ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: วิ ริ ยั ง ค์ มีความหมาย ว่าอย่างไร.?  (อ่าน 776 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
วิ ริ ยั ง ค์ มีความหมาย ว่าอย่างไร.?
« เมื่อ: ธันวาคม 26, 2020, 06:54:43 am »
0


วิ ริ ยั ง ค์ มีความหมาย ว่าอย่างไร.?

วิริยังค์ มีความหมายว่าอย่างไร.?

คำว่า “วิริยังค์” ในที่นี้เป็นนามที่คนทั่วไปเรียกขานพระมหาเถระรูปหนึ่ง คือเรียกกันว่า “หลวงพ่อวิริยังค์”
คำว่า “วิริยังค์” ในที่นี้จึงเป็นคำที่หลักวิชาภาษาไทยเรียกว่า “วิสามานยนาม” (วิ-สา-มาน-ยะ-นาม)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า :-

“วิสามานยนาม : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คํานามที่เป็นชื่อเฉพาะ ตั้งขึ้นสําหรับเรียกคน สัตว์ สิ่งของ และสถานที่ เพื่อให้รู้ชัดว่าเป็นใครหรืออะไร เช่น นายดํา ช้างเอราวัณ เรือสุพรรณหงส์ จังหวัดเชียงใหม่.”

“วิสามานยนาม” หลักบาลีไวยากรณ์เรียกว่า “อสาธารณนาม” (อ่านแบบบาลีว่า อะ-สา-ทา-ระ-นะ-นา-มะ) ตรงกับคำอังกฤษว่า proper name หรือ proper noun

หลักอย่างหนึ่งของ “อสาธารณนาม” ก็คือ จะออกเสียงอย่างไร แปลอย่างไร หรือมีความหมายอย่างไร ต้องเป็นไปตามที่เจ้าของชื่อหรือผู้ตั้งชื่อกำหนด ซึ่งจะตรงหรืออาจไม่ตรงตามหลักทั่วไปก็ย่อมได้

อย่างไรก็ตาม คำว่า “วิริยังค์” เป็นรูปคำบาลี ควรนำมาอธิบายสู่กันฟัง ในกรอบของคำบาลีทั่วไปเท่านั้น ไม่ก้าวไปถึงความหมายเฉพาะตามอสาธารณนาม

@@@@@@@

“วิริยังค์” เขียนแบบบาลีเป็น “วิริยงฺค” อ่านว่า วิ-ริ-ยัง-คะ แยกศัพท์เป็น วิริย + องฺค

(๑) “วิริย” อ่านว่า วิ-ริ-ยะ รากศัพท์มาจาก
     (1) วีร (ผู้กล้า) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, รัสสะ อี ที่ วี เป็น อิ และแปลง อะ ที่ ร เป็น อิ (วีร > วิร > วิริ)
: วีร + ณฺย = วีรณฺย > วีรย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ความดีในคนกล้า” (2) “ภาวะหรือการกระทำของคนกล้า”
     (2) วิ (แทนศัพท์ว่า “วิธิ” = วิธี) + อิรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง อะ ที่ (อิ)-รฺ เป็น อิ (อิรฺ > อิริ) : วิ+ อิรฺ = วิรฺ + ณฺย = วิรณฺย > วิรย > วิริย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พึงให้เป็นไปตามวิธี” “วิริย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง “สถานะแห่งบุรุษที่แข็งแรง”, คือ วิริยะ, อุตสาหะ, ความเพียร, ความพยายาม (“state of a strong man”, i. e. vigour, energy, effort, exertion)

(๒) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย : องฺคฺ + อ = องฺค แปลตามศัพท์ว่า
     (1) “ร่างที่เดินได้”
     (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด
     (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”

    “องฺค” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol) ; ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)

วิริย + องฺค = วิริยงฺค (วิ-ริ-ยัง-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “องค์แห่งความเพียร”

@@@@@@@

“วิริยงฺค” เขียนแบบไทยเป็น “วิริยังค์” มีความหมายกว้างๆ ว่า

    (1) มีองค์ประกอบคืออาการแต่ละอย่างๆ ประกอบกันเข้าครบถ้วน จึงจะถือว่า อย่างนี้แหละคือ “วิริยะ”
    (2) ลักษณะที่กำหนดไว้ว่าทำเช่นนี้ๆ จึงจะเรียกว่า “วิริยะ” ทำนอกเหนือหรือต่างไปจากที่กำหนด ไม่ถือว่ามี “วิริยะ”

องค์ประกอบตามข้อ (1) เช่นที่ท่านขยายความไว้ว่า
    อันว่าวิริยะนั้น
    ๑. มีลักษณะประคองใจไม่ให้ตกไปในความเฉื่อยชา
    ๒. มีหน้าที่คือการสนับสนุนให้เกิดคุณธรรมอื่นๆ อีกมาร่วมด้วยช่วยกัน
    ๓. มีตัวล่อให้เกิดคือการที่จิตไม่จมลงในความเกียจคร้าน (พอรู้สึกว่าจิตไม่ตก ก็เกิดฮึกหาญที่จะทำความเพียร)
    ๔. มีพื้นฐานมาจากความรู้สึกตัวหรือเห็นโทษของการเรื่อยเปื่อยเฉื่อยชา

