ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เตภูมิกวัฏฏ์ เป็น "บ่วงแห่งมาร" | เพียรเพ่งเผากิเลสด้วยฌาน จึงจะหลุดพ้นได้  (อ่าน 846 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0




เตภูมิกวัฏฏ์ เป็น "บ่วงแห่งมาร" | เพียรเพ่งเผากิเลสด้วยฌาน จึงจะหลุดพ้นได้

มารพนฺธนนามนฺตํ         ยนฺเตภูมิกวฏฺฏิทํ
ธมฺมปฺปทฏฺฐวาจายํ        มคฺควคฺเค ปวุจฺจติ.
โย ฌายี ทฺวีหิ ฌาเนหิ    โส ตโต ปริมุจฺจติ.

วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิทั้ง 3 คือ กามภูมิ, รูปภูมิ, อรูปภูมิ เป็นชื่อของบ่วงแห่งมาร, ข้อนี้ ท่านกล่าวไว้ในมรรควรรค ในอรรถกถาธรรมบท, ผู้ที่มีความเพียรเพ่งเผากิเลสด้วยฌาน ๒ อย่าง คือ ด้วยอารัมมณูปนิชฌาน และด้วยลักขณูปนิชฌาน จะหลุดพ้นจากบ่วงแห่งมารนั้นได้.

คำว่า “วัฏฏะที่เป็นไปในภูมิ ๓” วัฏฏะ ในที่นี้หมายถึง การเวียนตายเวียนเกิดในภูมิทั้ง ๓ เพราะฉะนั้น การเวียนตายเวียนเกิด จึงเป็นดุจบ่วงของมารที่คล้องสัตว์ไว้ไม่ให้หลุดพ้นไป

“การเวียนตายเวียนเกิด” (คือ ‘ชาติ’ ในปฏิจจสมุปบาท) นั้น ก็ได้แก่ ธรรมที่เป็นส่วนวิบาก คือ “ปฏิสนธิวิบาก” นั่นเอง ปฏิสนธิวิบาก ๑๙ ดวง และกัมมชรูปที่ทำหน้าที่ปฏิสนธิให้กับพวกอสัญญสัตตพรหมด้วย.

เมื่อสาวย้อนกลับไปว่า “ปฏิสนธิวิบาก ๑๙ ดวง และกัมมชรูป” นี้ มาจากไหน? ก็จะพบตัวเหตุ ซึ่่งก็คือ “อกุศลจิต ๑๒, โลกียกุศลจิต ๑๗, เจตสิก ๕๒ ที่เรียกว่า ‘อาจยคามิโน ธมฺมา’ นั่นเอง (๑๐. อาจยคามิติกะ)

‘อาจยคามิโน ธมฺมา’ สภาวธรรมที่ทำให้สัตว์เข้าถึงจุติและปฏิสนธิ คือทำให้สัตว์เวียนว่ายตาย-เกิด นั่นเอง, (เป็นธรรมส่วนเหตุ, หรือเรียกว่า ‘กรรม’)

ส่วน ‘ปฏิสนธิจิต ๑๙, กัมมชรูป ๒๐ นั้น’ เป็นส่วนวิบาก

‘ปฏิสนธิจิต ๑๙, กัมมชรูป ๒๐ นั้น’ ในชั้นจูฬ-เอก มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่นว่า
     – อุปาทินฺนุปาทานิยา ธมฺมา (ติกมาติกา, ติกะที่ ๔)
     – อุปฺปาทิโน ธมฺมา (ติกมาติกา, ติกะที่ ๑๗) (เอาเฉพาะส่วนที่เป็นโลกียวิบาก)
     – อุปาทินฺนา ธมฺมา (มหันตรทุกะ, ทุกะที่ ๑๔)
     – …..ฯลฯ……

@@@@@@@

อารัมมณูปนิชฌาน (การเพ่งอารมณ์เป็นใหญ่) ก็คือ สมถกรรมฐาน
ลักขณูปนิชฌาน (การเพ่งลักษณะ คือ อนิจจัง,ทุกขัง,อนัตตา) ก็คือ วิปัสสนากรรมฐาน
คำนิยามความหมาย “เพ่งอารมณ์เป็นสมถะ, เพ่งลักษณะ เป็นวิปัสสนา”

ผลของ “สมถกรรมฐาน” ก็คือ “ฌาน”
ซึ่งเป็นคำพูดรวมๆ ของ…อารมณ์, สมาธิ, เอกัคคตา, องค์ฌาน, ฌานจิต, สมาบัติ ๘ (รูปฌาน ๔,อรูปฌาน ๔ ตามนัยพระสูตร) หรือ สมาบัติ ๙ ตามนัยอภิธรรม (นับรูปฌานเป็น ๕)
“ฌาน” ก็ระงับกิเลสได้ในระดับหนึ่งที่เรียกว่า “วิกขัมภณปหาณ” ปหาณโดยการข่มไว้

