ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อยากได้คำแนะนำ เกี่ยวกับเรืองศีล 5 ในชีวิตการทำงานครับ  (อ่าน 3518 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

มะเดื่อ

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 181
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อยากได้คำแนะนำ เกี่ยวกับเรืองศีล 5 ในชีวิตการทำงานครับ

   โดยเฉพาะ เรื่อง มุสา .....
   เช่นเจ้านายถามว่า งานนี้ทำได้หรือไม่ ?  อันที่จริงก็ไม่รู้ว่าทำได้ หรือ ไม่ ? แต่ก็ต้องพูดไปก่อนว่า ได้

   รู้ว่าโกหก แต่ถ้าปฏิเสธ มีหวังหางานใหม่ แน่ ๆ

  thk56
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


บทที่ 7 การรักษาศีล

7.1 วิรัติ หรือ เวรมณี
แม้ว่า ศีล จะเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติของมนุษย์ก็ตาม แต่การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีล นั้น ย่อมมิใช่เพียงแค่การไม่ทำความชั่วแต่เพียงอย่างเดียว เพราะบางคนที่ยังไม่ทำความชั่ว อาจเป็นเพราะยังไม่มีโอกาสที่จะทำ เช่น นักโทษที่ถูกกักขังไว้ ไม่มีโอกาสไปเบียดเบียนใคร ย่อมไม่อาจบอกได้ว่า เขาเป็นผู้ รักษาศีล หรือเด็กทารกที่นอนอยู่ในแปล แม้จะไม่ได้ทำความชั่วอะไร แต่ก็เป็นไปเพราะความที่ไม่รู้เดียงสา จึงไม่อาจกล่าวว่าเด็กนั้นรักษาศีลได้

เพราะศีลนั้น สำคัญที่เจตนา การจะได้ชื่อว่าเป็นผู้รักษาศีล จึงต้องเริ่มต้นที่ความตั้งใจ และ ความ ตั้งใจงดเว้นจากความชั่วŽ นี่เอง คือความหมายของคำว่า วิรัติ หรือ เวรมณี

“ วิรัติŽ” จึงเป็นสิ่งที่บ่งชี้ถึงการมีศีล บุคคลใดก็ตาม จะได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศีล รักษาศีล ก็ต่อเมื่อมีวิรัติ อย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปนี้
    1. สมาทานวิรัติ
    2. สัมปัตตวิรัติ
    3. สมุจเฉทวิรัติ
1)

7.1.1 สมาทานวิรัติ
สมาทานวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาป เพราะได้สมาทานศีลไว้แล้ว หมายความว่าเราได้ ตั้งใจไว้ก่อนว่าจะรักษาศีล ครั้นไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็ไม่ยอมให้ศีลขาด ดังมีเรื่องเล่าถึง การสมาทานวิรัติของอุบาสกท่านหนึ่ง


     อุบาสกผู้หนึ่ง 2)
ณ ประเทศศรีลังกา อุบาสกผู้หนึ่งได้รับศีลจากพระปิงคลพุทธรักขิตเถระแห่งอัมพริยวิหาร วันหนึ่ง อุบาสกผู้นี้ได้ออกไปไถนา พอถึงเวลาพัก ก็ปลดโคออกจากไถปล่อยให้กินหญ้าไปตามสบาย ปรากฏว่า โคได้หายไป เขาจึงออกตามหา จนไปถึงภูเขาชื่อทันตรวัฑฒมานะ ณ ที่นั้นเอง เขาได้ถูกงูเหลือมตัวหนึ่งรัด เข้า จึงชักมีดอันคมกริบออกมา เงื้อขึ้นหมายจะฆ่างูนั้น แต่แล้วเขากลับฉุกคิดได้ว่า
    “ตัวเรานี้ได้รับศีลจากพระเถระผู้เป็นที่เคารพศรัทธา การจะมาล่วงละเมิดศีลเช่นนี้ช่างไม่สมควรเลยŽ เขาได้เงื้อมีดขึ้นถึง 3 ครั้ง แต่ในที่สุดก็ตกลงใจว่า เราจะยอมสละชีวิต แต่จะไม่ยอมสละศีลŽ”
    คิดได้ดังนี้จึงโยนมีดทิ้งไป ด้วยเดชแห่งศีลที่ตั้งใจรักษา จึงทำให้งูเหลือมใหญ่นั้นคลายตัวออก แล้วเลื้อยหนีเข้าป่าไป



