« เมื่อ: มิถุนายน 01, 2012, 12:01:22 pm »
0
ปุญญักเขตตัง โลกัสสาลาติ..'เนื้อนาบุญของโลก'
ธรรมเทศนาท่านพ่อลี "ทำนาบุญ"
วัดอโศการาม 28 กันยายน 2503
บันทึกโดย พระบุญกู้ อนุวฑฺฒโน เวลานี้ก็ใกล้จะออกพรรษาแล้ว วันเวลาของพวกเราก็นับวันจะเหลือน้อยลงทุกที อายุวัยของเรามันเป็นของที่สิ้นเปลืองหมด ถ้าโอกาสและเวลายังอยู่ ก็มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติ บำเพ็ญให้เต็มโอกาสและเวลา เหมือนเราทำนา ถ้านาของเรามันยังดำไม่หมด ปลูกสร้างไม่เต็ม ถ้ามัวแต่เพลิดเพลินอยู่
ถ้าฝนหยุดแล้วก็ไม่มีโอกาส เวลานี้เรียกว่าเป็นเวลาที่สมควร เป็นเวลาที่ยังมีโอกาส คล้าย ๆ กับว่าพวกชาวนา ในเวลาฝนตกต้องรีบ ไม่ต้องหาโอกาสอื่น เวลาฝนกำลังตกน้ำกำลังมี ต้องรีบไถคราด รีบหว่านรีบดำ ถ้าฝนแห้งฝนแล้ง เราจึงจะค่อยทำ ถ้าฝนมันไม่ตกเสียเลยอย่างนี้ก็จะเสียโอกาส
ฉะนั้น พวกเราก็เรียกว่าเป็นผู้บำเพ็ญในทางคุณความดี เรียกว่า “ทำนาบุญ” คือ พระพุทธเจ้าแสดงว่า “ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺสาติ”
ข้อปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่าง ซึ่งเราจะต้องทำให้เกิดให้มีขึ้นนั้นเป็นนาบุญของเรา เป็นเขตนาบุญของเราผู้ไม่ประมาท
นาบุญของเรานั้น คือ ประกอบด้วยโอกาสและเวลาอย่างหนึ่ง
ประกอบไปด้วยเครื่องสัมภาระที่เราจะต้องทำขึ้นอย่างที่สอง
ประกอบด้วยภูมิประเทศเป็นชั้นที่สาม
ถ้าสามประการนี้สมบูรณ์บริบูรณ์ก็นับว่าเป็นโชคเป็นลาภ เป็นบุญวาสนาบารมีของเรา คือ ฝนที่ตกนั้น อะไรมันจะเลิศยิ่งกว่าฝนห่าแก้วไม่มี
ฝนห่าแก้วนั้น ได้แก่ ธรรมะ ซึ่งบรรยายถึงเรื่องพุทธรัตนะ พุทธคุณเสมอเหมือนกับแก้ว ธรรมรัตนะ ธรรมคุณก็เสมอเหมือนกับแก้ว สังฆรัตนะ พระสงฆ์ก็เสมอเหมือนกับแก้ว นี่เรียกว่าฝนห่าแก้ว ในบุคลาธิษฐาน
ในส่วนธรรมาธิษฐาน ได้แก่ ข้อปฏิบัติ คือ ข้อปฏิบัติของเราที่ทำอยู่นี้ บางสิ่งบางอย่างเนื่องด้วยพุทธคุณ บางสิ่งบางอย่างเนื่องด้วยธรรมคุณ บางสิ่งบางอย่างเนื่องด้วยสังฆคุณ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณสามชนิดนี้ให้ถือเสียว่าเป็นอันเดียวกัน นี่ท่านเรียกว่าฝนห่าแก้ว
ประการที่สองคือเครื่องมือ เครื่องมือนั้นได้แก่เครื่องสัมภาระ เช่น เราจะทำสวนก็ดี ทำนาก็ดี เราก็ต้องมีเครื่องสัมภาระที่จะต้องสร้างขึ้น เช่น ชาวงนาก็มีไถบ้าง คราดบ้าง จอบบ้าง และพืชพันธุ์ธัญญชาติที่จะปลูกสร้างลงไปในนาบ้าง นี่เรียกว่าเครื่องสัมภาระ อันนี้คืออะไร พืชผลที่เราจะต้องฝังลงไปนั้นได้แก่ “ศรัทธา”
