ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔  (อ่าน 45 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔
« เมื่อ: เมษายน 03, 2024, 10:32:00 am »
0
.



การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔
โดย ภาษิต สุขวรรณดี สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา
หมายเหตุ : ยกมาแสดงบางส่วน




๓. การพัฒนามนุษย์ตามแนวภาวนา ๔

ภาวนาหรือการพัฒนาตามแนวพระพุทธศาสนามี ๔ อย่าง จําแนกไว้ว่า คือ
     ๑. พัฒนาด้านกาย เรียกว่า กายภาวนา
     ๒. พัฒนาด้านศีล เรียกว่า ศีลภาวนา
     ๓. พัฒนาด้านจิต เรียกว่า จิตภาวนา
     ๔. พัฒนาด้านปัญญา เรียกว่า ปัญญาภาวนา     

ภาวนาตามแนวพระพุทธศาสนานี้เป็นของเก่ามาก  แต่จําเพาะมาใกล้กันมากกับ development ๔ ประการของวงการการศึกษาสมัยใหม่ ซึ่งกล่าวถึงการพัฒนาที่แปลจากของฝรั่งว่า development ๔ ด้าน หรือ growth ๔ ด้าน คือ
    ๑) พัฒนาทางกาย (Physicaldevelopment) 
    ๒) พัฒนาการทางสังคม (Social  development) 
    ๓) พัฒนาการทางอารมณ์ (Emotional development)
    ๔) พัฒนาการทางปัญญา (Intellectual development)

ซึ่งมีการพูดกันมาหลายสิบปีแล้ว แต่ไม่เคยพูดถึงภาวนา ๔ อย่างในพระพุทธศาสนา คําว่า "ภาวนา" ใน  dictionary ภาษาบาลี-อังกฤษ แปลเป็น development ทั้งนั้น ภาวนาในทางพระพุทธศาสนาแปลว่า พัฒนา  และคําว่า development ก็มีความหมายตรงกับคําว่าภาวนา และทั้งภาวนา และ development มี ๔ ประเด็นเหมือนกัน ดังนี้ 

     ๑) พัฒนากาย หรือพัฒนาทางกาย ได้แก่ Physical development ตรงกับ กายภาวนา     
     ๒) พัฒนาศีล หรือพัฒนาทางสังคม ด้วยเหตุที่ศีลคือการอยู่ร่วมกันในสังคมโดยไม่เบียดเบียนกัน มีชีวิตที่เกื้อกูลต่อกัน และมีวินัยจึงได้แก่ Social development ตรงกับ ศีลภาวนา       
     ๓) พัฒนาจิตใจ หรือพัฒนาทางอารมณ์ เรื่องอารมณ์ที่เพี้ยนมาในภาษาไทยปัจจุบัน ก็คือเรื่องของจิตใจนั่นเอง พัฒนาด้านนี้ จึงได้แก่ Emotional development ตรงกับ จิตภาวนา     
     ๔) พัฒนาปัญญา หรือพัฒนาการทางปัญญา ได้แก่ Intellectual development ตรงกับ ปัญญาภาวนา


@@@@@@@

๓.๑ การพัฒนาสี่ด้าน แต่รวมลงเป็นระบบเดียว จึงกล่าวได้ว่า ภาวนา ๔ กับ development ตรงกันหมด แต่ความหมายมีนัยที่แยกกัน ต่างกัน กว้างกว่ากัน หรือลึกกว่ากันบ้าง คือ

กายภาวนา พระพุทธศาสนาไม่เน้นที่การทําให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง แต่ถือว่าการกินอาหารให้ได้คุณค่า  กินพอดี ด้วยความรู้จักประมาณ ให้ร่างกายอยู่ผาสุก มีสุขภาพดีเป็นฐานให้การพัฒนาด้านอื่นๆ ต่อไป การมีร่างกายที่ระบบภายในต่างๆ ทํางานเรียบร้อยดี เรียกว่าเป็น ปธานิยังคะ อย่างหนึ่ง คือ เป็นองค์หนึ่งของสภาพชีวิตที่เหมาะแก่การใช้ความเพียรพยายามในการพัฒนาชีวิต แต่การพัฒนากายไม่ใช่แค่นั้น

