ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อจิตกอปรด้วยเมตตาและกุศลจิต มีมากถึงจิตส่วนลึก “จิตอัตโนมัติ” ก็จะเกิดขึ้น  (อ่าน 949 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

เมื่อจิตกอปรด้วยเมตตาและกุศลจิต มีมากถึงจิตส่วนลึก “จิตอัตโนมัติ” ก็จะเกิดขึ้น

ความรู้เกี่ยวกับจิตไม่อาจที่ศาสตร์ใดจะเทียบเคียงองค์ความรู้ในพระพุทธศาสนาได้ พระพุทธศาสนาไม่เพียงวิเคราะห์จิตอย่างละเอียด หากยังเข้าใจที่มาที่ไปในทุกแง่มุม เข้าใจโครงสร้างของจิต อาการของจิต การทำงานของจิตและผลที่เกิดขึ้น ยิ่งกว่านั้นยังมีปฏิบัติวิธีถึงขั้นที่สามารถปรับปรุงสภาพจิตได้ตั้งแต่จากชั่วและเลวสู่ดี สู่ความผ่องใสและสู่ความเป็นอิสระบริสุทธิ์

จึงเป็นศาสตร์ที่สมบูรณ์สำหรับการดำเนินชีวิต ครบถ้วนทั้งทางด้านจิตใจและพฤติกรรม

ในโลกตะวันตก นักจิตวิทยาบางรายเคยได้รับความรู้จากโลกตะวันออกและสนใจเรียนรู้ที่จะชักจูงจิต สะกดจิตและบริหารอารมณ์ของผู้ป่วย อย่างไรก็ตามการตีความและความเคยชินของจิตนั้นมาจากภายใน การกระตุ้นหรือล่อลวงจิตซึ่งเป็นวิธีการด้านมืดจึงให้โทษมากกว่าให้คุณ

การตอบสนองของจิตอาจเกิดขึ้นตามคาดได้บ้างชั่วคราวแต่ความเข้าใจของจิตกลับมิได้รับปรับปรุงเลย จิตยังเศร้าหมอง หลับซึมและหลง

การปฏิบัติในพระพุทธศาสนาสามารถเปลี่ยนแปลงความเคยชินของจิตโดยอาศัยสติและปัญญาให้รู้เท่าทันอารมณ์และถอยออกจากอารมณ์ที่เลว ความเข้าใจของจิตจะพัฒนาไปเป็นลำดับตามที่ปรากฏให้จิตเห็นได้

ความรู้เรื่องจิตในพระพุทธศาสนามีรายละเอียดมากมายและต้องรับรู้ด้วยตนเอง การสื่อสารถ้อยคำช่วยได้เพียงระดับหนึ่ง ศาสตร์ทางวัตถุนิยมไม่อาจมีองค์ความรู้ที่แท้จริง การวัดทางวัตถุและการถ่ายทอดความเห็นของผู้ถูกทดลองไม่สามารถวัดความรับรู้และแรงกดดันทางจิตได้จริง


@@@@@@@

จิตสำนึก จิตก่อนสำนึกและจิตใต้สำนึกหรือนอกสำนึกเป็นจิตตามความรู้สมัยใหม่ ปมด้อยเป็นการเก็บกดในจิตนอกสำนึก จิตวิเคราะห์ในทำนองนี้พระพุทธศาสนามีกล่าวไว้ละเอียดกว่ามาก กล่าวถึงทั้งการทำงานของจิตนอกสำนึกและวิถีของจิตที่ทำงานส่งผลต่อกันไปจนครบวงจร ตั้งแต่ก่อนสัมผัสสิ่งเร้า การตอบสนองต่อสิ่งเร้า การนึกคิดจนถึงการกระทำที่เกิดขึ้นตามมา

จิตตามความรู้ในพระพุทธศาสนาได้แก่จิตและอาการของจิต อาการของจิตอยู่ร่วมกับจิตและแสดงลักษณะของจิต ในพระอภิธรรม วิญญาณคือจิต เจตสิกเป็นอาการของจิตซึ่งได้แก่เวทนา สัญญาและสังขาร ทั้งจิตและอาการของจิตมีจำแนกแยกย่อยออกไปได้อีกมากมาย

ถ้าจำแนกจิตตามชั้นคุณภาพซึ่งเรียกว่าภูมิจะได้แก่กามาวจรจิต รูปาวจรจิต อรูปาวจรจิตและโลกุตรจิต แต่ละชั้นมีแยกย่อยเป็นหลายภูมิ โดยภพคือความเป็นของภูมิ (คุณภาพที่จิตเกาะ)

