ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สัญญา 10  (อ่าน 23634 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

kallaya

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +1/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 112
  • ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ ถ้ามองเห็นทุกข์.........
  • Respect: +2
    • ดูรายละเอียด
สัญญา 10
« เมื่อ: ธันวาคม 03, 2009, 04:04:14 pm »
0
ฉันเคยฟังท่านอาจารย์ บรรยายเรื่องนี้บ่อยมากๆ และรู้สึกว่าท่านจะมีไฟล์เสียงบรรยายด้วย

สัญญา 10  เพื่อทำลายอาพาธ
1.อนิจจะสัญญา      
ขันธ์ 5  รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์โดยอาการ พิจารณามองเห็นว่า ไม่เที่ยง
2.อนัตตะสัญญา      
อายตนะ ภายนอก 6  ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะ ภายใน 6 รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ธรรมารมณ์โดยอาการ พิจารณามองเห็นว่า ไม่มีตัวตน
3.อสุภะสัญญา      
อาการ 32   ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจตับ พังผืด ไต ปอด ลำไส้ใหญ่ ลำไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า น้ำดี เสลดหนอง เลือด เหงื่อ มัน น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร โดยอาการพิจารณาเห็น ความเป็นของไม่งาม ไม่น่าพิศมัย ในกายนี้
4.อาทีนะวะสัญญา      
ผลของโรคต่าง ๆ  และ เหตุของโรคต่าง ๆ โดยอาการพิจารณาเห็น ความเป็นโทษ ในกายนี้
5.ปหานะสัญญา      
กามวิตก ,พยาบาทวิตก , วิหิงสาวิตก , อกุศลกรรมทั้งปวงโดยอาการสำเหนียกด้วยอารมณ์ ย่อมไม่ยินดี ย่อมละ ย่อมบรรเทา ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมทำให้ถึงซี่งความไม่มี
6.วิราคะสัญญา      
ธรรมที่ทำให้เกิดการสละคืนอุปธิทั้งปวง และธรรมที่ทำให้ตัณหาสิ้นไปโดยอาการเจริญปัญญาให้ใจมุ่งมั่น ต่อการทำลายล้างกิเลสที่เกิดขึ้น
7.นิโรธะสัญญา      
ธรรมชาตินั่นสงบ ประณีต ระงับได้แล้วซึ่ง อุปธิ และตัณหา โดยไม่เหลือโดยอาการทรงอารมณ์ เสวยผลแห่งการเข้าถึงนิพพาน
8.สัพพะโลเก อะนะภิระตะสัญญา      
อุปายะ และ อุปาทาน อันนอนเนื่องในอนุสัยจิตโดยอาการเจริญสติ ปัญญา โดยการงดเว้น และ ไม่ถือมั่น
9.สัพพะสังขาเรสุ อะนิฏฐะสัญญา      
สังขารทั้งปวงโดยอาการเจริญสติ ปัญญา โดยความรู้สึกอึดอัด ระอา เกลียดชัง แต่ สังขารทั้งปวง
10.อานาปานัสสะติ      
   1.เป็นผู้มีสติ หายใจเข้า  และ หายใจออก   
   2.หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว ก็มีสติรู้ชัด ว่า หายใจเข้ายาว หายใจออกยาว   
   3.หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น ก็มีสติรู้ชัด ว่า หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้น   
   4.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กาย ทั้งปวง หายใจเข้า และ หายใจออก   
   5.ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก   
   6.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ ทั้งหายใจเข้า หายใจออก    
   7.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก   
   8.ย่อมศึกษาว่า จักระงับ จิตตสังขาร ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก   
   9.ย่อมศึกษาว่า จักกำหนด รู้จิต ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   10.ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   11.ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   12.ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   13.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความเป็นของไม่เที่ยง ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   14.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความคลายกำหนัด ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   15.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความดับสนิท ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
   16.ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความสลัดคืน ทั้งหายใจเข้า และ หายใจออก
บันทึกการเข้า
ปัจจุบันสำคัญที่สุด อดีตก็ช่างมัน อนาคตก็ช่างมัน ถ้าเราทำปัจจุบันไว้ดี

