ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: หาชมยาก!! บุญข้าวหลาม-งานประจำปีช่วงสงกรานต์  (อ่าน 696 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28555
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0


หาชมยาก!! บุญข้าวหลาม-งานประจำปีช่วงสงกรานต์

ชาวบ้านร่วมทำบุญด้วยการเผาข้าวหลามขาย รายได้ทั้งหมดให้วัด ปฏิบัติติดต่อกันมา 12 ปี ในงานประจำปีช่วงเทศกาลสงกรานต์ เจ้าอาวาสเผยวัตถุดิบชาวบ้านถวายทั้งหมด แต่ละปีจะขายดีได้ปัจจัยเข้าทำนุบำรุงวัดเกือบ 2 แสนบาท ถือเป็นกิจกรรมทำบุญที่สร้างความสามัคคีในชุมชนได้เป็นอย่างดี

 วันที่ 13 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในงานประจำปีของวัดบ่อบุญ ต.ไร่สะท้อน อ.บ้านลาด จ.เพชรบุรี ที่ทุกๆปี จะจัดขึ้นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่จะจัดก่อนวันสงกรานต์เล็กน้อย ปีนี้ได้จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-10 เม.ย. ที่ผ่านมา นอกจากกิจกรรมทำบุญบริจาคทานและมีมหรสพต่างๆ ตามประเพณีนิยมทั่วไปแล้ว ที่วัดแห่งนี้มีอีกหนึ่งกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ นั่นก็คือการเผาข้าวหลามขายนำรายได้เข้าบำรุงวัด ถือเป็นการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่งของชาวบ้าน


 :96: :96: :96: :96:

 โดยเตาเผาข้าวหลามที่ถูกสร้างขึ้นเฉพาะแบบยกสูง ถูกวางเป็นแถวหน้ากุฏิทางขึ้นวัด มีชาวบ้านทั้งหญิงชายได้มาร่วมด้วยช่วยกันแบ่งแยกหน้าที่กันทำ เพื่อให้ได้ข้าวหลามที่อร่อย หอม หวาน อยู่ในกระบอกไม้ไผ่ขายให้กับประชาชนที่มาเที่ยวงานประจำปีของวัด นับเป็นภาพกิจกรรมทำบุญที่หาดูค่อนข้างยากในลักษณะนี้

 พระภัทรปุญญาคม เจ้าอาวาสวัดบ่อบุญ รักษาการเจ้าคณะตำบลบ้านทาน กล่าวว่า กิจกรรมการเผาข้าวหลามขายเป็นรายได้เข้าวัด ชาวบ้านได้ร่วมกันทำมาอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 12 แล้ว ใน 1 ปี จะมีเพียง 1 ครั้ง คือช่วงที่ทางวัดจัดงานทำบุญประจำปีซึ่งจะจัดช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่จะไม่ตรงกับวันสงกรานต์ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมกันทำบุญเพื่อบำรุงรักษาวัด สำหรับกิจกรรมเผาข้าวหลามเป็นกิจกรรมทำบุญของชาวบ้านอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำคู่กันมาตลอดตั้งแต่ทางวัดจัดงานทำบุญประจำปีขึ้น

 :49: :49: :49: :49:

วัตถุดิบที่ใช้ทำข้าวหลามทั้งหมดจะได้รับการบริจาคจากชาวบ้าน และชาวบ้านก็มาร่วมกันทำ ร่วมกันเผาข้าวหลามและร่วมกันขาย รสชาติก็ร่วมกันผสม ร่วมกันชิม จนได้รสชาติที่อร่อย มีการแบ่งหน้าที่กันทำ ตั้งแต่การไปตัดไม้ไผ่ ซึ่งก็ไม่ใช่ไม่ไผ่ที่ขึ้นในป่า แต่เป็นไม้ไผ่ที่ชาวบ้านปลูกไว้ในพื้นที่ของตัวเอง เพื่อให้ทางวัดได้ตัดนำมาเผาข้าวหลามในแต่ละปี เมื่อได้ไม้ไผ่มาแล้ว ก็จะมาช่วยกันตัดเป็นกระบอก ช่วยกันผสมวัตถุดิบตั้งแต่ข้าวเหนียว น้ำกะทิ ถั่วดำ เป็นต้น แล้วก็ช่วยกันนำใส่กระบอก นำไปเผา

 ชาวบ้านจำนวนมากจะสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาช่วย ถือเป็นกิจกรรมไฮไลต์ของงานประจำปีของวัดที่เกิดจากความคิดของชาวบ้าน ปีแรกทางวัดจะออกค่าใช้จ่ายด้านวัตถุดิบ แต่พอปีต่อๆมา จนถึงปัจจุบัน มีประชาชนได้นำวัตถุดิบมาร่วมบริจาคกันจำนวนมาก และมีการเผาข้าวหลามในปริมาณที่มากขึ้น เนื่องจากมีความต้องการของประชาชนที่มาร่วมงานมากขึ้น เพราะรสชาติข้าวหลามฝีมือของชาวบ้านก็ไม่แพ้รสชาติข้าวหลามทั่วไป วัตถุดิบทุกอย่างใส่เต็มที่ เพราะไม่ได้เน้นขายเพื่อกำไร แต่เน้นราคาถูก อร่อย ให้คนที่มาเที่ยวงานได้ซื้อกลับไปรับประทานกันได้ เพราะชาวบ้านทั่วไปจะเผาข้าวหลามกินเองก็ค่อนข้างลำบากเนื่องจากไม้ไผ่ที่จะเผาข้าวหลามหาซื้อยาก การเผาก็ไม่ได้ทำกันอย่างง่ายๆ ต้องคนที่มีความชำนาญ



