สนง.ส่งเสริมพระกรรมฐาน

กรรมฐาน มัชฌิมา => บันทึกความทรงจำ Memorytime => ข้อความที่เริ่มโดย: ปัญญสโก ภิกขุ ที่ มิถุนายน 09, 2016, 10:16:42 pm



หัวข้อ: ประวัติความเป็นมาจังหวัดสระบุรี ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์
เริ่มหัวข้อโดย: ปัญญสโก ภิกขุ ที่ มิถุนายน 09, 2016, 10:16:42 pm
ประวัติความเป็นมาจังหวัดสระบุรี
ลำดับพัฒนาการทางประวัติศาสตร์


นักประวัติศาสตร์ถือว่ายุคทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16) เป็นจุดเริ่มต้นของสมัยประวัติศาสตร์พื้นที่สระบุรีมีหลักฐานว่าอยู่ในยุคทวารวดีเช่นกัน เช่น ที่บ้านอู่ตะเภา ตำบลม่วงหวาน อำเภอหนองแซง จังหวัดสระบุรี สันนิษฐานว่าเคยเป็นเมืองเก่าครั้งทวารวดี ที่ถ้ำพระโพธิสัตว์ อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี พบภาพสลักนูนต่ำที่ผนังถ้ำเป็นลักษณะศิลปกรรมยุคทวารวดี ศรีศักร วัลลิโภดม สันนิษฐานว่า
น่าจะเป็นที่จำศีลภาวนาของนักบวชและฤาษี ภายในถ้ำโอ่โถงพอสมควรพอเป็นที่พักพำนักได้ ถึงแม้ว่าจะอยู่ในระดับที่สูงแต่ก็ไม่มีอะไรที่ลำบากแก่การดำรงชีวิตอันเนื่องมาจากบริเวณที่ตีนเขา ตรงหน้าถ้ำนั้นมีธารน้ำตก เหมาะกับการตั้งหลักแหล่งพำนักอาศัยของบรรดานักบวช หรือไม่ก็ชุมชน และผู้คนที่อยู่ในที่สูงป่าเขา อาศัยผลผลิตของป่าในบริเวณนั้นหาเลี้ยงชีพอีกแห่งหนึ่งคือ ที่ถ้ำเขาวง (ถ้ำนารายณ์) หมู่ 4ตำบลเขาวง อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรีมีจารึกที่ผนังถ้ำด้วยอักษรปัลลวะ ถ้อยคำที่จารึกเป็นภาษามอญโบราณ ข้อความนี้จารึกราวพุทธศตวรรษที่ 12อยู่ในสมัยทวราวดี

ปิแอร์ ดูปองท์ นักโบราณคดีชาวฝรั่งเศสสันนิษฐานว่า ผู้คนในยุคทวารวดีเป็นคนมอญที่อพยพมาอยู่ถิ่นนี้เมื่อพุทธศตวรรษที่ 15 เพราะภาษาที่จารึกในยุคนี้เป็นภาษามอญทุกที่

ราวพุทธศตวรรษที่ 17อาณาจักรทวารดีได้เสื่อมลง เนื่องจากขอมเข้ามาแผ่อิทธิพลปกครองในถิ่นนี้ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องตำนานเมืองสระบุรี ว่า
ท้องถิ่นอันเป็นเขตจังหวัดสระบุรีนี้แต่โบราณครั้งเมื่อขอมยังเป็นใหญ่ในประเทศนี้อยู่ ในทางหลวงสายหนึ่งซึ่งขอมไปมาติดต่อกับราชธานีที่นครหลวง (ซึ่งเรียกในภาษาขอมว่านครธม) ยังมีเทวสถาน ซึ่งพวกขอมสร้างเป็นปรางค์หินไว้ตามที่ได้ตั้งเมืองปรากฏเป็นระยะ คือ ในเขตจังหวัดปราจีนบุรีที่อำเภอวัฒนานครแห่งหนึ่ง ที่ดงมหาโพธิ์แห่งหนึ่ง ต่อมาถึงเขตจังหวัดนครนายกมีที่ดงนครแห่งหนึ่ง แล้วมามีที่บางโขมดทางขึ้นพระพุทธบาทอีกแห่งหนึ่ง ต่อไปก็ถึงเมืองลพบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงมณฑลละโว้ที่พวกขอมปกครอง แต่ในที่ใกล้ลำน้ำป่าสักซึ่งตั้งเมืองสระบุรีหาปรากฏสิ่งสำคัญครั้งขอมอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ เพราะฉะนั้นเมืองสระบุรีเห็นจะเป็นเมืองต่อเมืองไทยได้ประเทศนี้จากพวกขอมแล้ว

