ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็น "พญาไก่ป่า ๒ ครั้ง"  (อ่าน 3424 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0

 :25: :25: :25:


นิทานชาดก กุกกุฏชาดก เรื่อง พญาไก่ป่า

ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึกรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธก ว่า

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิ์สัตว์เกิดเป็นพญาไก่ป่า มีไก่เป็นบริวารหลายร้อยตัว อาศัยอยู่ในป่าแห่งหนึ่ง มีนางแมวตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในที่ไม่ไกลจากที่อยู่ของไก่ป่านั้น มันเที่ยวใช้อุบายล่อลวงจับไก่ป่ากินเป็นอาหารเกือบหมด พญาไก่ป่าทราบว่าบริวารถูกนางแมวจับกินไปเกือบหมดก็ไม่ไปใกล้ที่อยู่ของมัน


@@@@

หลายวันต่อมา เมื่อไม่เห็นไก่ตัวใดไปใกล้ที่อยู่ของตน นางแมวจึงต้องดั้นด้นมาหาไก่เสียเอง มันเดินย่องเข้าไปใต้คอนไม้ที่พญาไก่ป่าจับอยู่ พร้อมกับพูดขึ้นว่า
      "พ่อไก่น้อยสีแดง ผู้มีขนสวยงาม เจ้าลงมาจากกิ่งไม้เถิด เราจะยอมเป็นภรรยาท่าน"

พญาไก่ป่ารู้ทันเล่ห์เหลี่ยมของมันจึงตอบไปว่า "นางแมวเอ๋ย เจ้าเป็นสัตว์ ๔ เท้าที่สวยงาม ส่วนเราเป็นสัตว์ ๒ เท้า แมวกับไก่อยู่ร่วมกันไม่ได้ดอก เชิญท่านไปหาผู้อื่นเป็นสามีเถิด"

@@@@

นางแมวไม่ลดละความพยายามยังพูดออดอ้อนว่า "พ่อไก่น้อย ฉันจะเป็นภรรยาผู้สวยงาม ร้องเสียงไพเราะเพื่อเจ้า เจ้าจะรู้ว่าฉันเป็นภรรยาสาวพรหมจรรย์ที่สวยงาม ร้องเสียงไพเราะเพื่อเจ้า เจ้าจะรู้ว่าฉันเป็นภรรยาสาวพรหมจรรย์ที่สวยงามและมีความสุขที่สุด"

พญาไก่ป่าจึงพูดขู่นางแมวไปว่า "นางแมวเอ๋ย เจ้ากินซากศพ ดื่มเลือด กินไก่บริวารของเราแล้ว จงไปเสียเถอะ"

นางแมวเมื่อรู้ว่าพญาไก่ไม่หลงกล ก็รีบวิ่งหนีกลับไปอย่างผู้ผิดหวังและไม่กลับไปหากินที่นั่นอีกเลย

@@@@

พระพุทธองค์เมื่อตรัสอดีตนิทานจบ ได้ตรัสพระคาถาว่า
    "ผู้ใดรู้ไม่เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และจะเดือดร้อนภายหลัง ส่วนผู้ใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นจะพ้นจาการเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่พ้นจากนางแมวฉะนั้น"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า : ผู้มีปัญญารู้เท่าทันเหตุการณ์ย่อมสามารถรู้รักษาตัวรอดได้



ที่มา : หนังสือนิทานชาดก โดย พระมหาสุนทร สุนฺทรธฺมโม (เสนาซุย)
ขอบคุณเว็บไซต์ : http://www.dhammathai.org/chadoknt/chadoknt11.php





อรรถกถา กุกกุฏชาดก ว่าด้วย ผลของการไม่เชื่อง่าย

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสันจะสึกรูปหนึ่ง ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุจิตฺตปตฺตจฺฉาทน ดังนี้

     ความย่อว่า พระศาสดาตรัสถามภิกษุนั้นว่า เหตุไฉน.? เธอจึงกระสันอยากสึก.
     เมื่อเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เห็นหญิงคนหนึ่งผู้ประดับประดาตกแต่งตัวแล้ว จึงกระสันอยากสึกด้วยอำนาจกิเลสดังนี้.
     แล้วตรัสว่า ธรรมดาผู้หญิงลวงให้ชายลุ่มหลงแล้วให้ถึงความพินาศ ในเวลาชายตกอยู่ในอำนาจของตน เป็นเหมือนแมวตัวเหลวไหล แล้วได้ทรงนิ่ง.


