อุณหิสสวิชยสูตร
พระสูตรนี้ เชื่อว่าจะส่งผลให้ผู้ภาวนาอยู่เป็นประจำมีอายุยืน ผู้ที่กำลังมีบาปเคราะห์ ดวงไม่ดีหมั่นภาวนาเป็นประจำ จะส่งเสริมให้ดวงชะตาดีขึ้น แล้วจะแคล้วคลาดจากภัยพิบัติต่าง ๆ มีทำให้มีสวัสดีมงคล มีโชคลาภ
อัตถิ อุณหิสสะ วิชะโย ธัมโม โลเก อะนุตตะโร
สัพพะสัตตะหิตัตถายะ ตัง ตวัง คัณหาหิ เทวะเต
ปะริวัชเช ราชะทัณเฑ อะมะนุสเสหิ ปาวะเก
พะยัคเฆ นาเค วิเส ภูเต อะกาละมะระเณนะ วา
สัพพัสมา มะระณา มุตโต ฐะเปตวา กาละมาริตัง
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
สุทธะสีลัง สะมาทายะ ธัมมัง สุจะริตัง จะเร
ตัสเสวะ อานุภาเวนะ โหตุ เทโว สุขี สะทา
ลิกขิตัง จินติตัง ปูชัง ธาระณัง วาจะนัง คะรุง
ปะเรสัง เทสะนัง สุตวา ตัสสะ อายุ ปะวัฑฒะตีติ (*8)______________________________________
(*8) คล้อย ทรงบัณฑิตย, ประมวลหัวใจธรรมกถึก หรือคลังปริยัติ, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเชี่ยง,
ม.ป.ป.), หน้า ๔๑๑.
คำแปล
มีพระคาถาชื่อว่าอุณหิสสวิชัย ซึ่งเป็นธรรมอันล้ำเลิศในโลก ดูก่อนเทวดา ขอท่านจงเรียนอุณหิสสวิชัยคาถานั้น เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง ซึ่งจะปลอดจากราชอาชญา จากภัยของอมนุษย์ จากอัคคีภัย จากเสือ ช้าง งูพิษ และภูตผี หรือจากความตายในกาลอันไม่ควร จะพ้นจากความตายทั้งปวง เว้นแต่กาลมรณะ ด้วยอานุภาพแห่งอุณหิสสวิชัยคาถานั้นแล
ขอเทวดาจงมีความสุขทุกเมื่อ ขอท่านพึงสมาทานศีล อันบริสุทธิ์ ประพฤติธรรมให้สุจริต ด้วยอานุภาพแห่งศีลอันบริสุทธิ์ และธรรมอันเป็นสุจริตนั้นแล ขอเทวดาจงมีความสุขทุกเมื่อผู้ใดได้ศึกษา คิดนึก บูชา ทรงจำ บอกกล่าว เป็นครูหรือฟังการแสดงอุณหิสสวิชัยคาถานั้น อายุของผู้นั้น ย่อมเจริญนักแล
@@@@@@@
ตำนานอุณหิสสวิชัยคาถา
อุณหิสสวิชัยคาถา มีประวัติความเป็นมาที่เป็นตำนานอยู่ว่า พระผู้มีพระภาค ขณะประทับอยู่ ณ ปัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ ภายใต้ต้นปาริชาติ ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ได้ตรัสพระธรรมเทศนาพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ แก่เทวดาทั้งหลาย มีพระสิริมหามายาเทพบุตร พระพุทธมารดาเป็นประธาน เพื่อให้บรรลุมรรคผลนิพพานนั้น มีเทพบุตรองค์หนึ่ง ชื่อว่า สุปติฏฐิตเทพบุตร เป็นผู้มีอานุภาพเกรียงไกร ได้เสวยทิพยสมบัติ ในดาวดึงส์มาช้านานแล้ว
