ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: คำให้การ วันประหาร “พระเจ้าตาก” ฉากสุดท้ายกรุงธนบุรี  (อ่าน 372 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระบรมสาทิสลักษณ์พระเจ้าตากสิน ภายในโบสถ์น้อย วัดอรุณราชวราราม


คำให้การ วันประหาร “พระเจ้าตาก” ฉากสุดท้ายกรุงธนบุรี

วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดกรุงธนบุรี หรือวันประหารพระเจ้าตาก แม้จะมีเนื้อความชัดเจนอยู่พอสมควรแล้วในพระราชพงศาวดาร 2 ฉบับ คือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา และพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ถึงจะมีเนื้อความไม่ต้องกันทีเดียว แต่ก็สามารถให้ความชัดเจนได้จนถึงนาทีประหารพระเจ้าตาก แต่วิธีการและรายละเอียดยังคงเป็นปริศนาต้องวินิจฉัยหลักฐานกันต่อไปอีกมากมาย

พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงฉากสุดท้ายของพระเจ้าตากไว้ว่า ทรงถูกประหารด้วยการตัดพระเศียร ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ปากคลองบางหลวง ดังมีเนื้อหาตอนหนึ่งที่เจ้าพระยาจักรีพูดถึงพระเจ้าตากดังนี้ 

“ตัวเป็นเจ้าแผ่นดินใช้เราไปกระทำการสงคราม ได้ความลำบากกินเหื่อต่างน้ำ เราก็อุตสาหะอาสากระทำศึกมิได้อาลัยแก่ชีวิต คิดแต่จะทำนุบำรุงแผ่นดินให้สิ้นเสี้ยนหนาม จะให้สมณพราหมณาจารย์และไพร่ฟ้าประชากรอยู่เย็นเป็นสุขสิ้นด้วยกัน ก็เหตุไฉนอยู่ภายหลัง ตัวจึงเอาบุตรภรรยามาจองจำทำโทษ แล้วโบยตีพระภิกษุสงฆ์ และลงโทษแก่ข้าราชการและอาณาประชาราษฎร เร่งเอาทรัพย์สินโดยพลการด้วยหาความผิดมิได้ กระทำให้แผ่นดินเดือดร้อนทุกเส้นหญ้า ทั้งพระพุทธศาสนาก็เสื่อมทรุดเศร้าหมองดุจเมืองมิจฉาทิฐิฉะนี้ โทษตัวจะมีเป็นประการใดจงให้การไปให้แจ้ง และเจ้าตากสินก็รับผิดทั้งสิ้นทุกประการ

@@@@@@

จึงมีรับสั่งให้เอาตัวไปประหารชีวิตสำเร็จโทษเสีย เพชฌฆาตกับผู้คุมก็ลากเอาตัวขึ้นแคร่หามไปกับทั้งสังขลิกพันธนาการ เจ้าตากจึงว่าแก่ผู้คุมเพชฌฆาตว่า ตัวเราก็สิ้นบุญจะถึงที่ตายอยู่แล้ว ช่วยพาเราไปแวะเข้าหาท่านผู้สำเร็จราชการ จะขอเจรจาด้วยสักสองสามคำ ผู้คุมก็ให้หามเข้ามา ได้ทอดพระเนตรเห็น จึงโบกพระหัตถ์มิให้นำมาเฝ้า ผู้คุมและเพชฌฆาตก็หามออกไปนอกพระราชวัง ถึงหน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ก็ประหารชีวิตตัดศีรษะถึงแก่พิราลัย”(1)

ฝ่ายพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงฉากนี้ไว้สั้น ๆ ว่า “ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 เพลาเช้า 2 โมง เสด็จพระราชดำเนินทัพมาจากเสียมราบ ประทับ ณ พลับพลาหน้าวัดโพธาราม ฝ่ายข้าทูลละอองฯ ผู้ใหญ่ผู้น้อยพร้อมกันไปเชิญเสด็จลงเรือพระที่นั่งกราบ ข้ามมาพระราชวังสถิต ณ ศาลาลูกขุน มีหมู่พฤฒามาตย์ราชกุลกวีมุขเฝ้าพร้อมกัน จึ่งมีพระราชบริหารดำรัสปรึกษาว่า

เมื่อพระเจ้าแผ่นดินอาสัจละสุจริตธรรมเสีย ประพฤติการทุจริตฉะนี้ ก็เห็นว่าเป็นเสี้ยนหนามหลักตออันใหญ่อยู่ในแผ่นดิน จะละไว้มิได้ ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทย์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น”(2)