@@@@@@

เมื่อถูกภิกษุนั้นทูลอ้อนวอน จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในกำเนิดไก่ในป่า มีไก่หลายร้อยตัวเป็นบริวารอยู่ในป่า. ฝ่ายนางแมวตัวหนึ่ง ก็อาศัยอยู่ในที่ไม่ไกลพระโพธิสัตว์นั้น มันใช้อุบายลวงกินไก่ที่เหลือ เว้นแต่ไก่โพธิสัตว์. พระโพธิสัตว์ไม่ไปสู่ป่าชัฏของมัน. มันคิดว่า ไก่ตัวนี้อวดดีเหลือเกิน ไม่รู้ว่าเราเป็นผู้โอ้อวด และเป็นผู้ฉลาดในอุบาย เราควรจะเล้าโลมไก่ตัวนี้ว่า จักเป็นภรรยาของมัน แล้วกินในเวลามันตกอยู่ในอำนาจของตน มันจึงไปยังควงไม้ที่ไก่นั้นเกาะอยู่

@@@@@@

เมื่อขอร้องไก่นั้นด้วยวาจาที่มีภาษิตสรรเสริญนำหน้า จึงได้กล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-

ดูก่อนพ่อนกน้อยสีแดง ผู้ปกคลุมด้วยขนที่สวยงาม เจ้าจงลงมาจากกิ่งไม้เถิด เราจะเป็นภรรยาของท่านเปล่าๆ.

บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า สุจิตฺตปตฺตจฺฉาทน ความว่า ผู้มีเครื่องห่อหุ้มที่ทำด้วยขนอันสวยงาม.
บทว่า มุธา ความว่า เราจะเป็นภรรยาของท่าน โดยปราศจากมูลค่า คือโดยไม่รับเอาอะไรเลย.


@@@@@@

พระโพธิสัตว์ได้ฟังคำนั้นแล้วคิดว่า แมวตัวนี้กัดกินญาติของเราหมดไปแล้ว บัดนี้ มันประสงค์จะล่อลวงกินเรา เราจักขับส่งมันไปแล้วกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

เจ้าเป็นสัตว์ ๔ เท้าที่สวยงาม ส่วนฉันเป็นสัตว์ ๒ เท้า เนื้อกับนกจะร่วมกันไม่ได้ในอารมณ์ เป็นที่รื่นรมย์ใจ เจ้าจงไปแสวงหาผู้อื่นเป็นสามีเถิด.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้นต่อไป พระโพธิสัตว์กล่าวว่า มิคี หมายเอาแมว. ด้วยบทว่า อสํยุตฺตา พระโพธิสัตว์แสดงว่า แมวกับไก่ร่วมกันไม่ได้ สัมพันธ์กันไม่ได้เพื่อเป็นผัวเมียกัน สัตว์ทั้ง ๒ เหล่านั้นไม่มีความสัมพันธ์เช่นนี้.

@@@@@@

นางแมวนั้นได้ฟังคำนั้นแล้ว ลำดับนั้นจึงคิดว่า ไก่ตัวนี้โอ้อวดเหลือเกิน เราจักใช้อุบายอย่างใดอย่างหนึ่งลวงกินมันให้ได้ แล้วได้กล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

ฉันจักเป็นภรรยาสาวผู้สวยงาม ร้องไพเราะเพื่อคุณ คุณจะพบฉันผู้เป็นพรหมจารินีที่สวยงาม ด้วยการเสวยอารมณ์อย่างดี คือสุขเวทนา.

