ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ทรงมีพระทัยสม่ำเสมอ.."ในพระเทวทัตและพระราหุล" อย่างไร.?  (อ่าน 3438 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ยมกวรรคที่ ๑
เรื่องพระเทวทัต(บางส่วน)

กรรมชั่วของพระเทวทัตปรากฏแก่มหาชน             
กรรมแม้ของพระเทวทัต เพราะยังพระอชาตสัตรูกุมารให้สำเร็จโทษพระราชา (พระราชบิดา) เสียก็ดี เพราะแต่งนายขมังธนูก็ดี เพราะกลิ้งศิลาก็ดี มิได้ปรากฏเหมือนเพราะปล่อยช้างนาฬาคิรีเลย.
    คราวนั้นแล มหาชนได้โจษจันกันขึ้นว่า
    “แม้พระราชาก็พระเทวทัตนั่นเอง เป็นผู้ให้สำเร็จโทษเสีย, แม้นายขมังธนูก็พระเทวทัตนั่นเองแต่งขึ้น, แม้ศิลาก็พระเทวทัตเหมือนกันกลิ้งลง, และบัดนี้เธอก็ได้ปล่อยช้างนาฬาคิรี, พระราชาทรงเที่ยวคบคนลามกเห็นปานนี้.”
    พระราชาทรงสดับถ้อยคำของมหาชนแล้ว จึงให้นับสำรับ ๕๐๐ คืนมา มิได้เสด็จไปยังที่อุปัฏฐากของพระเทวทัตนั้นอีก. ถึงชาวพระนครก็มิได้ถวายแม้วัตถุมาตรว่าภิกษาแก่เธอซึ่งเข้าไปยังสกุล.


พระเทวทัตทูลขอวัตถุ ๕ ประการ               
พระเทวทัตนั้นเสื่อมจากลาภและสักการะแล้ว ประสงค์จะเลี้ยงชีวิตด้วยการหลอกลวง จึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอวัตถุ ๕ ประการ๑- อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห้ามว่า
      “อย่าเลย เทวทัต ผู้ใดปรารถนา ผู้นั้นก็จงเป็นผู้อยู่ป่าเถิด”
       ดังนี้แล้ว ทูลว่า “ผู้มีอายุ คำพูดของใครจะงาม ของพระตถาคตหรือของข้าพระองค์? ก็ข้าพระองค์กล่าวด้วยสามารถข้อปฏิบัติอย่างอุกฤษฏ์อย่างนี้ว่า ‘พระเจ้าข้า ดังข้าพระองค์ขอประทานโอกาส ขอภิกษุทั้งหลายจงเป็นผู้อยู่ป่า เที่ยวบิณฑบาต ทรงผ้าบังสุกุล อยู่โคนไม้ อย่าพึงฉันปลาและเนื้อจนตลอดชีวิต’”,
       แล้วกล่าวว่า “ผู้ใดใคร่จะพ้นจากทุกข์, ผู้นั้นจงมากับเรา” ดังนี้แล้ว หลีกไป.
       ภิกษุบางพวกบวชใหม่ มีความรู้น้อย ได้สดับถ้อยคำของพระเทวทัตนั้นแล้ว ชักชวนกันว่า “พระเทวทัตพูดถูก พวกเราจักเที่ยวไปกับพระเทวทัตนั้น” ดังนี้แล้ว ได้สมคบกับเธอ.

____________________________
๑- วิ. จุล. เล่ม ๗/ข้อ ๓๘๓-๓๘๔.


พระเทวทัตทำลายสงฆ์             
พระเทวทัตนั้น ยังชนผู้เลื่อมใสในของเศร้าหมองให้เข้าใจด้วยวัตถุ ๕ ประการนั้น พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูปให้เที่ยวขอ (ปัจจัย) ในสกุลทั้งหลายมาบริโภค พยายามเพื่อทำลายสงฆ์แล้ว.
    เธออันพระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถามว่า
    “เทวทัต ได้ยินว่า เธอพยายามเพื่อทำลายสงฆ์ เพื่อทำลายจักร จริงหรือ?” ทูลว่า “จริง พระผู้มีพระภาค”     
    แม้พระองค์ทรงโอวาทด้วยพระพุทธพจน์มีอาทิว่า “เทวทัต การทำลายสงฆ์มีโทษหนักแล”
    ก็มิได้เชื่อถือพระวาจาของพระศาสดาหลีกไปแล้ว,


