ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: รู้เหตุ รู้ทุกข์ รู้ธรรม รู้ทำ ทุกข์ก็เบาบาง.rtf  (อ่าน 7454 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
ขอนอบน้อมแด่ พระพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
ขอนอบน้อมแด่พระธรรม ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว
ขอนอบน้อมแด่พระสงฆ์ ผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ พระเถระ พระอริยะเจ้าทั้งหลาย  ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ผู้ที่ควรแก่การเคารพนพน้อม


การบัดนี้กระผมจักขออนุญาต แสดงบทความธรรมะอันที่ผมได้เห็นจริงแล้วตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระสมณะโคดมมหามุนีพุทธเจ้า ได้ทรงตรัสแสดงไว้ดีแล้วถูกต้องแล้ว งดงามแล้ว ที่ผมได้เรียนรู้ปฏิบัติพร้อมได้เห็นได้เข้าใจในสภาพความคิดของตนเอง ซึ้งเป็นอันที่ผมกระทำ-ปฏิบัติแล้ว ทำให้ทุกข์ของผมเบาบางลงได้ จึงใคร่ขออนุญาตพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทั้งหลาย และ พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย แสดงบทความธรรมะบอกกล่าวข้อธรรมอันที่ผมรู้-เห็นในทั้งสภาพความคิดบัญญัติในสมถะและปรมัตถธรรม ในข้อธรรมแห่ง "การปฏิบัติให้ความทุกข์เบาบางลงในรูปแบบของ อริยสัจ ๔ เบื้องต้นในสภาพความคิด" ดังต่อไปนี้

๑. ทุกข์
ทุกข์นั้น ฟังๆดูแล้วก็คงไม่มีใครอยากประสบพบเจอ เพราะคนธรรมดาอย่างเราๆทุกคนนั้นย่อมอยากจะได้รับผลคือความสุขกาย สบายใจ สมหวัง ทั้งหลายทั้งปวง
ทุกนั้นว่าโดยความเข้าใจที่สามารถเห็นและรู้สึกได้ของเราทั้งหลายนั้นมีดังนี้
๑.๑ ความโศรกเศร้า ร่ำไร รำพัน ความอึดอัด อัดอั้น คับแค้น กาย-ใจ ความไม่สบายกาย-ใจทั้งหลายนี้เป็นทุกข์
๑.๒ ทุกข์เพราะไม่สมดังความปารถนาตั้งใจ ใคร่ได้ ต้องการ
๑.๓ ทุกข์เพราะความพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นรักที่พอใจยินดี สิ่งอันเป็นที่จำเริญใจทั้งหลาย
๑.๓ ทุกข์เพราะความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจทั้งหลาย
๑.๔ แม้สมหวังดังปารถนายินดี ใคร่ได้นั้นแล้ว มีความพอใจในสุข-สมหวังที่ได้รับ เมื่อความสุข-สมหวังนั้นๆตั้งอยู่ แต่ใจเราก็จะเป็นทุกข์กังวลใจเพราะ “กลัว” ที่จะเกิดความพรัดพราก ความประสบกับสิ่งที่ไม่รัก ไม่พอใจ ไม่ต้องการ ไม่อยากให้เป็น ให้ถึงวันนั้น ด้วยความกลัวจนเกิดทุกข์ใจอย่างหนัก