พึงทราบวินิจฉัยในคาถานั้น
ด้วยบทว่า โกมาริกา นางแมวกล่าวว่า ฉันไม่รู้จักชายอื่นตลอดเวลานี้ ฉันจักเป็นภรรยาสาวของคุณ,
บทว่า มญฺชุกา ปิยภาณินี ความว่า เราจักเป็นผู้มีถ้อยคำไพเราะ พูดคำน่ารักเป็นปกติต่อคุณทีเดียว.
บทว่า วินฺท มํ ความว่า คุณจะกลับได้ฉัน.
บทว่า อริเยน เวเทน ความว่า ด้วยการกลับได้ที่ดี.

นางแมวพูดว่า เพราะว่าฉันเองก่อนแต่นี้ไม่รู้จักสัมผัสตัวผู้ ถึงคุณก็ยังไม่รู้จักการสัมผัสตัวเมีย ฉะนั้น คุณจะได้ฉันผู้เป็นพรหมจารินีตามปกติด้วยการได้ที่ไม่มีโทษ คุณต้องการฉัน ถ้าไม่เชื่อถ้อยคำของฉัน ก็ให้ตีกลองประกาศในนครพาราณสีชั่ว ๑๒ โยชน์ว่า นางแมวนี้เป็นทาสของฉัน คุณจงรับฉันให้เป็นทาสของตนเถิด.


@@@@@@

พระโพธิสัตว์ได้ยินคำนั้นแล้ว ถัดนั้นไปก็คิดว่า ควรที่เราจะขู่แมวตัวนี้ให้หนีไปเสีย แล้วจึงกล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-

ดูก่อนเจ้าผู้กินซากศพ ผู้ดื่มโลหิต ผู้เป็นโจรปล้นไก่ เจ้าไม่ต้องการให้ฉันเป็นผัว ด้วยการเสวยอารมณ์ที่ดี คือสุขเวทนา.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น ตวํ อริเยน ความว่า พระโพธิสัตว์กล่าวว่า เจ้าไม่ประสงค์ให้ข้าเป็นผัว ด้วยลาภที่ประเสริฐ คือการอยู่ประพฤติเหมือนพรหม แต่เจ้าต้องการลวงกินฉัน. ดูก่อนเจ้าผู้ลามก เจ้าจงฉิบหาย ดังนี้แล้ว ให้แมวนั้นหนีไปแล้ว.

ส่วนแมวนั้นหนีไปแล้ว ไม่อาจแม้เพื่อจะมองดูอีก

@@@@@@

เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงได้ตรัสอภิสัมพุทธคาถาเหล่านี้ว่า :-

หญิง ๔ คนเห็นนรชนผู้ประเสริฐ แม้อย่างนี้แล้ว ชักนำด้วยวาจาอ่อนหวาน เหมือนนางแมวชักนำไก่ ฉะนั้น.

ก็ผู้ใดรู้ไม่เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นจะตกอยู่ในอำนาจของศัตรู และจะเดือดร้อนภายหลัง.

ส่วนผู้ใดรู้ทันเหตุที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน ผู้นั้นจะพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่พ้นจากนางแมว ฉะนั้น.

คาถาเหล่านี้เป็นพระคาถาของท่านผู้รู้ยิ่งแล้ว คือคาถาของท่านผู้ตรัสรู้แล้ว.

@@@@@@

บรรดาบทเหล่านั้น
บทว่า จตุรา คือผู้ประกอบหญิงจำนวน ๔ คน.
บทว่า นารี ได้แก่ หญิงทั้งหลาย.
บทว่า เนนฺติ ความว่า นำเข้าไปสู่อำนาจของตน.
บทว่า วิลารี วิย ความว่า นางแมวนั้นพยายามชักนำไก่นั้น ฉันใด หญิงเหล่าอื่นก็ชักนำภิกษุนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน. บทว่า อุปฺปติตํ อตฺถํ ความว่า เหตุการณ์บางอย่างนั่นเอง ที่เกิดขึ้นแล้ว.
บทว่า น พุชฺฌติ ความว่า ไม่รู้ตามสภาพความจริง และจะเดือดร้อนภายหลัง.
บทว่า กุกฺกุโฏว มีเนื้อความว่า ภิกษุนั้นพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่ตัวที่ถึงพร้อมด้วยความรู้ พ้นจากแมวฉะนั้น.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ประมวลชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจจะ ภิกษุผู้กระสันจะสึก ตั้งอยู่แล้วในโสดาปัตติผล ก็พระยาไก่ในครั้งนั้น ได้แก่ เราตถาคต ฉะนี้แล.

