ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ขอทานมี ๒ ประเภท "ให้แล้วต้องไหว้ และ "ให้แล้วไม่ต้องไหว้"  (อ่าน 18943 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ทำความเข้าใจเรื่อง “การบิณฑบาต”
โดย หลวงพ่อพล

ความจริงการบิณฑบาตเป็นเรื่องที่ไม่สำคัญ แต่ปัจจุบันกลายเป็นเรื่องใหญ่และเรื่องสำคัญสำหรับชาวพุทธในเมืองไทยไปซะแล้ว และบางอย่างก็ถึงกับกลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงและมีปัญหาวุ่นวายตามมามากมายทีเดียว ความจริงแล้ว แต่แรกเริ่มเดิมทีนั้นการบิณฑบาตของพระภิกษุนั้นเป็นเพียงการเดินออกไปขออาหารจากชาวบ้านเพื่อประทังชีวิตของพระภิกษุไปวันๆ เท่านั้น ไม่มีอะไรพิเศษมากไปกว่านี้ และการบิณฑบาตนี้ไม่เคยต้องทำให้ใครมีปัญหาหรือต้องเดือดร้อนเลย

แม้การบิณฑบาตถือว่าเป็นเรื่องใหญ่สำหรับพระ เพราะถือว่าเป็นอาชีพในการเลี้ยงชีวิตของพระเลยทีเดียว แต่ในทางสังคมดั้งเดิมแล้วการออกบิณฑบาตของพระนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่เลย เพราะการบิณฑบาตไม่เคยทำให้ชาวบ้านหรือใครในสังคมต้องเดือดร้อน หรือต้องมีปัญหาเอามาถกเถียงวุ่นวายกันแต่อย่างใด เนื่องจากพระพุทธองค์ได้ทรงบัญญัติกฎหรือระเบียบ ที่แสนจะสงบเงียบและเรียบง่าย ให้กับพระภิกษุในขณะบิณฑบาตเรียบร้อยแล้ว และพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดีทุกประเทศทั่วโลกก็ปฏิบัติตามพระพุทธบัญญัตินี้สืบทอดยาวนานมาจนถึงปัจจุบันนี้


 :96: :96: :96: :96: :96: :96:

ที่มาของคำว่า ภิกษุ

การเดินบิณฑบาตเพื่อเลี้ยงชีวิตของพระภิกษุนี้ จึงเป็นที่มาของนามหนึ่งในคำว่า “ภิกษุ หรือ ภิกขุ” ซึ่งแปลว่า “ผู้ขอ” หรืออีกนัยหนึ่งแปลว่า “ผู้เห็นภัยในสังขาร” แต่การขอของพระนั้นแตกต่างจากผู้ขออื่นๆ เพราะการขอหรือการบิณฑบาตของพระนั้นต้องไม่ทำให้ใครหรือสังคมต้องเดือดร้อน เนื่องจากพระภิกษุจะต้องเดินไปโดยอาการอันสงบและสำรวม คือ สำรวมทั้งกายและใจการสำรวมนั้น ได้แก่คอยระวังไม่ให้เกิดความกำหนัด หรือเกิดความยินดียินร้ายในขณะเมื่อตาเห็นรูป, หูฟังเสียง, จมูกดมกลิ่น, ลิ้นลิ้มรส, กายสัมผัส, ใจคิดนึกการสำรวมทางตานับว่าสำคัญมาก พระภิกษุจะต้องไม่เดินสอดส่ายสายตาไปมา หรือที่เรียกว่ากวาดสายตา หรือแสดงอาการหลุกหลิกลุกลี้ลุกลน เป็นต้น

แต่ให้เดินด้วยอาการอันสงบหลบสายตาหรือทอดสายตาลงต่ำ ไม่มองสูงเกินความจำเป็น เมื่อจำเป็นจะต้องกวาดสายตาก็ให้มองกวาดไปได้เพียงชั่วแอกเกวียนโคเท่านั้น (ประมาณ ๑๓๕ องศา) แต่ทั้งนี้และทั้งนั้นก็ต้องปรับให้เหมาะสมกับกาลเทศะในปัจจุบันด้วย เช่น เดินในเมืองที่มีรถมาก หรือเวลาจะข้ามถนนก็ต้องกวาดสายตามองรถที่กำลังวิ่งด้วยความเร็วสูง เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายในขณะข้ามถนน เป็นต้น ซึ่งเมื่อข้ามถนนมาได้ปลอดภัยแล้ว ก็พึงสำรวมระวังอายตนะต่อไป

การบิณฑบาตนั้นจะต้องไม่เอ่ยปากขออาหารจากใครเด็ดขาด ให้เดินไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นว่ามีคนที่แสดงอาการว่าจะให้ คือต้องการจะตักบาตร ก็ให้เดินไปหยุดข้างหน้าผู้นั้น แล้วยืนตรงด้วยความสงบสำรวม เปิดฝาบาตรเพื่อรับอาหาร ในขณะรับอาหารนั้นก็ให้พิจารณาถึงอาหารที่กำลังตกลงไปในบาตรว่าเป็นเพียงธาตุเพื่อบำรุงร่างกายให้สามารถตั้งอยู่ได้เท่านั้น ไม่ให้เกิดความอยากในอาหาร หรือจะแผ่เมตตาไปยังผู้ตักบาตรด้วยก็ได้ ให้รับอาหารแต่พอสมควร แล้วปิดฝาบาตรและเดินต่อไป ไม่จำเป็นต้องให้พรหรือท่องคาถาอนุโมทนา




คำให้พรตอนบิณฑบาต เริ่มมีมาตอนไหน.?

ซึ่งตรงนี้เองที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันมากว่า การให้พรของพระบางรูปขณะบิณฑบาตนั้นผิดพระวินัยบัญญัติของพระพุทธเจ้าหรือไม่.? ข้าพเจ้าเองนั้นได้เคยสังเกตมาว่า แต่เดิมที่ข้าพเจ้าได้เห็นมาตั้งแต่เด็กจำความได้นั้น ก็ไม่เคยเห็นพระภิกษุรุ่นเก่าๆ ท่านให้พรหรือท่องคาถาอนุโมทนาในขณะบิณฑบาตแต่อย่างใด แต่เพิ่งจะมาเห็นในยุคนี้เอง ข้าพเจ้าคาดว่าน่าจะเริ่มมีแบบเป็นที่นิยมกันก็ประมาณเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นต้นมานี่เอง

ซึ่งเกิดจากเหตุผลกลใดก็ยังไม่เป็นที่แน่ชัดแต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า เกิดจากที่พระในเมืองเลียนแบบพระธุดงค์บางรูป (แต่มีหลายครั้งหลายหน) ที่ท่านผ่านเข้ามาบิณฑบาตในเมือง แล้วท่านก็ให้พรคาถาอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี ซึ่งเป็นที่ชื่นอกชื่นใจของญาติโยมผู้ตักบาตรเป็นส่วนมาก เพราะแต่ก่อนแต่เดิมมาเมื่อตักบาตรพระแล้ว พระท่านก็เดินจากไป ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปเงียบๆ

แต่อยู่ต่อมาก็มีพระธุดงค์ห่มผ้าสีกรักเข้มๆ ท่าทางน่าเลื่อมใสศรัทธายิ่งนัก สะพายกลดและย่ามมาบิณฑบาต แล้วกล่าวคำให้ศีลให้พร จึงเป็นที่ถูกอกถูกใจสำหรับญาติโยมคนไทยส่วนใหญ่ ซึ่งปรารถนาต้องการบุญ และความโชคดีเป็นสิริมงคลให้กับตนเองหรือการทำมาค้าขายอยู่แล้ว ซึ่งเมื่อพระในเมืองหลายรูปเห็นเข้าก็รู้สึกขัดเขินและประกอบกับต้องการจะเอาใจชาวบ้านด้วยว่า พระในเมืองก็ให้พรได้เหมือนกัน จึงเกิดการเลียนแบบและตามอย่างกันขึ้น จนมีมากมายและเกือบจะกลายเป็นธรรมเนียม (ธรรมนิยม) ไปแล้วในปัจจุบัน


 st12 st12 st12 st12

พระบัญญัติเกี่ยวกับการแสดงธรรม

คราวนี้เรามาดูกันว่า การให้พรของพระในขณะบิณฑบาตนั้นผิดพระวินัยหรือไม่.? ซึ่งตามพระวินัยหรือพระพุทธบัญญัตินั้น กล่าวเอาไว้ในธัมมเทสนาปฏิสังยุตที่ ๓ มี ๑๖ ข้อว่า
     ๑. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ที่มีร่มในมือ.
     ๒. ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ที่มีไม้พลองในมือ.
     ๓. ฯลฯ ... มีศัสตรา (ของมีคมสำหรับฟันแทง) ในมือ.
     ๔. ฯลฯ ... มีอาวุธในมือ.
     ๕. ฯลฯ ... สวมเขียงเท้า.
     ๖. ฯลฯ ... สวมรองเท้า.
     ๗. ฯลฯ ... ไปในยาน.
     ๘. ฯลฯ ... อยู่บนที่นอน.
     ๙. ฯลฯ ... นั่งรัดเข่า.
    ๑๐. ฯลฯ ... พันศีรษะ.
    ๑๑. ฯลฯ ... คลุมศีรษะ
    ๑๒. ฯลฯ ... เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะ.
    ๑๓. ฯลฯ ... เรานั่งบนอาสนะต่ำ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้นั่งบนอาสนะสูง.
    ๑๔. ฯลฯ ... เรายืนอยู่ จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้นั่งอยู่.
    ๑๕. ฯลฯ ... เราเดินไปข้างหลัง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ ผู้เดินไปข้างหน้า.
    ๑๖. ฯลฯ ... เราเดินไปนอกทาง จักไม่แสดงธรรมแก่คนไม่เป็นไข้ผู้ไปในทาง.

จะเห็นได้ว่าพระพุทธองค์ ทรงให้สิทธิพิเศษยกเว้นให้แก่คนที่กำลังป่วยมากมายหลายอย่างและในหลาสิกขาบท คราวนี้เรามาดูเหตุผลว่า ทำไมพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติพระวินัยเหล่านี้สำหรับพระภิกษุขึ้นมา การบัญญัติสิกขาบทหรือพระวินัยขึ้นมานั้น มีด้วยกันหลายเหตุผล เช่นเพื่อป้องกันการกำเริบของกิเลส, เพื่อให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน, เพื่อป้องกันข้อครหาติเตียนจากชาวบ้านหรือจากบัณฑิตทั้งหลาย เป็นต้น แม้เรื่องบางอย่างจะไม่ได้ผิดศีลธรรมหรือเป็นบาปกรรมอะไร แต่ถ้าชาวบ้านส่วนใหญ่หรือบัณฑิตเขาติเตียน พระพุทธองค์ก็ทรงห้ามไว้ด้วยเช่นกัน




ธรรมเนียมการแสดงความเคารพ

ประเด็นจึงมาอยู่ตรงนี้ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่าเฉพาะพระวินัยทั้ง ๑๖ ข้อที่เกี่ยวกับการแสดงธรรมของพระภิกษุที่ยกมานั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่าเหตุที่ทรงบัญญัติขึ้นไว้ ก็เพื่อเป็นการป้องกันการครหาติเตียนจากวิญญูชนในสมัยนั้นเท่านั้นเอง โดยเราจะสังเกตได้จากว่า ตามความจริงแล้วการแสดงธรรมไม่ว่าจะเป็นในสถานที่ใด ในเวลาไหน กับบุคคลใดก็ตาม ล้วนเป็นเรื่องดีทั้งนั้น ไม่ได้เป็นบาปเป็นอกุศลเลย เพราะเป็นการกล่าวธรรมซึ่งนำไปสู่ความพ้นทุกข์

แล้วเหตุใดพระพุทธองค์จึงทรงห้ามแสดงธรรมด้วยเหตุ ๑๖ ข้อดังที่กล่าวมาแล้ว นั่นก็เพราะว่าคนในสมัยนั้น (หรือรวมทั้งในสมัยนี้) ต่างก็เห็นว่าธรรมะเป็นของสูง แม้พระมหากษัตริย์เวลาจะเรียนธรรมจากครูหรืออาจารย์ ก็ยังต้องนั่งต่ำกว่าครูอาจารย์ เวลาพระภิกษุรูปใดขึ้นเทศนา แม้พระภิกษุรูปนั้นจะมีพรรษาแม้เพียง ๑ พรรษา ก็สามารถนั่งบนอาสนะที่สูงกว่าพระมหาเถระผู้บวชแม้ ๑๐๐ พรรษาได้ เพราะถือกันว่าผู้กำลังกล่าวธรรมนั้นเป็นผู้ที่กำลังยกพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ขึ้นมาแสดง จึงเหมือนกับเรากำลังฟังธรรมจากพระพุทธองค์โดยตรงฉันนั้น

ธรรมเนียมของพระภิกษุจึงยกให้ธรรมะเป็นใหญ่ แม้แต่ธรรมเนียมทางโลกบางประเทศในสมัยก่อนเช่นไทยและจีน เมื่อเวลาราชบุรุษนำพระราชสาสน์ หรือพระบรมราชโองการของพระมหากษัตริย์มายืนอ่านต่อหน้าคนทั้งหลาย ทุกคนก็จะต้องหมอบหรือกราบฟังพระราชสาสน์นั้น แม้จะเป็นถึงพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงเพียงใดก็ตามจะเห็นว่าธรรมเนียมนี้เป็นที่ยึดถือและทำตามกันมาโดยทั่วไป ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติวินัยเกี่ยวกับการแสดงธรรมทั้ง ๑๖ ข้อนี้ เพื่อยกให้ธรรมเป็นใหญ่ และเพื่อไม่ให้เป็นที่ติเตียนจากชาวบ้านหรือวิญญูชนทั้งหลายที่ถือธรรมเป็นใหญ่นั้นด้วยคราวนี้เรามาดูกันว่า

แล้วการให้พรของพระภิกษุบางรูปในขณะบิณฑบาตนั้น ถือว่าเป็นการ “แสดงธรรม” ตามพระวินัยข้อที่ ๑๔ ได้หรือไม่.? เพราะตามธรรมเนียมของคนไทยเมื่อพระกำลังให้พร ญาติโยมก็จะนั่งลงเพื่อให้ตนเองต่ำกว่าพระ แล้วไหว้พนมมือรับพรด้วยความเคารพโดยตามธรรมเนียมของคนไทยถือว่าคนที่อาวุโสกว่าจะถือว่าสูงส่งกว่าผู้น้อย เวลาผู้น้อยจะทำอะไรจึงต้องทำตนเองให้ต่ำกว่าผู้อาวุโสเสมอ เช่น ผู้ใหญ่ก็จะสอนเด็กว่า เป็นเด็กเป็นเล็กอย่ายืนค้ำหัวผู้ใหญ่ เวลาเดินก็อย่าเดินเฉียดใกล้ผู้ใหญ่ที่กำลังนั่งอยู่ เป็นต้น

แต่ธรรมเนียมนี้แตกต่างจากในหลายๆ ประเทศก็มี จึงไม่สามารถเอามาเป็นบรรทัดฐานได้ อย่างเช่นในชมพูทวีปแต่เดิมนั้น การยืนถือว่าเป็นการแสดงความเคารพ และยังใช้เป็นธรรมเนียมอย่างเป็นทางการมาถึงไทยด้วย เช่น เมื่อเวลาพระเถระผู้ใหญ่เดินเข้ามาในที่ประชุม บรรดาพระภิกษุที่อยู่ในที่ประชุมจะต้องลุกขึ้นยืนตรงพนมมือเพื่อเป็นการแสดงความเคารพและแสดงการต้อนรับ และทุกวันนี้ก็ยังใช้กันอยู่

หรือเวลาสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเข้ามาในห้องที่เรากำลังนั่งอยู่ เราก็จะต้องรีบลุกขึ้นยืนพนมมือเป็นการถวายความเคารพ ถ้าเรานั่งเฉยอยู่จะถือว่าเป็นการไม่แสดงความเคารพ หรือเพราะว่าเราสูงส่งกว่าพระสังฆราช เช่น มีพรรษามากกว่า หรือในทางโลกเมื่อเวลาพระมหากษัตริย์ทรงพระดำเนินเข้ามาในห้องที่ประชุม ทุกคนที่กำลังนั่งอยู่ในที่นั้นจะต้องลุกขึ้นยืนเพื่อเป็นการแสดงถวายความเคารพ เช่นเดียวกัน ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าธรรมเนียมการยืนในสมัยพุทธกาลนั้น ถือกันว่าผู้ยืนนั้นแสดงอาการเคารพผู้ที่กำลังนั่งอยู่

ดังนั้นถ้าพระภิกษุยืนแสดงธรรมให้กับผู้ที่ไม่เป็นไข้ที่นั่งอยู่ ก็จะกลายเป็นเหมือนว่าไม่เคารพในธรรมนั้น จะเป็นที่ติเตียนและเสื่อมศรัทธาของมหาชนในสมัยนั้นเอาได้ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติห้ามทั้ง ๑๖ ข้อด้วยประการฉะนี้แต่ธรรมเนียมการยืนแสดงความเคารพนั้น ใช้กับธรรมเนียมที่เป็นทางการเท่านั้น ส่วนในชีวิตประจำวันของชาวบ้านในประเทศไทยนั้น ยังคงถือธรรมเนียมการหมอบกราบ หรือผู้น้อยต้องย่อตัวให้ต่ำกว่าผู้ใหญ่เพื่อเป็นการแสดงความเคารพเหมือนกับในสมัยโบราณอยู่ เมื่อเวลาชาวบ้านรับพรจึงนิยมนั่งลงหรือย่อตัวลงต่ำ

ดังนั้นจึงไม่ตรงกับธรรมเนียมนิยมของชาวชมพูทวีปในสมัยพุทธกาลเลย เพราะชาวชมพูทวีปถือว่าการยืนเป็นการแสดงความเคารพ ส่วนชาวไทยถือว่าการนั่งคุกเข่าหรือย่อตัวให้ต่ำกว่าเป็นการแสดงความเคารพ

ดังนั้นถ้าหากเราจะถือเคร่งตามตัวอักษรในพระวินัยบัญญัติข้อที่ ๑๔ นี้ โดยไม่สนใจกับวัฒนธรรมนิยมของคนไทยที่แตกต่างจากชาวชมพูทวีปแล้ว และต้องการหลีกเลี่ยงมิให้ผิดพระวินัยข้อนี้จริงๆ ก็ต้องให้ยืนทั้งสองคน คือทั้งพระผู้กำลังให้พร และโยมผู้กำลังรับพร


 :25: :25: :25: :25:

แสดงธรรม คืออะไร.?

