ค่าไฟแพง FT พุ่ง ติดโซลาร์เซลล์อาจไม่ตอบโจทย์.?Summary
• จากที่ค่าไฟฟ้าขึ้นในช่วงหน้าร้อน ด้วยปัจจัยหลักคือการขึ้นค่า FT (ค่าไฟฟ้าผันแปร) ปรับค่า FT ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ช่วงมกราคม - เมษายน 2566 ส่งผลให้ค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท
• ในเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 มีมติเห็นชอบค่า FT เป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วยมากที่สุดเป็นประวัติการณ์จากสถิติตั้งแต่ปี 2535 ทุบสถิติเมื่อเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ปี 2554 ที่มีค่า FT ถึง 95.81 ซึ่งปี 2554 เป็นปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์
• สาเหตุหลักเป็นเพราะปัญหาการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในประเทศที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก มีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 40 – 60 ภาระส่วนนี้จะถูกแปลงออกมาเป็นค่า FT
• หนึ่งในทางออกที่จะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาว คงหนีไม่พ้นการสนับสนุนใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ที่ใช้ได้ทั้งในครัวเรือนและภาคธุรกิจ อย่าง ‘โซลาร์เซลล์’ ที่อาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย รวมไปถึงการคำนวณถึงความคุ้มค่า
ในฤดูร้อนระอุ ที่ค่าไฟพุ่งกระฉูด จนกระเป๋าเงินแห้ง เรียกได้ว่าเป็นค่าครองชีพก้อนใหญ่ที่แพงขึ้นมากในช่วงนี้ ด้วยปัจจัยหลักคือการขึ้นค่า FT หรือ ค่าไฟฟ้าผันแปร หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศปรับค่า FT ในอัตรา 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ช่วงมกราคม - เมษายน 2566 ส่งผลให้ค่าไฟอยู่ที่หน่วยละ 4.72 บาท
แม้คณะรัฐมนตรีจะได้อนุมัติวงเงิน 3,191,740,000 ล้านบาท ให้การไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เพื่อนำไปเป็นส่วนลดอัตราค่าไฟฟ้าให้แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับค่าไฟฟ้าประจำเดือนมกราคม - เมษายน 2566
แต่ในการประชุมวันที่ 22 มีนาคม 2566 กกพ. มีมติรับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นค่า FT และได้พิจารณากรณีศึกษาการปรับค่า FT ขายปลีก สำหรับเรียกเก็บในงวด พฤษภาคม - สิงหาคม 2566 โดยมีมติเห็นชอบค่า FT เป็น 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ในอัตราเดียวกันทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ ทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยรวมอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย
ค่า FT ที่สูงถึง 98.27 สตางค์ต่อหน่วยนี้ ถือเป็นค่า FT ที่มากที่สุดเป็นประวัติการณ์จากสถิติตั้งแต่ปี 2535 ทุบสถิติเมื่อเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ปี 2554 ที่มีค่า FT ถึง 95.81 ซึ่งปี 2554 เป็นปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยครั้งรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปลายปี และตรงกับช่วงที่ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีขณะนั้น ประกาศยุบสภา และให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 3 กรกฎาคม และ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ชนะการเลือกตั้ง เป็นนายกรัฐมนตรี
@@@@@@@
คมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการส่านักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อธิบายในช่องยูทูบของ กกพ.ว่า สำหรับค่า FT มีการพิจารณาทุก 4 เดือน ในการพยากรณ์ความต้องการอัตราแลกเปลี่ยน ค่าเชื้อเพลิง ค่าหน่วยผลิตต่างๆ ที่จะผลิต เพราะต้องดูการผลิตแต่ละช่วงอาจมีความคุ้มค่าไม่เหมือนกัน อย่างการผลิตช่วงหน้าฝน มีพลังน้ำเข้ามาเยอะ จะได้ราคาถูก เราก็บริหารหน่วยผลิตให้เหมาะสมกับฤดูกาล และมีต้นทุนให้ถูกที่สุด เพื่อใช้ในการเก็บค่า FT ในรอบถัดไป แต่ถ้าหากการใช้จริงเป็นบวกหรือลบ ตรงนั้นก็จะสะท้อนในรอบถัดไป
“กลไกของ FT คือการมองไปข้างหน้า เราต้องมีการพยากรณ์ว่าใน 4 เดือนข้างหน้าจะมีการใช้ไฟฟ้าอย่างไร และเราควรเอาโรงไฟฟ้าประเภทไหนเข้ามาผลิตบ้าง เพื่อให้เกิดต้นทุนที่ต่ำที่สุด เช่น สภาวะอากาศ สภาวะเชื้อเพลิงในช่วงนั้น ว่าเชื้อเพลิงในตลาดโลกเป็นอย่างไร”
“ถ้าไม่มีการดูแลค่า FT คือปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ ค่าไฟก็จะเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเยอะ เพราะต้นทุนที่แท้จริงจะสะท้อนออกมา แต่กลไก FT จะทำให้ค่าไฟที่นิ่งขึ้น ในช่วง 4 เดือน แต่ 4 เดือนถัดไป ต้องไปดูว่าข้อเท็จจริงด้านราคาเป็นอย่างไร”
คมกฤช เผยอีกว่า ปี 2565 เป็นที่คาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในสถานการณ์โควิดใช้พลังงานน้อย พอฟื้นตัว การใช้พลังงานก็เริ่มเพิ่มขึ้น ทำให้แย่งกันใช้พลังงาน และเป็นโอกาสของผู้ใช้เชื้อเพลิง ที่จะขายในราคาที่สูงขึ้น ประกอบกับในช่วงต้นปี 2565 เป็นช่วงรอยต่อของสัมปทาน ซึ่งเกิดความไม่แน่นอนในปริมาณก๊าซที่จะได้มา ก๊าซในอ่าวอาจน้อยลง ต้องนำพลังงานก๊าซธรรมชาติ หรือ LNG มามากขึ้น ส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงโดยรวมสูงขึ้น ส่งผลต่อค่า FT โดยตรง
@@@@@@@
อีกด้านหนึ่ง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2565 อิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเป็นเพราะปัญหาการวางแผนการผลิตไฟฟ้าในประเทศ ที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าเอกชนเกินความต้องการอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า การมีปริมาณไฟฟ้าสำรองมากถึงร้อยละ 40 – 60 ภาระส่วนนี้จะถูกแปลงออกมาเป็นค่า FT และถูกนำมาบวกรวมเข้าไปในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในประเทศมากเกินไป จนทำให้ปริมาณไฟฟ้าสำรองล้นเกินความต้องการ ประกอบกับภาวะวิกฤติเศรษฐกิจ หรือโควิด-19 ที่ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้าภาพรวมในประเทศลดน้อยลง ขณะที่ ยังมีโรงไฟฟ้าบางส่วนไม่ได้เดินหน้าผลิตไฟฟ้า แต่รัฐยังคงต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายตามสัญญา
อิฐบูรณ์ ให้ข้อมูลอีกว่า คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรงไฟฟ้าขนาดเล็กใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ในความเป็นจริงกลับใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถึงประมาณร้อยละ 40 – 50 เมื่อใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมีราคาสูงมากมาเป็นเชื้อเพลิงย่อมทำให้อัตราการซื้อไฟฟ้าสูงขึ้นและค่า FT ขยับสูงตาม ทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้านี้เช่นกัน
“จากระบบการผลิตไฟฟ้าของไทยที่เป็นระบบผู้ขายผูกขาดแต่เพียงรายเดียว คือ กฟผ. รับซื้อไฟฟ้าจากแหล่งผลิตต่างๆ จัดสรร และจำหน่ายให้กับการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จนมาถึงบ้านเรือนประชาชน โดยส่วนตัวมองว่า ประชาชนไม่มีอำนาจในการต่อรองราคาได้เลย”
@@@@@@@โซลาร์เซลล์ ตัวเลือกพลังงานสะอาด คุ้มจริงไหม?
