ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “ความสุข” แบบ อาศัยขันธ์ ๕. กับ ไม่อาศัยขันธ์ ๕.  (อ่าน 753 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28420
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


สุขโดย อาศัยขันธ์ ๕. กับไม่อาศัยขันธ์ ๕.

คำว่า “ความสุข” ในทางพุทธศาสนา ท่านตรัสไว้ ๒ ลักษณะ คือ

๑. ความสุขอันเกิดจากการได้เสวยอารมณ์ว่าเป็นสุข คือ สุขเวทนาที่ในจิต ๖๓ ดวง (สุขสหคตจิต ๖๓) ความสุขประเภทนี้ เป็นความสุขที่ยังมีขันธ์อยู่ เป็นสังขารธรรม หรือสังขตธรรม มีปัจจัยปรุงแต่งเป็นความสุขที่มีความแปรปวนไปเป็นธรรมดา, และความแปรปวนไปนั่นเอง เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง(วิปริณามทุกข์) อีกอย่างหนึ่ง การปรากฎขึ้นแห่งขันธ์ การมีขันธ์นั่นเอง เป็นความทุกข์ อย่างที่ทรงตรัสไว้ในปฐมเทศนา-ธรรมจักรกัปวัตนสูตรว่า “ชาติปิ ทุกฺขา” (แท้จริงแล้ว ความปรากฎแห่งขันธ์นั่นแหละเป็นความทุกข์)

๒. ความสุขที่เป็นวิสังขาร(ปราศจากสังขาร, ปราศจากการปรุงแต่ง) เป็นความสุขที่ปราศจากขันธ์ ๕ ในที่นี้ท่านมุ่งหมายเอา พระนิพพาน(อนุปาทิเสสนิพานธาตุ) ไม่มีขันธ์ ๕ ไม่มีตัวเสวยอารมณ์ เป็นความดับสูญสิ้นแห่งขันธ์ (นิพพานํ ปรมํ สุญฺญํ)

โดยหลักการความสุขชนิดนี้ แท้จริงแล้วเป็นโวหารเทศนาที่ทรงแสดงตามนัยอัสสาทะ โดยความเป็นจริงแล้ว เมื่อไม่มีขันธ์ ๕ ก็ไม่มีทั้งสุขและทุกข์ เพราะไม่รู้ว่าจะเอาอะไรมาบัญญัติว่า สุข-ทุกข์, แต่ที่ทรงตรัสว่า
    “พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” (นิพพานํ ปรมํ สุขํ) นั้น เป็นการตรัสโดยนัยที่ตรงกันข้ามกับคำว่า “ไม่มีทุกข์”

@@@@@@@

เพราะไม่มีขันธ์ ๕ จึงไม่มีทุกข์, เพราะเหตุว่า "สุขเวทนา" ซึ่งก็เป็นขันธ์อย่างหนึ่งในบรรดาขันธ์ทั้ง ๕ คือ เป็นเวทนาขันธ์ เมื่อเวทนาขันธ์ และตัวที่เสวยเวทนาขันธ์นั้นไม่มีเสียแล้ว จะเอาอะไรมาบัญญัตติว่าทุกข์ และเพราะความไม่มีทุกข์นั่นเอง จึงตรัสเรียกว่า “เป็นสุข” และเป็นสุขอย่างยิ่ง เพราะไม่มีความแปรเปลี่ยน. เพราะเหตุใดจึงไม่มีความแปรเปลี่ยน.? เพราะนิพพาน ไม่มีความเกิด-ดับ.

ผู้คนโดยส่วนมาก มักเข้าใจในคำว่า “สุข” ในลักษณะของการเสวยอารมณ์ว่าเป็นสุข (สุขเวทนา) “สุขเวทนา” ก็เป็นขันธ์อย่างหนึ่ง คือ เวทนาขันธ์, เมื่อมีเวทนาขันธ์ ก็ต้องมีจิต คือ วิญญาณขันธ์ พร้อมทั้งสัญญาขันธ์ และสังขารขันธ์อื่นๆ ครบถ้วนทั้งขันธ์ ๕ หรือนามขันธ์ ๔ (ในอรูปภูมิ) ฯ

และเมื่อมีขันธ์ ก็จัดว่าเป็นทุกข์ทั้งนั้น(ทุกขอริยสัจจ์) ต้องปราศจากขันธ์ จึงเรียกว่าพ้นทุกข์ ทำให้ถึงซึ่งที่สุดแห่งทุกข์ เมื่อพ้นทุกข์ ก็เลยเรียกว่าสุข ฯ เหมือนเมื่อน้ำหายร้อน เขาก็เรียกว่าน้ำเย็น ยิ่งความร้อนหายไปมากเท่าไร น้ำก็เย็นลงมากเท่านั้น.

เมื่อความร้อนหายไปจนหมด ก็หมดความร้อนเหลือแต่ความเย็น ฉันใด, เมื่อทุกข์ค่อยๆหายไป ความสุขก็เข้ามาแทนที่ เมื่อความทุกข์นั้นหายไปจนหมด จึงถึงที่สุด ท่านก็เรียกว่า “ทุกฺขสฺสนฺตํ” ที่สุดแห่งทุกข์ ไม่มีทุกข์ ก็เหลือแต่ความสุข ซึ่งเป็นนัยที่ตรงกันข้าม ฯ




 
ขอบคุณ : dhamma.serichon.us/2019/12/28/คำว่า-ความสุข-ในทางพุทธ/
เขียนโดย VeeZa ,27/12/62
28 ธันวาคม 2019, posted by admin.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 28, 2021, 06:55:28 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