ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ศีล มี ๒ ระดับ คือ โลกียศีล และ โลกุตตรศีล  (อ่าน 11099 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

หมวยจ้า

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +40/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1336
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
ศีล มี ๒ ระดับ คือ โลกียศีล และ โลกุตตรศีล
« เมื่อ: พฤศจิกายน 19, 2010, 06:25:14 pm »
0
ศีลกุศล (๑)
โดย อาจารย์เรณู ทัศณรงค์

ท่านกล่าวว่า เจตนา หัง ภิกขเว สีลัง วทามิ “เจตนางดเว้น คือ ตัวศีล”

ศีล มี ๒ ระดับ คือ โลกียศีล และ โลกุตตรศีล
โลกียศีล คือ ศีลที่รักษาแล้วก็จะได้ไปสู่สุคติ คือ ไปเป็นเทวดา พรหม แต่ก็ยังเวียนว่ายอยู่ใน สังสารวัฏ
โลกุตตรศีล คือ ศีลของผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ได้แก่ อินทรีย์สังวรศีล หรือ ศีลในองค์มรรค

... ศีล ถ้าว่าโดยประเภท มี ๔ ประเภท ...

๑. ปาติโมกข์สังวรศีล
คือ ศีลที่มีบัญญัติไว้ในพระไตรปิฎก ได้แก่ ศีลห้าของฆราวาส ศีลแปดเป็นศีลอุโบสถ ศีลสิบเป็นศีลของสามเณร ศีล ๒๒๗ เป็นศีลของพระภิกษุ ศีล ๓๑๑ ข้อของพระภิกษุณี
๒. ปัจจยวิสุตตศีล
คือ ศีลที่พิจารณาในปัจจัยสี่ ส่วนมากพระสงฆ์เวลาจะรับปัจจัยสี่ (อาหาร บิณฑบาต จีวร ยาแก้ไข้) ก็จะต้องมีการพิจารณา 
๓. อินทรีย์สังวรศีล
คือ ศีลของผู้ปฏิบัติธรรม มีการกำหนด – เห็นหนอ ยินหนอ กลิ่นหนอ รสหนอ เย็นหนอ ร้อนหนอ คิดหนอ คือ การกำหนดในทวารทั้ง ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) อันนี้เรียกว่า อินทรีย์สังวรศีล เป็นศีลของผู้ปฏิบัติธรรม
๔. อาชีวปาริสุทธิศีล
หมาย ถึง ความบริสุทธิ์ในเรื่องของอาชีพ ถ้าโดยทั่วไปแล้ว ก็หมายถึงอาชีพที่บริสุทธิ์ หรือ อาชีพที่พระพุทธเจ้าห้าม เช่น ไม่ขายสัตว์ให้เขาเอาไปฆ่า ไม่ขายมนุษย์ ไม่ขายอาวุธ ไม่ขายยาพิษ ไม่ขายสุราสิ่งเสพย์ติด (นอกจากที่กล่าวมาแล้ว ก็เป็นอาชีพที่บริสุทธิ์) ชาวพุทธจะต้องเว้นจากอาชีพทั้ง ๕ อย่างนี้

แต่ โยคีกำลังปฏิบัติธรรมนั้น เราจะให้พิจารณาเรื่องอาหาร เช่น เห็นหนอ อยากรับประทานหนอ ยกหนอ ไปหนอ จับหนอ ยกหนอ ไปหนอ ตักหนอ ยกหนอ มาหนอ อ้าหนอ ใส่หนอ รสหนอ ลงหนอ วางหนอ เคี้ยวหนอๆๆๆ น้ำลายออก รู้สึกหนอ กลืนหนอ อันนี้ เรียกว่า เป็นอาชีพ เรียกว่าเลี้ยงชีพอย่างบริสุทธิ์ แล้วก็เป็น อาชีวปาริสุทธิศีลของผู้ปฏิบัติ – ขอให้แยกอย่างนี้ด้วย

