ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: โลกของเทวดา.? ปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ทุกสมัย  (อ่าน 359 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



โลกของเทวดา.? ปัญหาที่ค้างคาใจอยู่ทุกสมัย

พุทธศาสนา เป็นศาสนาประเภทอเทวนิยม(Atheism) หมายถึง คำสอนฝ่ายที่ไม่เชื่อว่ามี “พระผู้สร้างโลกและชีวิต” แต่ก็เป็นศาสนาที่กล่าวถึงเทวดามากมาย ในพระไตรปิฎกบาลีของนิกายเถรวาท มีคำสอนหมวดหนึ่งมีชื่อว่า “เทวตาสังยุตต์” กล่าวถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สั่งสอนหรือตรัสแก่เทวดา และมีคำสอนของเทวดา (ซึ่งเป็นแนวของพุทธศาสนา) โดยเฉพาะ

แต่โลกของเทวดา ที่มักจะใช้คำว่า “โลกทิพย์” นั้น รวมเอาโลกอื่นๆที่เป็นปรโลก มองไม่เห็นด้วยตาเข้าไว้ด้วย ก็เลยทำให้เข้าใจผิดว่า ในโลกทิพย์นั้น มีแต่เทวดาเท่านั้น

แท้จริง เมื่อกล่าวตามคำสอนหรือตามเรื่องราวในพระไตรปิฎกโลกทิพย์ (ซึ่งมองไม่เห็นด้วยตา) มีทั้งเทวดา มีทั้งพรหม มีทั้งสัตว์นรก มีทั้งเปรตอสุรกาย ฯลฯ หรือ “ผี” ประเภทต่างๆ

ความเข้าใจที่ยังไม่แจ้งชัดเรื่องหนึ่งของชาวพุทธ (โดยเฉพาะชาวพุทธที่เป็นคนไทย) คือเรื่อง “สัมภเวสี” (ซึ่งแม้แต่ ดร.สนอง วรอุไร ผู้เป็นนักบรรยายธรรมและ(อ้างว่า) ได้ “อภิญญา” จากการนั่งสมาธิเมื่อพ.ศ.2518 ก็กล่าวว่าเป็นวิญญาณของคนที่ตายแล้วยังไม่ไปเกิด) โดยชาวพุทธทั่วไปเข้าใจว่า สัมภเวสี คือ ผีชนิดหนึ่งที่แสวงหาที่เกิดหรือ “แสวงหาภพ”อยู่

สัมภเวสี (ตามความเข้าใจของชาวพุทธทั่วไป) ก็อยู่ในโลกที่ตามองไม่เห็น คืออยู่ใน “โลกทิพย์” นั่นเอง แต่ “สัมภเวสี” ก็ไม่ใช่เทวดา


@@@@@@

ได้ฟังพระสงฆ์บางรูปกล่าวว่า เทวดาชั้นต่ำสุด คือ จาตุมหาราชิกา นั้น หมายรวมทั้งรุกขเทวดา (เทวดาอยู่ตามต้นไม้) และ ภุมมเทวดา (เทวดาอยู่ตามพื้นแผ่นดิน)ด้วย (เฉพาะ ภุมมเทวดานั้น หมายถึง “พระภูมิเจ้าที่” ที่นิยมทำศาลพระภูมิ หรือบ้านหลังเล็กให้ท่านอยู่อาศัยด้วย)

ผมเคยตั้งข้อสงสัยว่า เมื่อเป็นเทวดา ก็ย่อมมีร่างหรือกายอันเป็นทิพย์ และที่อยู่อาศัย ตลอดถึงของใช้สอยต่างๆ ก็จะต้องเป็นทิพย์ (ซึ่งตามองไม่เห็น) ไปด้วย มิใช่หรือ.?