นอกจากการมาตรการลดค่าไฟโดยใช้งบประมาณอุดหนุนที่เป็นเพียงการแก้ปัญหาระยะสั้น หนึ่งในทางออกที่จะแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงในระยะยาว คงหนีไม่พ้นการสนับสนุนใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียน ที่ใช้ได้ทั้งในครัวเรือนและภาคธุรกิจ อย่าง ‘โซลาร์เซลล์’ ที่เป็นกระแสอยู่ในช่วงนี้
หลังจาก หัสธนนท์ หลักหลวง โพสต์เฟซบุ๊ก บิลค่าไฟ 71.71 บาท ในขณะที่ใช้ไฟฟ้าโดยตอนกลางวันเปิดแอร์ 4 ตัว ตอนกลางคืน 3 ตัว เนื่องจากใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งเอง ซึ่งปกติจ่ายค่าไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณ 6,000 - 7,000 บาท แต่การลงทุนติดตั้งมีราคาถึง 300,000 กว่าบาท
ด้วยต้นทุนที่สูงมาก หากจะให้คืนทุนอาจต้องใช้เวลา 4-5 ปี จึงเป็นที่ถกเถียงถึงการเข้าถึงทางเลือกนี้ว่าโอกาสความเป็นไปได้อาจต่ำ ในกลุ่มคนที่ไม่มีต้นทุน และยังขาดการสนับสนุนจากรัฐบาลในเรื่องนี้
กรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ อดีตผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในระหว่างการปรับปรุงแผนการผลิตไฟฟ้าว่า การผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ไม่ควรจะมีสัดส่วนที่มากเกินไปในช่วง 10 ปีแรกของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 (PDP 2018) เนื่องจากเป็นไฟฟ้าที่ยังไม่เสถียรและราคาของระบบแบตเตอรี่กักเก็บพลังงานยังคงแพง อันเนื่องมาจากเทคโนโลยีแบตเตอรี่ลิเทียมที่ยังเป็นปัญหา
โดยยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มากกว่า 1,000 เมกะวัตต์ และมีปัญหา duck curve คือ ในช่วงเวลากลางวัน จะมีการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์เข้ามาในปริมาณที่มาก ทำให้ กฟผ. ต้องลดกำลังการผลิตโรงไฟฟ้าของตัวเองลง แต่ช่วงเวลากลางคืนที่ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ผลิตไม่ได้ กำลังการผลิตวูบหายไปทันที ในขณะที่ กฟผ. ต้องเร่งเดินเครื่องกำลังการผลิตเพื่อเติมให้ทันกับความต้องการใช้ไฟฟ้า
จากข้อมูลบทความของ ThaiPublica เขียนโดย รศ.ภิญโญ มีชำนะ นักวิชาการอิสระด้านเทคโนโลยีถ่านหินสะอาด อดีตอาจารย์และหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ข้อมูลว่า ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีผลดีในด้านสิ่งแวดล้อม แต่ผลเสียคือ มีต้นทุนการผลิตที่แพงและส่วนใหญ่เป็นพลังงานไฟฟ้าที่ผันผวนและไม่แน่นอน หรือเรียกว่าผลิตตามสภาพอากาศ ไม่สามารถยืนยันการผลิตได้แน่นอน
โดยเฉพาะไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และกังหันลม ซึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเข้ามาในระบบการผลิตมากๆ นอกจากจะทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าแพงขึ้นแล้ว ยังจะก่อปัญหาทางด้านเทคนิคที่จะต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูงมาแก้ไขปัญหาความไม่เสถียร ทำให้ต้องไปเพิ่มต้นทุนการแก้ไขจนทำให้ค่าไฟฟ้ารวมแพงขึ้นไปอีก
“การที่จะกระตุ้นให้มีการลงทุนโดยเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน คงต้องพิจารณากันให้ดีว่า มีการลงทุนจริงแต่อาจทำให้ค่าไฟฟ้าของไทยสูงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนได้”
@@@@@@@
นโยบายติดโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยลดค่าไฟ อาจทำให้เกิดอะไรบ้าง?