7.1.2 สัมปัตตวิรัติ
สัมปัตตวิรัติ คือ ความตั้งใจงดเว้นจากบาปเมื่อเกิดเรื่องขึ้นเฉพาะหน้า แม้ว่าเดิมทีนั้น ไม่ได้สมาทานศีลไว้ แต่เมื่อไปพบเหตุการณ์ที่ชวนให้ล่วงละเมิดศีล ก็คำนึงถึง ชาติ ตระกูล การศึกษา หรือความดีต่างๆ เป็นต้น จึงทำให้เกิดความตั้งใจที่จะงดเว้นจากบาปเวรขึ้นในขณะนั้นนั่นเอง ดัง เช่นเรื่องราวของจักกนอุบาสก


     จักกนอุบาสก
3)
เมื่อครั้งที่จักกนะอุบาสกยังเล็กอยู่นั้น มารดาของเขาได้ล้มป่วยลง หมอบอกว่าต้องใช้เนื้อกระต่าย เป็นๆ มาทำยารักษาจึงจะหาย พี่ชายของจักกนะจึงบอกให้เขาไปหากระต่ายมา จักกนะจึงออกไปที่ทุ่งนา และได้พบกระต่ายน้อยตัวหนึ่งกำลังกินข้าวกล้าอยู่ เมื่อกระต่ายน้อยเห็นจักกนะ มันจึงรีบวิ่งหนี แต่ก็หนีไม่พ้น เพราะบังเอิญไปถูกเถาวัลย์พันตัวไว้ ได้แต่ร้องอยู่ จักกนะจึงจับตัวมาได้ แต่เมื่อเห็นอาการลนลานด้วยความ กลัวของกระต่ายน้อย เขาเกิดความสงสาร คิดขึ้นมาว่า
     “ควรหรือที่เราจะเอาชีวิตของผู้อื่นมาเพื่อช่วยชีวิตมารดาของเราŽ”
      จักกนะจึงปล่อยกระต่ายน้อยตัวนั้น พร้อมกับกล่าวว่า
    “เจ้าจงไปกินหญ้ากินน้ำของเจ้าตามสบายเถิดŽ”


เมื่อกลับมาถึงบ้าน จักกนะถูกพี่ชายซักถาม จึงเล่าความจริงให้ฟัง และถูกพี่ชายต่อว่าอย่างมากมาย แต่เขาก็มิได้โต้ตอบ ได้แต่ขยับเข้าไปใกล้ๆ มารดา แล้วกล่าวสัจวาจาว่า
    “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเกิดมา ยังไม่เคยจงใจฆ่าสัตว์ใดเลย ด้วยคำสัตย์นี้ ขอให้มารดาจงหายจากโรคเถิดŽ”
     ทันใดนั้นเอง มารดาของเขาก็หายป่วยเป็นอัศจรรย์

7.1.3 สมุจเฉทวิรัติ
สมุจเฉทวิรัติ หรือ เสตุฆาตวิรัติ คือ การงดเว้นจากบาปได้อย่างเด็ดขาด เป็นวิรัติของพระอริยเจ้า ซึ่งละกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง ได้แล้ว เมื่อใจท่านปราศจากกิเลสที่เป็นเหตุให้ทำความชั่ว จึงไม่มีการผิดศีลอย่างแน่นอน


จะเห็นว่า วิรัติ นั้นเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพราะการกระทำใดๆ ก็ตาม หากปราศจากความตั้งใจมุ่งมั่น แล้ว การกระทำนั้นๆ ย่อมไม่หนักแน่นมั่นคง พร้อมจะแปรเปลี่ยนอยู่เรื่อยไป ดังนั้น แม้จะยังไม่ได้ทำความ ชั่วขึ้นก็ตาม แต่ถ้าหากไม่มีวิรัติ ก็ไม่จัดว่าเป็นการรักษาศีล





