ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ความเป็นมา และ ประโยชน์ของการสวดมนต์  (อ่าน 707 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28436
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0



ความเป็นมา และ ประโยชน์ของการสวดมนต์ โดย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต)

พวกเราชาวพุทธนิยมสวดมนต์ด้วยเหตุผลต่าง ๆ แต่หลายคนอาจยังไม่รู้เรื่องราวความเป็นมาและ ประโยชน์ของการสวดมนต์ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ.ปยุตฺโต) เคยบรรยายธรรมถึงเรื่องนี้เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2551 ไว้ดังนี้

เรื่องสวดมนต์ก็มีพูดไว้หลายอย่าง หนึ่งเป็นวิธีการในการศึกษา โดยเฉพาะการศึกษาของพระ ที่ว่าท่านสาธยายในสิ่งที่สดับฟังมา เพื่อทบทวนหรือรักษาคำสอนที่พระต้องการศึกษา เช่น พระสูตร คำสอนของพระพุทธเจ้า สาธยายก็เป็นวิธีการหนึ่งในการศึกษา ได้ทบทวนและยกขึ้นมาพิจารณาไตร่ตรอง ทำความเข้าใจ

สองเป็นวิธีการรักษาพุทธพจน์ อันนี้เป็นของส่วนรวมแล้วที่มาประชุมกันสวด บางทีถึงกับแบ่งหน้าที่กัน เป็นพระกลุ่มนี้กลุ่มนั้น กลุ่มนี้รักษาพุทธพจน์ในส่วนนี้ เช่น อย่างที่ท่านแบ่งในพระไตรปิฎก ได้แก่ พระสูตร พระสูตรแยกเป็นทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย ขุททกนิกาย มีมากมายอย่างนี้ จะให้หมู่เดียวรักษาหมดก็จะเป็นเรื่องที่หนักมาก จึงแบ่งกลุ่ม ๆ ผู้เป็นพระอาจารย์ท่าน ชอบทีฆนิกาย ท่านก็ให้กลุ่มนี้รักษาไว้ ท่านเรียกว่า ทีฆภาณิกา แปลว่า พระที่สวดทีฆนิกาย “ภาณิกา” แปลว่า “สวด” คณะนี้จึงสวดรักษาทีฆนิกายไว้ และคณะอื่นก็รักษามัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย เป็นต้น


อันที่สาม ต่อมาความจำเป็นในการรักษาพุทธพจน์ด้วยการสวดก็น้อยลง หรือแทบไม่มี เลยมุ่งไปที่ประโยชน์อย่างอื่น อาตมาเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่โน้มจิตไปสู่ความสงบ เป็นเครื่องฝึกตนเองอย่างหนึ่ง ทำใจให้พร้อมที่จะทำสมาธิ เลยทำเป็นบุพภาคของการเจริญสมาธิ บุพภาคก็คือสวดเบื้องต้น สวดนำหน้า ก่อนจะฝึกสมาธิก็มาสวดมนต์กันเสียหน่อย จิตก็หลุดพ้นจากเรื่องวุ่นวาย เรามาจากท้องถนน เรื่องเยอะเหลือเกิน บางส่วนสวดมนต์แล้วก็สงบสติ ตัดเรื่องพวกนั้นไป คั่น กันเรื่องวุ่นวายนั้นออกไป เราพร้อมที่จะเจริญสมาธิ

ต่อไปสี่ก็คือว่า เพื่อช่วยด้านจิตใจของประชาชนที่เป็นมนุษย์ปุถุชน อยู่ในโลกยังมีความหวาดหวั่น กลัวโน่นนี่ ทางจิตใจบ้าง ทางเหตุการณ์บ้าง ไม่รู้ข้างหน้าจะมีปัญหาเรื่องอะไรเหล่านี้ อันนี้จะใกล้กับศาสนายุคโบราณคือเป็นเครื่องปลอบประโลมใจ และช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าเราอยู่กับพระ บทสวดนี้จะมีข้อความที่ช่วยให้เกิดความมั่นใจว่าได้อยู่กับพระรัตนตรัย เราจะได้ปลอดภัย พระท่านคุ้มครองเรา อย่างพระสูตรหนึ่งชื่อว่า ธชัคคสูตร

มีเรื่องอยู่ว่า พระไปปฏิบัติธรรมกันอยู่ในป่าที่ห่างไกล พวกเทวดาที่นั้นเมื่อพระมาอยู่ ตัวเองก็อยู่ไม่สะดวก ไม่ใจชอบ เพราะต้องเกรงใจพระ เลยไม่อยากให้พระอยู่ เลยแกล้งมาทำให้เห็นเป็นโน่นเป็นนี่ พระก็กลัว จึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงมอบบทสวดเรียกว่า ธชัคคสูตร แปลว่า พระสูตรยอดธง ยอดธงอันนี้หมายถึงยอดธงของเทวดา