 แต่ละปีงานประจำปีของวัด จะมีรายได้เฉพาะจากการขายข้าวหลามเกือบ 2 แสนบาท และยังมีรายได้จากกิจกรรมการกุศลอื่นๆ อีก ซึ่งรายได้ดังกล่าวทางวัดโดยคณะกรรมการวัดจะนำไปใช้บูรณะซ่อมแซม พัฒนาวัดอย่างต่อเนื่อง มีการจดบัญชีรายรับรายจ่ายอย่างละเอียด เพื่อให้ชาวบ้านที่ร่วมทำบุญกับวัดไม่ว่าจะด้วยวิธีใดสามารถตรวจสอบการใช้จ่ายของวัดได้อย่างชัดเจน

 กิจกรรมทำบุญด้วยการเผาข้าวหลามขายนำรายได้เข้าวัด ถือเป็นกิจกรรมค่อนข้างทำยาก ถ้าไม่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของชาวบ้านแล้ว ไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะมีหลายขั้นตอนกว่าจะได้ข้าวหลามขาย ต้องไปตัดไม้ นำไม้ไผ่มาตัดเป็นกระบอก นำข้าวเหนียวพร้อมน้ำกะทิ น้ำตาล ถั่ว ยัดใส่กระบอก และก็นำไปเผา เสร็จแล้วก็นำมาขัดเกลากระบอกเพื่อให้ดูสะอาด สุดท้ายนำมาขาย โดยเฉพาะขั้นตอนการเผาต้องเป็นคนที่มีความชำนาญและต้องอดทนจริงๆ เพราะต้องอยู่ท่ามกลางความร้อนและปริมาณข้าวหลามที่มาก หากคนเผาไม่อึดไม่ทนจริงๆรับรองทำไม่สำเร็จแน่


 st12 st12 st12 st12

 อย่างไรก็ตามยอมรับว่าชาวบ้านที่อยู่ใกล้วัดหลายหมู่บ้าน ต่างได้ให้ความร่วมมือร่วมใจเป็นอย่างดี จนกิจกรรมเผาข้าวหลามขายเป็นรายได้ของวัดอยู่คู่กับงานประจำปีของวัดมาอย่างต่อเนื่อง และจะมีต่อไป หากใครจะร่วมทำบุญกับวัด เมื่อซื้อข้าวหลามไปรับประทานก็ถือเป็นการร่วมทำบุญกับวัดแล้ว และหากจะร่วมกับชาวบ้านลองเผาข้าวหลามดู ก็มาทดลองทำกันได้ ในงานประจำปีของวัด ซึ่งจะจัดขึ้นในเดือนเมษายน ช่วงเทศกาลสงกรานต์ของทุกปี

 นายชัน รักมิตร อายุ 59 ปี อยู่หมู่ 19 ต.ไร่สะท้อน เผยว่า ชาวบ้านทำเพื่อพัฒนาวัด ชาวบ้านที่มาร่วมด้วยช่วยกันเผาข้าวหลามก็อาศัยอยู่ในพื้นที่ ต.ไร่สะท้อนและใกล้เคียง รวมถึงลูกศิษย์ของวัดที่เคยบวชเรียนที่วัดแห่งนี้ พอทางวัดได้จัดงานทำบุญประจำปีขึ้น ชาวบ้านก็จะมาร่วมด้วยช่วยวัดตลอดทุกปี ช่วยทุกอย่างรวมถึงการเผาข้าวหลามขายให้วัด ชาวบ้านทุกคนร่วมใจกันช่วยวัดไม่เคยคิดจะเอาค่าแรงใดๆ ทั้งสิ้น ชาวบ้านได้มีความภาคภูมิใจกันทุกคนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำบุญร่วมกับวัด ทุกกิจกรรมที่เกิดขึ้นในงานประจำปีของวัด ทางชาวบ้านจะร่วมด้วยช่วยกันออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด เมื่อมีรายได้ก็จะมอบให้วัดนำไปพัฒนาบำรุงวัดต่อไป


 st11 st11 st11 st11

 นายแหร่ม คิดอยู่ อายุ 78 ปี อยู่หมู่ 1 ต.ไร่สะท้อน เผยว่า ได้มาช่วยวัดในงานประจำปีของวัดทุกปี ถือว่าเป็นการทำบุญ ช่วยหลวงพ่อ เพื่อที่วัดจะได้ไม่ต้องไปจ้างให้เสียเงิน ชาวบ้านจะมาช่วยกันอย่างนี้ทุกปี โดยเฉพาะในช่วงบ่ายที่เสร็จสิ้นจากการงานที่บ้าน ชาวบ้านจะมากันอย่างคึกคัก และจะยังคงยึดถือปฏิบัติกันต่อไปทุกๆปี นอกจากได้บุญแล้ว ยังได้เจอพรรคพวกเพื่อนฝูง เกิดความสามัคคีกันมากขึ้นด้วย


ขอบคุณภาพข่าวจาก
http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1428913987
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