        จบ อรรถกถากุกกุฏชาดกที่ ๘




ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/atita100/jataka.php?i=270886
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎกได้ที่ : http://www.84000.org/tipitaka/atita100/v.php?B=27&A=4006&Z=4024
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: ธันวาคม 16, 2018, 11:32:37 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: พระโพธิสัตว์ เสวยพระชาติเป็น "พญาไก่ป่า ๒ ครั้ง"
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: ธันวาคม 16, 2018, 11:26:34 am »
0

 :25: :25: :25:

อรรถกถา กุกกุฏชาดก ว่าด้วย พ้นศัตรูเพราะรู้เท่าทัน

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเวฬุวัน ทรงปรารภความพยายามปลงพระชนม์ จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า นาสฺมเส กตปาปมฺหิ ดังนี้.

ความย่อว่า ภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาถึงความไม่ดีของพระเทวทัตว่า อาวุโสทั้งหลาย พระเทวทัตทำอุบายเพื่อจะปลงพระชนม์พระทศพล ด้วยการวางนายขมังธนูเป็นต้น.

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บัดนี้พวกเธอนั่งสนทนากันถึงเรื่องอะไร? เมื่อภิกษุเหล่านั้นกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้นที่พระเทวทัตพยายามฆ่าเรา แม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็พยายามฆ่าเราเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธกดังต่อไปนี้ :-


@@@@@@

ในอดีตกาล พระราชาทรงพระนามว่าโกสัมพิกะ ครองราชสมบัติอยู่ในพระนครโกสัมพี.
ครั้งนั้นพระโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นไก่ ณ ป่าไผ่แห่งหนึ่งมีไก่หลายร้อยเป็นบริวารอยู่ในป่า. เหยี่ยวตัวหนึ่งอยู่ ณ ที่ใกล้ๆ กันนั้น มันใช้อุบายจับไก่กินทีละตัวๆ กินจนหมด นอกจากพระโพธิสัตว์อยู่ตัวเดียว เป็นผู้ไม่ประมาท เที่ยวหาอาหารตามเวลาแล้วก็เข้าไปอยู่ ณ เชิงไผ่.

เหยี่ยวนั้นไม่อาจจับไก่พระโพธิสัตว์นั้นได้ จึงคิดว่า เราจักใช้อุบายอย่างหนึ่งล่อลวงจับไก่นั้นกินให้ได้. แล้วเข้าไปแอบอยู่ที่กิ่งไม้ใกล้ๆ กันนั้น กล่าวว่า แน่ะพญาไก่ผู้เพื่อน ท่านกลัวเราเพราะเหตุไร? เราต้องการทำความคุ้นเคยกับท่าน ประเทศชื่อโน้นสมบูรณ์ด้วยอาหาร เราทั้งสองไปหาอาหารกันที่นั้น แล้วจักอยู่อย่างมีความรักใคร่กันและกัน.

ลำดับนั้น พระโพธิสัตว์กล่าวกะเหยี่ยวว่า แน่ะเพื่อน เราจะมีความคุ้นเคยกะเจ้าไม่ได้ เจ้าไปเถิด. เหยี่ยวถามว่า แน่ะเพื่อน ท่านไม่เชื่อเราเพราะเราเคยทำความชั่วมาแล้ว ตั้งแต่นี้ไปเราจักไม่ทำเช่นนั้นอีก. พระโพธิสัตว์ตอบว่า เราไม่ต้องการสหายเช่นเจ้า เจ้าจงไปเสียเถิด.

@@@@@@

พระโพธิสัตว์ห้ามเหยี่ยวทำนองนี้ถึง ๓ ครั้ง แล้วส่งเสียงขันก้องป่าว่า ใครๆ ไม่ควรทำความคุ้นเคยกับผู้ที่ประกอบด้วยลักษณะเช่นนี้ ดังนี้

     เมื่อเทวดาทั้งหลายพากันแซ่ซ้องสาธุการ เมื่อจะเริ่มธรรมกถา ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-

     บุคคลไม่พึงคุ้นเคยในคนทำบาป คนมักพูดเหลาะแหละ คนมีปัญญาคิดแต่ประโยชน์ตน คนแสร้งทำสงบเสงี่ยมแต่ภายนอก.
     มีคนพวกหนึ่ง มีปกติเหมือนโคกระหายน้ำ ทำทีเหมือนจะกล้ำกลืนมิตรด้วยวาจา แต่ไม่ใช่ด้วยการงาน ไม่ควรคุ้นเคยในคนเช่นนั้น.
     คนพวกหนึ่ง เป็นคนชูมือเปล่า พัวพันอยู่แต่ด้วยวาจา เป็นมนุษย์กระพี้ ไม่มีความกตัญญู ไม่ควรนั่งใกล้คนเช่นนั้น.

     บุคคลไม่ควรคุ้นเคยต่อสตรีหรือบุรุษผู้มีจิตกลับกลอก ไม่ทำความเกี่ยวข้องให้แจ้งชัดด้วยเหตุต่างๆ.
     ไม่ควรคุ้นเคยกับบุคคลผู้หยั่งลงสู่กรรมอันไม่ประเสริฐ เป็นคนไม่แน่นอน กำจัดคนไม่เลือกหน้า เหมือนดาบที่เขาลับแล้วปกปิดไว้ ฉะนั้น.

     คนบางพวกในโลกนี้ คอยเพ่งโทษเข้าไปหาด้วยอุบายต่างๆ ด้วยคำพูดอันคมคาย ซึ่งไม่ตรงกับน้ำใจ ด้วยสามารถแห่งคนเทียมมิตร แม้คนเช่นนี้ก็ไม่ควรคุ้นเคย.
     คนมีความคิดชั่วเช่นนั้น พบเห็นอามิส หรือทรัพย์เข้า ณ ที่ใด ย่อมคิดประทุษร้าย และครั้นได้แล้วก็ละสหายนั้นไป.


     @@@@@@

     บรรดาบทเหล่านั้น
     บทว่า นาสฺมเส แปลว่า ไม่พึงคุ้นเคย อีกอย่างหนึ่ง พระบาลีก็อย่างนี้เหมือนกัน มีคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า บุคคลไม่ควรคุ้นเคย.
     บทว่า กตปาปมฺหิ คือ ในคนทำบาปไว้ครั้งแรก.
     บทว่า อลิกวาทิเน คือ ไม่พึงคุ้นเคยแม้ในคนที่มักพูดเท็จ เพราะว่า ขึ้นชื่อว่าบาปที่บุคคลผู้มักพูดเท็จนั้นไม่พึงทำ ย่อมไม่มี.
     บทว่า นาสฺมเส อตฺตตฺถปญฺญมฺหิ ความว่า บุคคลใดมีปัญญาคิดแต่ประโยชน์ตนเท่านั้น คือไม่ได้คบด้วยสามารถแห่งเสน่หา แต่มีความต้องการทรัพย์เหล่านั้นจึงคบ แม้ในบุคคลผู้มีปัญญาคิดแต่ประโยชน์ตนนั้น ก็ไม่ควรคุ้นเคย.
     บทว่า อติสนฺเต ได้แก่ ในบุคคลผู้แสร้งทำสงบเสงี่ยมด้วยการแสดงความสงบในภายนอก ทั้งๆ ที่ความสงบในภายในไม่มีอยู่เลย คือในบุคคลผู้หลอกลวง ผู้ปกปิดการงาน ผู้เช่นกับอสรพิษที่ปกปิดรู.
     บทว่า โคปิปาสกชาติกา คือ ราวกะมีชาติกระหายน้ำแห่งโคทั้งหลาย. อธิบายว่า เป็นเช่นกับด้วยโคที่กระหายน้ำ




พระโพธิสัตว์แสดงความนี้ไว้ว่า เปรียบเหมือนโคตัวที่กระหายน้ำลงสู่ท่า แล้วดื่มน้ำจนเต็มปาก แต่ไม่กระทำสิ่งที่ควรกระทำแก่น้ำอีกฉันใด บุคคลบางพวกก็ฉันนั้นเหมือนกัน ทำทีจะกล้ำกลืนมิตรด้วยคำอันอ่อนหวานว่า จะทำสิ่งโน้นสิ่งนี้ให้ แต่แล้วก็ไม่กระทำสิ่งที่ควรแก่คำอันไพเราะ ความคุ้นเคยในบุคคลเช่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อความฉิบหายอันใหญ่หลวง.