พระพุทธเจ้าตรัสป็นทำนองเปรียบเทียบ บอกว่าพวกเทวดากับอสูรทำสงครามกัน เรื่องสงครามเทวดากับอสูรมีมาอยู่เรื่อย เพราะอสูรเคยอยู่ดาวดึงส์มาก่อน เขาเรียกว่าบุพพเทวดา แปลว่า เทวดาเก่า เขาอยู่ดาวดึงส์มาก่อน แล้วพวกพระอินทร์มารบแย่งชิงดินแดน ทำให้อสูรตกจากสวรรค์ ตกจากสวรรค์จริง ๆ ก็คือว่า ทำให้อสูรกินเหล้าแล้วก็เมาเลยรบไม่ได้ พอพวกเทวดามารบ อสูรตั้งตัวไม่ได้ เทวดาก็จับอสูรเหวี่ยงลงจากสวรรค์ สมัยนั้นฮินดูเชื่อว่าเทวดาอยู่บนเขาพระสุเมรุ อสูรเลยโกรธตัวเองว่าเรามากินเหล้าทำให้เสียดินแดน ต่อไปนี้เราจะไม่กินเหล้าอีกแล้ว เลยได้ชื่อว่า อสูร แปลว่า ไม่เอาเหล้าอีกแล้ว นี่เป็นเหตุที่มาของความหมายของอสูรอีกความหมายหนึ่ง

แดนสวรรค์ดาวดึงส์มีต้นไม้ประจำอยู่ต้นหนึ่งชื่อว่า ต้นปาริฉัตตกะ หรือ เพี้ยนมาเป็น ปาริชาติ หรือต้นทองหลางลาย ดอกเขาจะสีแดง พวกอสูรที่ตกลงไปอยู่เชิงเขาพระสุเมรุ ก็มีต้นไม้ประจำแดนอสูรขึ้นชื่อว่า จิตตปาตลี แปลว่า ต้นแคฝอย พอถึงฤดูดอกแคฝอยบาน พวกอสูรก็จะนึกถึงแดนเก่าของตนเองที่ดาวดึงส์ และต้นปาริชาติ พอแค้นขึ้นมาก็พากันยกทัพขึ้นไปรบกับพวกเทวดา ในพระไตรปิฎกมีเรื่องเทวดากับอสูรรบกันอยู่หลายแห่ง เรียกว่า เทวาสุรสงคราม แปลว่า สงครามระหว่างเทวดากับอสูร

ใน ธชัคคสูตร พระสูตรว่าด้วยยอดธง พระพุทธเจ้ายกเรื่องเทวดากับอสูรนี้ขึ้นมา ปรารภขึ้นมาว่า ในอดีตเคยเกิดเรื่องนี้ขึ้นแล้ว เทวดากับอสูรรบกัน เทวดาที่เป็นบริวารรบไปก็มีความหวาดกลัว เทวดาชั้นผู้ใหญ่อย่าง ท้าวสักกะเทวราช หรือ พระอินทร์ ท้าวปชาบดี เป็นต้น ก็จะมีธง เป็นธงของแม่ทัพ พอลูกทัพหวาดกลัวก็ให้มองยอดธงของแม่ทัพ ก็จะเกิดความแกล้วกล้าขึ้นมา

 


พระพุทธเจ้าก็ตรัส พวกเทวดาพอเขาหวาดกลัวก็มองยอดธงของแม่ทัพ แล้วเขาก็เกิดความกล้าขึ้นมา แต่ทว่าเทวดาพวกนั้นยังมีกิเลส ไม่ใช่แค่เทวดาบริวารเท่านั้น แม้เทวดาระดับหัวหน้า แม่ทัพ เจ้าของธง เทวดาอย่างพระอินทร์เอง พระปชาบดีเอง ก็ยังมีกิเลส โลภะ โทสะ และโมหะ  ยังมีความหวาดสะดุ้ง เสียวใจ เทวดาบริวารยังใช้ธงของแม่ทัพที่มีความหวาดกลัวนั้น มองแล้วก็ยังเกิดความกล้า

แต่ตถาคต พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่มีโลภะ โทสะ และโมหะ ไม่มีความหวาดหวั่น หรือความกลัวใดใดทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นเธอทั้งหลายเมื่ออยู่ในป่าในเขา ที่ไหนก็ตาม เกิดความหวาดกลัว หวาดหวั่น สะพรึงใจให้ระลึกถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ แล้วจะหายกลัว หายหวาดหวั่น เกิดความแกล้วกล้ามั่นใจ