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ขณะเป็นรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ได้มีข้อสั่งการเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเรื่องการส่งเสริมระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา เพื่อแบ่งเบาภาระค่าไฟฟ้าระดับครัวเรือนให้ประชาชน โดยทุกครัวเรือนสามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพื่อใช้งานเองได้ และสามารถส่งไฟฟ้าเข้าในระบบเพื่อนำหน่วยไฟฟ้าไปหักลบกับหน่วยไฟฟ้าที่ครัวเรือนต้องซื้อจากการไฟฟ้าในเวลากลางคืน หรือที่เรียกว่า การคิดค่าไฟฟ้าแบบหักลบกลบหน่วยตามจริง
เมื่อกลับมามองถึงนโยบายเรื่องพลังงานสะอาดของแต่ละพรรคการเมือง ที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในตอนนี้ เกือบทุกพรรคมุ่งเน้นไปที่การลดค่าไฟต่อหน่วย และมีนโยบายในการส่งเสริมพลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าแสงอาทิตย์จากโซลาร์เซลล์ เพื่อลดค่าครองชีพประชาชน และรักษาสิ่งแวดล้อม
ตัวอย่างการใช้นโยบายเหล่านี้ เช่น ที่แลงแคสเตอร์ (Lancaster) ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ที่ออกกฎหมายกำหนดให้ผู้สร้างบ้านหรือที่อยู่อาศัยใหม่ทุกหลัง ต้องติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ หรือแผงพลังงานแสงอาทิตย์ ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยหลังละ 1 กิโลวัตต์ และเป็นหนึ่งในเมืองลำดับแรกๆ ของโลก ที่มีสถานะเป็น ‘Net-zero Town’ หมายถึงเมืองที่ผลิตไฟฟ้าปลอดมลภาวะจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนในแต่ละปีได้มากกว่าปริมาณที่ใช้ หรือคือ มีกำลังผลิตแต่ละปีในระดับเหลือใช้นั่นเอง
แต่ในความเป็นจริงสำหรับประเทศไทยอาจไม่ง่ายขนาดนั้น ด้วยข้อจำกัดหลายอย่าง และอาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมากมหาศาล เช่น ในกรณีที่พรรคภูมิใจไทยระบุว่า ‘ติดตั้งโซลาร์เซลล์ฟรี 21 ล้านหลังคาเรือน’ ที่อาจต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และดูเป็นเป้าหมายที่ท้าทายอย่างมากว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ รวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจะมีแผนรองรับอย่างไร
ด้วยปัจจัยหลายข้อที่ต้องคำนึง จากที่ปัจจุบันการติดตั้งระบบโซลาร์เซลล์มีหลายกระบวนการและต้องศึกษาข้อดีและข้อเสียอย่างถี่ถ้วน รวมไปถึงการคำนวณถึงความคุ้มค่า เพราะการติดโซลาร์เซลล์ต้องมีการคำนวนถึงสภาพและทิศของสถานที่ติดตั้ง การดูแลรักษาและอายุการใช้งาน รวมไปถึงอันตรายต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น เช่น โซลาร์เซลล์หากเกิดการเผาไหม้อาจมีความเสี่ยงที่สารเคมีที่เป็นพิษอาจรั่วไหลไปในอากาศได้ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตหากหายใจเข้าไป ในการใช้สิ่งเหล่านี้จึงควรมีการศึกษาและให้ความรู้ เพื่อการติดตั้งและการใช้งานที่ถูกต้อง รวมไปถึงการกำจัดอย่างเหมาะสมด้วย