7.2 องค์แห่งศีล
แม้ว่าเราจะตั้งใจรักษาศีลอย่างดี แต่ก็มีบางครั้งบางคราวที่เราอาจพลาดพลั้งเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น โดยที่เราเองก็มิได้ตั้งใจ ซึ่งก็อาจเป็นไปเพราะความจำเป็นบางอย่าง หรืออาจเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่ละเหตุผลนั้นล้วนเป็นเหตุให้เราเกิดความไม่สบายใจ หรือเกิดความสงสัยขึ้นว่า การกระทำของเรา ผิดศีล หรือ ศีลขาดหรือไม่ และบางคนถึงกับเกิดความทุกข์ใจในการรักษาศีล ว่าเป็นเรื่องที่ยากเกินกว่าวิสัยของเรา หรือไม่ ซึ่งความจริงมิได้เป็นเช่นนั้นเลย

เพื่อให้เกิดความเข้าใจและสามารถรักษาศีลอย่างถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่เราต้องศึกษา ข้อวินิจฉัยของศีลแต่ละข้อ ว่าการกระทำอย่างใดจึงถือว่าศีลขาด อย่างไรถือว่า ศีลทะลุ ศีลด่าง ศีลพร้อยซึ่งข้อวินิจฉัย มีดังต่อไปนี้
(ยกมาแสดงบางส่วน)

7.2.4 การพูดเท็จ

องค์แห่งการพูดเท็จ การพูดเท็จต้องประกอบด้วยองค์ 4 คือ 7)
    1. เรื่องไม่จริง
    2. มีจิตคิดจะพูดให้ผิดไปจากความจริง
    3. พยายามที่จะพูดให้ผิดไปจากความจริง
    4. คนฟังเข้าใจความที่พูดนั้น


ลักษณะของการพูดเท็จ การพูดเท็จ มี 7 ประการ คือ
    - การพูดปด ได้แก่ การโกหก
    - การสาบาน ได้แก่ การทำให้ผู้อื่นหลงเชื่อด้วยการสาบาน
    - การทำเล่ห์กระเท่ห์ ได้แก่ การอวดอ้างสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันไม่เป็นจริง
    - มารยา ได้แก่ การแสดงอาการให้เขาเห็นผิดจากที่เป็นจริง
    - ทำเลศ ได้แก่ การพูดเล่นสำนวน คลุมเครือ ให้คนฟังเข้าใจผิด
    - พูดเสริมความ ได้แก่ การเสริมให้มากกว่าความเป็นจริง
    - พูดอำความ ได้แก่ การตัดข้อความที่ไม่ประสงค์จะให้รู้ออกเสีย เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ที่คลาดเคลื่อน



การพูดอนุโลมการพูดเท็จ มี 2 ประการ คือ
    1. อนุโลมพูดเท็จ คือ เรื่องที่ไม่จริง แต่พูดโดยมีเจตนาให้คนอื่นเชื่อถือ ได้แก่
       - เสียดแทง เป็นการว่าผู้อื่นให้เจ็บใจ เช่น การประชด การด่า
       - สับปลับ เป็นการพูดปดด้วยความคะนองปาก
    2. ปฏิสสวะ คือ การรับคำของผู้อื่นด้วยเจตนาที่บริสุทธิ์ แต่ภายหลังเกิดกลับใจไม่ทำตาม ที่รับนั้น ได้แก่
        - ผิดสัญญา คือ การที่สองฝ่ายทำสัญญาต่อกัน แต่ภายหลังฝ่ายหนึ่งได้บิดพลิ้ว ไม่ทำตาม ที่สัญญาไว้
        - เสียสัตย์ คือ การที่ฝ่ายหนึ่งได้ให้คำสัตย์ไว้ แต่ภายหลังได้บิดพลิ้วไม่ทำตามนั้น
        - คืนคำ คือการรับคำว่าจะทำสิ่งนั้นๆ โดยไม่มีข้อแม้ แต่ภายหลังหาได้ทำตามนั้นไม่


