ขออนุญาตพระอาจารย์ สรุปใจความสำคัญของทั้งสองสูตร
สำหรับคนที่ไม่คุ้นกับสำนวนบาลี หรือไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ
โดยขอนำย่อความ จากหนังสือ "พระไตรปิฎก ฉบับสำหรับประชาชน”
(ย่อความจากประไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี ๔๕ เล่ม)
โดยคุณสุชีพ ปุญญานุภาพ มาแสดงตามนี้เลยครับ
ย่อมาจาก เล่มที่ ๒๒ ชื่ออังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต (เป็นสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๔)
บทย่อสูตรที่ ๗. สมาธิสูตรทรงแสดงว่า ญาณ ๕ ย่อมเกิดขึ้นเฉพาะตน แก่ผู้เจริญสมาธิ อันไม่มีประมาณ(โลกุตตรธรรม) ผู้มีปัญญารักษาตน มีสติเฉพาะหน้า คือความรู้เกิดขึ้นเฉพาะตนว่า
๑. สมาธินี้ มีสุขในปัจจุบัน มีสุขเป็นวิบาก ( ผล ) ต่อไป
๒. สมาธินี้ประเสริฐ ไม่มีอามิส ( เหยื่อล่อ )
๓. สมาธินี้คนชั่วส้องเสพไม่ได้
๔. สมาธิ นี้สงบประณีต ได้มาด้วยความสงบระงับกิเลส บรรลุความเป็นธรรมอันเอกเกิดขึ้น ไม่ต้องบรรลุด้วยใช้ความเพียรข่มธรรมอันเป็นข้าศึก ห้ามกิเลส.
๕. สมาธินี้เราเข้าออกอย่างมีสติ. บทย่อสูตรที่ ๘. อังคิกสูตรทรงแสดงการเจริญสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะมีองค์ ๕ คือ
๑. ภิกษุเข้าสู่ ฌานที่ ๑ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก ( ความสงัด )
๒. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๒ มีกายนี้เต็มไปด้วยปีติและสุขอันเกิดแต่ สมาธิ.
๓. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๓ มีกายอันนี้เต็มไปด้วยสุขที่ไม่มีปีติ
๔. ภิกษุเข้าสู่ฌานที่ ๔ แผ่จิตอันบริสุทธิ์ผ่องแผ้วไปสู่กายนี้
๕. ภิกษุถือเอานิมิตในการพิจารณาด้วยดี ใส่ใจด้วยดี ทรงจำด้วยดี แทงทะลุด้วยดีด้วยปัญญา (ซึ่งนิมิตในการพิจารณานั้น). เมื่อเจริญ ทำให้มากซึ่งสัมมาสมาธิอันเป็นอริยะนี้ ย่อมเป็นไปเพื่ออภิญญา ๖ มีการแสดงฤทธิ์ได้ เป็นต้น.
