ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: อหิงสกะ(ผู้ไม่เบียดเบียน) กับ “อังคุลิมาลปริตร”  (อ่าน 1373 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 


สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (33) : มหาโจรองคุลิมาล ผู้บรรลุพระอรหัต

มหาโจรชื่อดังคนแรกที่บรรลุพระอรหัต ถ้าบอกว่า คนที่ว่านี้คือ มหาโจรองคุลิมาล หลายคนคงถามว่า ก่อนหน้านี้มีคนอื่นบ้างไหม ขอเรียนว่าอาจจะมี แต่หลักฐานมิได้บอกชัดแจ้งเหมือนมหาโจรองคุลิมาล เข้าใจว่ามหาโจรที่ดังมากยุคนั้นก็คือท่านผู้นี้แหละ และดังมาจนถึงปัจจุบัน

องคุลิมาลเป็นบุตรของปุโรหิตนามว่าคัดดะ แห่งราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี มารดานามว่ามันตานีขณะเกิดนั้นอาวุธในคลังแสงลุกโชตนาการน่าประหลาดมาก ปุโรหิตผู้บิดาขณะนั้นอยู่ในพระราชสำนัก กำลังเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่ กราบทูลพระราชาว่า เด็กที่เกิดในฤกษ์นี้จะเป็นโจรที่มีชื่อเสียงเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน

พระราชาตรัสถามว่า โจรธรรมดาหรือว่าโจรแย่งราชสมบัติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นโจรธรรมดาก็ไม่สนพระทัย ปุโรหิตกลับมาถึงบ้านถึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่ว่านี้คือ บุตรชายของตัวเอง กลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินขอกำจัดทิ้งเสียเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนาม

ถูกพระราชาทรงทัดทานไว้ จึงตั้งชื่อ “แก้เคล็ด” ว่าอหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน) อหิงสกะก็เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ มีนิสัยใจคอสุภาพอ่อนโยน มีเมตตา กรุณา มีมนุษยสัมพันธ์ดี เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นโจรตามคำทำนายของบิดา

บิดาส่งไปเรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา ก็ขยันศึกษา เคารพนับถืออาจารย์ แม้กระทั่งภริยาของอาจารย์อย่างดี เป็นที่โปรดปรานขออาจารย์อย่างยิ่ง แถมยังมีสมองเป็นเลิศ เรียนเก่งล้ำหน้าเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหลาย จนเพื่อนๆ อิจฉาริษยา


@@@@@@

อาจารย์เองเวลาจะดุด่าศิษย์อื่นๆ ที่ไม่ใส่ใจในการศึกษา ก็จะยกอหิงสกะเป็นตัวอย่าง และให้เอาอย่างอหิงสกะ ยิ่งทำให้พวกเขาเกลียดอหิงสกะยิ่งขึ้น จึงหาทางกำจัด โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ เข้าไปพูดจาให้ร้ายป้ายสีอหิงสกะ

แรกๆ อาจารย์ก็ไม่สนใจ แต่พอบ่อยเข้า หลายคนเข้า ก็ชักจะเชื่อว่าคงเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีมูลเลยพวกศิษย์อื่นๆ คงไม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน ในที่สุดก็ปักใจแน่วแน่ว่า อหิงสกะเป็นศิษย์ทรยศคิดล้างครู (ในคัมภีร์พูดเป็นนัยๆ ว่า ถูกหาว่ามีอะไรกับภริยาของอาจารย์ด้วย ดังที่หนังองคุลิมาลที่คุณ “อังเคิล” สร้างนั้นแหละครับ “ถูกหา” ก็รู้อยู่แล้ว จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้)

อาจารย์เรียกลูกศิษย์รักผู้จะจบการศึกษามาพูดทำนองขอ “ค่าบูชาครู” (ครุปจาร หรือครุทักษิณา) ด้วยการให้ไปเอานิ้วคนมาพันนิ้ว (ผู้แต่งประวัติพระองคุลิมาล บางท่านจะถ่ายทอด “วิษณุมนตร์” ให้ จึงให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมาพันนิ้ว)

ค่าที่เป็นคน เชื่อฟังอาจารย์อยู่แล้วและอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน อหิงสกะจึงตกลงไปฆ่าคนเอานิ้วมือ ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวงแขวนคอ กว่าจะได้เป็นร้อยๆ ก็ต้องเสียเวลานานพอสมควร และนิ้วที่ร้อยแขวนคอไว้บางนิ้วก็เน่าหลุดไปต้องหามาเพิ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่ครบพันสักที

@@@@@@

มาถึงช่วงนี้ เสียงลือเสียงเล่าก็กระฉ่อนไปทั่วว่า มีมหาโจรดุร้ายไล่ฆ่าคนตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย น่าสยดสยองเหลือเกิน จนผู้คนไม่กล้าเดินทางไปไหน บิดาของอหิงสกะทราบว่า มหาโจรนี้คือบุตรชายของตนจึงกราบทูลให้พระราชาไปกำจัดเสียเพื่อความผาสุกของชาวเมือง

ผู้เป็นแม่ได้ทราบข่าวก็เป็นห่วงว่าบุตรของตนจะมีภัยถึงชีวิต ถึงแม้ลูกจะเป็นโจรก็เป็นลูกนาง นี่แหละครับความรักที่แม่มีต่อลูกมันยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใด นางแอบหนีออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่คิดว่าบุตรชายตนเองอยู่เพื่อบอกให้ลูกรู้ตัวแล้วจะได้หลบหนีไปเสีย

