ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: มท.-วัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมเครือข่าย เอ็มโอยู โครงการพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร  (อ่าน 22 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28469
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



มท.-วัดระฆังโฆสิตาราม พร้อมเครือข่าย เอ็มโอยู โครงการพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร

มท. วัดระฆังโฆสิตาราม จ.นครนายก สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เอ็มโอยู โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบอารยเกษตร

เมื่อวันที่ 22 เมษายน ที่พระอุโบสถวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย(มท.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างกระทรวงมหาดไทย วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจังหวัดนครนายก โดยได้รับเมตตาจากพระมหาปรีชา ปสนฺโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เลขานุการวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร เป็นผู้แทนพระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ร่วมลงนาม

โดยมี รศ.สุพจน์ ศรีนิล รองอธิการบดี ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และนายสุภกิณห์ แวงชิน ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก ร่วมลงนาม โอกาสนี้ พระพิพัฒน์วชิโรภาส เจ้าอาวาสวัดป่ามหาธีราจารย์ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต พระครูพิพิธวรกิจจาทร พระครูสังฆรักษ์อำพล จตฺตมโล พระครูวินัยธรสมชาย ปุปฺผโก ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม พระเถรานุเถระ นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ อธิบดีกรมการปกครอง นายพงศ์รัตน์ ภิรมย์รัตน์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง นายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ นายประสพโชค อยู่สำราญ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงมหาดไทย นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ที่ปรึกษาโครงการผ้าไทยใส่ให้สนุก นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รกน.ที่ปรึกษาด้านประสิทธิภาพ กรมที่ดิน นายสุรพล เจริญภูมิ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น นางสาวชัชดาพร บุญพีระณัช รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง นายบูรณิศ ยุกตะนันทน์ ผู้อำนวยการองค์การตลาด ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ร่วมในพิธี




นายสุทธิพงษ์ กล่าวว่า บันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ระหว่างกระทรวงมหาดไทย วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และจังหวัดนครนายก เป็นเจตนารมณ์ร่วมกันที่จะออกแบบ พัฒนา วางแผนและบริหารจัดการการใช้ประโยชน์พื้นที่ ในที่ดินของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร โฉนดที่ดินที่ 2623 จำนวน 100 ไร่ และโฉนดที่ดินที่ 2624 จำนวน 50 ไร่ รวมจำนวน 150 ไร่ ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองใหญ่ อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก เพื่อพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567

โดยจัดตั้งเป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” อันจะเป็นพื้นที่ตัวอย่างแห่งความยั่งยืนให้กับกระทรวง กรม และจังหวัดต่าง ๆ ในการน้อมนำหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่อารยเกษตร หรือโคก หนอง นา โดยได้รับเมตตาจากพระเทพประสิทธิคุณ เจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร มอบหมายให้พระครูสุภัทรธรรมโฆษิต (พระครูต้น) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ได้บริหารจัดการที่ดินแปลงนี้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทยและภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดประโยชน์ตามความร่วมมือในครั้งนี้




“พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงคิดค้นทฤษฎีใหม่เป็นจำนวนมากเพื่อยังคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนให้กับพสกนิกรของพระองค์ ทั้งนี้ เกษตรทฤษฎีใหม่เป็น 1 ใน 40 ทฤษฎี ธรรมชาติมีแหล่งน้ำ มีนา ปลูกข้าวกินเอง เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นอาหาร มีไม้ยืนต้น พืชผักสวนครัว โดยทรงใช้วัดเฉลิมพระเกียรติ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี เป็นพื้นที่ทดลอง เพราะพื้นที่อำเภอเฉลิมพระเกียรติพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นหินปูน โดยทรงใช้องค์ความรู้มาคิดค้นคว้า แบ่งพื้นที่ว่าชีวิตจะอยู่ได้ “น้ำคือชีวิต” จึงทรงหาวิธีการที่ทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีโดยทำให้พื้นที่ทำมาหากินต้องมีน้ำ เกษตรทฤษฎีใหม่ 30% ของพื้นที่ทำแหล่งน้ำ 30% เป็นพื้นที่เกษตรผสมผสาน 30% เป็นพื้นที่สร้างความร่มเย็น ไม้เป็นอาหาร ไม้ใช้สอย ด้วยไม้ยืนต้น และแหล่งมรดกสร้างที่อยู่อาศัย และอีก 10% ทำที่อยู่อาศัย เลี้ยงสัตว์ และต่อมา ทรงคิดทฤษฎีใหม่อื่น ๆ อาทิ เลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช ป่าเปียก หลุมขนมครก อธรรมปราบอธรรม

