ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กายานคร ชีวิตเปรียบดั่งนครใหญ่  (อ่าน 3298 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
กายานคร ชีวิตเปรียบดั่งนครใหญ่
« เมื่อ: มกราคม 09, 2012, 12:26:32 pm »
0


ชีวิตกับนครใหญ่

ปัญหา จงเปรียบเทียบให้เห็นว่าชีวิตคล้าย ๆ กับเมืองเมืองหนึ่ง ?

พุทธดำรัสตอบ
       “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เหมือนอย่างว่า เมืองชายแดนของพระราชาเป็นเมืองที่มั่นคง มีกำแพงและเชิงเทิน มีประตู ๖ ประตู นายประตูเมืองนั้น เป็นคนฉลาดหลักแหลมมีปัญญา คอยห้ามคนที่ตนไม่รู้จัก อนุญาตให้คนที่ตนรู้จักเข้าไป

       ราชทูตด่วนคู่หนึ่งมาแต่ทิศบูรพา มาแต่ทิศปัจฉิม มาแต่ทิศอุดร มาแต่ทิศทักษิณ ถึงถามนายประตูนั้นว่า
       แน่ะบุรุษผู้เจริญ เจ้าเมืองนี้อยู่ที่ไหน
       นายประตูนั้นตอบว่า แน่ะท่านผู้เจริญ นั่นเจ้าเมืองนั่งอยู่ ณ ทาง ๔ แพร่ง กลางเมือง ที่นั้นราชทูตคู่นั้นมอบถ้อยคำตามเป็นจริงแก่เจ้าเมือง ถึงดำเนินกลับไปตามทางที่มาแล้ว


       “ดูก่อนภิกษุ ก็ในอุปมานั้น มีความหมายดังต่อไปนี้ว่า
       เมือง หมายถึง กายนี้ ที่ประกอบด้วยมหาภูรูป ๔ ซึ่งมีมารดาและบิดาเป็นแดนเกิด เจริญด้วยขาวสุกและนมสด มีอันต้องอบต้องนวดฟั้นเป็นนิตย์ มีอันทำลายและกระจัดกระจายเป็นธรรมดา
       คำว่าประตู ๖ ประตู เป็นชื่อของอายตนะภายใน ๖
       คำว่า นายประตู หมายถึง สติ
       คำว่าคู่ราชทูตด่วน หมายถึง สมถะและวิปัสสนา
       คำว่าเจ้าเมือง เป็นชื่อของวิญญาณ
       คำว่าทาง ๔ แพร่งกลางเมือง หมายถึง มหาภูตรูป ๔ คือ ปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุวาโยธาตุ
       คำว่าถ้อยคำตามเป็นจริง หมายถึง นิพพาน
       คำว่า ตามทางที่มาแล้ว หมายถึง อริยมรรคมีองค์ ๘....”



อ้างอิง
กึสุกสูตร สฬา. สํ. (๓๔๒)
ตบ. ๑๘ : ๒๔๑-๒๔๒ ตท. ๑๘ : ๒๒๖-๒๒๗
http://www.84000.org/true/388.html

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๘  บรรทัดที่ ๕๑๘๙ - ๕๒๗๔.  หน้าที่  ๒๒๔ - ๒๒๗.
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka_item/v.php?B=18&A=5189&Z=5274&pagebreak=0
ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :- http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=339
ขอบคุณภาพจาก http://www.yokeedam.com/



อายตนะภายใน เครื่องต่อภายใน, เครื่องรับรู้มี ๖ คือ
       ๑. จักขุ ตา
       ๒. โสต หู
       ๓. ฆาน จมูก
       ๔. ชิวหา ลิ้น
       ๕. กาย กาย
       ๖. มโน ใจ;

       อินทรีย์ ๖ ก็เรียก


ที่มา พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต)
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: กายานคร ชีวิตเปรียบดั่งนครใหญ่
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: มกราคม 09, 2012, 12:43:27 pm »
0


อรรถกถา สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค สฬายตนสังยุตต์ อาสีวิสวรรคที่ ๔
๘. กึสุกสูตร

               อรรถกถากิงสุกสูตรที่ ๘               
               ในกิงสุกสูตรที่ ๘ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
               บทว่า ทสฺสนํ นั่นเป็นชื่อเรียก ปฐมมรรค (โสดาปัตติมรรค) เพราะว่า ปฐมมรรค (นั้น) ทำหน้าที่คือการละกิเลสได้สำเร็จ เห็นพระนิพพานเป็นครั้งแรก ฉะนั้นจึงเรียกว่า ทัสสนะ.
               ถึงแม้ว่า โคตรภูญาณจะเห็นพระนิพพานก่อนกว่ามรรคก็จริง ถึงกระนั้น ก็ไม่เรียกว่าทัสสนะ เพราะได้แต่เห็น แต่ไม่มีการละกิเลสอันเป็นกิจที่จะต้องทำ.