รู้จักกระบวนการติดโซลาร์เซลล์อาจไม่ง่ายขนาดนั้น
สำหรับใครที่คิดจะติดโซลาร์เซลล์เอง โดยไม่ต้องรอรัฐบาลถัดไป เราจะชวนมาทำความรู้จักกับโซลาร์เซลล์ก่อนตัดสินใจว่าการลดค่าไฟฟ้าด้วยวิธีนี้มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง และมีวิธีการติดตั้งที่ถูกต้องอย่างไร
1. สำรวจความพร้อมของสถานที่ก่อนติดโซลาร์เซลล์บ้าน
การตรวจสอบในเบื้องต้นสามารถทำได้ ดังนี้
• ตรวจสอบกำลังไฟบ้าน
เพื่อรู้ว่าในแต่ละเดือนใช้กำลังไฟอยู่ที่เท่าไร และควรเลือกติดโซลาร์เซลล์ขนาดเท่าไรจึงจะเหมาะสม ในการตรวจสอบสามารถใช้หลักการคร่าวๆ อย่างการคำนวณด้วยค่าไฟที่ชำระในแต่ละเดือน ตัวอย่างเช่น ค่าไฟเดือนนี้ 5,000 บาท ให้คุณทำการแบ่งค่าไฟออกเป็นตอนกลางวัน 70% และตอนกลางคืน 30%
ดังนั้น ค่าไฟตอนกลางวันที่ใช้ไปจะอยู่ที่ 3,500 บาท และเฉลี่ยค่าไฟฟ้าจะอยู่ที่ประมาณ 4 บาทต่อหน่วย นำจำนวนค่าไฟตอนกลางวันทำการหารด้วยค่าไฟฟ้าต่อหน่วย จะได้ 3,500÷4 = 875 หน่วย เอาเลขจำนวนหน่วยที่ได้ หารด้วยจำนวนวัน และจำนวนชั่วโมงที่มีแสงอาทิตย์เป็น (875÷30)÷9 = 3.2 หน่วยต่อชั่วโมง เพราะฉะนั้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เหมาะสมคือ ขนาดที่ 3-5 กิโลวัตต์ (3KW) แต่วิธีนี้จะเป็นการคำนวณในเบื้องต้นเท่านั้น แนะนำว่าก่อนการติดตั้ง สามารถขอคำปรึกษาเพิ่มเติมได้จากผู้ให้บริการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
• ความแข็งแรงของหลังคาบ้าน
มาตรฐานของแผ่นโซลาร์เซลล์จะมีขนาดอยู่ที่ 1x2 เมตร และ 1 แผ่น จะมีน้ำหนักประมาณ 22 กิโลกรัม ดังนั้น ควรทำการตรวจสอบหลังคาบ้าน และวัสดุที่ใช้ปูหลังคา หากเกิดรอยแตก รอยร้าว รอยรั่ว หรือตรวจสอบดูแล้วว่าเป็นวัสดุที่ไม่แข็งแรง ไม่มั่นคง ควรทำการรีโนเวตใหม่ เพราะการติดโซลาร์เซลล์บ้านเป็นการติดตั้งในระยะยาวหลายสิบปี หากไม่ตรวจสอบจุดนี้อาจจะเกิดผลกระทบจากการรับน้ำหนักเกินได้
• รูปทรงของหลังคาบ้าน
หลังคาทรงจั่ว เป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศไทย เพราะสามารถระบายความร้อนได้ดี ลักษณะของทรงหลังคาจะสูง ลาดชัน ทำให้สามารถติดโซลาร์เซลล์ได้ง่ายที่สุด
หลังคาทรงปั้นหยา จะมีลักษณะลาดเอียงเล็กน้อยทุกด้าน และเป็นทรงที่นิยมใช้กันทั่วโลก ข้อดีของหลังคาประเภทนี้ที่สามารถปะทะลม กันแดด กันฝนได้ดี แต่การระบายความร้อนทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ในการติดโซลาร์เซลล์บ้านสามารถติดตั้งได้ทุกทิศของหลังคา
