ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมแนนเดอร์-พระยามิลินท์ ราชากรีกโบราณ สู่การยอมรับพุทธ-บั้นปลายสละราชสมบัติ  (อ่าน 356 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เมแนนเดอร์ วาดตามภาพต้นแบบ โดย ม. วรพินิต


เมแนนเดอร์-พระยามิลินท์ ราชากรีกโบราณ สู่การยอมรับพุทธ-บั้นปลายสละราชสมบัติ

เราคุ้นเคยกับชื่อพระยามิลินท์ เพราะมีบทสนทนาปัญหาธรรมกับพระนาคเสน พระภิกษุรูปหนึ่งในพระพุทธศาสนา จากหนังสือเรื่องมิลินทปัญหา (Milinda Panha) ส่วนตัวพระยามิลินท์นั้น เขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า Menander สำหรับพระนาคเสนนั้น เขียนว่า Nagasena

อันนามว่า Menander นี้หมายถึงชื่อบุคคล ๓ บุคคลคือ

๑. ชื่อผู้เขียนบทละครชาวกรีกช่วงศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสตกาล
๒. ชื่อนายพลคนสนิทของพระราชาอเล็กซานเดอร์มหาราชแห่งมาซิโดเนีย ประเทศกรีซโบราณ ในศตวรรษที่ ๓ ก่อนคริสตกาล เคยครองแคว้นลิเดีย (Lydia) ในช่วงที่อเล็กซานเดอร์มหาราชเข้ายึดแคว้นไทร์ (Tyre) ปัจจุบันคือประเทศเลบานอน เมื่อปี ๓๓๑ ก่อนคริสตกาล
๓. ชื่อพระราชากรีกโบราณอีกองค์หนึ่ง เป็นผู้บุกมาครอบครองบางแคว้นถึงชมพูทวีป (อินเดีย) หลังจากอเล็กซานเดอร์มหาราชราว ๑๐๐ ปีเศษ

พระราชาเมแนนเดอร์พระองค์นี้เรียกอีกพระนามหนึ่งเป็นภาษาบาลี-สันสกฤตว่ามิลินดา (Milinda) รู้กันในภาษาไทยว่าพระยามิลินท์ บทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะพระองค์เท่านั้น

เมแนนเดอร์เป็นพระราชากรีกโบราณที่มีพระปรีชาสามารถดุจเดียวกับอเล็กซานเดอร์มหาราช และบางคนว่ายิ่งใหญ่กว่าด้วยซ้ำในแง่การขยายอาณาจักร อเล็กซานเดอร์มหาราชนั้นยึดครองได้แค่บางเมืองในภาคตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย แต่เมแนนเดอร์ขยายอาณาจักรมาถึงภาคตะวันออกเฉียงเหนือแถบแคว้นเบงกอล คือเมืองปาฏลีบุตร (ใกล้ๆ เมืองเวสาลี แคว้นวิเทหะ)

@@@@@@@

เมแนนเดอร์ทรงเป็นพระราชาแห่งแคว้นแบคเตรีย โดยมีเชื้อสายของพระราชาพอลโลโดรัส แห่งเมืองอาร์เตมิสตาผู้ครองแคว้นนั้นมานาน

เมแนนเดอร์ สถาปนาเมืองสากล (Sagala) เป็นเมืองหลวงและได้เข้าครอบครองแคว้นต่างๆ ทางทิศเหนือของอินเดีย ปากีสถานหลายแคว้น เช่น มถุรา ปัญชารา คันธารา และสาเกต จนกระทั่งไกลไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ถึงเมืองปาฏลีบุตร (เมืองปัตนะในปัจจุบัน)

(เล่ากันมาก่อนว่าพระแก้วมรกต The Emerald Buddha เป็นพระพุทธรูปสร้างขึ้นที่เมืองนี้ ฝีมือสกุลช่างชาวเมืองปัตนะ แต่อีกกระแสหนึ่งกล่าวว่าผู้สร้างเป็นสกุลช่างเชียงแสน)

หลักฐานที่บ่งบอกความยิ่งใหญ่ของเมแนนเดอร์มีหลายอย่าง โดยเฉพาะเหรียญที่ระลึกพิมพ์แบบต่างๆ พระพุทธรูปปางคันธารราฐ กับบันทึกการโต้ตอบปัญหาธรรมของเมแนนเดอร์กับพระภิกษุนาคเสนที่รู้จักกันดีว่า มิลินทปัญหา

กล่าวสำหรับเหรียญที่ระลึกแบบต่างๆ นั้น ที่รู้จักกันแพร่หลายก็คือ เหรียญโลหะพิมพ์พระพักตร์ด้านข้าง แลเห็นพระพาหาเพียงเล็กน้อย มีอักษรโดยรอบด้านบนและด้านล่างว่า พระราชาผู้เป็นองค์อุปถัมภ์ (Savior King Menander)