เทพบุตรองค์องค์นี้ ถึงกาลเวลาที่จะต้องไปเสวยกรรมในนรกเป็นเวลา ๑๐๐,๐๐๐ ปี จากนั้นก็จะไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน ๗ จำพวก จำพวกละ ๕๐๐ ชาติ แต่มีเทพบุตรองค์หนึ่ง ชื่อว่า อากาศจรณี เป็นมิตรสหายเก่าแก่ของสุปติฏฐิตเทพบุตรผู้เคยร่วมรักษาศีลภาวนาในอุโบสถเดียวกันแต่ปางก่อน เมื่อทราบว่า สหายของตนจะจุติจากสวรรค์ลงสู่นรก อากาศจรณีเทพบุตรจึงนำความมาแจ้งให้สหายของตนให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
เมื่อสุปติฏฐิตเทพบุตรได้ยินดังนั้น ก็ตกใจยิ่งนัก จึงปรึกษาว่า เราจะต้องไปตกนรกในอีก ๗ วันข้างหน้า เพราะบาปที่เราก่อขึ้น เราจะทำอย่างไรดี สหาย จึงกล่าวแนะนำว่าควรจะเข้าเฝ้าท้าวสักกเทวราช เพราะพระองค์กำลังประทับอยู่บนดาวดึงส์เทวโลก สุปติฏฐิตเทพบุตรจึงไปเฝ้าท้าวสักกเทวราช ครั้นแล้วจึงถวายบังคม และกราบทูลเรื่องที่จะเกิดแก่ตนเองพร้อมกล่าวว่า ขอพระองค์โปรดได้ช่วยข้าพระองค์ด้วยเถิด ข้าพระองค์ยังไม่อยากจะจุติ
ข้าพระองค์ไม่อยากจะไปตกนรก ท้าวสักกะจึงตรัสว่า อันความตาย แม้ผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ก็ไม่สามารถจะห้ามได้ มนุษย์และเทวดาก็ย่อมจะตายด้วยกันทั้งนั้น ผิดกันแต่ว่าจะช้าหรือเร็วเท่านั้น เราเห็นมีทางอยู่ทางเดียว คือไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคทรงขอผ่อนผันในเรื่องนี้
สุปติฏฐิตเทพบุตรได้ฟังเทวบัญชาเช่นนั้น ก็จัดแจงเครื่องสักการบูชาเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าและกราบทูลเรื่องราวให้ทรงทราบอย่างละเอียด ท้าวสักกะได้ทรงกราบทูล และขอให้พระพุทธเจ้าทรงแสดงบุพกรรมของสุปติฏฐิตเทพบุตรให้ฟัง พระพุทธองค์จึงตรัสว่า
เมื่อครั้งสุปติฏฐิตเทพบุตรเกิดเป็นมนุษย์ มีความผิด มีความประมาท ไม่รักษาศีล แต่ชอบฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีจิตใจกระด้างกระเดื่องไม่เคารพนับถือบิดามารดา ไม่เลื่อมใสและเคารพต่อสมณะหรือพราหมณ์ บริภาษด่าทอภิกษุสงฆ์ที่ไปมาหาสู่ เมื่อเห็นพระภิกษุไปบิณฑบาตยังหน้าบ้านก็ทำเป็นไม่เห็น ไม่ลุกขึ้นนิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ ด้วยผลแห่งกรรมเหล่านี้ จึงทำให้สุปติฏฐิตเทพบุตรจักไปเกิดในนรก เสวยผลกรรมประมาณ ๑๐๐,๐๐๐ ปี ครั้นพ้นจากนรกแล้วจะไปเกิดเป็นสัตว์ดิรัจฉาน ๗ จำพวก คือ แร้ง รุ้ง เต่า หมู หมา เป็นคนหูหนวกตาบอด จำพวกละ ๕๐๐ ชาติ ขอมหาบพิตรจงทราบอย่างนี้