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7249
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: สัญญา 10
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 03, 2009, 08:22:39 pm »
0
ในหนังสือขึ้นกรรมฐาน  เนื้อหาส่วนนี้ก็ปรากฏอยู่หนังสือด้วย เพราะเป็นธรรมที่พื้นฐาน ที่ควรจะต้องรู้ ต้องศึกษา และต้องภาวนาด้วย
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

TCnapa

  • สมาชิก
  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +5/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 82
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
สัญญา 10 เป็นหนึ่งในยาที่รักษาป่วยไข้ ด้วย
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: กรกฎาคม 30, 2010, 11:57:23 am »
0
ดิฉันได้ไปอ่าน คิริมานนทสูตร สูตรที่ว่าถึงความป่วยของพระคิลิมานนท องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอน

พระอานนท์ ให้นำยา คือ สัญญา 10 ไปกล่าวต่อ พระคิลิมานนท์ ท่านจึงได้หายจากอาพาธ

สูตร นี้มีชื่อเป็นทางการว่า อาพาธสูตร

อยากให้เพื่อนสมาชิก ที่เจ็บ ที่ป่วย ที่ลำบาก อยู่ได้ นำไปอ่าน เพื่อภาวนา หรือ นำไปภาวนา

ถ้าเืชื่อและเคารพในพระพุทธองค์ ก็ย่อม หายจากป่วย ได้ เจ้าคะ

 :25: :25:
บันทึกการเข้า
ถึงเป็นครูบ้านนอก แต่ก็ไม่ออกจากศีล และธรรม นะจ๊ะ

samathi

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 93
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
Re: สัญญา 10
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: พฤศจิกายน 04, 2010, 08:59:34 am »
0
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๔

             อาพาธสูตร บางทีก็นิยมเรียกกันไปว่าคิริมานนทสูตร เนื่องจากเป็นพระสูตรที่แสดงแก่พระอานนท์เพื่อให้แสดงแก่พระคิริมานนท์ที่กำลังอาพาธทนทุกทรมานอยู่  เป็นพระสูตรที่แสดงสัญญา ๑๐ ที่มีอานิสงส์ทําให้หายจากการอาพาธเจ็บป่วย, สงบระงับความเจ็บป่วย  เป็นฐานะที่จะมีได้ คือเกิดขึ้นได้,  การเจริญในสัญญา ๑๐ ก็คือการเจริญวิปัสสนาอันดีงามยิ่งอย่างหนึ่งนั่นเอง อันยังให้จิตสงบระงับและเกิดนิพพิทาญาณ จึงยังให้เเกิดอานิสงส์ในทางสงบระงับโรคภัยไข้เจ็บได้ดียิ่ง (อ่านคำแนะนำในการนำไปปฏิบัติเพื่อรักษาโรคภัยด้านล่าง)

อาพาธสูตร

             [๖๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี

ก็สมัยนั้นแล ท่านพระคิริมานนท์อาพาธได้รับทุกข์ เป็นไข้หนัก

ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระคิริมานนท์อาพาธ ได้รับทุกข์เป็นไข้หนัก

ขอประทานพระวโรกาส ขอพระผู้มีพระภาคได้โปรดอนุเคราะห์เสด็จเยี่ยมท่าน พระคิริมานนท์ยังที่อยู่เถิด พระเจ้าข้า ฯ

             พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้วกล่าวสัญญา ๑๐ ประการแก่คิริมานันทภิกษุไซร้

ข้อที่อาพาธของคิริมานันทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนั้น เป็นฐานะที่จะมีได้

             สัญญา ๑๐ ประการเป็นไฉน คือ

อนิจจสัญญา ๑       อนัตตสัญญา ๑   

อสุภสัญญา ๑         อาทีนวสัญญา ๑   

ปหานสัญญา ๑       วิราคสัญญา ๑   

นิโรธสัญญา ๑        สัพพโลเก อนภิรตสัญญา ๑   

สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา ๑     อานาปานัสสติ ๑ ฯ

             ดูกรอานนท์ ก็อนิจจสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี  ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

รูปไม่เที่ยง 

เวทนาไม่เที่ยง 

สัญญาไม่เที่ยง 

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง 

วิญญาณไม่เที่ยง 

ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงในอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอนิจจสัญญา ฯ  (แสดงอุปมาของขันธ์ ๕)

