ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การรู้จักประมาณในการบริโภค - ฉลาด เหมาะสม พอเพียง มีคุณค่า  (อ่าน 19 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28519
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



การรู้จักประมาณในการบริโภค - ฉลาด เหมาะสม พอเพียง มีคุณค่า

๑. แนวคิดการวางแผนใช้สอยโภคทรัพย์

พระพุทธเจ้าตรัสหลักการแบ่งโภคทรัพย์เพื่อการใช้จ่ายเรียกว่า โภควิภาค ทรงจัดสรรออกเป็น ๔ ส่วน คือ
    (๑) เอเกน โภเค ภุญฺยเชยฺย ส่วนหนึ่งใช้ ได้แก่ ใช้จ่ายเลี้ยงตน เลี้ยงคนที่ควรบำรุงและทำประโยชน์
    (๒-๓) ทฺวีหิ กมฺมํ ปโยชเย สองส่วนใช้ประกอบการงาน ได้แก่ ใช้ลงทุนประกอบการงาน
    (๔) จตุตฺถญฺจ นิธาเปยฺย ส่วนที่สี่เก็บไว้ใช้ยามมีอันตราย ได้แก่ เก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็น

ทรงวางแผนใช้โภคทรัพย์ที่หามาได้กำหนดเป็นแผนรายจ่ายได้ ๔ หมวดอย่างเหมาะสม คือ
    (๑) ใช้จ่ายเพื่อการบำรุงตนเอง มารดาบิดา บุตรภรรยา ทาสกรรมกร คนรับใช้ มิตรและอำมาตย์ให้เป็นสุขโดยชอบ
    (๒) ใช้จ่ายเพื่อการป้องกันอันตรายที่เกิดจากไฟ น้ำ พระราชา โจร คนที่ไม่ชอบกัน หรือจากทายาท
    (๓) ใช้จ่ายเพื่อการทำพลี ๕ อย่าง ได้แก่ การสงเคราะห์ บวงสรวง น้อมให้ หรือส่วย ประกอบด้วยญาติพลี สงเคราะห์ญาติ อติพลี ต้อนรับแขก ปุพพเปตพลี ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ราชพลี ถวายเป็นของหลวงมีเสียภาษีอากร เป็นต้น และเทวตาพลี ทำบุญอุทิศให้เทวดา
    (๔) ใช้จ่ายเพื่อการบริจาคทำบุญกุศลในพระพุทธศาสนา ในสมณพราหมณ์ ผู้ทรงศีล

และทรงรับรองว่า บุคคลผู้ใช้จ่ายโภคทรัพย์ตามแผนการที่กำหนดไว้นี้แล้ว พึงหวังได้ความเจริญอย่างเดียว ไม่มีความเสื่อมเลย คือ
    (๑) เจริญด้วยนาและสวน
    (๒) เจริญด้วยทรัพย์และข้าวเปลือก
    (๓) บุตรและภรรยา
    (๔) เจริญด้วยทาส กรรมกรและคนใช้
    (๕) เจริญด้วยสัตว์สี่เท้า
    (๖) เจริญด้วยศรัทธา
    (๗) เจริญด้วยศีล
    (๘) เจริญด้วยสุตะ
    (๙) เจริญด้วยจาคะ
   (๑๐) เจริญด้วยปัญญา

ทรงสรรเสริญกามโภคีบุคคลคือ คฤหัสถ์ผู้ครองเรือน ผู้แสวงหาโภคทรัพย์โดยชอบธรรม ด้วยการงานที่ไม่ผิด ครั้นแสวงหาได้แล้ว บำรุงเลี้ยงตนให้อิ่มหนำสำราญ และแจกจ่าย ทำบุญ ทั้งเป็นผู้ไม่มัวเมา ไม่หมกมุ่น ไม่จดจ่อเห็นโทษ มีปัญญาเป็นเครื่องสลัดออก ใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้นอยู่ว่า เป็นผู้เลิศ ประเสริฐ เป็นหัวหน้าสูงส่ง ล้ำเลิศ

๒. แนวคิดการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมพอเพียง

พระองค์ตรัสถึงคุณสมบัติของผู้ใช้ชีวิตอย่างเหมาะสมพอเพียง เพื่อสร้างความมั่งคั่งหรือรักษาความมั่งคั่งให้มีเสถียรภาพยิ่งขึ้นว่า จะต้องรู้ทางเจริญแห่งโภคทรัพย์และทางเสื่อมแห่งโภคทรัพย์ แล้วเลี้ยงชีวิตแต่พอเหมาะ ไม่ให้ฟุ่มเฟือยนัก ไม่ให้ฝืดเคืองนัก ด้วยคิดว่า ด้วยการใช้จ่ายอย่างนี้ รายรับของเราจักเกินรายจ่าย และรายจ่ายของเราจักไม่เกินรายรับ การรู้จักประมาณในการบริโภคนี้ แม้ในการดำรงชีวิตของปัจเจกบุคคล พระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าเป็นเหตุให้มีอายุยืน ดำรงชีวิตอยู่ได้นาน

๓. แนวคิดการบริโภคคุณค่าแท้

พระพุทธเจ้าตรัสลักษณะของการรู้จักประมาณในการบริโภคใช้สอยว่า ต้องพิจารณาโดยแยบคายแล้ว จึงบริโภคใช้สอย ไม่ใช่เพื่อเล่น ไม่ใช่เพื่อมัวเมา ไม่ใช่เพื่อประดับ ไม่ใช่เพื่อตกแต่ง แต่เพียงเพื่อความดำรงอยู่ได้แห่งกายนี้ เพื่อให้กายนี้เป็นไปได้ เพื่อกำจัดความเบียดเบียน เพื่ออนุเคราะห์พรหมจรรย์

และตรัสว่า ผู้ประกอบด้วยคุณธรรม คือ ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคนี้ไม่อาจเสื่อม คือ ไม่อาจเสื่อมจากสมถะและวิปัสสนา หรือมรรคและผล กล่าวคือ ไม่เสื่อมจากสมถะและวิปัสสนาที่ได้บรรลุแล้ว และจะได้บรรลุมรรคและผลที่ยังไม่ได้บรรลุ ชื่อว่าอยู่ใกล้นิพพาน

เมื่อถือเอาความตามแนวคิดนี้ ก็จะเห็นได้ว่า การใช้สอยอย่างรู้คุณค่าเน้นประหยัดที่สุดประโยชน์สูงสุด สามารถดำรงองค์การให้คงอยู่ได้ต่อไป ไม่มีล่มสลาย






ขอขอบคุณ :-
ภาพจาก : https://www.pinterest.ca/
บทความ : แนวคิดพระพุทธศาสนา เพื่อการบริหารจัดการองค์การที่ดี อย่างมีเสถียรภาพ , โดย พระมหาวิศิต ธีรวํโส ผศ., ป.ธ.๙ , วารสาร พุทธจักร : ปีที่ ๗๗ ฉบับที่ ๖ [พฤศจิกายน - ธันวาคม ๒๕๖๖] , หน้า ๙๕-๙๖
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤษภาคม 08, 2024, 07:29:12 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