ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: "จิตที่ตั้งไว้ชอบ" ย่อมทำสิ่งที่พ่อแม่พี่น้อง ทำให้ไม่ได้ และทำให้ได้อย่างดีด้วย  (อ่าน 1035 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28361
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :25: :25: :25:

สูตรสำเร็จในชีวิต(8)

#การตั้งตนไว้ชอบ

สูตรแห่งความสำเร็จในชีวิตข้อต่อไปคือ อัตตสัมมาปณิธิ แปลกันว่า การตั้งตนไว้ชอบ ถ้าแปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การตั้งตัวถูกนั้นเอง

ตัวหรือตน ในที่นี้หมายถึง ตัวหรือตน โดยสมมุติตามที่เรารับรู้กัน มิใช่ตัวหรือตนในแง่ปรมัตถ์ เพราะถ้าว่าโดยปรมัตถ์ (ความจริงสูงสุด) แล้ว ไม่มี “ตัวตน” ทุกอย่างเป็นอนัตตาหมด เดี๋ยวจะสงสัยว่า เมื่อหาตัวตนไม่ได้ แล้วจะสอนให้มาตั้งตัวทำไมกัน

ที่เขาสอนให้ตั้งตัว หมายเอาตั้งตัวที่เราเห็นๆ อยู่นี้แหละครับ ตัวตนที่เดินได้ พูดได้ กินได้ ทะเลาะกันได้มาหลายปีแล้ว และจะทะเลาะต่อไปอีกนี่แหละ

พอพูดถึงการตั้งตัว หลายคนอาจนึกออกไปข้างนอกตัว เช่น นึกไปถึงการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ นึกถึงหน้าที่การงานมั่นคง ดังพูดว่า ขอตั้งเนื้อตั้งตัวให้ได้เสียก่อนจึงจะขอแต่งงาน อะไรทำนองนี้ แต่การตั้งตัวที่ถูกต้องหมายถึงการตั้ง “จิต” ไว้ชอบ ดังพุทธสุภาษิตตรัสไว้ว่า

"จิตที่ตั้งไว้ผิด ย่อมก่อความเสียหายให้ ยิ่งกว่าศัตรูทำต่อศัตรู คนจองเวรทำต่อคนจองเวร เสียอีก"
"จิตที่ตั้งไว้ชอบ ย่อมทำสิ่งที่พ่อ แม่ พี่ น้อง ทำให้ไม่ได้ และทำให้ได้อย่างดีด้วย"

จะเห็นว่าจุดเริ่มอยู่ที่จิต ตั้งจิตถูกชีวิตก็จะเจริญก้าวหน้า ถ้าตั้งจิตผิดก็จะประสบความเสื่อม

@@@@@@

ถ้าถามว่าตั้งจิตไว้ถูกนั้นตั้งอย่างไร คำตอบก็คือ ตั้งไว้ให้ดีนั้นแหละ เช่น แต่ก่อนเป็นคนงกเห็นแก่ได้ กอบโกยเอาไว้มากมายยังกับจะไม่คิดตาย ก็กลับเนื้อกลับตัวกลายเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เสียสละ แต่ก่อนเป็นคนไม่มีศรัทธาในพระรัตนตรัย ก็กลับเป็นคนมีศรัทธามั่นคง นับถือพระนับถือเจ้า แต่ก่อนเป็นคนหูเบาเชื่อคนง่าย ใครจะมาเป่าหูก็รีบเชื่อทันที ต่อมากลับเป็นคนหนักแน่นมีเหตุมีผล ไม่โดนล้างสมองง่ายๆ เหล่านี้เป็นต้นเรียกว่า ตั้งจิตไว้ถูกตั้งจิตไว้ดี

ถ้าคนเราตั้งจิตไว้ถูกและดีไว้แต่ต้นแล้ว จะทำอะไรก็เจริญก้าวหน้า แต่ถ้าตรงข้ามก็จะได้ผลตรงข้าม ขอยกตัวอย่างคนตั้งจิตไว้ผิดทางว่ามีผลลัพธ์อย่างไรสักเรื่องหนึ่ง