             ดูกรอานนท์ ก็อนัตตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี  ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า 

จักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา, 

หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา, 

จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา, 

ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา, 

กายเป็นอนัตตา โผฏฐัพพะเป็นอนัตตา, 

ใจเป็นอนัตตา ธรรมารมณ์เป็นอนัตตา 

ย่อมพิจารณาเห็น โดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้ ด้วยประการอย่างนี้

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่า อนัตตสัญญา ฯ

(ทั้งอนิจจสัญญาและอนัตตสัญญา ควรอ่านพระไตรลักษณ์ประกอบการพิจารณา จึงยังประโยชน์สูงสุด)

             ดูกรอานนท์ ก็อสุภสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้นั่นแล  เบื้องบนแต่พื้นเท้าขึ้นไป  เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา

มีหนังหุ้มอยู่โดยรอบ  เต็มด้วยของไม่สะอาด มีประการต่างๆ  ว่าในกายนี้มี

ผม  ขน  เล็บ  ฟัน  หนัง  เนื้อ  เอ็น  กระดูก  เยื่อในกระดูก  ม้าม 

หัวใจ  ตับ  พังผืด  ไต  ปอด  ไส้ใหญ่  ไส้น้อย  อาหารใหม่  อาหารเก่า  (มันสมอง) (ทั้ง ๒๐ นี้จัดเป็นปฐวีธาตุหรือธาตุดินนั่นเอง)

ดี  เสลด  น้ำเหลือง  เลือด  เหงื่อ  มันข้น  น้ำตา  เปลวมัน  น้ำลาย  น้ำมูก  ไขข้อ  มูตร  (ทั้ง๑๒ จัดเป็นอาโปธาตุหรือธาตุน้ำด้วยเช่นกัน)

ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่งามในกายนี้ ด้วยประการดังนี้ 

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอสุภสัญญา ฯ (ปฏิกูลมนสิการบรรพ ก็เรียก, หรือทวัตติงสาการ)

             ดูกรอานนท์ ก็อาทีนวสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี  ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

กาย(พึงเข้าใจด้วยว่า ทุกบุคคล เขา เรา ไม่มียกเว้นใดๆทั้งสิ้น)นี้ มีทุกข์มาก มีโทษมาก เพราะฉะนั้นอาพาธต่างๆ จึง(อาจ)เกิดขึ้น(กับทุกบุคคลได้)ในกายนี้ คือ

โรคตา โรคหู โรคจมูก โรคลิ้น โรคกาย โรคศีรษะ โรคที่ใบหู โรคปาก โรคฟัน โรคไอ โรคหืด โรคไข้หวัด โรคไข้พิษ โรคไข้เซื่องซึม โรคในท้อง โรคลมสลบ โรคบิด โรคจุกเสียด โรคลงราก โรคเรื้อน โรคฝี โรคกลาก โรคมองคร่อ โรคลมบ้าหมู โรคหิดเปื่อย โรคหิดด้าน โรคคุดทะราด หูด โรคละออง บวม โรคอาเจียนโลหิต โรคดีเดือด โรคเบาหวาน โรคเริม โรคพุพอง โรคริดสีดวง

อาพาธมีดีเป็นสมุฏฐาน  อาพาธมีเสมหะเป็นสมุฏฐาน  อาพาธมีลมเป็นสมุฏฐาน  อาพาธมีไข้สันนิบาต  อาพาธอันเกิดแต่ฤดูแปรปรวน  อาพาธอันเกิดแต่การบริหารไม่สม่ำเสมอ  อาพาธอันเกิดแต่ความเพียรเกินกำลัง  อาพาธอันเกิดแต่วิบากของกรรม

ความหนาว  ความร้อน  ความหิว  ความกระหาย  ปวดอุจจาระ  ปวดปัสสาวะ

(กายย่อมอาจมีโรคภัย ที่เป็นทุกข์และโทษอันเป็นธรรมหรือธรรมชาติของกาย   และย่อมต้องเกิดความรู้สึกรับรู้ในทุกข์ต่างๆ(ทุกขเวทนา)เป็นธรรมดาจากการผัสสะ  ดังเช่นเมื่อมีการกระทบใน เย็น ร้อน อ่อน แข็ง กล่าวคือย่อมเกิดทุกขเวทนาอันเป็นทุกข์ธรรมชาติหรือเป็นไปตามธรรมหรือธรรมชาติของกายเป็นธรรมดานั่นเอง)