การรักษาศีลนั้น ถ้าว่าแล้ว คำว่า “ศีล” แปลว่า ปกติ (มีคำแปลมากมาย แต่เอาเฉพาะที่จำเป็น) คนที่มีปกติก็คือจะ
๑. ไม่ฆ่าสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์
๓. ไม่ประพฤติผิดในกาม
๔. ไม่พูดเท็จ
๕. ไม่ดื่มสุรา

ศีลข้อหนึ่ง
คน ที่มีปกติไม่ทำห้าอย่างนี้ ก็คือคนไม่ผิดศีลห้า คนๆ นั้นก็จะมีความเป็นอยู่อย่างปกติสุข ลองสังเกตว่า จริงมั้ยคนที่ผิดศีลห้าแล้วเดือดร้อน ทุกวันนี้ดูได้ในสังคม คนที่ผิดศีลห้า ก็ต้องถูกเค้าฆ่าตาย หรือไม่ก็ถูกตามล่า ติดตาราง ก็ไม่เป็นปกติสุข

ศีลข้อสอง
คน ที่ลักขโมยทรัพย์สินของคนอื่น ผิดศีลข้อสอง ก็จะไม่มีความเป็นปกติสุขไปได้ จะต้องหลีกเร้น หลบซ่อน ถูกตามล่า จับกุม เรียกตัวมาดำเนินคดี

ศีลข้อสาม
การ ประพฤติผิดในกาม ข้อนี้จริงๆ แล้วเป็นพื้นฐานของครอบครัว ถ้าครอบครัวใดผิดศีลข้อนี้ ก็เป็นอันว่า ครอบครัวนั้นไม่เป็นปกติสุข ครอบครัวแตกแยก พ่อไปทาง แม่ไปทาง ลูกไปทาง นี่คือจุดสำคัญที่จะทำลายความมั่นคงของครอบครัว มีคนกล่าวว่า “สามีขี้เหล้า ขี้ไพ่ ก็ช่างเถอะ ยอมได้ แต่ผิดศีลข้อสาม ยอมไม่ได้” ภาษิตไทยบอกว่า “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” นี่ เป็นเรื่องของกิเลส เรื่องของธรรมดา ธรรมชาติ ของใครใครก็รัก ของใครใครก็หวง เพราะฉะนั้น การผิดศีลข้อสาม จึงเป็นเหตุให้เกิดความร้าวรานในครอบครัว และเป็นการทำลายสังคมที่เห็นได้ชัด เพราะกระทบกระเทือนไปถึงเยาวชนด้วย

ศีลข้อสี่
มุสา – การ พูดมุสา ทำง่ายที่สุด เพราะว่าการพูดเท็จ บางครั้งไม่ตั้งใจ บางครั้งมีความตั้งใจ เพราะฉะนั้น ศีลทุกข้อจะมีองค์ประกอบว่าจะศีลขาดขนาดไหน ถ้าเบาหน่อยเรียกว่า ศีลด่าง ศีลพร้อย ศีลยังไม่ขาด (ข้อ ๑ การฆ่า ต้องครบองค์ห้า คือ สัตว์นั้นมีชีวิต – เราก็รู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต – มีจิตคิดจะฆ่า – เพียรพยายามฆ่า - สัตว์นั้นตายลง อันนี้เรียกว่าผิดร้อยเปอร์เซนต์ เรียกว่า ศีลขาด แต่ถ้าไม่มีเจตนา ศีลก็เป็นเพียงด่างพร้อย เช่น ไม่รู้ว่ามียุง เอามือลูบไป ยุงตาย ศีลไม่ขาดแต่ว่าด่างพร้อย ไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น ศีลทุกข้อจะมีองค์ประกอบ)