๒. สาเหตุ และ ตัวแปรหรือความแปรผันให้ความดำเนินไปของทุกข์ทั้งหลายทั้งปวง (สมุทัย และ ปัจจัย)
สาเหตุและปัจจัยของทุกข์นั้นลำดับปัจจัยด้วยความเป็นเหตุเป็นผลที่พอจะอธิบายให้เข้าใจได้ดังนี้
๒.๑ เหตุทั้งหลายทั้งปวงเกิดมาจากความพอใจยินดีในสิ่งนั้นๆ เช่น พอใจยินดีในรูป รส กลิ่น เสียง การกระทบสัมผัส พอใจยินดีในการกระทำนั้นๆ รูปนั้นๆ เสียงนั้นๆ รสนั้นๆ กลิ่นนั้นๆ การได้รับความรู้สึกจากการกระทบสัมผัสนั้นๆ จากบุคคล หรือ สิ่งของต่างๆ เป็นต้น ความพอใจยินดีทั้งหลายเหล่านี้เรียกกันว่าตัณหา มีอยู่ 3 อย่างหลักๆที่เป็นข้อสำคัญคือ
   ๒.๑.๑ ภวตัณหา ความอยากมี อยากเป็น อยากพบ อยากเจอ อยากเห็น อยากได้ ดิ้นรนต้องการ พอใจ ยินดี ใคร่ได้ รวมไปถึงอยากได้ อยากเป็น อยากมี อย่างคนโน้น-คนนี้(ความอิจฉา) เช่น อยากให้คนรัก อยากให้คนชื่นชม อยากรวย ความคิดให้อยากให้คงอยู่เที่ยงแท้จีรัง หรือ ความเห็นว่าเที่ยง(สัสสตทิฏฐิ) คือความเห็นว่า อัตตาและโลก เป็นสิ่งเที่ยงแท้ยั่งยืน คงอยู่ตลอดไป เช่น เห็นว่าคนและสัตว์ตายไปแล้ว ร่างกายเท่านั้นทรุดโทรมไป ส่วนดวงชีพหรือเจตภูตหรือมนัสเป็นธรรมชาติไม่สูญ ย่อมถือปฏิสนธิในกำเนิดอื่นสืบไปไม่รู้จบ ไม่อาจหลุดพ้นได้ เป็นต้น
   ๒.๑.๒ วิภวะตัณหา ความอยากที่จะไม่ให้ตนเองได้พานพบเจอกับสิ่งที่ตนไม่ชอบ ไม่ต้องการ ไม่ใคร่ได้ ไม่ยินดี ดิ้นรนอยากจะผลักหนีให้ไกลตน อยากพรากพ้นดับสูญไปเสีย เช่น ไม่อยากพรัดพรากจากบุคคล-สัตว์-สิ่งของที่รัก ไม่อยากผิดหวัง ไม่อยากให้คนด่า ความไม่อยากมี ไม่อยากได้  ความคิดอยากให้ดับสูญไป หรือ ความทะยานที่ประกอบด้วยความเห็นว่าขาดสูญ(อุจเฉททิฏฐิ) เช่น เห็นว่าคนและสัตว์จุติจากอัตภาพนี้ แล้วขาดสูญ เป็นต้น
   ๒.๑.๓ กามตัณหา ความพอใจยินดี ดิ้นรนอยากได้อารมณ์ที่น่าใคร่ปารถนา ความกำหนัดใคร่ได้ ทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่ หรือ ความคิดทะยานอยากปารถนาใคร่ได้ที่เสพย์ในสิ่งนั้นๆที่พอใจยินดีต้องการ
๒.๒ เมื่อเรามีความพอใจยินดีทั้งหลายเกิดขึ้นแก่ใจเรานั้น เราก็ย่อมเกิดความสำคัญมั่นหมายเอาไว้ในใจ ว่าสิ่งนี้แหละที่เราชอบ ที่อยากได้ ที่ต้องการปารถนา
๒.๓ เมื่อมีความสำคัญมั่นหมายไว้ในใจก็ก่อเกิดเป็นความตรึกถึง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึง ก่อเกิดประกอบกับความปารถนาพอใจ ยินดีใคร่ได้ กำหนัด ทะยานอยาก ต้องการ ความหลง ฟุ้ง ไม่รู้จักหยุด ไม่รู้จักพอ ไม่รู้ประมาณตน ความไม่ชอบ ไม่พอใจยินดี  ความไม่อยากได้ ต้องการอยากจะผลักหนีให้ไกลตน ตามความสำคัญมั่นหมายนั้นๆของใจเรา ยิ่งพอใจมาก ก็ยิ่งสำคัญมั่นหมายในใจมาก ก็ยิ่งตรึกนึกถึงมาก ต้องการมาก ก็คือ รัก โลภ โกรธ หลง นั่นเอง
๒.๔ เมื่อเราไม่ได้ตามที่หวังปารถนา ใคร่ได้ ตามที่พอใจยินดี ไม่ประสบพบเจอดั่งที่หวังตั้งใจ พอใจ ยินดี ก้อเกิดตัวแปรที่เป็นปัจจัยให้ก่อเกิดไปเป็นผลแห่งทุกข์ดังนี้คือ
   ๒.๔.๑ ความไม่สมดังปารถนาตั้งใจ ใคร่ได้ ต้องการ
   ๒.๔.๒ ความพรัดพรากจากสิ่งอันเป็นรักที่พอใจยินดี สิ่งอันเป็นที่จำเริญใจทั้งหลาย
   ๒.๔.๓ ความประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจทั้งหลาย
สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความทุกข์ คือ ความโศรกเศร้า ร่ำไร รำพัน ความอึดอัด อัดอั้น คับแค้น กาย-ใจ ความไม่สบายกาย-ใจทั้งหลายนี้เป็นทุกข์ เช่น
-  เราพอใจยินดีที่จะให้คนอื่นพูดเพราะๆกับเรา แต่เมื่อเจอเขาพูดคำหยาบ พูดไม่เพราะดั่งใจ ก็ก่อเกิดเป็นความโกรธ ไม่พอใจยินดี เป็นการประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รักที่พอใจแก่เรา ผล คือ ทุกข์
- เราพอใจยินดีกับคนที่เป็นคู่รักของเรา ไม่ว่าจะเป็นหน้าตารูปร่าง ท่าทาง นิสัยใจคอ กลิ่น เสียง การสัมผัส เมื่อเขาทิ้งเราไป ไม่ว่าด้วยความตาย หรือจากลาไปหาคนอื่น ก็ก่อเกิดเป็นความพรัดพรากแก่เรา ผล คือ ทุกข์
- เราพอใจยินดีหวังปารถนาอยากจะได้บ้าน รถ เงิน ทอง เพื่อน อยากให้คนยอมรับเรา อยากอยู่จุดสูงสุด อยากอยู่สุขสบาย แต่เมื่อไม่เป็นไปตามที่หวังปารถนาไว้ ก็ก่อเกิดเป็นการประสบกับความไม่เป็นไป-ไม่สมดั่งหวังปารถนาพอใจ ยินดีใคร่ได้แก่เรา ผล คือ ทุกข์
 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า คนเราจะเกิดความทุกข์ ความเสียใจ ทรมานกาย-ใจ อึดอัด คับแค้นกาย-ใจ ฯ ได้นั้นสาเหตุก็เพราะใจเรามีความพอใจยินดีตั้งมั่นไว้ในใจ จนสำคัญมั่นหมายสิ่งต่างๆนั้นไว้ในใจ ไม่ว่าจะโกรธตะโกนโวยวาย ด่า ที่ทำก็เพราะพอใจอยากจะโกรธ จะด่าโวยวาย / รักก็เพราะพอใจอยากจะรัก / กำหนัดในกามก็เพราะติดพอใจในกาม