ท้าวสักกเทวราชทรงทราบเช่นนั้น ก็เมตตาสงสารสุปติฏฐิตเทพบุตรจึงทูลถามว่า อันการกระทำของสุปติฏฐิตเทพบุตรนั้น นับว่าอุกฤษฏ์อยู่ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรมเทศนา เพื่อช่วยชีวิตของสุปติฏฐิตเทพบุตรไว้ไม่ให้ตายภายใน ๗ วัน พระพุทธองค์จึงทรงแสดงอุณหิสสวิชัยคาถา ตามพระคาถาที่กล่าวแล้วข้างต้น
เมื่อจบเทศนาแล้ว เทวดาทั้งหลายมีท้าวสักกะเทวราชเป็นประธาน ได้ซาบซึ้งในรสพระสัทธรรมและได้บรรลุพระธรรมพิเศษ คือมรรคและผล เป็นจำนวนมาก ส่วนสุปติฏฐิตเทพบุตรก็มีจิตเลื่อมใส และมีใจน้อมนับระลึกถึงพระพุทธเจ้า เลื่อมใสในพระธรรมของพระองค์
อนึ่ง ด้วยอานิสงส์แห่งการฟังอุณหิสสวิชัยคาถาครั้งนี้ นับเป็นบุญกุศลส่วนหนึ่ง อันเป็นเหตุปัจจัยทำให้สุปติฏฐิตเทพบุตรมีอายุยืนยาวต่อไปจนถึงสมัยที่พระศรีอริยเมตไตยพุทธเจ้าลงมาตรัสรู้ จึงจะจุติลงมาสู่มนุษย์โลก และได้เป็นพระอรหันต์ขีณาสพรูปหนึ่ง(*9)__________________________________
(*9) ธนิต อยู่โพธิ์, อานุภาพพระปริตต์, (กรุงเทพมหานคร: ม.ป.พ., ๒๕๓๗), หน้า ๑๘๑-๑๘๓.
พระคาถาชินบัญชร
ชินบัญชร คือเกราะแก้วของพระชินเจ้า คาถาชินบัญชรนี้กล่าวอาราธนาพระพุทธเจ้า พระสาวกและพระปริตต์ ให้มาดำรงอยู่ในกายเพื่อพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี เหมือนเกราะแก้วป้องกันภัย มีหลักฐานปรากฏในประวัติศาสตร์พม่า คือ เรื่องพุทธนวมวินิจฉัย ในวินยสมูหวินิจฉัย กล่าวว่า
แต่งที่เมืองเชียงใหม่ ในรัชสมัยพระเจ้าอโนรธา เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่รัชกาลที่ ๒๐ ระหว่าง พ.ศ. ๒๑๒๑-๒๑๕๐ เพราะในสมัยนั้น ชาวเมืองเชียงใหม่นิยมบูชาดาวนพเคราะห์ พระเจ้าอโนรธา จึงปรึกษากับพระเถระในยุคนั้น แล้วรับสั่งให้ชาวเมืองสวดพระคาถาชินบัญชรและคาถาอื่น ๆ แทนการบูชาดาวนพเคราะห์ที่ไม่คล้อยตามคำสอนในพระพุทธศาสนา ฉะนั้น พระคาถาชินบัญชร จึงแต่งโดยพระเถระชาวไทยที่เมืองเชียงใหม่
พระคาถานี้ ยังแพร่หลายถึงประเทศพม่าและศรีลังกาอีกด้วยพระคาถาชินบัญชรฉบับที่แพร่หลายอยู่ในประเทศไทย คือ ฉบับของวัดระฆังโฆสิตาราม กรุงเทพมหานครสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พฺรหฺมรํงสี) วัดระฆังโฆสิตาราม
ว่า นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธสสะ (๓ จบ)
ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพันธเจ้าพระองค์นั้น
ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง
อัตถิกาเย กายญายะ เทวานัง ปิยะตัง สุตตวา.
อิติปิ โส ภควา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ
มะระณัง สุขัง อะระหัง สุคะโต นะโม พุทธายะ.