ย่อมพิจารณาเห็นโดยความเป็นโทษในกายนี้ ด้วยประการดังนี้   

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอาทีนวสัญญา ฯ

             ดูกรอานนท์ ก็ปหานสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

ย่อมไม่ยินดี  ย่อมละ  ย่อมบรรเทา  ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมทำให้ถึงความไม่มี  ซึ่งกามวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว

ย่อมไม่ยินดี  ย่อมละ  ย่อมบรรเทา  ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมทำให้ถึงความไม่มี  ซึ่งพยาบาทวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว

ย่อมไม่ยินดี  ย่อมละ  ย่อมบรรเทา  ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมให้ถึงความไม่มี  ซึ่งวิหิงสาวิตกอันเกิดขึ้นแล้ว

ย่อมไม่ยินดี  ย่อมละ  ย่อมบรรเทา  ย่อมทำให้หมดสิ้นไป  ย่อมให้ถึงความไม่มี  ซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลายอันชั่วช้า อันเกิดขึ้นแล้ว

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าปหานสัญญา ฯ

             ดูกรอานนท์ ก็วิราคสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี  ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

ธรรมชาตินั่นสงบ  ธรรมชาตินั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง

ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา

ธรรมเป็นที่(ทำให้)สำรอกกิเลส ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าวิราคสัญญา ฯ

             ดูกรอานนท์ นิโรธสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุในธรรมวินัยนี้

อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี  ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า

ธรรมชาตินั่นสงบ  ธรรมชาตินั่นประณีต  คือ ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง

ธรรมเป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง ธรรมเป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา

ธรรมเป็นที่ดับโดยไม่เหลือ ธรรมชาติเป็นที่ดับกิเลสและกองทุกข์

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่านิโรธสัญญา ฯ

             ดูกรอานนท์ สัพพโลเก อนภิรตสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้

ละอุบาย และอุปาทานในโลก อันเป็นเหตุตั้งมั่น ถือมั่น และเป็นอนุสัยแห่งจิต  ย่อมงดเว้น ไม่ถือมั่น 

(ดังเช่นโลกธรรม ๘  จึงหลงวนเวียน ยินดียินร้ายอยู่ในโลกธรรมทั้ง ๘, อีกทั้งโลกที่หมายถึงตัวตน )

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพโลเก อนภิรตสัญญา ฯ

             ดูกรอานนท์ สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญาเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุ ในธรรมวินัยนี้

ย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชังแต่สังขารทั้งปวง (เพราะพิจารณาแล้ว รู้เห็นในความจริงของสังขารทั้งปวง ทั้งสังขารกายดังข้างต้น  ดังสังขารทั้งปวงในไตรลักษณ์)

(ฝ่าย สังขารร่างกายนั้น ก็ล้วนต้องดูแลรักษา ต้องหาอาหารต้องหมั่นเติมให้เต็มให้อิ่มทุกเมื่อเชื่อวัน เป็นภาระเวร,เป็นภาระกรรมที่ต้องคอยดูแลต้องรักษาไปตลอดกาลนานจนสิ้นกาละ  ทางหนึ่งพึงเข้าทางปาก อีกทางหนึ่งพึงขับถ่ายออกมาก็แสนปฏิกูลเหลือกำลัง  เป็นอาทีนวะคือเป็นทุกข์เป็นโทษของสังขารกายที่ย่อมต้องเกิดขึ้นโดยธรรมชาติ จึงมีเจ็บป่วยอาพาธเป็นธรรมดา มีแก่เป็นธรรมดา มีความตายเป็นธรรมดา  เมื่อพิจารณาจึงย่อมอึดอัด ย่อมระอา ย่อมเกลียดชัง ย่อมหน่ายจึงคลายกำหนัดในสังขารต่างๆ เมื่อรู้ความจริงดังนี้ เสมอๆ เนืองๆ เป็นอเนกฯลฯ.)