ป้อมวิชัยประสิทธิ์ ที่ในพงศาวดารพระราชหัตถเลขาเล่ม 2 บอกว่าเป็นสถานที่ประหารพระเจ้าตาก

ดูเหมือนว่าพระราชพงศาวดารทั้ง 2 ฉบับนี้ มีเนื้อหาคล้ายคลึงสอดคล้องกัน แต่ในฉากสุดท้ายมีรายละเอียดแตกต่างกันคือ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา กล่าวถึงเฉพาะผู้คุมและเพชฌฆาตเป็นผู้มีหน้าที่ตามบัญชาของเจ้าพระยาจักรีนำพระเจ้าตากไป “ตัดศีรษะ” ที่หน้าป้อมวิชัยประสิทธิ์ ส่วนพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงบุคคลจำนวนมากคือ “ทแกล้วทหารทั้งปวง” เป็นผู้นำพระเจ้าตากไป “สำเร็จ” ตามบัญชา

แต่ด้วยความที่พระราชพงศาวดารของไทยแต่ละฉบับล้วน “มีปัญหา” เรื่องความถูกต้อง มีอคติและความโน้มเอียงทางการเมือง ทำให้ประเด็นปัญหาหลายต่อหลายเรื่องหาข้อยุติไม่ได้ รวมทั้งฉากสุดท้ายของพระเจ้าตาก ที่อุตส่าห์มีการกล่าวถึงการใช้ “ตัวปลอม” ในวันประหาร ส่วน “ตัวจริง” หลบหนีไปบวชอยู่ที่นครศรีธรรมราชก็มี

แม้นาทีสุดท้ายของพระเจ้าตาก จะได้รับการยืนยันจากเอกสารส่วนใหญ่ว่ามีการประหารจริง ซึ่งไม่ใช่การสำเร็จโทษตามโบราณราชประเพณีอันพึงกระทำต่อพระมหากษัตริย์ แต่เบาะแสที่จะยืนยันเรื่องนี้กลับน้อยนิดจนอาจเรียกได้ว่า มีเพียงฉบับเดียวที่กล่าวถึงลักษณะการประหารว่าสิ้นพระชนม์จริงคือการ “ตัดศีรษะ” จากพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ส่วนเอกสารฉบับย่อย ๆ ต่าง ๆ เพียงแต่ยืนยันว่าสิ้นพระชนม์จริง เช่น

@@@@@@

จดหมายเหตุโหร กล่าวว่า “ณ วันพุธ แรม 13 ค่ำ เดือน 5 เจ้าตากดับขันธ์ ชนมายุ 48 ปี กับ 15 วัน” จดหมายเหตุโหรฉบับรามัญว่า “พระยาจักรีกลับจากเมืองญวนเข้าเมืองบางกอก แล้วฆ่าพระเจ้าแผ่นดินเก่าเสีย” แต่เช่นเดียวกับเอกสารอื่น ๆ คือไม่ได้บอก “วิธีการ” เอาไว้อย่างชัดเจน

และแน่นอนที่สุดว่าเอกสารที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น ล้วนผ่านการ “ชำระ” ปรับแต่งมาแล้วทั้งสิ้น จึงเป็นเหตุให้ฉากสำคัญวันสุดท้ายกรุงธนบุรียังต้องถูกทวงถามความจริงอยู่เสมอ อย่างไรก็ดี ยังมีบุคคลอีกอย่างน้อย 4 ท่าน ที่เชื่อว่าอยู่ในเหตุการณ์ในวันสุดท้ายของกรุงธนบุรี และได้แต่งหนังสือไว้เป็นหลักฐานสำคัญว่า แท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นแน่กับพระเจ้าตากและกรุงธนบุรี

บุคคลอย่างน้อย 4 ท่าน ที่เชื่อว่าได้เห็นเหตุการณ์วันสุดท้ายของกรุงธนบุรี คือ

    1. สมเด็จพระวันรัตน วัดพระเชตุพนฯ แต่งหนังสือเรื่องสังคีติยวงศ์ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก เมื่อปี 2332
    2. กรมหลวงนรินทรเทวี เขียนบันทึกเป็น จดหมายความทรงจำฯ ลำดับความตั้งแต่ปี 2310-2381
    3. พระชำนิโวหาร แต่ง โคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก จับความตั้งแต่เจ้าพระยาจักรีออกเดินทัพไปกรุงกัมพูชา จนกระทั่งปราบจลาจลในพระนคร และสร้างกรุงเทพมหานคร
    4. พระยาทัศดาจัตุรงค์ แต่งหนังสือเรื่อง ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ลำดับเรื่องโดยสังเขปตั้งแต่ต้นกรุงศรีอยุธยาจนถึงสิ้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