หลังคาทรงเพิงแหงน สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ง่ายเช่นเดียวกับหลังคาทรงจั่ว เพราะมีพื้นที่หลังคาเยอะและกว้าง แต่ต้องระวังในเรื่องของการรั่วซึมเมื่อฝนตก เนื่องจากความลาดเอียงของหลังคาประเภทนี้น้อยมาก ส่งผลให้ระบายน้ำฝนได้ไม่ดีเท่าที่ควร
จะเห็นได้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์สามารถทำการติดตั้งได้กับหลังคาทุกๆ ประเภท แต่จะมีบางประเภทที่ทำการติดตั้งได้ง่ายกว่าประเภทอื่นๆ และบางประเภทมีข้อจำกัดในเรื่องของการระบายน้ำที่จะส่งผลต่อการรั่วซึม
• ทิศทางที่เหมาะสมกับการติดตั้ง
ทิศเหนือ : เป็นทิศที่ได้รับแสงแดดน้อยที่สุด เพราะในประเทศไทยนั้นดวงอาทิตย์จะขึ้นทางด้านทิศตะวันออกและอ้อมไปทางทิศใต้ แนะนำว่าไม่ควรติดโซลาร์เซลล์บ้านหันแผงไปทางทิศเหนือ
ทิศใต้ : เป็นทิศที่ควรหันแผงโซลาร์เซลล์ไปทิศทางนี้ เพราะจะได้รับแสงแดดตลอดทั้งวัน ในการติดตั้งสามารถเอียงแผงเล็กน้อยประมาณ 13.5 องศา เพื่อให้แผงสามารถรับแสงได้อย่างเต็มที่
ทิศตะวันออก : จะได้รับแสงแดดปานกลาง แต่ข้อจำกัดการรับแสงจะอยู่ในช่วงเช้า-เที่ยงเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับทางทิศใต้ การรับแสงของทิศตะวันออกจะได้รับแสงน้อยกว่า 2-16% จะส่งผลให้แผงโซลาร์เซลล์ทำงานได้ไม่เต็มที่ ทิศตะวันตก ประสิทธิภาพการรับแสงจะเท่ากับทางด้านทิศตะวันออก
2. ทำความรู้จักแผงโซลาร์เซลล์แต่ละประเภท
ก่อนที่จะไปทำความรู้จักกับแผงโซลาร์เซลล์ ต้องแนะนำระบบการติดโซลาร์เซลล์บ้านที่นิยมมากที่สุด จะเป็นระบบออนกริด (on grid) ซึ่งเป็นระบบที่เหมาะสำหรับการติดตั้งกับสถานที่อยู่อาศัย และราคาที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้หลายคนเลือกที่จะติดตั้งระบบนี้ ทั้งนี้ แผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้ในประเทศไทย จะแบ่งออกเป็น 3 แบบ ซึ่งคุณสมบัติจะแตกต่างกันออกไปเพื่อรองรับการใช้งานที่ต่างกัน
- แผงโมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline Silicon Solar Cells)
วิธีการสังเกตแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้ รูปทรงของเซลล์จะมีสีเข้ม มุมทั้งสี่มุมจะเป็นสี่เหลี่ยมมุมตัด ทำมาจากซิลิคอนทรงกระบอกบริสุทธิ์
ข้อดี : มีคุณภาพสูง สามารถผลิตไฟได้ดีแม้ว่าแสงแดดจะน้อย และอายุการใช้งานที่ยาวนานถึง 25-40 ปี
ข้อเสีย : ในกรณีที่มีคราบสกปรกบนแผงเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้ระบบอินเวอร์เตอร์ไหม้ได้ และแผงโซลาร์เซลล์ชนิดนี้มีราคาสูง
- แผงโพลีคริสตัลไลน์ (Polycrystalline Silicon Solar Cells)
วิธีการสังเกตแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้ รูปทรงของเซลล์เป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส ไม่มีการตัดมุม สีแผงเข้มออกไปทางสีน้ำเงิน ทำมาจากผลึกซิลิคอน
