ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช(สุก) ต้นสกุลพระพิมพ์สมเด็จ  (อ่าน 2669 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
    • ดูรายละเอียด


สมเด็จพระสังฆราช (สุก)


พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช(สุก) ต้นสกุลพระพิมพ์สมเด็จ

สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร

พระมหาเถระที่ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระ จนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน” ด้วยทรงสามารถแผ่พรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้

สำหรับพระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) เป็นผู้สร้างไว้ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพฯ ข้อมูลจากหนังสือ “ภาพพระเครื่อง” จัดทำโดย “อาจารย์ประชุม กาญจนวัฒน์” ผู้เชี่ยวชาญวัตถุมงคล ให้รายละเอียดเกี่ยวกับพระสมเด็จอรหัง ว่า

“เป็นพระต้นสกุลพระพิมพ์สมเด็จที่เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าทั้งหมด ประมาณว่าได้มีการสร้างไว้ตั้งแต่ พ.ศ.2360 (ที่วัดพลับ) แล้วนำมาบรรจุไว้ที่วัดมหาธาตุ เมื่อ พ.ศ.2363 และนอกจากจะพบพระสมเด็จอรหังที่วัดมหาธาตุแล้ว ที่วัดสร้อยทองก็ยังมีผู้พบด้วยเช่นกัน”

@@@@@@@

พระสมเด็จอรหัง พบมีอยู่ด้วยกันหลายพิมพ์และหลายเนื้อ กล่าวคือ มีพระพิมพ์ฐานสามชั้น (พิมพ์สังฆาฏิ) พระพิมพ์สามชั้นเกศอุ พระพิมพ์ฐานคู่ พระพิมพ์เล็กฐานสามชั้นมีประภามณฑล และพระพิมพ์เล็กฐานสามชั้นไม่มีประภามณฑล

องค์พระเป็นเนื้อปูนเปลือกหอย แบบออกขาวละเอียด เนื้อขาวหยาบมีเม็ดทราย เนื้อขาวหยาบออกอมสีเขียวก้านมะลิ และยังมีประเภทเนื้อออกสีแดงเรื่อ พระสีดังกล่าว มักจะมีเนื้อหยาบ สันนิษฐานว่าอาจจะมีการผสมปูนกินหมากหรือพิมเสนเข้าไป เมื่อผสมกับปูนเปลือกหอย ทำให้เนื้อมวลสารออกเป็นสีแดง

พระส่วนใหญ่ มักจะมีจารคำว่า “อรหัง” เป็นอักษรขอมไว้ที่ด้านหลัง แต่ที่ไม่เขียนเลยก็มี แต่เป็นส่วนน้อย และมีส่วนหนึ่งที่ด้านหลังเป็นตราประทับคำว่า “อรหัง” กดที่ด้านหลังแทนการเขียน เนื้อสีแดงคล้ายปูนแห้ง

ปัจจุบัน เป็นที่เสาะแสวงหากันมากมาย จนสนนราคาเล่นหาขยับสูงขึ้นมาก


พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น 10 ค่ำ (1) เดือนยี่ ปีฉลู จุลศักราช 1095 พ.ศ.2276 ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าบรมโกษฐ, สันนิษฐานว่าเป็นชาวกรุงเก่า, ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก

พ.ศ.2325 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทรงมีพระราชดำริจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร เพื่อทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆ ตามโบราณราชประเพณี และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษจากที่ต่างๆ มาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร เพื่อช่วยรับภาระธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป

ในคราวนี้เองที่ได้ทรง “โปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร” พระอาจารย์วัดท่าหอยดังกล่าว คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง

@@@@@@@

ทรงเป็นพระอาจารย์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แต่ครั้งยังทรงเป็นพระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่พระญาณสังวรเถร เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสี นิยมความสงบวิเวก จึงได้โปรดให้มาอยู่วัดพลับ อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร (วัดพลับ ต่อมาในรัชกาลที่ 3 พระราชทานชื่อใหม่ว่า วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้)

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมากของพระบรมราชวงศ์มาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 2 ปรากฏนามพระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์ นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา

รัชกาลที่ 2 โปรดให้สถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 9 แรม 7 ค่ำ (ปีชวด พ.ศ.2359)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงสถาปนาสมเด็จพระญาณสังวร เป็นสมเด็จพระสังฆราช ณ วันพฤหัสบดี เดือน 1 ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง โทศก จุลศักราช 1182 พ.ศ.2363


@@@@@@@

สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ระหว่างอยู่ที่วัดราชสิทธาราม ปรากฏว่าได้เป็นที่นับถือของชาวบ้านตลอดขึ้นไปจนถึงเจ้านายเชื้อพระวงศ์ ต่างพากันไปฝากตัวเป็นลูกศิษย์ท่านเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เห็นจะเป็นเพราะบรรดาสานุศิษย์เหล่านั้น ต่างได้เห็นกฤตยาคมอันขลังด้านเมตตาพรหมวิหารของท่าน ซึ่งสามารถเรียกไก่เถื่อนจากป่าเป็นฝูงๆ มารับการโปรยทานจากท่านเต็มลานวัดทุกวัน

เหตุนี้ชาวบ้านสมัยนั้น จึงพากันเรียกท่านว่า พระสังฆราชไก่เถื่อน เพราะท่านสามารถเรียกไก่เถื่อนออกมาจากป่า และยิ่งได้ลิ้มรสอาหารเสกจากท่านด้วยแล้ว ไก่เถื่อนที่ว่าถึงกับไม่ยอมกลับเข้าป่า และเชื่องเป็นไก่บ้าน

ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ 1 ปีกับ 10 เดือน สิ้นพระชนม์เมื่อวันพฤหัสบดี เดือน 10 ขึ้น 13 ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ.2365 มีพระชนมายุ 89

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย โปรดเกล้าฯ พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูงบางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว

พระราชทานเพลิงพระศพ เมื่อเดือน 12 พ.ศ.2365 ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม




จากคอลัมน์ : โฟกัสพระเครื่อง / โคมคำ/พระสมเด็จอรหัง สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ต้นสกุลพระพิมพ์สมเด็จ
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 24 - 30 กรกฎาคม 2563
เผยแพร่ : วันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2563
โฟกัสพระเครื่อง /โคมคำ komkam.ks@gmail.com
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_328618
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