ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระธรรมะย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว  (อ่าน 2128 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

nippan55

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 53
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ธมฺ โมหเว รักขติ ธรรมจารึ ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ

แปลว่าพระธรรมะย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ธรรมที่ที่ผู้ประพฤติดีแล้วย่อมนำสุขมาให้ ดังนี้



       พระพุทธเจ้าได้ทรงสอนไว้ว่า ไม่ควรเชื่อมงคลตื่นข่าว มงคลตื่นข่าวนี้คือ เล่าลือกันมา นับถือกันมาโดยลำดับ แต่แล้วเมื่อ พิสูจน์หาความจริงน่ะไม่พบ เป็นแต่ข่าวลือ ข่าวลือว่าเจ้าองค์บุญเกิดขึ้นที่นั้นที่นี้ ผู้วิเศษเกิด ขึ้นที่นั้นที่นี้ แม้เป็นเด็กน้อยก็ยังถือว่าเป็นผู้วิเศษ พากันไปกราบไปไหว้ ไปขอพร ขอให้เด็กน้อยนั้นอวยชัยให้พร แต่ก่อนนี้น่ะมี แต่เดี๋ยวนี้รู้สึกว่า จะห่างๆ ไป ก็เด็กน้อยนั้นมันจะรู้อะไร แต่เมื่อมีหมอโหรหรือหมออะไร ทำนายว่าเด็กคนนี้มีบุญนะ สามารถที่จะ อวยชัยให้พรแก่คนร่ำรวยมั่งมีได้ พอได้ยินหมอดูหมอเดาเขาพยากรณ์อย่างนี้นะ ก็หลั่งไหลกันไป ขอลาภขอยศอะไรต่ออะไร กันมากมาย อันนี้แหละเรียกว่ามงคลตื่นข่าว


เพราะฉะนั้นพวกเราอย่าไปตื่นเต้นกัน ไอ้กาย วาจา ใจ ของเรานี่นะ อันนี้เป็นบ่อเกิดแห่งบุญแห่งบาป ขอให้เข้าใจอย่างนั้น ความจริงน่ะเราได้ อัตตภาพร่างกายนี้มาโดยสมบูรณ์ ไม่บ้า ไม่หนวก ไม่บอด อวัยวะทุกส่วนสมบูรณ์ บริบูรณ์ดี อันนี้ได้มาด้วยบุญ เราทำบุญให้ทาน รักษาศีล ไม่เบียดเบียนคนอื่น สัตว์อื่นมาแต่ชาติก่อน บุญเหล่านั้นนำมาปฏิสนธิในท้องของมารดา อาศัยธาตุของ มารดา บิดา อยู่ แล้วบุญกุศลที่ทำมาแต่ก่อนนั้นแหนะ ก็มาตกแต่งตาหู จมูกลิ้นกาย อวัยวะน้อยใหญ่ต่างๆ ให้ ไม่พิกลพิการอะไรเลย อย่างนี้นะ นี้ละบุญนะ บุญตกแต่ง ให้ ให้พากันภาคภูมิใจว่าเราได้ อัตภาพร่างกาย คือว่าธาตุสี่ขันธ์ห้านี้มาด้วยบุญ แล้วเราก็อาศัยธาตุสี่ขันธ์ห้านี้แหละ สร้างบุญสร้างกุศล ไม่ทำบาปบาปไม่เอา


เมื่อเรามีทุน เหมือนอย่างพ่อค้า พาณิชย์ต่างๆ หาเงินหาทองเป็นก้อนโตขึ้นมาแล้ว ก็เปิดร้านขายของ ซื้อสินค้ามาขาย ก็ร่ำรวยขึ้นมา อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นน่ะ เรามีกาย วาจาใจอันนี้ โดยอำนาจบุญกุศลตกแต่งให้แล้วเช่นนี้ เราก็อาศัยกายวาจาใจนี้แหละสร้างบุญกุศล ใหม่สืบต่อ ถ้าหากว่าเราไม่มีกายวาจานี้ จิตก็ไม่มีที่อาศัย ก็ไม่ได้สร้างบุญกุศล ขอให้เข้าใจ