รูปเป็นสิ่งที่จิตรับรู้ การรับรู้เป็นอายตนวิญญาณ ส่วนที่ผ่านทวารทั้งห้าอันได้แก่ตา หู จมูก ลิ้นและกายยังจะต้องเชื่อมผ่านการรับรู้ไปที่มโนทวาร ส่วนมโนวิญญาณเป็นการรับรู้ทางใจโดยตรง

จิตมีการเกิดขึ้นแล้วดับไปตลอดเวลา มีการผลักดันให้เกิดขึ้นในการรับรู้อารมณ์แล้วสะสมอารมณ์นั้นไว้ในจิต มีกระบวนการที่มีเหตุปัจจัยและผลที่เกิดขึ้นของจิต

@@@@@@@

เมื่อจำแนกจิตตามการเกิดหรือชาติจะได้แก่ อกุศลจิต กุศลจิต วิบากจิตและกิริยาจิต กุศลจิตและอกุศลจิตเป็นจิตที่เป็น “เหตุ” โดยแยกเป็นฝ่ายดีและฝ่ายเลว วิบากจิตเป็น “ผลของเหตุ” ส่วนกิริยาจิตเป็นเพียงจิตที่สักแต่กระทำจึงถือว่าไม่ใช่เหตุและไม่ใช่ผล

ผู้ที่ยังมีกิเลสมีจิตที่ประกอบด้วยอกุศลจิต กุศลจิตและวิบากจิต ทั้งหมดเป็นจิตนอกสำนึก ส่วนจิตของผู้ที่หลุดพ้นประกอบด้วยวิบากจิตและกิริยาจิตโดยไม่มีเหตุร่วมแล้ว

วิถีจิตเป็นการที่จิตเดิมในภวังคจิตขึ้นมารับอารมณ์ใหม่โดยมีอารมณ์เก่าแนบแน่นเข้ามาด้วย มีการเสพอารมณ์และยึดผลของอารมณ์ที่เสพแล้วสั่งสมกลับเข้าสู่ภวังคจิต การรับรู้อารมณ์ได้รับอิทธิพลจากอนุสัยกิเลส กล่าวคือมีกุศลจิตและอกุศลจิตเป็นเหตุซ้ำแล้วซ้ำเล่า

“อเหตุกกิริยาจิต” เป็นกิริยาจิตเฉพาะส่วนย่อยของวิถีจิตที่รับรู้อารมณ์ผ่านทางทวารทั้งห้าและเชื่อมมาที่มโนทวาร การรับรู้เชื่อมต่อที่มโนทวารจะมีอารมณ์ที่เป็นกลางซึ่งยังไม่มีเหตุร่วม


กิริยาจิตส่วนนี้เป็น “จิตรำพึง” ที่ (ยัง) ไม่ “รำพัน” ออกมา



การปฏิบัติธรรมแบบพุทธเป็นการปรับปรุงโครงสร้างของจิตซึ่งมีผลต่อจิตและอาการของจิตซึ่งอยู่ร่วมกัน
    - ขั้นต้นเป็นการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานของเจตสิกมิให้คล้อยตามและสะสมกิเลส
    - ขั้นสูงเป็นการปรับเปลี่ยนจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสหรือเหตุทั้งปวง วิถีจิตจะเปลี่ยนคุณภาพไปจนกระทั่งไม่มีการเสพอารมณ์ กลายเป็นกิริยาจิตซึ่งอยู่ “นอกเหตุ” และ “เหนือผล”

ทาน ศีลและภาวนาโดยทั่วไปจะทำให้เหตุฝ่ายกุศลเพิ่มมากขึ้นในจิตและค่อยๆ ลดความหนาแน่นของจิตฝ่ายอกุศล จิตถูกครอบงำจากอกุศลลดลงแต่มีกุศลและมีปัญญามากขึ้น จิตจะมีความสุขอันละเอียด เกิดความเคยชินใหม่ที่มีปัญญาอยู่ด้วย เมื่อการปฏิบัติถึงขั้นหลุดพ้น จิตจะผ่องใสและหลุดจากเหตุ การทำงานของจิตไม่ต้องพึ่งพาอาศัยความอยากในจิตเจตนา