เมืองสระบุรีเริ่มปรากฏชื่อในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนกลางด้วยมีคำว่า เมืองสระบุรี ปรากฏในพงศาวดารครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระมหินทราธิราชคราวที่พระเจ้าหงสาวดียกทัพมาล้อมกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระมหินทราธิราชทรงมีพระราชสาส์นถึงพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งนครเวียงจันทน์ให้นำทัพมาช่วยไทย แต่ทัพลาวถูกทหารพม่าซุ่มตีที่เมืองสระบุรี ทัพลาวแตกกลับเวียงจันทน์ เหตุการณ์นี้เกิดเมื่อ พ.ศ. 2112

แสดงว่าเมืองสระบุรีต้องตั้งมาก่อน พ.ศ. 2112 แต่จะก่อตั้งเมื่อใดไม่มีหลักฐานเอกสารอ้างอิง สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานการตั้งเมืองสระบุรีไว้ดังนี้
เมื่อในแผ่นดินสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระราชบิดาของสมเด็จพระมหินทราธิราชนั้น พระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อ พ.ศ. 2091ในสมัยนั้นมีป้อมปราการเป็นเขื่อนขัณฑ์กันราชธานีอยู่ทั้ง 4ทิศ คือ เมืองสุพรรณบุรี อยู่ทางทิศตะวันตก เมืองลพบุรี อยู่ทางทิศเหนือ เมืองนครนายก อยู่ทางทิศตะวันออก และเมืองพระประแดง (ภายหลังเปลี่ยนไปเป็นเมืองธนบุรี) อยู่ทางทิศใต้ กองทัพพระเจ้าหงสาวดียกเข้าทางด่านพระเจดีย์ 3องค์ ข้างทิศตะวันตก กองทัพไทยจึงไปต่อสู้ที่เมืองสุพรรณบุรี รับข้าศึกไม่อยู่ต้องถอยกลับมาเอาพระนครศรีอยุธยาเป็นที่มั่นจึงได้ชัยชนะ เป็นเหตุให้เห็นว่าเมืองที่ตั้งขึ้นเป็นเขื่อนขัณฑ์กันพระนครนั้นหาเป็นประโยชน์ดังคาดมาแต่ก่อนไม่ที่สร้างป้อมปราการไว้ถ้าข้าศึกยึดเอาเป็นที่มั่นสำหรับทำการสงครามแรมปี ตีพระนคร ก็จะกลับเป็นประโยชน์แก่ข้าศึกจึงให้รื้อป้อมปราการเมืองสุพรรณบุรี เมืองลพบุรี และเมืองนครนายกเสียทั้ง 3 เมือง คงไว้แต่ที่เมืองพระประแดงซึ่งรักษาทางปากน้ำอีกประการหนึ่งเห็นว่าที่รวบรวมผู้คนในเวลาเกณฑ์ทัพยังมีน้อยนักจึงให้ตั้งตัวเมืองเพิ่มเติมขึ้นอีกหลายเมืองสำหรับเป็นที่รวบรวมผู้คนเพื่อจะได้เรียกระดมรักษาพระนครได้ทันท่วงทีในเวลาการสงครามมีมาอีก เมืองที่ตั้งใหม่ครั้งนั้นระบุชื่อไว้ในพระราชพงศาวดารแต่ทางทิศใต้กับทางทิศตะวันตกคือเมืองนนทบุรี เมืองสาครบุรี (สมุทรสาคร) และเมืองนครไชยศรี แต่ทางทิศอื่นหาได้กล่าวถึงไม่ เมืองสระบุรี (แลเมืองฉะเชิงเทรา) เห็นจะตั้งในครั้งนี้นั่นเอง คือตั้งราว พ.ศ. 2092ก่อนที่จะปรากฏชื่อในหนังสือพระราชพงศาวดารเพียง 20 ปี เมืองที่ตั้งครั้งนั้นเห็นเป็นแต่สำหรับรวบรวมผู้คนดังกล่าวมา จึงกำหนดแต่เขตแดน มิได้สร้างบริเวณเมืองผู้รั้งตั้งจวนอยู่ที่ไหนก็เชื่อว่าเมืองอยู่ตรงนั้น
จากนิพนธ์นี้เข้าใจว่า ยุคนั้นคงมีผู้คนอยู่ในถิ่นนี้พอสมควร จึงตั้งเมืองขึ้นที่นี่เพื่อให้ทำหน้าที่ช่วยรบ และเตรียมเสบียงไว้ในการสงคราม สระบุรี คงมีความหมายว่า เมืองแห่งน้ำ หรือ ตัวเมืองใกล้น้ำ เพราะครั้งแรกที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณบึงโง้ง ตำบลเมืองเก่า อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ในปัจจุบัน

สระบุรีสมัยกรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองสระบุรีมีบทบาทที่เกี่ยวข้องในเรื่องสงครามและการพระศาสนาเป็นสำคัญ ในเรื่องการสงครามเช่น พ.ศ.๒๑๒๕ พระเจ้าแปรยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงมีรับสั่งให้พระยานครนายก พระยาปราจีนบุรี พระวิเศษเมืองฉะเชิงเทรา พระสระบุรี 4 หัวเมือง ให้พระยานครนายกเป็นแม่ทัพใหญ่คุมพล 10,000 คน ออกไปตั้งค่าย ขุดคู ปลูกยุ้งฉาง ถ่ายลำเลียงไว้ตำบลทำนบรักษาไว้ให้มั่น พ.ศ.2126 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชยกทัพออกไปลาดตระเวน ฟังราชการให้ถึงทัพหลวง พ.ศ 2227 อ้ายธรรมเถียร คนนครนายกปลอมตนว่าเป็นเจ้าฟ้าอภัยทศลวงผู้คนให้หลงเชื่อมาถึงสระบุรีและลพบุรี แล้วนำผู้หลงเชื่อบุกเข้าไปถึงกรุง แต่ก็พ่ายแพ้และถูกประหารชีวิต พ.ศ. 2235 เกิด กบฏบุญกว้าง เป็นคนมีวิชาอาคมดีนำพวก 28 คนยึดเมืองนครราชสีมาได้ เจ้าเมืองนครราชสีมาลวงว่าควรนำทัพไปตีกรุงศรีอยุธยา บุญกว้างเชื่อจึงนำผู้คนผ่านมาถึงลพบุรี กรมการเมืองสระบุรีมีบทบาทเกี่ยวข้องกับการพระศาสนาก็คือ พ.ศ. 2149 ได้พบรอยพระพุทธบาทสระบุรีในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม จากนั้นมาเป็นราชประเพณีนิยมที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จมานมัสการพระพุทธละ ทรงนำนุบำรุงพระพุทธบาทรวมทั้งเสด็จไปนมัสการพระพุทธฉาย