พระสูตรนี้ก็ระลึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ ให้เกิดกำลังใจ ถ้าอย่างกรณียเมตตสูตรก็เหมือนกัน มีหลายเรื่องเลยที่พระไปปฏิบัติธรรมในป่า เป็นเรื่องธรรมดาเพราะพระก็เป็นปุถุชน อยู่ถิ่นห่างไกลก็จะกลัวอย่างที่ว่า อีกพระสูตรกลายเป็นว่าให้บทแผ่เมตตา ให้แผ่ขยายความรู้สึกปรารถนาดีต่อคน เทวดา และทุกอย่าง เป็นคาถากันผีอีกแบบหนึ่ง คาถากันผีจึงมีแบบพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ และพระสังฆคุณ และแบบแผ่เมตตา อุทิศกุศล

องคุลิมาลสูตร ก็มาเป็นองคุลิมาลปริตร  อันนั้นก็เรื่องที่ว่าพระองคุลิมาลมาบวชแล้ว ออกบิณฑบาต คนที่เคยมีความโกรธแค้นตอนที่ท่านเป็นมหาโจร บางทีก็ขว้างปาอะไรต่าง ๆ ทำให้ท่านได้รับบาดเจ็บ แล้วท่านไปเจอผู้หญิงมีครรภ์คนหนึ่ง แล้วผู้หญิงคนนี้ก็กลัว เลยหนีด้วยความตกใจ เห็นมีช่องระหว่างรั้วอยู่แคบ ๆ ก็แหวกรั้วออกไปอีกทาง ทำให้ท้องติดอยู่

ฝ่ายพระองคุลิมาลก็เจ็บตัว แต่ก็รู้สึกสงสาร เลยมากราบทูลพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงแนะนำว่า ไปบอกเขา แสดงความปรารถนาดี ให้รู้ว่าท่านไม่มีความคิดจะเบียดเบียน และท่านให้คติธรรมไปด้วย วันต่อมาพระองคุลิมาลไปเจอผู้หญิงคนนี้แล้วกล่าวคำว่า ตั้งแต่เราเกิดโดยอริยชาติก็ไม่มีความคิดที่จะเบียดเบียนอะไร ไม่เคยคิดที่จะฆ่าสัตว์ ทำชีวิตให้ตกลง ด้วยความสัตย์ ความสวัสดีจงมีแก่ครรภ์ ผู้หญิงคนนั้นสบายใจคลอดลูกออกมาง่าย เลยมาให้เป็นคาถาสำหรับคลอดสะดวก ใช้คาถานี้ เวลาหญิงคลอดยากก็จะมาเอาน้ำมนต์คาถานี้ไปกิน อาบ หรือรดอะไรก็ตาม ก็จะทำให้คลอดสะดวก

พระปริตรมีหลายเรื่องที่เป็นมา พระท่านก็เอาไปสวดเพื่อที่จะช่วยจิตใจประชาชน อันนี้ก็เกิดเป็นบทสวดประเภทหนึ่ง ก็เลือกสรรมาจากพระคัมภีร์โดยเฉพาะพระไตรปิฎก ที่เป็นบทสวด เป็นคำสอน ประเภทที่เกี่ยวกับการคุ้มครอง ป้องกัน ให้พร แผ่เมตตา อะไรทำนองนี้ ท่านก็คัดเอามา ว่าเป็นบทสวด 7 ตำนาน และ  12 ตำนาน เรียกว่า ปริตร แต่ก่อนไม่มีมงคลสูตร ท่านเอามาเติมภายหลัง ปริตรแปลว่าป้องกัน ทีนี้มงคลสูตรไม่ได้แปลว่าป้องกัน อันนี้ท่านคงเห็นว่าใส่มงคลสูตรลงไปยิ่งดีใหญ่ เป็นการให้ความเป็นมงคล ความสวัสดี เจริญงอกงามก็เลยใส่เข้าไปในบทสวดจำพวกปริตร และใส่เป็นบทแรก ทำอย่างไรไม่ให้มีภัย เราก็มีมงคลนำไปสู่ความเจริญ