แต่คนส่วนมาก ไม่สามารถจะแยกออกจากกันได้ระหว่างบุญกับบาป เจอบุญก็ทำบุญเข้าไป บาปก็ทำบาปเข้าไป อย่างนี้นะไม่ถูกต้อง พระศาสดาทรงสอนให้ เลือก ไอ้อันใดเป็นบุญกุศลทรงสอนให้ทำ สิ่งใดเป็นบาปเป็นโทษทรงสอนให้ ละ เป็นอย่างงั้นเพราะฉะนั้น พวกเราเป็นชาวพุทธนะขอให้พากัน คัดเลือก เพราะเรื่องบาปกับบุญหรือว่าดีกับชั่ว เป็นคู่ขนานกันเลย ถ้าบุคคลไม่เลือกแล้วก็อย่างว่านั้นแหนะ ได้ทั้งสองอย่าง ได้ทั้งบุญได้ทั้งบาป เป็นอย่างงั้น


พวกเราชาวพุทธควรใช้ปัญญา เหมือนอย่างที่เราไปซื้อของในร้าน ขายของเค้าอย่างเงี้ยะ จู่ๆ เราเห็นอันใดจะซื้อเอาอันนั้นเลยไม่มีน่ะ คนมีปัญญาเข้าไปในร้านขายของแล้วต้องเลือก ต้องเลือกว่าของอันใดที่ควรซื้อ เอาที่มันไม่เสียไม่หาย ก็ต้องเลือกแล้วเลือกเล่า เห็นว่าสินค้าอันนี้บริสุทธิ์ไม่มีด่างไม่มีพร้อย ไม่มีเสียหายก็จึงซื้อเอา


อันนี้ฉันใดก็อย่างนั้นน่ะ ไอ้การกระทำความดีความชั่วทั้งหลายนี่ ผู้มีปัญญาก็ต้องเลือก เลือกตามที่พระพุทธเจ้าทรง แสดงไว้ว่าอย่างนี้ไม่ควรทำนะ ควรละอย่างนี้นะ พระองค์แสดงไว้แล้ว เราศึกษารู้แล้วเราก็ไม่ทำ ไม่ทำตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ ทรงห้ามไว้ ทรงสอนให้พุทธบริษัทให้เลือก เลือกการกระทำความดี ทิ้งความชั่ว อันนี้เป็นจุดสำคัญ


ฉะนั้นเราเป็นชาวพุทธขอให้เลือก การงานที่ทำ คำพูดที่พูด เหล่านี้เราต้องเลือก เลือกทำให้ตรงกับที่พระพุทธองค์ ทรงอนุญาต เว้นในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ก็สิ่งที่พระองค์ทรงห้ามก็มีอยู่ห้าอย่าง ไอ้ส่วนสำคัญนะ ส่วนปลีกย่อยก็มีมากกว่านั้น เราก็คงรู้กันดีอยู่แล้ว การฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม กล่าวมุสาวาท ดื่มสุราเมรัย กัญชา ยาฝิ่นเฮโรอีน ห้าประการนี้ เป็นข้อห้ามที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามไว้ ทรงรู้แจ้งว่า การล่วงละเมิดในข้อห้ามห้าประการนี้มันเป็น บาปเป็นโทษ มันนำทุกข์มาให้ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า และชาติหน้าต่อไป



นี่แหละกล่าวโดยสรุปใจความแล้วว่า การละความชั่ว การทำความดี ให้เกิดมีขึ้นในตน การชำระจิตใจที่เศร้าหมองด้วยบาปอกุศลให้ระงับดับไป และให้ใจเบิกบานผ่องใส อันนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่บังเกิดมาในโลกนี้ ที่ล่วงแล้วมา พุทธเจ้ามาบังเกิดในโลกนี้นับไม่ถ้วนนะ เท่าเม็ดหินเม็ดทรายในท้องมหาสมุทรเลย พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ พุทธเจ้าทุกพระองค์ มาตรัสรู้ในโลกแล้วก็ทรงสั่งสอน ให้โอวาทย่อๆ แก่ พุทธศาสนิกชนสามข้อนี้เองนะ