เมืองสระบุรีสมัยกรุงธนบุรี ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ช่วงนี้พระมหากษัตริย์ก็ยังทรงมีพระราชนิยมเสด็จมานมัสการพระพุทธบาทรวมทั้งโปรดเกล้าฯ ให้ซ่อมแซมพระพุทธบาท เนื่องจากคราวที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าเมื่อ พ.ศ.2310 นั้น จีนค่ายคลองสวนพลู 400 คน ขึ้นไปทำลายพระพุทธบาท ลอกเอาเงินดาดพื้น ทองหุ้มพระมณฑปน้อยไป ในสมัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โปรดฯให้ซ่อมพระมณฑปพระพุทธบาทแต่ยังไม่เสร็จ ครั้นถึง พ.ศ.2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดฯให้สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จขึ้นไปเป็นแม่การยกพระมณฑปพระพุทธบาท และทำพระมณฑปน้อยกั้นรอยพระพุทธบาทภายในพระมณฑปใหญ่เสาทั้งสี่ กับทั้งเครื่องบน และยอดล้วนหุ้มแผ่น ทองทั้งสิ้น

พ.ศ. 2400พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้บูรณะมณฑปพระพุทธบาท และทำที่ประทับใหม่หลายหลังในพระราชวังท้ายพิกุล รวมพระราชทรัพย์ ครั้งนี้เป็นเงิน 441 ชั่ง 4 ตำลึง 3 บาท 1 สลึง 1 เฟื้อง ต่อมาปี พ.ศ. 2403 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปนมัสการพระพุทธบาทอีก ทรงยกยอดพระมณฑปและทรงบรรจุพระบรมธาตุ และได้เสด็จนมัสการพระพุทธฉาย แล้วเสด็จประทับแรมที่เขาแก้ว (ปัจจุบันคือ วัดเขาแก้ว ตำบลต้นตาล อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี) ทรงรับช้างเผือกที่ พระสุนทรราชวงศ์ เจ้าเมืองสีทา (ปัจจุบัน คือ หมู่ 8 ตำบลสองคอน อำเภอแก่งคอย) และจัดให้เขาคอกเป็นที่ฝึกทหาร และพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยเสด็จพระราชดำเนินหลายครั้ง

ช่วงสมัยนี้มีการสงครามที่มีผลต่อเมืองสระบุรีด้วยคือ

พ.ศ.2314พระเจ้าสุริยวงศ์แห่งนครหลวงพระบางมีเรื่องวิวาทกับพระเจ้าสิริบุญสารแห่งนครเวียงจันทน์พระเจ้าสุริยวงศ์ยกทัพไปล้อมนครเวียงจันทน์นานถึงสองเดือนพระเจ้าสิริบุญสารส่งสาสน์ไปยังพม่าที่นครเชียงใหม่ให้ยกทัพมาช่วยตีทัพนครหลวงพระบางพระเจ้าสุริยวงศ์ทรงทราบเรื่องจึงเจรจาขอเป็นไมตรีกับพม่าเหตุการณ์ครั้งนี้ชาวเวียงจันทน์เกรงว่าจะเกิดศึกใหญ่จึงพากันอพยพมายังเมืองนครราชสีมาสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีโปรดฯให้ชาวลาวเหล่านี้มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่เมืองสระบุรีพาไพร่พลหนีมาเรื่อยๆพระเจ้าสิริบุญสารก็ตามมารบจนพระตาตายพระวอพาไพร่พลหนีมายังบ้านดอนมดแดงจังหวัดอุบลราชธานีพ.ศ.2319พระเจ้าสิริบุญสารให้พระยาสุโพยกทัพมาตีและฆ่าพระวอตายทหารของพระวอที่เหลือมีหนังสือขอความช่วยเหลือมายังเจ้าเมืองนครราชสีมาเจ้าเมืองนครราชสีมานำหนังสือกราบทูลมายังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงกริ้วว่าพระเจ้าสิริบุญสารมาฆ่าพระวอผู้มาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในแผ่นดินของพระองค์พ.ศ.2321ได้ทรงมอบให้เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกและเจ้าพระยาสุรสีห์นำทัพไปตีนครเวียงจันทน์แลยึดนครเวียงจันทน์ได้ในคราวนั้นได้กวาดต้อนชาวเวียงจันทน์มาจำนวนมากรวมทั้งนำพระราชบุตรของพระเจ้าสิริบุญสารมาด้วยพร้อมกับอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบางมาถึงเมืองสระบุรีเมื่อเดือน4ปีกุนเอกศกจุลศักราช1141 (พ.ศ.2322) โปรดฯให้ชาวเวียงจันทน์ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่สระบุรีเรียกว่าลาวเวียงส่วนพระบรมวงศานุวงศ์ของลาวได้นำไปยังกรุงธนบุรีทรงชุบเลี้ยงเป็นอย่างดีสำหรับพระบางนั้นไทยได้คืนไปให้แก่ลาวเมื่อวันที่ 13 มีนาคมพ.ศ.2408 พ.ศ.2347พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดฯให้กรมหลวงเทพหริรักษ์และพระยายมราชนำทัพไปขับไล่พม่าให้ออกจากเมืองเชียงแสนเมื่อได้ชัยชนะแล้วก็รวบรวมชาวเชียงแสนได้23,000ครอบครัวแบ่งออกเป็น5ส่วนส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ที่เชียงใหม่ส่วนหนึ่งให้ไปอยู่ลำปางส่วนหนึ่งให้ไปอยู่น่านส่วนหนึ่งให้ไปอยู่เวียงจันทน์อีกส่วนหนึ่งถวายลงกรุงเทพฯโปรดฯให้ตั้งบ้านเรือนอยู่เมืองสระบุรีบ้างแบ่งไปอยู่ราชบุรีบ้าง