วิธีพิจารณาหาเหตุและปัจจัยของทุกข์เบื้องต้น ดูได้ตาม Link นี้ครับ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7457.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 03, 2013, 03:39:41 pm โดย Admax »
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: รู้เหตุ รู้ทุกข์ รู้ธรรม รู้ทำ ทุกข์ก็เบาบาง.rtf
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: เมษายน 30, 2012, 10:24:56 am »
0
วิธีที่จะทำให้ลดความพอใจยินดีทั้งหลายลงมีดังนี้

๑. การปฏิบัติมีศีล 5 เป็นเบื้องต้น เพื่อปฏิบัติตนไม่เป็นผู้เบียดเบียนตนเองและคนอื่น ปฏิบัติดีงามด้วยกายและวาจา ศีล 5 มีความหมายคือ
๑.๑ เว้นจากทำลายชีวิต ลองคิดดูว่าหากทีคนคิดปองร้ายเรา หมายเอาชีวิตเรา แล้วมาฆ่าเรา พรากชีวิตเราไปจากโลกที่เราอยากจะอยู่จะเป็น เราชอบ เรารู้สึกดีไหมครับ  เมื่อเราไม่ชอบไม่พอใจ เราก็ควรอดที่จะกระทำอย่างนั้นต่อคนอื่น
๑.๒ เว้นจากถือเอาของที่เขามิได้ให้ ลองคิดดูว่าหากมีคนมาขโมยของๆเรา หรือหยิบเอาสิ่งที่เราไม่ให้ ไม่อนุญาติด้วยความหวงแหน เป็นสิ่งมีค่าของเรา เราจะรู้สึกดีพอใจกับการกระทำนั้นไหมครับ  เมื่อเราไม่ชอบไม่พอใจ เราก็ควรอดที่จะกระทำอย่างนั้นต่อคนอื่น
๑.๓ เว้นจากประพฤติผิดในกาม คือ ผิดต่อ ลูก ภรรยา สามี พี่ น้อง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย น้า อา ลุง ป้า ของตนเองและคนอื่นเป็นต้น ลองคิดดูนะครับว่าหากคนที่เรารักหรือใครก็ตามมากระทำผิดในกามต่อครอบครัวเรา เราจะชอบไหมครับ  เมื่อเราไม่ชอบไม่พอใจ เราก็ควรอดที่จะกระทำอย่างนั้นต่อคนอื่น
๑.๔ เว้นจากพูดเท็จ-โกหก ส่อเสียดให้ร้ายหรือทำร้ายคนอื่น ลองคิดดูนะครับว่า หากคนอื่นบางคน หรือทุกคน คอยรักแต่โกหกปิดบังความจริงเรา พูดส่อเสียด พูดให้ร้ายเรา ด่าเรา เราคงไม่ชอบใช่ไหมครับ  เมื่อเราไม่ชอบไม่พอใจ เราก็ควรอดที่จะกระทำอย่างนั้นต่อคนอื่น
๑.๕ เว้นจากของเมา คือ สุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท ลองคิดดูนะครับว่า การดื่มสุรานั้นทำให้เราเสียเงินโดยไม่จำเป็น เสียจากส่วนที่ควรจะใช้ประโยขน์ได้มากกว่านั้น คนที่รักก้อไม่ชอบใจ อาจจะหนีเราไปเลยเพราะชอบเมาสุรา เงินที่ควรจะเก็บไว้ใช้จ่ายเพื่อภาระต่างๆ กองทุนต่างๆที่คาดไว้ก็หายไป  เงินไม่พอใช้ ต้องมากู้หนี้ ยืมสินใหม่อีก มีแต่เสียกับเสีย บางครั้งอาจจะฆ่าคนตายเพราะฤทธิ์แห่งสุราได้ด้วย หรือจะกระทำพลาดพลั้งใดๆก้อได้ แล้วก็มาเสียใจในภายหลัง   เมื่อเราไม่ชอบไม่พอใจ ไม่อยากจะได้รับผลกระทบเช่นนี้ๆ เราก็ไม่ควรที่จะดื่มสุราเมรัย เพื่อจะได้ไม่กระทำหรือรับผลกระทบเช่นนั้น
- ตรงนี้จะสอนให้ผู้ปฏิบัตินั้นรู้จักข้อศีลหรือความผิดที่ตนเองกระทำ จนถึงมีจิตเป็นกุศลตั้งในความไม่เบียดเบียนตนเองและคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการกระทำทางกาย วาจา ฯ ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัว ทำด้วยความไม่ยึดมั่นฝืนใจทำของเรา  อานิสงส์จะช่วยให้มีความปกติสุขยินดี ไม่ร้อนรุ่ม-ร้อนรน ทั้งกายและใจ

