ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ดูแลผู้ป่วยในฐานะ เพื่อนมนุษย์  (อ่าน 2299 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

รีบอร์น

  • กำลังจะพ้นจากน้ำ
  • *
  • ผลบุญ: +0/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 81
  • Respect: 0
    • ดูรายละเอียด
ดูแลผู้ป่วยในฐานะ เพื่อนมนุษย์
« เมื่อ: ธันวาคม 13, 2010, 05:28:28 pm »
0
เวลานี้มีการกล่าวขานกันถึงเรื่อง "Humanized medicine" "Humanized care" และ "การดูแลผู้ป่วยด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์" กันอย่างกว้างขวาง.

วาทกรรมเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหม่ แต่จริงๆ แล้วเป็นการต่อยอดจากแนวคิดในการดูแลผู้ป่วย แบบองค์รวม (holistic care) ที่เน้นการเชื่อมโยงมิติทางกาย (การเจ็บป่วยหรือโรค) เข้ากับมิติทางจิตและสังคมนั่นเอง ซึ่งแต่เดิมก็มีวาทกรรมเช่น "Whole-person care" "รักษาไข้- รักษาคน" เป็นต้น.

แนว คิดเหล่านี้ล้วนสะท้อนถึงความพยายามในการผลักดันให้ภารแพทย์ (การดูแลผุ้ป่วยหรือเวชปฏิบัติ) หลุดจากกรอบการมองผู้ป่วยเป็นเพียงวัตถุ หรือชิ้นส่วนอวัยวะ (รักษาไข้) ที่ตัดขาดจากองค์รวมแห่งความเป็นมนุษย์ (รักษาคน) ที่ประกอบด้วยมิติทางกาย-จิต-สังคม (bio-psycho-social) ที่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว (ดังที่ภาษาอังกฤษใช้คำว่า oneness หรือ wholeness).

กรอบการมองดังกล่าวได้พัฒนาเข้มข้นขึ้นตามวิวัฒนาการของ เทคโนโลยีทางการแพทย์และกระแสวัตถุนิยมและบริโภคนิยมในช่วงหลายทศวรรษที่ ผ่านมา ประกอบกับความสำเร็จของวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่สามารถเอาชนะโรคกายอันซับซ้อน ได้อย่างมหัศจรรย์ จึงเป็นเสน่ห์ดึงดูดให้ผู้เป็นแพทย์สนใจดิ่งลงเฉพาะเทคโนโลยีทางการแพทย์. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถาบันการแพทย์ระดับตติยภูมิที่มีหน้าที่หลักในการ ต่อสู้กับโรคกายอันซับซ้อน จำเป็นต้องทุ่มเทเวลาและทรัพยากรทั้งหมดเพื่อสร้างความสำเร็จในการรักษาโรค กายของผู้ป่วย จนไม่มีเวลาและความสนใจในการดูแลปัญหาด้านจิตใจและสังคมของผู้ป่วย. ส่วนแพทย์รุ่นใหม่ที่ผ่านการฝึกอบรมในโรงเรียนแพทย์ที่มีบรรยากาศในลักษณะ ดังกล่าวก็มีโอกาสน้อยมากที่จะได้เห็นต้นแบบในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ซึ่งนับวันแต่จะร่อยหรอลงไป. เมื่อจบออกไปทำงานในสถานพยาบาลระดับชุมชนก็ให้การรักษาไข้แบบเดียวกับ โรงเรียนแพทยŒ ไม่มีความสนใจและทักษะในการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม. มีแพทย์น้อยคนนักที่เรียนรู้ด้วยตนเองถึงการจัดระบบการดูแลผู้ป่วยที่เชื่อม โยงมิติทางกาย-จิต-สังคม และร่วมกับทีมสุขภาพในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เช่น การจัดกลุ่มมิตรภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยเอดส์เสริมต่อจากการให้บริการปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกาย จิต และจิตวิญญาณที่เข้มแข็ง สามารถเปิดตัวต่อสาธารณะ เป็นแกนนำในการดูแลด้านจิตใจและสังคมของกลุ่มผู้ป่วยใหม่ และออกไปรณรงค์ในชุมชน เป็นต้น.

แพทย์ที่จะให้การดูแลผู้ป่วยแบบองค์ รวม หรือ humanized care จำเป็นต้องมีจิตใจแห่งความเป็นมนุษย์เป็นพื้นฐาน จึงเป็นสิ่งน่าท้าทายว่าเราจะหล่อหลอมแพทย์แบบนี้ได้ย่างไร.

ผมมี ประสบการณ์ในการทดลองให้นักศึกษาแพทย์เรียนรู้ปัญหาผู้ป่วยแบบองค์รวมและให้ การดูแลผู้ป่วยในฐานะเพื่อนมนุษย์ โดยมอบหมายให้นักศึกษาเลือกกรณีศึกษาผู้ป่วยในหอผู้ป่วยขณะออกฝึกปฏิบัติงาน ที่โรงพยาบาลชุมชน.