ศีลข้อห้า
การเสพย์สุรา – ถือว่ามีความสำคัญไม่น้อยกว่าข้ออื่นๆ และในบางแห่งจะอธิบายไว้ว่า ตามปกติเราก็มีสติอ่อนอยู่แล้ว ถ้าพอไปดื่มสุรา (ท่านเรียก “น้ำทำลายสติ”) ถ้า คนเราขาดสติแล้ว ก็ทำได้ทุกอย่าง จึงสังเกตว่า คนจะปล้น จะฆ่า โจร มิจฉาชีพ ลองดูโทรทัศน์ ไม่ว่าเรื่องอะไร ตัวผู้ร้ายต้องถือขวดเหล้า ดูออกเลย นี่คือสื่อ จะเห็นว่า เหล้าเป็นตัวย้อมใจให้คนกล้าหาญที่จะทำชั่วมากขึ้น บางคนถ้าไม่ดื่มสุรามีความละอาย ไม่กล้าร้องเพลง ไม่กล้าทำอะไรทั้งสิ้น แต่พอดื่มสุรา มึนๆ เข้าหน่อย ตึงๆ เข้าหน่อย ร้องเพลงก็ได้ รำก็ได้ ฆ่าก็ได้ ปล้นก็ได้ เพราะฉะนั้น ท่านจึงสังเกตได้ว่า แหล่งอบายมุขซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงทั้งหลาย จะต้องมีสุรา แล้วก้าวไปหานารี ไปพาชี ไปกีฬาบัตร เหล่านี้โยงกัน หมายความว่า คนที่ดื่มสุราแล้ว ก็จะสามารถประพฤติชั่วได้หมดทุกอย่าง เพราะว่าไม่มี “สติ” จึงเรียกว่า “น้ำทำลายสติ”

เพราะฉะนั้น ศีลที่เรามาปฏิบัติธรรม จึงเรียกว่า “อินทรีย์สังวรศีล” หรือ ศีลในองค์มรรค คือ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ (หรืออีกชื่อเรียก วิรตีเจตสิก ๓ = เว้นจากการไม่ทำบาป ๓ คือ กายกรรมบริสุทธิ์ (ไม่ทำบาปทางกาย – สัมมากัมมันตะ) สัมมาวาจา = วาจาบริสุทธิ์, สัมมาอาชีวะ = เลี้ยง ชีพบริสุทธิ์ เพราะฉะนั้น โยคีได้ ๓ ตัวนี้เวลามาประพฤติธรรม นี่คือ ศีลในองค์มรรค ศีลอันนี้จึงจะทำให้ละกิเลสได้แล้วตรงนั้น จะทำให้ศีลห้าบริสุทธิ์

ศีลจึงมี ๓ ระดับ ๓ ประเภท

๑. สมาทานวิรัติ
เวลาไปวัด พระจะให้ศีล เวลาเอาของไปถวายวัด พระก็จะบอกว่า “โยม รับศีลนะ” เราก็รับกับพระ (หรือแม้แต่นั่งดูฟังทีวี พระว่าเราก็ว่าด้วย นี่เรียกว่ารับกับพระ) รู้ มั่ง ไม่รู้มั่ง ก็ว่าตาม รับเสร็จแล้วท่านก็จะให้ถวายไทยทานต่างๆ แล้วเราก็เลิก ไม่สน อันนี้เรียกว่า รับแล้วก็วาง ไม่ได้ถือ เพราะฉะนั้นคนจึงผิดศีลนอกวัด ออกมาปุ๊บก็ผิดศีล ไม่ได้สังวร ไม่ได้ระวัง

๒. สัมปัตตวิรัติ
ระดับ นี้ จิตใจสูงขึ้น ด้วยการงดเว้นเอาเอง เหมือนที่สมาทานทุกเช้า ต่อหน้าพระพุทธรูป ถ้าเจตนางดเว้นเอาเองต่อหน้าพระพุทธรูป ถือว่าเป็นผู้มีระดับจิต มีเจตนาที่จะงดเว้นศีลสูงขึ้น ปราณีตขึ้น

๓. สมุทเฉทวิรัติ
ไม่ ต้องสมาทาน ศีลก็บริสุทธิ์ หมายถึง บุคคลที่ปฏิบัติธรรมแล้ว ก้าวขึ้นสู่ความเป็นพระอริยบุคคล นับตั้งแต่พระโสดาบันอริยบุคคลเป็นต้นไป ศีลห้าจะมั่นเป็นนิตย์ โดยไม่ต้องสมาทาน