เมื่อเทวดายังมีการอาศัยต้นไม้อยู่ หรือยังมีการอยู่ในเรือน(หลังเล็ก) ที่เขาสร้างให้ จะเรียกว่าเป็นเทวดาได้อย่างไร เพราะกายทิพย์ไม่น่าจะอยู่ในสิ่งที่เป็นวัตถุในโลกมนุษย์ได้

เรื่องเล่าในคัมภีร์ที่ว่า มีคนไปตัดต้นไม้ถูกแขนขาเทวดาขาด แสดงว่า เทวดา(รุกขเทวดา) อยู่อาศัยที่ต้นไม้นั้น ไม่น่าจะใช่ เพราะทั้งต้นไม้ที่เทวดาอยู่อาศัย ทั้งมีดหรือขวานที่ตัดต้นไม้ ล้วนเป็นวัตถุ ไม่ใช่ของอันเป็นทิพย์ในอีกโลกหนึ่ง

เคยมีผู้พยายามใช้กล้องชนิดหนึ่ง ถ่ายภาพเทวดาที่ต้นไม้ และที่โบราณวัตถุในตอนกลางคืน แม้จะเห็นเป็นร่างเงาหรือแสงปรากฏวูบวาบอยู่ ก็ไม่เชื่อว่าเป็นเทวดาหรือวิญญาณใดๆ เพราะคิดว่า เทวดาและผีทั้งหลาย อยู่ในอีกโลกหนึ่งที่เรียกว่า “โลกทิพย์” นั่นเอง

@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ในพระไตรปิฎกมีกล่าวถึงเทวดาลงมาฟังธรรมหรือมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า (หรือพระกรรมฐาน) เหมือนกัน ก็สงสัยอยู่ว่าตาที่เป็นกายหรือวัตถุจะเห็นเทวดาได้อย่างไร เพราะเป็นคนละมิติ.?

ผมมีความเชื่อ (หลังจากได้เล่าเรียนพุทธศาสนามาพอสมควรแล้ว) ว่า ในโลกทิพย์ ซึ่งหมายถึงโลกที่ตามองไม่เห็นนั้น เป็นอีกโลกหนึ่ง ซึ่งน่าจะซ้อนๆอยู่ในโลกนี้เอง โลกที่ว่านี้ รวมถึงพื้นที่ที่เราเรียกว่า “อวกาศ” ด้วย ในทางพุทธศาสนาถือว่าโลกที่ว่านี้เป็น “โลกธาตุ” กินพื้นที่หลายจักรวาลรวมกัน

ถ้ากล่าวตามความเชื่อหรือตามทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ จักรวาลหนึ่งๆ กำหนดด้วยดาวฤกษ์หรือดวงอาทิตย์หนึ่งๆ เรียกกันว่า “สุริยจักรวาล” นั่นแหละ

โลกธาตุ หมายถึง พื้นที่ (รวมทั้ง “อวกาศ”) ที่มีสัตว์โลกหลายชนิดอยู่อาศัย ความเข้าใจอย่างนี้ ทำให้เชื่อว่า แม้แต่ในอุกกาบาต (ซึ่งลอยออยู่ในอวกาศ) ก็อาจจะมีสัตว์หรือสิ่งมีชีวิตบางชนิดอยู่

โลกทิพย์หรือโลกของเทวดาก็ล้วนแต่อยู่ใน “โลกธาตุ” นี้ แต่ก็ไม่อาจจะคิดไปถึงว่า โลกของสัตว์ประเภทสัตว์นรก เปรต อสุรกาย ฯลฯ และผีต่างๆ ที่ต่ำลงมา จะอยู่ในโลกทิพย์มิติเดียวกับโลกของเทวดา

เมื่อใคร่ครวญตามความเข้าใจอย่างนี้ ก็เลยเข้าใจทะลุไปถึงคำว่า “สัตว์โลก” ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ที่มองเทวดา พรหม และสัตว์ในอบายภูมิต่างๆ เป็น “สัตว์” เหมือนกัน


@@@@@@

คำว่า “ตถาคต” ที่เราได้ทราบว่า เป็นชื่อหนึ่งของพระพุทธเจ้า (เพราะพระพุทธเจ้ามักจะเรียกพระองค์เองว่า “ตถาคต”) ก็แปลว่า “สัตว์” ชนิดหนึ่งนั่นเอง แสดงว่า พระพุทธเจ้าก็ต้องการให้คนทั่วไปรู้ว่าพระองค์เป็นสัตว์โลกชีวิตหนึ่งเท่านั้นเอง

