบึ้งขึงจอ ไม่มีอาการดุร้าย ความโหดร้ายใด ๆ ไม่ปรากฏเลยในริ้วรอยของหน้าท่าน

อันนี้เรามาดูกันต่อไป ว่าพระยายมท่านจะทำยังไง โน่น บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน สำนักนี้ไม่มีเวลาว่างในการชำระความ เห็นไหม ข้างหน้านั่นใครตัวใหญ่ ๆ ในมือถืออาวุธ นำคนเข้ามาประมาณสัก ๕ - ๖ คน ทุกคนที่เดินติดตามเข้ามาหน้าซีดเซียว คล้าย ๆ กับว่าจะถูกพิพากษาลงโทษอย่างหนักเพราะกฎของกรรม

เมื่อเข้ามาถึงภายในแล้ว ทุกคนก็นั่งแสดงความเคารพแด่พระยายม พระยายมท่านก็หันไปถามนายบัญชีว่า คนนี้มีโทษอะไรบ้างในการทำความผิดในสมัยที่เป็นมนุษย์ นายบัญชีก็เปิดบัญชีดู แล้วก็รายงานความผิด คือ การทำความชั่วในสมัยที่เป็นมนุษย์ของคนนั้น แล้วพระยายมก็ถามเขาว่าทำความชั่วอย่างนั้นจริงไหม

เรื่องของเมืองผี เวลาเขาชำระคดี ไม่ต้องหาพยาน ผีไม่สับปลับเหมือนคน คนเรานี่หน้าตาดี ๆ นะ แต่ความจริง ความจริงใจนี่นะอาจจะหาไม่ได้สำหรับคนที่มีหน้าตาสวยแล้วก็มีฐานะดี แต่เมืองผีไม่เป็นยังงั้น เมืองผีไม่มีอะไรโกหกกัน เมืองผีไม่มีอะไรปกปิดกัน สิ่งใดจริงเขาก็รับว่าจริง สิ่งใดไม่จริงเขาก็รับว่าไม่จริง

สมมติ ว่า ท่านพระยายมถามถึงความโหดร้ายต่าง ๆ ต้องรับทุกอย่าง เรื่องนั้นจริงเจ้าค่ะ เรื่องจริง จริงขอรับ รับจริงหมดทุกข้อ เรียกว่า ความผิดที่ปรากฎในบัญชีนี่รับหมดทุกข้อ ไม่มีการปฏิเสธ แล้วคราวนี้พระยายมจะทำยังไง เมื่อจำเลยสารภาพโทษ ก็สั่งจำคุกลดกึ่งหนึ่งตามอำนาจของศาลในเมืองมนุษย์ยังงั้นรึ?

ความจริงยังก่อน ท่านพุทธศานิกชน ท่านจะเห็นน้ำใจของพระยายมกันตอนนี้ ฟังให้ดีนะ ฟังกันไว้ แล้วก็จำกันไว้ รู้ตามความเป็นจริง

ในเมื่อคนใดก็ตามที่เข้าไปในสำนักของพระยายม เมื่อนายบัญชีกล่าวโทษโจทย์ความผิดที่แล้วมา เมื่อจบลงไปแล้ว แล้วก็สัตว์นรก คือ คนที่ตายไปแล้วรับไปตามความเป็นจริง ตอนนี้พระยายมยังไม่สั่งตัดสิน ยังไม่ลงโทษตามกฎของนรก กลับย้อนถามถึงความดี ว่าท่านเคยอยู่ในเมืองมนุษย์น่ะ

เคยให้ทานไหม?
เคยรักษาศีลไหม?
เคยไปฟังเทศน์ไหม?
เคยเจริญสมถกรรมฐานบ้างไหม?
ความจริงท่านถามยาว ถามทีละข้อ ๆ


สมมติว่า เคยให้ทานแก่สัตว์เดียรัจฉานบ้างไหม? เคยให้ทานแก่คนยากจนเข็ญใจบ้างไหม? เคยช่วงสงเคราะห์ทำกิจการงานต่าง ๆ กับเพื่อนบ้านใกล้เรือนเคียงบ้างไหม? เคยทำงานเป็นส่วนสาธารณประโยชน์บ้างไหม? เคยช่วยเขาสร้างวัดวาอารามบ้างไหม? ใครเขาบอกบุญเรี่ยไร เคยทำบุญมาบ้างไหม? เคยรักษาศีลบ้างไหม? เคยฟังเทศน์ไหม? เคยเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เคยบูชาพระ เคยไหว้พระ เคยไหว้พ่อไหว้แม่ด้วยความเคารพบ้างไหม? อย่างนี้เป็นต้น

เรียกว่า ความดีทุกอย่างที่จัดว่าเป็นบุญที่พระพุทธเจ้าทรงสอน พระยายมนำหัวข้อมาถามนำ ถ้าถามแล้ว คนที่ตายไปนั้น เรียกว่า สัตว์นรก เขายังไม่ตอบ เขายังนิ่งอยู่ ท่านก็ปล่อยให้คิดสักประเดี๋ยวหนึ่ง แล้วก็ย้อนถามขึ้นต้นใหม่

รวมความว่า ถามกัน ๓ รอบ ค่อย ๆ ถามจี้จุดทีละจุด แต่ว่าท่านคนใดที่ถูกสอบสวนปรากฏไม่มีเลย นึกไม่ออก เมื่อนึกไม่ออกแล้ว

ท่านก็จะบอกว่า นี่..เสียใจเหลือเกินนะ ที่ความดีที่ทำไว้นึกไม่ถึง จิตของเธอเวลาจะตาย เวลาจะมาที่นี่ จิตน้อมไปส่วนอกุศลมาก ก็เห็นจะต้องเป็นไปตามกฎของกรรม ท่านว่าอย่างนั้น ท่านก็บอกว่า เอ้า ถ้ายังงั้น ถ้านึกถึงความดีที่ทำไม่ได้ละก้อ ก็เป็นไปตามกฎของกรรม แล้วต่อจากนั้นไปนายนิริยบาลผีรักษานรกก็นำลงนรกไป ไปที่ทะเลเพลิง ไปตามอำนาจของความผิด นี่ดูจริยาของพระยายม

แล้วบรรดาท่านพุทธศานิกชนที่มาด้วย นั่งฟังแล้วก็นั่งดู ดูหน้าของพระยายม ดูหน้าของเทวดาฝ่ายติดตามคน คือ หัวหน้าใหญ่นะ ดูหน้าของนายบัญชี ทุกคนมีแต่อารมณ์ยิ้มระรื่นชื่นใจ น่าชื่นใจ รูปร่างหน้าตาก็อิ่มเอิบสวยสดงดงาม มีผิวเนื้อละเอียดค่อนข้างเหลือง นี่ เราจะเห็นถึงความดุร้ายได้ยังไง ตานี้ สมมติว่าบังเอิญที่เขาถามถึงความผิด สัตว์นรกรับหมด แต่ว่ามาถามถึงความดี พอถามถึงความดีเข้า บังเอิญสัตว์นรกคนใดคนหนึ่งก็ตาม นึกถึงความดีอย่างใดอย่างหนึ่งได้