ข้อดี : ราคาไม่แพง และแผงโพลีคริสตัลไลน์สามารถใช้งานในพื้นที่ที่อุณหภูมิสูงกว่าแผงคริสตัลไลน์เล็กน้อย
ข้อเสีย : ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 13-16% และมีอายุการใช้งานที่ค่อนข้างสั้นเพียง 20-25 ปี
- แผงโซลาร์เซลล์ชนิด ฟิล์มบาง (Thin Film Solar Cells)
วิธีการสังเกตแผงโซลาร์เซลล์ประเภทนี้ สีแผงจะเข้ม มีสีดำ ฟิล์มจะมีลักษณะบางกว่าชนิดอื่น
ข้อดี : ราคาถูกที่สุด มีน้ำหนักเบา สามารถโค้งงอได้ดี ทนต่ออากาศร้อนได้ดี
ข้อเสีย : ผลิตไฟฟ้าได้น้อยที่สุด อายุการใช้งานสั้น และไม่เหมาะนำมาติดตั้งในภาคอุตสาหกรรมและบ้านเรือน
@@@@@@@
3. เลือกผู้ให้บริการในการติดโซลาร์เซลล์
การเลือกผู้ให้บริการที่จะทำการติดโซลาร์เซลล์บ้าน เป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาในการพิจารณาด้วยปัจจัยต่างๆ เช่น เรื่องของความเชี่ยวชาญ การได้รับมาตรฐาน ราคาการติดตั้ง และการบริการหลังการขาย เป็นต้น
• งบประมาณในการติดตั้ง
หากเทียบกับสมัยก่อนการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะมีราคาที่ค่อนข้างสูง แต่ในปัจจุบันราคาการติดตั้งนั้นลดลงโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของแผ่นโซลาร์เซลล์ ความยากง่ายในการติดตั้ง และจำนวนแผ่นที่จะติดตั้ง
ผู้ให้บริการหลากหลายบริษัทจะมีการบริการ และราคาที่แตกต่างกันออกไป คุณควรทำการเลือกผู้ให้บริการอย่างน้อย 2-3 บริษัท จากนั้นทำการเปรียบเทียบราคา ข้อดี ข้อเสีย การให้บริการอื่นๆ เพิ่มเติมก่อนตัดสินใจ
• เลือกผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้ง
เนื่องจากหลายคนหันมาสนใจติดโซลาร์เซลล์บ้านมากขึ้น ทำให้ในตลาดมีผู้ให้บริการติดตั้งโซลาร์เซลล์ค่อนข้างเยอะ แต่คุณควรเลือกผู้ให้บริการที่เชี่ยวชาญ และมีความน่าเชื่อถือ เพราะหากเลือกผู้ให้บริการที่ไม่มีคุณภาพ หรือไม่เชี่ยวชาญจริงๆ จะทำให้เกิดปัญหาที่ตามมาได้ อย่าลืมว่านี่เป็นการลงทุนในระยะยาว ดังนั้น การเลือกผู้ให้บริการที่มีความชำนาญจริงๆ และได้รับมาตรฐานเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ
• ทำเรื่องขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์
หลังจากที่ตรวจความพร้อมของสถานที่ รู้ชนิดของแผงโซลาร์เซลล์ และเลือกผู้ให้บริการในการติดตั้งไปแล้ว มาสู่ขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือ การทำเรื่องขอติดโซลาร์เซลล์บ้าน ขั้นตอนนี้อาจจะต้องใช้เวลา 1-2 เดือน และรายละเอียดของการขออนุญาตนั้น อาจจะแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์ในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ แต่หากเป็นการติดโซลาร์เซลล์ที่ใช้สำหรับบุคคลจะมีขั้นตอนดังนี้