เคยตั้งข้อสงสัยว่า ทำไมจึงใช้คำว่า “ตถาคตโพธิสัทธา” (ความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของตถาคต) ไม่ใช้คำว่า “พุทธโพธิสัทธา) (ความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า) เมื่อพิจารณาคำว่า “ตถาคต” ก็เข้าใจชัดขึ้นว่า ตถาคตโพธิสัทธา หมายถึงความเชื่อมั่นในปัญญาตรัสรู้ (ปัญญาประเภทโพธิ) ของสัตว์โลกคนหนึ่ง

เข้าใจชัดขึ้นว่า เมื่อมีความเชื่อมั่นในโพธิของสัตว์โลก ประเภทมนุษย์ ก็แสดงว่ามีความเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ (ซึ่งเป็นสัตว์โลกประเภทหนึ่ง) นั่นเอง

มีเทวดาประเภทหนึ่ง เรียกว่า “อากาสัฏฐาเทวตา” แปลว่า เทวดาในอากาสะ คำว่า “อากาสะ”ในภาษาบาลี หมายถึงช่องว่าง ซึ่งตรงกับคำว่า อวกาศนั่นเอง แสดงว่า ในอวกาศ(อากาสะ) อันเวิ้งว้างนั้น มีชีวิตหรือสัตว์โลกอาศัยอยู่

แต่ภาษาไทยเข้าใจว่า อากาสะ คือ อากาศ จึงคิดว่า อากาศคือท้องฟ้า แท้จริงแล้ว อากาสะ (ในบาลี) คือ “อวกาศ” หรือ Space ต่างหาก

@@@@@@

มิติของอบายภูมิ (นอกจากสัตว์เดรัจฉาน) น่าจะเป็นโลกที่ตามองไม่เห็นอย่างหนึ่ง แต่น่าจะเป็นโลกอีกมิติหนึ่ง ที่ต่างไปจากโลกทิพย์หรือโลกของเทวดา แต่พระพุทธเจ้าเรียกทุกโลก ไม่ว่าจะเป็นโลกอบายภูมิ โลกเทวดา (รวมถึงพรหม) และโลกมนุษย์ ว่าเป็น “โลก” เหมือนกันหมด

จึงมานึกว่า ทั้งสัตว์ในอบายภูมิ หรือเทวดา (และพรหม) ทั้งมนุษย์ ล้วนเป็นสัตว์โลก การที่มนุษย์เห็นเทวดาและพรหมวิเศษกว่า-มีการกราบไหว้บวงสรวงเทวดา(และพรหม) เป็นความเข้าใจผิดของมนุษย์เองแท้จริงแล้ว เทวดา(และพรหม) ก็เป็นแค่สัตว์ประเภทหนึ่ง เพียงแต่เรามองไม่เห็น เพราะอยู่ในโลกคนละมิติ ก็เลยถือเอาการมองไม่เห็นเป็นความพิเศษ(เหนือกว่า)อย่างหนึ่ง

และคนที่ทำให้สัตว์โลกในโลกอื่น(เช่น เทวดา (และพรหม) เป็นต้น) มีความสำคัญขึ้นมา ก็คือคนที่ตั้งตัวเป็นพวกเข้าทรง พวกหมอผี หรือพระผู้ทำพิธีนั่นเอง เทวดาในสวรรค์จริงๆ คงไม่มีเวลามาคิดอ่านเรื่องที่มนุษย์ต้องการ


@@@@@@

อีกอย่างหนึ่ง เชื่อว่า เทวดาเขามี “อาหาร” ที่ต่างไปจากอาหารที่มนุษย์ยกไปเซ่นไหว้แน่ๆ เพราะไม่เคยอ่านพบว่า พวกเทวดามีการหยุดพักกินอาหารแต่อย่างใด เข้าใจว่าในสวรรค์ไม่มีเวลาหยุดพักกลางวันอย่างในโลกมนุษย์ และเชื่อว่า สัตว์ในโลกอื่น(ที่เป็นโลกทิพย์ มองไม่เห็นด้วยตา) ล้วนแต่มีอาหารที่ต่างไปจากอาหารของมนุษย์ เพราะอาหารมีถึง 4 อย่างคือ

