ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: บัณฑิตทั้งหลาย ประสบสุขหรือทุกข์แล้ว ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง  (อ่าน 5 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 29359
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



‘นำธรรมมาทำ’ สร้างสังคมที่เปี่ยมด้วย ‘เมตตาธรรม’

การดำเนินชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น พึงสร้างความไว้วางใจด้วยความเป็นกัลยาณมิตร สร้างความสามัคคีด้วยการบูรณาการสาราณียธรรม ขอให้ทุกท่านตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท อย่าอยู่ปราศจากสติปัญญาในการดำรงชีวิต

พระพุทธศาสนา เน้นย้ำให้เราเห็นคุณค่าของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความเชื่อและวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกว่า ความแตกต่างมิใช่อุปสรรค หากคือความงดงามที่ทำให้มนุษยชาติของเราสมบูรณ์ พร้อมทั้งเสนอแนวทางในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขภายใต้ความหลากหลาย

ทุกชีวิตล้วนพึ่งพาอิงอาศัยกัน ไม่มีสิ่งใดดำรงอยู่โดยลำพัง เมื่อเราตระหนักว่า เราทุกคนเกี่ยวข้องกันอย่างลึกซึ้ง ความเห็นอกเห็นใจ และการเคารพในกันและกัน ย่อมเกิดขึ้น

หลักธรรมมีพรหมวิหาร 4 เป็นต้น เป็นคุณธรรมสำคัญที่เกื้อหนุนสังคมอันสงบสุข ได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา เมื่อมนุษย์มีเมตตาและความเข้าใจซึ่งกันและกัน เราจะไม่ดูหมิ่นผู้ที่แตกต่าง ไม่อิจฉาเมื่อผู้อื่นได้ดี และรู้จักวางใจเป็นกลางบนพื้นฐานแห่งปัญญา

อีกทั้ง อริยมรรคมีองค์ 8 เป็นแนวทางแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งในระดับปัจเจกและสังคม ตั้งแต่ความเห็นชอบ การพูดชอบ การกระทำชอบ การงานชอบ เจริญไปจนถึงมีสมาธิชอบ


@@@@@@

สมเด็จพระชินสีห์เมตตาตรัสพุทธสาสนีว่า

    “สุเขน ผุฏฺฐา อถวา ทุกฺเขน น อุจฺจาวจํ ปณฺฑิตา ทสฺสยนฺติ”
     บัณฑิตทั้งหลาย ประสบสุขหรือทุกข์แล้ว ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง


ตามพระพุทธพจน์นี้ หมายความว่า บัณฑิต คือคนฉลาด หรือคนมีปัญญา เมื่อประสบโลกธรรม ไม่ว่าฝ่ายดี คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข หรือฝ่ายไม่ดี คือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็จะเข้าใจความจริงของโลก ไม่แสดงอาการดีใจ จนลืมตัว หรือเสียใจจนเศร้าโศกเสียใจ

ดังนั้น จึงควรมองโลกธรรม เหมือนความมืดความสว่าง จะสลับผลัดเปลี่ยนกันไป มืดแล้วสว่าง สว่างแล้วมืด ชีวิตก็เช่นกัน จึงไม่ควรหวั่นไหวไปตามโลกธรรม แล้วจะอยู่ได้อย่างมีความสุข

แนวทางเหล่านี้ หากนำไปใช้ในการดำเนินชีวิต จะทำให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน และนำไปสู่สังคมที่เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม ปรากฏเป็นความสามัคคีในความหลากหลาย ช่วยหล่อหลอมให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างมนุษย์ ผู้คนหันมายอมรับเรียนรู้จากความต่าง แทนที่จะหวาดระแวงกัน

ดังพุทธภาษิตที่ว่า
    “พึงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดีด้วยความดี”
     เราสามารถเอาชนะอคติ และความบาดหมางด้วยจิตใจที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาและขันติ

@@@@@@@

ดังนั้น การดำเนินชีวิตในสถานการณ์ปัจจุบันนั้น พึงสร้างความไว้วางใจ ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร และสร้างความสามัคคีด้วยการบูรณาการสาราณียธรรม จักนำพาให้ได้รับการพัฒนาไปในทางที่ดี ที่ถูกต้อง และเหมาะสม ด้วยความรักความปรารถนาดี และความจริงใจ

ขอให้ทุกท่านตั้งตนอยู่ในความไม่ประมาท อย่าอยู่ปราศจากสติปัญญาในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติศาสนกิจในนานาอารยประเทศ ด้วยสุวิชา ใช้ความรู้ ความฉลาด ให้เต็มความสามารถ และยึดมั่นในคุณงามความดีโดยสุจริต เพราะความรู้ ความฉลาด ความสามารถ และคุณธรรมโดยสุจริตนั้น เป็นยอดแห่งความปรารถนาของทุกคน และเป็นเหตุแห่งความเจริญสุขสวัสดี ในที่ทุกสถานตลอดกาลทุกเมื่อ




ขอขอบคุณ :-
คอลัมน์ ลานธรรม โดย พระสุธีวชิรปฏิภาณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ประธานพระธรรมวิทยากรเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี
website : https://www.dailynews.co.th/articles/4806947/
การศึกษา-ศาสนา | 12 มิ.ย. 2568 • 15:21 น.
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: วันนี้ เวลา 10:46:49 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