เรื่องทั่วไป > forward mail หรือ จดหมายส่งถึงกัน

ข้อเท็จจริง "พระพุทธเจ้าน้อย" คตินิยม "มหายาน" เผยแพร่พุทธประวัติ

(1/1)

raponsan:


ข้อเท็จจริง "พระพุทธเจ้าน้อย" คตินิยม "มหายาน" เผยแพร่พุทธประวัติโดย พินทุ วิเศษภูมิ
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ขึ้นทั้งบนหน้าหนังสือพิมพ์ และมีการส่งต่อกันทางโลกออนไลน์

สำหรับกรณีการจัดสร้าง "พระพุทธเจ้าน้อย" ก่อนจะมีการอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ลุมพินีสถาน ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า ตามโครงการ "บูรณปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน" ซึ่งมี คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวง ในฐานะประธานมูลนิธิไทยพึ่งไทย เป็นประธานในการดำเนินโครงการ

    "มันจะแผลงและพิเรนทร์นอกกรอบจนเกินงามไปหรือเปล่า ผมก็เรียนพุทธประวัติมาพอสมควร พบแต่ใช้คำว่า "พระพุทธเจ้า" เฉพาะกับสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทุกพระองค์ ไม่เคยพบตรงไหนเลยทั้งในพระวินัย พระสูตร และพระอภิธรรม ว่ามีการใช้คำว่า "พระพุทธเจ้าน้อย" เรียกขานสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ไม่ว่าพระองค์ไหนทั้งสิ้น"

    นี่คือหนึ่งในบทความ ที่มีการนำเสนอโดยนักหนังสือพิมพ์รุ่นใหญ่

ต่อกรณีนี้ "คุณหญิงหน่อย" รีบทำหนังสือสอบถามไปถึงผู้เกี่ยวข้องและเป็นผู้รู้ ก่อนจะได้คำตอบกลับมา และทำหนังสือชี้แจง ซึ่งตอนหนึ่งระบุว่า...

"รูปแทนของ "พระมหาโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร"  นี้ มีการสร้างกันมานานแล้วในหลายประเทศ โดยจะพบเห็นได้ทั่วไปทั้งในประเทศเนปาล อินเดีย จีน ไต้หวัน หรือแม้แต่วัดบางแห่งในประเทศไทย เช่น วัดอโศการามและวัดสระเกศ เป็นต้น เพียงแต่ในประเทศไทย ยังไม่นิยมสร้างกันแพร่หลายเหมือนพระพุทธรูปปางอื่นๆ คนไทยจึงไม่ค่อยรู้จัก เมื่อเร็วๆ นี้ ที่วัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ก็เพิ่งขุดพบโดยกรมศิลปากร ได้ตรวจสอบว่ามีอายุกว่า 1,000 ปี"


บาซานต้า ไบดารี่ นักโบราณคดีอาวุโส แห่งลุมพินี ดีเวลลอปเม้นท์ทรัสต์ ประเทศเนปาล ซึ่งดำรงตำแหน่งนี้มายาวนานกว่า 30 ปี บอกว่า มีคำถามมากมายที่ถูกถามเข้ามา และเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ในการนี้ขอเป็นผู้อธิบายเรื่องราวต่างๆ ของรูปหล่อองค์พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร หรือที่ เรียกว่า "เบบี้ บุดด้า (Baby Buddha)" ที่จะถูกนำมาประดิษฐานอยู่ที่บริเวณทางเข้าของสวนอันศักดิ์สิทธิ์ ลุมพินีสถานแห่งนี้

"ผมเข้าใจถึงคำถามต่างๆ ที่ถูกถามขึ้นมาว่าสิ่งที่ทำอยู่นี้ถูกต้องหรือไม่ กับสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ ขอให้ผมเป็นผู้ยืนยัน และสร้างความมั่นใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ลุมพินีแห่งนี้

"รูปหล่อองค์พระโพธิสัตว์สิทธัตถะราชกุมาร หรือ Baby Buddha นั้นถือเป็นเรื่องจริง และปรากฏเป็นส่วนหนึ่งของลุมพินีมากว่าหลายปี รูปหล่อดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการประสูติของเจ้าชายสิทธัตถะ"