ยถาสัญญา คือ การพูดตามโวหารที่ตนเองจำได้ ถือว่าไม่ผิดศีล มี 4 ประการ
    1. พูดโวหาร ได้แก่ การพูดหรือเขียนตามธรรมเนียม เช่น ขอแสดงความเคารพอย่างสูง ซึ่ง ใจจริงอาจไม่เคารพเลยก็ได้ เช่นนี้ถือว่าไม่ผิดศีล
    2. การเล่านิทานหรือนิยายให้ผู้อื่นฟัง หรือแต่งเรื่องขึ้นเพื่อใช้เป็นบทละคร หรือภาพยนตร์
    3. การพูดด้วยความเข้าใจผิด
    4. การพูดเพราะความพลั้งเผลอ


การพูดเท็จ มีโทษมากหรือโทษน้อย ขึ้นอยู่กับ
    1. ความเสียหายที่เกิดขึ้นว่ามากน้อยเพียงใด
    2. คุณความดีของผู้ที่ถูกละเมิด
    3. ผู้พูดนั้นเป็นใคร เช่น
        - คฤหัสถ์ที่โกหกว่า ไม่มีŽ เพราะไม่อยากให้ของของตน อย่างนี้มีโทษน้อย แต่การเป็นพยาน เท็จมีโทษมาก
        - บรรพชิตพูดเล่นมีโทษน้อย แต่การพูดว่าตน รู้เห็นŽ ในคุณวิเศษที่ตนไม่รู้ไม่เห็นมีโทษมาก



ขอบคุณข้อมูลจาก หนังสือวิถีชาวพุทธ ของมหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย
ที่มา http://book.dou.us/doku.php?id=sb101:7
อ้างอิง
1) อรรถกถาธรรมสังคณี จิตตุปปาทกัณฑ์, มก. เล่ม 75 หน้า 299.
2) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนี ฉบับภาษาบาลี - มงฺคลตฺถทีปนี (ทุติโย ภาโค), พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราขวอทยาลัย, 2539), เล่มที่ 2 ข้อ 158 หน้า 129.
3) มหามกุฏราชวิทยาลัย, มังคลัตถทีปนี ฉบับภาษาบาลี - มงฺคลตฺถทีปนี (ทุติโย ภาโค), พิมพ์ครั้งที่ 13, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามกุฏราชวิทยาลัย, เล่มที่ 2 ข้อ 156 หน้า 127.
7) อรรถกถาธรรมสังคณี จิตตุปปาทกัณฑ์, มก. เล่ม 75 หน้า 292.
ขอบคุณภาพจาก http://www.dhammada.net/,http://sphotos-a.xx.fbcdn.net/,http://www.dhammajak.net/,http://www.sawasdee.us/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ปฐมบัญญัติมุสาวาท พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้ครั้งแรกเมื่อใด

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒  พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๒ มหาวิภังค์ ภาค ๒
ปาจิตตีย์ วรรคที่ ๑
๑. มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๑
เรื่องพระหัตถกะศากยบุตร


     [๑๗๓] โดยสมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวันอารามของอนาถบิณฑิกคหบดี เขตพระนครสาวัตถี. ครั้งนั้น พระหัตถกะศากยบุตรเป็นคนพูดสับปรับ ท่านเจรจาอยู่กับพวกเดียรถีย์ กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้ว ทำให้คลาดเคลื่อน.
             
     พวกเดียรถีย์พากันเพ่งโทษติเตียนโพนทะนาว่า ไฉน พระหัตถกะศากยบุตร เจรจาอยู่กับพวกเรา จึงได้กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้วทำให้คลาดเคลื่อนเล่า?.

     ภิกษุทั้งหลายได้ยินเดียรถีย์พวกนั้น เพ่งโทษติเตียนโพนทะนาอยู่ จึงเข้าไปหาพระหัตถกะศากยบุตรถึงสำนัก ครั้นแล้วได้ถามพระหัตถกะว่า อาวุโสหัตถกะ ข่าวว่า ท่านเจรจาอยู่กับพวกเดียรถีย์ กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้วทำให้คลาดเคลื่อน จริงหรือ?.
           
     พระหัตถกะศากยบุตรตอบว่า อาวุโสทั้งหลาย ขึ้นชื่อว่าพวกเดียรถีย์เหล่านี้ เราต้องเอาชนะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง เราไม่ควรให้ความชนะแก่เดียรถีย์พวกนั้น.