หากเจริญภาวนาเป็นครั้งแรก ควรสวดภาวนาวันดี คือวันครู (วันพฤหัสบดี) เป็นวันปฐมฤกษ์ตระเตรียมดอกบัวสีขาว ๙ ดอก ธูป ๙ ดอก และเทียนสีขาว ๒ เล่ม ควรใส่ชุดขาวจะทำให้จดจำอะไรได้ง่าย และจะจำขึ้นใจโดยอัศจรรย์ เพื่อบูชาคุณพระรัตนตรัย และดวงพระวิญญาณอันศักดิ์ของเจ้าพระคุณสมเด็จ จากนั้น ก็เริ่มสวดตามลำดับดังนี้
ชะยาสะนากะตา พุทธา เชตะวา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง เย ปิวิงสุ นะราสะภา
ฯ ล ฯ
อิจเจวะมันโต สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ ชิตุปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ ชิตาริสังโฆ
สังฆานุภาเวนะ ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต จะรามิ ชินปัญชะเรติ.
อานิสงส์พระคาถาชินบัญชร
พระคาถานี้ เป็นพระคาถาศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก สืบทอดมาจากลังกา โดยเจ้าประคุณสมเด็จ ฯ ได้ค้นพบในคัมภีร์โบราณ แล้วดัดแปลงแก้ไขแต่งเติมให้สมบูรณ์ จึงทำให้เนื้อความสมบูรณ์ แปลออกมาแล้วมีแต่สิ่งที่เป็นสิริมงคลแก่ผู้เจริญภาวนาทุกประการ พระคาถานี้เป็นการอัญเชิญพระพุทธานุภาพแห่งพระศาสดา และพระปัจเจกพุทธเจ้าที่ได้ตรัสรู้มาก่อนหน้านั้นแล้ว ทั้งได้อัญเชิญเอาพระสูตรต่าง ๆ
ที่เป็นพระพุทธมนต์อันวิเศษแต่ละสูตรมารวมกันสอดคล้อง เป็นกำแพงแก้วคุ้มกัน ตั้งแต่กระหม่อมจอมขวัญของผู้ภาวนาลงมาจนล้อมรอบตัวจนกระทั่งหาช่องให้อันตรายแทรกเข้ามามิได้ ผู้ได้สวดเป็นประจำ จะทำให้เกิดความเป็นสิริมงคลสมบูรณ์พูนผล ศัตรูหมู่พาลไม่กล้ำกราย ไปทางไหนย่อมเกิดเมตตามหานิยม เกิดลาภผลพูนทวี ขจัดภัยจากภูตผีปีศาจ ตลอดจนคุณไสย์ต่าง ๆ ทำน้ำมนต์รดแก้วิกลจริต แก้สรรพโรคภัยต่าง ๆ ให้หมดสิ้นไป เป็นสิริมงคลแก่ชีวิต มีคุณานุภาพตามที่ปรารถนา หากสวด ๑๐ จบ หรือทุกค่ำเช้า และอธิษฐาน จะสัมฤทธิ์ผลได้ดังที่ใจปรารถนาทุกประการ
@@@@@@@
พระคาถาชินบัญชร
พระคาถาชินบัญชร ที่เริ่มสวดภาวนาว่า ชะยาสะนากะตา เป็นต้น จะไม่กล่าวในที่นี้ จะกล่าวถึงคำประพันธ์ที่ พระพิมลธรรม (ชอบ อนุจารีมหาเถร) กล่าวไว้ว่า
ข้าฯ ขอเชิญเสด็จ พระสรรเพชญ พระพุทธองค์
นรา สภาทรง พิชิตมารและเสนา
ยี่สิบ แปดพระองค์ นายกสงฆ์ ทรงสมญา
ตัณหังกร เป็นต้นมา ทรงดื่มแล้ว ซึ่งรสธรรม
จตุสัจ อันประเสริฐ ทรงคุณเลิศ ดิลกล้า
ยอดบุญ พระคุณนำ ยิ่งเทพไท ไตรวิชา
โปรดรับ ประทับทรง ณ ที่ตรง กระหม่อมข้า
พระพุทธ ธเจ้าสา ธุประถม บังคมเชิญ
ฯลฯ
อานุภาพ พระสังฆะ ให้ชำนะ อันตราย
ไม่เห็น คนใจร้าย ไม่มั่นหมาย มาราวี