พ.ศ.2368เจ้าอนุวงศ์ราชบุตรของพระเจ้าสิริบุญสารผู้เคยมาอยู่เมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่1ต่อมากลับไปครองนครเวียงจันทน์ได้ลงมาร่วมงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยครั้งนั้นได้ทูลขอชาวลาวที่อยู่ในเมืองไทยกลับไปยังเวียงจันทน์แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงอนุญาตเมื่อเจ้าอนุวงศ์เสด็จกลับไปยังนครเวียงจันทน์แล้วเดือนยี่ปีจออัฐศกจุลศักราช1188 (พ.ศ.2369) ได้นำทัพลงมาลวงเจ้าเมืองตามหัวเมืองต่างๆว่าทางกรุงเทพฯสั่งให้นำทัพมาช่วยรบกับอังกฤษในพงศาวดารกล่าวว่าลวงเบิกเสบียงอาหารที่นครราชสีมาได้แล้วลงมาตั้งอยู่ณตำบลขอนขว้างใกล้กับเมืองสระบุรีให้ลงมาเกลี้ยกล่อมพระยาสระบุรีซึ่งเป็นลาวพุงดำและนายครัวลาวพุงขาวเข้าด้วยกวาดครอบครัวอพยพไทยจีนลาวซึ่งตั้งอยู่เมืองสระบุรีได้เป็นอันมากขณะนั้นทางกรุงเทพฯก็รู้ความเคลื่อนไหวของเจ้าอนุวงศ์คาดว่าเจ้าอนุวงศ์จะยกทัพไปถึงกรุงเทพฯจึงเตรียมรับมืออยู่ที่กรุงเทพฯต่อมากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพพระยาราชสุภาวดีและเจ้าเมืองนครราชสีมานำทัพไปตีนครเวียงจันทน์เมื่อพ.ศ. 2370ทัพไทยชนะเจ้าอนุวงศ์นำครอบครัวไปพึ่งญวนแต่ถูกจับกุมส่งมายังกรุงเทพฯต้องโทษถูกนำออกประจานจนถึงแก่พิราลัย

พ.ศ.2371 ทัพไทยไปตีนครเวียงจันทน์อีกครั้ง คราวนี้ได้นำครอบครัวลาวเวียงจันทน์ ลาวพวน (เมืองเชียงขวาง) ลงมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ลพบุรีบ้าง สระบุรีบ้าง สระบุรีจึงมีประชาการลาวมากขึ้น