ศีล นั้น ถ้าจะว่าไปแล้ว ท่านบอกว่าเป็นแม่ของกัลยาณธรรมทุกประการ ถ้าไม่มีศีลขึ้นต้น กุศลธรรมอย่างอื่นจะไม่เกิดหรือเกิดไม่ได้ ศีลจึงถือเป็นเรื่องสำคัญยิ่งกว่าทาน ถ้าจะว่าแล้ว เพราะเราจะมาเกิดในมนุษย์ ในสุคติภูมิได้ จะต้องอาศัยศีล ถ้าหากว่าไม่มีศีลแล้ว ลำพังแต่ทานอย่างเดียว มาไม่ได้

“สีเลนะ สุคติง ยันติ”

“สีเลนะ โภคะ สัมปทา”

ท่านจึงบอกว่า “ศีลเป็นสะพาน ให้เราเดินไปสู่สุคติ” มีคำกล่าวเวลาพระท่านให้พร “สีเลนะ สุคติง ยันติ” - ศีลจะพาไปสู่ เป็นสะพานไปสู่สุคติภูมิ คือ มนุษย์ เทวดา “สีเลนะ โภคะ สัมปทา” - ศีลเป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์ ผู้มีศีลจะมีโภคทรัพย์

๒ ระดับนี้ ยังอยู่ในโลกียะ เพราะว่าศีลใน ๒ ระดับนี้ เป็นศีลที่สามารถให้เราท่องเที่ยวอยู่ในสุคติภูมิ คือ มนุษย์ ก็เป็นมนุษย์ที่มีความสุข เป็นเทวดาหรือเป็นพรหม

“สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย”

ตอนสุดท้าย ท่านจะกล่าวว่า “สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย” - จะไปสู่มรรค ผล นิพพานได้ ก็ต้องอาศัยศีล ศีลตรงนี้หมายถึง อินทรีย์สังวรศีลและศีลที่อยู่ในองค์มรรค

ศีล ตรงนี้ จึงต่างกัน “โลกุตตรศีล” = ศีล ที่ละกิเลส ศีลของผู้ที่กำลังปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน แต่ศีลที่รักษาทั่วไปเป็นโลกียศีล เพราะว่าสามารถส่งผลให้เราไปสู่มนุษย์ที่ดี ร่ำรวย อายุยืน สวยงาม แต่ว่าก็ยังเวียนว่ายอยู่ เพราะว่าไม่ถึงกับทำลายกิเลส ถ้าเป็นศีลของผู้ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ตรงนั้นจึงจะเป็นศีลที่ทำลายกิเลส หรือไปถึงพระนิพพาน ซึ่งอยู่ในวรรคหลัง “สีเลนะ นิพพุตติง ยันติ ตัสมา สีลัง วิโสทะเย” หมายถึง ศีลของผู้ที่ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

“สุขัง ยาวะชลา สีลัง”

ท่านกล่าวว่า “สุขัง ยาวะชลา สีลัง” – ศีล จะทำให้เกิดสุขตราบเท่าชรา ท่านว่า อยู่กับศีลกับธรรม ดีกว่าอยู่กับทรัพย์สมบัติ อย่าติดลูกติดหลาน ติดทรัพย์สมบัติ มันไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ถ้าท่านอยู่กับศีลแล้ว ศีลจะคุ้มครองให้ท่านมีความสุข ตราบเท่าชรา

“สีลัง โลเก อะนุตตะรัง”

หรืออีกอย่าง ท่านกล่าวว่า “สีลัง โลเก อะนุตตะรัง” – ศีล ยอดเยี่ยมในโลก ถือศีลไว้ รักษาศีลไว้อย่างเดียว ก็สามารถที่จะมีความสงบสุขได้