ตัวศรัทธาอันนี้ มันมีถึง 3 ชั้น ที่เป็นพืชสำคัญ พืชอย่างหนึ่ง คือ
ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาตื้นๆ ธรรมดา ศรัทธานี้เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง อยากจะทำบ้าง ไม่อยากจะทำบ้าง แต่ไม่กล้าทิ้งความดี อันนี้เป็นศรัทธาธรรมดา
ศรัทธาอย่างที่สอง อยากจะทำ ไม่อยากจะทิ้ง ถึงมันยังไม่ได้อย่างนึก แต่ก็เชื่อ นี่เรียกว่าศรัทธาอย่างที่สอง
ศรัทธาอย่างที่สาม มีตั้งแต่ความอยากทำ อยากสนใจ ไม่เอาใจใส่กับบุคคลใดทั้งหมด เขาจะว่าดีก็ทำ ไม่ว่าดีก็ทำ จะเป็นวันพระก็ทำ ไม่ใช่วันพระก็ทำ อยู่บ้านก็ทำ อยู่วัดก็ทำ ปักดิ่ง ดวงจิตเชื่อมั่น อันนี้ท่านเรียกว่า “อจลศรัทธา”
ศรัทธานี้เปรียบเหมือนเมล็ดข้าว เมล็ดข้าวนี้ถ้าทำนาไม่ไถ หว่านไป มดก็เก็บกินหมด ศรัทธาของคนบางเหล่าตื้น ๆ ไม่สนใจมากมาย เป็นแต่เขาเป่าหูก็เชื่อ บางทีเขาหลอกให้เราหลงไป นี่เรียกว่าเมล็ดข้าว มดมันคาบไปเกือบหมด นี่จำพวกหนึ่ง 
อีกจำพวกหนึ่ง เอาเสียมไปขุดเอาจอบไปขุด แล้วก็หว่านพืช พวกที่จะทำความดีนั้น อาศัยสืบสวนไตร่ตรอง พินิจพิจารณาดูเสียก่อนว่าเป็นของที่ควรแก่กาลหรือเปล่า เป็นของที่ควรแก่บุคคลผู้นั้นหรือเปล่า และเป็นเรื่องที่ควรแก่เราหรือไม่ จะได้ผลมากน้อยเพียงใดแล้วจะได้ผลตอบแทนอย่างใด แล้วก็ทำตาม อันนี้พวกใช้จอบใช้เสียม ปลอดภัยบ้าง แต่ยังไม่ดีเท่าไถหรือคราด มันยังตื้นอยู่
ส่วนเราไถคราดแล้วหว่านลงไปมันลึก มันได้แก่การโยนิโสมนสิการ ใช้ปัญญาพิจารณาให้รอบคอบให้ทั่วถึงเสียก่อน รู้จักเหตุผลแจ้งชัดขึ้นโดยตนเอง ไม่ต้องไปเชื่อเขาว่าไม่ต้องไปเชื่อเขาบอก มาทบทวนให้เกิดความรู้สึกในตนก็ปักดิ่ง เชื่อตนของตน อันนี้เขาเรียกว่า ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว เหมือนคนไถนาแล้วก็หว่านพืชอันนี้ดี มด นกกระจิบกระจาบ ไม่มีหนทางที่จะคาบไปกินได้เลย อันนี้ปลอดภัย นี่ศรัทธาคือพืช เป็นเรื่องที่เราจะต้องหว่าน
เครื่องมือของเรา ก็คือ ร่างกายของเราใจของเรา ร่างกายของเราก็หมั่นไปหมั่นมาบ่อย ๆ เหมือนกับคราดไถ 2 หน ไถไปทางโน้น ไถตัดกลับไปอีก หญ้ามันก็ขาด นี่เครื่องมือเราคือกายหมั่นไปหมั่นมา หมั่นคบค้าสมาคมในสถานที่ควรเกิดบุญเกิดกุศล นี่ชื่อว่าไถ ข้อที่สองนั้น เมื่อมาพบมาเจอะ เราต้องวิตกวิจาร ไตร่ตรองให้มันดีถี่ถ้วน ด้วยปัญญาและความคิดเห็น ด้วยสัมมาทิฏฐิ เช่น เราทำกรรมฐานอย่างนี้ อยากให้มันสงบ ถ้าไม่พิจารณาดูให้ถี่ถ้วน มันก็สงบยาก