               อีกอย่างหนึ่ง มรรคทั้ง ๔ ก็ชื่อว่าทัสสนะเหมือนกัน
               เพราะฉะนั้น ภิกษุนั้นได้ฟังภิกษุทั้งหลายกล่าวอยู่อย่างนี้ว่า ในขณะแห่งโสดาปัตติมรรค ทัสสนะกำลังบริสุทธิ์ ในขณะแห่งผล (โสดาปัตติผล) บริสุทธิ์แล้ว ในขณะแห่งสกทาคามิมรรค อนาคามิมรรคและอรหัตตมรรค ทัสสนะกำลังบริสุทธิ์ ส่วนในขณะแห่งผลบริสุทธิ์แล้ว
               จึงคิดว่า ถึงเราก็จักชำระทัสสนะให้บริสุทธิ์ แล้วดำรงอยู่ในอรหัตตผล คือจักทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพานที่มีทัสสนะอันบริสุทธิ์อยู่ ดังนี้แล้ว เข้าไปหาภิกษุนั้น แล้วเริ่มถามอย่างนี้.


              ภิกษุนั้นบำเพ็ญกัมมัฏฐานมีผัสสายตนะเป็นอารมณ์ กำหนดรูปธรรมและอรูปธรรม ด้วยอำนาจผัสสายตนะ ๖ แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์.
               ก็ในอายตนะ ๖ นี้ อายตนะ ๕ ประการแรกจัดเป็นรูป มนายตนะจัดเป็นอรูป เพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้นจึงพูดถึงเฉพาะมรรคที่ตนบรรลุแล้ว. ฯลฯ


 
-----------------------------------------------------
   


ในสูตรนั้น มีข้ออุปมาเปรียบเทียบดังต่อไปนี้ :-

               ก็พระนคร คือ นิพพาน พึงเห็นเหมือนมหานครที่มั่งคั่ง. พระธรรมราชาสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้ประกอบด้วยโพชฌงค์รตนะ ๗ ประการ พึงเห็นเหมือนพระเจ้าจักรพรรดิผู้ประกอบด้วยรตนะ ๗ ประการ. นคร คือ กายของตน พึงเห็นเหมือนนครชายแดน.
               จิตตุปบาทที่โกงของภิกษุนี้ พึงเห็นเหมือนราชบุตรโกง (ทรราช). ในนครนั้น เวลาที่ภิกษุนี้พรั่งพร้อมด้วยนิวรณ์ ๕ พึงเห็นเหมือนเวลาที่ราชบุตร (ทรราช) อันเหล่านักเลงแวดล้อม.


               สมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน พึงเห็นเหมือนราชทูตเร็วทั้งคู่. เวลาที่จิตถูกสมาธิในปฐมฌานเกิดขึ้น ตรึงไว้มิให้หวั่นไหว พึงเห็นเหมือนเวลาที่ราชบุตรทรราชถูกทหารใหญ่จับพระเศียร. ภาวะที่เมื่อปฐมฌานพอเกิดขึ้นแล้ว นิวรณ์ ๕ ก็อยู่ห่างไกล พึงเห็นเหมือนภาวะที่เมื่อราชบุตรทรราช พอถูกทหารใหญ่จับพระเศียร. เหล่านักเลงทั้งหลายก็หนีกระจัดกระจายไปไกลคนละทิศละทาง. เวลาที่ภิกษุนั้นออกจากฌาน พึงเห็นเหมือนเวลาที่ทหารใหญ่ พอราชบุตรทรราชรับรองว่าจักทำตามพระบรมราชโองการ ก็ปล่อยพระราชกุมาร.

