ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์  (อ่าน 515 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28435
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์

หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร หรือพระครูนิวาสธรรมขันธ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพ เกิดเมื่อวันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2403 ที่จังหวัดนครสวรรค์ อุปสมบทเป็นพระภิกษุในปี พ.ศ. 2423 ตามประเพณีเมื่ออายุ 20 ปี ณ พัทธสีมาวัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีหลวงพ่อแก้ว วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์) วัดมะปรางเหลือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเล เป็นพระอนุสาวนาจารย์ มีนามฉายาว่า พุทฺธสโร มีความหมายว่า ผู้มีพระพุทธเจ้าเป็นศรชัยแห่งชัยชนะ

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงพ่อเดิมได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดหนองโพ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ท่านศึกษาวิชาจากทั้งพระและฆราวาสมากมาย เช่น หลวงพ่อแก้ว หลวงตาชม หลวงพ่อมี ฯลฯ ได้รับการยกย่องเป็น “เทพเจ้าแห่งเมืองสี่แคว” เพราะเป็นทั้งพระนักพัฒนาและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวบ้าน

ท่านมีความเพียรสูง เป็นอยู่เรียบง่าย สมถะ ไม่ปรารถนาลาภยศสักการะ มีเมตตาสูง อารมณ์ดี เทศนาน่าฟัง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เชี่ยวชาญทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ทั้งสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคมต่าง ๆ

@@@@@@

หลวงพ่อเดิมท่านเทศน์เก่ง สามารถแยกแยะข้อธรรมให้ฟังเข้าใจง่าย จึงมีผู้นิมนต์หลวงพ่อไปเทศน์อยู่เสมอ  หลวงพ่อเป็นนักเทศน์อยู่หลายปีก็เลิก ท่านบอกว่า มัวแต่ไปเที่ยวสอนคนอื่น และเอาสตางค์เขาด้วย ส่วนตัวเองไม่สอน ต่อไปนี้ต้องสอนตัวเองเสียที

เมื่อเลิกเป็นพระนักเทศน์ ท่านได้ไปเรียนกรรมฐานกับ หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว  หลวงพ่อเดิมปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานอย่างจริงจัง  ตั้งกายตรง ตั้งสติกำหนดไว้เฉพาะหน้า  หลวงพ่อนั่งตัวตรงเสมอจนอายุเก้าสิบเศษ ก็ยังนั่งตัวตรง

นอกเหนือจากเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแล้ว หลวงพ่อเดิมยังทำวิชาขลังจนเป็นที่เลื่องลือ ในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา มีประชาชนหลั่งไหลกันไปกราบหลวงพ่อเดิม ขอให้ท่านรดน้ำมนต์ เป่าหัว ขอของขลัง ขอวิชาอาคม ฯลฯ  หลายคนนำผ้าขาว ผ้าแดง กว้างยาวประมาณ 12 นิ้ว เอาน้ำหมึกทาฝ่าเท้าหลวงพ่อ แล้วยกฝ่าเท้าของท่านกดลงไปให้รอยเท้าติดบนผืนผ้า แล้วเอาผ้านั้นไปเป็นผ้าประเจียดสำหรับคุ้มครองป้องกันตัว


@@@@@@

เวลามีงานที่วัดไม่ว่าจะเป็นวัดหนองโพหรือวัดอื่นที่นิมนต์หลวงพ่อเดิมไปเป็นประธานของงาน จะมีผู้คนมาขอแป้ง น้ำมนต์ น้ำมันมนต์ และของขลังต่าง ๆ ล้นหลาม บางครั้งท่านเหนื่อยมาก แต่ก็สงเคราะห์ให้ด้วยเมตตา ท่านยิ้มแย้มแจ่มใส ไม่แสดงอาการเบื่อหน่ายระอิดระอา

วัตถุสิ่งของหรือเงินทองที่มีผู้ถวายหลวงพ่อเนื่องในกิจนิมนต์หรือถวายด้วยความศรัทธาเลื่อมใสในตัวท่าน ท่านนำไปทำสาธารณประโยชน์ ใช้เป็นทุนในการก่อสร้างถาวรวัตถุในพระพุทธศาสนาและสถานศึกษาเล่าเรียนจนหมด  หลวงพ่อสร้างโรงเรียนขึ้นในวัด หาครูมาสอนและเป็นผู้จัดหาเงินเดือนค่าสอนให้แก่ครูเอง และยังจัดการศึกษาด้านศิลปะ สอนดนตรีปี่พาทย์ ฝึกหัดยี่เก ฝึกรำ ฯลฯ  วัดหนองโพซึ่งเคยเสื่อมโทรมลงตั้งแต่หลวงพ่อเฒ่าเจ้าอาวาสรูปแรกล่วงลับไป ก็กลับมาเป็นสำนักศึกษาศิลปวิทยาการที่สำคัญขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยเหตุนี้หลวงพ่อเดิมจึงเปรียบเสมือนร่มโพธิ์ร่มไทร เป็นที่พึ่งพาอาศัยของผู้คนทุกชั้นวรรณะ