เมื่อใดอาการเหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมกัน เมื่อนั้นพึงทราบว่า นั่นแลวิริยะเกิดแล้ว
_____________________________________
ที่มา : สัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถามหานิทเทส หน้า 78

องค์ประกอบตามข้อ (2) เช่นที่ท่านกำหนดไว้ว่า :-
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ย่อมพอใจ ย่อมพยายาม ย่อมลงมือประกอบ ย่อมประคองตั้งจิตไว้
     ๑. เพื่อยังบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดไม่ให้เกิดขึ้น
     ๒. เพื่อละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว
     ๓. เพื่อยังกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น
     ๔. เพื่อยังกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมหาย หากแต่ให้ดำรงอยู่และเจริญไพบูลย์เต็มเปี่ยมยิ่งขึ้น

ทำได้ดังนี้จึงชื่อว่า มีวิริยะ คือ ความเพียรที่ถูกต้อง
__________________________________________________
ที่มา : มหาสติปัฏฐานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 299


@@@@@@@

เจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร ถึงมรณภาพด้วยโรคชรา ในวันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563 เวลา 07:32 นาฬิกา สิริอายุ 100 ปี 11 เดือน 15 วัน พรรษา 80

ก่อนที่จะได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ หลวงพ่อวิริยังค์ดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมงคลญาณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดสถาปนา พระพรหมมงคลญาณ

ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามที่จารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณวชิโรดม พุทธาคมวิศิษฐ์ จิตตานุภาพพัฒนดิลก สาธกธรรมวิจิตร วิเทศศาสนกิจไพศาล วิปัสสนาญาณธุราทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัญวาสี สถิต ณ วัดธรรมมงคลเถาบุญนนทวิหาร กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2563

@@@@@@@

ดูก่อนภราดา.! พึงเจริญธรรมดั่งนี้ :-

ยะถาปิ เสลา วิปุลา นะภัง อาหัจจะ ปัพพะตา สะมันตา อะนุปะริเยยยุง นิปโปเถนตา จะตุททิสา.
ภูเขาศิลาล้วนกว้างใหญ่ สูงเสียดฟ้า กลิ้งบดสัตว์มาในสี่ทิศ หมุนเวียนอยู่โดยรอบ แม้ฉันใด

เอวัง ชะรา จะ มัจจุ จะ อะธิวัตตันติ ปาณิโน ขัตติเย พราหมะเณ เวสเส สุทเท จัณฑาละปุกกุเส.
ความแก่และความตายก็เหมือนฉันนั้น ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล และเหล่าชนชั้นต่ำ

นะ กิญจิ ปะริวัชเชติ สัพพะเมวาภิมัททะติ นะ ตัตถะ หัตถีนัง ภูมิ นะ ระถานัง นะ ปัตติยา.
ความแก่ตายไม่ละเว้นใครๆ ไว้เลย ย่อมครอบงำย่ำยีให้อยู่ในอำนาจทั้งสิ้น สมรภูมิที่จะยกพลช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า ไปสัประยุทธกับความแก่ตายนั้นมิได้มีเลย

นะ จาปิ มันตะยุทเธนะ สักกา เชตุง ธะเนนะ วา ตัสมา หิ ปัณฑิโต โปโส สัมปัสสัง อัตถะมัตตะโน พุทเธ ธัมเม จะ สังเฆ จะ ธีโร สัทธัง นิเวสะเย.
อนึ่ง บุคคลไม่อาจสู้รบชนะความแก่ความตาย ด้วยมนตร์คาถาแลวิทยายุทธต่างๆ ฤๅจะใช้สินทรัพย์ติดสินบนก็หาอาจทำได้ไม่ เหตุนั้นแล บัณฑิตผู้มีปัญญา เมื่อเล็งเห็นความปรารถนาแห่งตน (ที่จะล่วงพ้นแก่ตาย) พึงตั้งศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ให้มั่นคงเถิด

โย ธัมมะจารี กาเยนะ วาจายะ อุทะ เจตะสา อิเธวะ นัง ปะสังสันติ เปจจะ สัคเค ปะโมทะตีติ.
บุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรม ด้วยกาย วาจา ใจ อยู่เป็นปกติ ประชุมชนผู้ปราชญ์ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้ ผู้นั้นไปโลกหน้าแล้ว ย่อมบันเทิงในสรวงสถานแล.
__________________________________________________
ที่มา : ปัพพโตปมสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 415




ขอบคุณที่มา : dhamma.serichon.us/2020/12/24/วิริยังค์-มีความหมายว่า/
บทความของ : ทองย้อย แสงสินชัย ,โพสต์โดย : admin ,24 ธันวาคม 2020
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 26, 2020, 09:26:44 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