    พบท่านพระอานนท์ ซึ่งกำลังเที่ยวไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ จึงกล่าวว่า
    “อานนท์ผู้มีอายุ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าจักทำอุโบสถ จักทำสังฆกรรม เว้นจากพระผู้มีพระภาคเจ้า เว้นจากภิกษุสงฆ์”
    พระเถระกราบทูลความนั้นแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
    พระศาสดาทรงทราบความนั้นแล้วเกิดธรรมสังเวช ทรงปริวิตกว่า
    “เทวทัตทำกรรมเป็นเหตุให้ตนไหม้ในอเวจี อันเกี่ยวถึงความฉิบหายแก่สัตวโลกทั้งเทวโลก”
    ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า
    “กรรมทั้งหลายที่ไม่ดีและไม่เป็นประโยชน์แก่ตน ทำได้ง่าย กรรมใดแลเป็นประโยชน์ด้วย ดีด้วยกรรมนั้นแลทำได้ยากอย่างยิ่ง.”
    ทรงเปล่งพระอุทานนี้อีกว่า
    “กรรมดีคนดีทำได้ง่าย กรรมดีคนชั่วทำได้ยาก กรรมชั่วคนชั่วทำได้ง่าย กรรมชั่วพระอริยเจ้าทั้งหลายทำได้ยาก.”๑-


    ครั้งนั้นแล พระเทวทัตนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งพร้อมด้วยบริษัทของตน ในวันอุโบสถ กล่าวว่า “วัตถุ ๕ ประการเหล่านี้ ย่อมชอบใจแก่ผู้ใด, ผู้นั้นจงจับสลาก” เมื่อพวกภิกษุวัชชีบุตร ๕๐๐ รูป ผู้บวชใหม่ ยังไม่รู้จักธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำทั่วถึง จับสลากกันแล้ว, ได้ทำลายสงฆ์ พาภิกษุเหล่านั้นไปสู่คยาสีสประเทศ.



พระเทวทัตให้สาวกนำไปเฝ้าพระศาสดา              
ฝ่ายพระเทวทัตแล เป็นไข้ถึง ๙ เดือน, ในกาลสุดท้าย ใคร่จะเฝ้าพระศาสดา จึงบอกพวกสาวกของตนว่า
   “เราใคร่จะเฝ้าพระศาสดา, ท่านทั้งหลายจงแสดงพระศาสดานั้นแก่เราเถิด.”
   เมื่อสาวกเหล่านั้นตอบว่า “ท่านในเวลาที่ยังสามารถ ได้ประพฤติเป็นคนมีเวรกับพระศาสดา, ข้าพเจ้าทั้งหลายจักนำท่านไปในที่พระศาสดาประทับอยู่ไม่ได้”
   จึงกล่าวว่า “ ท่านทั้งหลายอย่าให้ข้าพเจ้าฉิบหายเลย ข้าพเจ้าทำอาฆาตในพระศาสดา, แต่สำหรับพระศาสดาหามีความอาฆาตในข้าพเจ้า แม้ประมาณเท่าปลายผมไม่”,
   จริงอยู่ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น ทรงมีพระทัยสม่ำเสมอในบุคคลทั่วไป คือ ในนายขมังธนู ในพระเทวทัต ในโจรองคุลิมาล ในช้างธนบาล และในพระราหุล.
   เพราะฉะนั้น พระเทวทัตจึงอ้อนวอนแล้วๆ เล่าๆ ว่า “ขอท่านทั้งหลายจงแสดงพระผู้มีพระภาคเจ้าแก่ข้าพเจ้า”
               