1. กวฬิงการาหาร (อาหารหยาบ เช่น ข้าว ที่ต้องเคี้ยวและกลืนลงคอ)
2. ผัสสาหาร (อาหารที่เสพด้วยการสัมผัส เช่น การใช้อายตนะ (ภายใน-ภายนอก)ถึงกัน)
3. มโนสัญเจตนาหาร (การใช้ความคิด หรือ เจตนา เช่น เจตนาที่เป็นบุญ-เจตนาที่เป็นบาป เป็นอาหาร)
4. วิญญาณาหาร (การรับรู้ด้วยอายตนะ เช่น เพียงแต่เห็น หรือนึกคิดเอาก็อิ่มแล้ว)

อยากจะสรุปว่า อาหารของสัตว์ในโลกอื่น ต่างจากอาหารที่มนุษย์คุ้นเคยอย่างแน่นอน การเซ่นสรวงของมนุษย์ด้วยสิ่งของและอาหารต่างๆ คงไม่ถึงสัตว์ในโลกอื่นได้

@@@@@@

เขียนถึงเรื่องนี้ เพราะมานึกเรื่องโรคระบาดอันเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์อย่างหนึ่งที่กำลังเกิดอยู่ในโลกมนุษย์ ซึ่งเคยเรียกกันว่าโรคระบาดอู่ฮั่น (ในเมืองจีน) (ภายหลังพากันตั้งชื่อใหม่ว่า โรคโควิด-19 หรือ “Covid-19” นั่นแหละ”

มานึกว่า เมื่อเกิดโรคระบาดในโลกมนุษย์ (สัตว์โลกประเภทหนึ่ง) ไม่ได้หมายความว่า สัตว์โลกอื่นๆ (ในโลกอื่น) ก็ล้มตายไปด้วยbเพราะอาหารและการดำรงชีวิตของสัตว์โลกแต่ละประเภทแตกต่างกัน การสูดลมหายใจก็แตกต่างกัน อากาศในแต่ละโลก ก็ไม่เหมือนกัน การแพร่ของเชื้อโรคในโลกมนุษย์ ย่อมจะไปไม่ถึงโลกอื่นๆได้

เมื่อนึกว่าโลกธาตุนี้ มีสัตว์โลกหลายประเภทอยู่ด้วยกัน เมื่อโลกธาตุหนึ่งมีอันเป็นไป (คือถึงคราวพินาศแตกดับหรือสูญสลายไปด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง) ก็ยังมีโลกธาตุอื่นๆ ยังดำรงอยู่ คิดได้อย่างนี้ก็สบายใจ และคิดว่า โรคระบาดเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่กำหนดอายุของโลกธาตุนี้


@@@@@@

อย่างไรก็ตาม ก็ไม่เห็นด้วยที่นักเทศน์ (และคนเขียนหนังสือธรรมะทั้งหลาย) ตั้งหน้าตั้งตาแต่จะสอนให้คนไม่กลัวตายด้วยโรคระบาด อยากจะให้นักเทศน์ทั้งหลายตระหนักว่า ความพยายามของมนุษย์ที่จะเอาชนะโรคระบาด โดยเฉพาะการมีมาตรการป้องกันมนุษย์ด้วยกันแพร่เชื้อโรคต่อกันนั้น ก็เพื่อให้โลกธาตุนี้อยู่รอดไม่ใช่เพราะกลัวตายอย่างเดียว


ขอบคุณ : https://siamrath.co.th/n/138833
สยามรัฐออนไลน์ ,14 มีนาคม 2563 ,00:10 น. ,ศาสนา-ความเชื่อ ,คอลัมน์ คนข้างวัด โดยอุทัย บุญเย็น
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