หนึ่งให้เว้นจากความชั่วห้าอย่างดังกล่าวมาแล้วนั้นนะ หรือเบ็ดเตล็ดอีก สองให้บำเพ็ญกุศลคุณงามความดีให้เกิดมีขึ้นในตน ได้แก่การสำรวมกายวาจาใจ ให้บริสุทธิ์จากบาป จากโทษ การบำเพ็ญทางจิตใจ ชำระใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส อันนี้ก็เพราะเหตุว่า ใจนั้นเป็นใหญ่เป็นประธาน ของบุญและบาป บุคคลจะทำบุญกุศลได้ก็เพราะใจชอบบุญ บุคคลจะทำบาปได้ก็เพราะชอบบาป อย่างเช่นจะดื่มเหล้าเมาสุรา อันนี้ ก็เพราะใจมันชอบ ถ้าใจไม่ชอบแล้วมันก็ไม่ดื่มเหล้าเมาสุรา กัญชายาฝิ่น เฮโรอีน ดังนั้นน่ะ พระองค์เจ้าจึงได้ทรงสั่งสอนให้คนเรามีความพากเพียรพยายาม ชำระจิตใจที่มัวหมองให้ผ่องใส เมื่อละบาปเมื่อบาประงับไปจากจิตใจแล้ว จิตใจก็ย่อมจะผ่องใสเป็นธรรมดานี้ แล้วบุญกุศลก็ย่อมเกิดขึ้น


เช่นอย่างว่า เมื่อละความโลภ ไม่โลภไม่แย่งไม่ชิง ไม่หลอกลวง เอาของผู้อื่นมาเป็นของตน ถือ สนฺตุฏฺฐี ตามมีตามได้ ตนหาได้ทางชอบศีลชอบธรรมอย่างไร ก็บริโภคใช้สอยอย่างนั้น เมื่อความโลภเหล่านี้ดับไปแล้ว ไอ้ความไม่โลภมันก็เกิดขึ้นในใจ คือยินดีตามมีตามได้อย่างว่านั้นนะนี้ ไอ้ความไม่โลภ อันนี้และท่านเรียกว่า เป็นกุศลธรรมส่วนหนึ่ง


แล้วความไม่โกรธได้แก่ ทรงสอนให้เจริญเมตตา ตั้งจิตอธิษฐานขอให้สัตว์ทั้งหลายเป็นสุข ทุกถ้วนหน้าอย่ามีเวรต่อกันและกันเลย อย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกัน ถ้าผู้ใดพยายามเจริญเมตตานี้บ่อยบ่อยเข้า ใจมันก็อ่อนโยนลง เอ็นดูสงสารมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย ไม่คิดเบียดเบียน เมื่อเป็นเช่นนี้เมตตาธรรม กรุณาธรรม ก็ย่อมเกิดขึ้นในจิตใจ เมตตาธรรม กรุณาธรรมนั้นแหละเป็นตัวกุศล ความโกรธนั้นแหละเป็นตัวอกุศล ขอให้เข้าใจ


บัดนี้พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พยายามละความหลงด้วยการภาวนา คนเราจะหลงก็เพราะความไม่รู้นั้นเองแหละ ไม่รู้ว่าการทำการพูดอย่างนี้มันเป็นบาปเป็นโทษ ไม่รู้แล้วก็ทำไปพูดไป เช่นนั้น บัดนี้เมื่อภาวนามีสติ ประคับประคองจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ภายใน รักษาจิตดวงนี้ให้ตั้งมั่นอยู่ในบุญในคุณ ตั้งมั่นอยู่ในคุณพระรัตนตรัยแก้วสามประการ ไม่หลงใหลไปเชื่อมงคลตื่นข่าว ดังที่ แสดงมาแล้วนั้น จิตใจมันก็หายหลงว่านี้ เพราะตื่นตัวรู้ตัวว่า เราทำดีย่อมได้ดีทำชั่วได้ชั่ว เช่นนี้ก็เลยทำแต่ความดีความชั่วไม่เอา นี่เรียกว่าเป็นผู้ไม่ถือมงคลตื่นข่าว กลั่นเอาแต่ทำความดีด้วยกายวาจาใจ เอาแต่บุญกุศล เอาแต่ความดีเข้าไป ใส่ไว้ในกายวาจาใจของตนเสมอไป ความโลภก็ไม่มีที่จะไปโลภไปหลอกไปลวง ไปฉ้อไปโกงเอาสมบัติของผู้อื่นมาเป็นของตน ไม่เอา ตนหาได้เท่าใดโดยทางสุจริต ก็จะต้องใช้สอยเท่านั้น แหละ ความโกรธเมื่อเราเห็นโทษแห่งความโกรธแล้ว เราก็เจริญเมตตามากๆ เข้าไป เห็นจนมองเห็นศัตรูเป็นมิตร แต่ก่อนคนนี้เป็นศัตรูเรา ทะเลาะกันเบียดเบียนกัน แต่เมื่อเราเจริญเมตตามากเข้าแล้ว ไม่แล้วเราไม่ถือว่าคนนั้นเป็นศัตรู ถือว่าคนนั้นเป็นเพื่อนทุกข์เกิดแก่เจ็บตาย ด้วยกัน