สงครามทั้ง 4 ครั้งนี้ ทำให้เมืองสระบุรีมีผู้คนมาอยู่อาศัยมากขึ้น
คนสระบุรีแต่เดิมนั้นเป็นคนไทยภาคกลาง อยู่ที่นี่มาก่อนแล้ว เช่น บ้านโคกโบสถ์ (หมู่ 4 ตำบลหนองสรวง อำเภอวิหารแดง) เคยเป็นที่ตั้งสำนักสงฆ์มาก่อน สิ่งที่ได้พบบริเวณนี้ คือ เศียรพระพุทธรูป กระเบื้องมุงหลังคาแบบมีตะขอเกี่ยว พระกริ่ง ถาดโลหะ ลูกปืนโบราณ ฯลฯ สิ่งดังกล่าวเป็นโบราณวัตถุสมัยอยุธยาตอนปลาย ที่ตำบลบัวลอย อำเภอหนองแคมี บ้านดงเมืองเป็นเมืองเก่าคราวเดียวกับเมืองอู่ตะเภา อำเภอหนองแซง เคยเป็นเมืองที่เจริญมาก่อน ต่อมาผู้คนจากพระนครศรีอยุธยาได้อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ที่นี้ด้วยเนื่องจากเหตุการณ์สงครามตั้งแต่ สมัยกรุงศรีอยุธยาและสมัยต้นรัตนโกสินทร์ แต่ถึงกระนั้นยุคต้น ๆ ประชากรเมืองสระบุรีก็มีไม่มากนัก และกระจายกันอยู่เป็นกลุ่ม ๆ
จากเหตุการณ์สงครามสี่ครั้งดังกล่าว ทำให้มีคนลาวและชาวเวียงแสนมาตั้งถิ่นฐานอยู่ ทำให้สระบุรีมีประชากรเพิ่มมากขึ้น
ลาวที่มาครั้งนั้นเรียกตามสำเนียงภาษาพูดที่ต่างกันสี่กลุ่มคือ
ลาวเวียงคือ ลาวมาจากนครเวียงจันทน์ ปัจจุบันมีอยู่มากที่อำเภอแก่งคอย หนองแค หนองแซง วิหารแดง เสาไห้ บ้านหมอ
ลาวพวนคือ ลาวที่มาจากเมืองพวน (แขวงเชียงขวาง) ตั้งถิ่นฐานที่อำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด
ลาวแง้วคือ ลาวที่มาจากชนบทชานเมืองเวียงจันทน์ ปัจจุบันตั้งถิ่นฐานที่บ้านตาลเสี้ยน บ้านหนองระกำ อำเภอพระพุทธบาท และบางหมู่บ้านในอำเภอหนองโดน
ลาวญ้อ คือ ลาวที่มาจากเมืองคำเกิดในประเทศลาว ปัจจุบันยังมีผู้พูดภาษาลาวญ้อในบางหมู่บ้านอำเภอแก่งคอย

คนลาวที่อพยพมาอยู่สระบุรีครั้งนั้น มีผู้ที่เคยเป็นเจ้าเมืองสระบุรี เช่น พระยาสุราราชวงศ์ เจ้าเมืองสระบุรีสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นชาวลาวพุงดำที่อพยพมาอยู่ถิ่นนี้ตั้งแต่รัชสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พระสยามลาวบดี ปลัดเจ้าเมืองสระบุรีสมัยรัชกาลที่ 4 ก็เป็นชาวลาวเช่นกัน ที่ตำบลโคกแย้ อำเภอหนองแค มีวัดอยู่สองวัด คือ วัดสนมลาว (วัดไทยงาม) และวัดสนมไทย (วัดเขาพนมยงค์) วัดสนมไทยเป็นทีอยู่ของคนไทยอยุธยา ส่วนวัดสนมลาวเป็นถิ่นที่อยู่ของกลุ่มชนที่อพยพมาจากนครเวียงจันทน์ได้มาอยู่บ้านโป่งแร้ง บ้านหนองผักชี และบ้านสนมลาว ชาวบ้านเล่าสืบพันมาว่าครั้งหนึ่ง พระมหากษัตริย์แห่งกรุงสยามเสด็จเยี่ยมชาวบ้านกลุ่มนี้ได้มีชาวบ้านผู้หนึ่งทูลถวายบุตรสาวของตนเพื่อเป็นบาทบริจาริกา พระองค์ก็ทรงรับไว้ต่อมาได้รับการสถาปนาเป็นพระสนมเอก

