kajjayanasutung special

กรรมฐาน มัชฌิมา แบบลำดับ (มูลกรรมฐาน กัจจายนะ) => มูลกรรมฐาน ทั่วไป => ข้อความที่เริ่มโดย: dhammawangso ที่ พฤษภาคม 03, 2016, 01:05:25 pm

หัวข้อ: 01-02 การให้ธรรมเป็นทาน ชนะ การให้ทั้งปวง - 01
เริ่มหัวข้อโดย: dhammawangso ที่ พฤษภาคม 03, 2016, 01:05:25 pm
ฟังไม่ทันส่วนไหน ละจ๊ะให้พระอาจารย์ พิมพ์เรื่อง 30 นาทีก็เยอะสิจ๊ะ
 
 สรุป เรื่องก็แล้วกัน ลองทำแบบกระทู้ดูนะ เพราะวันนี้เขาสอบธรรมศึกษากันนี่
 
 
 


(http://www.thatphanom.com/_files/news/2010_08_24_235614_mt4l7aju.jpg)

สัพพะทานัง  ธัมมะทานัง ชินาติ     
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
     
      บัดนี้จักบรรยายความตามกระทู้ พุทธศาสนสุภาษิต ที่ได้ลิขิตไว้ ณ เบื้อง ต้นเพื่อเป็นแนวทางแห่งการภาวนาสืบต่อไป
     
     คำว่า "ทาน" แปลว่า  การให้ การมอบ ด้วยจุดประสงค์เพื่อต้องการบุญ คือ ความอิ่มใจ พอใจ และ  เต็มใจ ดังนั้นการให้ทาน จึงเป็นเรื่องของบุญกุศล เจตนา  และการให้ทานเป็นเครื่องหมายของคนฉลาดที่สั่งสมเสบียงไว้เพื่อกาลต่อไป  บุคคลที่ไม่ประมาท พึงสั่งสมเรื่องทานเป็นเรื่องแรก เพราะการให้ทานนั้น  เป็นเรื่องง่ายที่สุดของมนุษย์ ซึ่งต่างจากศีล เป็นต้นดังนั้น ผู้หวังในบุญ  และ เสบียงในภายภาคหน้า ก็พึงรักษาทาน ทำทาน สร้างทานไว้ มิให้ขาด  การให้ทานในพระพุทธศาสนาจำแนกรายละเอียดไว้ ถึง ขั้นละเอียดเลย  เป็นการให้ทานตั้งแต่พื้นฐานไป เรียวกว่า ทาน ๓ บุญกิริยาวัตถุ ๑๐  ทานูปฏินิสัคคา ๘ เป็นต้น  หากกล่าวให้ละเอียดและเข้าใจนั้นเป็นเรื่องที่อาจจะต้องชี้แจงกันมาก  ดังนั้นขอสรุปแบบสำนวนไทย ๆ และจำง่าย ๆ ว่า การให้ทาน มีอยู่ ๓ แบบ
     
      การให้ทาน ๓ แบบนั้นเป็นไฉน ? การให้ด้วย วัตถุ ประการ ๑ การให้ด้วย น้ำแรง น้ำคำ และ น้ำใจ ๑ การให้ ธรรม เป็นทานอีก ๑                     
     
      การให้ด้วยวัตถุ เป็นไฉน ?  บุคคคลผู้รักบุญ เตรียมเสบียงพึงสละทรัพย์ อันเป็นวัตถุ  อันนี้เรียกว่าการให้ทานแบบพื้นฐาน ทรัพย์ คือ ปัจจัย ๔ อันประกอบ ด้วย  เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย และ ยารักษาโรคการให้ทานพี้นฐาน  ก็มุ่งหวังให้ได้ได้บุญ เบื้องต้น ก็ประการนี้ ถึงแม้ขั้นสูง ก็ถึงกับ  สละอวัยวะ สละชีวิต เป็นทานเหมือนพระโพธิสัตว์ พระเวสสันดร เป็นต้น  การให้ทานแบบนี้เป็นเรื่องที่ต้องมีกำลังใจสูง  ทานนี้ต้องเป็นทานที่มีความบริสุทธิ์ ในทาน คือ จะให้สิ่งใดเป็นทาน  สิ่งนั้น ต้องประกอบด้วยความชอบ บริสุทธิ์ เป็นของตนจึงจักมีผลมาก  การให้ทานอย่างนี้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เลือกผู้ให้ด้วย  จักได้บุญมากเช่นทำทานกับพระสงฆ์ ที่เป็นเนื้อนาบุญ  หรือการถวายสังฆทานเป็นต้น ทั้งหมดรวมเรียกว่า การให้ด้วยวัตถุ                   

     การให้ด้วย น้ำแรง น้ำคำ และ  น้ำใจ นั้นเป็นไฉน ? บุคคลที่มีกำลังใจสูง มีทรัพย์น้อย หรือมีมาก  แต่หากเห็นว่าการให้ทานที่เป็นวัตถุนั้น มีคนทำกันมากแล้ว หรือ  ไม่มากแต่อยากทำเพิ่มด้วยการสละแรงกาย แรงวาจา แรงใจ  ช่วยเหลือผู้เดือดร้อนเป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นอุทกภัยที่เกิด  มีคนสละทรัพย์กันมากมาย แต่ไม่มีใครขนไปดำเนินการให้  เห็นสมควรต้องช่วยเรียวแรง ก็ทำทานด้วย น้ำแรง น้ำคำ และ น้ำใจ อย่างนี้  เห็นบุคคลอื่นทำความดี ก็ร่วมกล่าวอนุโมทนา ดังนี้เป็นต้น อันนี้เรียกว่า  การให้ด้วยน้ำแรงคือ กายกรรม การให้ด้วย น้ำคำ คือ วจีกรรม การให้ด้วย  น้ำใจ คือ มโนกรรม               