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าสัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา ฯ

             ดูกรอานนท์ อานาปานัสสติเป็นไฉน ดูกรอานนท์ ภิกษุใน ธรรมวินัยนี้

อยู่ในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนว่างเปล่าก็ดี  นั่งคู้บัลลังก์  ตั้งกายให้ตรง  ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า,

เธอเป็นผู้มีสติหายใจออก เป็นผู้มีสติหายใจเข้า,

(พึงระลึกเข้าใจด้วยว่า เป็นการดำรงอยู่กับสติ เพื่อมิให้ดำริพล่าน  มิได้มีเจตนาเอาลมหายใจเป็นอารมณ์หรือวิตกเพื่อกระทำฌานหรือสมาธิเป็นสำคัญแต่อย่างใด

เพียงแต่บางครั้งสติอาจขาด จึงอาจเลื่อนไหลไปสู่ฌานสมาธิบ้างเป็นเป็นครั้งคราว ก็เป็นเรื่องปกติธรรมดา)

เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า หายใจออกยาว หรือเมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า หายใจเข้ายาว,

เมื่อหายใจออกสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจออกสั้น หรือเมื่อหายใจเข้าสั้นก็รู้ชัดว่า หายใจเข้าสั้น, 

ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวง(ลมหายใจ) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้กำหนดรู้กายทั้งปวงหายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร(ลมหายใจ) หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับกายสังขาร หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้ปีติ หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร(เวทนา) หายใจออก  ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิตตสังขาร หายใจเข้า

ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขาร หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักระงับจิตตสังขาร หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักกำหนดรู้จิต หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักยังจิตให้บันเทิง หายใจเข้า, 

ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักตั้งจิตให้มั่น หายใจเข้า, 

ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเปลื้องจิต หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความคลายกำหนัด หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักเป็น ผู้พิจารณาเห็นโดยความดับสนิท หายใจออก ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็น โดยความดับสนิท หายใจเข้า,

ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจออก  ย่อมศึกษาว่า จักเป็นผู้พิจารณาเห็นโดยความสลัดคืน หายใจเข้า

ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าอานาปานัสสติ ฯ (อานาปานสติ ก็เขียน)

             ดูกรอานนท์ ถ้าเธอพึงเข้าไปหาแล้ว กล่าวสัญญา ๑๐ ประการนี้แก่ คิริมานนทภิกษุไซร้ ข้อที่อาพาธของคิริมานนทภิกษุจะพึงสงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้ ฯ

             ลำดับนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เรียนสัญญา ๑๐ ประการนี้ในสำนักของ พระผู้มีพระภาคแล้ว ได้เข้าไปหาท่านพระคิริมานนท์ยังที่อยู่ ครั้นแล้วได้กล่าว สัญญา ๑๐ ประการแก่ท่านพระคิริมานนท์  ครั้งนั้นแล อาพาธนั้นของท่านพระคิริมานนท์สงบระงับโดยพลัน เพราะได้ฟังสัญญา ๑๐ ประการนี้  ท่านพระคิริมานนท์หายจากอาพาธนั้น  ก็แลอาพาธนั้นเป็นโรคอันท่านพระคิริมานนท์ละได้แล้ว ด้วยประการนั้นแล ฯ

จบสูตรที่ ๑๐

ยามเมื่อเจ็บป่วย

             อาพาธสูตรเป็นการใช้สมาธิเพียงเพื่อให้จิตสงบไม่ซัดส่ายสอดแส่ออกไปฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง  แล้วนำจิตที่สงบดีแล้วนึ้ไปดำเนินวิปัสสนาคือการใช้ความคิดพิจารณาให้เกิดปัญญา คือเห็นความจริง  ปัญญาจากการเห็นความจริงนี้นี่เอง จึงเกิดการปล่อยวางคือความยึดมั่น อันอำนวยประโยชน์ช่วยในการรักษาความเจ็บป่วยไข้ได้เป็นอัศจรรย์