ข้อที่น่าสังเกตคือ ในจำนวน “คำให้การ” ของทั้ง 4 ท่านนี้ มี 3 ท่านแรก ที่แต่งหนังสือเล่าถึงเหตุการณ์จลาจลในกรุงธนบุรีโดยสังเขปบ้าง อย่างละเอียดบ้าง แต่เมื่อถึงฉากประหารพระเจ้าตาก ทั้ง 3 ท่านก็ “ข้าม” เรื่องราวตอนนี้ไป โดยไม่ข้องแวะแม้แต่น้อย เข้าทำนองไม่ฟื้นฝอยหาตะเข็บ ไม่เปิดแผลเก่า ให้เป็นที่ระคายเคือง

@@@@@@

สมเด็จพระวันรัตนกล่าวถึงเหตุการณ์ไม่สงบในกรุงธนบุรีในหนังสือสังคีติยวงศ์ ไว้โดยสังเขปดังนี้ “ลุพระพุทธศักราช 2325 ล่วงแล้ว ปีขาล ครั้นความโสกปริเทวทุกข์โทมนัสแลอันตรายมีประการต่าง ๆ บังเกิดขึ้นแก่ชนเหล่านั้นคือ บังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะบุคคลลามกโกหกมารยาเปนอันมากในพระพุทธสาสนา แลบังเกิดขึ้นแก่คฤหัสถ์เปนอันมาก

สมเด็จพระผู้ทรงพระมหากรุณาทั้ง 2 พระองค์นั้นได้ทอดพระเนตรเห็นเหตุนั้น ๆ ก็มีพระกมลหฤไทยหวั่นไหวไปด้วยพระเมตตากรุณาแก่สรรพสัตว์ ได้โอกาสระงับชนพวกอสัจอธรรมทั้งหลาย กระทำให้มหาชนได้เกษมศุขแล้ว ก็มีพระจำนงจะใคร่สร้างพระมหานคร เพื่อให้อยู่เจริญศิริสุขสวัสดีและป้องกันข้าศึก ณ ฝั่งฟากแม่น้ำด้านปุริมทิศาภาค”(3)

จะเห็นได้ว่าสมเด็จพระวันรัตนได้กล่าวถึงเหตุการณ์ความไม่สงบในพระนครอยู่บ้างด้วยฝีมือของ “พวกอสัจอธรรมทั้งหลาย” เป็นการกล่าวโดยรวมไม่ได้หมายเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ใด และไม่ได้ “แตะ” ฉากสุดท้ายของกรุงธนบุรีเลยแม้แต่น้อย ส่วนกรมหลวงนรินทรเทวี ได้กล่าวถึงเหตุการณ์การจลาจลอย่างละเอียด มีแม้กระทั่งการถ่ายทอดคำพูดแบบคำต่อคำของพระเจ้าตากในบางตอน แต่เมื่อถึงเวลาสำคัญคือฉากการประหารพระเจ้าตากก็หายไปอย่างน่าพิศวง

@@@@@@

“สมเด็จพระไอยกาเจ้าฟ้ากระษัตริย์ศึก เสด็จอยู่กรุงกำภูชา ถอยมาประทับด่านกระบิน ทราบว่ากรุงธนข้นเข็ญเปนศึกขึ้นกลางเมืองถึงสองครั้ง จึงเสด็จกลับเข้าพระนคร ฯ ณ วันเสาร์ แรม 9 ค่ำ เดือน 5 ลุศักราช 1144 ปีขานจัตวาศก เพลาสองโมงเศษศุขสวัสดิฤกษ เสด็จเข้าพระนครปราบดาภิเศก อดิเรกเฉกชมสมบัติ จักรพรรดิ์ตราพร้อมถวาย 12 พระกำนัล 12 พระคลัง แล้วมีพระราชโองการรับสั่ง ให้ตั้งกรุงเทพมหานคร”(4)

ถ้าหากว่ากันตามลำดับเหตุการณ์ก็คือ หลังจากเจ้าพระยาจักรีกลับมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว จึงให้ชำระโทษแก่พระเจ้าตาก แล้วจึงตั้งกรุงเทพมหานคร สิ่งที่น่าแปลกสำหรับจดหมายความทรงจำฯ ฉบับนี้ก็คือ เป็นการบันทึกอย่างละเอียดมีลำดับเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอน แม้แต่การถอดคำของพระเจ้าตากมา เช่น เมื่อตอนที่ขุนนางฝ่ายพระเจ้าตากลากปืนขึ้นป้อมจะรบกับฝ่ายพระยาสรรค์นั้น พระเจ้าตากก็ทรงห้ามไว้ว่า “สิ้นบุญพ่อแล้ว อย่าให้ยากแก่ไพร่เลย” หรือตอนที่จะทรงผนวชหลังพ่ายให้กับพระยาสรรค์ก็ตรัสว่า “เอหิภิกขุลอยมาถึงแล้ว”