สองคนพ่อกับลูกไปทอดแห ขณะพ่อทอดแหลงไป แหไปติดตอไม้ใต้น้ำดึงไม่ขึ้น พ่อนึกว่าปลาตัวใหญ่ติดแห ความเห็นแก่ตัวเกิดขึ้นทันที นึกไปไกลถึงว่า ถ้าบ้านข้างเรือนเคียงรู้ว่า เราได้ปลาตัวใหญ่จะแห่มาขอแบ่งปันไปกิน จึงสั่งลูกให้กลับบ้าน ไปบอกให้ภรรยาคือแม่ของลูกหาเรื่องทะเลาะกับชาวบ้าน

ข้างฝ่ายภรรยาก็ดีใจหาย ทำตามสามีบอกทุกอย่าง ไปด่าทอชาวบ้านทุกหลังคาเรือนโดยไม่มีปี่มีขลุ่ย ชาวบ้านชักยัวะพากันรุมสกรัมสะบักสะบอม

สามีกระโดดน้ำลงไปหมายจับปลาตัวใหญ่ ตาข้างหนึ่งไปกระทบกับตอไม้ใต้น้ำเลือดไหลแดงฉานได้รับความเจ็บปวดมาก เอามือหนึ่งกุมตา อีกมือหนึ่งถือแหกลับบ้าน มาถึงบ้านก็เห็นภรรยาถูกชาวบ้านทำร้ายบาดเจ็บอีกคน

ตาก็บอด ปลาก็ไม่ได้กิน แถมยังผิดพ้องหมองใจกับเพื่อนบ้านอีก สมน้ำหน้า นี้คือ ผลของการตั้งจิตไว้ผิด คิดผิดตั้งแต่แรกจึงต้องประสบหายนะปานฉะนี้



#ความเป็นผู้คงแก่เรียน

ความเป็นผู้คงแก่เรียน ท่านใช้ศัพท์ว่า “พาหุสัจจะ” มาจากคำว่า “พหุสุต” (ไทยเขียนพหูสูต) แปลว่า ผู้ได้ยินได้ฟังมาก

ศัพท์ “พหุสุต” เมื่อลงปัจจัยในภาวตัทธิต ตามไวยากรณ์บาลีแล้ว รูปศัพท์จะแปลงเป็น “พาหุสัจจะ” แปลว่า ความเป็นผู้ได้ยินได้ฟังมาก ไม่ใช่แปลว่า “มีสัจจะมาก” ดังคนบ้าไม่รู้บาลีบางคนแปลแล้วตะแบงจะให้มันถูกให้ได้

พูดมาทั้งหมดนั้นชาวบ้านคงไม่เข้าใจ แต่ถ้าจะอธิบายเปรียบเทียบกับภาษาอื่นคงพอเข้าใจได้ เช่น คำอังกฤษ friend (เพื่อน) ใส่ปัจจัย ship ต่อท้ายตามหลักไวยากรณ์อังกฤษเป็น friendship (ความเป็นเพื่อน)

พหุสุต เทียบได้กับคำ friend พาหุสัจจะ เทียบได้กับ friendship ฉะนี้แล

ความเป็นคนคงแก่เรียน หรือคนเรียนมากรู้มาก เป็นความรู้ระดับต้น เป็นความรู้สะสม ที่ได้จากการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ท่องจำไว้ได้ พูดสั้นๆ ว่าเป็น “ความรู้จำ” มิใช่ความ “รู้เห็น”

อย่างหลัง (ความรู้เห็น) เป็นความรู้ระดับญาณ (การหยั่งรู้ความจริง) ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกฝนทางจิต มิใช่จากการท่องบ่นสาธยายดังพาหุสัจจะ