การสำรวมกาย วาจาใจและการเจริญสติปัฏฐานเป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้อาการของจิตที่เป็นอกุศลไม่พอกพูน การเกิดขึ้นของสติและสัมปชัญญะจะช่วยสกัดอกุศลใหม่ๆ พร้อมๆ กับทำให้จิตอยู่กับกุศลอย่างมีปัญญามากขึ้น

กระบวนการนี้เป็นการสกัดกั้นกิเลสใหม่และทำให้กิเลสไม่เพิ่มพูนขยายตัวเป็นภพชาติ กระบวนการผลิตซ้ำของวิถีจิตก็มีการสั่งสมจากภายนอกลดลง ความเคยชินของจิตมีการเปลี่ยนแปลงที่ไม่เข้มข้นดังแต่ก่อน อาการของจิตที่มาจากอกุศลเหตุจะทำงานติดขัด เหตุที่ดีทำงานได้ดีขึ้น สติและปัญญาคล่องแคล่ว จิตขุ่นมัวน้อยลง

@@@@@@@

การปฏิบัติธรรมจะอาศัยสมาธิที่เข้าใกล้ส่วนที่ลึกของจิตมากขึ้นเป็นลำดับ การเจริญสติปัฏฐานให้สมบูรณ์และการเจริญโพชฌงค์ตามความเป็นจริงจะทำให้จิตเกิดอริยมรรคและรู้วิธีแก้ไขจิต ความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมจึงส่งผลดีต่อจิตและแตกต่างจากการถูกจูงจิตและการใช้สารเคมี จิตที่อาศัยปัจจัยที่เลวทำงานยากขึ้นเพราะถูกสติและปัญญากำกับไว้

การทำงานและความเคยชินของจิตที่เปลี่ยนแปลงไปมีความสำคัญมาก สติที่ว่องไวจะทำให้จิตสำนึกมีความเท่าทันและระงับอารมณ์ทางลบได้อย่างรวดเร็ว จิตที่พัฒนาไปจะมีอาการในทางกุศลตามไปด้วย อารมณ์ทางบวกเกิดขึ้นอยู่เสมอๆ

เมื่ออริยมรรคทำงาน จิตจะปล่อยวางและไม่ยึดมั่นเป็นลำดับ อารมณ์ที่มีในทางบวกและละวางอย่างเป็นธรรมชาติจะมีมากขึ้น การสะสมและผลิตซ้ำของกิเลสอ่อนกำลังลง

เมื่อกิเลสหมดสิ้น เหตุในจิตจึงหมดไป วิถีจิตจะมีส่วนที่รับรู้อารมณ์แต่ไม่มีส่วนที่เสพและที่ยึดผลทางอารมณ์ไว้ จิตใต้สำนึกถูกชำระล้าง จิตเกิดบรมสุขและมีความเบิกบานเต็มที่ ความผ่องใสที่เกิดขึ้นในจิตย่อมมีผลต่อความผ่องใสที่ปรากฏในทางกาย สีหน้าที่ยิ้มนั้นมาจากจิตส่วนลึกโดยอัตโนมัติ

ปุถุชนยิ้มด้วยจิตสำนึกและอาศัยความตั้งใจ บางครั้งต้องคิดคำนวณและฝืนความรู้สึก การฝึกฝนจิตให้มีเมตตาและละกิเลสอย่างถูกทางจะช่วยสร้างจิตที่สามารถยิ้มได้ด้วยเมตตาหรือกุศลจิต



เมื่อจิตกอปรด้วยเมตตาและกุศลจิตมีมากถึงจิตส่วนลึกดังเช่นพระอริยบุคคล “จิตอัตโนมัติ” ก็จะเกิดขึ้นในระดับหนึ่ง พระอริยบุคคลมีสติที่สมบูรณ์และมีปัญญาที่รวดเร็ว แม้จิตจะยังขจัดกิเลสได้ไม่หมดจด ความโลภ-โกรธ-หลงก็ลดลงไปมาก จิตนั้นมีพรหมวิหารธรรม

การรับรู้ของพระอริยบุคคลจึงมาจากจิตที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา วิถีจิตสามารถพัฒนาเข้าใกล้ความเป็นอัตโนมัติ เมื่อจิตขจัดกิเลสได้หมด จิตอัตโนมัติก็จะมีขึ้นอย่างแท้จริง