การพัฒนากาย ท่านเน้นที่เราดํารงชีวิตอยู่ในโลกนี้ ส่วนของร่างกายที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมในการดํารงอยู่ ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น และประสาทกาย ที่เรียกว่าอินทรีย์ ฉะนั้น การพัฒนากายในพระพุทธศาสนาจึงเน้นไปที่การพัฒนาอินทรีย์ ในการสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้ใช้งานได้ดี เกิดประโยชน์สูงสุด มีผลในทางส่งเสริมคุณภาพชีวิต เช่น พัฒนาการใช้ตาให้ดูเป็น พัฒนาการใช้หูให้ฟังเป็น ฯลฯ การพัฒนากายจะต้องเน้นเรื่องนี้

การพัฒนาอินทรีย์ คือ การฝึกใช้อินทรีย์ให้เป็นประโยชน์แก่ชีวิต ไม่ใช่ใช้อินทรีย์ให้เกิดโทษ ฉะนั้น การศึกษาจะต้องมีกายภาวนา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเพียงฝึกให้ร่างกายเติบโตแข็งแรง มีสุขภาพดีเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาให้ใช้อินทรีย์เป็น นอกจากนั้นการพัฒนาทักษะต่างๆ ในทางอาชีพ ก็รวมอยู่ในข้อนี้ด้วย แต่ที่เป็นแกนกลาง ก็คือ การพัฒนาที่เป็นอินทรีย์นี้ จนพูดได้ว่า การพัฒนากายก็คือการพัฒนาอินทรีย์

ศีลภาวนา ที่ว่าเป็นการพัฒนาทางสังคมนั้น  ไม่มุ่งแต่การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดีโดยไม่เบียดเบียนกันเท่านั้น  แต่มุ้งถึงการฝึกอบรมกาย วาจา ให้เป็นฐานในการพัฒนาจิตต่อด้วย กล่าวคือการฝึกอบรม ให้รู้จักควบคุมตนในเรื่องกายวาจานั้น เริ่มด้วยการไม่เบียดเบียนผู้อื่น ให้อยู่ร่วมกันกับผู้อื่นได้ดี เป็นไปในทางที่เกื้อกูลต่อกันในสังคม เรื่องนี้เป็นศีลขั้นพื้นฐาน แต่นอกเหนือจากนั้น ยังมีการศึกษาอบรมกายวาจาให้ประณีตยิ่งขึ้นไปอีก โดยที่ความสามารถในการฝึกพฤติกรรมทางกายวาจาของตนนั้น จะเป็นฐานแก่การพัฒนาจิตใจต่อไปด้วย

เมื่อเรารู้จักควบคุมฝึกหัดกายและวาจาแล้ว จะต้องฝึกฝนพัฒนาจิตใจพร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อกันตามหลักปัจจัยสัมพันธ์ หมายความว่า ภาวนา ๔ ด้านนี้ จะต้องโยงเป็นระบบเดียวกันไม่ใช่แยกเป็นด้านๆ ไม่ใช่เป็นความคิดแบบ reductionist เพราะพวกนั้นแยกแล้วไม่โยง คือแยกภาวนา หรือพัฒนา ๔ ด้าน แยกออกไปได้หมด แต่ไม่ได้ดูว่า ๔ ด้านนั้นสัมพันธ์กันอย่างไร

ทางที่ถูกต้องโยงด้วยว่า ๔ ด้านนี้เกื้อกูลและอาศัยกันอย่างไรอีกที แยกแล้วต้องโยงด้วยทางด้านการพัฒนาจิตใจก็ต้องโยงว่า เมื่อพัฒนาจิตใจดี ก็ส่งผลดีออกมาต่อร่างกาย เช่น ใจไม่โกรธไม่เครียด ช่วยให้มีสุขภาพดีและมีผลในการสัมพันธ์หรือในการอยู่ร่วมสังคมด้วย ทําให้การสัมพันธ์กับโลก และสภาพแวดล้อมภายนอกพลอยดีไปด้วย และการพัฒนาจิตใจนั้น เช่น เมื่อมีสมาธิ ใจไม่ว้าวุ่นสับสน ก็เป็นฐานให้แก่การพัฒนาปัญญาต่อไป 