สมมติว่าเขาถามถึงว่า เคยปล่อยสัตว์ที่มันจะถึงแก่ความตายบ้างไหม? ให้มันรอดจากความตาย
ถ้าคนนั้นนึกขึ้นมาได้ว่า เคยปล่อย คำเดียวเท่านี้แหละ โทษกรรมใหญ่ ๆ ที่เคยทำมาแล้วทั้งหมด พระยายมบอกว่า งดไว้ก่อน ขอให้งดไว้ก่อน นี่ ความดีของเขายังมีอยู่ ให้ไปรับผลของความดีก่อน เห็นไหม? น้ำใจของพระยายม น้ำใจของเจ้าหน้าที่ในสำนักของพระยายม ไม่ใช่น้ำใจของสัตว์นรก เป็นน้ำใจของพรหม


พระยายมก็ดี นายบัญชีก็ดี เทวดาผู้เป็นหัวหน้าติดตามคนก็ตาม มีน้ำใจเต็มไปด้วยพรหมวิหารสี่
ฉะนั้น สำนักของพระยายมนี้จึงไม่มีใครรูปร่างน่าเกลียดน่ากลัว คนที่ทรงพรหมวิหารสี่ มีเมตตาเป็นปุเรจาริก คือ หน้าคอยยิ้มเสมอ อารมณ์สดชื่น แล้วน้ำใจก็สดชื่น แล้วจะมีอะไรเป็นที่น่าเกลียดน่ากลัวไม่มี หนังสือเขาเขียนผิดไปเองต่างหาก เขาเข้าใจพลาดไป คิดว่าสำนักของพระยายมมีแต่คนโหดร้าย
คราวนี้จะขอนำเอาเรื่องราวของผู้ที่ตายแล้ว กลับฟื้นขึ้นมา มาเล่าให้ฟังสักเรื่องหนึ่ง ท่านผู้นี้ชื่ออะไรจำไม่ได้เสียแล้ว อ่านหนังสือของท่านมาหลายปี นึกชื่อไม่ออก

ท่านเขียนไว้ในหนังสือบอกว่า ท่านอุปสมบทเป็นพระอยู่ที่วัดราชประดิษฐ์ ที่กรุงเทพฯ ท่านบอกชื่อเสียงเสร็จ ท่านรับรองว่าการพูดของท่านเป็นความจริง

ในหนังสือของท่านเล่าไว้ว่า ในสมัยที่ท่านเป็นเด็ก อายุ ๑๖ - ๑๗ ปี ท่านเป็นนักล่าสัตว์ แต่ว่าล่าสัตว์ตามท้องนานะ ไม่ใช่ล่าสัตว์ในบ้าน ชอบยิงนกกระจาบ นกกระจาบนี่ยิงมาได้เป็นกระบุง ๆ ( ไม่ใช่วันเดียว คิดหลายวันรวมกัน ) แล้วก็มาคราวหนึ่ง เจ้าไก่ตัวหนึ่งมันเป็นไก่อยู่ที่บ้าน มันซนนัก ท่านก็จับมันเชือดคอจะแกง เมื่อเวลาที่เชือดคอแล้ว เข้าใจว่ามันตาย ก็วางลงไป มันก็วิ่งหนีไปอีก ท่านก็เลยจับมันมาเชือดเป็นวาระที่ ๒ เชือดเสียขาดเลยตาย

ต่อมา ท่านเกิดปวดฟันไม่สบาย ตั้งใจว่าจะไปหาหมอถอนฟัน แต่ก็ยังไม่ได้ไป เวลาปวดอยู่นั้น พี่สาวเอายาอะไร กอเอี๊ยะหรืออะไรไม่ทราบ มาแปะให้บรรเทาความปวด ท่านก็นอนลงไป ประเดี๋ยวความปวดมันก็คลายตัว หลับไป มีความรู้สึกเคลิ้ม คล้าย ๆ กับหลับ แต่ความจริงไม่ได้หลับ พอมีความรู้สึกอีกทีหนึ่ง ปรากฏว่าเป็นตัวที่ ๒ ขึ้นมา

มองเห็นตัวเดิมนอนอยู่ เห็นตัวที่ ๒ ยืนอยู่ แต่สภาพร่างกายเป็นสภาพเดิม เห็นคนนุ่งแดง ใส่แดง ใส่เสื้อแดง นุ่งกางเกงแดง มีอยู่ ๔ คน บอกว่า ไปด้วยกัน ฉันมารับ นี่แสดงว่าตายแล้ว เขาว่า ฉันมารับ เธอไปกับฉัน ท่านก็เดินตามไปอย่างคนว่าง่าย พอไปถึงสำนักพระยายม ปรากฎว่ามีนกฝูงใหญ่บินอยู่ในที่นั้น

พอเขานำเข้าไปในสำนักของพระยายม นายบัญชีก็เปิดบัญชีขึ้นมา ประกาศความชั่วของท่านทั้งหมด ที่ทำในสมัยยังมีชีวิตอยู่เป็นมนุษย์

ไอ้ตอนต้น ๆ ท่านยอมรับทุกอย่างว่าเป็นความจริง แล้วตอนท้านท่านบอกไม่จริง พอบอกว่าไม่จริงเท่านั้นแหละ

พระยายมก็เอะใจ ถามว่า ตรวจดูซิว่า คนที่ให้ไปเอามาน่ะเป็นใครกันแน่ ทำไมถึงไม่ตรงกับบัญชี เขาก็ถามชื่อท่าน ถามนามสกุลท่าน ท่านบอกชื่อและนามสกุล

พระยายมก็บอกว่า ผิดตัวแล้ว นามสกุลไม่ใช่อย่างนี้ อายุ ๑๗ ปีเหมือนกัน ชื่อเดียวกัน แต่คนละนามสกุล ท่านให้นายบัญชีตรวจตำบลบ้าน กลายเป็นคนละจังหวัดไป ท่านอยู่จังหวัดเพชรบุรีนะ แต่คนที่ให้ไปเอามานั้น เป็นคนจังหวัดราชบุรี มันลงบุรี ๆ เหมือนกัน

นี่ แสดงว่า ผีที่มานำตัวนี่ ก็ห่วย ๆ เหมือนกัน ไม่แน่นัก อาจจับผิดตัวได้ แล้วขณะที่เข้าไปใหม่ ๆ ท่านบอกว่า ไอ้นกกระจาบมันก็ไปรายงานเป็นพยาน บอกว่า ไอ้เจ้านี่มันโหดร้ายเหลือเกิน มันยิงพวกข้าพเจ้าตายเป็นเบือไปหมด