ส่วนผลอันเกิดแต่การเจริญวิปัสสนา เรียกว่า “ญาณ”
แปลว่า ความรู้ คือปัญญา รวมถึงมรรค-ผล-นิพพาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่อง
ถามว่า คำว่า “ญาณ” ที่แปลว่า “รู้” รู้ในอะไร.?
ตอบว่า รู้ รูป-นาม,ขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง โดยลักษณะทั้ง ๓, และความรู้นั้น ก็จะเป็นไปตามลำดับ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้นไป จนถึงญาณที่ ๑๖ (ปัจจเวกขณญาณ, รายละเอียดดูในวิปัสสนากรรมฐานทีปนี มัช-โท)

คำว่า “ฌาน” ว่าโดยความหมายมี ๒ อย่าง คือ

     ๑) “เพ่ง” กิริยาการเพ่งอารมณ์มีกสิณเป็นต้น ชื่อ “ฌาน” คือการกำหนดจิตให้จดจ่ออยู่เพียงอารมณ์นั้น ๆ ทำให้จิตตั้งมั่นด้วยอำนาจของสมาธิ (เอกัคคตา)…หรือ แม้แต่การกำหนดเพ่งรูป-นาม ที่เป็นไปในเชิงของวิปัสสนา ก็สงเคราะห์เข้าในคำนี้ได้ เพราะประกอบด้วยสมาธิ คือเอกัคคตา เช่นเดียวกัน แต่เป็นสมาธิชั่วขณะที่เรียกว่า “ขณิกสมาธิ”

     ๒) “เผา” คือ เผาหรือทำลายธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กันกับตน มุ่งหมายเอาองค์ฌานที่เกิดขึ้นไปเผาหรือทำลายนิวรณ์ธรรมนั้น ๆ เช่น วิตก ก็เป็นปฏิปักษ์หรือเผาถีนมิทธะเป็นต้น… หรือในเชิงวิปัสสนา ญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีอุทยัพพยญาณเป็นต้น ก็เผาหรือเป็นปฏิปักษ์ต่อวิปัลลาสธรรมต่าง ๆ มีนิจจสัญญาวิปัลลาสเป็นต้น…

@@@@@@@

“สมาธิ หรือเอกัคคตา” ที่เกิดขึ้นในขณะที่มีการเพ่งอารมณ์ เป็นไปดังนี้ คือ

๑) หากเป็นการกำหนดเพ่งอารมณ์เป็นใหญ่ (อารัมมณูปนิชฌาน) “สมาธิ หรือเอกัคคตา” ก็จะเป็นไปได้ ๓ ระดับ คือ
     ก. “ขณิกสมาธิ” เป็นสมาธิชั่วขณะหนึ่ง ๆ ที่เกิดกับมหากุศลชวนะ ในขณะที่เพ่งอารมณ์
     ข. “อุปจารสมาธิ” เป็นสมาธิที่เฉียด คือเข้าไปใกล้อัปปนา คำว่า “อุปจาร” แปลว่า “เข้าไปใกล้” เป็นสมาธิ คือเอกัคคตาเจตสิกที่ประกอบอยู่ในมหากุศลจิตที่ตั้งมั่นอยู่ได้นาน จนถึงวิถีสุดท้ายหรือวิถีเดียวกับที่อัปปนาชวนจิต (ฌานจิต) เกิดขึ้น
     ค. “อัปปนาสมาธิ” เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง ได้แก่เอกัคคตาเจตสิกที่ในฌานจิต ๖๗ (มหัคคตจิต ๒๗, โลกุตตรจิต ๔๐) เป็นสมาธิที่ตั้งมั่นอย่างยิ่ง คือทำให้องค์ฌานทั้ง ๕ (วิตก,วิจาร,ปีติ,สุข,เอกัคคตา) ปรากฏเกิดขึ้นมีกำลังมาก สามารถเผาธรรมที่เป็นปฏิปักษ์กันกับตนได้อย่างราบคาบ (วิกขัมภณปหาณ) อย่างแท้จริง.