     บรรดาภิกษุผู้มักน้อย สันโดษ มีความละอาย มีความรังเกียจ ผู้ใคร่ต่อสิกขา ต่างก็เพ่งโทษ ติเตียน โพนทะนาว่า ไฉน พระหัตถกะศากยบุตร เจรจาอยู่กับพวกเดียรถีย์ จึงได้กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้วทำให้คลาดเคลื่อนเล่า? แล้วกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค.

ประชุมสงฆ์ทรงสอบถาม
      ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุแรกเกิดนั้น แล้วทรงสอบถาม พระหัตถกะศากยบุตรว่า จริงหรือหัตถกะ ข่าวว่า เธอเจรจาอยู่กับพวกเดียรถีย์ กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น กล่าวเท็จทั้งๆ ที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้วทำให้คลาดเคลื่อน?.
      พระหัตถกะศากยบุตรทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า.

ทรงติเตียน
      พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า ดูกรโมฆบุรุษ ไฉน เธอเจรจาอยู่กับพวกเดียรถีย์จึงได้กล่าวปฏิเสธแล้วรับ กล่าวรับแล้วปฏิเสธ เอาเรื่องอื่นกลบเกลื่อนเรื่องอื่น กล่าวเท็จทั้งๆที่รู้อยู่ พูดนัดหมายไว้แล้วทำให้คลาดเคลื่อนเล่า?
      การกระทำของเธอนั่น ไม่เป็นไปเพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว, โดยที่แท้การกระทำของเธอนั่น เป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่นของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว.


ทรงบัญญัติสิกขาบท
      พระผู้มีพระภาคครั้นทรงติเตียนพระหัตถกะศากยบุตร โดยอเนกปริยายดังนี้แล้ว ตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยาย, ทรงกระทำธรรมีกถาที่สมควรแก่เรื่องนั้นที่เหมาะสมแก่เรื่องนั้น แก่ภิกษุทั้งหลาย แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแล เราจักบัญญัติสิกขาบทแก่ภิกษุทั้งหลาย อาศัยอำนาจประโยชน์ ๑๐ ประการ คือ
      เพื่อความรับว่าดีแห่งสงฆ์ ๑
      เพื่อความสำราญแห่งสงฆ์ ๑
      เพื่อข่มบุคคลผู้เก้อยาก ๑
      เพื่ออยู่สำราญแห่งภิกษุผู้มีศีลเป็นที่รัก ๑
      เพื่อป้องกันอาสวะอันจะบังเกิดในปัจจุบัน ๑
      เพื่อกำจัดอาสวะอันจักบังเกิดในอนาคต ๑
      เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส ๑
      เพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว ๑
      เพื่อความตั้งมั่นแห่งพระสัทธรรม ๑
      เพื่อถือตามพระวินัย ๑.

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็แลพวกเธอพึงยกสิกขาบทนี้ขึ้นแสดงอย่างนี้ ว่าดังนี้:-

พระบัญญัติ
             ๕๐. ๑. เป็นปาจิตตีย์ในเพราะสัมปชามุสาวาท.

            เรื่องพระหัตถกะศากยบุตร จบ.





สิกขาบทวิภังค์

     [๑๗๔] ที่ชื่อว่า สัมปชานมุสาวาท ได้แก่ วาจา เสียงที่เปล่ง ถ้อยคำเป็นแนวทาง การเปล่งวาจา เจตนาที่ให้เขาเข้าใจทางวาจา ของบุคคลผู้จงใจจะพูดให้คลาดจากความจริง ได้แก่ คำพูดของอนารยชน ๘ อย่าง คือ
    ไม่เห็น พูดว่าข้าพเจ้าเห็น ๑,
    ไม่ได้ยิน พูดว่าข้าพเจ้าได้ยิน ๑,
    ไม่ทราบ พูดว่าข้าพเจ้าทราบ ๑,
    ไม่รู้ พูดว่าข้าพเจ้ารู้ ๑,
    เห็น พูดว่าข้าพเจ้าไม่เห็น ๑,
    ได้ยิน พูดว่าข้าพเจ้าไม่ได้ยิน ๑,
    ทราบ พูดว่าข้าพเจ้าไม่ทราบ ๑,
    รู้ พูดว่าข้าพเจ้าไม่รู้ ๑.