               เวลาที่ภิกษุนั้นทำจิตให้ควรแก่การงาน ด้วยสมาธิแล้ว เจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน พึงเห็นเหมือนเวลาที่อำมาตย์ทูลให้ทราบกระแสพระบรมราชโองการ (แก่ราชบุตร)
               การที่ภิกษุผู้อาศัยสมถกัมมัฏฐานและวิปัสสนากัมมัฏฐาน แล้วสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ยกเศวตฉัตรคือวิมุตติขึ้น พึงทราบเหมือนการที่ราชบุตรนั้น อันราชทูตทั้งคู่นั้นทำการอภิเษก แล้วยกเศวตฉัตรขึ้นถวายในเมืองนั้นนั่นแล.
 


               ส่วนเนื้อความของบททั้งหลายมีอาทิว่า จาตุมฺมหาภูติกสฺส ในคำมีอาทิว่า นครนฺติ โข ภิกฺขุ อิมสฺเสตํ จาตุมฺมหาภูติกสฺส กายสฺส อธิวจนํ ได้อธิบายไว้อย่างพิสดารแล้วในตอนต้น.
               ก็ในสูตรนี้ กายพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกว่า นคร เพราะเป็นที่ประทับอยู่ของราชบุตร คือวิญญาณอย่างเดียว.
               อายตนะ ๖ ตรัสเรียกว่า ทวาร เพราะเป็นประตู (ทางออก) ของราชบุตร คือวิญญาณนั้นนั่นแล.
               สติ ตรัสเรียกว่า นายทวารบาล (คนเฝ้าประตู) เพราะเฝ้าประจำอยู่ในทวารทั้ง ๖ นั้น.
               ในบทนี้ว่า สมถะและวิปัสสนา เป็น ราชทูตด่วน สมถะพึงทราบว่าเหมือนทหารใหญ่ วิปัสสนาพึงทราบว่าเหมือนอำมาตย์ผู้ประกอบด้วยความเป็นบัณฑิต เพราะถูกพระธรรมราชาผู้ตรัสบอกกัมมัฏฐาน ทรงส่งไปแล้ว.


               บทว่า มชฺเฌ สึฆาฏโก ความว่า ทางสามแยกกลางนคร.
               บทว่า มหาภูตานํ ได้แก่ มหาภูตรูปอันเป็นที่อาศัยของหทยวัตถุ. อธิบายว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศัพท์ว่า มหาภูตรูป ๔ ไว้ก็เพื่อแสดง (นิสสย) ปัจจัยของวัตถุรูปนั่นเอง.
               พระราชบุตรคือวิปัสสนาจิต ประทับนั่งอยู่ที่ทางสามแยกคือหทยรูปในท่ามกลาง (นครคือ) กาย อันเหล่าราชทูต คือสมถะและวิปัสสนา พึงอภิเษกต้องการอภิเษกเป็นพระอรหันต์ พึงเห็นเหมือนพระราชกุมารนั้น (ประทับนั่ง) อยู่กลางนคร.


ส่วนพระนิพพานตรัสเรียกว่า ยถาภูตพจน์ เพราะขยายสภาพตามเป็นจริง มิได้หวั่นไหว.
               ก็อริยมรรค ตรัสเรียกว่า ยถาคตมรรค เพราะอธิบายว่า วิปัสสนามรรคแม้นี้ก็เป็นเช่นกับวิปัสสนามรรค อันเป็นส่วนเบื้องต้นนั่นเอง เพราะประกอบดีแล้ว ด้วยองค์ ๘.


         
               ข้อเปรียบเทียบ (ดังจะกล่าวต่อไปนี้) เป็นข้อเปรียบเทียบ ในฝ่ายที่นำมาเพื่อทำความนั้นเองให้ปรากฏชัด.
               อธิบายว่า ในสูตรนี้ อุปมาด้วยทวาร ๖ (พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยก) มาเพื่อแสดงถึงพระขีณาสพผู้บรรลุทัสสนวิสุทธิ ด้วยอำนาจผัสสายตนะ ๖.
               อุปมาด้วยเจ้านคร (พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยก) มาเพื่อแสดงถึงพระขีณาสพผู้บรรลุทัสสนวิสุทธิ ด้วยอำนาจเบญจขันธ์
               อุปมาด้วยทางสามแยก (พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงยก) มาเพื่อแสดงถึงพระขีณาสพผู้บรรลุทัสสนวิสุทธิ ด้วยอำนาจเตภูมิกธรรม.