คราวนี้เราก็มาดูกันว่า แล้วการให้พรของพระภิกษุถือว่าเป็นการแสดงธรรมหรือไม่.? เราก็ต้องมาดูความหมายของคำว่า “แสดงธรรม” กันก่อน การแสดงธรรมนั้นหมายถึงการพูดหรือกล่าวธรรมกถาที่เป็นคำสอนของพระพุทธองค์ หรือเป็นคติธรรมหรือถ้อยคำที่สอนเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในทางเจริญ เป็นต้น แต่การกล่าวให้พรของพระภิกษุ เช่น
    “ขอให้ญาติโยมจงมีความสุขความเจริญ ด้วยอายุ วรรณะ สุขะ พละ เทอญ”

ดังนี้ ไม่จัดว่าเป็นการแสดงธรรมแต่อย่างใด เพราะไม่เข้าข่ายเป็นธรรมกถาเลย เป็นเพียงการอวยชัยให้พรแบบธรรมดาเท่านั้น แม้ว่าจะกล่าวเป็นภาษาบาลีก็ตาม แต่ถ้าแปลออกมาแล้วไม่ใช่ธรรมกถา ก็ไม่ถือว่าเป็นการแสดงธรรมเช่นกัน

ส่วนคำให้พรที่พระส่วนใหญ่นิยมกันในปัจจุบันนี้ คือ คาถาอนุโมทนาเป็นภาษาบาลี ตอน อภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง ...ฯลฯ ... ซึ่งแปลออกมาได้ใจความว่า
     “ธรรมสี่ประการคือ อายุ วรรณะ สุขะ พละย่อมเจริญแก่ผู้มีปกติไหว้กราบ ผู้มีปกติอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ”

ตรงนี้เองที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันว่า ข้อความนี้จัดเป็นธรรมกถาหรือไม่.? พระผู้ใหญ่บางรูปก็ว่าเป็นธรรมกถา บางรูปก็ว่าไม่เป็นธรรมกถา แต่เป็นเพียงการให้พรธรรมดาเท่านั้น เพราะบาลีบทนี้นำมาจากบทอนุโมทนาวิธี เวลาพระอนุโมทนาบุญของชาวบ้านที่มาถวายอาหารทั่วไป ซึ่งการถกเถียงยังไม่เป็นที่สิ้นสุดหรือชี้ขาดไปได้ แต่โดยความเห็นส่วนตัวของข้าพเจ้าว่าบาลีบทนี้ “อาจจะ” ถือว่าเป็นธรรมกถาได้ เพราะถือเป็นคำสอนธรรม แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ขอชี้ขาดลงไปเช่นเดียวกัน


อ่านต่อด้านล่าง....
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 22, 2015, 08:35:57 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ทำอย่างไรไม่ให้ผิดพระพุทธบัญญัติ

ดังนั้นหากพระภิกษุต้องการไม่ให้ผิดพระวินัย เพราะเกรงว่าการกล่าวคาถาอนุโมทนาวิธีบางส่วนบางตอน อาจจะถือว่าเป็นการแสดงธรรมแล้ว ข้าพเจ้าก็ขอแนะนำทางออก ดังนี้
     ข้อ ๑. ไม่ต้องให้พรขณะบิณฑบาต ไม่ต้องเกรงว่าญาติโยมจะเสื่อมศรัทธา เพราะตามธรรมเนียมตั้งแต่ดั้งเดิมของไทยเราก็ไม่เคยเห็นพระให้พรขณะบิณฑบาตเช่นกัน ควรให้พรหลังจากฉันอาหารเสร็จแล้ว และควรแผ่เมตตาจิตไปยังผู้ที่ถวายอาหารทุกๆ คนด้วย
    ข้อ ๒. ถ้าอยากให้พรด้วยบทคาถาที่คิดว่าอาจจะเป็นการแสดงธรรม ก็ต้องบอกให้ญาติโยมยืนรับพรหรือยืนฟังพรนั้น เพื่อเป็นการยึดถือตามตัวอักษรในพระวินัยบัญญัติข้อที่ ๑๔
    ข้อ ๓. ถ้าหากพิจารณาแล้วว่า คำให้พรของตนไม่ใช่การแสดงธรรมแน่ ก็ให้พรได้ตามปกติต่อไป เช่น บทที่ว่า “สัพพะ พุทธานุภาเวนะ สัพพะ ธัมมานุภาเวนะ สัพพะ สังฆานุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เต” แปลว่า “ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ขอความสวัสดีทั้งหลายจงมีแก่ท่านทุกเมื่อเทอญ” บทนี้เป็นการอวยชัยให้พรธรรมดา ไม่ใช่เป็นการแสดงธรรมแต่อย่างใด


 :25: :25: :25: :25:

เป็นสมณะ ควรสำรวม

การให้พรนั้นอาจจะให้พรเป็นภาษาไทยธรรมดาก็ได้ แต่ไม่ควรให้พรด้วยเสียงอันดัง เพราะดูไม่สงบ ไม่สำรวม ไม่เรียบร้อย และเป็นอาการคล้ายกับคนขอทานที่ร้องเพลงขอบคุณผู้ให้ทานมากกว่า เมื่อจะให้พรก็เพียงพึมพำเบาๆ พอให้ญาติโยมได้ยินเบาๆ ก็เพียงพอแล้ว ไม่ควรให้พรแบบพิเศษเพื่อเอาใจหรือประจบสอพลอญาติโยม เพราะเป็นอาการที่ไม่เหมาะสมกับสมณะผู้รักสงบ ที่ต้องการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากการยึดติดในลาภยศ และคำสรรเสริญเยินยอใดๆ



การตักบาตรในครั้งพุทธกาล

ชาวชมพูทวีปแต่เดิมนั้น เมื่อเห็นพระภิกษุมาเดินบิณฑบาต เมื่อเขาทราบว่าสมณะเหล่านี้ไม่ได้ประกอบอาชีพใด แต่เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อขัดเกลาจิตตนเองให้หลุดพ้นจากกิเลสทั้งมวล เมื่อเขาเกิดศรัทธาและอยากได้บุญด้วย เขาก็จะนำอาหารมาให้ ซึ่งอาหารที่นำมานั้นจะมีหลากหลายรูปแบบ แล้วแต่ฐานะของผู้ให้ ถ้าเป็นพระราชาหรือมหาเศรษฐี อาหารก็จะประณีต แต่ถ้าเป็นของชาวบ้านยากจนทั่วไป เขาก็จะนำอาหารที่เขากินกันนั่นเองมาให้

บางคนที่เขาเกิดศรัทธาแบบกะทันหัน คือ เห็นพระมาพอดีแต่ไม่ได้เตรียมอาหารไว้ต่างหาก เขาก็จะนำอาหารในสำรับที่กำลังกินนั่นเองแบ่งมาให้ ซึ่งพระภิกษุทุกรูปก็จะยินดีรับ ไม่มีอาการรังเกียจใดๆ เลย เพราะธรรมเนียมของเขาเป็นอย่างนั้นเอง และพระก็ไม่เคยถือตัวว่าสูงส่งกว่าชาวบ้านในฐานะอภิสิทธิ์ชนแต่อย่างใด ท่านทำตัวตามปกติ ไม่สนใจว่าใครจะเคารพหรือไม่เคารพ ใครจะไหว้หรือใครจะด่า ท่านมีเมตตาต่อมนุษย์ทุกคนเป็นปกติอยู่แล้ว ไม่มียศ ไม่มีตำแหน่ง ไม่มีหัวโขนใดๆ มาสวม

ไปในที่ไหนก็ไม่ต้องการให้มีคนมาคอยเอาใจ พินอบพิเทา ท่านจึงมีแต่ความโปร่งเบาสบายทั้งกายและใจแต่ในประเทศไทยเรา มีชาวพุทธเป็นจำนวนมาก และเคารพศรัทธาเทิดทูนพระสงฆ์มากเกินพอดีไปหน่อย จนกลายเป็นเหมือนว่าพระเป็นอภิสิทธิ์ชน หรือเป็นเหมือนเทวดาชั้นสูง จนกลายเป็นที่รังเกียจของบางคนที่เขาไม่ศรัทธาหรือพวกนับถือศาสนาอื่นบางคน เขาก็จะมองว่าพระเป็นกาฝากสังคมไปก็มี

แม้แต่ข้าพเจ้าเองก็ขอสารภาพว่า ตอนเป็นหนุ่มวัยรุ่นก็เคยคิดแบบนี้เช่นกัน และคิดว่าศาสนาเป็นของไม่จำเป็นต้องมีในโลกก็ได้ ซึ่งนั่นเป็นความคิดของคนโง่เขลาเบาปัญญาโดยแท้ เพราะเป็นการมองศาสนาแต่เพียงเปลือกนอก เห็นแต่เพียงศาสนสถานและศาสนบุคคลเท่านั้น แต่ไม่เคยได้เข้าใจในศาสนธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าเลย

กว่าข้าพเจ้าจะเข้าใจว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคืออะไร พระพุทธศาสนาเกิดมาในโลกนี้เพื่ออะไร พระพุทธเจ้าสอนอะไรก็กินเวลานานหลายปีทีเดียว เมื่อมองย้อนเวลาไปในตอนนั้น จึงได้รู้ว่าเราช่างมืดบอดเสียจริงๆ แต่ข้าพเจ้าก็ยังนับว่าโชคดี ที่ได้หันมาศึกษาพระธรรมจนเข้าใจ แต่ยังมีอีกหลายๆ คนที่ยังไม่เข้าใจและก็จะไม่เข้าใจไปตลอดชีวิตของเขา ซึ่งในสายตาของคนที่เข้าใจอย่างข้าพเจ้า จึงมองว่าคนเหล่านี้น่าสงสารโดยแท้


 st12 st12 st12 st12

อาหารที่ควรนำมาถวายพระ

อันที่จริงข้าพเจ้าอยากจะใช้คำว่า “นำอาหารมาให้พระ” มากกว่าใช้คำว่า “ถวายพระ” เพราะคำว่าถวายเป็นคำที่คนไทยถือกันว่าเป็นคำสูง ใช้สำหรับผู้สูงศักดิ์เท่านั้น แต่ในความจริงแล้วข้าพเจ้าเห็นว่าพระไม่ใช่ผู้สูงศักดิ์ เพราะพระที่แท้ไม่มียศศักดิ์ ไม่ถือยศศักดิ์ แม้ทางโลกเขาจะสมมุติกันตั้งขึ้นขนาดไหนให้กับท่านก็ตาม พระที่แท้จริงท่านก็ไม่ติดในสมมุติเหล่านั้น (มีแต่พระไม่แท้เท่านั้นที่ยังยึดติดอยู่)

ข้าพเจ้าอยากให้คนไทยถือเอาแบบอย่างชาวชมพูทวีปเรื่องการให้อาหารกับพระภิกษุดังที่ได้เล่าไปแล้ว คือ ให้ตามมีตามเกิด ไม่จำเป็นต้องให้อาหารที่ประณีตเกินความจำเป็นหรือเกินฐานะของตน แม้แต่อาหารราคาถูกก็นำมาถวายได้ ถ้าหากเรายังกินอาหารแบบใด เราก็ถวายอาหารแบบนั้นก็ได้ อย่าให้ตัวเองเดือดร้อนในการทำบุญให้ทานเลย แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ว่าอะไรและไม่ขัดศรัทธาหากท่านเป็นคนที่มีศรัทธาแรงกล้า ยอมถวายของดีๆ แม้ตัวเองจะอดอยากยากจน เพราะนั่นก็แสดงว่าท่านเป็นคนที่มีจิตใจสูงส่งและมีศรัทธาแก่กล้าขนาดนั้น

แต่สำหรับคนทั่วไปแล้วข้าพเจ้าขอแนะนำว่า ให้ตามมีตามเกิด พอดีตามฐานะไม่ให้ขัดสนดีกว่า คนไทยเราส่วนมากเข้าใจว่า อาหารที่จะนำมาถวายพระนั้น ต้องเป็นของใหม่และสดเท่านั้น เช่น ข้าวสุกก็ต้องตักมาจากหม้อใหม่ๆ และตักจากข้างบนเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้นก็ได้ ขอให้เป็นข้าวที่ไม่ใช่เหลือจากชามใครก็เป็นอันใช้ได้แล้ว แม้ข้าวในหม้อนั้นจะถูกคนอื่นตักเอาไปกินแล้วก็ไม่เป็นไร

ดูแต่ชาวชมพูทวีปเขาก็ทำอย่างนี้เช่นกัน อาหารที่ควรนำมาถวายนั้น ก็เป็นอาหารที่ชาวบ้านกินกันทั่วไป แต่ก็มีข้อห้ามอาหารบางอย่างที่ไม่ควรนำมาถวายพระภิกษุ ยกตัวอย่างเช่น เนื้อดิบที่ยังไม่ได้ปรุงอาหาร และเนื้อต้องห้าม ๑๐ อย่าง คือ เนื้อมนุษย์ เนื้อสุนัข เนื้อช้าง เนื้อม้า เนื้องู เนื้อหมี เนื้อราชสีห์ เนื้อเสือต่างๆ เป็นต้น




พระภิกษุควรฉันเนื้อหรือไม่.?

เรื่องการฉันเนื้อของพระภิกษุนี้ ก็ยังมีบางคนไม่เข้าใจ และตำหนิว่าพระเป็นผู้ปฏิบัติธรรมและสอนคนไม่ให้ทำผิดศีล แต่ทำไมจึงยังฉันเนื้อฉันปลาอยู่เล่า.? ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ต้องไม่ลืมว่า พระพุทธองค์ไม่ได้ทรงบัญญัติวินัยข้อใดๆ ว่าห้ามภิกษุฉันเนื้อฉันปลา ถ้าเราเชื่อในพระสัพพัญญุตญาณของพระพุทธองค์ ว่าทรงบัญญัติเฉพาะในสิ่งที่เหมาะสมเสมอ เราก็ต้องเชื่อว่านั่นเป็นเหตุผลที่ดีแล้ว

เหตุที่พระพุทธองค์ไม่ทรงบัญญัติห้ามพระภิกษุฉันเนื้อฉันปลา นั่นก็เป็นเพราะว่า พระภิกษุเลี้ยงชีพอยู่ได้ด้วยอาหารจากชาวบ้าน เมื่อตามปกติชาวบ้านเขากินสิ่งใดกัน และเมื่อเขานำมาถวายพระภิกษุก็ต้องกินไปตามอย่างชาวบ้านเขาด้วย

พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “ภิกษุควรทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย” ตรงนี้แหละเป็นคำที่สำคัญนัก เพราะเป็นเหตุผลและคำตอบที่สมบูรณ์แล้ว แต่ทำไมจึงยังมีคนไม่เข้าใจและนำมาถกเถียงกันไม่รู้จักจบสิ้นก็ไม่ทราบอาหารที่ชาวบ้านนำมาถวายให้นั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีชีวิตแล้ว พระภิกษุจึงมองว่ามันเป็นเพียงธาตุอาหารเพื่อใช้หล่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น เวลารับบิณฑบาตจึงมีคำพิจารณาอาหารเอาไว้ท่องหรือทำไว้ในใจเสมอว่า สิ่งเหล่านี้สักว่าเป็นธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น มิให้เกิดยินดีในรส ไม่ให้เกิดความมัวเมาในอาหาร หรือเพื่อให้อ้วนพี เป็นต้น

ดังนั้นจงอย่ามองว่าพระดีแต่พูด คือ สอนคนไม่ให้ทำผิดศีล แต่ตัวเองก็ยังฉันเนื้อสัตว์อยู่ พระพุทธองค์ทรงอนุญาตเนื้อที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ
     ๑. เนื้อนั้น ภิกษุไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน
     ๒. เนื้อนั้น ภิกษุไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน
     ๓. เนื้อนั้น ภิกษุไม่ได้รังเกียจว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน
ทรงอนุญาตให้ฉันเนื้อแบบนี้ได้ แต่หากภิกษุเห็นหรือได้ยินว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน ก็ห้ามมิให้ฉันเนื้อนั้น หรือภิกษุเกิดอาการรังเกียจคือสงสัยว่าเขาฆ่ามาเพื่อตน ก็ห้ามมิให้ฉันเช่นเดียวกัน

ในสมัยครั้งพุทธกาล พระเทวทัตได้เคยเข้าไปทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติสิกขาบทเพิ่มขึ้นมาหลายข้อ หนึ่งในนั้นก็คือ ขอให้บัญญัติว่าห้ามภิกษุฉันเนื้อและปลา แต่พระพุทธองค์ก็ไม่ทรงอนุมัติตามคำขอทุกข้อนั้น เนื่องด้วยเหตุผลดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ภิกษุควรทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย และทรงตรัสว่า ภิกษุรูปใดปรารถนาจะไม่ฉันเนื้อและปลาก็ให้ทำได้ตามเจตนาต้องการ แต่จะไม่ทรงห้ามไปถึงภิกษุทั่วไปด้วย ก็เนื่องด้วยเหตุผลดังกล่าวแล้ว


 st11 st11 st11 st11

ระวังพระอลัชชี

พระอลัชชี คือ พระที่หน้าไม่อาย หรือ หน้าด้านนั่นเอง ได้แก่พระที่ทำผิดพระวินัยบัญญัติโดยไม่ละอายแก่ใจ ซึ่งในปัจจุบันนี้มีพระอลัชชีมากมาย เนื่องด้วยเหตุผลหลายอย่าง เช่น อยากได้ลาภ อยากได้เงิน อยากได้สักการะ อยากได้ยศ อยากได้ตำแหน่ง เป็นต้น

แม้แต่ในขณะบิณฑบาตก็มีพระอลัชชีหลายรูปที่ญาติโยมออกมาจะตักบาตรให้ ก็บอกว่าไม่เอาอาหารแต่ขอเป็นเงินแทนหรือบางรูปก็แข็งแรงดี แต่ยืนบิณฑบาตอยู่กับที่ คอยให้ชาวบ้านมาหย่อนอาหารให้ พอได้มากแล้วก็เอาไปเทให้แม่ค้าเพื่อเวียนนำมาหย่อนให้อีก วนไปวนมา แล้วก็รับเงินจากแม่ค้าสบายไป แต่บางทีก็ไม่ใช่พระจริง แต่เป็นพระปลอม คือเป็นคนธรรมดาที่ไปหาจีวรมาห่มเอง เลียนแบบพระเพื่อหาเงินเท่านั้น ถูกตำรวจจับได้กันอยู่บ่อยๆ และมีกันอยู่เรื่อยๆ




"การขอของพระ" ต่างจาก "การขอของขอทาน"

พระพุทธองค์ทรงบัญญัติสิกขาบท ห้ามพระภิกษุเอ่ยปากขอสิ่งของจากคฤหัสถ์ จึงจะเห็นได้ว่าเวลาพระเดินบิณฑบาตจะไม่มีการเอ่ยปากร้องบอก หรือร้องขอชาวบ้านแต่อย่างใด ท่านจะเดินไปเรื่อยๆ ด้วยอาการอันสงบและสำรวม เมื่อใครเกิดศรัทธาอยากจะให้ ก็นำมาให้เอง ใครไม่อยากให้ก็ไม่ว่าอะไร พระท่านจะไม่มีการมายืนคอย หรือแกล้งมายืนเฉยหน้าบ้านเพื่อบีบบังคับให้รำคาญหรืออึดอัดใจแต่อย่างใด**

ยกเว้นว่า เป็นบ้านที่เคยนิมนต์ไว้เป็นประจำว่าขอให้ท่านมารับอาหารบิณฑบาตทุกวัน เมื่อเขาออกมาไม่ทันพระท่านก็จะยืนรอได้ แต่ท่านก็จะไม่ร้องบอกว่าพระมาแล้ว ท่านจะยืนรอเฉยๆ แต่ถ้ามีลูกศิษย์มาด้วยก็อาจให้ลูกศิษย์ร้องบอกได้ แต่ถ้าไม่ใช่คนที่ตักบาตรประจำแล้ว พระท่านจะไม่มีการไปยืนรอเด็ดขาด เพราะจะเป็นการผิดพระวินัยบัญญัติทันที ท่านต้องเดินไปเรื่อยๆ เมื่อเห็นใครแสดงอาการว่าจะให้ ท่านจึงจะแวะเข้าไปหา

พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุสามารถเอ่ยปากขอสิ่งของจากคฤหัสถ์ (ชาวบ้าน) ได้ในบางกรณี คือ
    ๑. คฤหัสถ์คนนั้นเป็นญาติกับภิกษุผู้ขอ
    ๒. คฤหัสถ์คนนั้นได้เคยปวารณาไว้กับภิกษุนั้น (เคยบอกกับพระรูปนั้นไว้ว่า ถ้าพระคุณเจ้าต้องการอะไรก็บอกได้ จะจัดหามาให้ ฯลฯ...)
    ถ้าหากไม่เป็นไปตามกรณีนี้ คือภิกษุขอสิ่งของกับผู้ไม่ใช่ญาติ ไม่ใช่ปวารณา ก็จะผิดพระวินัยบัญญัติดังกล่าว ดังนั้นขอให้พุทธศาสนิกชนผู้มีปัญญา จงพิจารณาและวิเคราะห์ข้อเขียนของข้าพเจ้า แล้วทำตนให้เหมาะสมกับกาลและเหตุอันควรเถิด.


    ** ยกเว้นว่าเป็นการเสด็จไปโปรดสัตว์ของพระพุทธเจ้าให้กับผู้ที่มีบุญญาบารมี แต่กำลังจะหลงผิดหรือถูกกิเลสครอบงำ ท่านก็จะเสด็จไปทรมาน หรือเพื่อให้เขาเกิดศรัทธา เป็นต้น

ผู้เขียน : หลวงพ่อพล
๗ มิถุนายน ๒๕๕๔
ที่มา www.ebooks.in.th/download/8311/การบิณฑบาต
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

พระสงฆ์ที่ไม่ยอมไปบิณฑบาต จะถือว่าทำผิดพระวินัย จนต้องถึงอาบัติไหมครับ.?

ถามโดยคุณ rojer : บางท่านไม่ยอมบิณฑบาตร โดยอ้างว่าสุขภาพไม่ดี เป็นหอบง่าย แต่ก็ยังสามารถเดินไปไหนมาไหนได้ และยังรับกิจนิมนต์นอกวัดได้ บางท่าน บอกว่าสามารถรับบาตรจากพระอุปฐากที่เป็นลูกศิษย์ที่ไปบิณฑบาตรกลับ มาแล้วตักให้ได้
   1. ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาส หรือพระสมณศํกดิ์สูงๆ ยังต้องไปบิณฑบาต ด้วยหรือเปล่าครับ หรือฝากลูกศิษย์ไปแทนได้
   2. ข้อยกเว้นที่จะทำให้พระสงฆ์ไม่ต้องบิณฑบาต แล้วไม่ผิดพระวินัย เช่น ฝนตกหนัก ป่วยหนักเดินไม่ได้  นอกจากนี้แล้วมีอะไรอีกบ้างครับ




ตอบโดยคุณ paderm : สำหรับเพศคฤหัสถ์ ก็ต้องมีการเลี้ยงชีพ นั่นคือ การประกอบอาชีพที่สุจริต เพื่อที่จะดำรงชีวิตของตนเอง และผู้อื่นที่เกี่ยวข้องเป็นไปอย่างมีความสุข แม้เพศบรรพชิต มีพระภิกษุ ท่านก็ต้อง เลี้ยงชีพ ด้วยอาชีพที่ถูกต้องสมควรกับเพศพระภิกษุ แต่ไม่ใช่ดังเช่นคฤหัสถ์ครับ นั่นคือ การบิณฑบาต ได้อาหารมาด้วยความสุจริต ไม่ใช่ด้วยการเลียบเคียง แต่แสวงหาก้อนข้าว ด้วยการเดินไปตามตรอก สถานที่เหมาะสมด้วยกิริยาที่สมควร เป็นต้น อันเหมาะกับเพศพระภิกษุ นี่คือการเลี้ยงชีพที่ถูกต้องของเพศพระภิกษุ

    1. ผู้ที่เป็นเจ้าอาวาสหรือพระสมณศํกดิ์สูงๆ ยังต้องไปบิณฑบาตด้วยหรือเปล่าครับ หรือฝากลูกศิษย์ไปแทนได้.?
    พระภิกษุไม่ว่ารูปใด แม้แต่พระพุทธเจ้าพระองค์ก็เสด็จบิณฑบาต เพราะเป็นวัตรข้อปฏิบัติที่สมควร 
    ดังนั้น พระภิกษุทุกรูปไม่เว้นว่าใครเลย ก็ควรเป็นผู้เลี้ยงชีพด้วยสุจริต คือ การบิณฑบาต เพราะไม่ใช่เพศคฤหัสถ์แล้ว ก็ต้องปฏิบัติให้สมควรกับเพศด้วย ดังเช่น พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา เมื่อคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาที่เมืองกบิลพัสด์ เมื่อรุ่งเช้า พระพุทธเจ้าเสด็จเดินบิณฑบาต พระเจ้าสุทโธทนะ เห็นพระพุทธเจ้าเดินบิณฑบาตขออาหาร เกิดความละอายใจ เสียใจ เหมือนกับว่า ไปขออาหารคนอื่นเขาทาน ทั้งๆที่ ตัวเอง เป็นลูกกษัตริย์

    พระเจ้าสุทโธทนะรีบไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าและได้กล่าวว่า ทำไมพระองค์ทำให้วงศ์ของหม่อมฉันได้รับความอับอาย ในการเที่ยวขออาหารคนอื่น
    พระพุทธเจ้าตรัสว่า วงศ์ของมหาบพิตรก็อย่างหนึ่ง วงศ์ของอาตมาก็อย่างหนึ่ง เป็นคนละวงศ์กัน คือ เป็นคนละเพศกันแล้ว คือ คฤหัสถ์กับบรรพชิต ดังนั้น บรรชิพแสวงหาอาหารโดยการเที่ยวไปตามตรอก ด้วยปลีแข้ง จึงสมควรกับวงศ์อาตมา พระพุทธเจ้าแสดงธรรม ณ ที่นั้น พระเจ้าสุทโธทนะพระราชบิดา บรรลุเป็นพระโสดาบัน

    จากตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึง การประพฤติอันสมควรกับเพศบรรพชิตพระภิกษุ แม้แต่พระพุทธเจ้ายังแสวงหาก้อนข้าวดวยการเที่ยวบิณฑบาต จะกล่าวไปใยถึงภิกษุรูปอื่นๆครับ ก็ควรเป็นผู้แสวงหาอาหารด้วยความสุจริตด้วยการบิณฑบาตครับ ไม่ใช่ฝากผู้อื่นไปแทน นอกเสียจากเหตุจำเป็นบางอย่างครับ


    2. ข้อยกเว้นที่จะทำให้พระสงฆ์ไม่ต้องบิณฑบาต แล้วไม่ผิดพระวินัย เช่น ฝนตกหนัก ป่วยหนักเดินไม่ได้  นอกจากนี้แล้วมีอะไรอีกบ้างครับ.?
    พระภิกษุ ไม่ต้องไปบิณฑบาต ในกรณ๊ที่คฤหัสถ์นิมนต์ไปฉันที่วัดหรือที่อื่น ก็ไม่ต้องบิณฑบาต หากฝนตกก็สามารถกางร่มได้ แต่ถ้าป่วยก็อนุญาตไว้ครับ และถ้าสถานที่นั้นเป็นที่ที่มีภัยต่างๆทีเกิดขึ้น มีสงครามหรือภัยร้ายแรง ก็ไม่ต้องบิณฑบาตได้ครับ นี่คือมีเหตุจำเป็นจึงไม่บิณฑบาต
    พระภิกษุควรเป็นผู้มีความเพียรไม่เกียจคร้าน การไม่บิณฑบาตทั้งๆที่มีแรงไม่ได้อยู่ในกรณียกเว้นใด การไม่บิณฑบาตเพราะความเกียจคร้าน ย่อมต้องอาบัติและเสื่อมจากคุณธรรมได้ครับ


    ขออนุโมทนา อาจารย์ประเชิญที่ให้รายละเอียดในการตอบ ให้เข้าใจถูกขึ้น ครับ




ตอบโดยคุณเซจาน้อย :-
     "บุคคลไม่ควรใส่ใจคำหยาบของคนอื่นและสิ่งที่กระทำแล้ว และยังไม่ได้กระทำของเขา ควรพิจารณากิจที่ทำแล้ว และยังไม่ได้ทำของตนเท่านั้น"
    "บรรพชิตไม่ควรประมาทในบิณฑบาต อันตนพึงลุกขึ้นยืนรับ"
    "ควรประพฤติธรรมให้สุจริต ผู้ประพฤติธรรมเป็นปกติ ย่อมอยู่เป็นสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

     ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาในกุศลศรัทธาของทุกๆท่านครับ

ตอบโดยคุณ khampan.a :-
      สิ่งที่สำคัญ คือ การศึกษาพระธรรมวินัยให้เข้าใจจริงๆ แล้วน้อมประพฤติในสิ่งที่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ และไม่ประพฤติในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม ถ้าหากว่าไม่ได้ศึกษา ก็จะเป็นเหตุให้ประพฤติในสิ่งที่ไม่สมควร โดยเห็นว่าเป็นสิ่งที่สมควร อันมีพื้นมาจากการไม่ได้ศึกษา ย่อมจะเป็นโทษเป็นภัยแก่ตนเองโดยส่วนเดียว แม้อาบัติเพียงเล็กน้อยก็มีโทษ ถ้าไม่ได้ปลง ไม่ได้กระทำคืนให้ถูกต้องตามพระธรรมวินัย ก็เป็นเครื่องกั้นการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และยังไม่เครื่องกั้นในการไปสุคติภูมิ ด้วยครับ.
      ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ที่มา http://www.dhammahome.com/webboard/topic/21240
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 22, 2015, 09:43:24 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
พระจะงาม..ก็ยามบิณฑบาตร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มิถุนายน 23, 2015, 09:57:52 am »
0


พระจะงาม..ก็ยามบิณฑบาตร


ถาม : ดิฉันเป็นชาวพุทธ ไปวัดเป็นประจำ ได้เห็นบางวัดพระไม่บิณฑบาตร แต่หุงหาอาหารฉันเอง อยากทราบว่าการไม่บิณฑบาตรนั้นถูกต้องหรือไม่ พระภิกษุควรบิณฑบาตรหรือไม่ และการบิณฑบาตรมีผลอะไรบ้าง

ตอบ : การบิณฑบาตรเป็นวัตรปฏิบัติสำคัญที่พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาต้องปฏิบัติ เป็นพุทธบัญญัติมาแต่ครั้งพุทธกาล การไม่บิณฑบาตรไม่ถึงกับผิดวินัยร้ายแรง แต่ไม่เป็นไปตามสมณะสารูป ยิ่งการหุงหาอาหารฉันเองอาจเป็นความผิดตามพระวินัย เพราะมีพระวินัยห้ามมิให้เก็บของขบฉัน บางชนิดก็ห้ามเก็บข้ามวันข้ามคืน บางชนิดก็เก็บได้ชั่วระยะเวลาหนึ่ง ๆ การเก็บของขบฉันเป็นผลร้ายอย่างหนึ่งเพราะทำให้เกิดความรู้สึกหวงแหน ยึดถือ ยึดมั่น ไม่ใช่วิสัยของผู้ครองพรหมจรรย์ในพระธรรมวินัยของพระตถาคตเจ้า

เพราะเหตุนี้พระภิกษุทุกรูป ไม่ว่าจะมีสมณศักดิ์ชั้นไหน ๆ หรือมีภูมิธรรมขั้นไหน ๆ จะต้องออกบิณฑบาตรตามแบบอย่างที่พระพุทธองค์ทรงประพฤติปฏิบัติตลอดพระชนม์ชีพ พระผู้มีพระภาคเจ้านั้นทรงบิณฑบาตรสม่ำเสมอทุกวัน จะมีเว้นบ้างก็เฉพาะเวลาประชวร หรือออกบิณฑบาตรไม่ได้จริง ๆ เท่านั้น เช่น ติดงานรับกิจนิมนต์ไปฉันภัตตาหารตามที่มีผู้นิมนต์ไว้ เป็นต้น

ในพระธรรมวินัยแห่งพระตถาคตเจ้านั้น พระภิกษุมีความงามมากเป็นพิเศษใน 2 อริยาบถ คือในยามออกบิณฑบาตรและในยามนั่งสมาธิภาวนา เป็นความงามเพราะมีความสำรวมพร้อมอยู่ในศีล อยู่ในพระวินัย และอยู่ในธรรม ความตั้งมั่นอยู่ในศีล อยู่ในพระวินัย และอยู่ในธรรม คือความงามของพระสงฆ์ในพระธรรมวินัยของพระอริยเจ้า ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายล้วนสรรเสริญ

ในเวลาออกบิณฑบาตรนั้น พระสงฆ์ที่ทรงศีล ทรงวินัย ทรงธรรม จะแสดงให้ประจักษ์แก่สายตาชาวโลกถึงความงามของศีล ของพระวินัย และของพระธรรม มีความสำรวมพร้อมด้วยกาย วาจา ใจ มีความสงบร่มเย็นที่แม้แต่สัตว์เดรัจฉานก็ยังสังเกตได้ เมื่อครั้งที่ผมบวช เวลาออกบิณฑบาตรต้องเดินผ่านทุ่งนาเป็นระยะทางไกล ๆ ปรากฏว่าบรรดานกเขานาที่เคยบินหนีตอนเดินผ่านเมื่อครั้งที่ยังไม่ได้บวช กลับไม่หนีและยังคงหากินตามปกติ แสดงให้เห็นว่าสัตว์เดรัจฉานเช่นนกก็สัมผัสได้ถึงความร่มเย็น ถึงความสงบ และความปลอดภัยของผู้มีศีลในพระธรรมวินัยของพระอริยเจ้า



การบิณฑบาตรนั้นในปัจจุบันนี้ บรรดานักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยก็ได้ยอมรับนับถือตรงกันว่ามีผลมาก มีอานิสงส์มาก ยกมาพรรณนาได้เป็นประการต่าง ๆ ดังนี้

    1. ทำให้ได้อาหารมาขบฉัน โดยไม่ต้องสั่งสมอาหารหรือหุงหาอาหารฉันเอง ทำให้ไม่ติดในธุระเหมือนกับคฤหัสถ์ผู้มีเพศอันต่ำ เป็นผู้ว่างสงบ สามารถประพฤติปฏิบัติในพรหมจรรย์ได้อย่างเต็มที่ เป็นที่พึ่งได้ของเวไนยสัตว์

    2. ทำให้เวไนยสัตว์ที่ใส่บาตรค่อยๆ กล่อมเกลาและสั่งสมอบรมจิตตนให้รู้จักความเสียสละ ให้คุ้นเคยกับความเสียสละ ความปล่อยวาง ความไม่ยึดมั่นถือมั่น และมีใจเจือเคล้าด้วยปีติและสุขตามประสาโลกียชน ซึ่งเป็นยาวิเศษชนิดหนึ่งที่จะป้องกันรักษาโรคทางจิตได้หลายอย่าง เช่น โรคเครียด โรคซึมเศร้า หรือความเศร้าหมองต่าง ๆ เหตุนี้พระสงฆ์จึงได้ชื่อว่าเป็นเนื้อนาบุญของโลก และได้ชื่อว่าการออกบิณฑบาตรนั้นคือการออกโปรดสัตว์อันเป็นสมณวิสัยที่จะทำให้ชาวโลกบรรเทาเบาบางสร่างคลายหายจากทุกข์เป็นลำดับ ๆ ไป

     3. การออกบิณฑบาตรเป็นการออกกำลังกายชนิดหนึ่ง เทียบได้กับการออกกำลังกายที่เขานิยมเรียกกันว่า morning walk ซึ่งมีแต่ให้คุณประโยชน์สถานเดียว ต่างกับการออกกำลังกายอื่น ๆ ที่หากมากเกินไปหรือไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกายก็อาจเป็นอันตรายถึงตายก็ได้ ทำให้ร่างกายแข็งแรง เป็นปกติอยู่ทุกเมื่อ การที่พระภิกษุอุ้มบาตรไว้ตรงทรวงอกบริเวณหน้าท้อง ทำให้ระบบทางเดินอาหารและระบบย่อยอาหารได้ออกกำลังกายโดยอัตโนมัติ เพราะในขณะที่อุ้มบาตร มีข้าวอุ่น ๆ อยู่ในบาตร และมีการกระเพื่อมไหวในขณะเดิน มีผลเป็นการนวดคลึงบริเวณทรวงอกและท้องน้อย ทำให้เลือดลมเดินเป็นปกติ ทำให้ระบบต่าง ๆ เป็นปกติ มีผลทำให้อายุยืนยาว

     4. มีผลเป็นการบิณฑบาตรคน ทำให้คนเลื่อมใสในพระศาสนาของพระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อครั้งที่หลวงปู่ชาส่งพระลูกศิษย์รูปหนึ่งไปประกาศพระศาสนาที่อังกฤษ ก็กำชับให้ออกบิณฑบาตรทุกเช้า แต่ไม่เคยได้ข้าวเลย วันหนึ่งพระรูปนั้นกลับประเทศไทย ได้ไปถามหลวงปู่ชาว่าบิณฑบาตรมาระยะหนึ่งแล้ว ไม่เคยได้ข้าว ยังจะต้องบิณฑบาตรต่อไปหรือไม่ หลวงปู่ชาบอกว่าต้องบิณฑบาตรต่อไป เพราะการออกบิณฑบาตรนั้นไม่เพียงแต่ต้องการได้อาหารมาดำรงชีวิตอย่างเดียว แต่ต้องบิณฑบาตรคนด้วย

     หลังจากกลับอังกฤษคราวนั้น พระรูปนั้นก็ปฏิบัติตามคำสอนอย่างสม่ำเสมอ ปรากฏต่อมาว่าในการออกเดินบิณฑบาตรทุกเช้ามีตาแก่ฝรั่งคนหนึ่งสงสัยว่าคนหัวโล้นห่มเหลืองเดินทุกเช้าอยู่ทำไม แต่ไม่กล้าเข้าไปถาม ครั้นนานวันเข้าก็เข้าไปเดินใกล้ ๆ แล้วเลียบเคียงถาม จากนั้นก็ค่อย ๆ สนทนากันไปวันแล้ววันเล่า จนมีความซาบซึ้งในพระธรรมวินัยแล้วเปิดเผยว่าตนเองเป็นเจ้าของที่ดินในบริเวณนั้น เพื่ออำนวยประโยชน์ให้แก่เพื่อนมนุษย์ได้สัมผัสกับรสพระธรรม จึงถวายที่ดินให้เป็นที่ตั้งวัดและกลายเป็นวัดไทยที่มีชื่อเสียงในอังกฤษ พระรูปนั้นคือพระสุเมโธในปัจจุบันนี้



หรือเมื่อครั้งที่หลวงปู่มั่นเดินทางไปโปรดชาวเขาเผ่าหนึ่ง ในพื้นที่ภาคเหนืออันเป็นถิ่นทุรกันดาร มีความขาดแคลน ล้าหลัง และไม่รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ท่านก็ไปปักกลดอยู่ใกล้ ๆ หมู่บ้านอันเป็นที่สัมปายะคือเป็นที่สงบแต่ไม่ไกลจากชุมชนตามที่พระวินัยบัญญัติไว้ ทุกเช้าก็ออกบิณฑบาตร ชาวเขาเผ่านั้นไม่รู้จัก และไม่รู้ว่าเป็นอะไร ก็ได้แต่แอบซ่อนดูอยู่ในบ้าน และระแวงว่าอาจจะเป็นเสือสมิงแปลงกายมา จึงตั้งกองเวรยามคอยเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว พวกชาวเขาที่เป็นกองเวรยามเฝ้าตามอยู่ทุกวันก็เห็นหลวงปู่มั่นหลังจากกลับบิณฑบาตรแล้วไม่ได้ข้าวปลาอาหารก็เก็บหาผลไม้มาขบฉัน แล้วก็นั่งหลับตา จากนั้นก็เดินไปเดินมา อดรนทนความสงสัยไม่ไหวจึงเข้าไปไต่ถามว่าที่เดินเข้าไปในหมู่บ้านทุกวันนั้นไปทำอะไร

หลวงปู่มั่นก็บอกว่าไปขอข้าวกิน ชาวเขาก็สงสารจึงเอาข้าวสารหรือข้าวเหนียวใส่บาตร เพราะเข้าใจว่าหลวงปู่มั่นจะต้องหุงหาอาหารกินเอง แต่ทำไม่ได้ตามพระวินัย หลวงปู่มั่นก็ยังเก็บผลไม้มาฉันอยู่เหมือนเดิม ชาวเขาก็สงสัยอีก เข้าไปถามว่าในเมื่อไปขอข้าวและชาวบ้านให้ข้าวแล้ว ทำไมไม่เอามาหุงกิน หลวงปู่มั่นก็อธิบายว่าหุงกินเองไม่ได้ ต้องเป็นข้าวหุงแล้ว จากนั้นชาวเขาก็ใส่บาตรข้าวสุก จึงทำให้พระอาจารย์มั่นมีข้าวสุกฉันเป็นครั้งแรก แต่ชาวเขาก็ยังคงหวาดระแวง เฝ้าติดตามดูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

      :96: :96: :96: :96:

แต่รู้สึกว่า เมื่อเข้าไปใกล้หลวงปู่มั่นรู้สึกร่มเย็นกว่าปกติ จึงเปลี่ยนจากการเรียกหลวงปู่ว่าเสือเป็นเสือเย็น และเรียกหลวงปู่มั่นว่า เสือเย็น และในที่สุดก็สงสัยต่อไปว่า
    เมื่อได้ข้าวมากินแล้ว ทำไมจึงไม่ไปเสียทีหนึ่ง
    ทำไมจึงต้องนั่งๆ เดินๆ จึงเข้าไปถามหลวงปู่มั่นว่าตุ๊เจ้า มานั่งๆเดินๆ อยู่ที่นี่ทำไม
    หลวงปู่มั่นตอบว่า เราทำของสำคัญหายไป จึงมาพยายามค้นหา

    ชาวเขาถามว่าตุ๊เจ้าทำอะไรหาย
    หลวงปู่มั่นบอกว่าทำพุทโธหายไป เราได้รับพุทโธมาจากอาจารย์ของเรา เมื่อหายไปก็ต้องหาให้พบ
    ชาวเขาถามว่า พุทโธเป็นอะไร
    หลวงปู่มั่นตอบว่า เป็นอะไรก็วัดได้หลายอย่าง เป็นของศักดิ์สิทธิ์
    ชาวเขาถามว่า ถ้าศักดิ์สิทธิ์จริงจะป้องกันผีได้หรือไม่
    หลวงปู่มั่นตอบว่า แค่ได้ยินคำว่าพุทโธผีก็หนีหมดแล้ว

    ชาวเขาก็ตกตะลึงแล้วถามว่า ตัวพุทโธนี้ป้องกันเสือได้หรือไม่
    หลวงปู่มั่นตอบว่า เมื่อเสือเข้าใกล้พุทโธก็จะเชื่องเหมือนกับแมว
    ชาวเขาจึงถามว่า แล้วจะหาพุทโธได้ที่ไหน อยู่ในดิน หรืออยู่ที่ต้นไม้
    หลวงปู่มั่นตอบว่า อยู่ที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น
    ชาวเขาจึงถามอีกว่า ถ้าอย่างนั้นพวกเราช่วยตุ๊เจ้าหาพุทโธได้หรือไม่
    หลวงปู่มั่นก็ว่า ได้
    พวกชาวเขาก็ถามอีกว่า พวกผู้หญิงและเด็กจะช่วยหาได้หรือไม่จะได้เร็วขึ้น
    หลวงปู่มั่นก็ตอบว่าได้ จะเป็นผู้หญิง ผู้ชาย เด็กหรือคนแก่ก็ได้ทั้งนั้น



    ชาวเขาจึงถามว่า แล้ววิธีจะหาพุทโธนั้นจะต้องทำอย่างไร
    หลวงปู่มั่นจึงบอกวิธีหาพุทโธว่าให้นั่งนิ่ง ๆ เวลาหายใจเข้าก็ให้ออกเสียงหรือนึกในใจว่าพุท เวลาหายใจออกก็ให้ออกเสียงหรือนึกในใจว่า โธ
    ชาวเขาบอกว่าอย่างนี้ก็ง่าย หลายๆ คนช่วยกันประเดี๊ยวก็พบ
    แต่บางคนก็สงสัยว่านั่งนิ่งๆ แล้วทำอย่างนั้นก็เมื่อย แล้วถ้ายังไม่พบจะต้องทำอย่างไร
    หลวงปู่มั่นก็บอกว่า ถ้าเมื่อยก็ลุกขึ้นเดินหาบ้าง เดินจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่งในระยะราวๆช่วงต้นไม้ที่ชี้ให้ดู

    ชาวเขาเหล่านั้นจึงพร้อมใจกันค้นหาพุทโธวันแล้ววันเล่า แล้วไปเล่ารายงานผลให้หลวงปู่มั่นฟังว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลวงปู่มั่นก็แนะนำวิธีการหาพุทโธให้มีความแน่วแน่มากขึ้น ให้มีความสงบนิ่งมากขึ้น ไม่ให้วอกแวกคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ จะทำให้หาพุทโธไม่พบ ถ้าเห็นอะไร รู้สึกอย่างไรก็ให้รู้ตัวว่าเห็นอย่างนั้น รู้สึกอย่างนั้น แต่นั่นไม่ใช่พุทโธ ต้องหาต่อไป เมื่อเมื่อยก็ลุกขึ้นเดินหาตามวิธีการอย่างเดียวกัน
    ชาวเขาเหล่านั้นช่วยกันค้นหาพุทโธ ระยะหนึ่งก็รู้สึกว่ามีความสุข มีความสบาย มีความร่มเย็นมากขึ้น ก็ไปบอกหลวงปู่มั่น หลวงปู่มั่นก็บอกว่าใกล้จะพบพุทโธแล้วจึงเป็นอย่างนั้น ชาวเขาเหล่านั้นก็ช่วยกันค้นหาพุทโธต่อไป


st12 st12 st12 st12

ไม่นานเท่าใดนัก หนึ่งในกลุ่มชาวเขานั้นก็ได้บรรลุธรรม สำเร็จในอธิจิต แล้วไปกราบรายงานหลวงปู่มั่นทราบ หลวงปู่มั่นท่านทราบอยู่ก่อนแล้ว จึงบอกให้ชาวเขารูปนั้นช่วยสอนเพื่อนชาวเขาให้รู้จักพุทโธที่ค้นพบแล้ว จากนั้นชาวเขาทั้งหมู่บ้านก็ประกาศตนเป็นพุทธมามกะและหลายคนก็อุปสมบท หลวงปู่มั่นก็จากไป

เหล่านี้คืออานิสงส์ของการบิณฑบาตรที่มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ทั้งแก่ตนและแก่ท่าน เป็นกิริยาอาการที่งามสง่าของพระสงฆ์ และเป็นฐานะที่ทำให้พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญของโลก.


Posted by paisal
http://www.oknation.net/blog/paisalvision/2009/02/20/entry-7
ขอบคุณภาพจาก :-
http://i918.photobucket.com/
http://www.teepuck.com/
http://www.dogcanstay.com/
http://2g.pantip.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2015, 10:02:15 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

ตอนที่ ๓๗ : โปรดพระพุทธบิดา
พุทธประวัติทัศนศึกษา โดย พระธรรมโกศาจารย์(ชอบ อนุจารี)
โพสท์ในกระทู้ลานธรรม มูลนิธิอภิธรรมมูลนิธิ โดย ดอกแก้ว (28 ก.พ. 2546)

     ครั้นสิ้นสมัยราตรีรุ่งเช้า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จด้วยพระขีณาสพ ๒ หมื่นเป็นบริวาร ทรงบาตรดำเนินภิกษาจารตามท้องถนนในกบิลพัสดุ์นคร ขณะนั้น มหาชนที่สัญจรในถนน ตลอดไปถึงทุก ๆ คน ทุกบ้านช่อง ต่างก็จ้องดูด้วยความเลื่อมใสและประหลาดใจระคนกันว่า ไฉนพระผู้เป็นเจ้าสิทธัตถะกุมารจึงนำพระสงฆ์เที่ยวภิกษาจารด้วยอาการเช่นนี้ แล้วก็โจษจันกันอึงทั่วพระนคร

     เมื่อพระเจ้าสุทโธทนะทรงทราบก็ตกพระทัย รีบเสด็จลงจากพระราชนิเวศน์ เสด็จพระราชดำเนินไปหยุดยืนเฉพาะพระพักตร์พระบรมศาสดาแล้วทูลว่า
      “ไฉนพระองค์จึงทรงทำให้หม่อมฉันได้รับความอัปยศ โดยเที่ยวภิกษาจารเช่นนี้”
     สมเด็จพระชินสีห์จึงตรัสตอบว่า
     “ดูกรพระราชสมภาร อันการเที่ยวบิณฑบาตนี้ เป็นจารีตประเพณีของตถาคต”

     “ข้าแต่พระผู้มีพระภาค อันบรรดากษัตริย์ขัตติยสมมติวงค์องค์ใดองค์หนึ่ง ซึ่งเที่ยวบิณฑบาตเช่นนี้ยังจะมีอยู่ ณ ที่ใด ประเพณีของหม่อมฉันไม่เคยมีแต่ครั้งไหนในก่อนกาล”
    “ดูกรพระราชสมภาร นับแต่ตถาคตได้บรรลุพระสัมโพธิญาณแล้ว ก็สิ้นสุดสมมติขัตติวงศ์ เริ่มประดิษฐานพุทธวงศ์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันนี้ ดังนั้น การเที่ยวบิณฑบาตจึงเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้า ตลอดพระภิกษุสงฆ์ที่สืบสายพุทธวงศ์ชั่วนิรันดร”



      เมื่อพระบรมศาสดาตรัสเช่นนี้แล้ว จึงแสดงธรรมโปรดพระพุทธบิดาให้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล แล้วพระเจ้าสุทโธทนะก็ทรงรับบาตรของพระบรมศาสดา ทูลอาราธนาให้เสด็จขึ้นพระราชนิเวศน์ พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์ ทรงอังคาสด้วยอาหารบิณฑบาตอันประณีต

      วันรุ่งขึ้น พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สอง ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสพระธรรมเทศนาโปรดพระนางมหาปชาบดีและพระเจ้าสุทโธทนะพระพุทธบิดา เมื่อจบพระธรรมเทศนา พระนางมหาปชาบดีได้บรรลุโสดาปัตติผล พระพุทธบิดาได้บรรลุสกทาคามีผล

      วันรุ่งขึ้นอีก พระบรมศาสดาเสด็จพระพุทธดำเนินไปรับภัตตาหารบิณฑบาต ในพระราชนิเวศน์เป็นวันที่สาม ครั้นเสร็จภัตตกิจแล้ว ตรัสเทศนามหาธรรมปาลชาดกโปรดพระพุทธบิดา ให้สำเร็จพระอนาคามีผล


ที่มา http://www.dharma-gateway.com/buddha/buddha-main-page.htm
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 23, 2015, 10:22:39 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

PRAMOTE(aaaa)

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: ชาย
  • กระทู้: 3598
  • ความศรัทธาคือเชื่อเรื่องการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0

        ขออนุโมทนาสาธุ ครับ
บันทึกการเข้า
การมีกัลยาณมิตร ครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนธรรม เป็นเรื่องที่ดี
..เชื่อเรื่องการตรัสรู้ธรรม ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
...และเชื่อในพระธรรมที่เป็นตัวแทนของพระศาสดา

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
 

พวกเราเป็น "ผู้อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพ" เป็นเช่นกับ "พวกเปรต"


     ask1 ask1 ask1 ask1 ask1


      พระศาสดาเสด็จไปโปรดพราหมณ์และภรรยา
           
    พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยแห่งผลทั้ง ๓ ของพราหมณ์นั้น และนางพราหมณีของเขา จึงได้เสด็จไปในเวลาบริโภคของพราหมณ์ แล้วประทับยืนอยู่ที่ประตู. แม้พราหมณ์นั้นบ่ายหน้าไปภายในเรือน นั่งบริโภคอยู่ที่หน้าประตู เขาไม่เห็นพระศาสดาผู้ประทับยืนอยู่ที่ประตู.

    ส่วนนางพราหมณีของเขากำลังเลี้ยงดูเขาอยู่ เห็นพระศาสดา จึงคิดว่า "พราหมณ์นี้ถวายทานอันเลิศในฐานะทั้ง ๕ (ก่อน) แล้วจึงบริโภค ก็บัดนี้ พระสมณโคดมเสด็จมาประทับยืนอยู่ที่ประตู ถ้าว่า พราหมณ์เห็นพระสมณโคดมนี่แล้ว จักนำภัตของตนไปถวาย เราจักไม่อาจเพื่อจะหุงต้มเพื่อเขาได้อีก."

     นางคิดว่า "พราหมณ์นี้จักไม่เห็นพระสมณโคดมด้วยอาการอย่างนี้" จึงหันหลัง ให้พระศาสดา ได้ยืนก้มลงบังพระศาสดานั้นไว้ข้างหลังพราหมณ์นั้น ประดุจบังพระจันทร์เต็มดวงด้วยฝ่ามือฉะนั้น. นางพราหมณียืนอยู่อย่างนั้นนั่นแหละ แล้วก็ชำเลือง ดูพระศาสดาด้วยหางตา ด้วยคิดว่า "พระศาสดาเสด็จไปแล้วหรือยัง."


      :25: :25: :25: :25:

       พราหมณ์เห็นพระศาสดา   
           
     พระศาสดาได้ประทับยืนอยู่ในที่เดิมนั่นเอง. ส่วนนางมิได้พูดว่า "นิมนต์พระองค์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด" ก็เพราะกลัวพราหมณ์จะได้ยิน, แต่นางถอยไป แล้วพูดค่อยๆ ว่า "นิมนต์โปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด."
     พระศาสดาทรงสั่นพระเศียร ด้วยอาการอันทรงแสดงว่า "เราจักไม่ไป"

     เมื่อพระพุทธเจ้าผู้เป็นที่เคารพของชาวโลก ทรงสั่นพระเศียรด้วยอาการอันแสดงว่า "เราจักไม่ไป" นางไม่อาจอดกลั้นไว้ได้ จึงหัวเราะดังลั่นขึ้น.

      ขณะนั้น พระศาสดาทรงเปล่งพระรัศมีไปตรงเรือน. แม้พราหมณ์นั่งหันหลังให้แล้วนั่นแล ได้ยินเสียงหัวเราะของนางพราหมณี และมองเห็นแสงสว่างแห่งพระรัศมีอันมีวรรณะ ๖ ประการ จึงได้เห็นพระศาสดา.


      st12 st12 st12 st12

       พราหมณ์ถวายภัตแด่พระศาสดา     
         
     ธรรมดาว่า พระพุทธเจ้าทั้งหลายยังไม่ได้ทรงแสดงพระองค์แก่ชนทั้งหลายผู้ถึงพร้อมแล้ว ด้วยเหตุในบ้านหรือในป่าแล้ว ย่อมไม่เสด็จหลีกไป.

     แม้พราหมณ์เห็นพระศาสดาแล้ว จึงพูดว่า "นางผู้เจริญ หล่อนไม่บอกพระราชบุตรผู้เสด็จมาประทับยืนอยู่ที่ประตูแก่เรา ให้เราฉิบหายเสียแล้ว หล่อนทำกรรมหนัก" ดังนี้แล้ว ก็ถือเอาภาชนะแห่งโภชนะที่ตนบริโภคแล้วครึ่งหนึ่ง ไปยังสำนักพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า
     "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ถวายทานอันเลิศในฐานะทั้ง ๕ แล้ว จึงบริโภค แต่ส่วนแห่งภัตส่วนหนึ่งเท่านั้น อันข้าพระองค์แบ่งครึ่งจากส่วนนี้บริโภค ส่วนแห่งภัตส่วนหนึ่งยังเหลืออยู่ ขอพระองค์ได้โปรดรับภัตส่วนนี้ของข้าพระองค์เถิด."




        พราหมณ์เลื่อมใสพระดำรัสของพระศาสดา
             
      พระศาสดาไม่ตรัสว่า "เราไม่มีความต้องการด้วยภัตอันเป็นเดนของท่าน"
       
       ตรัสว่า "พราหมณ์ ส่วนอันเลิศก็ดี ภัตที่ท่านแบ่งครึ่งบริโภคแล้วก็ดี เป็นของสมควรแก่เราทั้งนั้น
       แม้ก้อนภัตที่เป็นเดน เป็นของสมควรแก่เราเหมือนกัน
       พราหมณ์ เพราะพวกเราเป็นผู้อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพ เป็นเช่นกับพวกเปรต"


       แล้วตรัสพระคาถานี้ว่า :-
       "ภิกษุผู้อาศัยอาหารที่บุคคลอื่นให้เลี้ยงชีพ ได้ก้อนภัตอันใดจากส่วนที่เลิศก็ตาม จากส่วนปานกลางก็ตาม จากส่วนที่เหลือก็ตาม. ภิกษุนั้นเป็นผู้ไม่ควรเพื่อชมก้อนภัตนั้น, และไม่เป็นผู้ติเตียนแล้ว ขบฉันก้อนภัตนั้น, ธีรชนทั้งหลายย่อมสรรเสริญแม้ซึ่งภิกษุนั้นว่า เป็นมุนี."

      พราหมณ์พอได้ฟังพระคาถานั้น ก็เป็นผู้มีจิตเลื่อมใส แล้วคิดว่า "โอ.! น่าอัศจรรย์จริง,
      พระราชบุตรผู้ชื่อว่าเจ้าแห่งดวงประทีป มิได้ตรัสว่า ‘เราไม่มีความต้องการด้วยภัตอันเป็นเดนของท่าน’ ยังตรัสอย่างนั้น"
      แล้วยืนอยู่ที่ประตูนั่นเอง ทูลถามปัญหากะพระศาสดาว่า
      "ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ พระองค์ตรัสเรียกพวกสาวกของพระองค์ว่า ‘ภิกษุ’ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร.? บุคคลชื่อว่าเป็นภิกษุ."


       ans1 ans1 ans1 ans1

        คนผู้ไม่กำหนัดไม่ติดในนามรูปชื่อว่าภิกษุ
             
      พระศาสดาทรงใคร่ครวญว่า "ธรรมเทศนาเช่นไรหนอ.? จึงจะเป็นเครื่องสบายแก่พราหมณ์นี้" ทรงดำริว่า "ชนทั้งสองนี้ ในกาลของพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสป ได้ฟังคำของภิกษุทั้งหลายผู้กล่าวอยู่ว่า ‘นามรูป’ การที่เราไม่ละนามรูปแหละ แล้วแสดงธรรมแก่ชนทั้งสองนั้น ย่อมควร"

      แล้วจึงตรัสว่า "พราหมณ์ บุคคลผู้ไม่กำหนัด ไม่ข้องอยู่ในนามรูป ชื่อว่าเป็นภิกษุ"
      ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถานี้ว่า :-
      สพฺพโส นามรูปสฺมึ ยสฺส นตฺถิ มมายิตํ อสตา จ น โสจติ ส เว ภิกฺขูติ วุจฺจติ.
      ความยึดถือในนามรูปว่าเป็นของๆ เรา ไม่มีแก่ ผู้ใดโดยประการทั้งปวง, อนึ่ง ผู้ใดไม่เศร้าโศก เพราะนามรูปนั้นไม่มีอยู่, ผู้นั้นแล เราเรียกว่าภิกษุ.


ที่มา อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ภิกขุวรรคที่ ๒๕ เรื่องปัญจัคคทายกพราหมณ์
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=35&p=6
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎกได้ที่ http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=1244&Z=1300
ขอบคุณภาพจาก
http://www.bloggang.com/
http://i453.photobucket.com/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 25, 2015, 09:55:30 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

rainmain

  • มีเหตุมีผล
  • ****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 323
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
อันที่จริง ข้อความตรงนี้ ต้องการสื่อเรื่อง บิณฑบาตร ไม่ว่า บิณฑบาตร นั้นจะประณีต หรือ ไม่ประณีตหากแต่ผู้ถวาย มีความศรัทธาเลื่อมใส ในทาน ที่ถวายแล้ว ทานนั้นย่อมประเสริฐ ประกอบด้วย มโนสุจริต ก็พึงเป็นทาน อันพระภิกษุไม่พึงดูหมิ่นในทานนั้น

    ชื่อว่า ทานนั้น ย่อมมีผลอันใหญ่ อันภิกษุไม่สามารถให้ผู้อื่นบริโภตได้ก่อน ยกเว้นสองท่านคือ ครูอุปัชฌาย์ และ มารดา นั่นเอง หากผู้อื่นบริโภคก่อน ภิกษุ นั้นโทษคือ ความเป็นเปตร ย่อมมีแก่ผู้บริโภคเพราะกรรมอันบริโภคก่อนนั่นเอง ครับ

  :coffee2: like1 st11 st12
บันทึกการเข้า
คิดดี พูดดี ทำดี เป็นกุศล และ กรรมฐาน เป็นมหากุศล นะครับ

painting

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 72
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0


อ่านแล้ว อยากได้บาตร พระอาจารย์ บ้าง นะครับ
ไม่เคยทำบุญกับท่านเลย

 ไม่รุ้ว่าจะมีโอกาสเมื่อไหร่
บันทึกการเข้า

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

๘. ปิณโฑลยสูตร ว่าด้วยเหตุที่ต้องดำรงชีพด้วยบิณฑบาต
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๙ สังยุตตนิกาย ขันธวารวรรค

     [๑๖๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธาราม ใกล้พระนครกบิลพัสดุ์สักกชนบท. ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงขับไล่พระภิกษุสงฆ์ในเพราะเหตุเรื่องหนึ่งแล้วเวลาเช้า ทรงผ้าอันตรวาสก ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครกบิลพัสดุ์ครั้นแล้ว ในเวลาปัจฉาภัต เสด็จกลับจากบิณฑบาต เสด็จไปยังป่ามหาวัน เพื่อประทับพักในกลางวัน ครั้นเสด็จถึงป่ามหาวันแล้ว ได้ประทับนั่งพักกลางวัน ณ โคนต้นมะตูมหนุ่ม

     ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกออกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดพระปริวิตกขึ้นว่า เราแลได้ขับไล่ภิกษุสงฆ์ให้ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุเหล่านั้นไม่เห็นเรา พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวน เหมือนลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปรไป ฉะนั้น
     ถ้ากระไรเราพึงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้อนุเคราะห์มาแล้วในก่อนๆ ฉะนั้นเถิด.


      :25: :25: :25: :25: :25:

     [๑๖๖] ครั้งนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ได้ทราบพระปริวิตกของพระผู้มีพระภาค ด้วยใจของตนแล้ว ได้หายไปจากพรหมโลก มาปรากฏเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาค เหมือนกับบุรุษผู้มีกำลังเหยียดแขนที่คู้ หรือคู้แขนที่เหยียด ฉะนั้น
     ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทำผ้าอุตราสงค์เฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้วประนมมือ กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
     ข้าแต่พระผู้มีพระภาคข้อนี้เป็นอย่างนั้น ข้าแต่พระสุคต ข้อนี้เป็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคได้ทรงขับไล่ภิกษุสงฆ์ไปแล้ว ในภิกษุสงฆ์เหล่านี้ พวกภิกษุที่ยังใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมาสู่ธรรมวินัยนี้มีอยู่ เมื่อภิกษุสงฆ์เหล่านั้นไม่เห็นพระผู้มีพระภาค พึงเป็นผู้มีความกินแหนง มีใจแปรปรวนเหมือนกับลูกโคน้อยๆ เมื่อไม่เห็นแม่ พึงมีความกินแหนง มีใจแปรปรวน ฉะนั้น เหมือนกับพืชที่ยังอ่อนๆ เมื่อไม่ได้น้ำ พึงมีความผันแปรไป มีความเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้น
     พระเจ้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงชื่นชมกะภิกษุสงฆ์ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงพร่ำสอนภิกษุสงฆ์จงทรงอนุเคราะห์ภิกษุสงฆ์ในบัดนี้ เหมือนกับที่ได้ทรงอนุเคราะห์มาแล้วแต่ก่อนๆ ฉะนั้นเถิด.
     พระผู้มีพระภาค ทรงรับอาราธนาโดยดุษณีภาพ.
     ลำดับนั้นแล ท้าวสหัมบดีพรหม ทราบว่าพระผู้มีพระภาคทรงรับอาราธนาแล้ว จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคกระทำประทักษิณแล้ว อันตรธานไปจากสำนักของพระผู้มีพระภาคนั่นแล.





      [๑๖๗] ลำดับนั้นแล เป็นเวลาเย็น พระผู้มีพระภาคเสด็จออก จากที่พักผ่อนแล้วเสด็จไปยังนิโครธาราม แล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูไว้ ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคทรงบันดาลด้วยอิทธาภิสังขาร ให้ภิกษุเหล่านั้นเกรงกลัว เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคจนถึงที่ประทับ ทีละรูปบ้าง สองรูปบ้าง ครั้นแล้วต่างก็ถวายบังคมแล้ว นั่งลง ณ สถานที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
      ครั้นภิกษุเหล่านั้น นั่งลงเรียบร้อยแล้ว พระผู้มีพระภาค จึงได้ตรัสพระพุทธวจนะว่า
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อเลวทรามของการเลี้ยงชีพทั้งหลาย ก็คือการแสวงหาบิณฑบาต.
      ภิกษุทั้งหลาย ย่อมได้รับคำแช่งด่าในโลกว่า เป็นผู้มีมือถือบาตรเที่ยวแสวงหาบิณฑบาต.


      ดูกรภิกษุทั้งหลายก็กุลบุตรทั้งหลาย เป็นผู้เป็นไปในอำนาจแห่งเหตุ อาศัยอำนาจแห่งเหตุ จึงเข้าถึงความเป็นผู้แสวงหาบิณฑบาตนี้แล ไม่ใช่เป็นคนหนีราชทัณฑ์ ไม่ใช่เป็นคนขอให้โจรปล่อยตัวไปบวช ไม่ใช่เป็นคนมีหนี้ ไม่ใช่เป็นคนมีภัย ไม่ใช่เป็นคนมีอาชีพแร้นแค้น

       ans1 ans1 ans1 ans1 ans1

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อีกอย่างหนึ่ง กุลบุตรนี้บวชแล้ว โดยที่คิดเช่นนี้ว่า เราทั้งหลายเป็นผู้อันชาติ ชรา มรณะ โสกะปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส ครอบงำแล้ว ชื่อว่าเป็นผู้มีทุกข์ครอบงำแล้ว มีทุกข์ประจำแล้ว ไฉนหนอ ความทำที่สุดแห่งกองทุกข์ ทั้งมวลนี้ จะพึงปรากฏ.
      แต่ว่ากุลบุตรนั้น เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา มีราคะกล้าในกามทั้งหลาย มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจ อันโทสะประทุษร้ายแล้ว มีสติหลงลืม ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่เป็นสมาธิ มีจิตหมุนไปผิด ไม่สำรวมอินทรีย์.

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวบุคคลผู้เสื่อมแล้ว จากโภคะแห่งคฤหัสถ์ด้วย ไม่ทำประโยชน์ คือความเป็นสมณะให้บริบูรณ์ด้วยว่า มีอุปมาเหมือนกับดุ้นฟืนในที่เผาศพ ซึ่งไฟติดทั้งสองข้างตรงกลางก็เปื้อนคูถจะใช้เป็นฟืนในบ้านก็ไม่ได้ ฉะนั้น...(ยกมาแสดงบางส่วน)


เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๗ บรรทัดที่ ๒๐๔๒ - ๒๑๑๐. หน้าที่  ๙๐ - ๙๒.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=17&A=2042&Z=2110&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=165




ความหมายของคำว่า ปิณโฑลยะ

     
     ก็ในบทว่า ปิณฺโฑลฺยํ นี้มีความหมายเฉพาะบท ดังนี้ :-
     ภิกษุชื่อว่า ปิณโฑละ เพราะหมายความว่า เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว การทำงานของภิกษุผู้เที่ยวแสวงหาก้อนข้าว ชื่อว่าปิณโฑลยะ. อธิบายว่า ความเป็นอยู่ที่ให้สำเร็จด้วยการแสวงหาก้อนข้าว.


      บทว่า อภิสาโป แปลว่า การด่า.
      อธิบายว่า ผู้คนทั้งหลายโกรธแล้วย่อมด่าว่า
      ท่านห่มจีวรที่ไม่เข้ากับตัวแล้วถือกระเบื้องเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว.
      ก็หรือว่า ย่อมด่าแม้อย่างนี้ทีเดียวว่า
      ท่านไม่มีอะไรจะทำหรือ.? ท่านขนาดมีกำลังวังชาสมบูรณ์ด้วยวิริยะเห็นปานนี้ ยังละทิ้งหิริโอตตัปปะถือบาตรเที่ยวแสวงหาคำข้าวไม่ต่างอะไรกับคนกำพร้า


      บทว่า ตญฺจ โข เอตํ ความว่า การเที่ยวแสวงหาก้อนข้าว ทั้งๆ ที่ถูกแช่งด่านั้น.
      บทว่า กุลปุตฺตา อุเปนฺติ อตฺถวสิกา อตฺถวสํ ปฏิจฺจ ความว่า กุลบุตรโดยชาติ และกุลบุตรโดยอาจาระในศาสนาของเราเป็นผู้อยู่ในอำนาจแห่งผล อยู่ในอำนาจแห่งเหตุ คืออาศัยอำนาจแห่งผล อำนาจแห่งเหตุจึงประกอบ (การเที่ยวแสวงหาคำข้าว).


ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=17&i=165
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มิถุนายน 29, 2015, 09:39:47 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก
« ตอบกลับ #10 เมื่อ: มิถุนายน 29, 2015, 09:36:24 am »
0


ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖  พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์

     [๑๔๕] บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเป็นไฉน
     ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเป็นผู้เขลา เป็นผู้งมงาย
     ภิกษุเป็นผู้มีความปรารถนาลามก ถูกความอยากได้เข้าครอบงำ จึงถือบิณฑบาตเป็นวัตร
     ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะเป็นบ้า เพราะมีจิตฟุ้งซ่าน
     ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะคิดว่าองค์แห่งภิกษุ ผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตรนี้ เป็นข้อที่พระพุทธเจ้า พระสาวกแห่งพระพุทธเจ้าทั้งหลายสรรเสริญ
     อีกอย่างหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอันงามนี้อย่างเดียว



     บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วย ข้อปฏิบัติอันงามนี้อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐสุด เป็นประมุข เป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าบรรดาภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้

      น้ำนมเกิดจากแม่โค นมส้มเกิดจากน้ำนม เนยข้นเกิดจากนมส้ม เนยใสเกิดจากเนยข้น ก้อนเนยใสเกิดจากเนยใส บรรดาเภสัช ๕ นั้น ก้อนเนยใส ชาวโลกกล่าวว่าเลิศ ชื่อแม้ ฉันใด
      ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร นี้ใด เป็นผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วยข้อปฏิบัติอย่างเดียว ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุนี้ เป็นผู้เลิศ เป็นผู้ประเสริฐ เป็นประมุขเป็นผู้สูงสุด เป็นผู้ประเสริฐกว่าภิกษุผู้ถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวกเหล่านี้
      เหล่านี้ชื่อว่า ภิกษุถือบิณฑบาตเป็นวัตร ๕ จำพวก

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๓๖  บรรทัดที่ ๔๕๔๕ - ๔๗๖๘.  หน้าที่  ๑๘๕ - ๑๙๔.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=36&A=4545&Z=4768&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=36&i=656
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

นินนินนิน

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 65
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า

catwoman

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 88
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0


 ชอบรูปพระอาจารย์ ดูท่าน สมบูรณ์ ดี นะ

  st11 st12 st12

 เนื้อเรื่องอ่านแล้ว ก็เข้าใจนิดเดียว เหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเป้นเรื่องของพระ ที่จะต้องรักษาวัตรด้วยการบิณฑบาตร เลี้ยงชีพ ซึ่งพยายามยามอ่านมาหลายตอน ก็มีทั้งพระสูตร บอกว่า เป้นของต่ำบ้าง เป็นของสูง ดูแล้วขัดกันดี เพราะการเลี้ยงชีพของพระต้อง อาศัย บิณฑบาตร ถ้าไม่บิณฑบาตร ก็เรียกว่า ขาดวัตร หรือ นิสสัย

  st12
บันทึกการเข้า

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7249
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
st11 st12
 บทความนี้มีประโยชน์ และเชื่อมโยงกับกรรมฐาน
กรรมฐานที่เกี่ยวข้องโดยตรง
   คือ 1.อาหาเรปฏิกูลสัญญา
     การเห็นทุกข์ โทษของอาหารว่าเป็นสิ่งปฏิกูล 10 ประการ จากการเกี่ยวข้อง
       2.ปัจจเวกขณ โภชนปฏิสังยุต ( ปฏิสังขาโย และ อัชชะมะยา ) บทว่าด้วยพิจารณา เรื่องการบริโภคปัจจัยที่ 2 คือ อาหารบิณฑบาตร ก่อนฉัน และหลังฉัน ภัตร ทั้งเช้า และ เย็น ทั้งที่ระลึกได้ทัน และ ระลึกได้ไม่ทัน

  ฉันเข้าใจดี เรื่องของอาหาร เป็นเรื่องใหญ่ หากไม่มีอาหาร การภาวนา เป็นไปไม่ได้ เพราะอาหารหยุดทาน หยุดบริโภค หยุดกินไม่ได้ เหมือนอุจจาระปัสสาวะ นั่นแหละ มันเป็นธรรมชาติ ของรูปขันธ์ ที่ต้องบริโภค การแสวงหาภัตร นั้นโดยหลักการพระพุทธเจ้า จะใช้วิธีการไปโปรด แต่อันนี้สำหรับ ผู้ที่มีคุณธรรมสูง คนที่ถูกโปรดย่อมรู้สึกได้ กับการมาของพระพุทธเจ้า

   แต่พุทธสาวก นั้นไม่เหมือนกัน บางครั้งผู้ให้ทานใส่บาตร ก็ใส่เพราะเลื่อมใสในพระพุทธพระธรรม เท่านั้น มิได้เลื่อมใส ศรัทธาในพระสงฆ์เลย อาหารที่ใส่ ก็ใส่บาตรกันเป็นอุปนิสัย สมัยปัจจุบันนี้ ฉันเดินทางไปหลายที่ จึงรู้ว่า บางครั้งฝนตกไม่ทั่วฟ้า ฉันเคยบิณฑบาตร 15 กม.ไปกลับ 30 กม. ไม่ได้อาหารเป็นอาทิตย์ เดินไกลไม่ได้ แต่ครั้นเปลี่ยนเดินใกล้ว 1 กม. ได้อาหารพอฉัน ชาวบ้านเขาทราบข่าวกันแล้วสงสาร เลยยอมเป็นภาระให้ในช่วงที่อยู่ 1 อาทิตย์ ฉันเองก็เห้นใจเพราะบางบ้านก็ยากจนเข็ญใจ บางวันเขาได้ทานมื้อเดียวก็มี ลูกหลานเขามี บางทีก็มีแค่ข้าว กับน้ำปลาพริกเม็ดกระเทียมประมาณนี้
 
   แต่ครั้นอยู่ทีวัด เดินออกมาหน้าวัดแค่ 200 เมตร ไปกลับ 400 เมตร ก็หิ้วพะรุงพะรัง อาหารเหลือทิ้งต่างหาก นี่เขาเรียกว่า ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ดังนั้นฉันจึงเลือกวิเวก อาหารการฉันก็เลยลำบาก บิณฑบาตรไม่ได้ การบิณฑบาตร อุ้มบาตร เดินแค่ 7 ก้าว กับเดิน เป็น 15 กม.อานิสงค์ ในเรื่อง วัตรเหมือนกัน ฉันก็ปฏิบัตอย่างนี้ตลอดอุ้มบาตตอน ตี 5 เดิน 7 ก้าวนะ ถ้าอยู่วิเวก มันทำได้แค่นั้น ส่วนเรือ่งคนใส่ มีหรือ ไม่มี มันเป็นกิจที่ทำแล้ว จบก็เหมือนออกบิณฑบาตร ไป 15 กม. ไม่ได้อาหาร ไม่ได้ต่างกันเลย

    ที่บอกนี่ เพราะครูอาจารย์ท่านสอนไว้ รักษากิจวัตร การบิณฑบาตร ไม่ได้มุ่งหวังจะได้อาหารฉัน การที่รู้ว่าเดินแล้วไม่ได้อาหาร อันนี้ครูอาจารย์ท่านว่า เป็นการรักษาใจได้เยี่ยมกว่า
   
     นึกถึงคราวหลวงปู่ ท่านอายุมาก ท่านป่วยใกล้มรณภาพ แล้ว ท่านลงมายืนหน้ากุฏิเท่านั้น ไม่ได้สนว่าใครจะใส่หรือไม่ใส่ ( ครูอาจารย์ท่านบอกว่า เมื่อถึงเวลาก็อุ้มบาตร เดินเท่าที่มีกำลังและความจำเป็นไม่ได้มุ่งหวังอาหาร ที่จะได้ นั่นแหละดี เป็นการบิณฑบาตร ที่ สุดยอดยิ่งกว่า )

    ทุกวันนี้ ฉันเองก็มีความจำเป็น ด้วยสถานที่ ๆ อยู่ ก็ทำได้แค่นั้น ทุกวันเวลา ตี 5.30 - 06.00 น. ฉันก็อุ้มบาตรออกเดิน 7 ก้าว ก้าวสุดท้ายก็อธิษฐานเป็นกรรมฐาน ยืนพิจารณาความว่าง

    แรก ๆ มันตลกตัวเองนะ ที่ยังรักษาพิธิไว้ อย่างนี้แต่ครั้นพอได้พิจารณา อาหารที่ไม่มี บาตรที่ว่างเปล่าทุกวัน ทุกวัน ทำให้ใจที่ขวนขวายอาหารนั้นน้อยลง รู้สึกว่า อะไรที่มีอยู่พอประทังสังขาร รูปขันธ์นี้ได้ ก็ถือว่าเยี่ยมแล้ว ดีแล้ว บางวันนั่งฉันอาหารไม่มีรสชาด เลย ก็ฉันมันอย่างนั้น เพราะฉันแค่อยู่ ฉันเพื่อให้กายรูปขันธ์คงอยู่ได้ บุญที่ทำไว้ดีหน่อย ลูกศิษย์ที่คิดถึงกันก็มาทำบุญใส่บาตร พอได้อยู่ ได้ฉัน แต่อาหารบางวันก็ไม่มีฉัน ก็ฉันการดื่มน้ำ นม น้ำผึ้ง แล้วก็นั่งกรรมฐานไป ทำใจให้มันสงบ แรก ๆ นั้น มันทรมานมาก จริง ๆ

    ดังนั้นบอกว่า ชีวิตพระที่อยู่ในวัดมีอาหารเหลือเฟือ เหลือทิ้ง กับ ชีวิตพระที่อยู่วิเวกลำพัง ไม่มีอาหารฉัน อารมณ์การชนะกิเลส มันต้องเยี่ยมกว่า

    ดังนั้นเรื่องการใส่บาตร ทำบุญ พระพุทธเจ้า ทรงตรัสไว้เป็นลำดับ

     1. ทำบุญด้วยศรัทธา ด้วยหวังว่า เราจะโชคดี รุ่งเรือง
     2. ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า บุญที่ทำจักเป็นเสบียงแก่ตนในภพหน้า
     3.  ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า บุญที่ทำจักทำให้เป็นเทวดา
    4. ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า บุญที่ทำจักทำให้เป็นพรหม
    5. ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า บุญที่ย่อมถึงแก่ญาตสนิทมิตรสหายที่ล่วงลับไปแล้ว
    6. ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า บุญนี้เป็นเครื่องระลึกถึงปีติ
    7. ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า เป็นการชำระกิเลส ของตน
    8. ทำบุญด้วยศรัทธา ว่า ทำเป็นเครื่องหมายแห่งใจ ที่ดีงาม

   แล้วท่านทั้งหลาย สั่งสมบุญแบบไหนกัน จ๊ะ

   เจริญพร


 
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7249
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0


 ชอบรูปพระอาจารย์ ดูท่าน สมบูรณ์ ดี นะ

  st11 st12 st12


 ส่วนตัวก็ชอบนะ ภาพตัวเอง พอได้เห็น แล้ว โอมัน อ้วน อย่างนี้ เลยนะ ?
 เขาบอกว่า ส่องกระจกจะเห็นตัวเอง แต่กระจกก็หลอกตา เอารูปถ่ายนี่แหละ ไม่หลอก
 ไม่ต้องใช้ แอพ นะ เห็น รูปขันธ์ จริง ๆ ของเรา แล้ว เออหนอ มันอ้วนจริง ๆ เนาะ
 เอ อาหารก็ไม่ค่อยได้ฉัน ทำไมมันอ้วนจัง
   เมื่อวานฉันแค่ น้ำผลไม้สองกล่อ
   วันก่อน ก็ น้ำข้าว หนึ่งกล่อง นมหนึ่งกล่อง
   วันนี้ยังไม่ได้ฉันอะไร เลย นอกจากน้ำ

   ที่สงสัยอยู่ก็คือ ไม่ค่อยได้ฉัน แต่ก็อ้วน จัง เวลานั่งฉันร่วมกับเขา ฉันนั่งแป๊บเดียวเท่านั้นเอง 10 นาที เต็มที่ เพื่อน ๆ หลายรูป นั่งฉันเป็น ชม. อาหารเต็มบาตร ค่อนบาตรกัน ถ้าอยู่วัดฉันไม่มีปกติฉันน้ำปานะ เลย

   พิจารณาดูแล้ว เกิดจากอะไร คำตอบ ก็คือ......

