เหตุที่มา และ การกระทำที่เป็นสีลัพพตปรามาส
ธรรมหลักในศาสนาพุทธคือ อิทัปปัจจยตา ที่พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ได้อธิบายความหมายไว้ว่าคือ
“ภาวะที่มีอันนี้ๆ เป็นปัจจัย”, ความเป็นไปตามความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย, กระบวนธรรมแห่งเหตุปัจจัย,
กฎที่ว่า “เมื่อสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี, เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น; เมื่อสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้ก็ไม่มี, เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้ก็ดับ”
,เป็นอีกชื่อหนึ่งของหลัก ปฏิจจสมุปบาท หรือ ปัจจยาการ
นั้นสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่างๆ รวมไปถึงพฤติกรรมแต่ละอย่างของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี ดังเช่น พฤติกรรมที่เกิดจากความงมงาย แล้วแสดงออกด้วยการรักษาศีล และการมีวัตรปฏิบัติ การสวดมนต์ การฝึกสมาธิ เป็นต้น โดยไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของสิ่งที่ทำ ตามที่ชาวพุทธรู้จักพฤติกรรมนี้ในนาม “สีลัพพตปรามาส”
พระเถระ ๒ รูปที่โลกยกย่องได้อธิบายเกี่ยวกับเรื่องเกี่ยวกับสีลัพพตปรามาสนี้ไว้ดีแล้ว ขอยกมาอ้างดังต่อไปนี้
"สีลัพพตปรามาส" ก็คือความงมงายเกี่ยวกับการปฏิบัติในศีลและวัตรต่างๆที่ตนปฏิบัติอยู่ พอเอ่ยมาสักว่าชื่อ คนทั้งหลายก็พอจะเข้าใจได้ว่า หมายถึงอะไร ในบาลีจึงไม่มีคำอธิบายที่เป็นคำตรัสโดยตรง ครั้นต่อมาถึงสมัยนี้ โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ ปัญหามันเกิดขึ้นมาก คือ ไม่รู้ ไม่สามารถจะเข้าใจได้ ว่าสิ่งที่เรียกว่าสีลัพพตปรามาสนั้น คืออะไร”________________________________
พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๔
“สีลัพพตุปาทาน ความยึดมั่นในศีลและพรต (clinging to mere rule and ritual) ความอยากได้ อยากเป็นอยู่ ความกลัวต่อการสูญสลายของตัวตน โดยไม่เข้าใจกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยในธรรมชาติ ผสมกับความยึดมั่นในทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ประพฤติปฏิบัติตามๆกันอย่างงมงายในสิ่งที่นิยมว่าขลัง ว่าศักดิ์สิทธิ์ ที่จะสนองความอยากของตนได้
ทั้งที่มองไม่เห็นความสัมพันธ์ทางเหตุผล ความอยากให้ตัวตนคงอยู่ มีอยู่ และความยึดมั่นในตัวตน แสดงออกมาภายนอก หรือ ทางสังคม ในรูปของความยึดมั่นในแบบแผน พฤติกรรมต่างๆ การทำสืบๆกันมา ระเบียบวิธี ขนบธรรมเนียมประเพณี ลัทธิพิธี
ตลอดจนสถาบันที่แน่นอนตายตัวว่า จะต้องเป็นอย่างนั้นๆ โดยไม่ตระหนักรู้ในความหมาย คุณค่า วัตถุประสงค์ และความสัมพันธ์โดยเหตุผล กลายเป็นว่า มนุษย์สร้างสิ่งต่างๆเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อปิดกั้น ปิดล้อมตัวเอง และทำให้แข็งทื่อ ยากแก่การปรับตัว และการที่จะได้รับประโยชน์จากสิ่งทั้งหลายที่ตนเข้าไปสัมพันธ์”________________________________________________
พระพรหมคุณาภรณ์(ป.อ.ปยุตฺโต) พุทธธรรม ฉบับปรับขยาย หน้า ๑๙๗ – ๑๙๘
“ทำไมเราจึงเรียกความงมงายนี้ว่า สีลัพพตปรามาส? ทั้งนี้เป็นด้วยเหตุผล 2 อย่างคือ
ความงมงายต่อสิ่งเหล่านี้มันทำให้บุคคลบัญญัติศีลและวัตรปฏิบัติต่างๆขึ้น ตามความงมงายของตน เพราะฉะนั้นมันจึงเกิดศีลและวัตรอย่างสุนัข อย่างโค เป็นต้นขึ้นมาในโลกนี้ นี้เป็นความงมงายอยู่ที่ตัวศีลและวัตรที่บัญญัติขึ้นมาด้วยความงมงายอย่างหนึ่ง
อีกอย่างหนึ่ง ความงมงายชนิดนี้ได้เข้ามาครอบงำข้อปฏิบัติต่างๆที่ถูกต้อง ที่แท้จริงเป็นของถูกต้อง แต่เมื่อความงมงายเข้ามาครอบงำแล้ว บุคคลผู้ประพฤติศีลและวัตรซึ่งมีอยู่อย่างถูกต้องนั่นแหละ ได้ใช้ความงมงายของตนทำให้กลายเป็นศีลและวัตรที่งมงายไป