      ฯลฯ...............ฯลฯ................ฯลฯ


อ้างอิง           
เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒  บรรทัดที่ ๔๕๗๖ - ๔๙๐๕.  หน้าที่  ๑๙๑ - ๒๐๓.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=2&A=4576&Z=4905&pagebreak=0
ขอบคุณภาพจาก http://www.dmc.tv/,http://hilight.kapook.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


"ราหุโลวาท"พระพุทธเจ้าทรงอบรมสามเณรราหุล

แต่ก็มีพระสูตรบางพระสูตรที่กล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงอบรมพระราหุลที่พระเวฬุวัน ซึ่งท่านพระอรรถกถาจารย์ท่านเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าโปรดให้บวชพระราหุลนั้น พระราหุลมีชันษาได้เพียง ๗ พรรษา และเมื่อได้ทรงนำมาประทับอยู่ที่พระเวฬุวันกรุงราคฤห์ ก็ได้ทรงอบรมราหุลสามเณรอยู่เสมอ คำอบรมในระหว่างที่ราหุลสามเณรมีพระชนม์ ๗ พรรษานั้น

    ท่านร้อยกรองไว้เป็นพระสูตรหนึ่ง เรียกว่า ราหุโลวาท ซึ่งแปลว่า โอวาทแก่พระราหุล มีเล่าไว้ว่า
    พระราหุลได้ประทับอยู่ที่เรือนชั้นอันชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา ที่ตอนสุดของพระเวฬุวัน พระพุทธเจ้าดเสด็จไปประทานพระโอวาทอบรม เตือนให้พระราหุลศึกษา ๒ ข้อ คือ
        ๑. ให้ศึกษาว่า จะไม่พูดเท็จแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น
        ๒. ให้ศึกษาว่า จะปัจจเวกข์ คือ พิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์


    ข้อความละเอียดในพระสูตรนี้มีเล่าว่า เมื่อเสด็จพระพุทธดำเนินไปถึง พระราหุลก็ได้ปูอาสนะ ได้เตรียมน้ำล้างพระบาท และก็ได้ล้างพระบาทถวาย พระพุทธเจ้าได้ประทับนั่งแล้วก็ตรัสให้พระราหุลดูน้ำที่เหลืออยู่ในภาชนะที่ใช้เทล้างพระบาทนั้น ซึ่งมีเหลืออยู่น้อย ตรัสเปรียบเทียบว่า
    “ความละอายในเพราะสัมปชานมุสาวาท คือ พูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ ไม่มีแก่ผู้ใด
    สมัญญะ คือ ความเป็นสมณะ ของผู้นั้นก็มีน้อย เหมือนอย่างน้ำที่มีเหลืออยู่น้อยในภาชนะน้ำนั้น”





    แล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลเทน้ำทิ้งให้หมด ตรัสโอวาทต่อไปว่า
    “ความละอายในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด ความเป็นสมณะของผู้นั้น ก็ต้องถูกทิ้งเสียแล้ว เหมือนอย่างน้ำในภาชนะน้ำที่เขาทิ้งเสียหมด”

    แล้วก็ตรัสสั่งให้พระราหุลคว่ำภาชนะน้ำ แล้วทรงสั่งให้พระราหุลหงายภาชนะน้ำนั้น ก็เป็นภาชนะน้ำที่ว่างเปล่า ก็ตรัสโอวาทสืบต่อไปอีกว่า
    “ความละอายในเพราะพูดเท็จทั้งที่รู้อยู่ไม่มีแก่ผู้ใด ความเป็นสมณะของผู้นั้นก็ว่างเปล่า เหมือนอย่างภาชนะน้ำที่หงายขึ้นว่างเปล่า ฉะนั้น”

