ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อ “ซิกมันด์ ฟรอยด์” บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์นอกใจภรรยา  (อ่าน 521 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0





ซิกมันด์ ฟรอยด์ และมาร์ธา เบอร์เนย์สภรรยา (ภาพจากหนังสือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิตการงานฯ, สำนักพิมพ์มติชน)


เมื่อ “ซิกมันด์ ฟรอยด์” บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์นอกใจภรรยา

หนังสือพิมพ์ The New York Times ฉบับวันที่ 1-7 มกราคม ค.ศ. 2007 ลงบทความชิ้นหนึ่งว่าด้วยเรื่องอื้อฉาวของซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าบุรุษผู้นี้ คือบิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์และวิธีจิตบำบัด และในแวดวงวิชาการคงไม่มีใครกังขาในความสามารถของเขา

แต่สำหรับชีวิตครอบครัวแล้ว ฟรอยด์ทำหน้าที่ได้สมบูรณ์แบบหรือไม่.?

หลายทศวรรษที่ผ่านมา มีคำถามหนึ่งเกี่ยวกับซิกมันด์ ฟรอยด์ นั่นก็คือ เขามีความสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับมินนา เบอร์เนย์ส (Minna Bernays) น้องสาวภรรยา จริงหรือ? ความสัมพันธ์ลับๆ ระหว่างฟรอยด์และน้องภรรยายังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิชาการบางคนถึงกับสันนิษฐานว่าเธอตั้งท้องกับฟรอยด์และทำแท้ง และพยายามหาหลักฐานมายืนยันข้อสันนิษฐานของตน ส่วนกลุ่มที่ชื่นชอบในตัวฟรอยด์ก็ออกมาโต้แย้งประเด็นนี้อย่างเผ็ดร้อน เนื่องจากภาพของฟรอยด์ในอุดมคติของเขาคือนักคิดผู้ยิ่งใหญ่ และเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบ

ฟรอยด์ตกหลุมรักมาร์ธา เบอร์เนย์ส (Martha Bernays) ภรรยาของเขา ในปี ค.ศ. 1882 หลังจากที่หมั้นหมายกันหลายปีเขาก็แต่งงานกับเธอในปี ค.ศ. 1886 ว่ากันว่า ฟรอยด์รักและเทิดทูนภรรยาของเขามากทีเดียว เขายอมแต่งงานกับเธอทั้งๆ ที่เขาสามารถแต่งงานกับหญิงสูงศักดิ์เพื่อยกฐานะทางเศรษฐกิจให้ดีขึ้นได้ แต่เขากลับเลือกมาร์ธา ที่แทบไม่มีสมบัติอะไรติดตัวมาสักชิ้น แล้วเพราะเหตุใดเขาถึงนอกใจภรรยา?


ฟรอยด์แต่งงานกับมาร์ธา เบอร์เนย์ส (ซ้าย) แต่ลงทะเบียนเข้าพักที่โรงแรมกับมินนา น้องภรรยา (ขวา)

ดร. ปีเตอร์ เกย์ (Peter Gay) ผู้เขียนชีวประวัติฟรอยด์กล่าวว่า ตอนที่ฟรอยด์เจอมาร์ธานั้น เขาก็ได้รู้จักกับน้องสาวของมาร์ธาด้วย ฟรอยด์กล่าวว่าเขาประทับใจเธอเพราะความ “เจ้าคารม” ซึ่งตอนนั้นมินนามีคู่หมั้นแล้ว แต่คู่หมั้นของเธอเสียชีวิตด้วยวัณโรคในปี ค.ศ. 1886 ปีเดียวกับที่ฟรอยด์แต่งงาน จากนั้นในปี ค.ศ. 1896 มินนาย้ายมาอยู่กับพี่สาวและพี่เขย ช่วยพวกเขาทำงานจิปาถะและดูแลเด็กๆ เธออยู่กับครอบครัวของฟรอยด์ถึง 42 ปี

จากความประทับใจและความใกล้ชิดอาจเป็นแรงผลักให้ฟรอยด์ดำดิ่งสู่ด้านมืดของแรงขับทางเพศ และนั่นก็แสดงว่า ฟรอยด์อาจมีความสัมพันธ์ลับๆ กับน้องภรรยาเป็นเวลาถึง 42 ปี โดยที่มาร์ธาไม่เคยระแคะระคาย