             รูปขันธ์หรือกายหรือสังขารกายนั้นเป็นสังขาร - สิ่งที่ถูกหรือเกิดขึ้นจากเหตุต่างๆมาเป็นปัจจัยปรุงแต่งกันขึ้นอย่างหนึ่ง   จึงย่อมเหมือนสังขารทั้งปวงที่มีความเสื่อมแปรปรวนไปด้วยอำนาจไตรลักษณ์แก่ทุกๆสังขารร่างกายเป็นธรรมดา  ที่ย่อมไม่พ้นอำนาจของอนิจจังไม่เที่ยงจึงแปรปรวนไปเจ็บป่วยต่างๆนาๆ  ทุกขังทนอยู่ไม่ได้ จึงต้องแตกดับไปในที่สุด  และเพราะอนัตตาไม่มีตัวตนแท้จริง จึงไม่ใช่ตัวใช่ตนของใครๆอย่างแท้จริงเช่นกัน จึงย่อมควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้อย่างแท้จริงไม่ให้เจ็บป่วบ  ด้วยตัวตนที่เข้าใจว่าเป็นตนหรือของตนนั้นความจริงเป็นเพียงมายาของกลุ่มก้อนหรือมวลรวมของเหล่าเหตุปัจจัยต่างๆที่มาประชุมปรุงแต่งกันขึ้น ที่มายาล่อลวงไปว่าเป็นตนหรือของตัวตน  ตัวตนที่เข้าใจผิดว่าเป็นตนนั้น แท้จริงจึงขึ้นหรืออิงอยู่กับเหตุที่มาเป็นปัจจัยกันจึงถูกต้อง  ดังรูปขันธ์หรือกายนี้ความจริงยิ่งแล้วจึงขึ้นโดยตรงอยู่กับเหตุคือธาตุทั้ง ๔ (ดูทวัตติงสาการ) ด้วยเป็นอนัตตาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับตนที่หมายถึงเราหรือของเรา(หรือหมายถึงความปรารถนาของเรา)ดังที่ปุถุชนเข้าใจกันโดยทั่วไป  ตนหรือเราจึงควบคุมบังคับบัญชาไม่ได้ตามปรารถนาโดยตรง  จึงอาจมีการเจ็บป่วยไข้อันเป็นทุกข์เป็นโทษโดยธรรมหรือธรรมชาติของทุกๆสังขารกาย(รูปขันธ์)เกิดขึ้นได้ ในทุกบุคคล เขา เรา   ดังที่ท่านได้แสดงไว้ดีแล้วในอาทีนวสัญญาข้างต้น

              องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ยามที่อาพาธเจ็บป่วยไข้ทางกาย ก็มีท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์แพทย์ประจำพระองค์ เป็นผู้ถวายพระโอสถดูแลรักษา,  ดังนั้นปุถุชนแม้อริยสาวกทั้งปวง ยามเมื่อเจ็บป่วยไข้หนักแปรปรวนด้วยอาทีนวะประการใดๆก็ดี อันคือเป็นไปตามธรรมคือธรรมชาติที่ย่อมเกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา  ก็จำต้องรักษาทางกาย ไปตามเหตุปัจจัยหรือความจำเป็นของโรคนั้นๆโดยอาศัยหมอ  แล้วให้ประกอบด้วยการระลึกหรือการเจริญวิปัสสนาในสัญญา ๑๐ ประการ ดังความในอาพาธสูตรนี้  ก็ย่อมจักทำให้ความเจ็บไข้ได้ป่วยนั้นจางคลาย หรือขั้นสงบลงได้โดยพลันเป็นอัศจรรย์นั้น เป็นฐานะที่จะมีได้  เพราะการรักษาพยาบาลที่ดีตามเหตุ และประกอบด้วยจิตที่ดีอัน เกิดแต่การปฏิบัติเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องดีงาม กล่าวคือ ขณะที่จิตพิจารณาธรรมคือสัญญาทั้ง ๑๐ได้อย่างแนบแน่นนั้น จิตย่อมไม่ส่งส่ายออกไปปรุงแต่งภายนอกแม้ในเรื่องเจ็บป่วย จิตย่อมสงบมี กำลัง ไม่ฟุ้งซ่านออกไปปรุงแต่ง  และถ้ายิ่งเกิดความเข้าใจในธรรมหรือนิพพิทาย่อมยิ่งยังผลอันยิ่งใหญ่  ดังกล่าวเหล่านี้ย่อมเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตเกิดกำลังอำนาจที่ดี จากการหยุดความกังวลปรุงแต่งด้วยการเจริญวิปัสสนาอย่างตั้งมั่นได้ ตลอดจนการปล่อยวางจากนิพพิทาที่จักเกิดขึ้นจากการเจริญวิปัสสนาจนรู้ความจริงยิ่งอย่างปรมัตถ์  ย่อมยังให้เกิดอานิสงส์ผลของบุญ คือส่งผลดีที่เป็นกำลังของจิตโดยตรงที่ส่งผลเนื่องไปถึงกายได้อย่างรวดเร็วรุนแรงชนิดเป็นอัศจรรย์ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าปาฏิหาริย์จนหายเจ็บป่วยไข้ได้  ดังความที่แสดงในอาพาธสูตรนี้  จึงเป็นฐานะที่จะมีได้   เหตุปัจจัยที่เป็นไปดังนี้ก็เพราะ จิตและกาย(หรือเบญจขันธ์)ต่างล้วนเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันเช่นกันตราบเท่าที่ยังมีชีวิตตินทรีย์อยู่ ดังที่ได้กล่าวแสดงอยู่เนืองๆเป็นอเนกทั้งในเรื่องขันธ์ ๕ และปฏิจจสมุปบาท  ดังนั้นจิตและกายจึงย่อมส่งผลหรือเป็นเหตุเป็นปัจจัยถึงกันและกันอย่างเนื่องสัมพันธ์กันโดยตรงไปในทิศทางเดียวกัน ตราบเท่าที่ยังดำรงขันธ์หรือชีวิตินทรีย์อยู่นั่นเอง