เมื่อพัฒนาปัญญาดีแล้ว ก็ทําให้จิตใจเป็นอิสระ เพราะรู้ว่าจะทําจะปฏิบัติต่ออะไรอย่างไร แก้ไขข้อติดขัดขจัดปัญหา หายอึดอัดหลุดโล่งไปได้ ตลอดจนรู้เท่าทันชีวิตและโลกตามเป็นจริงรู้เท่าทันเหตุปัจจัย มีอะไรเกิดขึ้นก็รู้จักมองตามเหตุปัจจัย ก็ไม่มีอะไร มาบีบคั้นตัว อย่างน้อยก็ไม่ค่อยมีการกระทบกระแทก เพราะทําตามปัญญา ไม่ใช่ทําตามใจอยาก     

การพัฒนาปัญญาตามหลักพระพุทธ-ศาสนานี้ จะใช้คําว่า intellectual ก็ไม่ค่อยตรงเพราะคําว่า intellectual เน้นไปที่ความคิดเหตุผลซึ่งเป็นเพียงขั้นหนึ่งหรือด้านหนึ่งของปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา มีอยู่หลายขั้น เริ่มตั้งแต่การรู้จักรับ รู้ประสบการณ์ให้ตรงตามเป็นจริง การคิดตามเป็นจริง โดยไม่ถูกครอบงําด้วยอคติ หรือโลภะ โทสะ โมหะ จนถึงความรู้ความเข้าใจโลกและชีวิตตามเป็นจริง ที่ทําให้มีจิตใจเป็นอิสระ ด้วยเหตุนี้ ปัญญาภาวนาอาจจะต้องใช้คําว่า wisdom development       

ภาวนา ๔ นี้เป็นหลักสําคัญอีกชุดหนึ่ง โดยสรุปแล้ว ภาวนาหรือพัฒนาแสดงถึงหนทางในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล เมื่อพูดแยกเป็นแง่ ด้านต่างๆแล้ว ก็ต้องเอามาโยงเข้าด้วยกันให้เป็นภาพรวมอันหนึ่งอันเดียว กันอีกที

@@@@@@@

๓.๒ เป้าหมายของการพัฒนาสู้จุดหมายของชีวิต

จุดหมายในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ถือเป็นจุดหมายของการศึกษา ซึ่งกล่าวให้ง่าย จุดหมายนั้นก็คือ การพัฒนาตนของแต่ละคนให้เข้าถึง อัตถะ(เรื่องอัตถะ คือ จุดหมายของชีวิต ๓ ขั้น พึงดูในหนังสือวินัยชาวพุทธ หน้า ๙–๑๐ หรือ ธรรมนูญชีวิต หน้า ๘–๙) คือ เข้าถึงจุดมุ่งหมายของชีวิตในระดับต่างๆกัน คือ

    ๑. ขั้นชีวิตระดับรูปธรรม หรือชีวิตด้านนอก ซึ่งเกี่ยวข้องกับสิ่งที่ตามองเห็น เช่น ให้พึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ ให้พึ่งตนได้ในทางสังคม โดยอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ดี มีความเจริญก้าวหน้าในสังคม มีฐานะตําแหน่งเป็นที่ยอมรับนับถือ เป็นต้น ซึ่งเป็นขั้นเรียกว่า ทิฏฐธัมมิกัตถะ คือ ประโยชน์ที่ตามองเห็น อันเป็นประโยชน์ในขั้นของจุดหมายสามัญ เป็นอิสรภาพของชีวิตด้านนอก หรืออิสรภาพทางกายภาพและทางสังคม ขั้นนี้แม้จะสําคัญแต่ไม่เพียงพอ ถ้ามีได้เพียงขั้นนี้ไม่มีขั้นที่ ๒. จะไม่ปลอดภัย     

    ๒. ขั้นเข้าถึงจุดหมายในทางชีวิตจิตใจที่ลึกซึ้งลงไป คือ มีจิตใจที่ดีงาม เชื่อมั่นในความดีและการกระทําสิ่งที่ถูกต้องดีงาม มีคุณธรรมและรู้จักเสียสละสร้างสรรค์ทําประโยชน์ต่างๆ มีปัญญากอปรด้วยวิจารณญาณ ซึ่งทําให้เกิดความมั่นใจและความสุขในบุญกุศล หรือการมีชีวิตที่มีคุณค่า ซึ่งเป็นขั้นที่เรียกว่า "สัมปรายิกัตถะ" คือ ประโยชน์ที่ลํ้าเลยจากการที่ตามองเห็น เป็นอิสรภาพของชีวิตด้านใน ที่ปลอดพ้นจากความชั่วร้ายตกตํ่า และความทุกข์ที่ร้ายแรงขั้นที่เรียกว่า ตกอบาย       