อานุภาพ พระสัทธรรม ทุกเช้าค่ำ รักษาศรี
จำรัส จำเริญดี ว่าพระศรี ชินบัญชรฯ
สำหรับคนที่สวดภาวนาคำสั้น ๆ ให้ภาวนาว่า ชินะปัญชะระปะริตตัง มัง รักขะตุ สัพพะทา
คำแปลว่า ขอพระชินบัญชรปริตต์ จงคุ้มครองรักษาข้าพเจ้าทุกเมื่อเทอญ
@@@@@@@
คำสวดมนต์ภาวนาสำหรับชีวิต
คำสวดมนต์ภาวนานับว่าเป็นส่วนสำคัญสำหรับชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในภาวะใดก็ตาม คำสวดภาวนา หากทำให้เกิดขึ้นภายในจิตใจได้ และสวดภาวนาได้อย่างคล่องปากขึ้นใจแล้ว ย่อมเพิ่มพลังใจให้กับผู้ภาวนา ทรงฤทธิ์ ทรงเดช คำสวดมนต์มีมากมายในหนังสือ มนต์พิธี หรือบทสวดมนต์ที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ผ่านระบบออนไลน์ ยกมาเป็นตัวอย่าง ๒ ตัวอย่าง เช่น คำสวดภาวนาว่า “พุทโธ” และคำสวดภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง”
ควรสร้างศรัทธาให้เกิด แล้วปฏิบัติตาม โดยปราศจากข้อสงสัยใด ๆแม้ไม่เชื่อก็ควรทำไปก่อน เพราะย่อมส่งผลดีต่อชีวิตอย่างแน่นอน ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะด้านจิตใจ ส่วนผลจะเป็นอย่างไร มากหรือน้อย ก็แล้วแต่ผู้ปฏิบัติว่า มีศรัทธาและปฏิบัติมากแค่ไหน เมื่อกล่าวตามหลักปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ เมื่อเกิดศรัทธาเลื่อมใสแล้วเชื่อทำตาม ย่อมเกิดผลอย่างแน่นอน เพราะสิ่งที่เชื่อสอดคล้องกับกฏจักรวาลที่ว่า ทำอย่างไร ได้ผลอย่างนั้น
หากเราเชื่อว่า การสวดมนต์ภาวนา ย่อมทำให้จิตใจสะอาด สว่าง สงบ สิ่งที่เราเชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัยใด ๆ แล้วทำตามนั้น ทำตามอย่างต่อเนื่อง ทำเนืองๆ ทำบ่อยๆ ทำจนเกิดเป็นวสี อย่างคล่องปากขึ้นใจได้ ผลลัพธ์ที่ได้ย่อมประจักษ์แจ้งแก่ตนเอง
เมื่อเชื่อว่า บทสวดภาวนาว่า พุทโธ พุทโธ ทำไปเรื่อย ๆ ว่างเมื่อไร เป็นต้องภาวนาว่า พุทโธ หากอยู่ในสถานที่เหมาะ สามารถออกเสียงได้ ก็ออกเสียงว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ทำเรื่อย ๆ ไป หากอยู่ในสถานที่ไม่เหมาะที่จะออกเสียงได้ ก็ภาวนาในใจว่า พุทโธ พุทโธ พุทโธ ทำเรื่อยๆ ไป ไม่หวังผลอะไร เมื่อไร ก็เมื่อนั้น
คำภาวนาที่เปล่งออกไปอย่างเป็นจังหวะริทึ่ม (Rhythm) ซึ่งเป็นเสียวยาวๆ สั้นๆ หรือเสียงหนัก ย่อมทำให้จิตใจที่ฟุ้งซ่าน หวาดกลัว เกิดความสงบ ได้เร็ว ดุจเสียงระฆังที่ดังกังวาน เป็นคลื่นกระจายออกไป ในทุกครั้งที่เปล่ง หากจิตใจรวมลงเป็นเอกัคคตารมณ์ มีอารมณ์เดียว ย่อมเป็นจิตที่ควรแก่การงาน ย่อมเป็นจิตตื่น จิตพุทธะ จิตรู้ ตื่น เบิกบาน