ดร. ฟรานซ์ มาซีจิวสกี้ (Franz Maciejewski) นักสังคมวิทยาชาวเยอรมัน ได้ค้นพบหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ยืนยันความสัมพันธ์ลับๆ ของทั้งคู่ หลักฐานชิ้นนั้นคือสมุดทะเบียนของโรงแรม

วันที่ 13 สิงหาคม ค.ศ. 1898 ฟรอยด์ซึ่งขณะนั้นอายุ 42 ปี และมินนา เบอร์เนย์ส อายุ 33 ปี เดินทางไปพักผ่อนที่เทือกเขาแอลป์ในสวิตเซอร์แลนด์ และเข้าพักที่ The Schweizerhaus โรงแรมเล็กๆ ในเมืองมาโลจา (Maloja) ทั้งสองเข้าพักห้องหมายเลข 11 และฟรอยด์เซ็นชื่อในสมุดลงทะเบียนเป็นภาษาเยอรมันว่า “Dr. Sigm Freud u frau” แปลว่า “ดร. ฟรอยด์ และภรรยา”


“ดร. ซิกมันด์ ฟรอยด์ และภรรยา” ลายเซ็นของฟรอยด์ในสมุดลงทะเบียน ของ The Schweizerhaus โรงแรมเล็กๆ ในเมืองมาโลจา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ แต่ที่จริงแล้วเขาเข้าพักพร้อมน้องภรรยา

วันเดียวกันกับที่ลงทะเบียนเข้าพัก ฟรอยด์ส่งไปรษณียบัตรถึงมาร์ธา บรรยายเรื่องธารน้ำแข็ง ภูเขา และทะเลสาบ ที่ทั้งสองคนเคยมาด้วยกัน ในไปรษณียบัตร เขาเล่าเรื่องที่พักว่า “ซอมซ่อ” แม้ว่าโรงแรมที่เขาพักนั้นขึ้นชื่อว่าหรูหราเป็นอันดับ 2 ของเมืองก็ตาม

คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) ลูกศิษย์ของฟรอยด์เล่าว่า มินนายอมรับเรื่องความสัมพันธ์ของเธอกับพี่เขย สิ่งนี้รบกวนจิตใจเธอตลอดเวลา และเธอยังรู้สึกละอายที่ทำเรื่องผิดประเวณีแบบนี้ด้วย

เมื่อจุงและฟรอยด์เดินทางไปอเมริกาในปี ค.ศ. 1909 ฟรอยด์ได้เล่าความลับเรื่องความฝันเกี่ยวกับมาร์ธาและมินนาให้จุงฟัง ฉับพลันฟรอยด์ก็ตัดบทและกล่าวว่า “ผมเล่ามากกว่านี้ก็ได้ แต่ไม่อยากเสียคนน่ะ”

แม้ว่าความสัมพันธ์อันผิดศีลธรรมของฟรอยด์จะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เป็นเพียงชีวิตส่วนตัวของเขา ซึ่งก็ไม่ได้สลักสำคัญเทียบเท่าองค์ความรู้อันยิ่งใหญ่ที่เขาทิ้งไว้ให้คนรุ่นหลังเลย แต่มันอาจเป็นเพียงข้อพิสูจน์ว่า บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ผู้นี้ ก็เป็นเพียงปุถุชนธรรมดาที่มี รัก โลภ โกรธ หลง เท่านั้นเอง


 

เอกสารอ้างอิง :-
- กิติกร มีทรัพย์. ซิกมันด์ ฟรอยด์ ประวัติชีวิต การงาน และฟรอยด์บำบัด. กรุงเทพ : มติชน , 2549.
- “Hotel Log hint at Freud’s Illicit Desire”. The New York Times. ฉบับวันที่ 1-7 มกราคม ค.ศ. 2007
ผู้เขียน : อารยา
เผยแพร่ : วันอาทิตย์ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ.2563
เผยแพร่ครั้งแรกในระบบออนไลน์ : เมื่อ 1 เมษายน พ.ศ.2562
ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_30204
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