คำว่าเจริญเมตตาน่ะ ให้เกิดความรู้สึกในมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย อย่างนั้นจึงได้ผล จึงบรรเทาความโกรธ ความพยาบาท ออกจากจิตใจได้ การที่เราสดับตรับฟังคำสอนของพระพุทธเจ้าบ่อยๆ อันนี้ก็เป็นเครื่องบรรเทาความหลง อย่างที่อาตมาได้แสดงให้ฟังมานี้นะ


ทางแห่งความหลงของมนุษย์เรานี่ ก็ได้แก่การถือมงคลตื่นข่าวดังกล่าวมาแล้วนั้น บัดนี้เราได้ยินได้ฟังแล้วเราก็ไม่ถือ เราไม่ไปหาหมอดูหมอเดา จะมีผู้โฆษณาว่า โอ๊ะหมอดูคนนี้เก่งนะ แม่นนะ พยากรณ์ถูกต้องดีนะ เราก็ไม่เอา เพราะว่า การพยากรณ์ตัวเองเนี่ย ก็พบว่าเป็นดีที่สุด เพราะตนเองทำดีตนเองก็รู้อยู่ ตนทำชั่วตนก็รู้จะไปให้ใครมาพยากรณ์ให้อยู่นั้น แม้ความเจ็บป่วยไข้ เหล่านี้มันก็เกิดด้วยเหตุสองประการ


ประการที่หนึ่งเกิดจากดินฟ้าอากาศ เกิดขึ้นมาแล้วเราก็มาเผชิญกับดินฟ้าอากาศแปรปรวน ร่างกายทานต่อดินฟ้าอากาศไม่ไหวก็เจ็บไข้ได้ป่วยลงไป ท้องร่วง ท้องเดิน หมู่นี้เราไปโรงพยาบาลซะ หมอให้ยา รักษาเข้าไปก็หาย นี่การเจ็บป่วยของคนเรานะ


ประการที่สองได้แก่กรรมเวรที่บุคคลผู้นั้นทำมาแต่ชาติก่อน ติดตามมา เมื่อมันได้จังหวะ ได้โอกาสมันก็ให้ผล ทำให้ร่างกายชำรุดทรุดโทรมไป มีโรคภัยอันร้ายแรงเบียดเบียน รักษาอย่างไรก็ไม่หาย อันนี้เราก็ต้องเข้าใจว่าเป็นกรรมเวรในอดีตหนหลังที่เราทำมา มันตามมาให้ผล เพราะฉะนั้น เราไม่ควรที่จะไปเชื่อว่า ผีสางนางไม้อะไรต่ออะไรมาทำให้เจ็บให้ไข้ ให้ป่วยไม่มี เมื่อเข้าใจอย่างนี้แล้วเราก็ปลงลงไป ไอ้เราทำกรรมชั่วมาแต่ก่อน กรรม ชั่วนั้นจึงตามมาสนองเรา จะไปให้ใครมารักษาให้ นอกจากว่าเราอธิษฐานใจ นับตั้งแต่ชาตินี้เป็นต้นไปเราจะไม่ทำกรรมชั่ว จะไม่เบียดเบียน ใครต่อใครเลย ด้วยความสัตย์ความจริงนี้ขอให้กรรมเวรทั้งหลายจงเบาบางไป จากร่างกายและจิตใจข้าพเจ้า นี่เราอธิษฐานอย่างนี้ทุกวันทุกคืนไป เมื่อหากว่าบาปกรรมเวรภัยเหล่านั้นมันไม่หนักหนา มันก็เบาไปเบาไป คนเราน่ะบาปกรรมบางอย่างมันให้ผลไปจนถึงวันตายโน่น เมื่อตายแล้วบาปกรรมนั้นจึงค่อยหมดไป ถ้ายังไม่ตายมันก็ให้ผลอยู่อย่างนั้นแหละ ทรมานอยู่อย่างนั้นแหละ