ศีล จึงเป็นเรื่องที่ทุกคนปฏิบัติธรรมแล้ว พึงตระหนัก สำรวจ สังวร ตัวเองให้มาก และตรงนี้ โยคีควรศึกษาเรื่องศีลห้าให้มาก เพราะเราจะต้องอยู่กับศีลห้า เพราะว่าเป็นผู้ครองเรือน …

การ มาปฏิบัติธรรม พอปฏิบัติแล้ว ศีลห้าจะดีขึ้น ทุกคนที่เคยปฏิบัติแล้ว ลองถามตัวเองว่า ศีลห้าดีขึ้นไหม แสดงให้เห็นว่า จะรู้เองว่าปฏิบัติแล้ว ศีลห้าจะระมัดมั่นขึ้นขนาดไหน อาจมีข้อบกพร่องไปบ้าง แต่เราก็รู้จักสังวรระวัง กำหนดสติอยู่เรื่อยๆ ศีลก็ไม่ค่อยขาด …

http://www.oknation.net/blog/tocare/2008/04/04/entry-1
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นผู้หญิง ตัวเล็ก แต่ก็ยังสู้ได้อยู่ด้วยตัวคนเดียว
พุทโธ พุทโธ พุทโธ ขอถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง ที่ระลึกถึง

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
คำแปลและความหมาย ของคำว่า "ศีล"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 16, 2010, 09:37:25 pm »
0
          คำว่า ศีล นั้น มีคำแปล และความหมายหลายนัย ดังต่อไปนี้ คือ

          1. ศีล มาจากคำว่า "สิระ" ซึ่งแปลว่า ศีรษะ หรือ ยอด เพราะผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นยอดคนนั้น แท้จริง ไม่ได้อยู่ที่การมีทรัพย์สิน อำนาจ ความรู้ หรือความสามารถเหนือกว่าผู้อื่น หากแต่อยู่ที่ความบริสุทธิ์ของศีล ซึ่งเป็นที่ยอมรับยกย่องของเหล่าบัณฑิตว่า ผู้มีศีลย่อมประเสริฐที่สุด

          2. ศีล มาจากคำว่า "สีละ" ซึ่งแปลว่า ปกติ เพราะปกติของคนเรานั้นย่อมรักชีวิตของตน และเห็นคุณค่าชีวิตของคนอื่น เมื่อมีความรู้สึกเช่นนี้ จึงยินดีในการรักษาศีล เพราะไม่ปรารถนาจะเบียดเบียน ซึ่งกันและกัน การรักษาศีลจึงเป็นการนำไปสู่ความเป็นคนที่ปกติสมบูรณ์

          3. ศีล มาจากคำว่า "สีตะละ" ซึ่งแปลว่า เย็น เพราะผู้ที่รักษาศีล จะมีความเย็นกาย เย็นใจ ดุจดัง  บุคคลผู้อาบน้ำชำระกายหมดจดดีแล้ว นั่งพักอยู่ ณ ร่มไม้ใหญ่ ความสงบเยือกเย็นนี้ แม้ผู้ที่อยู่ใกล้ ก็จะรู้สึกปลอดภัย เย็นใจไปด้วย

          4. ศีล มาจากคำว่า "สิวะ" ซึ่งแปลว่า ปลอดโปร่ง เพราะผู้ที่รักษาศีลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ว่าจะนึกถึงการกระทำของตนเรื่องใด ก็ไม่มีสิ่งใดเป็นโทษ ไม่มีสิ่งใดเดือดร้อนกังวลใจ จึงมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง โล่งใจ และปลอดจากเวรภัยทั้งหลาย

          ดังนั้น ศีล จึงเป็นคุณธรรม ที่ทำให้เข้าถึงความเป็นยอดคน เป็นบุคคลผู้สมบูรณ์แบบ มีความเป็นปกติ เป็นผู้ที่เย็นกาย เย็นใจ และมีชีวิตที่ปลอดโปร่ง ปลอดภัยอยู่เสมอ

          สำหรับความหมายที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ ปฏิสัมภิทามรรคนั้น พระสารีบุตรเถระได้กล่าวไว้ว่า

