ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: นิพฺพานสจฺฉิกิริยา : การทำนิพพานให้แจ้ง  (อ่าน 697 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



การทำนิพพานให้แจ้ง | สูตรสำเร็จในชีวิตตามหลักพุทธศาสนา
สูตรสำเร็จในชีวิต (45) : การทำนิพพานให้แจ้ง

คราวนี้มาถึงสุดยอดเลยทีเดียว คือถึงสูตรสำเร็จข้อที่ว่า นิพฺพานสจฺฉิกิริยา แปลว่า การทำนิพพานให้แจ้ง ตีความง่ายๆ ก็คือ การบรรลุนิพพาน หรือถึงนิพพานนั้นแหละครับ

@@@@@@@

นิพพาน คืออะไร.?

เห็นมีหนังสือยู่เล่มหนึ่งชื่อนิตยสารสมาธิรายเดือน นำเอาความคิดเห็นของอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้มาลง เถียงกันไปเถียงกันมา อ่านแล้วปวดหัว คล้ายกับว่านิพพานนี้มีหลายอย่างเหลือเกิน

นิพพานของสวนโมกข์บ้าง นิพพานของคลองสามบ้าง นิพพานของดำเนินสะดวกบ้าง แม้กระทั่งนิพพานของคลองกุ่ม เผลอๆ ก็คงจะต้องแถมนิพพานของเสี่ยนิกรอีก ทรรศนะหนึ่งกระมัง นัยว่าแกก็พาสานุศิษย์ขึ้นสวรรค์ทัวร์นิพพานอยู่ด้วย ไม่เห็นใครพูดสักคำว่า นิพพานของพระพุทธเจ้าเป็นอย่างไร หรือว่าลืมพระพุทธเจ้ากันหมดแล้ว

@@@@@@@

พระพุทธศาสนาวางเป้าหมายของชีวิตไว้ 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน ระดับกลาง และระดับสูงสุด

๑. เป้าหมายระดับพื้นฐาน คือ ความสำเร็จแห่งชีวิตของชาวโลก ของคนที่โลดแล่นอยู่ท่ามกลางกองกิเลสและกองทุกข์นี่แหละ (พูดเป็น “กองๆ” จะได้เห็นว่ามันไม่ใช่เรื่องขี้ผง) เช่น มีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มีชีวิตครอบครัวที่ดี มีการงานที่มั่นคง เป็นต้น เป้าหมายระดับนี้เน้นไปที่ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือการตั้งเนื้อตั้งตัวได้

ท่านยกตัวอย่างให้ดูว่า ถ้าใครมีคุณสมบัติ 4 ประการ คือ ขยันทำมาหาเลี้ยงชีพอย่างสุจริต, หามาได้แล้วรู้จักเก็บออม, คบมิตรที่ดีมีเกื้อกูลแก่อาชีพการงาน, ไม่ใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย เพียงแค่นี้ก็เรียกว่าบรรลุเป้าหมายของชีวิตระดับนี้แล้ว

๒. เป้าหมายระดับกลาง ก็อยู่ในพื้นฐานของระดับต้นด้วย แต่เน้นไปที่ความเติบกล้าทางคุณธรรม มิใช่รวยอย่างเดียว รวยแล้วตั้งตัวได้แล้วต้องบำเพ็ญตนเป็นคนดีมีคุณธรรมด้วย คุณธรรมทุกประเภทนั่นแหละ
   แต่ถ้าจะสรุปก็มีอยู่ 3 ประเภท คือ
   - ประเภทที่เป็นความงาม ความอ่อนโยน นุ่มนวลของจิตใจ เช่น เมตตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
   - ประเภทที่เป็นความเข้มแข็งของจิตใจ เช่น ขันติความอดทน วิริยะความเพียร อธิษฐานความตั้งใจแน่วแน่มั่นคง
   - และประเภทที่เป็นความปลอดโปร่งผ่อนคลายแห่งจิตใจ เช่น ปีติปราโมทย์ ความสุข ความผ่องใสแห่งจิต ใครสามารถดำเนินชีวิตมาถึงจุดหมายนี้ก็นับว่าประสบความสำเร็จที่น่าพอใจแล้ว ถึงเป็นปุถุชนก็เรียกว่าปุถุชนที่ดี (กัลยาณปุถุชน)

๓. เป้าหมายระดับสูงสุด คือ นิพพาน พระพุทธองค์ชี้ว่า ถ้าจะให้ดีแล้วมนุษย์ควรก้าวไปถึงระดับนี้ แต่ถ้าบารมียังไม่แก่กล้าพอ จะเอาแค่สองระดับต้นก็ไม่ว่ากัน ค่อยเป็นค่อยไปถึงเวลาก็จะเป็นไปเอง เหมือนยกกาน้ำตั้งเตาไฟสะสมความร้อนไปเรื่อยๆ ถึงร้อยองศาเซลเซียสเมื่อใดมันเดือดเองแหละ

แนวทางของพระพุทธองค์เป็นธัมมานุธัมมปฏิบัติ ต้องปฏิบัติให้ถูกหลักการ วิธีการ และตรงตามเป้าหมาย เป็นอนุปุพพปฏิปทา ปฏิบัติเป็น step by step (ฮั่นแน่ เดาะศัพท์ฝรั่งเสียด้วย) ค่อยเป็นค่อยไป ไม่ใช่นึกสนุกขึ้นมาหลับตาจะเอานิพพานเดี๋ยวนั้น คงได้อยู่ดอก แต่มิใช่นิพพานของพระพุทธเจ้า