วันหนึ่งพระสนมเอกผู้นี้ได้กลับมาเยี่ยมบ้านเดิมของตน พบว่าญาติพี่น้องยึดมั่นในพระพุทธศาสนาอย่างมั่นคง แต่ไม่มีวัดที่จะประกอบศาสนพิธี เมื่อเดินทางกลับพระนครแล้วจึงกราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ช่วยสร้างวัดให้ พระมหากษัตริย์พระองค์นั้นจึงโปรดฯ ให้ช่างหลวงมาสร้างวัดให้และโปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ไว้ด้วย (ปัจจุบันยังมีหลักฐานเหลืออยู่) ที่เชิงเขาโป่งแร้ง และพระราชทานนามวัดว่า วัดพระสนมลาววิหาร แต่ชาวบ้านนิยมเรียกสั้น ๆ ว่า วัดสนมลาว

ส่วนชาวเชียงแสนที่มาอยู่เมืองสระบุรีเมื่อ พ.ศ. 2347 ถิ่นแรก คือท้องที่อำเภอเสาไห้ เรียกตนเองว่า คนยวน (มาจากโยนก) ปัจจุบันมีอยู่ทุกอำเภอในจังหวัดสระบุรี (ยกเว้นอำเภอหนองโดน และอำเภอดอนพุด) คนยวนเหล่านี้ได้นำภาษา และประเพณีวัฒนธรรมของล้านนาไทยมาใช้สืบทอดกันมาจนถึงทุกวันนี้

ชาวไทยยวนที่อพยพมาจากเชียงแสนครั้งนั้นมีหัวหน้ากลุ่มชนเรียกว่า ปู่คัมภีระ มาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านไผ่ล้อม ตำบลสวนดอกไม้ อำเภอเสาไห้ทุกวันนี้ ในสมัยรัชกาลที่ 2 ปู่คัมภีระได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสระบุรีมีบรรดาศักดิ์เป็น พระยารัตนกาศ ท่านมีบุตรสี่คน บุตรชายคนแรกได้เป็นเจ้าเมืองสระบุรี สืบต่อจากบิดา มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยารัตนกาศ เช่นกัน บุตรชายคนที่สองได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดเมืองสระบุรี มีบรรดาศักดิ์เป็นพระยาบำรุงราษฎร์ บุตรชายคนที่สามของปู่คัมภีระชื่อว่า มหาวงศ์ ท่านผู้นี้มีบุตรคือ พระยาการีสุนทร (ทองคำ) เคยเป็นนายอำเภอแก่งคอย (พ.ศ.2436-2457) บุตรของผู้เฒ่ามหาวงศ์ อีกท่านหนึ่งคือ พระยารัตนกาศ (แก้วก้อน) เคยเป็นนายอำเภอเสาไห้ (พ.ศ.๒๔๓๙- ๒๔๔๒) บุตรคนที่สี่ของปู่คัมภีระเป็นหญิงชื่อว่า บัว มีสามีคือ พระบำรุงภาชี เป็นผู้มีหน้าที่ดูแลพาหนะม้าสังกัดกองโค

นามเจ้าเมืองสระบุรีคนแรกไม่ปรากฏหลักฐานคงมีเพียงตำแหน่งบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองสระบุรีซึ่งปรากฏเด่นชัดในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเมื่อพ.ศ. 2125 ทราบแต่ว่ามีบรรดาศักดิ์เป็น“ พระสระบุรี ” เท่านั้นโดยสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นคนไทยภาคกลางมีหน้าที่คุมรักษาฉางข้าวไว้ให้กองทัพหลวงครั้งยกไปตีเขมร ซึ่งคงจะเป็นเพราะให้ชาวเมืองสระบุรีสมัยนั้นทำไร่ทำนาเก็บเกี่ยวไว้สำหรับงานสงคราม

