
3. การพัฒนาบทบาทลูก
สถาบันครอบครัวจะครบสมบูรณ์อย่างแท้จริง ต้องประกอบด้วยสมาชิกครอบครัวที่รับบทบาทลูก “ลูก” ผู้เป็นที่รักที่หวงแหนยิ่ง และสืบทอดวงศ์สกุลของพ่อแม่ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความสำคัญกับเรื่องการให้ความรู้ในการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ท่านกล่าวว่าลูกทุกคนควรระลึกถึงบุญคุณและพึงตอบแทนพระคุณได้โดยสรุปได้ดังนี้ ในช่วงวัยเด็ก ลูกๆ ยังไม่สามารถเลี้ยงชีพตัวเองได้ แต่ลูกๆ ก็สามารถตอบแทนพระคุณพ่อแม่ในเบื้องต้นได้เช่นกัน นั่นคือ ประพฤติปฏิบัติดีกับพ่อแม่ รู้จักประมาณทั้งในการกินอยู่หรือใช้วัตถุสิ่งของ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เด็กๆหรือลูกที่บ้าน อยู่กับพ่อแม่ก็ต้องนึกคิดอย่างนี้ เรายังไม่มีความพร้อมที่จะหากินด้วยตนเอง คุณพ่อคุณแม่หาเงินทอง ตั้งใจเลี้ยงดูเราให้เจริญเติบโต ให้มีการศึกษา ท่านต้องเหน็ดเหนื่อยหนักทั้งกายและใจ เราจึงไม่ควรรบกวนคุณพ่อคุณแม่ให้มากนัก ถ้าเข้าใจวัตถุประสงค์นี้แล้วใช้ปัญญาในการบริโภค ก็จะมีชีวิตที่พัฒนาจริง พร้อมทั้งเป็นผู้เลี้ยงง่าย และได้ชื่อว่าเป็นผู้มีน้ำใจต่อคุณพ่อคุณแม่ รักคุณพ่อคุณแม่จริง จะทำให้คุณพ่อคุณแม่ซาบซึ้งใจและมีความสุขขึ้นเยอะเลย (การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น. 2542 : 17)
จากตัวอย่างสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งเตือนสติลูกๆ ทั้งหลายให้แบ่งเบาพ่อแม่ เริ่มต้นแค่เพียงการกินอยู่หรือใช้สอยวัตถุต่างๆ ต้องพอประมาณ ให้ระลึกไว้ว่า ลูกๆ ยังไม่สามารถหาเงินทองมาเลี้ยงชีพตนเองได้ ดังนั้นควรประหยัดและใช้ให้พอเหมาะพอควรในช่วงชีวิตต่อมา หากลูกโตเป็นผู้ใหญ่ สามารถรับผิดชอบชีวิตได้เพราะมีการงานทำแล้ว สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) กล่าวว่า ลูกควรตอบแทนพระคุณพ่อแม่ โดยในเบื้องต้นให้เริ่มที่อามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ เหมือนดังที่พ่อแม่เคยปฏิบัติกับลูกเมื่อครั้งลูกอยู่ในวัยเยาว์ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
โดยเฉพาะก็เริ่มอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์นั้นที่ในบ้านหรือในครอบครัวของเรานี่แหละ คือ ทำการเลี้ยงดูตอบแทนพระคุณของพ่อแม่ วิธีตอบแทนพระคุณพ่อแม่นั้น ทำได้หลายขึ้นหลายทาง แต่อย่างน้อยที่สุด ก็ให้ได้ข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐาน ที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ในหลักการไหว้ทิศเบื้องหน้า 5 ประการ คือ
1. ท่านเลี้ยงเรามาแล้ว เลี้ยงท่านตอบ
2. ช่วยทำกิจธุรการงานของท่าน
3. ดำรงวงศ์สกุล
4. ประพฤติตนให้เหมาะสมกับความเป็นทายาท
5. เมื่อท่านล่วงลับไปแล้ว ทำบุญอุทิศให้ท่าน
(ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. 2553: 42-43)
จากตัวอย่างลูกพึงตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยวิธีที่ง่ายที่สุดนั่นคือ การใช้หลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ และประการสำคัญที่ลูกสามารถทำได้ คือ การใช้หลักข้อปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในหลักการไหว้ทิศเบื้องหน้า 5 ประการนั่นเอง หากลูกปฏิบัติได้ ก็เท่ากับได้ทดแทนพระคุณพ่อแม่ในเบื้องต้นแล้ว
บทสรุป
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสถาบันครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ท่านกล่าวว่าครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นหรือรากฐานของสังคม หากจะพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืนได้ จะต้องพัฒนาจากรากฐานให้มั่นคงเสียก่อน ซึ่งก็คือ การพัฒนาสถาบันครอบครัว