ท้ายที่สุดเมื่อกองทัพพระยาสุริยอภัยยกมาล้อมกองทัพพระยาสรรค์ พระยาสรรค์ก็ปล่อยเจ้ารามลักษณ์ให้ไปเกลี้ยกล่อมพระเจ้าตากมานำการรบแต่ก็ทรง “ละ” แล้ว “ท่านว่าสิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย” นี่คือเหตุการณ์ก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี


พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินหน้าพระอุโบสถหลังใหม่ วัดอินทาราม ธนบุรี

แต่ไม่ว่าจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวีจะละเอียดเพียงใด ก็ทรง “ละ” ฉากสุดท้ายของพระเจ้าตากไว้เช่นกัน ไม่มีคำกล่าวแม้กระทั่งการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากเกิดขึ้นเมื่อใด ฉากอวสานกรุงธนบุรีหายไปทั้งฉากอย่างน่าประหลาดใจ อีกท่านหนึ่งคือ พระชำนิโวหาร ท่านนี้กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ทรงเชื่อว่า “พูดเหมือนคนที่เห็นด้วยตา”

ในโคลงสรรเสริญพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีลักษณะละเอียดลออไม่ต่างจากจดหมายความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี คือ ลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง มีรายละเอียดใส่ไว้มากมาย เช่น ตอนที่พระยาสรรค์ต้องเข้าเฝ้าชำระความ แต่พระยาสรรค์ซึ่งถูกกรมขุนอนุรักษ์สงครามซัดทอดมีความผิดแต่ก็ทำ “เนียน” ราวกับตัวมีความชอบในการโค่นกรุงธนบุรีครั้งนี้

พระชำนิโวหารกล่าวถึงพวกพระยาสรรค์ไว้ว่า

ผู้ผิดประทุษฐ์นั้น          หนาวตัว
หวั่นหวั่นสั่นสยองกลัว     โทษไท้
จำใจจำยิ้มหัว             หวังเกลื่อน ความพ่อ
ทูลพิดเพิ่มใส่ไคล้        ล่อเลี้ยวหลายกลฯ(5)

@@@@@@

แม้จะมีการเก็บรายละเอียดไว้มากมายเพียงใดก็ตาม พระชำนิโวหารก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่ “ละ” ตอนอวสานพระเจ้าตากไว้เช่นเดียวกับคนอื่น ๆ โดยกล่าวเพียงรวม ๆ ว่า

ผู้ผิดแท้ท่านให้          ลงทัณฑ์
โทษฆ่าจองไปฟัน       เสียบเกล้า
น้อยโทษ ธ ผ่อนผัน    ภาคโทษ ให้แฮ
ถอนแผ่นดินสิ้นเศร้า    เสื่อมเสี้ยนรนามหนามฯ

สมเด็จพระวันรัตน กรมหลวงนรินทรเทวี พระชำนิโวหาร ทั้ง 3 ท่านนี้ได้ “ละ” เอาความตอนประหารพระเจ้าตากออกไปจากงานเขียนของตัว โดยเฉพาะ 2 ท่านหลัง ซึ่งลำดับเรื่องมาอย่างละเอียดประเภท “อินไซด์” แต่พอถึงฉากสำคัญกลับ “ไม่แตะ” แม้แต่วรรคเดียว คล้ายกับทำหล่นหายไปเฉย ๆ

@@@@@@

สำหรับท่านสุดท้ายคือ พระยาทัศดาจัตุรงค์ แต่งหนังสือชื่อ ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ในคำประพันธ์เล่มนี้มีบางบทที่เรียกได้ว่า “เข้าใกล้” ฉากสำคัญนั้นมาก และมีมุมที่ต่างไปจากท่านอื่น ๆ ในสาระสำคัญบางตอนโดยเฉพาะตอนสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตาก

หนังสือเรื่อง ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ซึ่งแต่งเป็นกาพย์ฉบัง 11 นี้ ไม่ค่อยได้มีคนพูดถึงมากนัก อาจเป็นเพราะเป็นหนังสือหายาก พิมพ์ขึ้นจำนวนจำกัดเพียง 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกในหนังสือวชิรญาณ ตอนที่ 85 ตุลาคม ร.ศ. 120 พิมพ์ครั้งที่ 2 เพียง 500 เล่ม ในงานฌาปนกิจศพ นางสาวอรวรรณ เลขะกุล เมื่อปี 2513 นอกจากจะเป็นหนังสือหายากแล้ว สิ่งที่หนังสือเรื่องนี้ไม่ค่อยได้ถูกอ้างอิงถึงก็เพราะเนื้อความมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะส่วนที่ว่าด้วยจำนวนปีของการครองราชย์ของกษัตริย์อยุธยาจะผิดกับฉบับอื่น ๆ เกือบทุกพระองค์ แต่เนื้อเรื่องส่วนอื่นก็ตรงกับพระราชพงศาวดารเป็นส่วนใหญ่ รวมถึง “เกร็ดพงศาวดาร” ที่ไม่ปรากฏในหนังสือเล่มอื่น เช่น เรื่องนกสาลิกาพูดได้ของพระเจ้าเสือ

พระจอมมกุฎเกศกรุงเทวา    มีพระนกสาลิกา
รู้พูดแลพลอดดังคน

@@@@@@

ส่วนฉากอวสานกรุงธนบุรีนั้น ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ฉบับนี้ มีความแตกต่างแต่สอดคล้องกับหลักฐานฉบับอื่น ๆ กล่าวได้ว่า พระยาทัศดาจัตุรงค์ ผู้แต่ง ได้ผูกเรื่องตอนจบในฉากสุดท้ายของพระเจ้าตากไม่เหมือนใคร ทั้งนี้เป็นเพราะพระยาทัศดาจัตุรงค์อาจเห็นเหตุการณ์ด้วยตัวเอง หรืออาจเป็นผู้หนึ่งที่บุกยึดวังพระเจ้าตากในการปะทะกับกองทัพพระยาสรรค์ เพราะท่านได้ประกาศตัวว่าเป็น “ข้าวังหลัง” หรือข้าในพระยาสุริยอภัย ผู้ปราบศึกพระยาสรรค์ยึดกรุงธนบุรีไว้ได้อย่างราบคาบ ก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะเดินทัพกลับมาจากกรุงกัมพูชานั่นเอง

ข้อยข้าทัศดาจัตุรงค์    ผู้รองบาทบงสุ์
ภิมุขเบื้องบวรสถาน

พระยาสุริยอภัย ผู้ปราบกรุงธนบุรี ได้รับการสถาปนาในแผ่นดินใหม่เป็น สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ หลังพระราชพิธีปราบดาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ในปี 2325 และต่อมาได้รับการสถาปนาเป็น กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ กรมพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือ “วังหลัง” เป็นบำเหน็จหลังทรงชนะศึกพม่าในสงคราม 9 ทัพ เมื่อปี 2328

@@@@@@

ดังนั้นในระหว่างที่เป็น “ข้าวังหลัง” พระยาทัศดาจัตุรงค์ก็อาจจะเป็นข้าหลวงเดิมที่มีส่วนในกองทัพพระยาสุริยอภัยเมื่อคราวตั้งค่ายล้อมกองทัพพระยาสรรค์อยู่ที่กรุงธนบุรี เพื่อรอกองทัพใหญ่ของเจ้าพระยาจักรีมาปิดบัญชีกรุงธนบุรีด้วยตัวเอง “คำให้การ” ของข้าวังหลังท่านนี้จึงน่าจะมีประเด็นชวนคิดอยู่ไม่น้อย

การบรรยายฉากก่อนการจลาจลในกรุงธนบุรีของพระยาทัศดาจัตุรงค์ ก็ไม่ต่างจากท่านอื่น คือ จับประเด็นในเรื่องการที่ข้าราชการข่มเหงเบียดเบียนราษฎรเร่งเอาทรัพย์สิน เหมือนกับเอกสารฉบับอื่น ๆ แต่เนื้อความที่น่าสนใจก็คือ เมื่อราษฎรเกิดความเดือดร้อน ก็ลุกฮือขึ้นยึดเมือง แล้วจับพระเจ้าตากใส่สังขลิกหรือโซ่ตรวนพันธนาการ ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ พรรณนาความไว้ดังนี้

ภายหลังท่านผู้ครองภพ     เสียจริตคิดคด
บอยู่ในสัตยาธรรม์
เฆี่ยนฆ่าสามารถใจฉกรรจ์     เรียกเงินทองทัณฑ์
ทำโทษพิโรธมุลิกา
เก็บริบทรัพย์สินโภคา     ปรับไหมเหลือตรา
ทุกหมู่อำมาตย์มนตรี
สมทรัพย์ใส่คลังมากมี     ร้อนทั่วประชาชี
ก็เกิดพิบัติอัศจรรย์
ก่อยุคขุกแข็งขืนขัน     ตริเอาเมืองพลัน
ก็ได้ด้วยคิดขับเคี่ยว
เจ้าตากจนใจจริงเจียว     สุดคิดจักเหลียว
ก็อ่อนฤทัยทำดี
ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี     กุมเอานฤบดี
ใส่สังขลิกโบยตี
รู้อึงกิตาการมากมี     อัญเชิญนฤบดี
ไปผ่านพิภพอยุธยา

@@@@@@

คำถามคือ “ท้าวพระยา” ที่กระทำการโบยตีพระเจ้าตากอยู่ฝ่ายไหน และมีการโบยตีจริงหรือไม่? หากลำดับความตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา ก็จะพบว่า หลังจากที่พระยาสรรค์ยึดกรุงธนบุรีได้อย่างง่ายดายแล้ว พระเจ้าตากทรงขอออกผนวช ระหว่างนั้นพระยาสรรค์ได้ “ขัง” พระเจ้าตากไว้ในพระอุโบสถวัดแจ้ง และก็ทรงอยู่แต่ในพระอุโบสถนั้นตลอดเวลาจนจบเรื่อง

ครั้นเมื่อพระยาสุริยอภัยเดินทัพมาถึงกรุงธนบุรีก็เข้าเจรจาความกับพระยาสรรค์ในทันที แต่ได้ข้อตกลงอันไม่เกี่ยวกับการศึกแต่อย่างใด กลับเป็นเรื่อง “พระยาสุริยอภัยกับพระยาสรรค์จึงปรึกษากันให้สึกเจ้าแผ่นดินออก แล้วพันธนาการไว้ด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์” แล้วพระยาสุริยอภัยก็กลับบ้านไปตั้งทัพรอเจ้าพระยาจักรี ส่วนพระยาสรรค์ก็ยังคงยึดกรุงธนบุรีไว้เหมือนเดิม

พระเจดีย์คู่หน้าพระอุโบสถเก่า วัดอินทาราม
เชื่อว่าองค์ด้านซ้ายในภาพบรรจุพระบรมอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสิน ส่วนองค์ด้านขวาบรรจุพระบรมอัฐิพระอัครมเหสี

การที่พระยาสุริยอภัยมาเจรจาความกับพระยาสรรค์เพื่อให้ “สึกพระ” นั้น เป็นเนื้อความที่แปลกประหลาด และไม่มีที่มาที่ไปเหมือนกับอยู่ ๆ ก็เขียนแทรกขึ้นมา ในขณะที่เรื่อง “สึกพระ” ตามที่ปรากฏในพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขานั้น ก็ขัดอยู่กับเอกสารหลายฉบับ เช่น ในจดหมายความทรงจำฯ กล่าวว่า เจ้ารามลักษณ์ไป “เรียกท่านที่ทรงผนวช ให้ประจุออกเถิด” เพื่อไปรบกับพระยาสุริยอภัย แต่พระเจ้าตากทรง “ละ” แล้วจึงว่า “สิ้นบุญเราแล้วอย่าทำเลย” และทรงผนวชอยู่เช่นนี้จนจบเรื่อง

เช่นเดียวกับพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) กล่าวถึงการ “สึกพระ” ไว้ตอนจบของเรื่องคือก่อนการประหาร “ขอให้ปริวัตรออกประหารเสีย” ดังนั้น พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาจึงมีเนื้อความแตกต่างจากเอกสารฉบับอื่นที่ให้มีการ “สึกพระ” ตั้งแต่พระยาสรรค์กับพระยาสุริยอภัยยังไม่ได้รบกัน ส่วนการพันธนาการด้วยเครื่องสังขลิกพันธ์นั้น ไม่ได้มีธรรมเนียมปฏิบัติสำหรับพระเจ้าแผ่นดิน แต่มีกฎหมายสำหรับพระเจ้าลูกเธอตราไว้ในกฎหมายตราสามดวง ในกฎมณเฑียรบาลมาตรา 175 ว่า

“ผี้พระราชกุมารต้องพระราชอาญา แลใส่สังขลิกบัญชร คือใส่ตรวนไซ้ ถ้าลูกหลวงเอกเครื่องทอง ลูกหลวงโทเครื่องเงิน”

@@@@@@

เมื่อพิจารณาจากเหตุการณ์แล้ว ขณะที่พระยาสรรค์ยึดเมืองอยู่นั้น ก็ยอมให้พระเจ้าตากผนวชแต่โดยดี ซ้ำเมื่อจวนตัวยังส่งคนไป “ขอพึ่งพระบารมี” ให้นำทัพสู้กับพระยาสุริยอภัย จึงไม่น่ามีเหตุการณ์เรื่อง “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” นอกจากนี้ฝ่ายพระยาสรรค์ยังไม่มีบารมีและมิได้มีมวลชนที่เป็น “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี” เลยเมื่อเทียบกับฝ่ายเจ้าพระยาจักรี ซึ่งมีบารมีอย่างสูงในสมัยกรุงธนบุรี พระยาสรรค์นั้นถึงขั้นต้องแจกเงินซื้อเสียงก็มี และที่สำคัญไม่มีบทของพระยาสรรค์ปรากฏอยู่ในเรื่องนี้

ในขณะที่ฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั้น มีมวลชนทั้งราษฎรและสมณพราหมณ์ชีอยู่มากมาย

ราษฎรเสนางค์พราหมณ์ชี     ปโรหิตพฤฒี
ผู้รู้ระบอบบรรยาย
เชิญสองกษัตริย์ฦาสาย     มอบมิ่งเมืองถวาย
ให้ไทธิราชครองภพ

ดังนั้นฝ่ายที่ “กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” (หากเกิดขึ้นจริง) ก็น่าจะเป็นฝ่ายเจ้าพระยาจักรีนั่นเอง และเนื้อความข้อนี้ก็สอดคล้องกันกับพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ที่ว่าเกิด “ม็อบ” นำตัวพระเจ้าตากไปลงโทษ “ฝ่ายทแกล้วทหารทั้งปวงมีใจเจ็บแค้นเป็นอันมาก ก็นำเอาพระเจ้าแผ่นดินและพวกโจทย์ทั้งปวงนั้นไปสำเร็จ ณ ป้อมท้ายเมืองในทันใดนั้น”

@@@@@@

นอกจากนี้สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงกล่าวถึง “ม็อบ” ในเหตุการณ์ประหารพระเจ้าตาก ไว้ในพระราชพงศาวดารของพระองค์เช่นกัน “ภายหลังมีจิตรฟุ้งซ่านถึงสัญญาวิปลาส ประพฤติพิปริตธรรมกรรมอันเดือดร้อนแก่สมณพราหมณาประชาราษฎรทั้งปวง ชเนหิ กุช์ฌิตวา อันชนทั้งหลายมีความโกรธ ชวนกันกำจัดเสียจากราชสมบัติ แล้วพิฆาฎฆ่าเสียกับทั้งบุตรนัดดาวงษานุวงษ์ทั้งสิ้น”(6)

แต่ปัญหาก็คือ ในลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์นี้ ขณะที่ “กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” นั้น พระเจ้าตากยังไม่สวรรคต และ “ม็อบ” ที่กุมเอานฤบดีไปโบยนั้น ก็เกิดขึ้นก่อนที่เจ้าพระยาจักรีจะยกทัพกลับมาถึงกรุงธนบุรี ส่วนในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) นั้น “ม็อบ” เกิดขึ้นหลังเจ้าพระยาจักรีมาถึงกรุงธนบุรีแล้ว อย่างไรก็ดี ฉากสุดท้ายของกรุงธนบุรีใน ลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ไม่มีการคั่นแบ่งเวลา เป็นการกล่าวต่อเนื่องกันเหมือนกับเป็นช่วงเวลาเดียวกัน

ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี     กุมเอานฤบดี
ใส่สังขลิกโบยตี
รู้อึงกิตาการมากมี     อัญเชิญนฤบดี
ไปผ่านพิภพอยุธยา
พระเสด็จโดยทิศบุรพา     ทางสถลมรรคา
ก็ลุนครกรุงไกร
สมณชีพราหมณ์ถวายชัย     อุโฆษเกรียงไกร
กรเกียรติพิภพมไหศวรรย์

@@@@@@

ความหมายในตอนนี้จึงคล้ายจะบอกว่าอาณาประชาราษฎรและสมณชีพราหมณ์ (ซึ่งเป็นฝ่ายธรรมะ) ลุกฮือ ก่อการยึดเอาเมืองเอาไว้ได้ จากนั้นก็จับเอาพระเจ้าตากมาลงทัณฑ์ ก่อนจะเชิญเจ้าพระยาจักรีขึ้นครองราชสมบัติ แม้จะเป็น “ข้าวังหลัง” แต่พระยาทัศดาจัตุรงค์ก็ไม่ได้ให้เครดิตพระยาสุริยอภัยในศึกครั้งนี้ และไม่มีผู้ร้ายอย่างพระยาสรรค์ในเรื่อง มีแต่ “ท่านผู้ครองภพ เสียจริตคิดคด” เป็นผู้ร้ายเพียงหนึ่งเดียวที่ถูก “ม็อบ” ฝ่ายธรรมะใส่สังขลิกโบยตี