แต่มงคลในทีนี้เป็นคำสอน ไม่ใช่การอ้อนวอน แต่เป็นการประพฤติปฏิบัติตัวให้ดี เช่น คบบัณฑิต บูชาคนที่ควรบูชา ก็เลยว่า หนึ่งสงเคราะห์ประชาชน สองอย่างน้อยจิตใจก็เกิดความมั่นคง ปลอดภัย จะได้ตั้งใจทำหน้าที่การงานได้เต็มที่ ไม่หวั่นหวาดผวา และนอกนั้นก็เป็นบทที่จะช่วยโน้มนำเข้ามาสู่การศึกษาพระธรรม และจะได้ประพฤติปฏิบัติดีงามไปด้วย มีโอกาสที่ว่าพระได้พบปะประชาชน มีโอกาสก็จะมาแปลบทสวด มีคำสอนอย่างนี้เราจะตั้งใจประพฤติปฏิบัติเข้าสู่มงคลที่แท้จริง อย่าติดอยู่แค่มงคลภายนอก อันนี้แล้วแต่พระจะมีวิธีการ อันนี้เป็นที่สี่

ก่อนที่จะสวดมนต์พวกนี้เขาจะมีการสวดชุมนุมเทวดา นึกออกไหม ชุมนุมเทวดาต้องทำความเข้าใจให้ถูก ไม่ใช่พระไปอ้อนวอนเทวดา เทวดาต้องไหว้พระ พระไม่มีหน้าที่ที่จะไปไหว้เทวดา เทวดามีแต่เกรงใจพระ เทวดาตามซุ้มประตู เวลาพระพุทธเจ้า พระสงฆ์ผ่าน ยังต้องลงมาอยู่ข้างล่าง เทวดาก็คิดว่าพระพุทธเจ้ามาทีไรลำบากทุกที เรื่องเทวดาก็เยอะ เอาแค่นี้ เรื่องของการชุมนุมเทวดา พระคงจะเห็นใจญาติโยม เพราะส่วนมากก็มาจากศาสนาอื่น ไม่ว่าจะมาจากไหน

ชาวบ้านก็หวาดกลัวเทวดา เพื่อที่จะให้สบายใจยิ่งขึ้น อย่างว่าเทวดาจะเอาอย่างไรกับเราก็ไม่รู้ พระเลยสวดบทชุมนุมเทวดา ข้อความในบทสวดชุมนุมเทวดานั้นก็จะบอกว่า เทวดาอยู่ที่ไหน ๆ ไม่ว่าที่ไหนหมดทุกแห่งทุกหนเลย จะอยู่ท้องฟ้ากลางหาว ซอกเขาภูผาอะไรก็แล้วแต่ ในทะเล บนบก เทวดาทั้งหลายทั้งปวงอยู่ที่ไหนก็ภาวนาไป ก็เชิญมา บอกเทวดาว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลายมาฟังธรรม ก็คือเชิญเทวดามาร่วมฟังธรรม ชาวบ้านก็จะรู้สึกว่าเรากับเทวดาเป็นพวกเดียวกัน นับถือธรรมะ อยากฟังธรรม เราก็อุ่นใจ เราฟังธรรมอยู่ เทวดาก็มาฟังอยู่ด้วย เป็นพวกเดียวกัน ไม่ต้องกลัว

บทสวดชุมนุมเทวดาก็คือเชิญเทวดามาประชุมฟังธรรม อันนี้เป็นเกร็ดในเรื่องของบทสวดมนต์ ทีนี้ต่อไปวัตถุประสงค์อันที่ 5 คือแต่ก่อนเราก็มีการสวดเพื่อรักษาพุทธพจน์เป็นต้น ทีนี้การที่มาสวดและการมาประชุมกันก็กลายเป็นกิจกรรมสวดมนต์ แม้การรักษาพุทธพจน์จะเบาลงไปก็ตาม แต่ว่าอีกความหมายหนึ่งคือกิจกรรมของชุมชน หรือสังฆะ เป็นโอกาสให้พระมาพบพร้อมกันตอนทำวัตร จะมีกิจมีธุระ ข่าวสารอะไรจะบอกกล่าวกัน เจ้าอาวาสมีเรื่องราว ข่าวสารที่จะบอกกับพระลูกวัดก็จะได้แจ้งให้ทราบ และเป็นโอกาสที่เจ้าอาวาส หรือหัวหน้าจะแนะนำตักเตือนให้ความรู้อีกด้วย อย่างน้อยทุกวันก็ได้สองเวลาเช้า-เย็น (ทำวัตรเช้าและทำวัตรเย็น) ได้มาพบปะพร้อมกัน มีอะไรก็ปรึกษาหารือพูดคุยกัน ก็เป็นอันว่าสวดมนต์กลายเป็นกิจกรรมของหมู่คณะ หรือกิจกรรมชุมชน เพื่อให้เป็นจุดนัดหมายที่จะมาพบปะพร้อมกัน




ที่มา : www.youtube.com
ภาพ : www.pexels.com
Secret Magazine (Thailand)
ขอบคุณ : https://goodlifeupdate.com/healthy-mind/dhamma/201073.html
By nintara1991 ,9 April 2020
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