          ศีล คือ "เจตนา" ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากกายทุจริต 3 (ไม่ฆ่าสัตว์, ไม่ลักทรัพย์, ไม่ประพฤติ ผิดในกาม) และวจีทุจริต 4 (ไม่พูดเท็จ, ไม่พูดคำหยาบ, ไม่พูดส่อเสียด, ไม่พูดเพ้อเจ้อ)

          ศีล คือ "เจตสิก" หมายถึงการงดเว้นจากมโนทุจริต 3 (ความโลภอยากได้ของผู้อื่น, มีจิตคิดพยาบาท, มีความเห็นผิด)

          ศีล คือ "ความสำรวมระวัง" ปิดกั้นความชั่ว

          ศีล คือ "การไม่ล่วงละเมิดข้อห้าม"


          แม้ศีลจะมีหลายความหมาย แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เจตนา ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า

          ศีล คือ ความตั้งใจ ที่จะงดเว้นจากความชั่ว ความทุจริต สิ่งที่ไม่ดีทุกประการ

          การรักษาศีล จึงเป็นบุญกิริยาวัตถุ คือวิธีการทำบุญอย่างหนึ่ง เพราะทุกครั้งที่เราตั้งใจงดเว้นจาก ความชั่ว ตั้งใจที่จะไม่เบียดเบียนใคร ย่อมจะเกิดกระแสแห่งความดี เกิดความเมตตาขึ้นมาในใจ ที่เราเรียกว่า กระแสบุญ อันเป็นเครื่องชำระจิตใจของเราให้สะอาดบริสุทธิ์ การรักษาศีลจึงเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิต และจิตใจให้บริสุทธิ์ดีงามยิ่งขึ้น

          นอกจากนี้ ศีลยังเป็นคุณธรรมอันงามด้วยคุณลักษณะ 2 ประการ คือ เป็นคุณธรรมที่รักษา กาย วาจา ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย และเป็นคุณธรรมอันจะนำไปสู่กุศลธรรมเบื้องสูง คือ สมาธิ และปัญญา ต่อไป

อ้างอิง

ที่มา http://main.dou.us/view_content.php?s_id=311
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ศีลกับเป้าหมายชีวิต
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: ธันวาคม 16, 2010, 09:45:45 pm »
0
ศีลกับเป้าหมายชีวิต

          เป้าหมายชีวิตของสรรพ สัตว์ทั้งหลายนั้น มีอยู่ด้วยกัน 3 ระดับ (ดังที่กล่าวมาแล้ว) คือ เป้าหมาย บนดิน (ปัจจุบันชาติ) เป้าหมายบนฟ้า (ภพชาติเบื้องหน้า) และเป้าหมายเหนือฟ้าหรือเป้าหมายสูงสุด (พระนิพพาน)

          เป้าหมายบนดิน คือ การดำเนินชีวิตที่มีความสุข มีความสงบ ไม่เดือดร้อนเป็นทุกข์กาย หรือทุกข์ใจ

          เป้าหมายบนฟ้า คือ การได้บังเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หรืออย่างน้อยได้เกิดมาเป็นมนุษย์อีกครั้ง ไม่ต้องพลัดตกไปสู่อบาย คือเกิดเป็นสัตว์นรก เปรต อสุรกาย หรือ สัตว์ เดรัจฉาน

          เป้าหมายเหนือฟ้า คือ การกำจัดกิเลสอาสวะ เพื่อบรรลุมรรคผลนิพพาน

          การจะบรรลุถึงเป้าหมาย ทั้งสามระดับได้นั้น สิ่งที่ต้องกระทำเป็นอับดับแรก คือ ต้องทำทาน เพราะทาน เป็นเหตุให้ได้ทรัพย์สมบัติ ซึ่งเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิตให้มีความสุขสบาย ดังที่ได้ศึกษาในบทที่ผ่านมา ซึ่งในบทนี้จะกล่าวถึงเรื่อง ศีลกับเป้าหมายชีวิตทั้ง 3 ระดับ เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเป้าหมายชีวิตให้มากขึ้นไปเป็นลำดับ