               แต่ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสสัจจะทั้ง ๔ นั่นแหละไว้โดยย่อ.
               แท้จริง ทุกขสัจนั่นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้แล้วด้วยองค์ประกอบของเมืองทั้งหมด. นิโรธสัจ ตรัสไว้แล้วด้วยยถาภูตวจนะ. มัคคสัจ ตรัสไว้แล้วด้วยยถาคตมรรค. ส่วนตัณหาที่เป็นเหตุให้ทุกข์เกิด คือสมุทยสัจ.
               ในเวลาจบพระธรรมเทศนา ภิกษุผู้ถามปัญหาได้ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผลแล.


               จบอรรถกถากิงสุกสูตรที่ ๘ 


ที่มา  http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=18&i=339   
ขอบคุณภาพจาก http://www.larnbuddhism.com/     
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

นิรตา ป้อมนาวิน

  • ศิษย์ตรง
  • โยคาวจรผล
  • *****
  • ผลบุญ: +20/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • เพศ: หญิง
  • กระทู้: 1212
  • อย่างน้อยชาตินี้ขอปิดอบายภูมิ
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
    • เว็บไซต์
Re: กายานคร ชีวิตเปรียบดั่งนครใหญ่
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: มกราคม 09, 2012, 03:38:22 pm »
0
รูปภาพ การ์ตูนน่ารักดีค่ะ ขอบคุณค่ะ :c017: :c017:
บันทึกการเข้า
เว ทา สา กุ กุ สา ทา เว ทา ยะ สา ตะ ตะ สา ยะ ทา สา สา ทิ กุ กุ ทิ สา สา กุ ตะ กุ ภู ภู กุ ตะ กุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ตำนาน_แห่ง_กายานคร
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: มกราคม 10, 2012, 02:12:33 pm »
0


ตำนานแห่งกายานคร

ในตำนานโบราณกาลนานมา ยังมี นครอันรุ่งเรืองนครหนึ่งมีนามว่า “ กายานคร” พระราชาผู้ซึ่งครองนครแห่งนี้มีนามว่า “ พระเจ้าอวิชชา” และพระมเหสีชื่อ “ พระนางโมหา” อยู่ต่อมาไม่นานก็มีพระราชธิดาด้วยกัน ๓ พระองค์ มีนามว่า พระนางตัณหา พระนางราคะ และ พระนางอรตี พระราชธิดาทั้ง ๓ เจริญวัยขึ้นก็ยิ่งมีรูปโฉมงดงามยิ่งนัก และยังมีความฉลาดในเล่ห์กลอุบาย ๑๐๘ มายา ๑๐๐๙ มากมายหาที่สิ้นสุดมิได้


  พระราชธิดาทั้ง ๓ พระองค์นี้ชอบการละเล่นอย่างหนึ่งมาก คือมักจะออกไปที่ตลาดชุมชนนอกวัง แล้วเล่นทายปัญหา โดยมีเดิมพันว่าใครตอบปัญหาได้ นางก็จะยอมตกเป็นภรรยาของคนผู้นั้น แต่ถ้าตอบไม่ได้คนนั้นก็ต้องตกเป็นนักโทษคอยรับใช้นาง พระราชธิดาทั้ง ๓ มักมาเล่นทายปัญหานี้อยู่เป็นประจำ และไม่เคยพ่ายแพ้แก่ผู้ใดเลย

  ห่างออกไปจาก กายานคร นี้ยังมีพระราชาอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า “ พระเจ้าเวทนา” ซึ่งมีความเกี่ยวพันธ์เป็นเครือญาติกัน คือ พระเจ้าเวทนานี้เป็นน้องของพระเจ้าอวิชชา พระเจ้าเวทนามีโอรสองค์หนึ่งมีพระนามว่า เจ้าชายจิตตราช บัดนี้เติบใหญ่ห้าวหาญ เรียนจบศิลปะศาสตร์ ทั้งพิชัยสงครามก็ชำนาญ ทรงรักการขี่ม้าอย่างยิ่ง



  วันหนึ่งจึงขออนุญาตพระราชบิดาขี่ม้าออกไปเที่ยวในป่านอกเมือง และในระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่นั้น บังเอิญเกิดพายุใหญ่มืดครึ้ม ฝนตกหนักอยู่หลายวัน ทำให้เจ้าชายจิตตราชหลงทางอยู่ในป่า จนกระทั่งพลัดมาถึง กายานครแห่งนี้

  วันนั้นเป็นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสหลังจากผ่านพายุฝนมาหลายวัน พระราชธิดาทั้ง ๓ องค์มิได้ออกมาเล่นทายปัญหาหลายวันเนื่องจากฝนตก จึงหงุดหงิดวันนี้จึงรีบเสด็จออกมาเล่นทายปัญหาแต่เช้า เจ้าชายจิตตราชได้เห็นพระราชธิดาทั้ง ๓ ก็ตกตลึงลุ่มหลงในความงามอันเย้ายวน เกิดปฏิพัทธ์อยากได้มาเป็นชายา จึงออกไปกลางสนามเพื่อขอตอบปัญหา โดยเริ่มจากนางตัณหาก่อน



ปัญหาของนางตัณหา
  อันธรรมดาอาหารทั้งหลายไม่ว่าจะมีรสอร่อยปานใด มนุษย์และสัตว์เมื่อทานอิ่มท้องแล้วก็ไม่สามรถทานต่อไปได้อีก แต่มีอาหารอยู่อย่างหนึ่งที่มนุษย์และสัตว์ทานเท่าไรก็หาอิ่มไม่ ยิ่งได้ทานมากเท่าไรก็ยิ่งหิวโหยหามากขึ้นเท่านั้น อยากทราบว่าอาหารนั้นคืออะไร


  เจ้าชายจิตตราช ขบคิดเท่าไรก็หาคำตอบไม่ได้ แม้ว่าจะได้ร่ำเรียนศิลปะศาสตร์นานา มาเจนจบแล้วก็ตาม จึงยอมจำนนต่อปัญหา ตกเป็นนักโทษของนางตัณหา แต่ก็ขอตอบปัญหาของนางราคะบ้าง โดยหวังว่า ถ้าตอบได้ ก็จะประกันตัวออกจากการเป็นนักโทษได้
 
ปัญหาของนางราคะ
  อันธรรมดาไฟย่อมร้อนและเผาไหม้ทุกอย่างให้มอดไหม้ไป มนุษย์และสัตว์ต่างถอยห่างจากกองไฟ แต่มีไฟอยู่กองหนึ่ง มนุษย์และสัตว์ต่างพากันยินดี แม้จะร้อนอย่างไรก็ยอมให้เผารนด้วยความกระหายพอใจ ทั้งนั่งและนอนบนกองไฟนั้น แม้นว่าจะสร้างความเร่าร้อนทุรนทุรายมากเพียงใดก็ตาม อยากทราบว่ากองไฟนั้นคืออะไร


  เจ้าชายจิตตราช ขบคิดเท่าไรก็หาคำตอบไม่ได้เช่นเดิม จึงยอมตกเป็นนักโทษของนางราคะ แต่ก็ขอตอบปัญหาของนางอรตีอีก โดยหวังจะประกันตัวออกจากการเป็นนักโทษให้ได้

ปัญหาของนางอรตี
  อันธรรมดาอำนาจของพระราชาย่อมเป็นอำนาจสูงสุด จะสั่งให้ผู้ใดทำอย่างไรก็ได้ แม้จะสั่งให้ผู้นั้นไปฆ่าตัวตายก็ย่อมได้ แต่ทว่าจักสั่งให้ผู้นั้นไปฆ่าภรรยาหรือฆ่าบุตรอันเป็นที่รักของตนเองนั้นนับเป็นเรื่องยาก หรือไม่สามารถสั่งได้เลย แต่ว่ามีอำนาจอย่างหนึ่งยิ่งใหญ่กว่า อำนาจนี้สามารถสั่งให้สามีฆ่าภรรยา หรือ ภรรยาฆ่าสามี หรือแม้แต่พ่อฆ่าลูก หรือ ลูกฆ่าพ่อได้อย่างง่ายดาย อยากทราบว่าอำนาจนั้นคืออะไร


  เจ้าชายจิตตราช ขบคิดเท่าไรก็หาคำตอบไม่ได้ ยอมจำนนต่อปัญหา ตกเป็นนักโทษของนางทั้ง ๓ นับจากนั้น

  ฝ่ายพระเจ้าเวทนา เมื่อไม่เห็นราชโอรสคือ เจ้าชายจิตตราช กลับมา ก็เที่ยวออกตามหาไปทั่วก็ไม่พบ จึงเดินทางมายังเมือง กายานคร เพื่อให้พระเจ้าอวิชชาช่วยตามหาอีกแรง พระเจ้าอวิชชาจึงให้ประกาศไปทั่วเมือง ก็ยังไม่มีใครหาพบ พระเจ้าเวทนาก็เศร้าเสียใจเป็นอย่างยิ่งที่หาลูกของตนไม่เจอ ทันใด...พระเจ้าอวิชชา ก็นึกได้ว่า พระธิดาทั้ง ๓ ของตนชอบเล่นทายปัญหา และได้นักโทษมามากมาย จึงให้คุมตัวบรรดานักโทษมาดู ก็พบ

  เจ้าชายจิตตราช อยู่ในนั้นด้วย พระเจ้าอวิชชาจึงให้ปล่อยตัว และ อภิเษกพระธิดาทั้ง ๓ ให้เป็นชายาตามที่เจ้าชายจิตตราช ปรารถนา ต่อมาเจ้าชายจิตตราช ก็ขึ้นครองราชย์สมบัติ ปกครอง กายานคร อย่างมีความสุข



  ยังมีพระราชาอีกองค์หนึ่ง มีนามว่า พญามัจจุราช ทรงมีอำมาตย์ใหญ่เป็นทหารเอกอยู่ ๓ คน มีนามว่า ชาติ (ออกเสียงว่า ชา-ติ)อำมาตย์ และ ชรา (ชะ-รา)อำมาตย์ และ พยาธิ (พยา-ธิ)อำมาตย์ ได้ยินกิตติศัพท์ความเจริญรุ่งเรืองและความอุดมสมบูรณ์ของเมือง กายานคร จึงอยากได้ครอง ก็ส่งทหารเอกทั้ง ๓ คือ ชาติ ชรา พยาธิ ไปตีเมือง กายานคร แห่งนั้น. เจ้าชายจิตตราช ได้ต่อสู้จนสุดความสามารถ แต่ก็มิอาจสู้กำลังของทหารเอกทั้ง ๓ ของพญามัจจุราชได้

  ในที่สุดเมือง กายานคร ก็แตกสลาย แล้วเจ้าชายจิตตราชก็ต้องพาชายาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคะ นางอรตี พร้อมด้วย พระเจ้าอวิชชา พระนางโมหา และ พระเจ้าเวทนา ติดตามไปแสวงหาดินแดนใหม่ แล้วสร้างเมือง กายานคร ขึ้นมาใหม่อีก

  เมื่อเจ้าชายจิตตราชปกครองเมืองให้มีความเจริญรุ่งเรือง พญามัจจุราช ก็ส่งทหารเอกทั้ง ๓ มาทำลายเมืองอีก วนเวียนกันอยู่แบบนี้เรื่อยมา เจ้าชายจิตตราชไม่อาจต่อสู้ทหารเอกของพญามัจจุราชได้เลยสักครั้งเดียว จนกระทั่งมาสร้าง กายานคร แห่งใหม่ เจ้าชายจิตตราช ไม่ต้องการประสบความพ่ายแพ้อีกแล้ว จึงปรึกษากับอำมาตย์ทั้งหลาย ปัญญะมหาอำมาตย์กราบทูลว่า ในที่ไม่ไกลจากที่นี้ มีพระฤาษีตนหนึ่งซึ่งมีนามว่า พระฤาษีลักษณาญาณ มีตบะแก่กล้า มีอิทธิฤทธิ์มาก ขอพระองค์ได้โปรดปรึกษากับท่าน พระฤาษีนั้นเถิด

   เจ้าชายจิตตราชจึงเดินทางไปหาพระฤาษีลักษณาญาณ พระฤาษีถวายคำตอบว่า ยังมีดินแดนอยู่แห่งหนึ่งที่ พญามัจจุราช ไม่สามารถไปถึงได้ มีชื่อว่า นิพพาลัย แต่มีแม่น้ำใหญ่สายหนึ่งกั้นขวางอยู่ เรียกว่า สงสารมหานที จักต้องข้ามแม่น้ำใหญ่นี้ไปให้ได้ และไม่สามารถพาผู้ใดติดตามด้วย ต้องทอดทิ้งชายาทั้ง ๓ คือ นางตัณหา นางราคะ นางอรตี พร้อมด้วย พระเจ้าอวิชชา พระนางโมหา รวมทั้ง พระเจ้าเวทนา ด้วย