   ;)
 
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

saiphone

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 134
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
พระธรรม นำให้ ส่วางไสว ในดวงจิต

Admax

  • ผู้อุปถัมภ์
  • โยคาวจรผล
  • ****
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 1063
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
ความติดข้องใจเสพย์อารมณ์ความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น สมุทัย
ผลของการดำเนินไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี เป็น ทุกข์
รู้สัจธรรมและปรมัตถ์ ดำรงอยู่ในกุศล สติ ศีล สมาธิ พรหมวิหาร๔ คิดดี พูดดี ทำดี เป็น มรรค
การดับไปแห่งความพอใจยินดี และ ความไม่พอใจยินดี ถึง อัพยกตธรรม เป็น นิโรธ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

อ้างถึง
  ข้อความโดย: catwoman


 ชอบรูปพระอาจารย์ ดูท่าน สมบูรณ์ ดี นะ

  st11 st12 st12

 เนื้อเรื่องอ่านแล้ว ก็เข้าใจนิดเดียว เหมือนไม่ได้เกี่ยวข้องด้วยเป้นเรื่องของพระ ที่จะต้องรักษาวัตรด้วยการบิณฑบาตร เลี้ยงชีพ ซึ่งพยายามยามอ่านมาหลายตอน ก็มีทั้งพระสูตร บอกว่า เป้นของต่ำบ้าง เป็นของสูง ดูแล้วขัดกันดี เพราะการเลี้ยงชีพของพระต้อง อาศัย บิณฑบาตร ถ้าไม่บิณฑบาตร ก็เรียกว่า ขาดวัตร หรือ นิสสัย

  st12


ans1 ans1 ans1 ans1 ans1

สงสัยอะไร ถามได้ครับ พระสูตรอ่านไม่ยาก แต่ต้องอ่านหลายๆครั้ง และจำเป็นต้องมีพื้นฐานอยู่บ้าง
อย่างไรก็ตาม ผมจะสรุปสาระสำคัญของกระทู้นี้ให้อ่าน แต่ต้องรอหน่อยครับ


 :welcome: :49: :coffee2: :s_good:
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

kobyamkala

  • โยคาวจรผล
  • ******
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 2236
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
รออ่าน บทสรุป นะคะ
เพราะว่า ดูแล้วเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับ เราที่เป็น ผู้อยู่ในเรือน

  :49: thk56
บันทึกการเข้า
แล้วลองแอบมาแย้มกะลา
เพื่อดูโลก เห็นแล้วตกใจโลกนี้กว้างใหญ่จริง ๆ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ประโยชน์ของการใส่บาตร ที่อาจคาดไม่ถึง
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2015, 10:01:46 am »
0


ประโยชน์ของการใส่บาตร ที่อาจคาดไม่ถึง

ความงดงามหนึ่ง ที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้หลั่งไหลข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาเก็บเกี่ยวบรรยากาศถึงแดนดินถิ่นไทย คือ ภาพของพระสงฆ์สามเณรผู้สงบเรียบร้อย ออกเดินเรียงรายบิณฑบาตในยามเช้า ซึ่งสีของจีวรและความงดงามของจริยวัตรพระสงฆ์ไทย ที่ได้รับการยอม รับจากชาวพุทธทั่วโลกว่ามีความอุดมด้วยปฏิปทาอันน่าเลื่อมใสที่สุด ยังคงสง่างามและศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอเมื่อกระทบกับแสงทองของดวงอาทิตย์ที่ฉายแสงสุกประกายในยามเช้า

ประเทศไทยนับว่าเป็นเมืองที่มีโชค ที่ทุกวันนี้เรามีโอกาสได้เห็นสมณะออกเดินบิณฑบาตในยามเช้าแทบทุกตรอกซอกซอย โดยไม่ต้องลำบากลำบนดิ้นรนหาพระสงฆ์เพื่อใส่บาตรเหมือนกับประเทศอินเดีย-เนปาล ที่เคยเป็นถึงต้นกำเนิดพระพุทธศาสนา ไม่ต้องกระเสือกกระสนดั้นด้นบินลัดฟ้ามาเพื่อชมความงามของประเพณีการบิณฑบาตอย่างพวกฝรั่งมังค่า แต่ด้วยความที่ในปัจจุบันสังคมมีการแข่งขันและเร่งรีบมากขึ้น จึงทำให้ชาวพุทธเราเองกลับยิ่งออกห่างจากประเพณีอันดีงามอย่างการตักบาตรพระในยามเช้า ทั้งที่คุณประโยชน์ของการใส่บาตรในตอนเช้ามีมากมายหลายประการด้วยกัน คือ



    ๑. การใส่บาตรทุกวัน ย่อมได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ที่ตามพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ
       ๑) เป็นที่รักของผู้คนทั้งหลาย
       ๒) คนดีมีปัญญาย่อมชอบคบค้าสมาคมด้วย
       ๓) มีชื่อเสียงที่ดีงาม
       ๔) เป็นผู้ไม่ห่างไกลธรรม และ
       ๕) เมื่อตายแล้วย่อมเข้าสู่สุคติโลกสวรรค์


    ๒. การใส่บาตรทุกวัน ทำให้จิตใจเกาะอยู่กับความดี เป็นการฝึกจิตให้คลุกเคล้าอยู่กับกุศล ซึ่งเป็นทางแห่งความเจริญ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรับรองว่า "ผู้ฝึกจิตดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้" เพราะเมื่อตื่นขึ้นมา สิ่งแรกที่จะนึกถึงคือจะหาอะไรใส่บาตรดี ซึ่งจุดนี้ก็เรียกว่าเป็นสังฆานุสติ เพราะนึกถึงพระสงฆ์ และจาคานุสติ เพราะนึกถึงสิ่งที่จะนำใส่บาตรพระ ถือเป็นบุญการเจริญพระกรรมฐานถึง ๒ กองด้วยกัน

     ๓. เป็นการลดความตระหนี่ บรรเทาความเห็นแก่ตัว สร้างใจให้เป็นสุขและ สร้างสังคมให้ร่มเย็น เพราะเป้าหมายหลัก ของการให้ทานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ คือ เพื่อกำจัดความตระหนี่ มุ่งสู่ความดีและความเสียสละ

     ๔. เป็นการต่อบุญต่อลาภให้แก่ตนเอง เพราะการใส่บาตรเป็นการเสริมทานบารมีโดยตรง เป็นการสร้างทางแห่งความมั่งคั่งร่ำรวยและความคล่องตัวในโลก ยิ่งทำทุกวัน กุศลก็ยิ่งส่งผลอย่างต่อเนื่อง จนสามารถหลีกพ้นความยากจนได้อย่างถาวร

     ๕. เพื่อการอุทิศส่วนกุศลให้แก่บุคคลอันเป็นที่รักที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้มีคุณ

     ๖. เป็นการรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมอันดีงามของเรา เอาไว้ เพื่อความงดงามและมีเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของชนชาติ

     ๗. เป็นแบบอย่างการส่งต่อความดีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อให้ลูกหลานมีแบบอย่างในการทำความดีสืบต่อไป เพราะถ้าคนเป็นพ่อแม่ไม่ทำตัวอย่างไว้ ลูกหลานก็ไม่มีตัวอย่างดู ต่อไปคนรุ่นใหม่ก็จะไม่กล้าทำ แล้ววัฒนธรรม ที่ดีงามของเราก็จะสูญสลายไปในที่สุด

     ๘. เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เพราะพระสงฆ์สามเณรต้องอยู่ด้วยการบิณฑบาตเลี้ยงชีพ ถ้าไม่มีใครใส่บาตร ก็ไม่มีอาหาร เมื่อไม่มีอาหารย่อมไม่อาจดำรงชีพอยู่ได้ แล้วพุทธศาสนาก็อาจจะสิ้นสุดลงในยุคปัจจุบัน

     ๙. การใส่บาตรเป็นการสร้างความปรองดองให้กับชาวพุทธ เป็นการหยุดวิกฤตความศรัทธา เพราะถ้าชาวพุทธทุกบ้านพร้อมเพรียงกันใส่บาตร จะเกิดเป็นพลังแห่งความสามัคคีขึ้น ซึ่งพลังนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมให้เกิดความสงบสุข ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ความสามัคคีของหมู่คณะ ย่อมทำให้เกิดสุข" ทำให้ชาวพุทธมีความเข้มแข็ง และสามารถจะสร้างกรอบอันดีงามให้แก่ภิกษุสามเณรทั้งหลายไม่ให้ออกนอกลู่นอกทางได้



ประโยชน์ ๙ ประการของการใส่บาตรนี้ นับเป็นคุณอนันต์ เป็นลาภมหันต์ของชาวพุทธ ที่สามารถสร้างเสริมใส่ตัวได้ทุกวัน...เมื่อการใส่บาตรมีคุณค่าถึงเพียงนี้แล้ว เราในฐานะชาวพุทธจะยอมปล่อยให้เสียประโยชน์และความสุขในส่วนนี้ไปเปล่าๆ ได้เชียวหรือ.?

ขอบคุณบทความจาก http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TUROaWRXUXdOekEzTURJMU9BPT0
ที่มา http://www.onab.go.th/index.php?option=com_content&view=article&id=10063:2015-02-07-15-30-49&catid=96:2009-09-19-10-13-59&Itemid=326
ขอบคุณภาพจาก
http://www.asitaresort.com/
http://www.payawan.com/
http://www.oknation.net/
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
บิณฑบาต กุศโลบายในการเผยแผ่ศาสนา
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: กรกฎาคม 11, 2015, 10:48:30 am »
0

บิณฑบาตในฐานะเป็นเครื่องมือหนุนชีวิตและกุศโบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
(บทคัดย่อ)

งานวิทยานิพนธ์ฉบับนี้ คือ เพื่อศึกษาวิเคราะห์การบิณฑบาตในฐานะเป็นเครื่องมือหนุนชีวิตและกุศโลบายในการ เผยแผ่พระพุทธศาสนา มีวัตถุประสงค์ ๓ ประการ ในด้านความเป็นมาของการบิณฑบาต วัฒนธรรมการบิณฑบาต และวิเคราะห์การบิณฑบาตในฐานะเป็นเครื่องมือหนุนชีวิตและกุศโลบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีความสำคัญ และจุดมุ่งหมาย ผลการศึกษาวิจัยพบว่า

     บิณฑบาต หมายถึง การตกลงแห่งก้อนข้าว อาหารที่ใส่ลงในบาตรของพระสงฆ์ มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเป็นวิถีในการดำรงชีวิตความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ สามเณรนั้นขึ้นอยู่กับอาหารบิณฑบาต การบิณฑบาตจึงมีความสำคัญในฐานะเป็นกรณียกิจ คือ กิจที่พระภิกษุสามเณรพึงกระทำเป็นกิจวัตรประจำวัน
     เป็นพุทธวงศ์ คือ พระพุทธเจ้าทั้งหลายในอดีต ต่างก็มีวิถีชีวิตที่อาศัยอาหารบิณฑบาตจากผู้อื่นเลี้ยงชีพ
     เป็นพุทธกิจ คือ กิจที่พระพุทธเจ้าทรงปฏิบัติเป็นประจำทุกวัน เพื่อโปรดสรรพสัตว์
     เป็นการเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์สำหรับบรรพชิต และ
     การสมาทานบิณฑบาตเป็นวัตร จัดเป็นธุดงค์ที่ช่วยขัดเกลากิเลสให้ลดน้อยลง
     บาตรเป็นบริขารในปัจจัยสี่ บาตรมีก่อนพุทธกาลโดยใช้ผลน้ำเต้า หรือเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ขนาดใหญ่ที่แห้ง ดินเผา กะโหลกผี เป็นต้น ของนักบวชสันยาสี เพื่อใช้รับอาหาร
     ท้าวฆฏิการมหาพรหมถวายบริขารต่อพระพุทธองค์ มีบาตรอยู่ด้วยเป็นใบแรกในพระพุทธศาสนา



     วัฒนธรรมในการบิณฑบาตของพระสงฆ์นั้น คือ การบิณฑบาตที่เป็นกิจวัตรประจำวันของพระสงฆ์สามเณร จึงเป็นระเบียบประเพณีที่ดีงามของชาวพุทธที่ตอนเช้าตื่นขึ้นมาได้ทำบุญให้ทาน เป็นวัฒนธรรมที่ดีงามอย่างพุทธ และวัฒนธรรมของพระสงฆ์สามเณร
     ก่อนออกบิณฑบาตจะต้องตรวจตราความเรียบร้อย มีความว่า ภิกษุผู้เที่ยวบิณฑบาต เมื่อจะเข้าหมู่บ้าน พึงนุ่งห่มให้เรียบร้อย และปฏิบัติตนตามเสขิยวัตร คือ การนุ่งห่มให้ได้ปริมณฑลอย่านุ่งผ้าแบบโจงกระเบน นุ่งปล่อยชายเหมือนงวงช้าง เหมือนหางปลา นุ่งปล่อยชายสี่แฉก คล้ายยกกลีบตาลตั้งร้อย หากนุ่งเป็นเช่นนั้น ทรงปรับอาบัติทุกกฎผู้ที่ล่วงละเมิด
      มีบทบัญญัติในสถานที่ที่ไม่ให้เข้าไปบิณฑบาต เรียกว่าที่ อโคจร ที่เป็นต้องห้ามและกิริยามารยาทจะต้องสำรวมระวัง เพื่อจะยังความศรัทธาให้เลื่อมใสเกิดแก่อุบาสก อุบาสิกา และเอื้อเฟื้อต่อพระวินัย
      การรับอาหารบิณฑบาตก็รับแต่พอดี และพึงสำเหนียกว่า เราจักรับบิณฑบาตด้วยความเคารพ รับอาหารตามพุทธานุญาต และฉันอาหารด้วยความเคารพ ไม่ดูหมิ่นดู แคลนอาหารที่รับมาจากญาติโยม เป็นการฝึกพัฒนาตน



      บิณฑบาตในฐานะเป็นกุศโลบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา มีจุดมุ่งหมายในการเผยแผ่อยู่ ๓ ด้าน คือ
       ๑) ด้านอัตตประโยชน์ ได้แก่ประโยชน์ต่อภิกษุสามเณรเองมี ๔ ประการ คือ
              (๑) เพื่อการดำรงชีพ 
              (๒) เพื่อพัฒนากายให้แข็งแรง และให้มีกายสงบสำรวมมีความสง่างาม 
              (๓) เพื่อพัฒนาจิต คือ เกื้อหนุนพัฒนาจิตให้มีสมาธิ  มีสติสัมปชัญญะและมีความสันโดษ
              (๔) เพื่อพัฒนาปัญญา คือ รู้คุณค่าอาหาร ละการสะสม และรู้จักปล่อยวาง 
       ๒) ด้านปรัตถประโยชน์ คือ ประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่ผู้อื่น มี ๒ ประการ 
              (๑) เพื่อแสดงธรรมโปรดชาวบ้าน เป็นหน้าที่เป็นการอนุเคราะห์ชาวบ้านให้มีความรู้ในการดำเนินชีวิต 
              (๒) เพื่อส่งเสริมชาวบ้านบำเพ็ญบุญ ให้ทานลดความตระหนี่ เพื่อความสุขในปัจจุบัน และก่อบุญเพิ่มกุศลในภพหน้า 
       ๓) ด้านศาสนประโยชน์ ได้แก่ ประโยชน์ในทางศาสนามี ๒ ประการ คือ 
              (๑) เพื่อสืบทอดพระวินัย โดยการประพฤติปฏิบัติตามสิกขาบทที่ทรงบัญญัติเอาไว้ เพื่อความสำรวมและความผาสุกของหมู่สงฆ์   
              (๒) เพื่อการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เพราะการบิณฑบาตเป็นการออกประกาศพระศาสนาทั้งทางตรงทางอ้อม มีโอกาสแสดงธรรมให้ประชาชน ละการทำชั่ว ตั้งอยู่ในความดี ทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส


Download วิทยานิพนธ์เล่มนี้ได้ที่
http://www.mcu.ac.th/userfiles/file/library1/Thesis/1022554.pdf


อ้างอิง :-
วิทยานิพนธ์ : การศึกษาวิเคราะห์ บิณฑบาตในฐานะเป็นเครื่องมือหนุนชีวิตและกุศโบายในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ชื่อผู้วิจัย : พระสุริยนต์ ทสฺสนีโย (น้อยสงวน)
ที่มา :  http://www.mcu.ac.th/site/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=837
ขอบคุณภาพจาก
http://2g.pantip.com/
http://amphawasangkapan.com/
http://www.oknation.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 11, 2015, 10:51:43 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

บุญเอก

  • โยคาวจรมรรค
  • *****
  • ผลบุญ: +2/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 516
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
ทำงานอาสา หวังช่วยคนตกยาก แม้จะลำบาก แต่ก็จะทำโดยความไม่หนักใจ
อาสากตัญญู พัทยา ยินดีรับใช้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


เฉลยที่มาของชื่อกระทู้

กับชื่อกระทู้ที่ว่า ขอทานมี ๒ ประเภท "ให้แล้วต้องไหว้ และ "ให้แล้วไม่ต้องไหว้" ฟังดูออกจะแรงไปนิด
ผมเคยเอ่ยประโยคนี้กับพระรูปหนึ่ง ท่านทำหน้าไมสู้ดี เข้าใจว่า ทำใจรับไม่ได้ ถึงแม้ความจริงเป็นเช่นนั้น ภิกษุปุถุชนยังละอุปทานขันธ์ ๕ ไม่ได้ ย่อมไม่ยินดีกับประโยคนี้

   ภิกษุ แปลตรงๆคือ ผู้ขอ
   ยาจก แปลว่า ขอทาน
   การยังชีพของภิกษุและยาจก มีลักษณะอาการที่เหมือนกัน คือ การขอ
   ต่างกันที่ ภิกษุขอโดยไม่เอ่ยปาก การขอของภิกษุจะยืนนิ่งๆไม่เอ่ยปาก
   ส่วนการขอของยากจก ไม่มีข้อจำกัดใดๆ จะยืนเดินนั่งนอน อย่างไรก็ได้ จะเอ่ยปากขอหรือไม่ก็ได้
   ความต่างอีกอย่างคือ เมื่อได้รับแล้ว ภิกษุจะไม่แสดงอาการอะไร แต่ผู้ให้จะต้องหราบไหว้ ส่วนยากจกจะไหว้แสดงความขอบคุณ

   หากถามว่า ทำไมพระไม่ขอบคุณ หรือแสดงอาการขอบคุณ.?
   ก่อนอื่นต้องบอกว่า วินัยพระห้ามไม่ให้ไหว้ฆราวาส การกล่าวขอบคุณของพระตรงๆไม่มี อาจอนุโลมให้ "การให้พร" เป็นการกล่าวขอบคุณ แต่ขณะบิณฑบาตจะให้พรไม่ได้ ติดที่วินัยห้ามเอาไว้

   การบิณฑบาตของเหล่าพระภิกษุสงฆ์นั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในอรรถกถาว่า
    "พราหมณ์ ส่วนอันเลิศก็ดี ภัตที่ท่านแบ่งครึ่งบริโภคแล้วก็ดี เป็นของสมควรแก่เราทั้งนั้น แม้ก้อนภัตที่เป็นเดน เป็นของสมควรแก่เราเหมือนกัน พราหมณ์ เพราะพวกเราเป็นผู้อาศัยอาหารที่ผู้อื่นให้เลี้ยงชีพ เป็นเช่นกับพวกเปรต"

    พุทธพจน์นี้ชัดเจนมากๆ และก็แรงจริงๆ ท่านเปรียบสงฆ์เป็นพวกเปรต ผมเปรียบสงฆ์เป็นขอทานยังเบาไปด้วย เพื่อนๆเห็นด้วยไหมครับ

   ด้วยเหตุดังกล่าวข้างต้น จึงเป็นที่มาของประโยคที่ว่า
   ขอทานมี ๒ ประเภท "ให้แล้วต้องไหว้ และ "ให้แล้วไม่ต้องไหว้"
   แต่...ความจริงมีอยู่ว่า แนวคิดนี้ไม่ได้ออกมาจากผม แนวคิดนี้เป็นของพระอาจารย์ของผม ท่านเคยปรารถเรื่องขอทานนี้ให้ผมฟัง




การบิณฑบาตของพระอัสสชิ ทำให้พระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม

สาเหตุหลักที่พระต้องยังชีพด้วยการขอ เพราะพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวินัยไม่ให้พระประกอบอาชีพ และการบิณฑบาตเป็นประเพณีของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ที่กระทำสืบต่อกันมา สาวกทั้งหลายจึงจำเป็นต้องรักษาประเพณีนี้ไว้อย่างเคร่งครัด

    การเที่ยวบิณฑบาตนั้น นอกจากเป็นการโปรดเวไนยสัตว์แล้ว ยังเป็นการเผยแผ่ศาสนาอีกด้วย ขอตัวอย่างที่เห็นกันอย่างชัดๆ ในสมัยพุทธกาล ดังนี้

    กรณีพระสารีบุตรได้ดวงตาเห็นธรรม ขณะนั้นท่านเป็นปริพาชกชื่ออุปติสสะ ท่านเห็นพระอัสสชิขณะบิณฑบาต สังเกตเห็นกิริยาอาการที่งดงามของพระอัสสชิ จึงเกิดความเลื่อมใส เข้าไปถามจนได้ดวงตาเห็นธรรมในที่สุด

    กรณีพระเจ้าสุทโธทนะ(พุทธบิดา) เรื่องนี้เหตุเกิดจากความไม่พอใจของพุทธบิดาทีเห็นพระพุทธเจ้าเดินเที่ยวขอก้อนข้าวจากชาวเมือง แต่พระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้พุทธบิดาจนได้ดวงตาเห็นธรรมในที่สุด

    กรณีพระพาหิยะ พาหิยะเห็นพระพุทธเจ้าขณะบิณฑบาตจึงเข้าไปอ้อนวอนให้แสดงธรรมถึง ๓ ครั้ง พระพุทธองค์ได้เทศน์แก่พาหิยะจนสำเร็จอรหันต์ในที่สุด




พระสารีบุตรบิณฑบาตรถึง ๓ ครั้งภายในวันเดียว

การออกบิณฑบาตของพระภิกษุสงฆ์นั้น ต้องครองจีวรให้เรียบร้อบ ต้องเดินด้วยอาการสำรวม เพื่อให้เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และให้เป็นที่เลื่อมใสยิ่งขึ้นของคนที่เลื่อมใสแล้ว

    เรื่องการครองจีวรนั้น ในอรรถกถามีเรื่องเล่าว่า เณรรูปหนึ่งเห็นพระสารีบุตรมีจีวรที่ดูไม่เรียบร้อย ได้กล่าวบอกพระสารีบุตรให้ทราบ พระสารีบุตรได้ทำการครองจีวรใหม่ แล้วมายืนยกมือไหว้ต่อหน้าเณรรูปนั้น และถามว่า เป็นไงบ้าง(ดีหรือยัง..อะไรทำนองนี้) เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่า แม้แต่อัครสาวกเบื้องขวายังต้องระมัดระวังในการครองจีวร

    ที่บ้านผมมีพระออกบิณฑบาตผ่านหน้าบ้าน ทั้งหมด ๔ วัด เท่าที่สังเกตดู มีอยู่วัดหนึ่งเดินด้วยอาการสำรวมน่าเลื่อมใส เดินก้มหน้าแต่พองาม เดินไม่ช้าไม่เร็ว ส่วนอีกสามวัดที่เหลือ หลายองค์เดินลอยหน้าลอยตา หันขวาทีหันซ้ายที บางวัดก็เดินเร็ว บางรูปก็รีบปิดฝาบาตรโดยไม่ดูว่าผมใส่ข้าวละยัง
    เพื่อนๆครับ อยากบอกว่า วัดที่เดินสำรวมที่สุด เป็นวัดสายธรรมยุตครับ เข้าใจว่า คงได้การอบรมมาจากอุปฌาย์อาจารย์สืบๆกันมา
   
    หากมีใครถามว่า วันหนึ่งพระออกบิณฑบาตสองครั้งได้ไหม.?
    ขอตอบว่า ในวินัยของพระระบุไว้ว่า รับอาหารได้แค่ ๓ บาตร เรื่องนี้ไม่ขอขยายความ เพราะว่าผมเองก็ไม่เข้าใจ สิ่งที่อยากบอกก็คือ ในอรรถกถามีเรื่องเล่าว่า เช้าวันหนึ่งพระสารีบุตรออกบิณฑบาตถึง ๓ ครั้ง เพื่อที่จะศิษย์ชื่อ พระโลสกติสสะ ได้ฉันอย่างพอเพียง
    เนื่องจากพระโลสกติสสะ ประกอบกรรมไว้มาก ทำให้ขัดสนในการบิณฑบาต ไม่มีใครใส่บาตรท่านเลย ในวันนั้นพระสารีบุตรทราบว่า พระโลสกติสสะจะปรินิพพานในวันนี้ จึงประสงค์จะสงเคาระห์พระโลสกติสสะเป็นครั้งสุดท้าย

    ในการบิณฑบาตครั้งแรก พระสารีบุตรออกไปกับพระโลสกติสสะ ปรากฏว่า ไม่มีใครใส่บาตรให้เลย ทำให้พระสารีบุตรต้องออกไปบิณฑบาตอีกครั้ง

    บิณฑบาตครั้งที่สอง พระสารีบุตรออกไปรูปเดียวได้อาหารมา ก็สั่งให้ภิกษุรูปหนึ่งนำไปให้พระโลสกติสสะ แต่ภิกษุรูปนั้นกลับลืมชื่อของพระโลสกติสสะ ไม่รู้จะเอาไปให้ใคร เลยฉันเองจนหมด พระสารีบุตรพอทราบเรื่องนี้เข้า เลยต้องออกไปบิณฑบาตเป็นครั้งที่สาม

    บิณฑบาตครั้งที่สาม พระสารีบุตรไปหาพระเจ้าปเสนทิโกศล ได้อาหารมาก็นำมาให้พระโลสกติสสะดัวยตัวเอง และได้ถือบาตรนั้นไว้ด้วยมือของพระสารีบุตร เพราะเกรงว่าอาหารในบาตรนั้นจะมีอันเป็นไป หรืออันตรธานไปเสีย ด้วยกำลังฤทธิ์และบารมีของพระสารีบุตร ทำให้พระโลสกติสสะได้ฉันอาหารอันประณีตก่อนปรินิพพานในวันนั้นเอง
   
    เพื่อนๆท่านใดต้องการอ่านเรื่องนี้ คลิกไปที่
    http://www.madchima.org/forum/index.php?topic=3839.0




งามในเบื้องต้นนั้น ควรงามอย่างไร.?

ผมชอบพุทธพจน์ในพระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๓ ธาตุกถา-ปุคคลบัญญัติปกรณ์ ที่ว่า
    "ภิกษุใดถือบิณฑบาตเป็นวัตร เพราะอาศัยความปรารถนาน้อยอย่างเดียว เพราะอาศัยความสันโดษอย่างเดียว เพราะอาศัยความขัดเกลากิเลสอย่างเดียว เพราะอาศัยความต้องการด้วย ข้อปฏิบัติอันงามนี้อย่างเดียว ภิกษุนี้เป็นผู้เลิศ"
   
    ความปรารถนาน้อยมี ๔ อย่าง คือ
        ๑. ความปรารถนาน้อยในปัจจัย
        ๒. ความปรารถนาน้อยในคุณธรรมเป็นเครื่องบรรลุ 
        ๓. ความปรารถนาน้อยในปริยัติ
        ๔. ความปรารถนาน้อยในธุดงค์
    - บุคคลผู้ปรารถนาน้อยด้วยปัจจัย เมื่อเขาให้มากก็รับเอาแต่น้อย เมื่อเขาให้น้อยก็รับเอาน้อยกว่า หรือว่าไม่รับเอาเลย ย่อมเป็นผู้ไม่รับเอาโดยไม่เหลือไว้.
    - บุคคลผู้ปรารถนาน้อยในคุณธรรมเป็นเครื่องบรรลุ ย่อมไม่ให้ชนเหล่าอื่นรู้คุณธรรมเป็นเครื่องบรรลุของตน
    - บุคคลผู้ปรารถนาน้อยในปริยัติ แม้เป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก ก็ไม่ปรารถนาที่จะให้คนอื่นรู้ว่าตนเป็นพหูสูตร
    - บุคคลผู้ปรารถนาน้อยในธุดงค์ ย่อมไม่ให้ชนเหล่าอื่นรู้ถึงการบริหารธุดงค์

    สันโดษมี 3 อย่าง
       1. ยถาลาภสันโดษ คือ ยินดีตามที่ได้, ยินดีตามที่พึงได้ คือ ตนได้สิ่งใดมา หรือ เพียรหาสิ่งใดมาได้ เมื่อเป็นสิ่งที่ตนพึงได้ ไม่ว่าจะหยาบหรือประณีตแค่ไหน ก็ยินดีพอใจด้วยสิ่งนั้น ไม่ติดใจอยากได้สิ่งอื่น ไม่เดือดร้อนกระวนกระวายเพราะสิ่งที่ตนไม่ได้ ไม่ปรารถนาสิ่งที่ตนไม่พึงได้หรือเกินไปกว่าที่ตนพึงได้โดยถูกต้อง ชอบธรรม ไม่เพ่งเล็งปรารถนาของที่คนอื่นได้ ไม่ริษยาเขา
       2. ยถาพลสันโดษ คือ ยินดีตามกำลัง คือ ยินดีแต่พอแก่กำลังร่างกายสุขภาพและวิสัยแห่งการใช้สอยของตน ไม่ยินดีอยากได้เกินกำลัง ตนมีหรือได้สิ่งใดมาอันไม่ถูกกับกำลังร่างกายหรือสุขภาพ เช่น ภิกษุได้อาหารบิณฑบาตที่แสลงต่อโรคของตน หรือเกินกำลังการบริโภคใช้สอย ก็ไม่หวงแหนเสียดายเก็บไว้ให้เสียเปล่า หรือฝืนใช้ให้เป็นโทษแก่ตน ย่อมสละให้แก่ผู้อื่นที่จะใช้ได้ และรับหรือแลกเอาสิ่งที่ถูกโรคกับตน แต่เพียงที่พอแก่กำลังการบริโภคใช้สอยของตน
       3. ยถาสารุปปสันโดษ คือ ยินดีตามสมควร คือ ยินดีตามที่เหมาะสมกับตน อันสมควรแก่ภาวะ ฐานะ แนวทางชีวิต และจุดหมายแห่งการบำเพ็ญกิจของตน เช่น ภิกษุไม่ปรารถนาสิ่งของอันไม่สมควรแก่สมณภาวะ หรือภิกษุบางรูปได้ปัจจัยสี่ที่มีค่ามาก เห็นว่าเป็นสิ่งสมควรแก่ทานผู้ทรงคุณสมบัติน่านับถือ ก็นำไปมอบให้แก่ท่านผู้นั้น ตนเองใช้แต่สิ่งอันพอประมาณ หรือภิกษุบางรูปกำลังประพฤติวัตรขัดเกลาตน ได้ของประณีตมา ก็สละให้แก่เพื่อนภิกษุรูปอื่นๆ ตนเองเลือกหาของปอนๆ มาใช้หรือตนเองมีโอกาสจะได้ลาภอย่างหนึ่ง แต่รู้ว่าสิ่งนั้นเหมาะสมหรือเป็นประโยชน์แก่ท่านผู้อื่นที่เชี่ยวชาญถนัดสามารถด้านนั้น ก็สละให้ลาภถึงแก่ท่านผู้นั้น ตนรับเอาแต่สิ่งที่เหมาะสมกับตน

    สิ่งที่พระพุทธเจ้าสรรเสริญเหล่าพระภิกษุสงฆ์ในเบื้องต้น ก็คือ
         - บิณฑบาตเป็นวัตร
         - ความปรารถนาน้อย
         - ความสันโดษ
     ดังนั้นการดูพระในปัจจุบันว่า งามในเบื้องต้นอย่างไรนั้น.?
     ก็ควรนำสามอย่างนี้ ไปประกอบการพิจารณาด้วย


     ขอจบการคุยเป็นเพื่อนแต่เพียงเท่านี้ ขอบพระคุณที่ติดตาม......


     :welcome: :49: :s_good: st12     
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กรกฎาคม 19, 2015, 11:33:43 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

saiphone

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 134
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
บันทึกการเข้า
พระธรรม นำให้ ส่วางไสว ในดวงจิต

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
ดูหุ่นพระอาจารย์แล้วดูโดดเด่นเป็นสง่าบ่งบอกถึงความอุดมสมบูรย์ดีค่ะ
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