          5.1.1 ศีลกับเป้าหมายบนดิน
          เมื่อมีสมบัติไว้หล่อ เลี้ยงกาย สิ่งที่จำเป็นต้องได้ถัดมา คือ การมีชีวิตที่สงบสุข ปราศจากทุกข์โทษ ภัย หรือการเบียดเบียนกัน ซึ่งสิ่งที่จะเป็นเครื่องป้องกันมิให้คนในสังคมเบียดเบียนกัน ก็คือศีลนั่นเอง เพราะศีลเป็นเครื่องควบคุมกาย วาจา ของคนให้เรียบร้อย ทำให้ไม่มีการเบียดเบียนชีวิตและทรัพย์สินซึ่งกันและกัน ดังนั้น เพื่อความสุข และความปลอดภัย แต่ละคนจะต้องรักษาศีลของตนเองไว้ให้มั่นคง

          5.1.2 ศีลกับเป้าหมายบนฟ้า
         นอกจากศีลจะเป็นเครื่อง ควบคุมความประพฤติของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขแล้ว  ศีลยังเป็น หลักประกันที่จะทำให้ไม่ต้องตกไปสู่อบาย หรืออย่างน้อยก็ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ที่มีสุขภาพร่างกายสมบูรณ์ แข็งแรง มีอายุขัยยืนยาว เพราะว่าไม่ได้ไปเบียดเบียนทำร้ายใคร จึงทำให้ได้ร่างกายที่เหมาะสม สำหรับทำความดี และยังสามารถใช้ทรัพย์ที่มีให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่อีกด้วย

          5.1.3 ศีลกับเป้าหมายเหนือฟ้า
          การรักษาศีลไม่เพียงเป็น เหตุให้ได้บรรลุเป้าหมายของชีวิตในภพชาตินี้ คือการมีชีวิตที่สงบสุข   ปราศจากทุกข์โทษภัยใดๆ หรือบรรลุเป้าหมายในภพชาติเบื้องหน้า คือการได้เกิดในสุคติโลกสวรรค์เท่านั้น แต่ศีลยังเป็นพื้นฐานของการพัฒนาคุณธรรมทั้งหลายของมนุษย์ ประดุจแผ่นดินเป็นที่รองรับของการงานทั้งปวง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ปฐมพลกรณียสูตร ว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย การงานที่บุคคลต้องทำด้วยกำลังอย่างใดอย่างหนึ่ง
เขาอาศัยแผ่นดิน ยืนอยู่บนแผ่นดินทั้งนั้นจึงจะทำได้ การงานที่ต้องทำเหล่านี้
เขาย่อมทำด้วยอาการอย่างนี้ แม้ฉันใด ภิกษุอบรมอริยมรรคอันประกอบด้วย
องค์ 8  ทำให้มากซึ่งอริยมรรคมีองค์ 8  ก็อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล ฉันนั้น"


          นอกจากนั้น ศีลก็ยังเป็นพื้นฐานในการพัฒนาคุณธรรมเบื้องสูง คือสมาธิและปัญญา ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ใน ภิกขุสูตร ว่า

                    "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เธอจงทำเหตุเบื้องต้นแห่งกุศลธรรมให้บริสุทธิ์   
          ก่อน เหตุเบื้องต้นของกุศลธรรม คือ ศีลที่บริสุทธิ์ดี และความเห็นตรง
          เมื่อใดศีลของเธอบริสุทธิ์ดีแล้ว และความเห็นของเธอก็ตรงดีแล้ว เมื่อนั้นเธอ
          อาศัยศีล ตั้งอยู่ในศีล แล้วจงเจริญสติปัฏฐาน 4 (วิปัสสนา) ต่อไป


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดเธออาศัยศีล และตั้งอยู่ในศีลแล้ว จะเจริญ
สติปัฏฐาน 4 เหล่านี้ โดย 3 ส่วน อย่างนี้ เมื่อนั้นเธอพึงหวังความเจริญ ในกุศล-ธรรมทั้งหลายอย่างเดียวตลอดคืนหรือวัน อันจะมาถึง เธอจะไม่มีความเสื่อมเลย"