มีเหรียญที่ระลึกอีกบางชนิดพิมพ์พระพักตร์ด้านข้างลงมาถึงครึ่งพระองค์ทรงพระแสง ส่วนเหรียญอีกด้านหนึ่งเป็นรูปเทวีอธีนา เทวีแห่งกรีก-โรมัน ผู้ชำนาญการสงคราม ในบางเหรียญทรงศาสตราวุธสายฟ้า แต่บางเหรียญทรงถือปาล์มแห่งชัยชนะแทน เหรียญที่ระลึกที่น่าสนใจอีกแบบหนึ่งพิมพ์เป็นตราพระธรรมจักร (Buddhist Wheel) กับที่พิมพ์เป็นรูปสิงห์หรือสิงโต แบบที่ยืนอยู่บนยอดเสาศิลาของพระเจ้าอโศกมหาราช


พระพุทธรูปคันธารราฐ โดย ม. วรพินิต

ส่วนเรื่องพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์ทางพุทธศาสนานั้นคือพระพุทธรูปปางคันธารราฐ สร้างขึ้นเป็นครั้งแรกโดยสกุลช่างชาวกรีกโบราณ และเป็นต้นแบบของการสร้างพระพุทธรูปในยุคต่อๆ มา โดยมีหลักการสร้างว่า ต้องถูกต้องสอดคล้องกับพุทธลักษณะ ดูสง่างามชวนให้เกิดความเคารพ

พระพุทธรูปปางคันธารราฐนี้ มีลักษณะคล้ายคนจริง เด่นมากตรงจีวรเป็นกลีบซ้อนรอบพับผ้าดูงดงาม ช่างผู้ปั้นพระพุทธรูปปางคันธารราฐนี้น่าจะเป็นเหล่าปฏิมากร หรือศิลปินต่างๆ ที่ทรงนำมาพร้อมกับกองทัพตามแบบของอเล็กซานเดอร์มหาราชนั่นเอง

สำหรับมิลินทปัญหาหรือปัญหาพระยามิลินท์นั้น (ฉบับภาษาไทยของนายยิ้ม ปัณฑยางกูร ตีพิมพ์เฉพาะตัวปัญหาโต้ตอบระหว่างพระยามิลินท์กับพระนาคเสนเท่านั้น เรียบเรียงดี ใช้ภาษาดีชวนอ่าน) เป็นปัญหาเรื่องของหลักธรรมที่เมแนนเดอร์ขัดข้องพระทัยหาใครตอบให้ชัดเจนครบถ้วนไม่ได้ จนกระทั่งทรงพบพระนาคเสนที่สามารถตอบได้ชัดเจนและนี่น่าจะเป็นเหตุสำคัญที่ทรงยอมรับนับถือพระพุทธศาสนาและให้การอุปถัมภ์เป็นอันมาก ขณะที่ทรงถกปัญหาธรรมนี้ มีทหารราชองครักษ์แวดล้อมอยู่ถึง ๕๐๐ นาย กับนายพลคนสนิทอีก ๒ นาย ชื่อ เดมิตริอุส และแอนติโอชูส

ที่จริงทรงเป็นพระราชาที่ฉลาดเฉลียวรอบรู้สรรพวิชาการหลายสาขา เช่น วิทยาศาสตร์ ไสยศาสตร์ ประเพณี และกฎหมาย รวมทั้งเวชศาสตร์ คณิตศาสตร์ พระเวท ดาราศาสตร์ ยุทธศาสตร์ กับเจนจบในพระคัมภีร์-พระตำนาน (อิติหาสะ) ต่างๆ ซึ่งหาพระราชาองค์ใดในยุคสมัยเดียวกันเทียบได้ยากมากทั้งในความรอบรู้สรรพวิชาและความมั่งคั่งในทรัพย์สมบัติ

ในเบื้องปลายชีวิตของเมแนนเดอร์ ทรงสละราชสมบัติออกแสวงบุณย์แบบที่เรียกว่าสันยาสี คือแสวงหาโมกขธรรม สละบ้านเรือน (ราชสมบัติและความสุขสบายทั้งปวง) ออกไปอยู่ป่า ใช้เวลาที่เหลือตรวจสอบชีวิตที่ผ่านมา แสวงหาความสุขอยู่กับธรรมชาติและบ่มเพาะความเข้าใจเชิงปรัชญา เมื่อการปฏิบัติทางศาสนาสมบูรณ์แล้วก็ออกจากป่าท่องไปตามที่ต่างๆ โดยไม่มีสมบัติใดๆ มีชีวิตอยู่ด้วยอาหารที่ชาวบ้านให้ทาน

ราชสมบัตินั้นได้มอบให้พระราชินีเป็นผู้ดูแลก่อนที่พระราชโอรส สตรัทโต (Strato) เจริญพระชันษาพอที่จะสืบราชสมบัติต่อไปได้ เสด็จสวรรคตในแคมป์แห่งหนึ่งแบบผู้แสวงบุณย์ทั่วไป ที่แตกต่างกันก็คือมีการสร้างเหรียญและสถูปไว้เป็นที่ระลึกถึง




ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2553
ผู้เขียน : ส. สีมา
เผยแพร่ : วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรก : เมื่อ 9 ธันวาคม 2559
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_4699
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