นักศึกษาท่านหนึ่ง เมื่อตามทีมแพทย์และพยาบาลเยี่ยมผู้ป่วยในหอผู้ป่วย พบว่าทีมงานมีความหนักใจกับผู้ป่วยอายุ 80 ปีรายหนึ่งที่เป็นอัมพาตและมีแผลกดทับ (bedsore) ลึกและกว้าง ซึ่งนอนในโรงพยาบาลมานานเป็นแรมเดือน. ปัญหามีว่าทุกครั้งที่พยาบาลจับผู้ป่วยพลิกตัวหรือทำแผลผู้ป่วยจะร้องเอะอะ ด้วยความเจ็บปวดและพูดว่าขอกลับไปตายที่บ้าน ทำให้ทีมงานรู้สึกเหนื่อยหน่าย และมีความรู้สึกด้านลบต่อผู้ป่วย.

นักศึกษาจึงได้เข้าไปพูดคุยกับ ลูกสาวของผู้ป่วยที่มาเฝ้าพ่อเป็นเวลานาน. ได้ประวัติว่าครอบครัวนี้อยู่ด้วยกัน 3 คน แม่ป่วยเป็นอัมพาตอยู่ก่อนมาหลายปี แต่ยังพอช่วยตัวเองได้บ้าง พ่อเพิ่งป่วยได้ไม่นาน ส่วนลูกสาวซึ่งหย่ากับสามี (โดยลูกๆ ขอไปอยู่กับสามี) ได้กลับมาอยู่กับพ่อแม่ ทำงานรับจ้างรายวัน มีรายได้เล็กน้อย. เมื่อพ่อกลับจากการรักษาตัวที่โรงพยาบาลครั้งแรกมาอยู่บ้าน ซึ่งยังช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องปล่อยให้แม่ซึ่งพิการช่วยป้อนข้าวป้อนน้ำให้พ่อ ส่วนตัวลูกสาวต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ไม่มีเวลาดูแลผู้ป่วย. ไม่นานผู้ป่วยก็เกิดแผลกดทับ ซึ่งค่อยๆ ลุกลามมากขึ้น ลูกสาวตัดสินใจใช้กรรไกรตัดเนื้อแผลที่เน่าตามคำแนะนำของเพื่อนบ้านจนเกิด ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ในที่สุดจึงพามาโรงพยาบาล และมาเฝ้าพ่อเป็นบางวัน. วันไหนเงินหมดก็ออกไปหางานทำ. บางครั้งไม่มีเงินก็ทนเดินจากโรงพยาบาลกลับบ้านเป็นระยะทางกว่า 10 กิโลเมตร. ผู้เป็นลูกสาวก็มีปัญหาทุกข์ใจและซึมเศร้าจากการหย่าร้างกับสามี แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม. ผู้ป่วยเองก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระให้ครอบครัว ก็บ่นว่าอยากตาย วันๆ ก็เอาแต่นอนซึม ไม่พูดจากับใคร.

การมองเห็นความทุกข์ที่ถาโถมครอบ ครัวนี้ และเห็นความเข้มแข็งของลูกสาวที่ดิ้นรนต่อสู้ชีวิตแสนสาหัส นักศึกษาเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจครอบครัวนี้ และเข้าไปพูดคุยกับผู้ป่วย ซึ่งในระยะแรกได้รับการเมินเฉย แต่ก็ไม่ย่อท้อ ในที่สุดผู้ป่วยก็ยอมรับน้ำใจของนักศึกษา ยอมให้พลิกตัวและทำแผล ไม่ส่งเสียงเอะอะก้าวร้าวดังเคย. นักศึกษาก็ได้ช่วยพลิกตัวผู้ป่วยช่วงเช้าและเย็น เสริมงานของทีมพยาบาล และเช็ดตัวให้ผู้ป่วยตอนเย็นทุกวัน โดยทำหน้าที่เสมือนญาติ (แทนลูกสาวที่ไม่ค่อยมีเวลามาดูพ่อ) พูดคุยให้กำลังใจผู้ป่วยและลูกสาวเป็นคนกลางในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับ ทีมงาน ทำให้เกิดความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากขึ้น และร่วมกับทีมพยาบาลศึกษาปัญหาการเกิดแผลกดทับของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นหลายราย ที่รับไว้ในหอผู้ป่วย ได้รับความไว้วางใจจากทีมพยาบาลให้ช่วยค้นคว้าองค์ความรู้และจัดทำแผนในการ ป้องกันและดูแลปัญหาแผลกดทับของผู้ป่วย.

กรณีนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึง การเรียนรู้ปัญหาผู้ป่วยอย่างเป็นองค์รวมของนักศึกษาจนเข้าใจและเข้าถึงผู้ ป่วยและครอบครัว โดยผ่านกระบวนดูแลผู้ป่วยในฐานะเพื่อนมนุษย์ เกิดความผูกพันและเมตตาต่อผู้ป่วยและครอบครัว และเกิดความภูมิใจในการช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อนมนุษย์. ขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้เรื่องการดูแลแผลกดทับ และการทำงานร่วมกับทีมของโรงพยาบาล.

ผมเชื่อว่าผู้ป่วยในหอผู้ป่วย ของโรงพยาบาลทุกแห่ง สามารถใช้เป็นสื่อการเรียนรู้ปัญหาและการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวมที่มีชีวิต ชีวาและสร้างความภูมิใจในตนเองของผู้เรียนได้เสมอ.
บันทึกการเข้า