          เมื่อเห็นความสำคัญของ ศีลเช่นนี้ จึงควรที่จะศึกษาเรื่องศีลให้ถ่องแท้ จนเกิดความเข้าใจ และสามารถรักษาศีลได้อย่างถูกต้อง มีความสุขความยินดี เต็มใจที่จะรักษา ทั้งนี้เพื่อให้ได้รับประโยชน์อันสูงค่าจากที่เรารักษาศีลได้อย่างบริบูรณ์ ดังธรรมภาษิตของท่านพระสีลวเถระ ใน สีลวเถรถาคา ว่า

                    "ท่านทั้งหลายพึงศึกษาศีลในศาสนานี้ ด้วยว่าศีลอันบุคคลศึกษาดีแล้ว สั่งสมดีแล้ว ย่อมนำสมบัติทั้งปวงมาให้ในโลกนี้ นักปราชญ์เมื่อปรารถนาความสุข
3 ประการ คือความสรรเสริญ การได้ความปลื้มใจ และความบันเทิงในสวรรค์
 
เมื่อละไปแล้ว พึงรักษาศีล ด้วยว่าผู้มีศีล มีความสำรวม ย่อมได้มิตรมาก ส่วนผู้ทุศีลประพฤติแต่กรรมอันลามก ย่อมแตกจากมิตร นรชนผู้ทุศีล ย่อมได้รับการติเตียนและการเสียชื่อเสียง ส่วนผู้มีศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญ และชื่อเสียงทุกเมื่อ ศีลเป็นเบื้องต้น เป็นที่ตั้ง เป็นบ่อเกิดแห่งคุณความดีทั้งหลาย และเป็นประธานแห่งธรรมทั้งปวง

                    เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์ สังวรศีลเป็นเครื่องกั้นความทุจริต
          ทำจิตให้ร่าเริง เป็นท่าที่หยั่งลงมหาสมุทร คือนิพพานของพระพุทธเจ้าทั้งปวง 
          เพราะฉะนั้น พึงชำระศีลให้บริสุทธิ์

                    ศีลเป็นกำลังหาที่เปรียบมิได้ เป็นอาวุธอย่างสูงสุด เป็นอาภรณ์อัน
          ประเสริฐ เป็นเกราะอันน่าอัศจรรย์ ศีลเป็นสะพาน เป็นมหาอำนาจ เป็นกลิ่นหอม
          อย่างยอดเยี่ยม เป็นเครื่องลูบไล้อันประเสริฐ บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมหอม
          ฟุ้งไปทั่วทุกทิศ


                    ศีลเป็นเสบียงอันเลิศ เป็นเสบียงเดินทางชั้นเยี่ยม เป็นพาหนะอัน
          ประเสริฐยิ่งนัก เป็นเครื่องหอมฟุ้งไปทั่วทิศานุทิศ คนพาลผู้มีจิตไม่ตั้งมั่นในศีล
          ย่อมได้รับการนินทาในเวลาที่มีชีวิต อยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปแล้ว ย่อมได้รับทุกข์
          โทมนัสในอบายภูมิ ย่อมได้รับทุกข์โทมนัสในที่ทั่วไป

                    ธีรชนผู้มีจิตตั้งมั่นด้วยดีในศีล ย่อมได้รับการสรรเสริญในเวลาที่มีชีวิต
          อยู่ในโลกนี้ ครั้นตายไปแล้ว ก็ได้รับความสุขโสมนัสในสวรรค์ ย่อมรื่นเริงใจ
          ในที่ทุกสถานในโลกนี้


                    ศีลเท่านั้นเป็นยอด และผู้มีปัญญาเป็นผู้สูงสุดในโลกนี้ ความชนะใน
          มนุษยโลก และเทวโลก ย่อมมีได้เพราะศีล และปัญญา"

อ้างอิง

ที่มา http://main.dou.us/view_content.php?s_id=311
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