    ต่อจากนั้น ก็ตรัสอุปมาอีกข้อหนึ่งว่า เหมือนอย่างช้างศึกของพระเจ้าแผ่นดินที่ฝึกหัดไว้เป็นอย่างดี ขึ้นระวางแล้วออกสงครามก็ทำการรบ ทำหน้าที่ออกศึก ด้วยเท้าหน้าทั้งสอง ด้วยเท้าหลังทั้งสอง ด้วยศีรษะ ด้วยหู ด้วยงวง ด้วยหาง แต่ว่าถ้ายังรักษางวงอยู่ ยังไม่ใช้งวงในการปฏิบัติหน้าที่ ก็ชื่อว่ายังมิได้สละชีวิตเพื่อพระเจ้าแผ่นดิน ต่อไปปฏิบัติหน้าที่ด้วยงวงอย่างหนึ่ง จึงชื่อว่าได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างบริบูรณ์ และก็ไม่มีอะไรที่ช้างนั้นมิได้ทำ ฉันใดก็ดี
     ถ้าไม่มีความละอายที่จะพูดเท็จทั้งรู้ ก็กล่าวไม่ได้ว่าจะไม่ทำบาปอะไรๆ
     แต่ถ้ามีความละอายอยู่ในอันที่จะพูดเท็จทั้งรู้ งดเว้นจากการพูดเท็จเสียได้
     จึงจะกล่าวได้ว่า เป็นผู้ไม่ทำบาป.

     เมื่อได้ตรัสโอวาทดั่งนี้แล้ว จึงสรุปให้พระราหุลศึกษา จะไม่พูดเท็จ แม้เพื่อจะหัวเราะเล่น.


   


      ต่อจากนั้นได้ทรงสอนให้พระราหุล ปัจจเวกข์ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
      ได้ทรงชักวัตถุอย่างหนึ่งมาเปรียบเทียบ คือ
     “ตรัสถามว่า แว่นส่องมีประโยชน์อะไร” 
      “พระราหุลก็กราบทูลว่า มีประโยชน์เพื่อจะปัจจเวกขณ์ คือว่า ได้ตรวจดูหน้าตา เป็นต้น”


     พระพุทธเจ้าจึงได้ประทานพระโอวาทสืบต่อไปว่า
     ควรที่จะปัจจเวกขณ์ คือ พิจารณาก่อนแล้วจึงทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
     เมื่อคิดปรารถนาจะทำ จะพูด จะคิด ก็ให้ปัจจเวกขณ์ก่อนว่า เราจะทำ จะพูด จะคิด อย่างนี้
     แต่ว่าการทำ พูด คิด อย่างนี้เป็นอย่างไร เมื่อปัจจเวกขณ์แล้ว รู้ว่า การทำ การพูด การคิด อย่างนี้
     เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เพื่อเบียดเบียนผู้อื่น เพื่อเบียดเบียนทั้งตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน
     เป็นอกุศล มีทุกข์โศกเป็นกำไรเป็นผล


     เมื่อรู้ดังนี้แล้วก็ไม่ควรทำ กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น ต่อเมื่อได้ปัจจเวกขณ์แล้วก็รู้ว่าไปตรงกันข้าม คือ การทำ การพูด การคิดนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนดังกล่าว เป็นกุศล มีสุขเป็นกำไรเป็นผล เมื่อรู้ดังนี้แล้ว จึงควรทำกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมนั้น

    อนึ่ง เมื่อกำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอยู่ ก็ให้ปัจจเวกขณ์ว่า บัดนี้เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิดอย่างนี้ แต่ว่าการทำ การพูด การคิดอย่างนี้ เป็นอย่างไร เมื่อปัจจเวกขณ์ก็จะรู้ เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนไม่ดี ก็ให้เลิกเสีย เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนดี ก็ให้ทำเพิ่มเติมต่อไป

    อนึ่ง ทำ พูด คิด มาแล้วก็ให้ปัจจเวกขณ์เหมือนกันว่า เราได้ทำ พูด คิด อย่างนี้มาแล้ว
    แต่ว่าการทำ การพูด การคิดของเรานั้น เป็นอย่างไร
    เมื่อรู้ว่าไม่ดี แต่ว่าทำไปแล้ว ก็ให้แสดงเปิดเผยในพระศาสดา หรือในสหพรหมจารีซึ่งเป็นวิญญูชน คือ เป็นผู้รู้ และถึงความสังวร เพื่อจะไม่ทำอีกต่อไป
    เมื่อรู้ว่าเป็นส่วนดี ก็ให้เป็นผู้มีปีติความอิ่มใจปราโมทย์ความบันเทิงอยู่ และตามศึกษาสำเหนียกอยู่ในธรรมที่เป็นส่วนกุศลทั้งหลายทั้งกลางวัน ทั้งกลางคืน.