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อไปโปรดในปัจจูสมัย (จวนสว่าง) องคุลิมาลปรากฏในข่ายคือพระญาณ ทรงทราบด้วยญาณว่าองคุลิมาลมีอุปนิสัยจะได้บรรลุ เพื่อมิให้เธอถลำลึกลงไปในห้วงแห่งอกุศลกรรมมากกว่านี้ อันจะตัดทางแห่งมรรคผลนิพพานเสีย จึงเสด็จไปดักหน้า

องคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้า คิดว่าสมณะก็สมณะเถอะวะ ข้าจะฆ่าเอานิ้วมาให้ได้ ขาดนิ้วเดียวจะครบพันอยู่แล้ว
ว่าแล้วก็ชูดาบวิ่งเข้าใส่ ปากก็พร่ำว่า “หยุด สมณะ หยุด”
พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด”
มหาโจรแย้งว่า ท่านยังเดินไปอยู่ ทำไมพูดว่าหยุดแล้ว สมณะโกหกด้วยหรือ
พระองค์ตรัสว่า “เราหยุดทำบาปแล้ว เธอยังไม่หยุด” เท่านั้นแหละ มหาโจรองคุลิมาลก็ทิ้งดาบ เข้าไปกราบพระยุคลบาท ฟังธรรม

@@@@@@

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนา เขาได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้แล้วทรงนำกลับไปยังพระเชตวัน วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงนำกองทัพย่อยๆ จะไปปราบองคุลิมาล ก่อนไปได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทำนองเอาฤกษ์เอาชัย

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า จะยกทัพไปไหน
พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่า จะไปปราบโจรองคุลิมาล
พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าโจรองคุลิมาลละการทำบาปมาบวชเป็นศิษย์ตถาคตแล้วพระองค์ยังจะไปปราบอยู่ไหม
พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นก็ได้รับอภัยโทษ แทนที่จะปราบ พระองค์กลับต้องนมัสการถวายความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่

พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังภิกษุหนุ่ม ตรัสว่านั่นคืออดีตโจรองคุลิมาล แม้ทรงรู้ว่าบัดนี้พระภิกษุหนุ่มไม่เบียดเบียนใครอีกแล้ว พระราชายังอดสะดุ้งพระทัยไม่ได้ ทรงข่มความกลัวเข้าไปนมัสการภิกษุหนุ่ม ทรงปวารณาถวายจตุปัจจัย

แรกๆ พระองคุลิมาลบิณฑบาต นอกจากไม่ได้ข้าวแล้ว ยังได้ “เลือด” กลับวัดอีกด้วย เพราะผู้คนที่จำท่านได้ ก็เอาก้อนอิฐ ก้อนดิน ขว้างปา จนศีรษะแตกได้รับทุกขเวทนา คัมภีร์พระไตรปิฎกเล่าว่า ท่านถูกทำร้ายจนบาตรแตก จีวรฉีกขาดกะรุ่งกะริ่ง พระพุทธองค์ตรัสให้ท่านอดทน เพราะนั่นคือเศษกรรมของท่าน

@@@@@@

วันหนึ่งท่านพบหญิงมีครรภ์แก่เดินเหินลำบาก จึงมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสบอกให้ท่านแผ่เมตตาจิตให้นาง รุ่งขึ้นท่านไปบิณฑบาตพบสตรีคนแก่คนเดิม ท่านยืนสงบใกล้ๆ เธอ เปล่งวาจาตั้งสัตยาธิษฐานว่า

     "ยะโตหัง ภะคะนิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานา มิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ"
     "ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาโดยชาติเป็นอริยะ (ตั้งแต่บวช) เราไม่เคยคิดทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านและบุตรในครรภ์ของท่าน"
      สิ้นคำสัตยาธิษฐาน สตรีคนนั้นก็คลอดลูกอย่างง่ายดาย

คนจึงลือกันว่า ท่านองคุลิมาลมี “มนต์” ทำให้คนคลอดลูกง่าย เพราะฉะนั้น “อังคุลิมาลปริตร” (สั้นๆ ข้างต้นนั้น) อาจารย์ยุคหลังได้รวบรวมไว้ในบทสวดเจ็ดตำนานเพื่อสวดเป็นสวัสดีมงคล หรือไม่ก็แยกสวดเฉพาะบททำน้ำมนต์ให้สตรีตั้งครรภ์ดื่มให้คลอดบุตรง่าย

ท่านพระองคุลิมาลเมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นสาวกประเภทต้นคดปลายตรง ทำผิดในกาลก่อน ภายหลังกลับเนื้อกลับตัวได้เลิกละโดยสิ้นเชิง ดังพุทธวจนะตรัสสรรเสริญว่า

    “ผู้ใดทำบาปในกาลก่อน ภายหลังละได้ด้วยการทำกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น”
     ท่านองคุลิมาลนับเป็นมหาโจรชื่อดังคนแรกที่ได้บรรลุพระอรหัตด้วยประการฉะนี้


ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 22-28 พฤศจิกายน 2562
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_250641
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 02, 2019, 05:52:25 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