ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ไหว้พระอิ่มใจ ไปตามกลิ่นกาสะลอง ที่ “เชียงใหม่”  (อ่าน 716 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28444
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


 :25: :25: :25:

ไหว้พระอิ่มใจ ไปตามกลิ่นกาสะลอง ที่ “เชียงใหม่”

ซุ้มประตูด้านหน้าวัดโลกโมฬี หนึ่งในสถานที่ถ่ายทำละครกลิ่นกาสะลอง

หนึ่งในฉากสำคัญของละคร ถ่ายทำที่วัดโลกโมฬี (ภาพ : ละครออนไลน์)

ช่วงหลังๆ มานี้ กระแสความนิยมการท่องเที่ยวตามรอยละครมีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งละครเรื่องไหนเป็นที่พูดถึงในวงกว้าง ใครๆ ก็อยากมาสัมผัสกับสถานที่ถ่ายทำจริง บ้างก็สร้างบรรยากาศด้วยการแต่งตัวให้เข้ากับเนื้อเรื่อง แล้วมาถ่ายรูปเก็บไว้เป็นที่ระลึก อย่างในช่วงต้นปีที่แล้ว ก็เกิดปรากฏการณ์บุพเพสันนิวาส ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในอยุธยาคึกคักขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงร้านให้เช่าชุดไทยก็ขายดิบขายดีไม่น้อย

มาถึงในช่วงนี้ ละครอีกหนึ่งเรื่องที่หลายคนพูดถึงกันก็คือ “กลิ่นกาสะลอง” ที่มีบรรยากาศของเชียงใหม่เป็นฉากหลัง โดยเฉพาะในยุคอดีตที่งดงามด้วยวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และการแต่งกาย หลายๆ ฉากก็ใช้สถานที่ในตัวเมืองเชียงใหม่เป็นจุดถ่ายทำ ซึ่งเราได้รวบรวมวัดงามๆ 4 วัด ในเมืองเชียงใหม่ ให้สามารถไปถ่ายรูปตามรอยกันได้


มหาวิหาร (พระเจดีย์เจ็ดยอด)

ด้านในมหาวิหาร วัดเจ็ดยอด

“วัดเจ็ดยอด” ปรากฏในฉากยุคปัจจุบันที่ตัวละครเดินทางไปเที่ยวเชียงใหม่ด้วยกัน และไปไหว้พระที่วัดเจ็ดยอด

วัดเจ็ดยอด หรือ วัดโพธารามมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแก่ที่สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช โดยโปรดฯ ให้สร้างพระอารามชื่อวัดโพธารามมหาวิหาร เพื่อเฉลิมฉลองพระพุทธศาสนา 2000 ปี โดยโปรดฯ ให้หมื่นด้ามพร้าคต นายช่างใหญ่แม่กองผู้คุมการก่อ สร้างพระเจดีย์หลวง ไปจำลองแบบมหาวิหาร และ สถานที่สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา 7 แห่งที่เรียก ว่า สัตตมหาสถานจากประเทศอินเดีย แล้วก่อสร้าง สัตตมหาสถาน ณ วัดโพธารามมหาวิหาร

และยังมีความสำคัญในด้านพระพุทธศาสนา โดยเป็นสถานที่กระทำสังคายนาพระไตรปิฎก ครั้งที่ 8 ของโลก เมื่อ พ.ศ. 2020 นอกจากนี้ยังเป็นสถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระเจ้าติโลกราชมหาราชผู้ยิ่งใหญ่อีกพระองค์หนึ่งของล้านนา


ภายในวัดเจ็ดยอด

พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช

เมื่อเข้ามาด้านในวัดจะเห็น “มหาวิหาร (พระเจดีย์เจ็ดยอด)” ซึ่งเป็น ที่มาของชื่อวัดเจ็ดยอด สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าติโลกราช รูปทรงและลักษณะโดยทั่วไปคล้ายมหาวิหารพุทธคยา ในประเทศอินเดีย มหาวิหารหลังนี้มีโครงสร้างก่อด้วยศิลาแลง ซึ่งแตกต่างไปจากพระเจดีย์และพระธาตุต่างๆ ในล้านนาและเมืองเชียงใหม่ ที่สร้างด้วยอิฐ มีลายปูนปั้นแบบนูนต่ำ และกึ่งลอยตัว เป็นรูปเทวดาในอิริยาบถ ยืนและนั่ง พนมมือคล้ายกระทำทักษิณาวัฏอยู่รอบผนังมหาวิหาร ถือได้ว่าเป็นงานศิลปกรรมขึ้นสำคัญยิ่งของเมืองเชียงใหม่