๒) หากเป็นการกำหนดเพ่งอารมณ์ คือ รูป-นาม, ขันธ์ ๕ เป็นต้น ในเชิงของการเพ่งลักษณะ (ลักขณูปนิชฌาน ได้แก่การเจริญวิปัสสนา สมาธินั้น ในลำดับแรกก็จะเป็นไปเพียง “ขณิกสมาธิ” จนถึงช่วงโคตรภูญานเกิดขึ้น ก็เฉียดเข้าไปใกล้ต่ออัปปนา คือสงเคราะห์เข้าเป็น “อุปจารสมาธิ” นั่นเอง…

หลังจากนั้น พอโคตรภูจิตดับลง มรรคญาณ-ผลญาณ (มรรคจิต-ผลจิต) ก็เกิดขึ้นติดต่อกันไป…ในขณะนั้น “สมาธิ” ก็จัดว่าเป็น “อัปปนาสมาธิ” คือเอกัคคตาที่ในมรรคจิต-ผลจิตนั่นแหละนับเข้าใน “อัปปนาสมาธิ” เพราะมรรคจิต-ผลจิต ท่านจัดเป็น “ฌานจิต” เมื่อเป็นฌานจิต “สมาธิ” ก็ต้องถือว่าเป็น “อัปปนาสมาธิ”

เพระฉะนั้น สมาธิทั้ง ๓ คือ “ขณิกสมาธิ, อุปจารสมาธิ, และอัปปนาสมาธิ” จึงเป็นไปได้ทั้งในสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ตามสมควร ด้วยประการฉะนี้.

@@@@@@@

ตสฺมา เหวํ สมาธิตฺถิ   ติสฺโสปิ ขณิกาทิโย
ตํ สมาธิตฺตยํ ทฺวีสุ     กมฺมฏฺฐาเนสุ วตฺตติ.

เพราะเหตุนั้นแล สมาธิทั้ง ๓ อย่างคือ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ย่อมเป็นไปในกรรมฐาน ทั้ง ๒ อย่าง คือ สมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐาน ด้วยประการฉะนี้.

คนส่วนมาก มักเข้าใจว่า “วิปัสสนากรรมฐาน” มีเพียง ขณิกสมาธิ แน่นอน ในลำดับแห่งญาณต่าง ๆ ในขณะแห่งการเจริญวิปัสสนานั้น สมาธิ ย่อมเป็นไปเพียงขณิกสมาธิเท่านั้น แต่ในวิถีสุดท้ายที่มรรคจิต-ผลจิตจะเกิดสมาธิในตอนนั้นก็ขยับไปเป็นอุปจารสมาธิ, เพราะความหมายของคำว่า “อุปจารสมาธิ” คือ สมาธิที่เฉียดเข้าไปใกล้ต่อความเป็นอัปปนาสมาธิ.

ญาณทั้งหลายก่อนหน้าที่โคตรภูญาณจะเกิด มีอารมณ์เป็นรูป-นาม ที่เป็นไตรลักษณ์ แต่พอถึงโคตรภูญาณ คือโคตรภูจิต (มหากุศลญาณสัมมปยุตตจิต ๔) เกิดขึ้น ขณะนั้นมีนิพพานเป็นอารมณ์, สมาธิ คือเอกัคคตาที่เกิดในขณะนั้น ก็จัดว่าเป็น อุปจารสมาธิ เพราะเฉียดใกล้ต่ออัปปนา.

พอมรรคจิต-ผลจิตเกิดขึ้น อารมณ์ของมรรจิต-ผลจิต เป็นนิพพาน และสมาธิ ก็จัดเป็นอัปปนาสมาธิ อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากมรรคจิต-ผลจิต เป็นอัปปนาชวนะ และถึงความเป็นฌานจิต.

องค์ฌานทั้ง ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา ที่ประกอบอยู่ในมรรคจิต-ผลจิตนั่นแล เป็นโลกุตตรฌาน เพราะประกอบอยู่กับโลกุตตรจิต, แต่ตัวที่นับว่าเป็นฌาน เป็นสมาธิตรง ๆ นั้นก็คือ “เอกัคคตาเจตสิก” ซึ่งจะประกอบอยู่ในทุกฌานจิต ขาดไม่ได้

ส่วน วิตก วิจาร ปีติ สุข นั้น สามารถขาดไปได้แล้วแต่ฌาน เช่น ทุติยฌาน ก็ไม่มีวิตกแล้ว, ตติยฌาน ก็ไม่มีวิจารแล้ว, จตุตถฌาน ก็ไม่มีปีติแล้ว และปัญจมฌาน ก็ไม่มีสุขแล้ว (เพราะสุขกลายเป็นอุเบกขาในปัญจมฌาน)




ขอบคุณที่มา : dhamma.serichon.us/2020/10/21/เตภูมิกวัฏฏ์/
เตภูมิกวัฏฏ์ , 21 ตุลาคม 2020 By admin.
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