ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ธาตุกรรมฐาน : กำจัดตัวตนด้วยการพิจารณารูปขันธ์เป็นมหาภูตรูป 4  (อ่าน 653 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28439
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ธาตุกรรมฐาน : กำจัดตัวตนด้วยการพิจารณารูปขันธ์เป็น มหาภูตรูป 4


ธาตุกรรมฐาน เป็นหนึ่งใน 40 กรรมฐาน มีอีกชื่อว่า “จตุธาตุววัฏฐาน” เป็นกรรมฐานที่พิจารณาร่างกายตามคุณลักษณะของธาตุ 4 ร่างกายของมนุษย์อันเป็นที่อยู่ของจิต เกิดขึ้นจากการรวมตัวจนกลายเป็นรูปของธาตุ 4 จึงเรียกว่า “มหาภูตรูป” เพื่อให้เข้าใจกรรมฐานประเภทนี้ และมีปัญญาแจ่มแจ้งยิ่งขึ้น จึงขออัญเชิญธรรมบรรยายของสมเด็จพระญาณสังวร เรื่องธาตุกรรมฐาน ซึ่งพระองค์อธิบายไว้ดีแล้วว่า

    ”โดยปกติคนเราย่อมมีความยึดถือร่างกายอันนี้ว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เมื่อมาพิจารณาโดยความเป็นธาตุ คือแยกออกไปว่า ส่วนที่แข็งก็เป็นธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบก็เป็นธาตุน้ำ ส่วนที่อบอุ่นก็เป็นธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวก็เป็นธาตุลม และส่วนที่เป็นช่องว่างก็เป็นอากาสธาตุ เมื่อเป็นเช่นนี้ ตนหรือของตนที่ยึดถืออยู่นี้ ก็กลายเป็นธาตุ และถ้าลองพิจารณาแยกธาตุเหล่านี้ออกไปทีละอย่าง คือเมื่อพิจารณาดูส่วนที่แข็งอันเรียกว่าเป็นธาตุดิน แยกเอาธาตุดินออกไปเสียจากร่างกายอันนี้ ก็จะเหลืออยู่แต่ธาตุน้ำเป็นต้น เมื่อแยกเอาธาตุน้ำออกไปเสียอีก ก็จะเหลืออยู่แต่ธาตุไฟเป็นต้น เมื่อแยกเอาธาตุไฟออกเสีย ก็จะเหลือแต่ธาตุเป็นต้น เมื่อแยกเอาธาตุลมออกไปเสียอีก ก็จะเหลือแต่ช่องว่างไปทั้งหมด”

@@@@@@

จากการอธิบายลักษณะของมหาภูตรูป (ร่างกายมนุษย์) แล้ว ทำให้เห็นว่าร่างกายของมนุษย์มีลักษณะของธาตุ 4 เช่น จุดที่แข็งเป็นธาตุดิน ได้แก่ ผิวหนัง กระดูก ฟัน จุดที่อาบเอิบเป็นธาตุน้ำ ได้แก่ เลือด น้ำไหล หนอง จุดที่อบอุ่นเป็นธาตุไฟ เช่น ใช้มือสัมผัสไปที่ท้องแล้วมีความรู้สึกอุ่น แสดงให้เห็นถึงระบบเผาพลาญกำลังย่อยอาหารอยู่ จุดที่พัดไหวคือธาตุลม ได้แก่ ลมหายใจ การแยกรูปเป็นธาตุ 4 แบบนี้ช่วยให้เราสามารถลดอัตตา หรือเข้าใจเรื่องความว่าง (สุญญตา) ได้อย่างไร สมเด็จพระญาณสังวร อธิบายว่า

     “การพิจารณาโดยความเป็นธาตุนี้ จะพิจารณาตามที่ท่านแสดงไว้ดังกล่าวมานี้ก็ได้ หรือจะพิจารณาโดยวิธีอื่นวิทยาในบัดนี้ได้กล่าวไว้อย่างละเอียด จนถึงเป็นอณูหรือปรมาณูก็ได้ เมื่อพิจารณาดูดังนี้และแยกเอาธาตุออกไปเสียทีละอย่าง ๆ ในที่สุดสิ่งที่สมมติที่ยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรานี้จะกลายเป็นอากาสธาตุ คือเป็นช่วงว่างไปทั้งหมด ไม่มีเราไม่มีของเรา ไม่มีตัวตนของเรา การพิจารณาธาตุกรรมฐานแยกร่างกายออกโดยความเป็นธาตุดังกล่าวมานี้ จึงเป็นอุบายที่จะระงับความยึดถือว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวตนของเรา และแม้ในภายนอกคือบุคคลอื่น สิ่งอื่น ก็คงมีลักษณะเช่นเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ทำให้ไม่ยึดถือในบุคคลอื่นสิ่งอื่น ว่าเป็นตัวเป็นตน ทำให้เกิดความปล่อยวาง ทำจิตให้เกิดความสงบตั้งมั่น

    นี้ก็เป็นวิธีหนึ่งในฝ่ายสมถะ แต่ว่าสติที่พิจารณาไปในกายดังที่กล่าวมาแล้วในคราวก่อนก็ดี การพิจารณาแยกธาตุดังกล่าวมาแล้วในคราวก่อนก็ดี การพิจารณาแยกธาตุดังที่กล่าวในบัดนี้ก็ดี เป็นฝ่ายสมถะคือทำใจให้สงบตั้งมั่นด้วย เจือวิปัสสนา คือความรู้แจ้งเห็นจริงด้วย แต่มุ่งให้เกิดความรู้แจ้งขึ้น โดยไม่ได้แกล้งจะให้เห็น เพราะว่าเมื่อพิจารณาเห็นโดยความเป็นธาตุปรากฏขึ้นอย่างแจ่มแจ้งแล้ว ก็จะเห็นสักว่าเป็นธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวเราเขา ทำให้จิตใจที่เคยหมกมุ่นอยู่ ที่เคยเป็นทุกข์อยู่ในความเป็นตน ในความเป็นของตน ตลอดจนถึงในภายนอกพลอยสงบไปด้วย จึงเป็นเหตุให้ได้ความสงบใจ ความเย็นใจ”


@@@@@@

นอกจากเป็นกรรมฐานที่ทำให้สามารถละตัวตนของเราลงได้ เพราะได้สลายรูปคืนสู่ธาตุ 4 เราสามารถนำวิธีนี้ไปพิจารณาสิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้อีกด้วย ทำให้เราปลงและเข้าใจในเรื่องของการพลัดพราก ตัวอย่าง เช่น เมื่อคนรักตายจากก็ไม่ทุกข์ เพราะสิ่งที่ตายคือธาตุ 4 ต่างหาก เมื่อเราพิจารณากรรมฐานประเภทนี้บ่อยครั้ง รูปขันธ์ย่อมสลาย กิเลสก็เบาบางลง เพราะเกิดปัญญา (วิชชา) รู้และเข้าใจในสรรพสิ่งว่าล้วนเป็นอนัตตา  (ไม่มีตัวตน)



ที่มา : แนวปฏิบัติในสติปัฏฐาน โดย สมเด็จพระญาณสังวร
เรียบเรียงและอธิบายโดย : กองบรรณาธิการซีเคร็ตออนไลน์
ภาพ : https://pixabay.com
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/162977.html
By nintara1991 ,8 July 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