โดยต่อมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปณิธานในการสืบสาน รักษา และต่อยอด จึงพระราชทานโครงการโคก หนอง นา แห่งน้ำใจและความหวังให้แก่กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และต่อมากระทรวงมหาดไทยได้น้อมนำไปขับเคลื่อน “โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่โคก หนอง นา” โดยทรงนิยามคำว่า “อารยเกษตร” เพราะพื้นที้ที้เราพัฒนาแล้วจะเกิดความสวยงาม ทั้งภาพลักษณ์ และอรรถประโยชน์ มองทางไหนก็เหมือนอยู่ในรีสอร์ท มีคลองไส้ไก่คดเคี้ยวเลี้ยวลด มีผืนแผ่นดินทำมาหากิน อยู่อาศัย ที่มีต้นไม้สูง กลาง ต่ำ เตี้ย เรี่ยดิน อันจะทำให้คนมีกิน มีใช้ และดูแลให้คนในครอบครัวมีความสุข โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้มอบหมายให้ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายภาควิชาการ ในการออกแบบขยายผลจนเกิดมรรคผลทั่วประเทศในขณะนี้” นายสุทธิพงษ์ กล่าว




นายสุทธิพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การดำเนินการในครั้งนี้ จะทำให้พวกเราทุกคนได้มีโอกาสร่วมสนองพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ดังพระปฐมบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” และพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข แก้ไขในสิ่งผิด สืบสานในพระราชปณิธาน ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” และแนวทางการพัฒนาพื้นที่ตามพระราชดำรัส “อารยเกษตร” เป็นแนวทางหลักในการบริหารจัดการดิน น้ำ ป่า คน ภูมินิเวศและภูมิวัฒนธรรม อันเป็นความสำเร็จที่ทำให้พสกนิกรชาวไทยได้มีความสุขในชีวิตอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างรูปแบบการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความเป็นอารยะ พร้อมน้อมนำหลัก บวร (บ้าน วัด ราชการ) ในการสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนา ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่ให้มีรูปแบบทางภูมิสถาปัตยกรรมที่สวยงาม

โดยมุ่งมั่นบูรณาการความร่วมมือพร้อมด้วยสรรพกำลังตามความเชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ในการพัฒนาที่ดิน การสำรวจพื้นที่เพื่อนำมาพัฒนาและออกแบบ ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” ที่เป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ต้นแบบการบริหารจัดการน้ำ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาพื้นที่เพื่อการพึ่งตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ให้เป็นแหล่งรวมปัจจัย 4 ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน และยารักษาโรค ตลอดจนการพัฒนาดินเพื่อช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชและสัตว์ สร้างสภาพแวดล้อมให้ร่มเย็นเพื่อช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศและลดภาวะโลกร้อน เป็นต้น

นอกจากนี้เราจะได้ส่งเสริมให้เกิดการน้อมนำหลักธรรมตามพระพุทธศาสนา ให้เกิดการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า การปฏิบัติธรรม และเรียนรู้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และอารยเกษตรอีกด้วย ซึ่งจะทำให้พื้นที่แห่งนี้เป็นใบบุญในการทำให้คณะสงฆ์ ตลอดจนประชาชนคนไทยได้มีโอกาสที่ดีของชีวิตในการน้อมนำพระราชดำริสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน




“พื้นที่แห่งนี้จะเป็นต้นแบบทำให้ผู้คน ประเทศชาติ และโลกใบเดียวนี้อยู่รอด จะทำให้ผู้คนได้เรียนรู้ว่า “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ไม่ได้ทำให้คนแค่พอมี พอกิน แต่จะทำให้คนเป็นผู้มีความเอื้อเฟื้อ มีจิตอาสา ดูแลสังคม และสามารถทำให้เกิดความมั่งคั่งร่ำรวยได้ ตามหลักทฤษฎีบันได 9 ขั้นของหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 4 ขั้นแรกทำให้พอกิน พออยู่ พอใช้ พอร่มเย็น ขั้นต่อไปเมื่อมีเหลือใช้ก็แบ่งทำบุญ กับพระสงฆ์ ทำทานกับผู้ยากไร้ และขั้นต่อมา คือ การแปรรูป ถนอมอาหาร และรวมผลผลิต และรวมตัวกันทำการตลาด อันจะทำให้มีคุณภาพชีวิตที่อย่างยั่งยืน โดยการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่าย คือ ภาคราชการ ภาคผู้นำศาสนา ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อสารมวลชน ขับเคลื่อนพื้นที่แห่งบุญกุศลไปสู่ต้นแบบแห่งการอยู่ดีมีสุขตามพระราชดำริต่อไป”นายสุทธิพงษ์ กล่าว

พระมหาปรีชา ปสนฺโน กล่าวว่า วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหารในฐานะเจ้าของที่ดินซึ่งเป็นที่ดินที่วัดได้ซื้อไว้ตั้งแต่ก่อนปี 2500 แปลงหนึ่ง และเป็นแปลงที่ทายาทอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ถวายให้กับวัดแปลงหนึ่ง โดยเมื่อวัดได้รับทราบว่ากระทรวงมหาดไทยมีความมุ่งมั่นร่วมพัฒนาที่ดินตามหลักพุทธอารยเกษตร ซึ่งเป็นความตั้งใจที่ดีงาม โดยเฉพาะชื่อโครงการที่ถือเป็นไปตามพระบรมราโชบายของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ อันเป็นสิ่งที่จะเกิดประโยชน์อย่างไพบูลย์กับประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชน จึงขออนุโมทนากับการจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงฯ ในวันนี้ และขออำนวยพรให้ประสบความสำเร็จตามความมุ่งมั่นตั้งใจทุกประการ

รศ.สุพจน์ กล่าวว่า สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับเกียรติในการสนับสนุนให้ รศ.วรวรรณ โรจนไพบูลย์ และ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสถาปัตยกรรมและการวางแผน คณะสถาปัตยกรรม ศิลปะและการออกแบบ ได้ดำเนินการขับเคลื่อนการขยายผลการพัฒนาพื้นที่ตามหลักอารยเกษตรตามแนวพระราชดำริมาต่อเนื่องกว่า 10 ปีในลักษณะ “นักวิชาการจิตอาสา” ซึ่งสถาบันฯ มีความภูมิใจและชื่นชมยินดีกับอาจารย์ทั้ง 2 ท่านที่มีส่วนในการพัฒนาความยั่งยืนให้กับประเทศชาติและประชาชน โดยพิธีการในวันนี้ พวกเราผู้มีจิตใจที่ดีงาม จะได้ร่วมกันทำให้ประเทศชาติก้าวไปสู่ความเจริญอย่างมั่นคงและยั่งยืน โดยสถาบันฯ จะมุ่งมั่นถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างมากที่สุดและดีที่สุดเพื่อสนองพระมหากรุณาธิคุณตลอดไป




นายสุภกิณห์ กล่าวว่า จังหวัดนครนายก ในฐานะพื้นที่มีความมุ่งมั่นในการร่วมกับภาคีเครือข่ายน้อมนำแนวทางการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบอารยเกษตร ตามแนวพระราชดำริ เพื่อยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนตามนโยบายกระทรวงมหาดไทย เจตนารมณ์ของวัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร ตลอดจนถึงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และความมุ่งมั่นตั้งใจของภาคีเครือข่ายอย่างเต็มกำลังความสามารถ

การพัฒนาที่ดินของวัดระฆังโฆสิตาราม ขนาด 150 ไร่ ที่คลอง 15 อำเภอองครักษ์ จังหวัดนครนายก ตามบันทึกข้อตกลงฯ ครั้งนี้ จะนำไปสู่การจัดทำแบบแนวความคิดในการพัฒนาพื้นที่สู่การเป็น “ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพุทธอารยเกษตร สู่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงอย่างยั่งยืน” ซึ่งถือเป็น 1 ใน 6 พื้นที่ทั่วประเทศที่กระทรวงมหาดไทยได้คัดเลือกดำเนินการเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ทำให้ประชาชนคนไทยได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน





ขอบคุณ : https://www.matichon.co.th/politics/news_4537767
วันที่ 22 เมษายน 2567 - 17:15 น.   
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