๒. นั่งสมาธิ หรือ เดินจงกรม ไม่ก็นอนแล้วตั้งจิตมั่นทำสมาธิ ซักวันละ 10-30 นาที อาจจะระลึกบริกรรมถึงพุทธานุสสติ คือ หายใจเข้ายาวๆ ระลึก "พุทธ" หายในออกยาวๆ ระลึก "โธ" การหายใจเข้า-ออกยาวๆ เริ่มต้นซักประมาณ 3-10 ครั้ง แล้วจึงปล่อยลมหายใจอยู่ในสภาพที่หายใจปกติ เพื่อปรับสภาพธาตุ ลมปราณ เพื่อให้มีสมาธิตั้งมั่นในเบื้องต้น เป็นประตูผ่านจุดแรกให้เข้าสมาธิง่ายๆ ทำให้ใจเย็นขึ้น อุ่นขึ้น ขยะในสมองหรือความคิดฟุ้งซ่านจะลดลง ใจเต้นสูบฉีดเลือดในสภาวะปกติมากขึ้น ไม่เร็วหรือช้าจนเกินไป (สังเกตุสภาวะเมื่อทำสมาธิเช่นนี้ๆจิตใจเราจะสั่นเครือ อัดอั้น ตันใจ คับแค้นใจน้อยลง มีสติมากขึ้น ใจไม่เต้นแรง หรือ ถี่จนสั่นเครือ) หากว่าหายใจ เข้า-ออก ยาวๆแล้วรู้สึกดีขึ้นทั้งสภาพกายและใจก็สามารถที่จะกระทำไปเรื่อยๆจนร่างกายและสภาพของธาตุในร่างกายเริ่มชินกับกายหายใจเข้า ออก ยาวๆ ก็ได้
หากว่าเรานั้นเวลาทำสมาธิหรือก่อนทำมีใจที่ฟุ้งไปในความโกรธ หรือ โทสะ ให้เราระลึกถึงการมี ทาน และ พรหมวิหาร๔ (อธิบายไว้ในข้อ ๓-๔) จากนั้นระลึกถึงเรื่องดีๆเป็นกุศลให้เรามีความผ่อนคลายจนถึงแก่ความนิ่งว่างแห่งสมาธิ
หากว่าเรากำลังเสียใจกับเรื่องราวต่างๆมีความพลัดพรากตั้งอยู่ ก็เริ่มจากคิดถึงเรื่องที่ดีเป็นกุศลผ่อนคลาย จนถึงแก่เรียนรู้พิจารณาถึงความเกิดมา ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน เป็นทุกข์ ในทุกสิ่งทุกอย่างว่า
- ทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่มีสิ่งใดจะคงอยู่ตลอดไปกับเราได้ ย่อมจะสุญสลายจากไปตามกาลเวลา และ การดูแลรักษาของเรา ไม่ว่าจะเป็นความตาย หรือ การจากลา เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่คงอยู่กับเราเที่ยงแท้แน่นอน
- ทุกสิ่งทุกอย่างไม่มีตัวตน ไม่ใช่ของเรา เราเพียงแค่ยืมเขามาใช้เพื่อเสพย์ความสุขพอใจยินดีในช่วงเวลาหนึ่งไม่นานก็ต้องปล่อยเขาคืนกลับไป ที่กล่าวเช่นนี้เพราะเราไม่สามารถไปบังคับ จับต้อง ให้เป็นดั่งที่ใจเราต้องการได้ทุกอย่าง ไม่สามารถบังคับแม้แต่ใจเราเอง น้ำตาเราเอง ว่าไม่ให้เสียใจ ไม่ให้ร้องไห้ ไม่สามารถไปบังคับจับต้องสิ่งใดๆได้เลย
- เมื่อสิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน เมื่อเราไม่อาจจะไปบังคับจับต้องให้เป็นไปดั่งที่ใจปารถนาต้องการได้ มันจึงก่อเกิดเป็นความทุกข์ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง เกิดมา ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป
พิจารณาเช่นนี้ไปควบคู่กับ ทาน และ พรหมวิหาร ๔ จนจิตใจเราวางใจกลางๆได้มากขึ้น (อธิบายไว้ในข้อ ๓-๔)
ความโลภ ใคร่ได้ต้องการก็เช่นกัน ให้พิจารณาตามข้อ ๓-๖
- ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติคุมสติให้นิ่งได้ง่ายขึ้น ใจเย็นลง จิตใจจะลดความฟุ้งซ่าน โมโห กลัว สับสน ลดใจที่สั่นเครือลง อานิสงส์ คือ จะทำให้ใจเรามีความสงบ ผ่องใส นิ่งอยู่โดยปราศจาก ความอาฆาต พยาบาท และ กามตัณหา ทั้งหลาย