พระยายมก็บอกว่า ทราบแล้ว เจ้าไก่ก็เหมือนกัน มันเข้าไปรายงานว่า เจ้านี่โหดร้ายมาก มันฆ่าข้าพเจ้า ๒ ครั้ง ๒ หน พระยายมก็บอกว่า ทราบแล้ว ในขณะที่เขารายงานอยู่ แล้วก็สอบถามกันอยู่ และเจ้าไก่กับนกกระจาบถอยออกไปแล้ว

ทีนี้ เมื่อพระยายมถามว่า เจ้าทำแบบนี้ นี่ควรลงโทษอย่างหนัก แล้วความชั่วมีมาก ถึงแม้ว่าจะผิดตัวก็ตาม แต่ก็เป็นการดีแล้วที่ไม่ต้องตามบ่อย ๆ ท่านว่ายังงั้น เอาเสียเลยเป็นไง ลงโทษกันตามกฎของกรรมเลยเป็นไง ท่านบอกท่านก็นิ่ง ไม่มีอะไรจะเถียงเขา

ในที่สุด นายนิริยบาลก็ทำท่าจะรับตัวท่านจะเอาไปลงนรก นำไปลงนรก แต่ขณะที่เดินก้าวออกมานั่นเอง ปรากฏว่าได้ยินเสียงเบื้องหลัง บอกช้าก่อน ๆ ความดีของเขายังมีอยู่ ยังไม่ควรจะได้รับโทษ ท่านก็เลยเหลียวหลังไปดู เห็นเต่าตัวหนึ่ง คลานตุบตับ ๆ ขึ้นมาทางด้านหลัง พระยายมก็เลยเรียกให้กลับมาใหม่ บอกว่า ประเดี๋ยวก่อน มีคนเขาประกาศว่าเจ้าเคยทำความดี

นี่ ความจริงในตอนต้น พระยายมก็ซักถามสถึงความดีแล้วตามที่บอกมา แต่ทว่าท่านบอก ท่านเองก็นึกไม่ออกว่าเคยทำบุญสุนทานอะไรบ้าง มันนึกไม่ออกจริง ๆ ตานี้เมื่อเต่าไปรายงานแบบนี้ ท่านก็หันหลังมา

พระยายมก็ถามเต่าว่า เขามีความดีอะไรไว้ พอที่จะเป็นหลักฐาน เจ้าเต่าก็รายงานว่า คนนี้น่ะเขามีความดี ความชั่วอย่างอื่นเขามีจริงแหล่ แต่ทว่าความดีที่มีสำหรับข้าพเจ้าก็มีอยู่
พระยายมจึงถามว่า เขาดีอะไร เจ้าเต่าก็รายงานบอกว่า เมื่อเขายังมีชีวิตอยู่ เมื่อปีที่แล้วมีคนขี้เมามันจับข้าพเจ้าจะไปฆ่า เอาไปแกงทำกับแกล้มเหล้า คนนี้ได้ไปขอซื้อเข้าไว้ แล้วเอาข้าพเจ้าไปปล่อยให้รอดจากความตาย

พระยายมก็ถามว่า หลักฐานมีไหม? เจ้าเต่าก็บอกว่ามี เขายังเขียนชื่อของเขาไว้ที่หน้าอกของข้าพเจ้า พระยายมก็ให้เจ้าหน้าที่พลิกอกขึ้นดู ปรากฏว่า เป็นชื่อของพี่สาว

นายบัญชีก็ตรวจบัญชี พบพอดีเหมือนกัน ว่าเต่าตัวนี้รอดตาย เพราะชายคนนี้เป็นไวยาวัจมัย ช่วยซื้อ แต่ความจริงพี่สาวเป็นคนซื้อ แต่ว่านายคนนี้ เป็นคนนำเงินไปให้คนขี้เมา แล้วก็เป็นคนรับเต่าเอามาแล้วก็เขียนชื่อพี่สาวลงไป ในที่สุด ก็นำเต่าไปปล่อยด้วยมือของตนเอง
พระยายมก็เลยหันมาถามท่านว่า เป็นความจริงตามนั้นไหม? ท่านก็เลยรับ

ตอนนี้นึกได้ว่าเป็นความจริง พระยายมก็เลยบอกว่า ความดียังมีอยู่นะ นี่ บังเอิญยังไม่ถึงอายุขัย ถ้าถึงอายุขัยแล้วจะปล่อยให้ไปสวรรค์ก่อน แต่นี่ยังไม่ถึงอายุขัยจงกลับไปที่เดิมก่อน แล้วต่อจากนี้ไป จงอย่าทำกรรมชั่ว

ท่านแนะนำมาว่า สัตว์สำคัญจงอย่าฆ่า มี
๑. ช้าง
๒. จระเข้
๓. เต่า แล้วก็
๔. อะไรไม่ทราบ

เพราะพวกนี้มีกรรมหนัก ไอ้ที่ว่า ๔ นั่นจำไม่ได้นะ อาตมาคนพูดจำไม่ได้ แล้วท่านก็บอกว่า ถึงแม้สัตว์เล็ก ก็เหมือนกัน ไม่ควรจะฆ่า

กลับไปแล้วควรจะรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ แล้วก็พยายามเจริญภาวนาเข้าไว้ ให้จิตน้อมเข้าไปในส่วนของกุศล เอาจิตนึกถึงส่วนกุศลไว้เป็นประจำ เวลาเขาจะนำมา จิตจะได้ระลึกถึงกุศลได้ จิตที่นึกถึงกุศลเป็นประจำน่ะ

บรรดาท่านพุทธบริษัทฟังแล้วอาจจะเข้าใจยาก เราจะไปนั่งนึกถึงสิ่งที่เราทำบุญทำทานทุกอย่างทุกประการ เราก็นึกไม่ออก บางทีเราก็นึกไม่ไหว เพราะมันมากด้วยกัน ก็นึกตามที่พระพุทธเจ้าสอนก็แล้วกัน

ในอนุสสติ ๑๐ ประการ มี พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ เป็นต้น คือว่า นึกถึงความดีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วอะไรอีก ๑๐ ประการ ไปเปิดดูในคู่มือกรรมฐาน หรือว่าในวิสุทธิมรรคจึงจะเข้าใจ ในหลักสูตรของนักธรรมโทก็มี

เป็นอันว่า พระองค์นั้น สมัยนั้นไม่ใช่เป็นพระ พ้นจากการลงนรกไป เมื่อท่านทราบแล้ว เขาก็ปล่อยกลับที่เดิม กลับที่เดิมแล้วก็กลับเข้าร่างกายใหม่ ท่านบอกว่าอาการที่ปวดฟันมันก็หายไป
นี่ เป็นอันว่า เวลาที่เขาจะนำไปเขาทำให้ตายได้ คือ เอาจิต เอาวิญญาณ ร่างกายในไปเสีย ไอ้ตัวสั่งงานที่ร่างกายไม่มี ร่างกายมันก็เหมือนท่อนไม้

เอาละ บรรดาท่านพุทธศาสนิกชน และพระคุณเจ้าที่เคารพ นี่เรามานั่งฟังเรื่องราวของพระยายมกัน แล้วท่านทั้งหลายคิดไหมว่า พระยายมมันเป็นพวกของสัตว์นรก เป็นยังงั้นหรือเปล่า?