“จิตอัตโนมัติ” เป็นกิริยาจิตที่พิเศษยิ่ง จิตที่รำพึงแล้วจะไม่แล่นไปหรือรำพันต่อ ปุถุชนไม่อาจมีจิตอัตโนมัติชนิดนี้ได้ อารมณ์ดิบที่ขาดสติแสดงเหตุจากจิตใต้สำนึก อเหตุกกิริยาจิตของปุถุชนจะรับอารมณ์ที่กระทบอายตนะแล้วส่งอารมณ์ให้เสพต่อไป เพียงยังไม่ร่วมกับเหตุในจังหวะนั้น

ชาวพุทธจะฝึกให้รู้จักจิตของตนเอง สติที่ได้รับการอบรมจะทำให้อาการของจิตเปลี่ยนไปจากความเคยชินเดิมๆ แม้อาจจะยังเป็นสติทางโลกก็ตาม พระอริยบุคคลจะมีศีลทางใจและมีจิตที่ผ่องใสมากขึ้นตามการหลุดพ้นจากกิเลส พระอนาคามีจะมีจิตที่ผ่องใสมาก พระอรหันต์มีจิตที่บริสุทธิ์ สติของพระอรหันต์จะบริสุทธิ์หรือไม่ประกอบด้วยเหตุแล้ว ไม่ยึดแม้แต่ความผ่องใส

@@@@@@@

การดับไปของกุศลจิตและอกุศลจิตทำให้เกิดอเหตุกกิริยาจิตประเภทพิเศษซึ่งเรียกว่า “หสิตุปปาทจิต” ถือเป็นกิริยาจิตที่บริสุทธิ์ทว่ามีความสุขในจิต เมื่อเห็นสิ่งที่เป็นกุศล จิตไม่ตื่นเต้นและเห็นเป็นปกติ สีหน้าและจิตยิ้มแย้มเช่นเดิม เมื่อเห็นสิ่งที่เป็นอกุศล จิตก็ไม่หวั่นไหวและเห็นเป็นปกติ สีหน้าและจิตก็ยิ้มแย้มอยู่เสมอ

ในพระสูตร มีคำกล่าวว่าพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงแย้มพระโอษฐ์แต่ไม่ทรงพระสรวล บางคัมภีร์มีมติว่าผู้ที่เป็นพระอรหันต์ย่อมไม่หัวเราะ การแย้มยิ้มของพระอรหันต์มาจากกิริยาจิตที่ไม่มีเหตุบุญบาป กิริยาจิตที่ยิ้มโดยปราศจากเจตนาจึงมีเฉพาะกับพระอรหันต์ เป็นความผ่องใสอัตโนมัติซึ่งท่านละหรือไม่ติดแล้ว

    - หลวงปู่ดูลย์ อตุโล อธิบายว่า “หสิตุปปาทจิต” เป็นกิริยาจิตของเหล่าพระอริยะเจ้าเพราะรู้เท่าทันเหตุแห่งการปรุงแต่งแล้วจึงมีอิสระด้วยตนเอง พระอริยเจ้านี้หมายถึงพระอรหันต์
    - หลวงปู่หล้า เขมปัตโตกล่าวว่าพระอรหันต์จะมีสติที่มีญาณร่วม ไม่ต้องลำบากรักษาสติ
    - หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโนกล่าวว่า พระอนาคามีจะมีสติและปัญญาที่ทำงานเป็นอัตโนมัติจนเป็นมหาสติและมหาปัญญา

สำหรับพระโสดาบันและพระสกิทาคามีจะมีสติสมบูรณ์เท่าทันอารมณ์หยาบ สติมีความรวดเร็วเท่าทันกิเลสที่จรเข้ามา จึงยิ้มอย่างพระอริยบุคคล พระอนาคามีก็ยิ้มอย่างพระอนาคามี จิตตื่นแล้วจากความอยากทางโลกที่แม้เคยฝังลึกอยู่ในจิต ยิ้มมีความสงบเย็นและมีแต่เมตตาเป็นพื้น

หลวงพ่อทิวา อาภากโรชี้ว่า พระอริยบุคคลตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป จะมีเมตตาเป็นอัตโนมัติเพราะสะสมเมตตาจนมีผลต่อจิตแล้ว

ขออัญเชิญพระพุทธานุภาพอำนวยพรให้ทุกท่านมีความสุขอันผ่องใสเสมอ





ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/columnists/news_2508909
คอลัมนิสต์ : ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ ,วันที่ 1 มกราคม 2564 - 13:00 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 03, 2021, 08:29:44 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

boiler

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า