    ๓. ขั้นสุดท้ายคือ ปรมัตถะ ความหมายคือ ประโยชน์สูงสุด คือถึงขั้นที่มีจิตใจเป็นอิสระด้วยปัญญาที่รู้ความจริง อย่างที่เรียกว่ารู้แจ้งสังขารหรือรู้เท่าทันโลกและชีวิต ไม่ตกเป็นทาสของสิ่งทั้งหลาย ไม่หวั่นไหวตามความเป็นไปภายนอก เป็นภาวะเต็มอิ่มสัมบูรณ์ ซึ่งมีแต่ความสุขที่โปร่งเบา ไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพขั้นสูงสุดหรือขั้นสุดท้าย ที่ความเป็นอิสระของชีวิตจิตใจถึงขั้นเป็นภาวะเด็ดขาดสิ้นเชิง เพราะปัญญากําจัดเหตุปัจจัยแห่งความติดข้องของจิตหมดสิ้นแล้ว

แม้แต่ความสุขก็แบ่งได้เป็นหลายประเภทหลายระดับ เช่น ที่แบ่งอย่างง่ายๆว่า ความสุขของมนุษย์แยกออกเป็น ๒ แบบ คือ
      ๑) สามิสสุข ความสุขที่อาศัยอามิส และ 
      ๒) นิรามิสสุข ความสุขที่ไม่อาศัยอามิส       

สําหรับคนธรรมดาทั่วๆไปที่ยังมีจิตใจไม่เป็นอิสระ ไม่ถึงปรมัตถ์ ก็ต้องอาศัยสิ่งภายนอกมาเป็นปัจจัยช่วยให้ได้รับความสุข ความสุขของเขาขึ้นต่อวัตถุ ต้องอาศัยสิ่งบํารุงบําเรอ หรือแหล่งความสุขจากภายนอก ถ้าไม่มีอะไรภายนอกมาช่วยให้ได้เสพได้บริโภค เป็นต้น ก็เป็นทุกข์ ไม่สบาย ไร้ความสุข อย่างนี้เรียกว่ามีแต่ สามิสสุข กล่าวคือ ความสุขที่ยังพึ่งพาวัตถุ แต่ถ้าได้พัฒนาตนขึ้นไปถึงปรมัตถ์แล้ว หรือแม้แต่ในแนวทางของปรมัตถ์ ก็จะมีนิรามิสสุข สุขที่ไม่ต้องอิงอาศัยอามิส ไม่ต้องขึ้นต่อสิ่งภายนอก มีความสุขได้โดยลําพังตัว เป็นตัวของตัวเอง เป็นความสุขแบบอิสระ เป็นการพึ่งตัวเองได้ด้วยความมีอิสรภาพทางจิต ทางปัญญา การพึ่งตนได้ ก็มีหลายขั้นเป็นระดับๆ ขึ้นมา

เริ่มแต่พึ่งตนได้ทางรูปธรรม ไม่ต้องขึ้นต่อผู้อื่นในด้านวัตถุภายนอก ในทางสังคม ในทางจิตใจจนถึงพึ่งตนเองได้ในทางปัญญา จึงเข้าถึงอิสรภาพอย่างแท้จริง 

กล่าวโดยสรุป การพึ่งตนได้ ก็คือ อิสรภาพในระดับต่างๆ จนถึงอิสรภาพสูงสุด ทั้งหมดนี้จึงกลับเข้าสู่หลักข้างต้น  ที่ว่า 
    ๑) รู้ความจริงของสิ่งทั้งหลาย เข้าถึงสัจธรรม
    ๒) จึงดําเนินชีวิต หรือปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายได้สอดคล้องกับหลักความจริง เป็นผู้มีจริยธรรม
    ๓) จึงสามารถแก้ปัญหาได้สําเร็จ ไร้ทุกข์ เกิดมีอิสรภาพ