แต่ความจริงไม่ใช่ยังงั้นนะ พระยายมนี่เราฟังกันแล้ว แล้วดูหน้าท่านซิ ท่านแสดงความสดชื่นบอกไม่ถูก ยิ้มแย้มแจ่มใสตลอดเวลา ที่เขาบอกว่า พระยายมมีเขา เห็นไหม? เห็นเขาพระยายมไหม? ไม่มี หวีผมออกแปร้ หน้าตาสะสวย

แต่นี่ว่ากันตามจิตของพระอรหันต์นะ พระที่ท่านได้ปฏิสัมภิทาญาณและพระอรหันต์ด้วย หรือว่าได้อภิญญาและเป็นพระอรหันต์ด้วย ท่านเห็นมาตามนั้น แต่บางคนที่ลงไปอาศัยที่กรรมมีมาก ความดียังไม่แจ่มใส อาการจิตที่เป็นทิพย์ยังน้อยเกินไป ก็จะเห็นบางคนในสำนักพระยายมนี่น่ากลัว พระยายมบางทีท่านนั่งอ้วนพลุ้ย แล้วนายนิริยบาลก็ดี หรือเทวดาประจำสำนักก็ดี นายบัญชีก็ดี จะรู้สึกว่าไม่สะสวย นั่นเรียกว่า ตาหรือใจยังมีกิเลสอยู่มาก เหมือนคนตาฝ้าตามัว มองเห็นอะไรไม่ถนัดนัก

ตานี้ เรามาว่ากันต่อไป ในเมื่อพระยายมมีหน้าที่อย่างนี้แล้ว ก็อยากจะถามว่าพระยายมเป็นพวกนรกหรือเป็นพวกสวรรค์

อันนี้ เราก็ดูการแต่งตัว ดูซิ สำนักของพระยายมเป็นวิมานแพรวพราวไปด้วยแก้วและทอง แม้แต่ม่านที่กั้นชั้นในก็เป็นม่านแก้วมณี ม่านที่กั้นรองลงมาก็เป็นม่านทองคำ ม่านที่สามออกมาก็เป็นม่านเส้นเงินและเส้นทอง ม่านภายนอกเป็นม่านสีแดงนี่ แล้วก็ม่านภายนอกสุดเป็นม่านสีดำ เห็นไหม? ไม่เหมือนกัน ที่ไม่เหมือนกันอย่างนี้ เพราะอะไร เพราะว่าข้างนอกก็ปล่อยให้มัว ๆ ไป

ถ้าหากว่าเราจะมอง ๆ ดูพวกนายนิริยบาลที่มาคอยรับคน คนที่แต่งตัวใหญ่ ๆ ถืออาวุธนั่นแหละ รูปร่างหน้าตาไม่สะสวย หาความสวยไม่ได้เลย มีแต่ความน่ากลัว แกพูดก็ไม่ค่อยเป็น น่ากลัวจะไม่ได้เรียนภาษามนุษย์ เข้าไปถามอะไรแก แกยืนเฉย มองตาปริบ ๆ บางทีก็มองตาเป๋ง แกไม่พูด ตาพวกนี่น่ากลัวจะไม่ได้หัดพูดมา พวกนี้แต่งตัวไม่สวย นุ่งผ้าหยักรั้ง เสื้อแกก็ไม่ใส่ ถืออาวุธ ผมก็หยิก หน้าตาก็ดุ น่าเกลียด น่ากลัว


ทีนี้ มาดูพวกของพระยายมบ้าง ตั้งแต่พระยายมลงมา พระยายมมีเครื่องประดับเป็นพื้นสีทอง เป็นทองคำก็แล้วกัน แล้วก็มีแก้วมณีเป็นเครื่องประดับ เต็มไปทั้งเสื้อทั้งผ้านุ่ง หน้าตาอิ่มเอิบ ยิ้มแย้มแจ่มใส สวยสดงดงาม สีเหลือง ๆ เนื้อท่านน่ะ ขาวเนื้อละเอียด ผิวเหลือง สวยมาก

ทีนี้ หันไปทางขวา ถ้าเราหันหน้าไปทางพระยายมจะเห็นนายบัญชีใหญ่มีพื้นสีทองเหมือนกัน เครื่องแต่งกายจะมีเครื่องประดับไปด้วยแก้วมณี หน้าตาอิ่มเอิบ สวยสดงดงามเหมือนกัน
มองดูไปทางซ้ายหัวหน้าเทวดาใหญ่ หัวหน้าเทวดาใหญ่มีเครื่องประดับแต่งกายเป็นพื้นสีแดง แล้วก็มีแก้วมณีเป็นเครื่องประดับ หน้าตาสวยสดงดงาม ยิ้มแย้มแจ่มใส

นี่ ท่านจึงเรียกว่า พระยายมไม่ใช่พวก นรก เป็นพวกของพรหม เรียกว่า เป็นพวกของสวรรค์ อาการ ที่ท่านแสดงออกมีอาการของพรหมวิหาร ๔ ครบถ้วน คือ มีเมตตา เขานำสัตว์นรกลงไปแล้ว แทนที่ท่านจะโหดร้าย กลับแสดงความเมตตาปรานี มีความรัก มีความสงสาร

เมื่อสัตว์นรกตอบรับความผิดทุกอย่างแล้ว แทนที่จะลงโทษ กลับหันมาถามถึงความดีให้คิดให้ตอบ ถ้าตอบถึงกฎของความดีได้เพียงคำเดียว ท่านบอกว่าผลของความดียังมีอยู่ ปล่อยไปรับผลของความดีก่อน

ตานี้ เมื่อสัตว์ทั้งหลายทบทวนความดีให้ฟังถึง ๓ ครั้งแล้ว สัตว์ทั้งหลายนึกไม่ออก ท่านก็ต้องปลงอุเบกขา บอกว่า เมื่อเราทบทวนถึงความดีแล้ว ท่านนึกไม่ได้ก็จำใจต้องปล่อยให้ไปตามกฎของกรรม

