ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ภิกษุองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ ฆราวาสมีทางที่จะทราบได้หรือไม่  (อ่าน 1716 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28456
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔
อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
๕. ทารุกัมมิกสูตร


             [๓๓๐] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ปราสาทสร้างด้วยอิฐใกล้นาทิกคาม ครั้งนั้น คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะ (พ่อค้าฟืน) เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วพระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า ดูกรคฤหบดี ทานในสกุล ท่านยังให้อยู่หรือ

   คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้อยู่และทานนั้นแล ข้าพระองค์ให้ในภิกษุผู้เป็นอรหันต์ หรือผู้บรรลุอรหัตมรรค ผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร ผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ฯ

            พ.  ดูกรคฤหบดี ท่านผู้เป็นคฤหัสถ์ บริโภคกาม อยู่ครองเรือน นอนเบียดเสียดบุตร บริโภคจันทน์แคว้นกาสี ทัดทรงดอกไม้ ของหอมและเครื่องลูบไล้ ยินดีทองและเงินอยู่ พึงรู้ข้อนี้ได้ยากว่า ภิกษุเหล่านี้เป็นพระอรหันต์หรือเป็นผู้บรรลุอรหัตมรรค

   ดูกรคฤหบดี ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะมีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้ถืออยู่ป่าเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่ถือตัวไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

   ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้อยู่ใกล้บ้าน เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

   ถ้าแม้ภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯเมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้รับนิมนต์ เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ฯลฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น
   ถ้าแม้ภิกษุผู้ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่าน ฯลฯเมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น


    ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร เป็นผู้ฟุ้งซ่าน ถือตัว เห่อ ปากกล้า พูดพล่าม มีสติเลอะเลือน ไม่มีสัมปชัญญะ มีใจไม่ตั้งมั่น มีจิตพลุ่งพล่าน ไม่สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงถูกติเตียนด้วยเหตุนั้น

   ถ้าแม้ภิกษุผู้ทรงคฤหบดีจีวร เป็นผู้ไม่ฟุ้งซ่านไม่ถือตัว ไม่เห่อ ไม่ปากกล้า ไม่พูดพล่าม มีสติตั้งมั่น มีสัมปชัญญะ มีใจตั้งมั่น มีจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง สำรวมอินทรีย์ เมื่อเป็นอย่างนี้ ภิกษุนั้นพึงได้รับสรรเสริญด้วยเหตุนั้น

    ดูกรคฤหบดี เชิญท่านให้สังฆทานเถิด เมื่อท่านให้สังฆทานอยู่ จิตจักเลื่อมใส
ท่านนั้นเป็นผู้มีจิตเลื่อมใส เมื่อตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์

   คฤหบดีชื่อทารุกัมมิกะ ทูลสนองว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์นี้จักให้สังฆทานตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๕

            เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒  บรรทัดที่ ๙๒๐๑ - ๙๒๓๘.  หน้าที่  ๔๐๑ - ๔๐๒.
 http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=9201&Z=9238&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=330



อรรถกถา อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต ทุติยปัณณาสก์ มหาวรรคที่ ๑
๕. ทารุกัมมิกสูตร

             
อรรถกถาทารุกัมมิกสูตรที่ ๕              
               พึงทราบวินิจฉัยในทารุกัมมิกสูตรที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
               บทว่า ทารุกมฺมิโก ได้แก่ อุบาสกคนหนึ่งมีอาชีพทางขายไม้.
               บทว่า กาสิกจนฺทนํ ได้แก่ จุณจันทน์ที่ละเอียด.
               บทว่า องฺเคน ได้แก่ ด้วยองค์ไม่เป็นคุณ คือด้วยองค์ที่เป็นคุณ (เฉพาะ) ในฝ่ายสุกธรรม.
               บทว่า เนมนฺตนิโก ได้แก่ เป็นผู้รับนิมนต์.
               บทว่า สํเฆ ทานานิ ทสฺสามิ คือ เราจักถวายแก่ภิกษุสงฆ์.


               อุบาสกนั้นครั้นกราบทูลอย่างนั้นแล้ว ก็ถวายบังคมพระศาสดาแล้วหลีกไป ครั้นแล้วในเวลาต่อมา
ภิกษุผู้เป็นกุลุปกะของเขา จำนวน ๕๐๐ รูป ได้ถึงความเป็นคฤหัสถ์ (สึก).

   ภิกษุผู้เป็นกุลุปกะนั้น เมื่ออุบาสกเรียนว่า ภิกษุเหล่านั้นสึกหมดแล้ว ก็พูดว่า พวกอาตมาในที่นี้สึกหมดหรือ ดังนี้แล้ว ก็ทำใจให้เป็นกลางไม่ได้.

               พระศาสดาทรงหมายเอาเหตุนี้ จึงตรัสว่า เมื่อเธอถวายทานในสงฆ์ จิตจักผ่องใส ดังนี้.
               จบอรรถกถาทารุกัมมิกสูตรที่ ๕     
         
กุลุปกะ, กุลูปกะ “ผู้เข้าถึงสกุล”, พระที่คุ้นเคยสนิท ไปมาหาสู่ประจำของตระกูล, พระที่เขาอุปถัมภ์และเป็นที่ปรึกษาประจำของครอบครัว

อ่าน เนื้อความในพระไตรปิฎก
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=22&A=9201&Z=9238
ที่มา http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=22&i=330
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กุมภาพันธ์ 22, 2011, 12:27:03 pm โดย nathaponson »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