ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: สติปัฏฐาน ๔ เป็น "สมาธินิมิตร"....สมาธิทำให้เกิด "สติสัมปชัญญะ"  (อ่าน 2652 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28522
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

สมาธิ ๔ วิปัลลาส ๔
โดย สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์ อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ

บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

    สมาธิภาวนา คือ การอบรมสมาธิ การปฏิบัติทำสมาธิให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่ามี ๔ อย่างคือ
      ๑ สมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
      ๒ สมาธิภาวนาเพื่อญาณทัสสนะความรู้ความเห็น
      ๓ สมาธิภาวนาเพื่อสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว และ
      ๔ สมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นไปแห่งอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย


สมาธิเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
ประการแรกสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ท่านแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า คือสมาธิที่เป็นจิตตเอกัคคตา ความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว อย่างสูงถึงฌานคือความเพ่ง อันหมายถึงอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ที่เป็น รูปฌาน ที่สูงขึ้นไปก็ อรูปฌาน

แต่ที่ต่ำลงมาก็คือไม่เป็นอัปปนาสมาธิ สมาธิที่แนบแน่น เป็นอุปจาระสมาธิ สมาธิที่ใกล้จะแนบแน่น หรือเป็นบริกัมมสมาธิ สมาธิในการปฏิบัติตั้งแต่เบื้องต้น ให้จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว และเมื่อได้จิตตเอกัคคตาคือความที่จิตมีอารมณ์เป็นอันเดียว ก็ย่อมจะได้ความสุขอยู่ในปัจจุบัน


สมาธิเพื่อญาณทัสสนะ
ประการที่ ๒ สมาธิภาวนาเพื่อความรู้ความเห็นอันเรียกว่าญาณทัสสนะ ท่านแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า ได้แก่การปฏิบัติเพ่งแสงสว่าง หรือความสว่าง ทำ ทิวาสัญญา คือความกำหนดหมายว่ากลางวัน ให้ได้ความสว่างของจิตใจ จิตใจสว่าง กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน ก็จะรู้จะเห็นอะไรๆ ได้ตามควรแก่กำลังของสมาธิข้อนี้




สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ
ประการที่ ๓ สมาธิภาวนาเพื่อสติความระลึกได้ สัมปชัญญะความรู้ตัว คือ กำหนดเวทนาความเป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขที่รู้แล้ว กำหนดสัญญาความจำได้หมายรู้ที่รู้แล้ว ความกำหนดวิตกคือความตรึกนึกคิดที่รู้แล้ว ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ ตั้งอยู่อย่างนี้ ดับไปอย่างนี้

     ในข้อ ๓ นี้ ละเอียดไปกว่าข้อ ๒ และข้อ ๒ ละเอียดไปกว่าข้อ ๑
     ข้อ ๑ นั้นสมาธิภาวนาเพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ไม่รู้ไม่เห็นอะไร เพียงแต่จิตรวมนิ่งอยู่สงบอยู่เฉยๆ อันทำให้ได้ปีติได้สุข จากความสงบสงัด จากสมาธิ
     แต่ประการที่ ๒ มีญาณทัสสนะรู้เห็นนั่นนี่ แต่เพียงแต่รู้เห็นนั่นนี่ มิได้กำหนดความรู้ความเห็นนั้น
     มาถึงประการที่ ๓ กำหนดความรู้ความเห็นนั้น โดยลักษณะเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นวิตก ความตรึกนึกคิด โดยมีสติ ความระลึกได้ สัมปชัญญะ ความรู้ตัว ในความรู้ความเห็น กำหนดลงมาว่าเป็นเวทนาสัญญาเป็นวิตกความตรึกนึกคิด และมีสติความระลึกได้สัมปชัญญะความรู้ตัว ในลักษณะเครื่องกำหนดหมายที่ปรากฏ ของเวทนาสัญญาของวิตกความตรึกนึกคิดนั้นว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป


สมาธิเพื่อความสิ้นอาสวะ
จึงมาถึงข้อ ๔ ซึ่งเป็นสมาธิภาวนาเพื่อความสิ้นอาสวะ อันนับว่าเป็นสมาธิภาวนาอย่างสูงสุด อันเป็นที่มุ่งหมายของการทำสมาธิ คือ เพื่อปัญญารู้แจ้งแทงตลอด นำให้เกิด อุทยัพยานุปัสสนาญาณ คือความรู้ที่ตามดูตามเห็นความเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕ รูปเวทนาสัญญาสังขารวิญญาณ หรือของนามรูปแต่ละข้อ ว่าเกิดขึ้นอย่างนี้ ดับไปอย่างนี้ อันจะนำให้เกิดปัญญาที่รู้แจ้งแทงตลอด อันเป็นเหตุสิ้นไปแห่งอาสวะ คือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย

     ฉะนั้น สมาธิภาวนาจึงมีหลายอย่าง
     ตั้งแต่อย่างธรรมดาสามัญ คือ ประการที่ ๑ เพื่ออยู่เป็นสุขในปัจจุบัน
     และก็สูงขึ้นเป็นเพื่อรู้เห็นในความสว่างของจิตที่กำหนดทิวาสัญญา ความสำคัญหมายว่ากลางวัน แม้ในเวลากลางคืน กลางคืนเหมือนกลางวัน กลางวันเหมือนกลางคืน
     และต่อไปก็เพื่อสติสัมปชัญญะ ระลึกรู้ความเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไปของเวทนาสัญญา วิตกความตรึกนึกคิดของตนทั้งหมด
     และสูงสุดก็เพื่อความสิ้นอาสวะ ก็ทำสมาธิเพื่อปัญญา คือทำสมาธิเพื่อเป็นมูลฐานของปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงความเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือนามรูป (เริ่ม ๑๘๗/๒) อันเป็นเหตุสิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองจิตสันดานทั้งหลาย



หลวงพ่อพุธ ฐานิโย ถวายเครื่องสักการะแด่ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อคราวเสด็จเยี่ยมวัดป่าสาลวัน


สมาธินิมิต สมาธิบริขาร สมาธิภาวนา
อนึ่ง พระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ในพระสูตรหนึ่ง ถึงสมาธินิมิต สมาธิบริขาร และสมาธิภาวนา
    สมาธินิมิตนั้นได้แก่ นิมิต คือ เครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ ตรัสว่า ได้แก่สติปัฏฐานทั้ง ๔
    ตรัสสมาธิบริขาร คือ เครื่องอาศัยแห่งสมาธิ ตรัสว่าได้แก่สัมมัปปธาน ตั้งความเพียรชอบทั้ง ๔ ข้อ คือ
        ๑ สังวรปธาน เพียรระวังบาปที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดขึ้น
        ๒ ปหานปธาน เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว
        ๓ ภาวนาปธาน เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
        ๔ อนุรักขนาปธาน เพียรรักษากุศลที่บังเกิดขึ้นแล้วให้ตั้งอยู่ไม่ให้เสื่อม และให้เพิ่มพูนมากขึ้นจนถึงความบริบูรณ์

    และได้ตรัสสมาธิภาวนา คือ การส้องเสพ อาเสวนาการส้องเสพ ภาวนาการอบรมทำให้มีขึ้นให้เป็นขึ้น พหุลีกรรม คือ การที่กระทำให้มากซึ่งสมาธิ

    ฉะนั้น จึงมาถึงสติปัฏฐานทั้ง ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสยกขึ้นว่า เป็นสมาธินิมิต คือ เป็นนิมิตเครื่องกำหนดหมายแห่งสมาธิ





สติปัฏฐาน ๔
    สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ได้ตรัสแสดงไว้โดยพิสดารในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งตรัสไว้โดยเริ่มต้นมีใจความว่า
     ทางไปอันเอกคืออันเดียว เพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เพื่อก้าวล่วงโสกะปริเทวะคือความโศกความรัญจวนคร่ำครวญใจ เพื่อดับทุกข์โทมนัสความไม่สบายกายไม่สบายใจ เพื่อบรรลุญายธรรม ธรรมะที่พึงบรรลุ ธรรมะที่พึงรู้ ท่านแสดงว่าได้แก่อริยมรรคมีองค์ ๘ เพื่อกระทำให้แจ้งนิพพาน

     ซึ่งรวมความว่าเพื่อละ หรือตัดอุปัทวะคือเครื่องขัดข้อง ๔ อย่าง อันได้แก่
        โสกะอย่าง ๑
        ปริเทวะอย่าง ๑
        ทุกข์อย่าง ๑
        โทมนัสอย่าง ๑
    เพื่อบรรลุผลที่ดีที่ชอบ ๓ อย่าง หรือเพื่อบรรลุถึงภูมิธรรม ๓ อย่าง คือ
        ความบริสุทธิ์ ๑ อันเรียกว่าวิสุทธิ
        ญายธรรม ธรรมะที่พึงกระทำที่พึงบรรลุ อันได้แก่มรรคมีองค์แปด ๑
        พระนิพพานที่พึงกระทำให้แจ้ง ๑ ดั่งนี้


    และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ก็ได้แก่
    กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นกาย
    เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นเวทนา
    จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นจิต
    ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน สติปัฏฐานคือความพิจารณาตามรู้ตามเห็นธรรม เป็น ๔ ข้อดั่งนี้





จริต ๔
    และสติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ ท่านแสดงว่าย่อมเป็นไปเพื่อละจริตทั้ง ๔ อันได้แก่
     กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องละตัณหาจริต ที่มีปัญญาอ่อน
     เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องละตัณหาจริต ที่มีปัญญากล้า
     จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องละทิฏฐิจริต ที่มีปัญญาอ่อน
     ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องละทิฏฐิจริต ที่มีปัญญากล้า


    อนึ่ง ท่านแสดงว่า เป็นการปฏิบัติที่เหมาะแก่ ยานิก คือ บุคคลผู้มีธรรมะเป็นยวดยานพาหนะสำหรับบรรลุถึงธรรมะ ที่แตกต่างกัน คือ
   กายานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับคนที่เป็น สมถยานิก คือ ผู้ที่มีสมถะเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญาอ่อน
   เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ สมถยานิก ผู้มีสมถะเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญากล้า
   จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ วิปัสสนายานิก คือ ผู้ที่มีวิปัสสนาเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญาอ่อน
   ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเหมาะสำหรับ วิปัสสนายานิก คือ ผู้มีวิปัสสนาเป็นยวดยานพาหนะที่มีปัญญากล้า






วิปัลลาส ๔
   อนึ่ง ท่านแสดงว่าเป็นเครื่องละ วิปัลลาส คือ ความสำคัญหมายที่ผิด ๔ อย่าง คือ
   กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องละวิปัลลาสความสำคัญหมายที่ผิดว่า งาม
   เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเครื่องละวิปัลลาสคือความสำคัญหมายที่ผิดว่า เป็นสุข
   จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสความสำคัญหมายที่ผิดว่า เที่ยง
   ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นเครื่องละวิปัลลาสคือความสำคัญหมายที่ผิดว่า เป็นอัตตา คือ เป็นตัวเป็นตน

    เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานทั้ง ๔ นี้ จึงเหมาะสำหรับบุคคลทุกๆ คนจะพึงปฏิบัติเพื่อละจริตทั้ง ๔
    ซึ่งทุกๆ คนอาจจะมีจริตข้อใดข้อหนึ่ง หรืออาจจะมีทั้ง ๔ ก็พึงปฏิบัติไปได้โดยลำดับ
    และสำหรับผู้ที่ปฏิบัติได้ทั้งทางสมถะและวิปัสสนา ที่เรียกว่าเป็น
    สมถยานิก มีสมถะเป็นยาน คือ ยวดยานพาหนะ
    วิปัสสนายานิก มีวิปัสสนาเป็นยาน
    และเป็นไปเพื่อละวิปัลลาสทั้ง ๔ ประการ คือ ความสำคัญหมายที่ผิดทั้ง ๔ ประการ ดังที่กล่าวมาแล้ว


    ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป




ขอบคุณบทความและภาพจาก
http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/somdej/sd-283.htm
http://3.bp.blogspot.com/,http://www.prachachat.net/,http://www24.brinkster.com/,http://www.dokmaiban.net/
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 05, 2012, 01:55:39 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