     บทว่า สุกฺขญฺชลิปคฺคหีตา คือ เป็นคนชูมืออันเปล่า.
     บทว่า วาจาย ปลิคุณฺฐิตา คือ ปกปิดด้วยคำว่า จักให้จักทำสิ่งนั้น.
     บทว่า มนุสฺสเผคฺคู ความว่า มนุษย์ผู้หาแก่นสารมิได้เห็นปานนี้ ชื่อว่าเป็นมนุษย์กระพี้.
     บทว่า นาสิเท ได้แก่ ไม่ควรนั่งใกล้ คือไม่ควรเข้าไปใกล้ในบุคคลนั้นเห็นปานนี้.
     บทว่า ยสฺมึ นตฺถิ ความว่า อนึ่ง ความกตัญญูไม่มีในบุคคลใด แม้ในบุคคลนั้นก็ไม่ควรนั่งใกล้.
     บทว่า อญฺญญฺญจิตฺตานํ ได้แก่ ผู้ประกอบด้วยจิตอันไม่แน่นอน. อธิบายว่าผู้มีจิตกลับกลอก.


     @@@@@@

     พระโพธิสัตว์แสดงความนี้ไว้ว่า บุคคลไม่ควรคุ้นเคยต่อสตรีหรือบุรุษผู้เห็นปานนี้.   

     บทว่า นานา วิกตฺวา สํสคฺคํ พระโพธิสัตว์แสดงว่า แม้บุคคลใดกระทำความเกี่ยวข้องให้แจ้งชัด คือกระทำให้มั่นด้วยเหตุต่างๆ เพื่อจะทำอันตรายด้วยโวหารว่า ใครๆ ไม่อาจเพื่อไม่เข้าไปทำสิ่งที่ไม่เป็นอันตรายแก่เขาได้. ดังนี้แล้วทำอันตรายในภายหลัง บุคคลแม้เช่นนั้นก็ไม่ควรคุ้นเคย คือไม่ควรสนิทสนม.
     บทว่า อนริยกมฺมํ โอกฺกนฺตํ ได้แก่ ผู้หยั่งลงสู่กรรมของผู้ไม่ประเสริฐ คือผู้ทุศีลทั้งหลายดำรงอยู่.
     บทว่า อฐิตํ ได้แก่ ผู้ไม่มั่นคง คือผู้มีคำพูดอันไม่แน่นอน.
     บทว่า สพฺพฆาตินํ คือ ผู้ได้โอกาสแล้วทำการกำจัดบุคคลไม่เลือกหน้า.

     บทว่า นิสิตํว ปฏิจฺฉนฺนํ คือ เหมือนดาบที่ลับแล้ว ปกปิดไว้ด้วยฝักหรือเศษผ้าฉะนั้น.
     บทว่า ตาทิสํปิ ความว่า บุคคลไม่ควรคุ้นเคยคนผู้มิใช่มิตรผู้เป็นคนเทียมมิตรแม้เห็นปานนี้.
     บทว่า สาขลฺเยน คือ ด้วยคำพูดอันคมคาย.
     บทว่า อเจตสา แปลว่า อันไม่ตรงกับน้ำใจ จริงอยู่ คำพูดของบุคคลเหล่านั้นเท่านั้นกลมกล่อม ส่วนจิตกระด้างหยาบคาย คนบางพวกในโลกนี้คอยเพ่งโทษเข้าไปหาด้วยอุบายต่างๆ.
     บทว่า ตาทิสํปิ ความว่า คนใดเป็นเช่นกับด้วยคนผู้มิใช่มิตรผู้เป็นคนเทียมมิตรเหล่านั้น คนแม้เช่นนั้นก็ไม่ควรคุ้นเคย.