วิธีการปฏิบัติกัมมัฏฐาน เพื่อเจริญสมาธิเบื่องต้น ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ที่เห็นผลได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล ดูได้ตาม Link นี้ครับ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7416.0
ในหัวข้อ ก. การเจริญสมาธิ (ตามวิถี Admax)


๓. การระลึกปฏิบัติ ทำไปเพื่อการให้ที่เรียกว่า ทาน
๓.๑ ทาน คือ การสละ เป้นการสละให้โดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆจากผู้รับ สละให้เพราะหวังให้ผู้รับได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เราให้นั้น ให้ไปแล้วไม่มาคิดเสียดายหรือเสียใจในภายหลัง ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัวของเรา
๓.๒. เมตตาทาน คือ การสละให้เพื่อหวังให้ผู้อื่นได้รับความสุข ได้พบประสบความสุขจากการให้ของเรา หรือ จากสิ่งที่เราได้ให้เขาไป ด้วยสภาพจิตผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัวของเรา
๓.๓ อภัยทาน คือ การสละให้เพื่อความเว้นจากความพยาบาทเบียดเบียนผู้อื่น ให้เพื่อผู้อื่นได้รับอิสระสุขจากการให้นั้นของเรา รู้ให้อภัยด้วยจิตใจที่เป็นกุศล เป็นการเว้นไว้ซึ่งโทษ งดโทษ อดโทษแก่คนอื่น เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียนผู้อื่นด้วยกาย วาจา ใจ ให้เพราะความมีใจเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ อนุเคราะห์ อยากให้เขาไม่รู้สึกอึดอัด อัดอั้นใจ เป็นทุกข์ ทรมาน ทั้งกาย-ใจ ให้เพราะอยากให้ผู้รับมีจิตใจเบิกบาน ไม่ขุ่นข้องหมองใจ ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัวของเรา
- ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้รู้จักการให้เพื่อคนอื่นไม่ใช่แต่จะรับอย่างเดียว ลดความเห็นแก่ตัว-เอาแต่ได้ของตัวเองลง โดยการที่เราจะสามารถเข้าถึงสภาพจิตและการดำเนินไปใน ทาน เป็นผลสำเร็จสมบูรณ์ได้นั้น เราต้องเจริญปฏิบัติและเข้าถึงในสภาพจิตของ เมตตาจิต กรุณาจิต และ มุทิตาจิต ให้ได้ก่อน สภาพจิตที่เป็นไปใน ทาน ของเรานั้นจึงจะเป็นผลสมบูรณ์เต็ม