จวบจนถึงสมัยรัชกาลที่ 3 เจ้าเมืองสระบุรีบรรดาศักดิ์เป็น “พระยาสุราราชวงศ์ ” ซึ่งตามพงศาวดารว่าเป็นชนเผ่าลาวพุงดำซึ่งถูกเกณฑ์อพยพมาแต่ครั้ง เจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (รัชกาลที่ 1) พาทัพไปตีนครเวียงจันท์ (สมัยกรุงธนบุรี ) แล้วมาตั้งรกราก ณ แขวงเมืองสระบุรี พ.ศ. 2324

ล่วงถึงสมัยรัชกาลที่ 4 ทางการมีการแต่งชื่อเจ้าเมืองใหม่ดังนี้

เจ้าเมืองพระพุทธบาท (แก้วประศักดิ์เมืองปรันตปะ ) เดิมนามว่าขุนอนันตคีรีตั้งใหม่เป็นหลวงสัจจภัญฑคิรีศรีรัตนไพรวันเจติยาสันคามวาสีนพคูหาพนมโขลน

เจ้าเมืองสระบุรีเดิมนามว่าขุนสรบุรีปลัดตั้งใหม่เป็นพระสยามลาวบดีปลัดตำแหน่งเจ้าเมืองในสมัยรัชกาลที่ 5 (พ.ศ.2435) มีการจัดรูปการปกครองใหม่เป็นเทศาภิบาลโดยจัดตั้งเป็นมณฑลเทศาภิบาลจังหวัดอำเภอตำบลหมู่บ้านลดหลั่นกันลงไปเมืองสระบุรีขึ้นอยู่กับมณฑลกรุงเก่ามีการส่งข้าราชการมาปกครองแทนการตั้งเจ้าเมืองสำหรับที่ตั้งเมืองสระบุรีครั้งแรกไม่ปรากฏหลักฐานที่แน่นอนคงทราบแต่เพียงว่าตั้งอยู่ที่หัวจวนบริเวณบึงหนองโง้งใกล้วัดจันทบุรีตำบลศาลารีลาวปัจจุบันคือตำบลเมืองเก่าอำเภอเสาไห้มีพระยาสระบุรี (เลี้ยง) เป็นเจ้าเมืองปีพ.ศ. 2433 พระยาสระบุรี (เลี้ยง) ถึงแก่กรรมจ่าเริงเป็น เจ้าเมืองแทนได้ย้ายศาลากลางเมืองสระบุรีไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมน้อยอ.เสาไห้ ( บ้านเรือนที่เจ้าเมืองสร้างอยู่อาศัยคือศาลากลางเมือง ) จนถึงสมัยที่พระยาพิชัยรณรงค์สงครามเป็นเจ้าเมืองเห็นว่าตัวเมืองเดิมที่เสาไห้อยู่ห่างไกลจากทางรถไฟมาก (รัชกาลที่ 5 ได้โปรดให้สร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือขึ้นมาถึงเมืองสระบุรีเมื่อ พ.ศ.2439) ประกอบกับภูมิประเทศไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ในสมัยนั้นยากแก่การขยายเมืองในอนาคตจึงได้สร้างศาลากลาง ขึ้นใหม่ณบริเวณตำบลปากเพรียวการก่อสร้างเสร็จในสมัยเจ้าเมืองคนที่ 3 คือพระยาบุรีสราธิการ (เป้าจารุเสถียร) ในปีพ.ศ. 2509 ก็ได้รื้อและสร้างศาลากลางหลังใหม่ขึ้นแทน

จัดทำและพัฒนาโดย
กลุ่มงานข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานจังหวัดสระบุรี
ศาลากลางจังหวัดสระบุรี อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี 18000
โทร./โทรสาร 036-220439 E-mail : saraburi@moi.go.th

ที่มา : http://www.saraburi.go.th/ (http://www.saraburi.go.th/)