การภาวนาอยากได้จะไม่ได้ ไม่อยากจึงได้ ควรยึดหลักที่ว่า ทำเพราะธรรม(หน้าที่) หน้าที่ภาวนา เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เพราะจิตใจที่ได้พบจิตพุทธะแล้ว ชีวิตย่อมพลิก เปลี่ยนชีวิตได้
@@@@@@@
หรือคำภาวนาของหลวงพ่อสด วัดปากน้ำ ที่หลวงพ่อสดสอนทำให้เป็นตัวอย่าง เปล่งเสียงสวดคำภาวนา “สัมมาอะระหัง” ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ๔๙๙ ครั้งใช้เวลา ๒๕ นาที หากเราเชื่อตามที่หลวงพ่อสอน แล้วลงมือทำตาม และทำเป็นประจำทุกวัน ย่อมเสริมสร้างเติมพลังชีวิต ควรเร่งคิดเร่งทำ วันละนิดดีกว่าคิดว่าจะทำ
หรือสวดคำภาวนา “สัมมาอะระหัง” ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ๕๐๐ ครั้ง ใช้เวลา ๒๕ นาที ทำเป็นประจำทุกวัน พลิกชีวิต ให้ดีขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ
หรือสวดคำภาวนา “สัมมาอะระหัง” ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ๙๙๙ ครั้ง เวลา ๕๔ นาที ทำเป็นประจำทุกวัน ย่อมเติมพลังให้ชีวิต ควรเร่งคิดเร่งทำ ทำวันละนิดดีกว่าคิดว่าจะทำ ทำทุกวันดวงบุญโตทุกวัน เกิดเป็นบุญนำพา
หรือสวดคำภาวนา “สัมมาอะระหัง” ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ๑,๐๐๐ ครั้ง ใช้เวลา ๕๔ นาที บทสวดสัมมาอะระหัง พลิกชีวิต ให้รวยขึ้น พลิกชีวิต จากจนให้รวยขึ้น
หรือสวดคำภาวนา “สัมมาอะระหัง” ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ๕,๐๐๐ ครั้ง ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง สวดทุกวัน ชีวิตดีขึ้น ค้าขายดี
หรือคำภาวนา “สัมมาอะระหัง” ภาวนาอย่างต่อเนื่อง ๑๐,๐๐๐ ครั้ง ใช้เวลา ๔ ชั่วโมง จะมีอานิสงส์ สุขใจ ก้าวหน้า ร่ำรวย แข็งแรง หายป่วย สมปรารถนา
@@@@@@@
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ที่เขียนและตัวอย่างมานี่ เพื่อต้องการชี้ ๔ ประเด็น คือ (๑) วิริยะ ,(๒) จิตใจ ,(๓) เสียงที่เปล่ง ,(๔) อินทรีย์ ๕ เต็ม
๑) วิริยะของผู้สวด ทำให้ต่อเนื่อง มุ่งหมายแสดงให้เห็นว่า ทำอะไร ต้องใช้เวลา ภาวนาคำครั้งเดียว จิตใจยังไม่จดจำ ต้องทำเป็นประจำ ทำบ่อย ๆ ทำแล้วเห็นว่าดี ก็ทำให้นานขึ้น เพื่อการทำเป็นประจำ ทำบ่อย ๆ ทำวันละนิด เพิ่มละนิด เป็นการทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป
๒) จิตใจ ต้องมีความศรัทธา ปราศจากข้อสงสัยใด ๆ ในสิ่งที่ทำ หลวงพ่อสด วัดปากน้ำให้คิดข้อไว้ว่า “เติมพลังให้ชีวิต ควรเร่งคิดเร่งทำ ทำวันละนิดดีกว่าคิดว่าจะทำ”