    พระพุทธเจ้าได้ตรัสสรุปต่อไปว่า สมณพราหมณ์ในอดีต ปัจจเวกขณ์ชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมมาอย่างนี้ ในอนาคตก็จักได้ปัจจเวกขณ์ชำระอย่างนี้ ในปัจจุบันก็พิจารณาชำระอย่างนี้
    ในที่สุดก็ตรัสเตือนให้พระราหุลศึกษาเป็นข้อที่ ๒ 
    คือ ให้คอยปัจจเวกขณ์กายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์อยู่เสมอ


    พระสูตรนี้เรียกว่า อัมพลัฏฐิการาหุโลวาทสูตร
    ตามชื่อของเรือนนั้น ชื่อว่า อัมพลัฏฐิกา หรือเรียกว่า จุลราหุโลวาทสูตร
    พระสูตรที่แสดงพระโอวาทแก่พระราหุลซึ่งเป็นสูตรเล็ก
    เพราะเมื่อพระราหุลมีอายุมากขึ้น พระพุทธเจ้าได้ประทานพระโอวาทอย่างอื่นต่อไป



ที่มา :  ๔๕ พรรษาของพระพุทธเจ้า
พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก; วัดบวรนิเวศวิหาร
http://www.phuttha.com/พระพุทธเจ้า/ตรัสรู้/ราหุโลวาท-พระพุทธเจ้าทรงอบรมพระราหุล

ขอบคุณภาพจาก http://www.phuttha.com/,http://www.bloggang.com/,http://topicstock.pantip.com/,http://board.palungjit.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 19, 2013, 11:41:36 am โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28409
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
อยากได้คำแนะนำ เกี่ยวกับเรืองศีล 5 ในชีวิตการทำงานครับ

   โดยเฉพาะ เรื่อง มุสา .....
   เช่นเจ้านายถามว่า งานนี้ทำได้หรือไม่ ?  อันที่จริงก็ไม่รู้ว่าทำได้ หรือ ไม่ ? แต่ก็ต้องพูดไปก่อนว่า ได้

   รู้ว่าโกหก แต่ถ้าปฏิเสธ มีหวังหางานใหม่ แน่ ๆ

  thk56

   ans1 ans1 ans1
   
    นักปฏิบัติธรรมจะต้องไม่ "พูดโกหกทั้งที่รู้อยู่" บาลีว่า "สัมปชานมุสาวาท"
    การประกอบอาชีพเพื่อความอยู่รอด บางครั้งอาจพูดความจริงไม่ได้ เรื่องนี้เข้าใจและก็เห็นใจ
    ทางออกก็คือ คุณต้องหากุศโลบายเอาเอง ที่จะพูดโกหกให้น้อยที่สุด หรือมีโทษน้อยที่สุด


    อย่างไรก็ตาม นักปฏิบัติธรรมต้องระลึกถึงพุทธพจน์ที่ว่า
        - จะไม่พูดเท็จแม้เพื่อจะหัวเราะเล่น
        - จะปัจจเวกข์ คือ พิจารณาชำระกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมให้บริสุทธิ์


    สุดท้าย..ขอชื่นชมความกล้าหาญของคุณมะเดื่อ ที่ออกมาเปิดเผยความจริงให้ทราบ สมดังประโยคที่ว่า
    "เมื่อรู้ว่าไม่ดี แต่ว่าทำไปแล้ว ก็ให้แสดงเปิดเผยในพระศาสดา หรือในสหพรหมจารีซึ่งเป็นวิญญูชน คือ เป็นผู้รู้ และถึงความสังวร เพื่อจะไม่ทำอีกต่อไป"

    ขอให้คุณมะเดื่อ "เป็นผู้รู้ และถึงความสังวร เพื่อจะไม่ทำอีกต่อไป"

     :25: :25: :25:
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