นี่ละ บรรดาท่านผู้รับฟังและท่านทั้งหลายที่ติดตามการทัศนาจรเมืองนรก นี่ก็เป็นชุดที่สาม ชุดที่สามแล้ว จงจำไว้และเข้าใจไว้ด้วยว่า พระยายมไม่ใช่พวกของสัตว์นรก พระยายมเป็นชาวสวรรค์ คอยกีดกันคนไม่ให้ลงนรก

เอาละ บรรดาท่านพุทธบริษัทที่รับฟัง เวลานี้ก็ควบเวลาพอดี ๓๐ นาที หรือจะเลยไปนิดก็ไม่ทราบ ก็ต้องขออำลาบรรดาท่านพุทธบริษัทพักผ่อน ไม่ใช่กลับ คือ นอนกันอยู่เมืองนรกนี่แหละ ท่านทั้งหลายที่ติดตามก็เหมือนกัน ยังกลับไม่ได้ นอนอยู่ในเมืองนรกด้วยกันก่อน

เอาละ วันนี้ก็หมดเวลาแล้ว ขอความสุขสวัสดิ์พิพัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล จงมีแด่บรรดาท่านพุทธศาสนิกชนที่ติดตามชมนรกทุกท่าน สวัสดี

ขอขอบคุณ
http://www.putthapoom.com/nolost/nolost3.html

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติพญายมราช
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: สิงหาคม 03, 2010, 08:12:26 pm »
0
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖
มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์
๑๐. เทวทูตสูตร (๑๓๐)


            [๕๐๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-
             สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของ
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก
ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

             [๕๐๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบ
เหมือนเรือน ๒ หลังมีประตูตรงกัน บุรุษผู้มีตาดียืนอยู่ระหว่างกลางเรือน ๒ หลัง
นั้น พึงเห็นมนุษย์กำลังเข้าเรือนบ้าง กำลังออกจากเรือนบ้าง กำลังเดินมาบ้าง
กำลังเดินไปบ้าง ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล เราย่อมมองเห็น
หมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี
ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมทราบชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้
เป็นไปตามกรรมได้ว่า สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต

มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ
เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ประกอบ
ด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยะ เป็นสัมมาทิฐิ เชื่อ
มั่นกรรมด้วยอำนาจสัมมาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว บังเกิดในหมู่มนุษย์ก็มี สัตว์ผู้
กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน
พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว
เข้าถึงปิตติวิสัยก็มี สัตว์ผู้กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วย กายทุจริต

วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วย
อำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว เข้าถึงกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็มี สัตว์ผู้
กำลังเป็นอยู่เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน
พระอริยะ เป็นมิจฉาทิฐิ เชื่อมั่นกรรมด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไปแล้ว
เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรกก็มี ฯ

             [๕๐๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะจับสัตว์นั้นที่ส่วนต่างๆ
ของแขนไปแสดงแก่พระยายมว่า ข้าแต่พระองค์ บุรุษนี้ไม่ปฏิบัติชอบในมารดา
ไม่ปฏิบัติชอบในสมณะ ไม่ปฏิบัติชอบในพราหมณ์ ไม่อ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ในสกุล
ขอพระองค์จงลงอาชญาแก่บุรุษนี้เถิด ฯ

             [๕๐๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมจะปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่
ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๑
ปรากฏในหมู่มนุษย์หรือ ฯ
             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลยเจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเด็กแดงๆ
ยังอ่อนนอนแบ เปื้อนมูตรคูถของตนอยู่ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็น
ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเกิดเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความเกิดไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสียเจ้าข้า ฯ
             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง
โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน
ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่
ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์
ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก
ของบาปกรรมนี้ ฯ

             [๕๐๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ
ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๑ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามเทวทูต
ที่ ๒ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๒ ปรากฏในหมู่มนุษย์
หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย
มีอายุ ๘๐ ปี ๙๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปี นับแต่เกิดมา ผู้แก่ ซี่โครงคด หลังงอ ถือไม้
เท้า งกเงิ่น เดินไป กระสับกระส่าย ล่วงวัยหนุ่มสาว ฟันหักผมหงอก หนัง
ย่น ศีรษะล้าน เหี่ยว ตัวตกกระ ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความ มีสติ เป็นผู้
ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความแก่เป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความแก่ไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง
โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน
ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่
ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์
ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก
ของบาปกรรมนี้ ฯ


             [๕๐๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ
ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๒ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง
เทวทูตที่ ๓ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๓ ปรากฏในหมู่
มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย
ผู้ป่วย ทนทุกข์ เป็นไข้หนัก นอนเปื้อนมูตรคูถของตน มีคนอื่นคอยพยุงลุก
พยุงเดิน ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็นผู้
ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความเจ็บป่วยเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความเจ็บป่วยไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ
             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง
โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน
ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่
ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์
ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก
ของบาปกรรมนี้ ฯ

             [๕๑๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ
ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๓ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง
เทวทูตที่ ๔ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๔ ปรากฏในหมู่
มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นราชาทั้งหลาย
ในหมู่มนุษย์จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแล้ว สั่งลงกรรมกรณ์ต่างชนิดบ้างหรือ คือ ฯ
             (๑) โบยด้วยแส้บ้าง
             (๒) โบยด้วยหวายบ้าง
             (๓) ตีด้วยตะบองสั้นบ้าง
             (๔) ตัดมือบ้าง
             (๕) ตัดเท้าบ้าง
             (๖) ตัดทั้งมือทั้งเท้าบ้าง
             (๗) ตัดหูบ้าง
             (๘) ตัดจมูกบ้าง
             (๙) ตัดทั้งหูทั้งจมูกบ้าง
             (๑๐) ลงกรรมกรณ์วิธี หม้อเคี่ยวน้ำส้ม บ้าง
             (๑๑) ลงกรรมกรณ์วิธี ขอดสังข์ บ้าง
             (๑๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ปากราหู บ้าง
             (๑๓) ลงกรรมกรณ์วิธี มาลัยไฟ บ้าง
             (๑๔) ลงกรรมกรณ์วิธี คบมือ บ้าง
             (๑๕) ลงกรรมกรณ์วิธี ริ้วส่าย บ้าง
             (๑๖) ลงกรรมกรณ์วิธี นุ่งเปลือกไม้ บ้าง
             (๑๗) ลงกรรมกรณ์วิธี ยืนกวาง บ้าง
             (๑๘) ลงกรรมกรณ์วิธี เกี่ยวเหยื่อเบ็ด บ้าง
             (๑๙) ลงกรรมกรณ์วิธี เหรียญกษาปณ์ บ้าง
             (๒๐) ลงกรรมกรณ์วิธี แปรงแสบ บ้าง
             (๒๑) ลงกรรมกรณ์วิธี กางเวียน บ้าง
             (๒๒) ลงกรรมกรณ์วิธี ตั่งฟาง บ้าง
             (๒๓) ราดด้วยน้ำมันเดือดๆ บ้าง
             (๒๔) ให้สุนัขทึ้งบ้าง
             (๒๕) ให้นอนหงายบนหลาวทั้งเป็นๆ บ้าง
             (๒๖) ตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ฯ