เช่น ให้ทาน หรือ รักษาศีล หรือทำสมาธิก็ตามด้วยความงมงาย ด้วยเข้าใจผิดอย่างใดอย่างหนึ่ง หวังผลผิด ใช้เหตุผลในสิ่งนั้นๆผิด หรือกระทั่งไม่อยู่ในอำนาจแห่งเหตุผลเสียเลย ทำให้ข้อปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือ สะอาดบริสุทธิ์นั้น กลายเป็นข้อปฏิบัติที่สกปรกหม่นหมอง เศร้าหมองไปเพราะอำนาจความงมงายของผู้ปฏิบัติเอง นี้อีกอย่างหนึ่ง จึงเป็น ๒ อย่างด้วยกัน”________________________________
พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๗
จากการอธิบายของพระเถระทั้งสอง คงแสดงเหตุที่มาและการกระทำที่เรียกว่า สีลัพพตปรามาสได้เป็นอย่างดีและคงอธิบายถึงเหตุที่ชาวพุทธ รักษาศีล สวดมนต์ ไหว้พระ เพื่อหวังรวย หวังแคล้วคลาด รวมไปถึงการหวัง “เพื่อการเกิดในสวรรค์ เพื่อจะได้วิมาน (คือมีความหมายเป็นกามคุณอย่างยิ่ง)”
ในคู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๙ ได้รวมไปถึงอธิบายได้ด้วยว่า
การกระทำเหล่านั้น จัดเป็นสีลัพพตปรามาสหรือไม่ เพราะ
“เพราะเหตุว่า ศีลและวัตรต่างๆนั้น ท่านไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อความมุ่งหมายอย่างนั้น ท่านบัญญัติไว้เพื่อขูดเกลาความเห็นแก่ตัว หรือ ขุดเกลากิเลสให้เบาบาง ให้มีความยึดมั่นถือมั่นในตัว หรือ ของตัว น้อยลงต่างหาก เมื่อเปลี่ยนจุดมุ่งหมายให้มากลายเป็นเรื่องเห็นแก่ตัว ก็จะพอกพูนความเห็นแก่ตัว เอาอะไรๆมาเข้าข้างตัว ทำไปตามอำนาจของกิเลสและตัณหาหรือทิฏฐิเหล่านี้แล้ว มันก็เท่ากับมีมือสกปรกมาลูบคลำศีลและวัตรของบุคคลนั้นที่ควรจะบริสุทธิ์สะอาดนั้นให้กลายเป็นสกปรกไป”________________________________
พุทธทาสภิกขุ คู่มือพ้นทุกข์ฉบับสมบูรณ์ หน้า ๑๗๙

เพื่อไม่ให้การกระทำของเราเป็นไปในลักษณะของสีลัพพตปรามาส เราจึงต้องมีโยนิโสมนสิการ (การทำในใจโดยแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบ จนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย ) ต้องรู้จุดมุ่งหมายของการกระทำของเราเอง เพื่อให้ปฏิบัติถูกต้องตามธรรม และสัมพันธ์ กลมกลืนกับธรรมที่มารับช่วงต่อ เนื่องจาก
“เมื่อมองในแง่ปรมัตถ์ (มิใช่ในแง่ทิฏฐธัมมกัตถ์ สัมปรายิกัตถ์ ปรัตถะ หรือในแง่สังคม) ศีล สมาธิ ปัญญา ต่างก็มีจุดหมายสุดท้ายเพื่อนิพพานเหมือนกัน แต่เมื่อมองจำกัดเฉพาะตัวแต่ละอย่าง มีขีดขั้นขอบเขตของตนที่ต้องไปเชื่อมต่อกับอย่างอื่น จึงจะให้บรรลุจุดหมายสุดท้ายได้ลำพังอย่างหนึ่งอย่างเดียวหาสำเร็จผลล่วงตลอดไม่ แต่จะขาดอย่างหนึ่งอย่างใดเสียทีเดียวก็ไม่ได้
จึงมีหลักว่า ศีลเพื่อสมาธิ สมาธิเพื่อปัญญา ปัญญาเพื่อวิมุตติ ถ้าปฏิบัติศีลขาดเป้าหมาย ก็อาจกลายเป็นสีลัพพตปรามาส ช่วยส่งเสริมอัตตกิลมถานุโยค ถ้าบำเพ็ญสมาธิโดยไม่คำนึงถึงอรรถ ก็อาจหมกติดอยู่ในฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ส่งเสริมมิจฉาทิฏฐิบางอย่าง หรือส่งเสริมติรัจฉานวิชาบางประเภท ถ้าเจริญปัญญาชนิดไม่เป็นไปเพื่อวิมุตติ ก็เป็นอันคลาดออกนอกมัชฌิมาปฏิปทา ไม่ไปสู่จุดหมายของพุทธศาสนา อาจหลงอยู่ข้างๆระหว่างทาง หรือติดค้างในมิจฉาทิฏฐิแบบใดแบบหนึ่ง”__________________________________________
พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วิธีคิดตามหลักพุทธธรรม หน้า ๔๔
หากเราเพียงปฏิบัติตามๆกันไปโดยไม่ทราบเหตุผลที่แท้ ก็คงเป็นเรื่องยาก ที่เราจักที่จะได้รับประโยชน์จากศาสนาอย่างแท้จริงที่มา
http://www.oknation.net/blog/nadrda2/2012/03/19/entry-1 Posted by ณัฐรดา
ขอบคุณภาพจาก
http://cdn.gotoknow.org/,http://www.rakbankerd.com/,http://www.rd1677.com/