นี่เราต้องเรียนรู้ เราเป็นชาวพุทธนะอย่าไปเชื่อลมๆ แล้งๆ ไอ้ที่เขาโฆษณาชวนเชื่อกันดังกล่าวมาแล้วนั้น เนี่ยะเรามาฝึกจิตใจนี้ให้ตั้งมั่นเป็นสมาธิ เขาไปแล้วเชื่อกรรมเชื่อผลแห่งกรรม เชื่อว่าเราทำดีย่อมได้ดีทำชั่วได้ชั่ว ผลแห่งกรรมดีคืออำนวยความสุขให้ เราทำกรรมดีในชาตินี้ กรรมดีนี้มันก็จะติดตามอำนวยผล ให้มีความสุขในชาติหน้า เราทำกรรมชั่วมาแต่ชาติก่อน กรรมชั่วจะตามมาให้ผลในชาติปัจจุบันนี้ เราจะถึงซึ่งความวิบัติ ความเสื่อมแห่งชีวิตหรือทรัพย์สินเงินทอง ไอ้ที่เราวิบัติ ถึงตัววิบัติอย่างว่านี้ หมอดูหมอเดาเขาจะต้องว่าเป็นเคราะห์ เป็นเข็ญ เกี่ยวกับชะตาราศีไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เนื่องจากกรรมเวรที่ตนทำมาแต่ก่อน ตนเบียดเบียนสัตว์ทรมานสัตว์ ให้เป็นทุกข์เดือดร้อนจนกว่าจะตายอย่างนี้นะ นั่นแหละ กรรมเวรนั้นน่ะตามมาสนอง


พระพุทธเจ้าทรงรู้แจ้งแทงตลอดแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อพุทธบริษัทได้ สดับตรับฟังดังกล่าวมานี้แล้วขอให้พากันตั้งอกตั้งใจ ปฏิบัติตามพุทธภาษิต ที่ยกขึ้นเบื้องต้นนั้นว่า ธมฺ โมหเว รักขติ ธรรมจารึ พระธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว นี่เรียกว่าเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธ ดังแสดงมา แล้วนั้นน่ะ เมื่อปฏิบัติเลือกทำแต่กรรมดี กรรมชั่วไม่เอา ผลแห่งกรรมดีที่เราปฏิบัติเราบำเพ็ญมา มันก็อำนวยความสุขความเจริญ ให้


ในพุทธภาษิตตอนสุดท้าย ธมฺโม สุจิณฺโณ สุขมาวหาติ ธรรมที่ผู้ประพฤติดีแล้วย่อนำสุขมาให้ หมายถึงสุขจิตสุขใจ ส่วนร่างกายนี่มันไม่ เที่ยงเราจะบำรุงอย่างไร อย่างไรมันก็ต้องทรุดโทรม อยู่นั่นแหละ ส่วนจิตใจนี่เราบำรุงด้วยบุญ ด้วยกุศล ด้วยคุณธรรมอันดีอันงาม ย่อมมีความสุขความสงบ เบิกบานทั้งกลางวันและกลางคืน ดังแสดงมา เอวังก็มีด้วยประการะฉะนี้

--------------

ตัดมาบางส่วนจากคำเทศนา

โดย หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ

แห่ง วัดอรัญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย

แสดงธรรมเทศนาที่บ้านลานทอง
10 สิงหาคม 2543

http://board.palungjit.com/f4/ธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม-โดย-หลวงปู่เหรียญ-วรลาโภ-275750.html
บันทึกการเข้า