อย่างไรก็ตาม จากการตรากตรำทำงานสาธารณประโยชน์มานานหลายสิบปี ในช่วงสิบกว่าปีก่อนมรณภาพ หลวงพ่อเดิมก็อาพาธด้วยโรคลมและโรคชรา ร่างกายของหลวงพ่อทรุดโทรมจนเดินไม่ไหว ต้องมีคนพยุงให้ลุกนั่ง เวลาเดินทางไปไหนก็ต้องขึ้นคานหามหรือขึ้นเกวียนไป แต่ก็ยังมีผู้เลื่อมใสศรัทธามานิมนต์หลวงพ่อไปงานบุญงานกุศลอยู่เสมอ ในที่สุดหลวงพ่อเดิมก็มรณภาพในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 เมื่ออายุ 91 ปี ณ วัดหนองโพ จังหวัดนครสวรรค์


หลวงพ่อเดิม พุทฺธสโร

เรื่องเล่า “คาถาน่ะไม่ขลังหรอก”

หลวงพ่อจรัญเล่าให้ฟังว่า มีลูกศิษย์จำนวนมากมาให้หลวงพ่อเดิม พุทธสโร เป่ากระหม่อม ท่านก็ว่าแค่ “เพี้ยง ดี” หลวงพ่อจรัญนึกสงสัย เพราะหลวงพ่อเดิมสอนคาถาให้ท่านไปท่องตั้งมากมาย แต่เป่ากระหม่อมให้คนอื่นไม่เห็นท่องคาถาอะไร

หลวงพ่อเดิมให้คำตอบที่กระจ่างว่า “คาถาน่ะไม่ขลังหรอก เขาเอาไว้ท่อง เอาไว้เป็นองค์ภาวนาเพื่อให้จิตเป็นหนึ่งต่างหาก เหมือนเราจะเดินข้ามแม่น้ำที่ไหลเชี่ยว เปรียบเหมือนกำลังจิตที่ไม่เป็นระเบียบ ไม่เป็นอำนาจอันมหาศาล ต้องอาศัยการภาวนาคาถาเพื่อให้จิตเป็นหนึ่ง ใช้คาถานั่นแหละเป็นองค์ภาวนาต่างสะพานข้ามฟากไป

“พอจิตข้ามฟากไปถึงจุดหมายปลายทาง คือเป็นหนึ่ง เป็นพลังมหาศาลแล้วก็รื้อสะพาน คือคาถาที่ภาวนาทิ้งไป จิตเป็นหนึ่ง เป็นพลังมหาศาล แล้วเขาเรียกว่าจิตตานุภาพ ฉันจึงไม่ต้องท่องคาถา แต่ใช้เจริญจิตให้เป็นหนึ่งแล้วเป่าลมปราณ อธิษฐานให้เขาสมหวังว่า เพี้ยง ดี เพี้ยง ดี เข้าใจหรือยังล่ะ ไปท่องต่อไป ท่องให้จิตมันข้ามฟากให้ได้”


@@@@@@

คำสอน

คุณฟังฉันให้ดี ๆ นะ คนที่มาวัดนั้นร้อยละแปดสิบเป็นพวกคนโง่ จ้องจะมาเอาแต่ของขลัง เพราะเขายังห่างธรรมะ
ร้อยละยี่สิบเข้ามาหาธรรมะ มาสนทนาธรรมกับฉัน มีเพียงไม่กี่คนที่ถามฉันเหมือนที่คุณถาม ฉันก็จะบอกกับเขาว่า เอารอยเท้าฉันไปนะ ฉันเป็นอุปัชฌาย์ของเธอ ฉันเป็นพระที่เธอนับถือ ฉันไม่เก่งอะไรหรอก แต่ฉันสร้างความดีเธอจงเอารอยเท้าฉันไปดูให้ติดตา แล้วทำความดีตามรอยเท้าฉัน แล้วจะประสบความสุขความเจริญทั่วหน้า


 

ที่มา : ๑๐๐ พระสงฆ์ ๑๐๐ เรื่องเล่า ๑๐๐ คำสอน สำนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ,
thaprajan.blogspot.com, dharma-gateway.com
ภาพ : กูเกิ้ล
Secret Magazine (Thailand) ,IG @Secretmagazine
ขอบ่คุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/164096.html
By ying ,12 July 2019
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