๓) เสียงที่เปล่ง เสียงที่เปล่งออกนั้น ต้องมาจากจิตใจ ไม่ใช่สมอง ในขั้นแรก ต้องใช้สมองกัน แล้วจากนั้น ก็ใช้จากจิตใจ ก่อนทำอาจซ้อมเสียงก่อนว่า ลาม วาม ราม ยาม คาม ฮาม โอม ก็ได้หรือฝึกหายใจเข้า-ออก ลึก ๆ ๓ ครั้ง ก็ได้
๔) อินทรีย์ ๕ เต็ม เมื่อผู้สวดเกิดศรัทธาปราศจากความสงสัย มีวิริยะทำอย่างต่อเนื่องไม่หยุด ดุจกิ้งก่าวิ่ง ทำบ่อย ๆ ทำดุจคนตำข้าว ย่อมเกิดสมาธิ มีจิตใจ เมื่อทำบ่อย สวดภาวนาบ่อย ๆ ก็เกิดปัญญา นั่งสวดภาวนาเรื่อย ๆ ก็จะเห็นร่างกายเป็นคนท่อง จิตวิญญาณเป็นผู้ดู เมื่อเห็นร่างขยับ ปากท่องอยู่ จิตเป็นผู้รู้ ผู้ดูได้ ก็จะเกิดสติขึ้น เห็นตนเองว่า เผลอไปเท่าไร เกิดสติเท่าไร ตอนแรกๆ จะเห็นว่า ตนเองเผลอไปคิดตลอดเลย แต่พอทำไป เผลอเริ่มลดน้อยลง สติเริ่มมีพลังมากขึ้น ๆ
สุดท้าย ขอย้ำให้ฟังว่า ต้นไม้ที่ปลูกวันนี้ เป็นต้นไม้ที่เติบโต ต้นไม้ยังไม่ได้ปลูก หาเป็นต้นไม้ที่เจริญเติบโตได้ไม่ ให้ลงมือทำเลย ทำตอนนี้ ได้ตอนนี้ ทำเดี๋ยวนี้ ได้เดี๋ยวนี้ ปฏิบัติเอง ได้ผลเองดุจกินข้าวก็ได้รับรสอาหารอย่อยเองแล
ดังนั้น จะทำอะไร ขอให้ฝึกบ่อย ๆ จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้ ดังคำว่า “จิตฺตํ ทนฺตํ สุขาวหํ” จิตที่ฝึกดีแล้ว นำความสุขมาให้แล
@@@@@@@@
สรุป
การสวดมนต์ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้ชีวิตของผู้สวดภาวนาดีขึ้นได้ โดยเป็นการเสริมสร้างกำลังใจ ทำให้จิตใจมีสมาธิ ส่งเสริมให้มีสติ ทำให้จิตใจบริสุทธิ์สะอาดสว่าง เมื่อใดก็ตาม เรามีจิตใจขุ่นมัว เศร้าหมองให้นึกถึงคำสวดมนต์ เมื่อนึกขึ้นได้ว่า ให้สวดมนต์แล้ว จิตใจจะเริ่มสงบ เมื่อนึกสวดมนต์ไปอย่างต่อเนื่อง จิตใจที่ขุ่นมัว ก็จะเริ่มบริสุทธิ์ สว่าง และสงบตามมา เมื่อนึกถึงการสวดมนต์แล้ว
บทสวดมนต์แต่ละคนอาจจะชอบบทไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไป แต่อย่างไรก็ตามบทสวดมนต์ไม่ว่าบทใด ย่อมเกิดประโยชน์แก่ผู้สวดและผู้ฟังทั้งนั้น เพราะบทสวดมนต์เป็นความบริสุทธิ์คนที่ได้สัมผัสด้วยใจ ด้วยจิตวิญญาณ ล้วนได้รับความบริสุทธิ์ สว่าง สงบ คนที่ได้ชื่อว่าเป็นมนุษย์ ไม่ว่าจะศาสนาใด ก็ตาม เพียงการกล่าวคำสวดมนต์สั้น ๆ ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน เช่น เด็กเลี้ยงโค ลูกของศาสนาพราหมณ์ เกิดความกลัวยามค่ำคืน เมื่ออยู่คนเดียวกัน เพียงสวดมนต์ว่า นะโม พุทธัสสะ(ขอความนอบน้อมจงมีพระพุทธเจ้า) แล้วนอนหลับไป ตกกลางคืน มียักษ์จะมาทำร้าย แต่ก็ทำร้ายไม่ได้ เพราะเมื่อจับร่างกายก็เกิดความร้อน จึงจับกินไม่ได้ ปลอดภัย นี่แสดงให้เห็นว่า คนสวดมนต์เมื่อมีความศรัทธาเลื่อมใสในบทความมนต์ ย่อมเกิดความสุขกายสบายใจ