ปัญหาสำคัญที่สุดในลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ ไม่ใช่เรื่องใครกุมเอาพระเจ้าตากไปโบยตี แต่เป็นเรื่องที่สำคัญกว่านั้นคือ หนังสือเล่มนี้ได้บอกการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากต่างจากหนังสือเล่มอื่นโดยสิ้นเชิง คือ

สมณชีพราหมณ์ถวายชัย     อุโฆษเกรียงไกร
กรเกียรติพิภพมไหศวรรย์
เกิดวิกลดลจิตประจุบัน     ท้าวดับชีวัน
ผ่านภพได้สิบห้าปี

@@@@@@

จะเห็นได้ว่าการที่ “ท้าวพระยาพระหลวงพราหมณ์ชี กุมเอานฤบดี ใส่สังขลิกโบยตี” นั้น ไม่ได้ทำให้พระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ในทันใด เหมือนกับการ “ตัดศีรษะ” หรือ “สำเร็จ” หรือ “ฆ่า” หรือ “ดับขันธ์” ซึ่งเป็นคำที่เอกสารเก่าแต่ละฉบับเลือกใช้เพื่อบอกว่าพระเจ้าตากสิ้นพระชนม์ แต่ในหนังสือลำดับกษัตริย์กรุงเก่าคำฉันท์ กลับเลือกใช้คำ “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน” ซึ่งเป็นเหตุการณ์หลังจากที่ทรงถูก “ใส่สังขลิกโบยตี” แล้ว

เป็นไปได้หรือไม่ว่า “คำให้การ” ของพระยาทัศดาจัตุรงค์ เรื่อง “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน ท้าวดับชีวัน” นี้ ต้องการที่จะบอกว่า พระเจ้าตากนั้น สิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการ “พระหทัยวายเฉียบพลัน” ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากการถูกโบย หรือต้องทนทุกข์ทรมานพระทัยจน “ดับขันธ์” ในที่สุด

สรุปว่า “คำให้การ” ของบุคคลและเอกสารต่าง ๆ มีข้อมูลในเรื่องการประหารพระเจ้าตากต่างกันหลายกระแส พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวว่าทรงถูกประหาร “ตัดศีรษะ” พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และสมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรสกล่าวว่าทรงถูก “ม็อบ” สังหาร ส่วนพระยาทัศดาจัตุรงค์เห็นต่างออกไปคือ “เกิดวิกลดลจิตประจุบัน” จนสิ้นพระชนม์ หาก “คำให้การ” ของ พระยาทัศดาจัตุรงค์ ในฐานะ “ข้าวังหลัง” ผู้เห็นเหตุการณ์ และให้การว่าพระเจ้าตากทรงสิ้นพระชนม์ด้วยหัวใจวาย ก็จะกลายเป็นเบาะแสใหม่ในกรณีพระเจ้าตากให้สืบค้นถกเถียงกันต่อไปไม่จบสิ้น



เชิงอรรถ :-
1. พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขา เล่ม 2. (กรุงเทพฯ : คลังวิทยา, 2516), น. 451
2. ประชุมพงศาวดารภาคที่ 65. พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม). พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. (กรุงเทพฯ : ชัยวิโรจน์การพิมพ์, 2535), น. 71.
3. สมเด็จพระวันรัตน. สังคีติยวงศ์ พงศาวดาร เรื่องสังคายนาพระธรรมวินัย. พิมพ์ถวายเป็นธรรมบรรณาการในงานพระราชทานเพลิงศพ พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (กมลเถระ). (กรุงเทพฯ : ห.จ.ก. ศิวพร, 2521), น. 427.
4. กรมหลวงนรินทรเทวี. จดหมายความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี (เจ้าครอกวัดโพ) ตั้งแต่ จ.ศ. 1129-1182. พิมพ์ครั้งที่ 4. (กรุงเทพฯ : ต้นฉบับ, 2546), น. 71.
5. พระชำนิโวหาร. โคลงสรรเสริญพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์. (พระนคร : โสภณพิพรรฒธนากร, 2470), น. 11.
6. สมเด็จฯ กรมพระปรมานุชิตชิโนรส. พระธรรมเทศนา พระราชพงษาวดารสังเขป. พิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายชิน ไชยกิจ. พระนคร : กรมศิลปากร, 2516), น. 28.

ขอบคุณ : https://www.silpa-mag.com/history/article_40561
ที่มา : ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2552
ผู้เขียน : ปรามินทร์ เครือทอง
เผยแพร่ : วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2562
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 ตุลาคม 2562
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 11, 2020, 06:32:07 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