ฉะนั้นท่านจึงให้วิตก นึกถึงเรื่องราวที่เราเห็นนั้น วิจาร พิจารณาทบทวน อนุโลมตามไปปฏิโลมกลับมา รักษาอย่างนี้ท่านเรียกว่าคราด เมื่อเราไถเราคราดหญ้าตายอย่างหนึ่ง แผ่นดินราบลงไปอย่างหนึ่ง เมื่อราบเข้า เราก็หว่านข้าว เป็นกล้าที่เราจะต้องปลูกฝังในนาของเรา ข้าวมันก็งาม นี่เป็นเครื่องมือที่เราจะต้องสับสร้างขึ้น ซึ่งควรแก่โอกาสและเวลา พืชที่เราปลูกลงไป มันก็เกิดขึ้นงอกงามได้ผลดี ปราศจากมดแมงตัวสัตว์นกหนูปูปิก ที่จะมาคาบเมล็ดข้าวเราหนีไม่ได้ นี่สำเร็จในการหว่านพืช
และอีกข้อหนึ่ง ภูมิประเทศที่ควรแก่การทำนา นี่ก็สำคัญเหมือนกัน ได้แก่สาถนที่เช่นเราถือว่าแต่ละแห่ง ๆ เช่น วัด เป็นสถานที่ที่เราจะต้องไปสร้างคุณงามความดี วัดใดที่มีความดี สถานที่นั้นชื่อว่ามีปุ๋ยมาก ถ้าสถานที่มีปุ๋ยมาก เราไม่ต้องกลัวหมดเปลืองพืช หว่านเข้าไปเถอะ
ถ้าสถานที่ใดไม่ดี เราก็หว่านแต่พอสมควร ไม่ให้เสียมรรยาท เราไม่หว่านเสียเลยก็เสียมรรยาทของมนุษยธรรม แต่เราไม่หว่านเต็มที่ของเรา
สถานที่นั้นเรียกว่าเป็นสถานที่อยู่ของสงฆ์ สงฆ์เป็นนาบุญของโลก และสงฆ์นั้นก็เป็นผู้ทรงศีลด้วยความบริสุทธิ์ ก็เท่ากับว่านานั้นมีหัวคันนา ฝนตกมาน้ำก็ขัง เอาปุ๋ยใส่มันก็ขัง ถ้าใครไม่มีศีลบริสุทธิ์ก็เท่ากับนาไม่มีหัวคันนากั้น ฝนตกลงมาน้ำในนาไหลหนีหมด ใครจะไปหว่าน ปุ๋ยก็ไม่อยู่ เมล็ดข้าวก็ไม่อยู่ นี่ก็สำคัญเหมือนกัน ฉะนั้นศีล ท่านผู้รักษาซึ่งข้อห้ามสิกขาบท ก็เหมือนกับว่ามีหัวคันนาด้วยดี
ส่วนน้ำฝนนั้น เป็นผู้ใส่ใจปฏิบัติ มีความเคารพในคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ส่วนน้ำของฝนก็คือ น้ำใจ ใสสะอาด น้ำใจเย็นใสสะอาด
ตอนนี้คำที่ว่าใจเย็นนี้ มีความหมายหลายอย่าง ใจเย็นอย่างน้ำแข็งนี้อย่างหนึ่ง ใจเย็นอย่างถ่านไฟฉายอย่างหนึ่ง
คำที่ว่าเย็น เย็นอย่างน้ำแข็งนี่ไม่ค่อยดี จับมากเข้า มือมันเป็นเหน็บ คือ คนเย็นเฉื่อยไม่กระตือรือร้นขวนขวายทำความดี น้ำเย็นอย่างน้ำแข็ง เย็นชนิดนี้ไปจับมาก ๆ เข้ามันชามือ มันจะเกิดโทษเกิดภัย
คนเย็นใจ ไม่ขวนขวายพยายามทำความดีก็เช่นเดียวกัน นี่ต้องรู้จักคำที่ว่าเย็น ส่วนเย็นที่อย่างดีนั้น มันเย็นเหมือนถ่านไฟฉาย ถ่านไฟฉายมันมีความร้อนนะ แต่มันเย็น อย่างหม้อแบตเตอรี่ มันมีแสงสว่าง แต่มันเย็น นี่ความเย็นอย่างนี้มันดี คือ ความไม่นอนใจ บากบั่นพยายามสร้างคุณงามความดีให้เกิดขึ้นในตนของตน เอาความดีฝังเข้าในดวงจิต
ร่างกายเหมือนกับหม้อแบตเตอรี่ ความดีของเรานั้นเป็นแผ่นเหล็กหรือแผ่นตะกั่วโลหะ สำหรับที่จะดูดเอาไฟเข้าไปไว้ในตัว นี่ให้มันเย็นอย่างนี้ เราจะไปนั่งบนหม้อแบตเตอรี่มันก็เย็น ไม่มีทำลายมนุษย์ แต่ว่าคนโง่มันอาจติดตายได้เหมือนกัน
