ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: แสดงธรรม ก็เพื่อให้เขาหายทุกข์ ไม่หวังอย่างอื่น  (อ่าน 2207 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

สาวิตรี

  • กำลังแหวกกระแส
  • **
  • ผลบุญ: +6/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 148
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
0
แสดงธรรม ก็เพื่อให้เขาหายทุกข์ ไม่หวังอย่างอื่น

พระธรรมคือสภาพที่ทรงไว้ซึ่งความจริงแท้ ไม่แปรไปเป็นอื่น บริสุทธิ์ สะอาด ปราศจากมลทิน และสูงค่ากว่าสิ่งใด ๆ เมื่อพระธรรมบริสุทธิ์อยู่เช่นนั้น ไฉนผู้แสดงธรรมจึงปล่อยให้เจตนาไม่บริสุทธิ์มาเจือปน อยากให้คนเคราพ ศรัทธา อยากมีชื่อเสียงโด่งดัง


        แสดงธรรมเพื่อธรรม นำเข้าไปสัมผัสใจให้ผู้ฟังรู้ซึ้งถึงธรรม ไม่ดีกว่าหรือ การแสดงธรรมเพื่อตนจะเกิดผลอะไร นอกจากอัตตาที่เติบโต แสดงธรรมเพื่อคนอื่น แม้ตนจะไม่เกิดผลอะไร แต่ก็เป็นที่น่าพึงใจของธรรม เพราะธรรมนั้นมีค่าอยู่ในตัว ไม่ต้องการสิ่งใด อยู่ในสภาพอนัตตา* แสดงธรรมเพื่อธรรมเถิด จะประเสริฐที่สุด

*********************

จันทูปมาสูตร

      ครั้งหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้ารับสั่งเรียกภิกษุทั้งหลายมาตรัสว่า

        "ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงเป็นเหมือนดวงจันทร์ จงพรากกาย พรากจิตออก (หมายถึงให้ภิกษุเว้นจากการตรึกตรองถึงกามเป็นต้น แม้ว่าจะอยู่ในบ้านหรือในป่า) เป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ ( หมายถึง ให้ภิกษุทำตัวเหมือนอาคันตุกะที่เข้าไปสู่ตระกูล ถ้าเจ้าของบ้านเลื่อมใส นิมนต์ให้ฉันก็จงฉัน แต่ถ้าเจ้าของบ้านไม่เลื่อมใส ไม่นิมนต์ ก็ไม่ควรเข้าไปทำความคุ้นเคย) ไม่คะนองเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลายเถิด

        กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ พรากกายพรากจิตออก เป็นผู้ใหม่อยู่เสมอ ไม่คะนองเข้าไปสู่ตระกูลทั้งหลาย

       เธอทั้งหลายจะเข้าใจเรื่องนั้นอย่างไร ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นไร ไม่บริสุทธิ์ ของภิกษุเช่นไรบริสุทธิ์"

        ภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า

        "พระองค์ผู้เจริญ ธรรมของข้าพระองค์ทั้งหลายมีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นแกนนำ มีพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นที่พึ่ง ขอประทานวโรกาส พระผู้มีพระภาคเจ้าเท่านั้นที่จะอธิบายเนื้อความแห่งภาษิตนี้ให้แจ่มแจ้ง ภิกษุทั้งหลายรับฟังจากพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจักทรงจำไว้ พระพุทธเจ้าข้า"

        พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสเรื่องนี้

        "ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า 'ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว ก็เลื่อมใสธรรม และผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ควรแสดงอาการเลื่อมใสต่อเรา' จึงแสดงธรรม

        ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ชื่อว่าไม่บริสุทธิ์

        ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งคิดว่า 'พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงรู้เห็นด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาหาตน วิญญูชนรู้ชัดเฉพาะตน

        ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว ก็พึงรู้ทั่วถึงธรรม ครั้นรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ก็ควรปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น' จึงแสดงธรรม เธออาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมดี อาศัยความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรม

        ธรรมเทศนาของภิกษุเช่นนี้ชื่อว่าบริสุทธิ์
 

        กัสสปะมีความคิดอย่างนี้ว่า 'พระธรรมเป็นธรรมที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ผู้ปฏิบัติพึงรู้เห็นด้วยตนเอง ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลา ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามาหาตน วิญญูชนรู้ชัดเฉพาะตน

        ไฉนหนอ ชนทั้งหลายพึงฟังธรรมของเรา ครั้นฟังแล้ว ก็พึงรู้ทั่วถึงธรรม ครั้นรู้ทั่วถึงธรรมแล้ว ก็ควรปฏิบัติให้ได้อย่างนั้น' จึงแสดงธรรม เธออาศัยความที่ธรรมเป็นธรรมดี อาศัยความกรุณา ความเอ็นดู ความอนุเคราะห์ จึงแสดงธรรม ด้วยประการฉะนี้

        ภิกษุทั้งหลาย เราจักกล่าวสอนเธอทั้งหลายให้ประพฤติตามกัสสปะ หรือผู้ใดเป็นเหมือนกัสสปะ เราก็จักกล่าวสอนให้ประพฤติตามผู้นั้น เธอทั้งหลายได้รับโอวาทแล้วก็ควรปฏิบัติให้ได้อย่างนั้นเถิด.


        พระธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และนำมาเปิดเผยแสดงนั้น ล้วนแต่เสริมสร้างความรู้ความเข้าให้เวไนยสัตว์ ผลปรากฏ (การบรรลุธรรมแต่ละระดับขั้น) ได้เกิดแก่เวไนยสัตว์ในเวลาที่ผ่านมา ทว่าผลปรากฏใด ๆ กลับไม่เกิดแก่พระองค์เลย

       เพราะเหตุไร เพราะพระองค์ทรงบรรลุครบจบกระบวนธรรม ไม่มีธรรมใดให้บรรลุยิ่งไปกว่านั้น แม้พระองค์จะทรงแสดงธรรมได้อย่างละเอียดลออลึกซึ้งสักเพียงใด ก็ไม่มีผลอะไรต่อพระองค์ (มีค่าเท่าตัว) อนึ่งนั้น พระองค์ทรงมุ่งไปที่เวไนยสัตว์ มิได้มุ่งมาที่พระองค์

        ดังนั้น การแสดงธรรมในแต่ละครั้งของพระองค์ จึงมีเมตตากรุณาเป็นตัวแปร หากไม่มีเมตตากรุณา เชื่อว่า พระองค์จักไม่แสดงธรรม

        นี้คือวิถีแห่งพุทธะที่มุ่งประโยชน์ส่วนรวม มิใช่ประโยชน์ส่วนบุคคล มุ่งอนุเคราะห์เกื้อกูล ผู้มีมโนธรรมสำนึก เมื่อเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา ได้ศึกษาพุทธธรรมจนเกิดความรู้ความเข้าใจกระจ่าง ครั้นจะออกไปเทศนาก็วางท่าทีของตนไว้ในวิถีแห่งพุทธะ

        ตระหนักถึงความรู้ความเข้าใจของผู้ฟัง ทำอย่างไรให้เขาซาบซึ้งถึงธรรมและนำไปดำเนินชีวิต

        กล่าวตามนัยนี้ เราอาจจะสรุปว่า ต้องมีความเมตตากรุณาและเสียสละ เท่านั้น จึงจะทำได้ หาไม่แล้วก็คงทำไม่ได้ เพราะผู้แสดงไม่ได้รับผลตอบแทนใด ๆ ผู้ฟังได้รับผลมากกว่า

        แท้จริง ยิ่งเกิดผลดีต่อผู้แสดง พระเกียรติคุณของพระพุทธเจ้าที่ฟุ้งขจรขจายไปทั่วทุกสารทิศ สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะพระองค์มิได้แสดงธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนตน มิได้มุ่งชื่อเสียง เกียรติยศ หรือ ลาภสักการะแต่ประการใด

      กล่าวในแง่ของระดับจิต ก็ยิ่งอยู่ในระดับจิตที่งามสูงส่ง เพราะไม่เนื่องด้วยความทะยานอยาก ซึ่งคอยผูกมัดไว้กับโลกอัตตาอันเต็มไปด้วย ความอยากได้อยากมีอยากเป็น ผู้ที่ทำเพื่อตนเอง จักไม่อาจหลุดรอดจากอัตตามายืนอยู่ในจุดอนัตตา และไม่มีวันบรรลุถึงอิสรภาพพบความสุขได้อย่างแท้จริง

        วิถีแห่งพุทธะนั้นบริสุทธิ์สะอาด เพราะปราศจากอัตตา ถ้าท่านจะก้าวเข้าสู่วิถีแห่งพุทธะ (ศึกษา ปฏิบัติ เผยแพร่) ก็ขอให้วางอัตตา อย่านำมันมาด้วย.

* สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตา  ธรรมทั้งมวลล้วนหาตัวตนไม่ได้ (ไม่มีตัวตนให้สัมผัสจับต้อง)

คัดลอกจาก:พระไตรปิฎกร่วมสมัย ๒
พระมหาอุเทน ปัญญาปริทัตต์
บันทึกการเข้า

ธัมมะวังโส

  • ธัมมะวังโส
  • ผู้บริหารเว็บ
  • โยคาวจรผล
  • *
  • ผลบุญ: +180/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 7250
  • Respect: +6
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
0
อนุโมทนา สาธุ กับบทความดี ๆ ด้วยนะจ๊ะ

เจริญพร

 ;)
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