  ทีนั้น สาวกเหล่านั้น จึงพาพระเทวทัตนั้นออกไปด้วยเตียงน้อย ภิกษุทั้งหลายได้ข่าวการมาของพระเทวทัตนั้น จึงกราบทูลพระศาสดาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข่าวว่า พระเทวทัตมาเพื่อประโยชน์จะเฝ้าพระองค์”
   พระศาสดาตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เทวทัตนั้นจักไม่ได้เห็นเราด้วยอัตภาพนั้น” นัยว่า พวกภิกษุย่อมไม่ได้เห็นพระพุทธเจ้าอีก จำเดิมแต่กาลที่ขอวัตถุ ๕ ประการ, ข้อนี้ย่อมเป็นธรรมดา, พวกภิกษุกราบทูลว่า “พระเทวทัตมาถึงที่โน้นและที่โน้นแล้ว พระเจ้าข้า”


   ศ. เทวทัตจงทำสิ่งที่ตนปรารถนาเถอะ, (แต่อย่างไรเสีย) เธอก็จักไม่ได้เห็นเรา.
   ภ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระเทวทัตมาถึงที่ประมาณโยชน์หนึ่ง แต่ที่นี้แล้ว, (และทูลต่อๆ ไปอีกว่า) มาถึงกึ่งโยชน์แล้ว, คาพยุตหนึ่งแล้ว, มาถึงที่ใกล้สระโบกขรณีแล้ว พระเจ้าข้า.
   ศ. แม้หากเทวทัตจะเข้ามาภายในพระเชตวัน, ก็จักไม่ได้เห็นเราเป็นแท้.



พระเทวทัตถูกธรณีสูบ              
พวกสาวกพาพระเทวทัตมา วางเตียงลงริมฝั่งสระโบกขรณีใกล้พระเชตวันแล้ว ต่างก็ลงไปเพื่อจะอาบน้ำในสระโบกขรณี.
    แม้พระเทวทัตแล ลุกจากเตียงแล้วนั่งวางเท้าทั้งสองบนพื้นดิน เท้าทั้งสองนั้นก็จมแผ่นดินลง.
    เธอจมลงแล้วโดยลำดับเพียงข้อเท้า, เพียงเข่า, เพียงเอว, เพียงนม, จนถึงคอ, ในเวลาที่กระดูกคางจดถึงพื้นดิน ได้กล่าวคาถานี้ว่า

     “ข้าพระองค์ขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น ผู้เป็นบุคคลเลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพ เป็นสารถีฝึกนรชน มีพระจักษุรอบคอบ มีพระลักษณะ(แต่ละอย่าง) เกิดด้วยบุญตั้งร้อย๑- ว่าเป็นที่พึ่งด้วย กระดูกเหล่านี้พร้อมด้วยลมหายใจ.”
               
     นัยว่า “พระตถาคตเจ้าทรงเห็นฐานะนี้ จึงโปรดให้พระเทวทัตบวช. ก็ถ้าพระเทวทัตนั้น จักไม่ได้บวชไซร้, เป็นคฤหัสถ์ จักได้ทำกรรมหนัก, จักไม่ได้อาจทำปัจจัยแห่งภพต่อไป, ก็แลครั้นบวชแล้ว จักทำกรรมหนักก็จริง, (ถึงดังนั้น) ก็จะสามารถทำปัจจัยแห่งภพต่อไปได้” เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงโปรดให้เธอบวชแล้ว.

____________________________
๑- สตปุญฺญลกฺขณนฺติ สเตน ปุญฺญกมฺเมน นิพฺพตฺตเอเกกลกฺขณนฺติ อตฺโถ

พระเทวทัตเกิดในอเวจีถูกตรึงด้วยหลาวเหล็ก              
จริงอยู่ พระเทวทัตนั้นจักเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่าอัฏฐิสสระ ในที่สุดแห่งแสนกัลป์แต่กัลป์นี้ พระเทวทัตนั้นจมดินไปแล้ว เกิดในอเวจี. และเธอเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ ถูกไฟไหม้อยู่ เพราะเป็นผู้ผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว.
               