๔. ยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตามแนวพุทธศาสตร์ ๔ มิติ

"การพัฒนา" พระพุทธศาสนา เรียกว่า ภาวนา หมายถึง กระบวนการสร้างหรือทําให้เกิดให้มีขึ้น ส่วนบุคคลหรือทรัพยากรมนุษย์ที่ผ่านการขัดเกลาพัฒนา และตามกระบวนการแล้วเรียกว่า "ภาวิตา" หมายถึงถูกพัฒนาแล้วโดยใช้เครื่องมือและกลไก หลักการ ที่จัดเป็นยุทธวิธีตามแนวพุทธศาสตร์ คือ มีคุณสมบัติและมีวัตถุประสงค์ (Objective) และเป้าหมาย (Goal) ตามรูปแบบ (Pattern) ยุทธศาสตร์ตามแนวพุทธศาสตร์ กําหนดไว้ ๔ มิติ คือ
     
@@@@@@@

๔.๑ กายภาวนา หมายถึง การพัฒนากาย ฝึกอบรมกาย ให้รู้จักติดต่อสัมพันธ์กับโลกภายนอกทั้งด้านกายภาพและชีวภาพด้วยดีมิให้เกิดโทษ มีประโยชน์แก่ตนเองและสังคม บําเพ็ญตนให้เกิดประโยชน์ มิให้อกุศลเกิด ปัจเจกบุคคลต้องรู้จักเลือกเสพ บริโภคสิ่งที่เป็นประโยชน์ มีคุณค่างแก่ร่างกายแก่ตนเอง รับเอาปัจจัยที่ส่งเสริมความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ทําอะไรที่เป็นการหักโหมจนเกินไป รู้จักพักผ่อนให้เพียงพอแก่สุขภาพร่างกาย ออกกําลังกายแต่พอควร และใช้ชีวิตด้วยการมีสติ อย่าประมาท

การกําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศด้านคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชน มีนัยตามนี้ จึงกําหนดนโยบายเร่งด้วนออกมา ได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี จากหลากหลายทัศนะมุมมอง อันเนื่องมาจากผลกระทบด้านบวกต่อประชาชนในระดับรากหญ้า รัฐจึงใช้ยุทธวิธีทั้งในเชิงรุก คือ การสร้างกระแสตื่นตัวในการส่งเสริมให้ประชาชนได้ออกกําลังกายในรูปแบบต่างๆ โดยใช้ทรัพยากรภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น การออกกําลังประกอบเพลงดนตรีท้องถิ่นของแต่ละภาค เป็นต้น เพื่อสร้างสุขอนามัยที่ดี

ยุทธวิธีในเชิงรับ คือ การดูแลรักษาผู้ที่มีโรคภัย หรือไม่สบาย ดูแลรักษาอย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐานระดับหนึ่ง เป็นการให้โอกาสกับประชาชนได้เข้าบริการของรัฐตามสิทธิอันชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา ๕๒ มีเป้าหมายทางสังคม คือ การมีสุขภาพชีวิตที่ของประชาชน การพัฒนาด้านกายตามแนวพุทธศาสตร์จึงเป็นการกําหนดทำาทีและทิศทางอันเหมาะสมกับตนเอง   
   

@@@@@@@

๔.๒ ศีลภาวนา คือ การพัฒนาพฤติกรรมของปัจเจกบุคคล  ให้ถูกต้องสอดคล้องกับระเบียบวินัย  กฎเกณฑ์ กติกาของสังคม ตลอดถึงขนบธรรมเนียม จารีตวิถี และมารยาทสากลนิยม มีจรรยาบรรณในวิชาชีพ ประกอบอาชีพที่สุจริต ใช้ชีวิตถูกต้อง และขยันหมั่นเพียรสร้างผลผลิต (product) ให้เพิ่มขึ้นโดยสุจริตในการประกอบอาชีพ (อุฏฐานสัมปทา) รู้จักฉลาดอดออม (save) ทรัพย์สินที่หามาได้ ด้วยมาตรการต่างๆ (อารักขสัมปทา) เข้าสู่ระบบการออมของนโยบายรัฐ

สังคมไม่มีสันติสุข ขาดความสมดุลยภาพเพราะปัจเจกบุคคลบกพร่องในจริยธรรม คุณธรรม ที่ได้ชื่อว่าศีลนี้เอง  โดยเฉพาะศีล ๕ ซึ่งเป็นศีลขั้นต้น นับเป็นหลักสากลในการสร้างบรรทัดฐานทางสังคม ทั้งมิติของคําพูดการกระทํา และการเลี้ยงชีพ       