บาซานต้ากล่าวทิ้งท้ายว่า โดยส่วนตัวขอขอบคุณ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และพุทธศาสนิกชนชาวไทย ที่เป็นผู้สร้างสิ่งมหัศจรรย์ เพื่อที่จะจารึกในหน้าประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ สำหรับสถานที่ประสูติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และหวังว่าสิ่งนี้จะช่วยแก้ไขข้อซักถาม และอธิบายความเข้าใจที่ผิดๆ ด้วยพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชนชาวไทย และชาวพุทธทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

"รูปหล่อนี้จะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนเนปาลและประชาชนไทย รวมไปถึงพุทธศาสนิกชนทั่วโลก และเพื่อเผยแพร่พระเกียรติคุณแก่องค์พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 9 ซึ่งเราทุกคนควรรู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นเกียรติในการที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของงานในครั้งนี้" บานซานต้ากล่าว

   พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม คือไม่มีรูปเทพเจ้า หรือเทวรูปให้เคารพบูชา

ยืนยันได้จากการที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แก่พระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก ว่าหลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมจะเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวแทนพระพุทธองค์ต่อไป แต่ปรากฏว่าหลังจากที่พระพุทธองค์ปรินิพพานไปแล้วจนถึงปัจจุบัน ได้มีพระพุทธรูปเกิดขึ้นมากมาย และชาวพุทธส่วนใหญ่ทั่วโลกก็นิยมกราบไหว้บูชาพระพุทธรูปกันจนเป็นธรรมเนียมสืบต่อกันมา นี่คือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายรับรู้กันดี


อำนาจ บัวศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงคตินิยมการสร้างพระพุทธรูปปางพระพุทธเจ้าน้อย ว่าในระยะแรกๆ นั้นไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นในที่ใด แต่จะมีการสร้างวัตถุสถานในเชิงสัญลักษณ์แทนพระพุทธศาสนา อันได้แก่ เจดีย์ 4 ประเภท คือ ธาตุเจดีย์ ธรรมเจดีย์ บริโภคเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์ ซึ่งมีปรากฏอยู่มากในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

ประวัติความเป็นมาในการสร้างพระพุทธรูปนั้น พบว่าพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ได้ยกทัพจากอาณาจักรมาซิโดเนีย มารุกรานอินเดีย จนได้ชัยชนะ เมื่อประมาณ พ.ศ.217 และแต่งตั้งขุนพลกรีกดูแลเมืองต่างๆ ทำให้ศิลปกรรมเกี่ยวกับรูปปั้นเทพเจ้าต่างๆ ของกรีก เริ่มเข้ามาแพร่หลายในอินเดียด้วย

อีก 100 กว่าปีต่อมา ในสมัยพระเจ้ามิลินท์ กษัตริย์เชื้อสายกรีก-โยนก ได้เริ่มมีการสร้างพระพุทธรูปที่เป็นรูปมนุษย์ขึ้น โดยสร้างเป็นองค์สมมุติของพระพุทธเจ้าเพื่อนำไปประดิษฐานไว้ตามเจดีย์สถานต่างๆ ณ แคว้นคันธารราษฎร์

    เกิดเป็น "พระพุทธรูปแบบคันธาระ" ซึ่งมีลักษณะพระพักตร์คล้ายเทพเจ้าของกรีก

รอง ผอ.สำนักพุทธฯบอกว่า การสร้างพระพุทธรูปในสมัยต่อๆ มานั้น เกิดพัฒนาการขึ้นมาก ทั้งรูปแบบและลักษณะการสร้าง สมัยแรกๆ นิยมสร้างตามพุทธลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ตามฝีมือช่างสกุลต่างๆ และคตินิยมตามยุคตามสมัย เมื่อพระพุทธศาสนาเผยแผ่มาสู่ประเทศไทย คตินิยมการสร้างพระพุทธรูปก็ตามมาด้วยและพุทธลักษณะก็แตกต่างกันไปตามคติความเชื่อและสกุลช่างเช่นกัน ดังปรากฏเป็นพระพุทธรูปแบบสุโขทัย เชียงแสน อู่ทอง เป็นต้น

นอกจากนี้ การสร้างพระพุทธรูปยังนิยมสร้างตามเหตุการณ์สำคัญๆ ในพุทธประวัติอีก จึงเกิดพระพุทธรูปปางต่างๆ กันไป เช่น ปางสมาธิ ปางปฐมเทศนา ปางห้ามญาติ เป็นต้น เกิดเป็นงานศิลปะที่งดงามไปอีกประเภทหนึ่ง

"จากหนังสือพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทยนั้น พบว่ามีอยู่ประมาณ 100 ปาง แต่ไม่พบว่ามีปาง "พระพุทธเจ้าน้อย" เนื่องจาก "พระพุทธเจ้าน้อย" เป็นคตินิยมของฝ่ายมหายานที่นำมาเป็นอุปกรณ์ในการเผยแผ่พระพุทธประวัติ ให้ง่ายต่อการเรียนรู้และการจดจำ โดยเฉพาะเด็กๆ จะชอบมาก เนื่องจากฝ่ายมหายานมีเทคนิคอันชาญฉลาดในการสอนคติธรรม


"ชาวพุทธฝ่ายมหายานทั่วโลกรู้จัก "พระพุทธเจ้าน้อย" กันดีมานานแล้ว เพราะจะมีพิธี "สรงน้ำพระพุทธเจ้าน้อย" เป็นกิจกรรมหลักที่สำคัญกิจกรรมหนึ่งในวันวิสาขบูชาของทุกปี คนไทยเริ่มสนใจรู้จักพระพุทธเจ้าน้อย กันในระยะประมาณ 10 ปี มานี้เอง เนื่องจากคณะสงฆ์ไทยเริ่มจัดกิจกรรมร่วมกับชาวพุทธนิกายต่างๆ ทั่วโลกมากขึ้น รวมทั้งได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำชาวพุทธจากทั่วโลกในวันวิสาขบูชาที่ประเทศไทยเกือบทุกปี

"ทำให้ชาวพุทธทั่วโลกได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้วัฒนธรรมเชิงพุทธของแต่ละนิกายในประเทศต่างๆ กัน ซึ่งกันละกันมากขึ้น และฝ่ายมหายานได้นำ พระพุทธเจ้าน้อย เข้ามาเผยแพร่ให้ชาวไทยได้รู้จัก โดยเฉพาะพิธีสรงน้ำพระพุทธเจ้าน้อย เคยจัดในเมืองไทยทั้งที่พุทธมณฑล เมืองทองธานี และที่ท้องสนามหลวง" รอง ผอ.สำนักพุทธฯกล่าว

พร้อมกันนี้ได้กล่าวทิ้งท้ายอย่างน่าคิดว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากไปกว่ากรณีพระพุทธเจ้าน้อยนี้ ก็คือ ในสภาวะปัจจุบันนี้ ชาวพุทธส่วนใหญ่นิยมสร้างพระพุทธรูปเพื่อนำไปเป็นเครื่องรางของขลัง เป็นของวิเศษ ทำมาค้าขายกันเป็นสินค้า ผิดไปจากวัตถุประสงค์ที่แท้จริงตามจุดมุ่งหมายเดิมไปอย่างมาก

"ชาวพุทธเราควรหันมาให้ความเคารพนับถือ กราบไหว้บูชาพระพุทธรูป และให้ความสำคัญ ที่เป็นเครื่องหมายให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า ระลึกถึงพระธรรมคำสอน เพื่อเป็นพุทธานุสติ เตือนให้ละจากการทำชั่ว หมั่นประพฤติแต่ความดี และฝึกฝนจิตใจให้สะอาดผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ชาวพุทธก็จะได้รับประโยชน์จากพระพุทธรูปอย่างแท้จริง และเป็นไปในทางที่ถูกต้อง" อำนาจกล่าว

สำหรับโครงการ "บูรณปฏิสังขรณ์ลุมพินีสถาน" ของคุณหญิงสุดารัตน์ ยังคงเดินหน้าต่อไป

โดยในวันที่ 31 มีนาคมนี้ จะมีพิธีประดิษฐานองค์พระพุทธเจ้าน้อย ความสูง 3 เมตร 55 เซนติเมตร ที่สร้างขึ้นด้วยแผ่นทองสัมฤทธิ์ที่พุทธศาสนิกชนทั่วประเทศร่วมบริจาคจำนวนทั้งสิ้น 840,000 แผ่น น้ำหนักรวม 3 ตัน บริเวณทางเข้าสู่มหาวิหารมายาเทวี สวนลุมพินีวัน ประเทศเนปาล ซึ่งเป็นจุดที่พระพุทธเจ้าประสูติ

ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1364541919&grpid=01&catid=&subcatid=
http://board.postjung.com/,http://www.khaosod.co.th/,http://www.thairath.co.th/

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