นอกจากนี้แล้วก็ยังมี สัตตมหาสถาน คือ สถานที่สำคัญเนื่องในพระพุทธประวัติ 7 แห่ง ได้แก่ ปฐมโพธิบัลลังก์ อนิมิสเจดีย์ รัตนฆรเจดีย์ มุจจลินทเจดีย์ รัตนจงกลมเจดีย์ อชปาลนิโครธเจดีย์ และ ราชาตนเจดีย์ รวมถึง “พระสถูปเจดีย์อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าติโลกราช” ซึ่ง พระยอดเชียง พระราชาธิบดีลำดับที่ 11 แห่งราชวงศ์มังราย เป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าติโลกราช โปรดให้สถาปนาขึ้นเป็นพระราชอนุสาวรีย์ที่ประดิษฐานพระอัฐิพระราชอัยการ คือ พระเจ้าสิริธรรมจักรพรรดิติลภ หรือสมเด็จพระเจ้าติโลกราช เมื่อ พ.ศ.2031


ภายในวัดโลกโมฬี

“วัดโลกโมฬี” ปรากฏในฉากงานยี่เป็งและงานวัดแบบล้านนา

วัดโลกโมฬี ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยใด แต่ได้ปรากฏชื่อวัดโลกโมฬีอยู่ในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ในยุคล้านนา สมัยพระเจ้ากือนาธรรมมิกราช ทรงโปรดอาราธนาให้คณะของพระอุทุมพรบุปผมหาสวามีเจ้า เมืองเมาะตะมะ จำนวน 10 รูป มาสืบทอดพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนา ซึ่งคณะสงฆ์เหล่านั้นได้จำพรรษาที่วัดโลกโมฬี อันเป็นสถานที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างเมือง


พระรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี

เจดีย์ขนาดใหญ่ภายในวัดโลกโมฬี

กระทั่งต่อมาในปีพ.ศ. 2070 พญาแก้ว ได้โปรดให้สร้างพระมหาเจดีย์และพระวิหารหลวง ในปีพ.ศ. 2088 ได้มีการบรรจุพระอัฐิของพระเมืองเกษเกล้า ทางด้านกำแพงทิศเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอำมาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภามหาเทวี ขึ้นครองราชในปี พ.ศ. 2088 – 2089 อันเป็นช่วงเวลาที่เหล่าขุนนางเรืองอำนาจทำให้เมืองเชียงใหม่อ่อนแอ เป็นเหตุให้สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตรย์อยุธยายกทัพมาตีเมืองเชียงใหม่ แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระนางจิรประภามหาเทวี ซึ่งมีความรักและความเป็นห่วงไพร่ฟ้าประชาชนของพระองค์ จึงทรงรักษาเอกราชของบ้านเมืองไว้ได้ โดยไม่เกิดความสูญเสียใดๆ แม้แต่น้อย พร้อมกับทูลเชิญพระไชยราชาธิราชเสด็จมาทำบุญที่วัดโลกโมฬี และยังพระราชทานทรัพย์สร้างกู่พระเมืองเกษเกล้าให้สมพระราชเกียรติ ด้วยเหตุนี้พระนางจิรประภามหาเทวี จึงได้รับการยกย่องให้เป็น “เทพเจ้าแห่งความรัก” ตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมา ซึ่งภายในวัดก็ยังมีพระรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี ประดิษฐานอยู่

สิ่งที่สำคัญภายในวัดคือ พระเจดีย์ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ ลดหลั่นกัน 3 ชั้น ถัดขึ้นมาเป็นฐานบัวคว่ำบัวหงายย่อเก็จ องค์เรือนธาตุทรงสี่เหลี่ยมย่อเก็จ มีซุ้มจระนำ 4 ด้าน ที่องค์ เรือนธาตุประดับด้วยรูปเทวดารูปปั้นกึ่งลอยตัวที่ย่อมุม ด้านละ 2 องค์ ถัดขึ้นไปเป็นชั้นบัวถลารองรับองค์ระฆังสิบสองเหลี่ยม พระเจดีย์และลวดลายปูนปั้นที่วัดโลกโมฬีนี้ จัดได้ว่าเป็นศิลปกรรมแบบล้านนาชิ้นเอก ชิ้นหนึ่งในเมืองเชียงใหม่

ซุ้มประตูแบบล้านนา

วิหารหลวงวัดโลกโมฬี

ด้านข้างของวิหารหลวง

พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ ภายในวิหารหลวง

ด้านหน้าวัดมีซุ้มประตูศิลปะล้านนา มีลวดลายปูนปั้นที่งดงาม หากมองเข้ามาด้านในจะเห็น “วิหารหลวง” เป็นวิหารไม้สักศิลปะแบบล้านนา ลักษณะงดงาม ประณีต มีลายแกะสลักอย่างสวยงาม ที่แปลกตาและเด่นมากก็คือตรงหน้าบันรูปจั่วได้ประดับกระจกสี ซึ่งทำให้เกิดสีสันหลากสีบนหลังคาวิหารที่มีพื้นโทนสีดำ ซึ่งพื้นดำนี้มีส่วนช่วยขับกระจกสีแดง ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง จนดูระยิบระยับ พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร มีเพดานและต้นเสาแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม พระพุทธรูปมีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี


พระเกษแก้วจุฬามณี

“วัดเกตการาม” ที่นี่เป็นสถานที่หลักที่ถูกกล่าวถึงในละครว่าเป็นถิ่นที่อยู่ของหมอทรัพย์ กาสะลอง และ ซ้องปีบ โดยในยุคอดีตนั้นเป็นย่านการค้าสำคัญ มีพ่อค้าชาวจีนอาศัยอยู่มาก เพราะเป็นจุดพำนักของชาวจีนที่ล่องเรือขึ้นมาค้าขายยังเชียงใหม่ สินค้ามีทั้งเสื้อผ้า แพรพรรณ และพืชผลทางการเกษตร

สำหรับวัดเกตการามในปัจจุบัน ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ฝั่งตรงข้ามกับตลาดวโรรส ภายในวัดมี “พระเกษแก้วจุฬามณี” ที่คนเกิดปีจอ นิยมไปทำบุญสักการะกันเพราะเป็นพระธาตุประจำปีจอ โดยมีความเชื่อว่า พระเกษแก้วจุฬามณี ประดิษฐานอยู่บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ที่อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เป็นเจดีย์ที่บรรจุเครื่องทรงและพระเมาฬีของเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งทรงสละทิ้งเมื่อคราวออกผนวช และยังเป็นที่เก็บรักษาพระเขี้ยวแก้วของพระพุทธองค์ หลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพอีกด้วย


อุโบสถวัดเกตการาม

ภายในพระวิหารวัดเกตการาม

เมื่อเจดีย์จุฬามณีเป็นเจดีย์ที่อยู่ไกลถึงสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ จึงมีการสมมติให้เจดีย์องค์หนึ่งในประเทศพม่า เป็นที่กราบไหว้แทน โดยมีตำนานเล่าว่าพระอินทร์เป็นผู้นำลงมาแขวนไว้ริมหน้าผาให้ผู้คนบูชา คนไทยจึงเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า “พระธาตุอินทร์แขวน” ดังนั้นพระธาตุเจดีย์เกษแก้วจุฬามณี แห่งวัดเกตการาม จึงถูกกำหนดให้เป็นองค์แทนเจดีย์จุฬามณีอีกองค์หนึ่ง ซึ่งนอกจากจะเป็นการสะดวกในการเดินทางมากราบไหว้แล้ว อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ชื่อของวัดเสียงเหมือนคำว่า “เกศ” แก้วจุฬามณี

สำหรับ “อุโบสถ” ของวัด ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม เพราะถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ อุโบสถหลังนี้จะเปิดใช้เฉพาะในงานพิธีอุปสมบทเท่านั้น และที่สำคัญห้ามสุภาพสตรีขึ้นไป แม้จะไม่ได้เข้าชมแต่ก็สามารถชมความงดงามของศิปกรรมที่ประดับอยู่ด้านหน้าได้ ส่วน “พระวิหาร”

มีประตูทางเข้าสามทาง หลังคาทรงจั่วเรียงซ้อนกัน 5 ชั้น ศิลปกรรมงดงามทั้งภายในและภายนอก


วัดต้นเกว๋น

วิหารวัดต้นเกว๋น

“วัดต้นเกว๋น” อีกหนึ่งสถานที่ถ่ายทำที่ถูกสมมติให้เป็นวัดเกตการามในอดีต มีฉากสำคัญหลายฉาก เช่น ฉากฟ้อนเจิง ฉากรำฟ้อน ฉากงานปีใหม่ เป็นต้น

วัดต้นเกว๋น หรือ วัดอินทราวาส เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญในอดีตเพราะเป็นที่พักขบวนพระบรมธาตุศรีจอมทอง จาก อ.จอมทอง มาที่เชียงใหม่ ในอดีตเป็นประเพณีที่เจ้าหลวงเมืองเชียงใหม่ มีการสรงน้ำพระธาตุ คือจากวัดพระธาตุจอมทองมาก็เดินทางมาด้วยขบวนช้าง ขบวนม้า แล้วแวะมาที่วัดต้นเกว๋น ให้ประชาชนแถวนี้สรงน้ำพระธาตุศรีจอมทอง หลังจากนั้นก็อัญเชิญไปที่วัดสวนดอก 3 วัน 7 วัน แล้วก็ขึ้นวัดพระธาตุดอยสุเทพ เป็นประจำทุกปี เป็นเรื่องของเจ้านายฝ่ายเหนือในอดีต