ผลกระทบต่อสังคม อันเนื่องมาจากการย่อหย่อนหรือความบกพร่องทางคุณธรรม คือ ความเสียหายต่อสังคม ประเทศชาติ ความเชื่อมั่นต่อประเทศลดลง การพัฒนาไม่ประสบผลสําเร็จเพราะกระบวนการที่ถูกต้อง สังคมจึงไม่ปกติสุข มีปัญหา อันเป็นผลมาจากการทุจริตทั้งสามมิติ คือพูด พฤติกรรม และการอาชีพการทุจริต หรือคอรัปชั่น มีสมุฏฐานมาจากการบกพร่องทางศีลธรรม จึงมีปรากฏทุจริตเชิงนโยบายอันแยบยลออกมา องค์กรอิสระที่เราตั้งขึ้นมาเพื่อดูแลด้านนี้โดยเฉพาะ ถูกต้องคาดหวังเอาไว้สูงมาก เพราะเราได้สูญเสียโอกาส สิทธิอันพึงมีพึงได้     

ดังปรากฏในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๙ (๒๕๔๔-๒๕๔๙) จึงได้กําหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาด้านการบริหารจัดการที่ (Good governance) เป็นยุทธศาสตร์ที่สําคัญในการผลักดันยุทธศาสตร์ให้ขับเคลื่อนไปด้วยดี และให้ความสําคัญกับ การปรับระบบบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ (Sufficiency) และโปร่งใส (Transparent) การป้องกันและการทุจริตประพฤติมิชอบ       

@@@@@@@

๔.๓ จิตตภาวนา การพัฒนาจิต ฝึกอบรมจิต ข่มอารมณ์ความรู้สึกได้ มีความเจริญงอกงามทางอารมณ์ (Emotional  growth) จิตที่ฝึกอารมณ์ดีแล้วนําความสุขมาให้ จิตที่มีคุณภาพประกอบด้วยคุณธรรมตามหลักศาสนา มีสมาธิ มีสติมั่นคง ใช้งานได้ดี เป็นสุขผ่องใส เป็นต้น     

การพัฒนาจิตเป็นเรื่องของคุณธรรม ความรู้สึก แรงจูงใจ สภาพจิตใจ และเป็นนามธรรม คนเข้าใจยาก ไม่ให้ความสนใจเท่าที่ควร เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เมื่อสังคมเผชิญกับภาวะวิกฤต ก็เอาตัวไม่รอด มีการฆ่าตัวตาย เพราะภูมิคุ้มกันทางจิตไม่ดี สุขภาพจิตเปราะบาง เมื่อประสบเหตุการณ์เข้า ทนไม่ได้ หาทางออกไม่ได้ ฆ่าตัวตาย ถ้าผ่านกระบวนการฝึกอบรมจิต ปัญหาเหล่านี้จะไม่เกิด ไม่ส่งผลกระทบกับสังคม       

ข้อเสนอในประเด็นนี้ คือ สร้างจิตสํานึกด้านคุณธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา ส่งเสริมให้มีการศึกษาองค์ความรู้ของศาสนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพราะพุทธศาสตร์เป็นวิทยาศาสตร์ทางจิตอยู่แล้ว ให้เวลากับการสํารวจดูตัวเองอย่างมีวิจารณญาณ ใช้ปัญญาให้มากอย่าให้อารมณ์อยู์เหนือเหตุผล ถึงแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ถ้าตั้งใจแน่วแน่ใช้เวลาในการศึกษา รู้ทันตัวเอง มีสติกํากับอยู่ทุกขณะ     

สร้างกระบวนการในการบริหารงานด้านส่งเสริมคุณภาพจิตใจของประชาชน โดยการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมให้กับหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเผยแผ่องค์ความรู้ด้านศาสนธรรมแก่ประชาชน และหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านสุขภาพจิต ปรับปรุงกระบวนการทํางานให้ทันเหตุการณ์ ศึกษาวิเคราะห์แนวทางต่างๆ อย่างเป็นระบบ ในรูปเครือข่ายงานสร้างคุณภาพจิตของประชาชน     