๔. ระลึกรู้ปฏิบัติทำใน พรหมวิหาร ๔ คือ
๔.๑ เมตตา คือ สภาพที่จิตมีความปารถนาให้คนอื่นเป็นสุข หรือ กระทำเพื่อต้องการให้ผู้อื่นได้รับความสุขจากการกระทำของตน ด้วยจิตผ่องใส ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัวของเรา
๔.๒ กรุณา คือ สภาพที่จิตมีความสงสารเห็นอก-เห็นใจคนอื่น เข้าใจผู้อื่น หรือ กระทำเพื่อคนอื่นด้วยความอนุเคราะห์ ความเอื้อเฟื้อ-เผื่อแผ่ ความโอบอ้อมอารีย์ รู้แบ่งปันให้แก่ผู้อื่น ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัวของเรา
๔.๓ มุทิตา คือ สภาพที่จิตมีความยินดีแจ่มใส เมื่อเห็นคนอื่นเขาพ้นทุกข์ได้ประสบกับความสุข ด้วยจิตที่ดีงามเป็นกุศล ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัวของเรา
๔.๔ อุเบกขา คือ สภาพที่จิตมีความวางใจไว้กลางๆ ไม่หยิบจับเอาความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดีจิตจะวางเป็นกลาง เช่น เมื่อได้กระทำสิ่งใดๆในทางที่ดีเป็นกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นหรือตนเองอย่างเต็มที่แล้ว ก็ให้พึงระลึกในใจว่า ได้ก็เอา-ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราได้กระทำอย่างดีที่สุดแล้ว เต็มที่ เต็มใจที่ทำแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปตามกรรม นั่นคือ การกระทำโดยเจตนาไม่ว่าในปัจจุบันนี้หรือในกาลก่อน ต้องยอมรับความจริงปล่อยให้มันเป็นไป ไม่มีความติดข้องใจใดๆ ไม่ตั้งความยึดมั่นถือมั่นทะยานอยากได้ อยากให้เป็น หรือ ไม่อยากได้ ไม่อยากให้เป็นอีกต่อไปป ด้วยสภาพจิตที่ผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่นิ่งเฉย-ว่างเฉย ด้วยสภาพจิตที่หมองหม่นใจ ไม่แจ่มใส ไม่เบิกบานใจของเรา
- การเจริญในพรหมวิหาร๔ หรือ เจริญใน เมตตา กรุณา มุทิตา หลวงปู่แหวนท่านกล่าวไว้ว่า ให้พึงกระทำและระลึกแบบความรู้สึกของ พ่อ-แม่ ที่มีต่อลูก ที่อยากให้ลูกมีสุข ได้ดี แบ่งปัน เอื้อเฟื้อ เมื่อลูกทำได้ หรือได้ดีมีสุข พ่อ-แม่ก็ยินดีมีสุขกับความสุขสำเร็จนั้นของลูกด้วย โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แนวทางการปฏิบัติและเข้าสู่สภาพจิตของเมตตานี้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้วใน "กรณียเมตตสูตร" ท่านทั้งหลายสามารถศึกษาเพิ่มเติมจากพระสูตรต่างๆที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้แล้วได้ ที่ได้แปลความหมายเป็นภาษาไทยเพื่อความเข้าใจง่าย เพราะนั่นคือแนวทางการเจริญกัมมัฏฐานและปฏิบัติทั้งหลายนั่นเองครับ
- ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้จักคิดและทำเพื่อคนอื่น เห็นใจคนอื่น เมตตาสงสารคนอื่น รู้จักเอื้อเฟื้อคนอื่น มากกว่าที่จะทำเพื่อความพอใจยินดีของตนเอง (ความพอใจยินคือก็คือความโลภนั้นเองครับ) จะทำให้ผู้ปฏิบัติรู้จักคิดและทำเพื่อสิ่งที่ดีที่ถูกต้องแก่ตนเองและคนอื่นมากขึ้น จนถึงแก่ขั้นวางใจกลางๆ มีจิตเป็นกลางไม่ยึดมั่นถือมั่นในความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดี การระลึกใน พรหมวิหาร๔ เช่นนี้จะช่วยให้จิตใจของผู้ปฏิบัติผ่อนคลายเป็นกุศลจิต มีใจไม่ยึดมั่นติดข้องต้องใจจากความพอยินดีของตนเอง แต่จะเริ่มรู้จักการคิด-ทำเพื่อคนอื่น และจะเชื่อมโยงให้ผู้ปฏิบัติมี ขันติ ได้เองโดยอัตโมัติ


ดูอุบายวิธีการเจริญเมตตาจิตในการสวดมนต์แผ่เมตตาให้แก่บุคคลทั้งหลาย ตาม Link นี้ได้เลยครับ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=8226.0

วิธีการเข้าสู้อุเบกขาจิตนั้น ดูแนวทางพิจารณาได้ตาม Link นี้ครับ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7455.0


๕. ขันติ คือ ความอดทน อดทนได้ทั้งสิ่งที่ชอบและชัง ด้วยจิตใจที่เป็นกุศล ไม่ใช่ฝืนทน นั่นคือ อาการของจิตที่รู้ว่าสิ่งนี้ ควรอด ควรละ ควรผ่อน ควรปล่อย ควรผ่านไป ควรหยุดไว้ก่อน ไม่ควรยึดมั่น ไม่ควรถือมั่น รู้ว่าควรอด-ควรละในการกระทำทาง กาย วาจาใดๆ รู้ว่าควรอดใจไว้ไม่ควรติดข้องใจใดๆในสิ่งนั้น ไม่มีการฝืนใจตนเองใดๆอันที่จะทำให้โทสะเกิดขึ้น สามารถอดทนกระทำเพื่อสิ่งที่เป็นผลที่ดีในวันข้างหน้าได้ อดทนเพียรพยายามกระทำในสิ่งที่ดีงาม ไม่ว่าจะเป็นการงาน คำด่า และ การกระทำที่ส่อเสียด ความทะยานอยากใคร่ได้ที่จะเสพย์ใดๆ ฯลฯ ด้วยสภาพจิตผ่องใส สงบ อบอุ่น เบาบาง ไม่ติดข้อง ต้องใจ ขุ่นมัว หมองมัว ทำด้วยความไม่ยึดมั่นฝืนใจทำของเรา เป็นต้น ซึ่งจะทำให้สืบต่อไปถึงอุเบกขาจิต (แรกๆหากยังวางในกลางๆไม่ได้อาจจะเป็นการฝืนทำ แต่หากถึงความเป็นกลางของใจไม่ยึดเกาะความพอใจยินดี ไม่พอใจยินดีได้แล้วการกระทำใดๆด้วยความเพียรพยายามอดทนก็จะไม่ฝืนทนอีก อาจจะมองว่ามันเป็นหน้าที่ที่ควรจะทำเป็นต้น)
- ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติอดทนต่อคำเสียดสีต่างๆ การกระทำไม่ดี อดทนต่อความเหนื่อยล้าทางกาย-ใจ


- ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติอดทนต่อคำเสียดสีต่างๆ การกระทำไม่ดี อดทนต่อความเหนื่อยล้าทางกาย-ใจ

๖. รู้จักหยุด รู้จักประมาณตน รู้จักพอ
การเจริญปฏิบัติในข้อนี้ต้องพึงปฏิบัติตามข้อที่ ๑-๕ ให้ได้ก่อน จะสามารถเข้าสู่สภาพจิตและการปฏิบัติในข้อนี้ได้ง่ายขึ้นโดยปราศจากการฝืนใจใดๆ เพราะข้อนี้จะใช้ความมี สติ ปัญญา สัมปชัญญะ สมาธิ ศีล พรหมวิหาร ๔ และ ขันติ รวมเข้าด้วย มีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้
๖.๑ รู้จักหยุด คือ รู้จักหยุดคิดก่อนที่จะลงมือทำอะไร ให้ใช้สติระลึกรู้พิจารณาก่อนจะลงมือทำอะไร ให้รู้แยกแยะถูก-ผิด แยกแยะดี-ชั่ว ให้พิจารณาถึง ผลดี-ผลเสีย ที่จะเกิดขึ้น หรือ ผลตอบกลับมาที่เราจะได้รับ ในสิ่งที่เรากำลังคิดที่จะ พูด หรือ ทำ ลงไป ก่อนที่เราจะกระทำสิ่งใดๆลงไป
๖.๒ รู้ประมาณตนเอง คือ ต้องมองย้อนดูตนเองว่าผิดพลาด บกพร่องตรงไหนบ้าง ไม่สำคัญตัวเองจนมากเกินไป เหมือนว่าตัวเองเหนือกว่าใคร เก่งกว่าใคร อยู่สูงกว่าใคร หรือ เป็นคนสำคัญในทุกอย่างกับทุกคน ให้พึงระลึกอยู่เนืองๆว่าไม่มีสิ่งใดคงอยู่กับเราตลอดไป ไม่มีสิ่งใดที่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอน ทุกสิ่งทุกอย่างมีความเสื่อมและสูญสลายดับไปเป็นธรรมดาไม่คงอยู่นานไม่ว่าจะด้วยการดูแลรักษาของเรา ก็ด้วยสภาพแวดล้อมใดๆ ก็เป็นกาลเวลา หรือ สภาพความรู้สึกปรุงแต่งความรู้สึกใดๆ รู้จักประมาณในกำลังของตนว่าเพียงพอที่จะทำสิ่งใดๆตามใจอยากได้หรือไม่ หากเมื่อทำตามที่ใจปารถนาแล้วจะเกิดผมดีหรือผลเสียอย่างไรตามมาในภายหลัง เมื่อพึงพิจารณาเห็นอย่างนี้แล้ว ก็ให้พิจารณาแก้ไขตนเองให้ดีขึ้น
๖.๓ รู้จักพอ คือ พอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่ใช่ได้คืบจะเอาศอก ได้แค่ไหนเอาแค่นั้น ไม่ละโมบโลภมาก อย่าอยากได้ต้องการไม่รู้หยุด ถ้าไม่รู้จักพอก็จะยิ่งสืบสานทะยานอยากไม่สิ้นสุด พอไม่ได้ตามปารถนานั้นก้อเป็นทุกข์ คิดว่าสิ่งที่ตนมีอยู่ก็มีค่ามากแล้วไม่ควรละเลย
- ตรงนี้จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้จักใช้สติ แยกแยะ ไต่ตรอง ตรึกนึก คำนึงถึง สิ่งที่ถูกที่ควรก่อนการลงมือกระทำการใดๆมากขึ้น

***แถมท้าย : ความทะยานอยาก ต้องการใคร่ได้ ปารถนาที่จะเสพย์ใน กาม ตัณหา สุรา ยาเสพย์ติดทั้งหลาย จนก่อให้เกิดการกระทำ เกิดความพอใจที่จะทำไปโดย ลืม หรือ ไม่ตระหนักถึงข้อดี-ข้อเสีย พลั้งเผลอไปทำในสิ่งไม่ดี ไม่ถูกต้อง คือ การกระทำที่เป็นไปเพื่อความต้องการ ยินดี ใคร่ได้ ทะยานอยากของตนเองจนไม่คิดคำนึงถึงผลกระทบที่จะเป็นการเบียดเบียนตนเอง คนอื่น สัตว์อื่น และ สิ่งอื่นทั้งหลายเหล่านั้นนั่นเอง(อกุศลกรรม) มันเกิดมาจากความดำริถึง คือ ความตรึกถึง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึง ปรุงแต่งเรื่องราวสมมติบัญญัติไปต่างๆนาๆ จนก่อให้เกิดความทะยานอยาก ใคร่ได้ ต้องการอย่างหนัก จนสติที่เป็นกุศลทานไว้ไม่ไหว หากเราตัดสภาพความคิดปรุงแต่งออก ก้อจะรู้สภาพความรู้สึกของใจจริงๆแค่ว่า มันรู้สึก คับแค้นใจ บีบใจ อัดอั้นใจ กรีดใจ หวีดใจ ใจปะทุ ใจสั่นเครือ ใจขุ่นมัว-หมองมัว ติดข้องต้องใจ ใจหวิว ใจแผ่ว ใจหดหู่ และ ลมหายใจถี่บ้าง เร็วบ้าง ช้าบ้าง ไม่เป็นปกติ จะรู้แค่สภาพเช่นนี้โดยไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร เมื่อมีสติระลึกรู้ไปมันก็จะดับไปเอง ยกตัวอย่างประโยคที่พระตถาคตกล่าวเอาไว้ว่า " กามตัณหาทั้งหลาย เกิดขึ้นจากความดำริถึงนั่นเอง เราจะไม่ดำริถึงเจ้าอีก เจ้าจะไม่เกิดขึ้นกับเราอีกแล้ว "