คงต้องทำความเข้าใจร่วมกันเสียก่อนว่า คำว่า “นิพพาน” ที่พระพุทธเจ้าท่านทรงใช้นั้น ทรงหมายเอา การดับกิเลสและกองทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เน้นคำว่า “โดยสิ้นเชิง” คือดับได้หมดไม่มีเหลือแม้นิดเดียว


@@@@@@@

นิพพาน ที่เป็นจุดหมายสูงสุดจะต้องเป็นการดับกิเลสได้หมดโดยสิ้นเชิงเท่านั้น การดับกิเลสได้บางส่วน ดับได้เป็นบางคราว อาจเรียกโดยอนุโลม (เน้น “อนุโลม”) ได้ว่านิพพานเหมือนกัน แต่เป็นการยืดหยุ่นผ่อนคลายเท่านั้น อย่าเอาไปปนกับนิพพานที่เป็นจุดหมายสุดท้าย

อย่างเช่น การดับกิเลสของพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามีนั้น จะอนุโลมเรียกว่านิพพานก็ได้ เป็นนิพพานโดยอนุโลม (ในตำราท่านใช้ศัพท์ว่า “นิโรธ” ในกรณีนี้)

แต่ต้องเข้าใจด้วยว่า มิใช่นิพพานที่เป็นจุดหมายสูงสุด และอย่าเอาไปปนกับ “สอุปาทิเสสนิพพาน” มันคนละเรื่องกัน ที่แปลกันว่า “สอุปาทิเสสนิพพาน” คือ ดับกิเลสไม่หมดนั้นแปลกันผิด

“สอุปาทิเสสนิพพาน” ก็ดี “อนุปาทิเสสนิพพาน” ก็ดี ทั้งสองคำนี้เป็นชื่อของนิพพานที่เป็นจุดหมายสูงสุด กิเลสดับหมดไม่มีเหลือทั้งสองอย่างครับ ไม่มีอย่างไหนดับหมดหรือไม่หมด

ที่อาจารย์บางท่าน “อนุโลม” ถึงขนาดว่า ขณะใดจิตใจเราสบาย สงบ ไม่คิดจะเอาจะได้ เรียกตามคำขอท่านว่า ไม่มีตัวกู ของกู ปุถุชนเรานี้แหละ เกิดความสงบสบายอย่างนี้ขณะใด เรียกว่านิพพาน พูดไม่ผิดดอกครับ เป็นการอนุโลม หรือ “ลดเพดาน” ลงว่า จะเรียกภาวะอย่างนี้ว่านิพพานก็ได้

@@@@@@@

แต่ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่นิพพานจริงๆ นะเจ้าคะ สมมุติว่าเป็นว่างั้นเถอะ พูดไปพูดมาบ่อยๆ คนพูดก็อย่าเผลอว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงๆ ก็แล้วกัน เหมือนใครสักคน เอาผมก็ได้ ไม่อยากยกคนอื่น สมมุติว่าผมกำลังรักใครสักคนหนึ่งอย่างสุดสวาทขาดใจ เวลามองสายลมแสงแดดก็รำพึงรำพันด้วยความสุขใจ

“สายลมเอย พัดไปเถิดไปยังนิวาสสถานของสุดที่รักของฉัน พัดเธอแล้วรีบกลับมาพัดฉัน ฉันขออาศัยเจ้าเป็น “สื่อ” สัมผัสนิ่มเนื้อของเธอ และมองความงามของเธอไปที่ดวงจันทร์ เท่านี้ก็มากพอสำหรับคนที่รักกัน เท่านี้ก็มีชีวิตอยู่ได้ เธอและฉันสูดอากาศเดียวกันหายใจ และปฐพีที่เราเหยียบย่ำอยู่ก็ผืนเดียวกัน” (วันนี้ขอยกอุปมาวัยรุ่นหน่อยนะขอรับ)

ความสุขที่ผมมีในขณะที่ว่านี้นั้น ผมอาจพูด “หลวมๆ” ว่าผมมีความสุขเท่ากับได้ขึ้นสวรรค์นิพพาน แต่ไม่ใช่ดอกครับ อนุโลมให้พูดได้ถ้าอยากพูด มันก็เท่านั้นเอง จึงอยากติงว่า อยากอนุโลม หรือ “ลดเพดาน” ลงอย่างใดในเรื่องอะไรก็ตาม ก็ขออย่าได้ถือเป็นจริงเป็นจังว่า “อย่างนี้แหละเรียกนิพพาน”

ที่บางท่านว่า เอาสัตว์มาฝึกจนมันหายดุร้าย สัตว์นั้นก็ “นิพพาน” ข้าวต้มร้อนๆ มันเย็นลงก็เรียกข้าวต้ม “นิพพาน” หรือจิตใจสงบไม่คิดอยากได้อยากเอาใจขณะนั้นก็เรียกว่า “นิพพาน” อะไรทำนองนั้น ที่จริงมันก็คือ สัตว์ร้ายหายดุ ข้าวต้มเย็นจิตสงบ แค่นั้นเองไม่เกี่ยวกับนิพพาน (การหมดกิเลสโดยสิ้นเชิง) แต่ประการใด นิพพานที่เป็นจุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนามิใช่ตื้นๆ ง่ายๆ เช่นนั้นดอกครับ




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 8 - 14 มกราคม 2564
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 15 มกราคม พ.ศ.2564
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_391447
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มกราคม 16, 2021, 07:43:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