วิธีการในการพัฒนาคุณภาพจิตของพุทธศาสนา มีให้เลือกและสามารถนํามาใช้กับพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลอย่างเหมาะสมหลายประการ แต่ละอย่างมีผลสะท้อนกลับมายังผู้ปฏิบัติมากน้อยตามกําลังความสามารถของแต่ละคน โดยไม่ต้องเข้าศึกษาหรือบวชเรียนตามสํานักต่างๆ เพียงแต่มีศูนย์ดูแลมีบุคลากรผู้ประสบการณ์ เชี่ยวชาญเข้าใจในวิธีบริการดีต่อผู้อื่น     

ในกระแสโลกาภิวัตน์สิ่งที่มาคู่กัน คือ กระแสวัตถุนิยมในระบอบประชาธิปไตยคนที่จะยืนหยัดสู้ได้ จิตใจต้องเข้มแข็ง ชีวิตจึงไม่ตกเป็นทาส หรือเหยื่อของกระแส ไม่ต้องไปมองไกลถึงขนาดที่จะช่วยสังคมองค์รวมให้พ้นปัญหาสาธารณะ ขอเพียงให้แต่ละคนช่วยตนเองให้ได้ ก็เป็นปัญหาที่หนักหนาพอสมควร พุทธศาสตร์สร้างความเข้มแข็งด้านสุขภาพจิต จึงเป็นเรื่องของจิตตภาวนาโดยตรง       


@@@@@@@

๔.๔ ปัญญาภาวนา พัฒนาปัญญา การฝึกอมรมปัญญา ให้รู้เข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง รู้เท่าทันเข้าใจโลกและชีวิตตามสภาวะ เป็นการไตร่ตรองวินิจฉัยเหตุการณ์ตามความเป็นจริง เป็นอิสระ ไม่ตามกิเลส รู้และเข้าใจอะไรตามความเป็นจริง

ข้อเสนอในประเด็นนี้ หลักการหรือแนวทางการพัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา ที่จะนําไปกําหนดเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรบุคคล จะต้องมีปัญญากํากับเสมอ ปัญญาเป็นคุณธรรมสําคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยเป็นแสงสว่างส่องทางแห่งชีวิต ช่วยคุ้มครอง หรือปกครองคนและข้อสําคัญ ช่วยให้พ้นทุกข์ หรือให้หาความสุขได้ในท่ามกลางความทุกข์ การเผชิญปัญหาชีวิตโดยปราศจากปีญญา เปรียบเหมือนการเดินคลําไปในที่มืด อาจตกหลุมตกบ่อ หรือที่รกชัฏก็ได้

หลักการหรือแนวทางการพัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา ให้ความสําคัญกับปัญญาอย่างยิ่ง และปัญญานั้นต้องเป็นสัมมาปัญญา คือปัญญาที่ถูกต้อง ปัญญาเกิดจากการประกอบความเพียร ฝึกฝน มิใช่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญ เพราะปัญญาที่เกิดขึ้นเองโดยบังเอิญไม่สามารถที่จะเป็นปัญญาขั้นสูงสุด ประเภทของปัญญาจึงมีหลายอย่าง แต่ปัญญาที่จะกําหนดให้เป็นยุทธศาสตร์ได้ ขอเสนอในที่นี้ คือ       

    ๑) จินตามยปัญญา ปัญญาชนิดนี้เกิดจากการจินตนาการ หรือคิดพิเคราะห์ใคร่ครวญด้วยวิจารณญาณ
    ๒) สุตามยปัญญา ปัญญาประเภทนี้เกิดจากการศึกษา ฟังจากท่านผู้รู้ อบรมสัมมนา ฟังจากสื่ออื่นๆ     
    ๓) ภาวนาปัญญา เกิดจากการพัฒนาโดยกระบวนการต่างๆ การพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีภูมิรู้

ปัญญามีขีดความสามารถ แข็งแกร่งทางด้านวิชาการ มีคุณภาพชีวิตที่ดีประกอบอาชีพด้วยวิชาการและทักษะชั้นสูง จําเป็นที่จะต้องกําหนดยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาปัญญาของมวลชน

เป้าหมายสูงสุดของยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ตามแนวพุทธศาสตร์ คือ การพัฒนาให้เกิดปัญญา ซึ่งมีวิธีการเพื่อส่งผลให้บรรลุถึงจุดหมายสูงสุด ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา คือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งปวง     

การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็คือ การพัฒนาคุณภาพชีวิตของปัจเจกบุคคลให้ดีขึ้นในทุกด้าน ทั้งมิติร่างกาย  อารมณ์ สังคมและวิญญาณ ซึ่งแต่ละตัวมีเครื่องชี้วัดคุณภาพ (Indicator) แตกต่างกันไป การสร้างยุทธศาสตร์พัฒนาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการพัฒนา คือ เป้าหมายทางสังคมนั้น       

@@@@@@@

พัฒนาตามแนวทางของพุทธศาสนา มีหลักการที่เป็นองค์ความรู้ที่จะกําหนดเป็นยุทธวิธีในการพัฒนาไว้อย่างเด่นชัด สามารถที่จะเลือกใช้ได้ตามกลุ่มเป้าหมาย หรือปัจเจกบุคคลที่จะพัฒนา เป็นวิธีการ (ploy) ของการพัฒนาที่ส่งผลต่อการดําเนินงานยุทธศาสตร์ ซึ่งจะต้องวางตําแหน่ง (position) กลุ่มเป้าหมายที่จะพัฒนา ตามลําดับของความแตกต่างทางด้านความสามารถทางสติปัญญา (Intelligence) เช่น 
    ๑) ผู้ที่มีสติปัญญา (IQ) สูง การรับรู้ เข้าใจได้เร็วเรียกว่า อุคฆฏิตัญญู
    ๒) ผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดรองลงมา เรียกว่า วิปจิตัญญู
    ๓) ผู้มีสติปัญญาปานกลาง เนยยะ
    ๔) ผู้อับเฉาปัญญา หรือขั้นปัญญาอ่อน เรียกว่า ปทปรมะ 

สําหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ในมิติของระดับสติปัญญา ได้กําหนดยุทธวิธีหรือหลักการที่เป็นแนวทางสําหรับปฏิบัติให้เหมาะสมแตกต่างออกไปมีเป้าหมายอยู่ที่ เข้าใจอย่างถูกต้อง เหมาะสําหรับการพัฒนาคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา     

การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายในการวางยุทธศาสตร์พัฒนา การกําหนดกลุ่มเป้าหมายมีความสําคัญเพื่อให้เกิดความชัดเจน ในการที่จะวางยุทธศาสตร์ไปอย่างมีทิศทาง ซึ่งจะส่งผลให้กับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทางสังคม(Social goal) คือ สมาชิกของสังคมทั้งหมดเกิดสันติสุข เป้าหมายทางเศรษฐกิจ (Economic goal)  คือ  ความมั่งคั่ง (Wealth) พร้อมทั้งเป้าหมายสูงสุดของชีวิต (Ultimate goal) คือ นิพพาน สภาวะที่เป็นสุขสูงสุดเพราะไร้ทุกข์ เป็นอิสรภาพที่สมบูรณ์     

ในมิติอื่นๆ พุทธศาสตร์มีมุมมองและวางเอาไว้อย่างครอบคลุมเกือบทุกสาขา โดยมี (Goal หรือ Purpose) แตกต่างกันไป ในที่นี้ไม่สามารถที่จะกล่าวถึงได้หมด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระเบียบวิธีศึกษาวิจัยและศักยภาพของแต่ละคนซึ่งไม่เหมือนกัน ยุทธศาสตร์จึงเป็นการนําองค์ความรู้อันหลากหลาย ของพุทธศาสนามาประกอบในการกําหนดโดยวางวิธีการหรือยุทธวิธีในหมวดองค์ความรู้ด้านนั้นๆ จึงจําเป็นอย่างยิ่งที่จะใช้สติปัญญาและความสนใจของผู้ศึกษาเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาต่อไป


อ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/view/211162/146299





ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความของ : ภาษิต สุขวรรณดี สาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา | bhasitsukhawandee@gmail.com
ที่มา : วารสารสิรินธรปริทรรศน์ , ปีที่ ๑๗ ,ฉบับที่ ๑ ,มกราคม-มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๙
website : https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jsrc/article/view/211162/146299
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: เมษายน 03, 2024, 10:42:03 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