           อำนาจในการรักษาความเจ็บไข้ จึงเกิดขึ้นแต่การปล่อยวางด้วยปัญญากล่าวคือนิพพิทานั่นเอง,   ส่วนอำนาจของการรักษาด้วยอำนาจของฌานหรือสมาธิล้วนๆนั้นก็เกิดแต่การปล่อยวางเช่นกัน แต่เป็นการปล่อยวางจากการที่จิตหยุดการฟุ้งซ่านปรุงแต่งจึงเกิดแต่อำนาจของฌานสมาธิขึ้น ซึ่งไม่สามารถทรงอยู่ได้ตลอดไปและอาจเกิดการติดเพลินหรือนันทิคือตัณหาขึ้นได้ในภายหลัง ดังนั้นจึงควรประกอบด้วยการวิปัสสนาในสัญญาทั้ง ๑๐ เป็นสำคัญอีกด้วย

              หากแม้นไม่สามารถเป็นฐานะที่จะมีได้  อันเนื่องมาแต่เจ็บป่วยไข้ด้วยถึงกาลวาระหรือวาระสุดท้ายแล้วก็ตามที  ผู้ที่เจริญวิปัสสนาดังนี้อยู่เนืองๆในวาระนั้น  ก็ย่อมได้รับผลเป็นสุคติ ตามอัตตภาพตนเป็นที่สุดอย่างแน่นอน

              ดังนั้นในผู้ที่อาพาธเจ็บป่วยไข้ด้วยโรคอันรุนแรงอันใดก็ดี  จึงไม่ควรท้อแท้ใจไปตีอกชกหัว พิรี้พิไร คร่ำครวญรำพัน กล่าวคือเกิดทุกขเวทนาแล้วไม่พิรี้พิไร รำพัน โอดครวญนั่นเอง   ควรทำการรักษาพยาบาลตามเหตุที่เป็นปัจจัยให้เกิดในทางโลกหรือทางการแพทย์เสียก่อนนั่นเอง  แล้วจึงให้ประกอบด้วยการเจริญวิปัสสนาในเหล่าสัญญา ๑๐ อยู่เนืองๆเป็นอเนกที่มีโอกาส  ก็จักยังประโยชน์แก่ตนยิ่งเป็นสุคติแม้ในปัจจุบัน แลทั้งภายภาคหน้า   อย่าได้ไปหลงไปเชื่อแต่สิ่งหลอกลวงในสิ่งศักสิทธิ์เสียอย่างขาดเหตุผลจนเสียการ เสียแม้ชีวิต

สัญญา ๑๐ : ความกำหนดหมาย, สิ่งที่ควรกำหนดรู้ กำหนดหมายไว้ในใจอยู่เนืองๆ เป็นอเนก มี ๑๐ ประการ คือ