- สิ่งทั้งหลายเหล่านี้อาจจะแค่เบื้องต้นในการปฏิบัติเพื่อลดความทุกข์ให้เบาบางลง หากเราปฏิบัติได้ทั้ง 6 ข้อนี้ จิตเราย่อมมีความมีใจกลางๆต่อความพอใจไม่พอใจทั้งหลายทั้งสิ้นนี้แล

ดังความพิจารณาดังนี้

- ทุกข์นั้นเกิดขึ้นแก่จิตของเรา เพราะเรามีความติดข้องใจกับสิ่งใดๆ ที่รู้อารมณ์จาก หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ (อารมณ์ในทางธรรมะ หมายถึง สิ่งที่จิตรู้ สิ่งใดจิตรู้ สิ่งนั้นคืออารมณ์ เช่นตามองเห็น..ก็มีสีเป็นอารมณ์ หูได้ยิน..ก็มีเสียงเป็นอารมณ์) นั่นก็คือ รูป รส กลิ่น เสียง โผฐฐัพะ(การรู้กระทบสัมผัสทางกาย) ธัมมารมณ์(สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ ความปรุงแต่งสมมติบัญญัติต่างๆ เป็นต้น) ส่งต่อให้เราเสพย์เสวยเป็นอารมณ์ความรู้สึกของความ พอใจยินดี และ ไม่พอใจยินดี แล้วจำสำคัญมั่นหมายไว้ในใจว่า สิ่งนี้ สีแบบนี้ รูปร่างโครงสร้างแบบนี้ เสียงแบบนี้ สัมผัสแบบนี้ ความรู้สึกแบบนี้ เป็นต้น ที่เรามีความพอใจยินดี และ ไม่พอใจยินดี แล้วส่งผ่านให้จิตเรา มีธรรมชาติที่จดจำสำคัญมั่นหมายไว้ในใจ แล้วสืบต่อเป็นความ ตรึกถึง นึกถึง ตรองถึง คำนึงถึง เกิดประกอบกับความ รัก โลภ โกรธ หลง ส่งผ่านเป็น ความทะยาน อยากมี อยากเป็น อยากได้ ทะยานตามความใคร่ได้ที่จะเสพย์ในอารมณ์ความพอใจยินดีนั้นๆ ความไม่อยากมี ไม่อยากเป็น ไม่อยากได้ ทะยานอยากจะผลักหนีให้ไกลตน  จนเกิดเป็นตัวตน เป็นอุปาทาน สุดท้ายก็เกิดเป็นทุกข์จากความรู้สึกนึกคิดนั้นๆ

- ทางออกที่ประเสริฐ คือ สร้างกุศลให้เกิด ดำรงไว้ซึ่งในกุศล รักษากุศลไว้ไม่ให้เสื่อม มีศีล มีสมาธิ มีหรมวิหาร๔ มีทาน คิดดี พูดดี ทำดี ไม่กระทำทางกาย วาจา ใจ ที่เป็นไปเพื่อความเบียดเบียนทำร้ายผู้อื่น จนถึงซึ่งเห็นจริงในสัจธรรม รู้เห็นสภาพจริงๆที่เป็นปรมัตถธรรม เข้าสู่ความไม่ติดข้องใจกับสิ่งใดๆ เพราะติดข้องใจไปไม่วาจะเป็นสิ่งที่ตนเองพอใจยินดีหรือไม่พอใจยินดีมันต่างก็เป็นทุกข์ทั้งนั้น หาประโยชน์ใดๆที่จะเกิดแก่ตนและคนอื่นไม่ได้เลย เข้าสู่อุเบกขาจิต จนถึงแห่งอัพยกฤต


วิถีและแนวทางปฏิบัติเพื่อเข้าสู่กัมมัฏฐานเบื้องต้น ตามวิธีที่ผมปฏิบัติมาและได้ค้นพบมา ตามแนวทางที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว ที่เห็นผลได้ ให้ผลได้ ไม่จำกัดกาลสำหรับผม และ ผมหวังว่าจะเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย ดูได้ตาม Link นี้ครับ
http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=7416.0
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 12, 2013, 07:45:12 pm โดย Admax »
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