ก่อนเริ่มการติดตั้งต้องให้ผู้เชี่ยวชาญในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เข้าไปทำการสำรวจสถานที่ ทำการวัดขนาด และทิศทางของการติดตั้ง ผู้ขออนุญาตติดตั้งต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เข้าไปยื่นที่การไฟฟ้านครหลวง หรือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โดยเอกสารที่ต้องนำไปยื่นคือ รูปถ่ายแสดงการติดตั้งของอุปกรณ์
สำเนาหลักฐานการยื่นแจ้งราชการส่วนท้องถิ่น ในขั้นตอนนี้สามารถทำเรื่องขอไปที่ สำนักงานเขต เพื่อทำการแจ้งขอติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนที่พักอาศัย
ในกรณีต่อเดิม เปลี่ยนแปลงอาคารไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ต้องแจ้งให้ทางวิศวกรโยธาเข้ามาตรวจสอบและเซ็นรับรอง เพื่อนำเอกสารชุดนี้ไปยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่สำนักงานเขต
จากนั้นแจ้งทางโยธาพร้อมวิศวกรโยธาที่มีใบอนุญาตการประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม หรือ ใบ กว. เข้าไปตรวจความพร้อมในการติดตั้ง เพื่อทำการรับรองว่าสถานที่อยู่อาศัยมีความพร้อม
เอกสาร single line diagram (แบบไฟฟ้าชนิดหนึ่ง เป็นไดอะแกรมที่ใช้เส้นเพียงเส้นเดียวแทนสายทุกเส้นในวงจรไฟฟ้าวงจรนั้นๆ) ที่ถูกลงนามด้วยวิศวกรไฟฟ้าที่มีใบ กว. รับรองรายละเอียดของแผงโซลาร์เซลล์ และรายการตรวจสอบมาตรการด้านการออกแบบ
4. การดูแลแผงโซลาร์เซลล์
ควรหมั่นดูแล ตรวจสอบสภาพแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ ซึ่งหากขาดการดูแลและตรวจสอบเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลให้การทำงานและประสิทธิภาพการรับแสงน้อยลง ในการดูแลรักษาสามารถตรวจสอบได้ตามนี้
• หมั่นตรวจสอบสภาพของแผงโซลาร์เซลล์ว่ามีรอยร้าว รอยแตก สีของแผงต่างไปจากเดิมหรือไม่
• ทำความสะอาดแผงโซลาร์เซลล์เป็นประจำ เพื่อขจัดคราบฝุ่นและสิ่งสกปรกที่ติดบนแผง อุปกรณ์ที่สามารถใช้ทำความสะอาดได้ควรเป็นอุปกรณ์ที่ไม่ทำให้เกิดรอยข่วน เช่น แปรงขนไนลอน ผ้า หรือฟองน้ำ นำไปชุบด้วยน้ำเปล่า เพื่อล้างทำความสะอาดได้ ความถี่ในการทำความสะอาดควรอยู่ที่ 4-5 ครั้งต่อปี และควรเลือกล้างในช่วงเช้า
• เพื่อเป็นการป้องกันความเสียหายที่เกิดจากแมลง หรือสัตว์ตัวเล็ก ควรทำการตรวจสอบอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับแผงโซลาร์เซลล์อยู่เสมอ เช่น แบตเตอรี่ สายไฟ กล่องอุปกรณ์ต่างๆอ้างอิง : mea.or.th , greenpeace.org , thairath.co.th ,
กกพ. มีคำตอบ ค่า Ft คืออะไร ? , tcc.or.th , powerjungle.org , thaipublica.org
, apthai.com ,matichon.co.th ,aeitfthai.org ,greenpeace.org
Thank to :
https://plus.thairath.co.th/topic/speak/103059Thairath Plus › Speak | 19 เม.ย. 66 | creator : ณัฏฐ์นรี เฮงสาโรชัย