ดังนั้น เมื่อเกิดภัยอะไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เกิดความสงบได้ ก็อาศัยเสียงสวดมนต์เป็นหลักหยุดจิตใจที่ขุ่นมัวให้เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว และคนที่มีจิตใจที่บริสุทธิ์แล้ว ย่อมเห็นทางสว่าง จะรู้ด้วยตนเองว่า อะไรควร อะไรไม่ควร อะไรดี อะไรไม่ดี เพราะจิตใจที่บริสุทธิ์ เป็นกุศลธรรม สิ่งที่เป็นกุศลพลังแห่งกุศลย่อมย่อมไหลเข้ามาสู่จิตใจตน พลังแห่งกุศลย่อมไม่เกิด เพราะจิตใจที่ขุ่นมัว การที่มีจิตใจขุ่นมัว กุศลย่อมไม่เกิด จะดึงจิตใจให้เกิดความผ่องใสได้ การที่จะทำให้จิตใจสงบบริสุทธิ์สะอาดได้อย่างรวดเร็ว สิ่งนั้น คือ การสวดมนต์
หาสถานที่เงียบ ๆ สงบ อยู่กับตนเอง แล้วสวดมนต์ เพียงแค่กล่าวคำว่านะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ ขอความนอบน้อมจงมีแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง เพียงว่าแค่นี้ สั้น ๆ แต่ให้ว่าอย่างต่อเนื่อง จิตใจก็จะอยู่ติดกับอารมณ์ของบทความสวดมนต์ เพียงเมื่อสวดมนต์ว่าคำสวดมนต์แล้ว ตนเป็นผู้มองดูได้ ก็จะเห็นเพียงร่างตน ปากขยับ ๆ สวดมนต์อยู่ หากเห็นเพียงเช่นนี้ได้ เยี่ยมที่สุดเลย เพราะจิตใจ เริ่มสงบเย็นแล้ว ถูกทาง ขอให้ว่าต่อ ๆ เรื่อย ๆ ก็จะพบว่า จิตใจเริ่มผูกพันกับคำสวดมนต์แล้วขอขอบคุณ :-
ที่มา : สารนิพนธ์พุทธศาสตรบัณฑิต ๒๕๖๓ เรื่อง การสวดมนต์ภาวนา
ผู้แต่ง : นายสุชญา ศิริธัญภร | 25 ธ.ค. 63
ภาพ : pinterest
website :
https://www.mcu.ac.th/article/detail/34948บรรณานุกรม :-
- คล้อย ทรงบัณฑิตย. ประมวลหัวใจธรรมกถึก หรือคลังปริยัติ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เลี่ยงเชี่ยง,
ม.ป.ป.
- ธนิต อยู่โพธิ์. อานุภาพพระปริตต์. กรุงเทพมหานคร: ม.ป.พ., ๒๕๓๗.
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎก ภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ-ราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. มหาจุฬาเตปิฏกํ ๒๕๐๐. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อรรถกถาภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ธรรมบท ภาค ๑ และภาค ๒. กรุงเทพมหานคร: โรงพิมพ์มหาจุฬงลงกรณราชวิทยาลัย,๒๕๕๖.
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. อรรถกถาภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ขุททกปาฐะ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬงลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