  พระฤาษีลักษณาญาณ ได้มอบแก้วมณีอันวิเศษให้ ๕ ดวง สำหรับต่อสู้กับทหารเอกทั้งสามของ พญามัจจุราช คือ


  เจ้าชายจิตตราชรับแก้วมณีทั้ง ๕ดวง แล้วกราบลาพระฤาษีลักษณษญาณ กลับมายังกายานคร ครั้นต่อมาไม่นาน ทหารเอกทั้ง ๓ คือ ชาติ ชรา พยาธิ ก็ยกกำลังมาทำลายเมือง กายานครใหม่อีก เจ้าชายจิตตราชก็ออกจากเมืองทันที มุ่งหน้าไปยัง แม่น้ำสงสารมหานที โดยทอดทิ้งทุกอย่างไว้เบื้องหลัง ครั้นพอทหารเอกของพญามัจจุราชเข้ามาใกล้ เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงแรกคือ ศีลขันธมณี โยนไปในอากาศ ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นกำแพงขึ้นมาสกัดกั้นทหารเอกของพญามัจจุราช เจ้าชายจิตตราชรีบเดินทางต่อได้สัก ๑๐ โยชน์

  ทหารเอกของพญามัจจุราชก็ทำลายกำแพงได้แล้วตามมาทัน เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงที่สองคือ สมาธิขันธมณี โยนไปในอากาศ

  ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นกำแพงสูงใหญ่กว่าเก่าขึ้นมาสกัดกั้นทหารเอกของพญามัจจุราช เจ้าชายจิตตราชรีบเดินทางต่อได้สัก ๒๐ โยชน์ ทหารเอกของพญามัจจุราชก็ได้ทำลายกำแพงแล้วตามมาทันอีก เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงที่สามคือ ปัญญาขันธมณี โยนไปในอากาศ ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นกำแพงสูงใหญ่กว่าเดิมอีกขึ้นมาสกัดกั้นทหารเอกของพญามัจจุราช



เจ้าชายจิตตราชรีบเดินทางต่อได้สัก ๓๐ โยชน์ มาถึงฝั่งของแม่น้ำสงสารมหานที ขณะที่ทหารเอกของพญามัจจุราชจักตามมาทัน เจ้าชายจิตตราช ก็นำดวงแก้วดวงที่สี่ คือ วิมุตติขันธมณี โยนไปในน้ำ ทันใดนั้นแก้วมณีก็กลายเป็นแพลอยขึ้นมากลางน้ำ เจ้าชายจิตตราชลงแพลอยออกไปกลางแม่น้ำ ก็พบกับความมืดสนิทไม่รู้จักไปทิศทางใด จึงนำแก้วมณีดวงที่ห้า คือ วิมุตติญาณทัสสนขันธมณี ออกมา พลันแก้วมณีก็เปล่งแสงรัศมีสว่างไสว พร้อมกับส่งลำแสงนำทางไปสู่ดินแดนใหม่ที่มีชื่อว่า นิพพาลัย .......

  * เพิ่มเติมโครงสร้างภายในของกายานคร
     กายานครนี้มีโครงสร้างจากกระดูก (เปรียบเสมือนเหล็กเส้น)
     มีเส้นเอ็นร้อยรัดเอาไว้ไม่ให้หลุด (เปรียบเสมือนเส้นลวดที่ใช้ผูกเหล็ก)
     มีเนื้อห่อหุ้มไว้ (เปรียบเสมือนก่ออิฐเป็นหรือเทปูนหล่อเสา แต่ภายในเป็นโพรง)
     ใช้เลือดเป็นตัวประสานระหว่างเนื้อกับกระดูกให้ติดกัน (เปรียบเสมือนเอาน้ำผสมปูนตามสัดส่วน)
     แล้วใช้ผิวหนังเป็นเครื่องห่อหุ้มภายนอก และทาสีต่าง ๆ ให้สวยงาม (เปรียบเสมือนการฉาบปูนภายนอก แล้วทาด้วยสีต่าง ๆ ให้สวยงาม)*



ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก
http://www.larnbuddhism.com/praanon/08.html
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