พาหุสัจจะ มีมากเท่าใด จะทำให้มีหูตากว้างขวาง เฉลียวฉลาด มีความเชื่อมั่นในตัวเอง องอาจ กล้าหาญในสังคม ยิ่งคงแก่เรียนในหลายๆ ด้าน ยิ่งองอาจมากขึ้น ใครจะพูดคุยจะคุยถึงเรื่องอะไรก็สนทนาโต้ตอบกับเขาได้หมด และสนทนาโต้ตอบได้ลึกซึ้งมิใช่รู้นั่นนิดนี่หน่อยแบบเป็ด ใครพูดเรื่องอะไรรู้เหมือนกัน แต่รู้ไม่จริง เหมือนเป็ดนั่นแหละ บินก็ได้ ว่ายน้ำก็ได้ วิ่งก็ได้ ร้องหรือขันก็ได้ แต่ไม่ได้เรื่องสักอย่าง ดีอย่างเดียว เอาไปตุ๋นกิน

@@@@@@

เคล็ดลับของการเป็นพหูสูตพระพุทธเจ้าตรัสไว้ 5 ขั้นตอนใครอยากเป็น “คัมภีร์เดินได้” ลองฝึกฝนตามนี้คือ

ขั้นตอนที่หนึ่ง. ฟังให้มาก อ่านให้มาก ศึกษาค้นคว้าให้มาก สมัยก่อนการศึกษาค้นคว้าอาศัยการฟังอย่างเดียว แต่สมัยนี้สื่อที่ให้ความรู้มีทุกอย่าง ต้องใช้ทั้งตาทั้งหูให้เป็นประโยชน์ให้มากที่สุด อาจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ แนะว่า มีอะไรขวางหน้าอ่านให้หมด แล้วเราจะได้ความรู้แปลกๆ ใหม่ๆ เสมอ

ขั้นที่สอง. จดจำสาระสำคัญ หรือใจความใหญ่ๆได้ อ่านมาก ฟังมากอย่างเดียวไม่พอ ต้องจับประเด็นให้ได้ จับสาระสำคัญให้ได้ แล้วจดจำไว้ บางคนอ่านหนังสือมากมาย ครั้นถามว่าหนังสือเล่มนั้นว่าด้วยเรื่องอะไร เขียนดีไหม อย่างนี้ถึงอ่านหมดห้องสมุดก็ไม่มีประโยชน์

ขั้นที่สาม. ท่องให้คล่องปากแบบอาขยาน ตรงไหนสำคัญหรือประทับใจ ท่องไว้เลยให้คล่องเหมือนพระท่องบทสวดมนต์นั่นแหละ นักเรียนรุ่นก่อนเข้าเกณฑ์ให้ท่องบทอาขยานเป็นเล่มๆ และก็จำเอาไปใช้จนเฒ่าจนแก่ไม่ลืม สมัยนี้ไม่ให้ท่องอะไรเลยดัดจิตให้เด็กคิดเป็น ไม่ต้องท่องจำแบบนกแก้วนกขุนทอง เอาเข้าจริงคิดก็ไม่ได้คิด ท่องก็ไม่ได้ท่อง โง่กว่าเดิมอีก

ขั้นที่สี่. คิดสร้างภาพในใจให้แจ่มชัด อ่านเรื่องใดให้นึกวาดภาพเกี่ยวกับเรื่องนั้นให้ชัดเจน แล้วจะไม่มีทางลืม อาจารย์เสถียร โพธินันทะ ท่านว่าท่านอ่านพระนเรศวรชนช้าง มองเห็นภาพชัดเจนจนไม่ลืม เวลานำไปพูดเหมือนกับกำลังบรรยายภาพที่เห็นกับตาให้คนอื่นฟัง นี่คือเคล็ดลับข้อที่สี่

ขั้นที่ห้า. อ่านมากฟังมาก จำได้คล่องปาก และเจนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้ว ต้องนำเอามา “ย่อย” ให้เป็นความคิดและทฤษฎีของตัวเอง พูดสั้นๆ(เพราะเนื้อที่หมด)ก็คือ นำเอาไปประยุกต์ใช้ได้นั่นแหละครับ

ทำได้ครบตามสูตรนี้ รับรองว่าเป็นผู้คงแก่เรียนแน่นอน




ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 13-19 มีนาคม 2563
คอลัมน์ : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
ผู้เขียน : เสฐียรพงษ์ วรรณปก
เผยแพร่ : วันพฤหัสที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2563
ขอบคุณ : https://www.matichonweekly.com/column/article_286898
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: มีนาคม 27, 2020, 06:59:18 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