     บทว่า อามิสํ ได้แก่ ของควรเคี้ยวและของควรบริโภค.
     บทว่า ธนํ ได้แก่ สิ่งของที่เหลือตั้งต้นแต่ขาเตียง.
     บทว่า ยตฺถ ปสฺสติ คือ เห็น ณ ที่ใดในเรือนของสหาย.
     บทว่า ทุพฺภึ กโรติ ได้แก่ ให้จิตคิดประทุษร้ายเกิดขึ้น คือนำทรัพย์นั้นไป.
     บทว่า ตญฺจ หิตฺวาน คือ ครั้นได้ก็ละสหายแม้นั้นไป.

     @@@@@@

     พญาไก่ได้กล่าวคาถา ๗ คาถาด้วยประการดังนี้ :-
     พระศาสดาผู้เป็นธรรมราชาได้ทรงภาษิตอภิสัมพุทธคาถา ๔ คาถาดังนี้ว่า :-

     มีคนเป็นจำนวนมาก ที่ปลอมเป็นมิตรมาคบหา บุคคลพึงละบุรุษชั่วเหล่านั้นเสีย เหมือนไก่ละเหยี่ยว ฉะนั้น.
     อนึ่ง บุคคลใดไม่รู้เท่าเหตุที่เกิดขึ้นได้ฉับพลันหลงไปตามอำนาจศัตรู บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.
     ส่วนบุคคลใดรู้เท่าทันเหตุที่เกิดขึ้นได้ฉับพลัน บุคคลนั้นย่อมพ้นจากการเบียดเบียนของศัตรู เหมือนไก่พ้นจากเหยี่ยว ฉะนั้น.
     คนผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณาควรเว้นบุคคลผู้ไม่ตั้งอยู่ในธรรม มักทำการกำจัดอยู่เป็นนิตย์ เหมือนแร้วที่เขาดักไว้ในป่า เช่นนั้นเสียให้ห่างไกล เหมือนไก่ในป่าไผ่ละเว้นเหยี่ยว ฉะนั้น.

    @@@@@@

    บรรดาบทเหล่านั้น
    บทว่า ชเห กาปุริเส เหเต ความว่า ภิกษุทั้งหลาย บัณฑิตพึงละบุรุษชั่วเหล่านั้นเสีย ก็ หิ อักษรในพระคาถานี้เป็นเพียงนิบาต.
    บทว่า ปจฺฉา จ มนุตปฺปติ คือ ย่อมเดือดร้อนในภายหลัง.
    บทว่า กูฏมิโวฑฺฑิตํ คือ เหมือนแร้วที่เขาดักไว้ในป่าเพื่อต้องการจะให้เนื้อในป่ามาติดฉะนั้น.
    บทว่า นิจฺจวิธํสการินํ แปลว่า ผู้มักทำการกำจัดอยู่เป็นนิจ.
    บทว่า วํสกานเน แปลว่า ในป่าไผ่ นรชนผู้มีปัญญาเครื่องพิจารณา ควรเว้นบาปมิตร ผู้มักทำการกำจัดเสียเหมือนไก่ในป่าไผ่ละเว้นเหยี่ยว ฉะนั้น.

@@@@@@

พระยาไก่นั้นครั้นกล่าวคาถาแล้ว เรียกเหยี่ยวมาขู่ว่า ถ้าเราจักอยู่ในที่นี้ เราจักตอบแทนการกระทำของเจ้า แม้เหยี่ยวก็ได้หนีจากที่นั้นไปในที่อื่น.

พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแสดงแล้ว ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้ในกาลก่อนพระเทวทัตก็พยายามฆ่าเราอย่างนี้ ดังนี้แล้วทรงประชุมชาดกว่า
              เหยี่ยวในครั้งนั้น ได้เป็น พระเทวทัต ในบัดนี้
              ส่วนพญาไก่ในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.


               จบ อรรถกถากุกกุฏชาดกที่ ๑๐       
       
       

ที่มา : http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=1422
อ่านเนื้อความในพระไตรปิฎกได้ที่ : http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=27&A=5788&Z=5815
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