             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น
ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า จำเริญละ เป็นอันว่า สัตว์ที่ทำกรรม
ลามกไว้นั้นๆ ย่อมถูกลงกรรมกรณ์ต่างชนิดเห็นปานนี้ในปัจจุบัน จะป่วยกล่าว
ไปไยถึงชาติหน้า ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง
โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน
ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่
ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ท่าน ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์
ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก
ของบาปกรรมนี้ ฯ

             [๕๑๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ
ไต่ถามถึงเทวทูตที่ ๔ กะสัตว์นั้นแล้ว จึงปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง
เทวทูตที่ ๕ ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นเทวทูตที่ ๕ ปรากฏในหมู่
มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่เห็นเลย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้เห็นหญิงหรือชาย
ที่ตายแล้ววันหนึ่ง หรือสองวัน หรือสามวัน ขึ้นพอง เขียวช้ำ มีน้ำเหลืองเยิ้ม
ในหมู่มนุษย์หรือ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า เห็น เจ้าข้า ฯ
             พระยายมถามอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านนั้นรู้ความมีสติ เป็น
ผู้ใหญ่แล้ว ได้มีความดำริดังนี้บ้างไหมว่า แม้ตัวเราแล ก็มีความตายเป็นธรรมดา
ไม่ล่วงพ้นความตายไปได้ ควรที่เราจะทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ฯ

             สัตว์นั้นทูลอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าไม่อาจ เจ้าข้า มัวประมาทเสีย เจ้าข้า ฯ
             พระยายมกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ ท่านไม่ได้ทำความดีทางกาย
ทางวาจา และทางใจไว้ เพราะมัวประมาทเสีย ดังนั้น เหล่านายนิรยบาลจักลง
โทษโดยอาการที่ท่านประมาทแล้ว ก็บาปกรรมนี้นั่นแล ไม่ใช่มารดาทำให้ท่าน
ไม่ใช่บิดาทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องชายทำให้ท่าน ไม่ใช่พี่น้องหญิงทำให้ท่าน ไม่
ใช่มิตรอำมาตย์ทำให้ท่าน ไม่ใช่ญาติสาโลหิตทำให้ ไม่ใช่สมณะและพราหมณ์
ทำให้ท่าน ไม่ใช่เทวดาทำให้ท่าน ตัวท่านเองทำเข้าไว้ ท่านเท่านั้นจักเสวยวิบาก
ของบาปกรรมนี้ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระยายมครั้นปลอบโยน เอาอกเอาใจ ไต่ถามถึง
เทวทูตที่ ๕ กะสัตว์นั้นแล้ว ก็ทรงดุษณีอยู่ ฯ

             [๕๑๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะให้สัตว์นั้นกระทำเหตุชื่อ
การจำ ๕ ประการ คือ ตรึงตะปูเหล็กแดงที่มือข้างที่ ๑ ข้างที่ ๒ ที่เท้าข้างที่ ๑
ข้างที่ ๒ และที่ทรวงอกตรงกลางสัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ
อยู่ในนรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๑๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านิรยบาลจะจับสัตว์นั้นขึงพืดแล้วเอาผึ่ง
ถาก...จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบน เอาหัวลงข้างล่างแล้วถากด้วยพร้า ... จะ
เอาสัตว์นั้นเทียมรถแล้วให้วิ่งกลับไปกลับมาบนแผ่นดินที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง
โชติช่วง ... จะให้สัตว์นั้นปีนขึ้นปีนลงซึ่งภูเขาถ่านเพลิงลูกใหญ่ที่มีไฟติดทั่ว ลุก
โพลง โชติช่วง ... จะจับสัตว์นั้นเอาเท้าขึ้นข้างบนเอาหัวลงข้างล่าง แล้วพุ่งลงไป
ในหม้อทองแดง ที่มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง สัตว์นั้นจะเดือดพล่านเป็น
ฟองอยู่ในหม้อทองแดงนั้น เขาเมื่อเดือดเป็นฟองอยู่ จะพล่านขึ้นข้างบนครั้งหนึ่ง
บ้าง พล่านลงข้างล่างครั้งหนึ่งบ้าง พล่านไปด้านขวางครั้งหนึ่งบ้าง จะเสวยเวทนา
อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในหม้อทองแดงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป
กรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๑๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหา
นรก ก็มหานรกนั้นแล
             มีสี่มุม สี่ประตู แบ่งไว้โดยส่วนเท่ากัน มีกำแพงเหล็ก
             ล้อมรอบ ครอบไว้ด้วยแผ่นเหล็ก พื้นของนรกใหญ่นั้นล้วน
             แล้วด้วยเหล็ก ลุกโพลง แผ่ไปตลอดร้อยโยชน์รอบด้าน
             ประดิษฐานอยู่ทุกเมื่อ ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย และมหานรกนั้น มีเปลวไฟพลุ่งจากฝาด้านหน้าจดฝา
ด้านหลัง พลุ่งจากฝาด้านหลังจดฝาด้านหน้า พลุ่งจากฝาด้านเหนือจดฝาด้านใต้
พลุ่งจากฝาด้านใต้จดฝาด้านเหนือ พลุ่งขึ้นจากข้างล่างจดข้างบน พลุ่งจากข้างบน
จดข้างล่าง สัตว์นั้นจะเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น
และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๑๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง
ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น
โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลาย
ก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที และใน
ขณะที่สัตว์นั้น ใกล้จะถึงประตู ประตูนั้นจะปิด สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็น
ทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่
สิ้นสุด ฯ

             [๕๑๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง
ระยะกาลนาน ประตูด้านหลังของมหานรกนั้นเปิด ฯลฯ ประตูด้านเหนือเปิด ฯลฯ
ประตูด้านใต้เปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้นโดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้
หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูกทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์
นั้นยกขึ้นแล้วจะกลับคงรูปเดิมทันที และในขณะที่สัตว์นั้นใกล้จะถึงประตู ประตู
นั้นจะปิด สัตว์นั่นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในมหานรกนั้น
และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ


             [๕๑๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ย่อมมีสมัยที่ในบางครั้งบางคราว โดยล่วง
ระยะกาลนาน ประตูด้านหน้าของมหานรกนั้นเปิด สัตว์นั้นจะรีบวิ่งไปยังประตูนั้น
โดยเร็ว ย่อมถูกไฟไหม้ผิว ไหม้หนัง ไหม้เนื้อ ไหม้เอ็น แม้กระดูก
ทั้งหลายก็เป็นควันตลบ แต่อวัยวะที่สัตว์นั้นยกขึ้นแล้ว จะกลับคงรูปเดิมทันที
สัตว์นั้นจะออกทางประตูนั้นได้ แต่ว่ามหานรกนั้นแล มีนรกเต็มด้วยคูถใหญ่
ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงในนรกคูถนั้น และในนรกคูถนั้นแล มีหมู่
สัตว์ปากดังเข็มคอยเฉือดเฉือนผิว แล้วเฉือดเฉือนหนัง แล้วเฉือดเฉือนเนื้อ แล้ว
เฉือดเฉือนเอ็น แล้วเฉือดเฉือนกระดูก แล้วกินเยื่อในกระดูก สัตว์นั้นย่อมเสวย
เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกคูถนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาป
กรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๑๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกคูถนั้น มีนรกเต็มด้วยเถ้ารึง ๑- ใหญ่
ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในนรกเถ้ารึงนั้น สัตว์นั้นย่อมเสวย
เวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในนรกเถ้ารึงนั้น และยังไม่ตายตราบเท่า
บาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๑๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และนรกเถ้ารึงนั้น มีป่างิ้วใหญ่ประกอบอยู่
รอบด้าน ต้นสูงชลูดขึ้นไปโยชน์หนึ่ง มีหนามยาว ๑๖ องคุลี มีไฟติดทั่ว
ลุกโพลง โชติช่วง เหล่านายนิรยบาลจะบังคับให้สัตว์นั้นขึ้นๆ ลงๆ ที่ต้นงิ้วนั้น
สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ต้นงิ้วนั้น และยังไม่
ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๒๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่างิ้วนั้น มีป่าต้นไม้ใบเป็นดาบใหญ่
ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะเข้าไปในป่านั้น จะถูกใบไม้ที่ลมพัด ตัดมือบ้าง
ตัดเท้าบ้าง ตัดทั้งมือและเท้าบ้าง และตัดใบหูบ้าง ตัดจมูกบ้าง ตัดทั้งใบหูและ
จมูกบ้าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ที่ป่าต้นไม้มีใบ
เป็นดาบนั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๒๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย และป่าต้นไม้มีใบเป็นดาบนั้น มีแม่น้ำใหญ่
น้ำเป็นด่าง ประกอบอยู่รอบด้าน สัตว์นั้นจะตกลงไปในแม่น้ำนั้น จะลอยอยู่ใน

@๑. เถ้ารึง คือ ถ่านที่ติดไฟคุมีขี้เถ้าปิดข้างนอกอยู่รอบด้าน
แม่น้ำนั้น ตามกระแสบ้าง ทวนกระแสบ้าง ทั้งตามและทวนกระแสบ้าง สัตว์
นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ในแม่น้ำนั้น และยังไม่ตาย
ตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

             [๕๒๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลพากันเอาเบ็ดเกี่ยวสัตว์
นั้นขึ้นวางบนบก แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร
สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าหิว เจ้าข้า เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อน
มีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก แล้วใส่ก้อนโลหะร้อนมีไฟติดทั่ว
ลุกโพลง โชติช่วง เข้าในปาก ก้อนโลหะนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง
คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พาเอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วน
เบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และ
ยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยังไม่สิ้นสุด ฯ

            [๕๒๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลกล่าวกะสัตว์นั้นอย่างนี้ว่า
ดูกรพ่อมหาจำเริญ เจ้าต้องการอะไร สัตว์นั้นบอกอย่างนี้ว่า ข้าพเจ้าระหาย เจ้าข้า
เหล่านายนิรยบาลจึงเอาขอเหล็กร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง เปิดปากออก
แล้วเอาน้ำทองแดงร้อนมีไฟติดทั่ว ลุกโพลง โชติช่วง กรอกเข้าไปในปาก น้ำ
ทองแดงนั้นจะไหม้ริมฝีปากบ้าง ปากบ้าง คอบ้าง ท้องบ้าง ของสัตว์นั้น พา
เอาไส้ใหญ่บ้าง ไส้น้อยบ้าง ออกมาทางส่วนเบื้องล่าง สัตว์นั้นย่อมเสวยเวทนา
อันเป็นทุกข์กล้า เจ็บแสบ อยู่ ณ ที่นั้น และยังไม่ตายตราบเท่าบาปกรรมนั้นยัง
ไม่สิ้นสุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เหล่านายนิรยบาลจะโยนสัตว์นั้นเข้าไปในมหา
นรกอีก ฯ

             [๕๒๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว พระยายมได้มีความดำริ
อย่างนี้ว่า พ่อเจ้าประคุณเอ๋ย เป็นอันว่า เหล่าสัตว์ที่ทำกรรมลามกไว้ในโลก
ย่อมถูกนายนิรยบาลลงกรรมกรณ์ ต่างชนิดเห็นปานนี้ โอหนอ ขอเราพึงได้ความ
เป็นมนุษย์ ขอพระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธพึงเสด็จอุบัติในโลก ขอเราพึงได้
นั่งใกล้พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ขอพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นพึงทรงแสดง
ธรรมแก่เรา และขอเราพึงรู้ทั่วถึงธรรมของพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด ฯ

             ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เรื่องนั้น เรามิได้ฟังต่อสมณะหรือพราหมณ์อื่นๆ
แล้วจึงบอก ก็แล เราบอกเรื่องที่รู้เอง เห็นเอง ปรากฏเองทั้งนั้น ฯ

             [๕๒๕] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไวยากรณภาษิตดังนี้ ครั้นแล้วพระสุคต
ผู้ศาสดา ก็ได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกดังนี้ว่า
                          นรชนเหล่าใดยังเป็นมาณพ อันเทวทูตตักเตือน แล้วประมาทอยู่
                          นรชนเหล่านั้นจะเข้าถึงหมู่สัตว์เลว เศร้าโศกสิ้นกาลนาน
                          ส่วนนรชนเหล่าใด เป็นสัตบุรุษผู้สงบระงับในโลกนี้ อัน
                          เทวทูตตักเตือนแล้ว ย่อมไม่ประมาทในธรรมของพระอริยะ
                          ในกาลไหนๆ เห็นภัยในความถือมั่นอันเป็นเหตุแห่งชาติและ
                          มรณะแล้ว ไม่ถือมั่น หลุดพ้นในธรรมเป็นที่สิ้นชาติและมรณะ
                          ได้ นรชนเหล่านั้นเป็นผู้ถึงความเกษม มีสุข ดับสนิทใน
                          ปัจจุบัน ล่วงเวรและภัยทั้งปวงและเข้าไปล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ
                          จบ เทวสูตสูตร ที่ ๑๐

ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/r.php?B=14&A=6750&w=%E0%B7%C7%B7%D9%B5%CA%D9%B5%C3

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ประวัติพญายมราช
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: สิงหาคม 03, 2010, 08:20:44 pm »
0

ประวัติการทำพญายม 
 

บางพระ ประเพณีแห่พญายม ตำบลบางพระ
การจัดทำองค์พญายมและการแห่พญายมนั้น ทำกันมานานแล้ว โดยทำรวมกับประเพณีกองข้าวของชาวบางพระ จากคำบอกเล่าของผู้สูงวัยเก่าแก่ของบางพระ นายเป๊ะ-นางหลา บัวเขียวและพรรคพวกได้จัดทำพญายมที่บ้านนายเป๊ะ (หลังบ้าน ผู้ใหญ่โด่ง- นางเซี๊ยน ธาราศักดิ์ ) หลังจากนั้นนายอั๊ง นางกิมฮัว บัวเขียว(บุตร,สะใภ้ และนายเป๊ะ)ได้สืบสานการทำพญายม ต่อมาโดยร่วมกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง

   ประมาณปี พ.ศ. 2496 การทำพญายมได้ย้ายมาทำอีกฝั่งคลอง โดยย้ายมาทำที่บริเวณบ้าน นายต๋อย นางเข็ม ซึ่งอยู่ติดกับชายทะเล หลังวัดเขาพระพุทธบาทบางพระ หมู่ 9 บ้านไร่ (หมู่ 4 เดิม) โดยมีนายต๋อย ,นายเล็ก ,นายอิ้น บัวเขียว นายอำนวย บรรเจิด ,นายเสนียน ,นายแล่ม ,นายชม บรรเจิด
และพรรคพวก เพื่อนบ้านเรือนเคียง ช่วยกันทำ ช่วยกันแห่


   ประมาณ พ.ศ.2507 การจัดทำพญายมได้ย้ายไปทำที่สี่แยกคอเขาบางพระบริเวณ ใต้ต้นพุทรา มุมร้านนายผ่อง-นางพยอม กุระ (ช่องว่างระหว่างร้านนายผ่อง กุระกับ ร้านนายหวัง บรรเจิด) และเริ่มทำบุญและก่อพระทราย ตอนเช้า ซึ่งถือเป็นสงกรานต์ วันสุดท้ายของสงกรานต์บางพระ(ช่วงบ่ายจึงแห่พญายม)ผู้ที่ร่วมมือกันทำพญายม

คือ นายผ่อง กุระ นายอำนวย บรรเจิด ,นายแอ๊ว ,นายออด,นายรวย, นายแกะ,
นายทอง, นายฮก,นายอู๋ ,นายทรวง-นายไส เสริมศรี ,นายเณรและเพื่อนบ้าน
ใกล้เคียง ตลอดจน พนักงานขับรถรับจ้าง และผู้รอรถโดยสาร,รถสองแถวไปหนองตายาย

   
ขบวน แห่พญายม

   
ต่อมาเมื่อมีการเวนคืนที่ดินเพื่อ สร้างทางรถไฟ สายฉะเชิงเทรา-สัตหีบ ทำให้พื้นที่
คอเขาพระบาทบางพระที่เคย เป็นที่ทำพญายม และทำบุญวันสุดท้ายของ สงกรานต์ ถูกทำเป็นทางรถไฟด้วย จึงย้ายที่ทำพญายมไปทำที่เนินห่างจากทางรถไฟประมาณ200 เมตร (ถนนเข้าอ่างเก็บน้ำ ฝั่งขวา)ซึ่งเป็นบ้านของ นายอิ้น –นางริด บัวเขียว(ลูกชายนายอั๊ง บัวเขียว ) โดยมี ทีมทำงานเดิมช่วยกันดำเนินการหลังจากจัดทำพญายมที่บ้านนายอิ้น บัวเขียวได้ 2 ครั้ง (2 ปี)


จึงย้ายมาทำที่ หน้าบ้านนายทรวง เสริมศรี ซึ่งอยู่ ทางเข้าอ่างเก็บน้ำบางพระ อยู่ฝั่งซ้ายของถนน ห่างจาก ทางรถไฟประมาณ 100 เมตร โดยมีลูก ๆ ของนายทรวงเพื่อนบ้านใกล้เคียง และเพื่อนๆ
ของ นายไส-นายดำ มาช่วยทำจึงทำให้การจัดทำ พญายมแลดูดีขึ้น เพราะระยะหลังๆ มีหน่วยงานราชการท้องถิ่นให้ความสนใจและสนับสนุน(นายไสและนายดำเป็นบุตร ของนายทรวง) เมื่อนายไส เสริมศรี ถึงแก่กรรมแล้ว

นายดำ เสริมศรี น้องชายนายไส ก็ทำหน้าที่แทนโดยมีพี่น้องญาติ และเพื่อน ๆ รวมทั้งหน่วยงานท้องถิ่นเข้ามาช่วยกัน โดยใช้หน้าบ้านนายทรวงเป็นที่ทำ มีการทำบุญเลี้ยงพระเช้าก่อพระทราย และมีพิธี แห่พญายมในภาคบ่าย มีงานกองข้าวและปล่อยพญายมในตอนเย็น อย่างที่เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน

การทำรูป ปั้นพญายม
ชาวตำบลบางพระจะสร้างพญายมให้แลดูน่าเกรงขามแล้วนำนั่งบนเสลี่ยง แห่นำด้วยขบวนกลองยาว มายังชายหาดนำข้าวปลาอาหารมากอง เซ่นสัมพเวสี เจ้าที่เจ้าทาง หลังพิธีบวงสรวงจะนำองค์พญายมหันหน้าออกสู่ทะเลแล้วปล่อยลงในทะเลเพื่อเป็น การสะเดาะเคราะห์ ปล่อยสิ่งชั่วร้ายให้ลอยไปกับพญายมชาวบ้านจะได้อยู่กันอย่างมีความสุขในวัน งานยังมีการละเล่นพื้นบ้านที่สร้างความสนุกสนานอาทิ อุ้มสาวลงน้ำ เล่นตี่จับ ชักกะเย่อ มอญซ่อนผ้า เล่นลูกช่วงรำ ฯลฯ

ประเพณีแห่พญายม
จัดเป็นประจำมากว่า ๗๕ ปีแล้วและเป็นประเพณีที่พบเห็นเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ปัจจุบันจะจัดขึ้นในวันที่ ๑๘ เดือนเมษายนของทุกปี


ที่มา  http://bangphra.srirachaoutlook.com/bangphracity/thailand-chonburi-bangphra-festival-history_01.php

บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