    ๑. อนิจจสัญญา กำหนดหมาย กำหนดรู้ความไม่เที่ยงของสังขารคือชีวิตหรือขันธ์ ๕  และแม้สังขารต่างๆอีกทั้งปวง
    ๒. อนัตตสัญญา กำหนดหมาย ความเป็นอนัตตาแห่งธรรมทั้งปวง  ล้วนไม่ใช่ตัวใช่ตน  ของเราอย่างแท้จริง
    ๓. อสุภสัญญา กำหนดหมาย ความไม่งาม เป็นปฏิกูลแห่งกาย ทั้งกายตนแลผู้อื่น ทุกบุคคล เขา เรา
    ๔. อาทีนวสัญญา กำหนดหมายใน ทุกข์แลโทษแห่งกาย กล่าวคือย่อมมีโรค,อาพาธต่างๆเป็นของคู่กับสังขารกายอีกด้วย โดยธรรมหรือธรรมชาติ
    ๕. ปหานสัญญา กำหนดหมาย เพื่อละอกุศลวิตกและบาปธรรม ตั้งแต่บรรเทา ลดละ จนถึงกำจัด
    ๖. วิราคสัญญา กำหนดหมายว่า วิราคะ คืออริยมรรคว่า เป็นธรรมอันสงบ  ธรรมอันประณีต  การคลายความอยากได้หายติด เป็นมรรคอันประเสริฐ เป็นสมบัติของอริยะควรแก่การปฏิบัติ
    ๗. นิโรธสัญญา กำหนดหมายว่า นิโรธ คืออริยผล ว่า เป็นธรรมอันสงบ  ธรรมอันประณีต  เมื่อบรรลุผลย่อมเป็นสุขอย่างยิ่ง
    ๘. สัพพโลเก อนภิรตสัญญา กำหนดหมาย ความไม่น่าเพลิดเพลิน ไม่น่ายินดี ไม่น่าอภิรมย์ในโลกทั้งปวง  ล้วนดังปรากฏในโลกธรรม ๘ อันเป็นธรรมหรือธรรมชาติของโลก
    ๙. สัพพสังขาเรสุ อนิฏฐสัญญา กำหนดหมาย ความไม่น่าปรารถนา อึดอัด น่าระอาในสังขารกาย  ตลอดแม้สังขารทั้งปวง เพราะการรู้ความจริงดังสัญญาต่างๆข้างต้น  ตลอดจนพระไตรลักษณ์ที่แสดงสัีงขารทั้งปวง ล้วนอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เนืองๆ ย่อมยังให้เกิดปัญญาจนเกิดนิพพิทาในสังขารทั้งปวง
    ๑๐. อานาปานัสสติ การมีสติกำหนดรู้ในลมหายใจเข้าออก เป็นเครื่องอยู่ เป็นเครื่องกำหนด(จึงไม่ได้หมายถึง การใช้ลมหายใจเป็นอารมณ์หรือวิตกเพื่อการทำฌานสมาธิแต่อย่างเดียว กล่าวคือให้มีสติ ไม่ขาดสติเลื่อนไหลลงภวังค์ไปในฌานสมาธิระดับประณีต) ย่อมทำให้จิตสงบระงับไม่ดำริพล่าน หรือไม่ส่งจิตออกไปคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านออกไปภายนอกให้เกิดการผัสสะต่างๆให้เป็นเกิดทุกขเวทนาหรือทุกข์อันเร่าร้อน

 

สัญญา ๑๐ จึงใช้ปฏิบัติวิปัสสนา และมีอานิสงส์ให้สงบระงับจากการเจ็บไข้หนักด้วย เป็นฐานะที่พึงมีได้
บันทึกการเข้า

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7249
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: สัญญา 10
« ตอบกลับ #4 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2010, 08:58:20 am »
0
อนุโมทนา ด้วยนะจ๊ะ มาโพสต์ เนื้อหาเต็มจากพระสูตรไว้ให้

ซึ่งพระสูตรนี้จัดเป็นพระสูตรสำคัญ ที่เป็นหลักวิปัสสนาโดยตรง ที่พระพุทธเจ้า ทรงตรัสสอนให้ผู้ป่วย

อย่างพระคิลิมานนท์ จนหายป่วย และ สำเร็จเป็นพระอรหันต์์

 ;)
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