     การให้ธรรมทาน เป็นไฉน ?  บรรดาการให้ที่กล่าวมาข้างต้นนั้น  ไม่มีสิ่งใดเสมอได้เท่ากับการให้ธรรมะเป็นทาน เนื่องด้วย การให้วัตถุทาน  ไม่ได้เปลี่ยนให้คนเลว เป็นคนดีได้ การช่วยเหลือ ด้วยน้ำแรง น้ำคำ และน้ำใจ  ก็เช่นเดียวกัน แต่การให้ธรรมเป็นทาน นั้น สามารถเปลี่ยน คนเลวให้เป็นคนดี  เปลี่ยนคนดีให้เป็นเทวดา เปลี่ยนเทวดา ให้เป็นพรหม เปลี่ยนพรหม  เป็นพระอริยะ นับว่าการให้ธรรมะนั้นเป็นเรื่องประเสริฐ สุดยอดจริง ๆ  การให้ธรรมะ ก็คือการทำบุคคลตั้งมั่น อยู่ ในศีล อยู่ในสมาธิ และ  อยู่ในปัญญา  อันเป็นธรรมะนำทางสู่การสิ้นกิเลสไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิด  เพราะการให้ธรรมะ มีความประเสริฐอย่างนี้  พระพุทธเจ้าจึงทรงตรัสไว้รับรองว่า

         
สัพพะรสํ ธมฺมรโส ชินาติ
รสแห่งธรรม ย่อมชนะรสทั้งปวง
สัพพรตึ ธมฺมรติ ชินาติ
ความยินดีในธรรม ย่อมชนะ ความยินดีทั้งปวง

       เพราะธรรมะ ย่อมมีรสชาด  ที่จิตรับได้ ตลอด นั่นคือความยินดี ความพอใจ ความอิ่มใจ จึงกล่าวได้ว่า  ธรรมะเป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด ไม่มีสิ่งใดประเสิรฐที่สุดกว่าธรรมะแล้ว  เพราะัธรรมะทำให้มีพระพุทธเจ้า เพราะธรรมทำให้เรามีที่พึ่ง  เพราะธรรมะทำให้เราสิ้นกิเลส หมดความทุกข์ อันธรรมดาบุคคล ได้ในวัตถุ  ย่อมมีความอิ่มใจ สุขใจ ที่ได้มีวัตถุ มีบ้าน มีรถ มีปราสาท มีเงิน มีทอง  แต่ความสุขในชีวิตนั้น ไม่ใช่อยู่ที่วัตถุ มีเพียงธรรมะเท่านั้น  ที่จะทำให้ถึงบรมสุข นี้ได้ ดังนั้นผู้ใดได้ทำทาน ก็พึงรักษา ทานทั้ง ๓  ไว้มิได้แต่เพียงให้ทำทานด้วยวิธีใด วิธีหนึ่ง แต่หากทานทั้ง ๓  นั้นต้องทำควบคู่กันไป ผู้ใดสร้างทานเป็นนิสัย ชีวิตย่อมมีความสุข  บริบูรณ์ด้วยโภคะ อันปรารถนา ชะรอยบรรดาคนที่เกิดมายากจนในปัจจุบันนี้  อาจจะเป็นเพราะไม่ได้สั่งสมการให้ทานจึงทำให้ชีวิต อัตคัตขัดสน  ก็เป็นที่ประจักษ์ดังที่ทราบ และถึงแม้ ร่ำรวยเป็นเศรษฐีพันล้าน หมื่นล้าน  หากแต่ขาดธรรมะ แล้ว เงินพันล้าน หมื่นล้าน  ก็มิได้สร้างความสุขให้อย่างแท้จริง

        สรุป การให้ธรรมเป็นทาน  นับได้ว่าเป็นความเลิศในทานทั้งปวง ผู้หวังในคุณงามความดี  มีสติปัญญาพึงมั่นสะสมทานไว้ให้ เพราะทานที่เป็นเลิศ  ประเสริฐที่สุดในทานทั้งปวง นั่นก็คือธรรมทาน  สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกไว้ในเบื้องต้นว่า

 
สัพพะทานัง  ธัมมะทานัง ชินาติ     
การให้ธรรมเป็นทาน ชนะการให้ทั้งปวง
       
     
      ดังวิสัชชนามาก็เห็นว่าสมควรแก่ ศรัทธา ความเชื่อ วิริยะความพากเพียร และ ปัญญา จึงขอยุติการแสดงธรรมไว้แต่เพียงเท่านี้  เอวํ ก็มีด้วยประการ ฉะนี้ ฯ
หัวข้อ: Re: 01-02 การให้ธรรมเป็นทาน ชนะ การให้ทั้งปวง - 01
เริ่มหัวข้อโดย: Nhithis ที่ ธันวาคม 02, 2016, 11:07:03 am
กราบสาธุครับ พระอาจารย์
หัวข้อ: Re: 01-02 การให้ธรรมเป็นทาน ชนะ การให้ทั้งปวง - 01
เริ่มหัวข้อโดย: popeye4964 ที่ กุมภาพันธ์ 21, 2017, 09:36:45 am
กราบสาธุครับ....