    สรีระของเธอสูงประมาณ ๑๐๐ โยชน์ เกิดในก้นอเวจีซึ่งมีประมาณ ๓๐๐ โยชน์,
    ศีรษะสอดเข้าไปสู่แผ่นเหล็กในเบื้องบน จนถึงหมวกหู, เท้าทั้งสองจมแผ่นดินเหล็กลงไปข้างล่าง จนถึงข้อเท้า,
    หลาวเหล็กมีปริมาณเท่าลำตาลขนาดใหญ่ ออกจากฝา ด้านหลัง แทงกลางหลังทะลุหน้าอก ปักฝาด้านหน้า,
    อีกหลาวหนึ่ง ออกจากฝาด้านขวา แทงสีข้างเบื้องขวา ทะลุออกสีข้างเบื้องซ้าย ปักฝาด้านซ้าย,
    อีกหลาวหนึ่ง ออกจากแผ่นข้างบน แทงกระหม่อมทะลุออก ส่วนเบื้องต่ำ ปักลงสู่แผ่นดินเหล็ก,
    พระเทวทัตนั้นเป็นผู้ไหวติงไม่ได้ อันไฟไหม้ในอเวจีนั้น ด้วยประการอย่างนี้.


ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=11&p=12
ขอบคุณภาพจาก http://www.phuttha.com/,http://www.84000.org/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28413
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

บุพจริยาของพระองค์เอง

    ในกาลก่อน เราได้ฆ่าพี่น้องชายต่างมารดา เพราะเหตุแห่งทรัพย์ จับใส่ลงในซอกเขา และบด(ทับ) ด้วยหิน
     ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น พระเทวทัตจึงผลักก้อนหินก้อนหินกลิ้งลงมากระทบนิ้วแม่เท้าของเราจนห้อเลือด


     ในกาลก่อนเราเป็นเด็กเล่นอยู่ที่หนทางใหญ่ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ใส่ไฟเผา(ดัก)ไว้ทั่วหนทาง
     ด้วยวิบากกรรมนั้น ในภพหลังสุดนี้ พระเทวทัตจึงชักชวนนายขมังธนู ผู้ฆ่าคนตายมาก เพื่อให้ฆ่าเร


     ในกาลก่อน เราเป็นนายควาญช้าง ได้ไสช้างให้จับมัดพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้อุดมมุนีแม้กำลังเที่ยวบิณฑบาต
     ด้วยวิบากกรรมนั้น ช้างนาฬาคิรีอันดุร้าย(ช้างธนบาล) วิ่งแล่นเข้าไปในคอก(ท้อง) เขา(วงกต) เบื้องหน้าผู้ประเสริฐ

____________________________________________________
พุทธาปทานชื่อปุพพกรรมปิโลติที่ ๑๐ (๓๙๐) ว่าด้วยบุพจริยาของพระองค์เอง
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=7849&Z=7924&pagebreak=0



คาถาของพระอุบาลี

    พระพุทธะนั้นย่อมข้ามโลกพร้อมทั้งเทวโลกได้เพราะขันติ อวิหิงสา และเพราะมีจิตเมตตา
    ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ใครๆให้พิโรธไม่ได้
    เพราะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเช่นกับแผ่นดิน ไม่ข้องอยู่ในลาภและความเสื่อมลาภ ในความสรรเสริญและดูหมิ่น
    ฉะนั้น พระพุทธเจ้าเหล่านั้น ใครๆ ให้พิโรธไม่ได้
    พระมุนีมีจิตเสมอในสรรพสัตว์ คือ ในพระเทวทัต นายขมังธนูองคุลิมาลโจร พระราหุล และในช้างธนบาล
    พระพุทธเจ้าเหล่านี้ย่อมไม่มีความโกรธ ไม่มีความกำหนัด

    พระพุทธเจ้ามีจิตเสมอในชนทั้งปวง คือ ในผู้ฆ่าและโอรส

_______________________________________
อุปาลีเถราปทานที่ ๘ (๖) ว่าด้วยผลแห่งการสร้างสังฆาราม
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๔ ขุททกนิกาย อปทาน ภาค ๑
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=32&A=801&Z=1074
ขอบคุณภาพจาก http://www.dmc.tv/,http://www.dhammavariety.com/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