เหตุนั้น ความดีของผู้มีศีลและธรรม ก็มีความเย็นแต่คนใดประมาทมันก็ไหม้เผาเอา นี่มันเย็นอย่างนี้ ทีนี้อำนาจแห่งความเย็นนี้ก็โปรยปรายไปให้มนุษย์ เรียกว่าฝนห่าแก้ว ได้แก่ การแผ่เมตตาจิต มีเมตตาเป็นที่อยู่ ไม่มีความอิจฉาพยาบาท มีแต่ความเมตตาจิต นี่เมตตาจิต นี่แหละมันเป็นปุ๋ยอย่างสำคัญ เป็นเครื่องจะต้องส่งเสริมพืชผลต่าง ๆ ของเราให้งอกงามเจริญขึ้น
หรือเปรียบเหมือนกับน้ำที่ขังหัวคันนา ปรารภในคุณงามความดีของตนไม่ประมาท อันนั้นก็เหมือนกับฝนตก เมื่อความดีของเราที่สับสร้างขึ้น เกิดความสงบจิต มีความเยือกเย็น อันนั้นเป็นเมล็ดฝน เมื่อหัวคันนาก็ดี ฝนก็ตก เมล็ดฝนนั้นก็ตกขังในไร่นาของเรา ในสมัยเช่นนั้นก็ได้ชื่อว่าสถานที่สมบูรณ์ ควรที่จะต้องพากันรับสับสร้างเสียโดยเร็ว นี่ท่านเปรียบอย่างนี้ เรียกว่า ภูมิประเทศหรือสถานที่
ทีนี้ นาบางแห่งมันแล้งมันเขิน ไม่ค่อยจะมีฟ้ามีฝน บางสถานที่ไม่สนใจในข้อปฏิบัติ ไม่บำเพ็ญสับสร้างคุณงามความดี แค่ศีลก็รักษาไม่คุ้ม สมาธินั้นก็ยิ่งห่างไกล ไม่สนใจสักนิด ดวงจิตก็หนาไปด้วยความโลภ หนาไปด้วยความเกลียด พยาบาท อาฆาตซึ่งกันและกัน สถานที่นั้นก็ชื่อว่าหัวคันนาก็ขาด ฝนก็ไม่ตก ความเย็นก็ไม่มี ความดีก็ไม่ได้สับสร้าง เมื่อใครขืนไปหว่านพืชพันธุ์ในสถานที่นั้นถังหนึ่ง บางทีอาจจะสูญไปเลย บางทีก็อาจจะได้คืนมาบ้าง 
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้สอนว่า ให้พวกเราพากันเตรียมคราดเตรียมไถ พากันเตรียมพืชพันธุ์ธัญญชาติ พากันหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่ทรัพย์ของเราที่จะต้องลงทุน เมื่อเรามีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญอย่างนี้ หรือเราได้พบผ่านเจอเห็นอย่างนั้น ชื่อว่าบุญของเรา วาสนาบารมีของเรา เราก็ต้องพากันรีบเร่งบากบั่นพยายาม
เพราะศรัทธาก็เป็นของไม่แน่ บางวันก็หดเข้า เรียกว่า “ศรัทธาหัวเต่า” บางวันก็ยืดออกมา บางวันก็หดเข้า นี่ไม่แน่ ถ้ามันยืดมาวันนี้ก็รีบทำเสีย ไปถึงพรุ่งนี้มันจะหด ต้องรีบศรัทธาของเราก็จะต้องรีบ คราดเราก็จะต้องสร้าง ไถเราก็จะต้องสร้าง เรามีเสียมมีจอบ ใช้จอบใช้เสียม เรามีคราดมีไถ ใช้คราดใช้ไถ เพื่อพากันสร้างสมบัติให้เกิดขึ้นในตัว (ยังมีต่อ)ที่มา
http://www.watasokaram.com/board/read.php?tid=401ขอบคุณภาพจาก
http://www.rmutphysics.com/,http://www.dhammajak.net/,http://image.ohozaa.com/