วัดต้นเกว๋นถือว่าเป็นวัดที่สมบูรณ์ที่สุด และเป็นวัดที่งามที่สุดในประเทศไทย ซึ่งได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น ของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพฯ เมื่อปี 2532 ซึ่งวัดต้นเกว๋นมีลักษณะสถาปัตยกรรมที่แสดงออกถึงแบบแผนทางศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมล้านนาที่งดงามและทรงคุณค่าเป็นอย่างยิ่ง โครงสร้างและองค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมของวัดจะใช้ไม้แกะสลัก โดยนายช่างที่มีความสามารถและชำนาญการแกะสลักในสมัยนั้น


พระประธานในวิหาร

มณฑปจัตุรมุข

ภายในวัดต้นเกว๋น มีสิ่งที่น่าสนใจ มี “วิหารวัดต้นเกว๋น” ที่สร้างตามแบบสถาปัตยกรรมแบบล้านนาโบราณที่มีความงดงามเป็นยิ่งนัก จนได้รับการนำไปเป็นต้นแบบของหอคำหลวงที่อุทยานหลวงราชพฤกษ์ วิหารหลังนี้มีความสวยงามด้านงานศิลปกรรมเป็นอย่างมาก หน้าบันวิหารประดับตกแต่งด้วยกระจกแก้วสีแบบฝาตาผ้าหรือฝาปะกน โก่งคิ้วจำหลักไม้ลายเครือเถาสอดสลับรูปเศียรนาค มีลายปูนปั้นรูปเทพนมและดอกไม้อยู่หัวเสา ด้านหน้าบันปีกนกแกะสลักเป็นเศียรนาคในลายเครือเถาผสมกนก ตีเป็นช่องตารางเพื่อระบายอากาศ ปั้นลมและหางหงส์แกะรูปมกรคายนาคอย่างงดงาม คันทวยหูช้างจำหลักไม้เป็นรูปกินนรฟ้อนรำ

ด้านในวิหารมีพระประธานประดิษฐานอยู่บนชุกชีเป็นลายรูปปั้นดอกกูด ฝาหนังด้านหลังพระประธานเป็นซุ้มและมีพระพิมพ์โลหะติดฝาผนัง ซึ่งหล่อเป็นองค์ๆ เอาติดฝาผนังเป็นรูปคล้ายซุ้ม พระพิมพ์มี 2 แบบคือ แบบใบโพธิ์ปางมารวิชัยขนาด 2x4 ซม. และแบบนาคปรก ขนาด 3x5 ซม. แล้วยังมีภาพจิตกรรมฝาผนังที่วาดด้วยสีน้ำทซึ่งหลงเหลืออยู่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น และด้านนอกวิหารยังมีศาลารายในเขตพุทธาวาส

มี “มณฑปจัตุรมุข” เป็นมณฑปจัตุรมุขแบบพื้นเมืองล้านนาซึ่งพบเพียงหลังเดียวเท่านั้นในภาคเหนือ ลักษณะเป็นศาลามีมุขยื่นออกมาทั้งสี่ด้าน ส่วนกลางของศาลามีจั่วซ้อนอยู่สองชั้น มุงด้วยกระเบื้องดินเผาที่เรียกว่ากระเบื้องดินขอ ส่วนช่อฟ้าของหลังคามีความพิเศษตรงที่ช่างโบราณจะออกแบบให้มีความโค้งงอซึ่งนกสามารถมาเกาะได้ และที่กลางสันหลังคามีซุ้มมณฑปเล็กๆ ซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า ปราสาทเฟื้อง ลักษณะเดียวกับที่พบในภาคอีสานและลาว


ตามรอยละครกลิ่นกาสะลองที่วัดต้นเกว๋น

นอกจาก 4 วัด ที่ชวนมาตามรอยละครกันแล้ว ในตัวเมืองเชียงใหม่ก็ยังมีวัดงามๆ ให้แวะเข้าไปไหว้พระกันอีกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น วัดพระสิงห์ วัดเจดีย์หลวง วัดเชียงมั่น เป็นต้น และเมื่อมาถึงเชียงใหม่แล้ว อย่าลืมขึ้นไปสักการะพระธาตุดอยสุเทพ อีกหนึ่งสัญลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ เพื่อความเป็นสิริมงคลกันด้วย



ขอบคุณ : https://mgronline.com/travel/detail/9620000065423
เผยแพร่ : 9 ก.ค. 2562 17:30 ,โดย : ผู้จัดการออนไลน์
Facebook :Travel @ Manager
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