โดยเริ่มจากการพัฒนาบทบาทสามีภรรยา อันได้แก่ การใช้ชีวิตคู่ ซึ่งประเด็นแรกคู่รักชายหญิงจะต้องเข้าใจความรักแท้ และพัฒนาให้เกิดขึ้นในใจตนให้ได้ และต้องอาศัยหลักธรรมต่างๆ ในการดำเนินชีวิต เช่น ฆราวาสธรรม 4 สมชีวิธรรม 4 เป็นต้น อีกทั้งสามีและภรรยานั้นควรปฏิบัติตนตามหลักคำสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะจะทำให้ชีวิตคู่ครองราบรื่นและเป็นสุข
นอกจากนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) มุ่งเน้นการพัฒนาบทบาทพ่อแม่เป็นสำคัญ เพราะท่านเล็งเห็นว่า ครอบครัวจะเจริญพัฒนาได้นั้น ต้องพัฒนาพ่อแม่ผู้เป็นเสาหลักของครอบครัวเสียก่อน โดยท่านนำเสนอว่าพ่อแม่ควรมีคุณลักษณะตามที่พระพุทธองค์ตรัสไว้ คือ เป็นพรหม เป็นบูรพาจารย์ เป็นอาหุไนยบุคคลของลูก อีกทั้งพ่อแม่ควรนำหลักพุทธธรรมไปใช้ในครอบครัว เช่น พรหมวิหาร 4 สังคหวัตถุ 4 อิทธิบาท 4 ไตรสิกขา เป็นต้น
และสุดท้ายสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แสดงทัศนะเกี่ยวกับบทบาทของลูกว่าควรตอบแทนพระคุณพ่อแม่ เริ่มต้นจากการประพฤติปฏิบัติดี รู้จักประมาณทั้งในการกินอยู่หรือใช้วัตถุสิ่งของ และเมื่อลูกเติบใหญ่สามารถทดแทนคุณพ่อแม่ด้วยการเลี้ยงดูท่าน ดูแลทุกข์สุข ใช้หลักอามิสสงเคราะห์และธรรมสงเคราะห์ และที่สำคัญที่สุด คือ ลูกควรนำพาพ่อแม่ให้เจริญในทางธรรม มุ่งสู่หนทางแห่งพระนิพพาน สิ่งนี้ถือเป็นการตอบแทนพระคุณที่ล้ำค่ายิ่ง
ขอขอบคุณ :-
ภาพ : pinterest
ที่มา : บทความ ธรรมของคู้ชิวิต (PDF) เรื่อง การพัฒนาสถาบันครอบครัว ตามทัศนะของ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
เอกสารอ้างอิง :-
- ธรรมสภา. (2545). ชีวิต การงาน หลักธรรม พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). กรุงเทพฯ : ธรรมสภาและสถาบันบันลือธรรม.
- พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต). (2542). การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็น. กรุงเทพฯ : อักษรสยามการพิมพ์.
- _______. (2544). ธรรมกับไทย ในสถานการณ์ปัจจุบัน. (พิมพ์ครั้งที่ 2). กรุงเทพฯ : พัฒนาศึกษา.
- _______. (2545). จากวาเลนไทน์สู่ความเป็นไทย. (พิมพ์ครั้งที่ 17). กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต). (2545). คุณบิดามารดา สุดพรรณนามหาศาล. (พิมพ์ครั้งที่ 10) กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- _______. (2548). พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 13). กรุงเทพฯ : บริษัท เอส. อาร์. พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด.
- _______. (2548). คู่สร้างคู่สม ชีวิตคู่ในอุดมคติ. (พิมพ์ครั้งที่ 20). กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้งพับลิชชิ่ง.
- _______. (2549). ครองเรือน-ครองรัก จักเลิศแท้ ด้วยครองธรรม. (พิมพ์ครั้งที่ 9). กรุงเทพฯ : มูลนิธิการศึกษาเพื่อสันติภาพ.
- _______. (2553). ชีวิตคู่ที่มีคุณค่า. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด.
- พัทยา สายหู. (2534). กลไกของสังคม. (พิมพ์ครั้งที่ 6). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2556). พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554. (พิมพ์ครั้งที่ 2) กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่นส์ จำกัด.
- สุพัตรา สุภาพ. (2549). ปัญหาสังคม. (พิมพ์ครั้งที่ 20). กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช