ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: “นารีแดง” ชื่อนี้ได้ แต่ใดมา.?  (อ่าน 779 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
“นารีแดง” ชื่อนี้ได้ แต่ใดมา.?
« เมื่อ: กุมภาพันธ์ 08, 2019, 06:16:14 am »
0




“นารีแดง” ชื่อนี้ได้ แต่ใดมา.?

ตอนที่แล้วพาท่านผู้อ่านไปทำความรู้จักกับสุราจีนกันพอสังเขปแล้ว ในสัปดาห์นี้ อยากจะขอแนะนำเหล้าชื่อแปลกที่ฟังแล้วชวนฉงนสนเท่ห์ถึงที่มายิ่งนัก

“นารีแดง” เป็นชื่อเหล้าเหลืองประเภทหนึ่งของจีน หลายครั้งที่เหล่าจอมยุทธในนิยายกำลังภายในมักสั่งเหล้าชื่อแปลกนี้มาซดย้อมใจ และเมื่อไม่นานมานี้ได้ข่าวว่า คณะกรรมการจัดงานโอลิมปิกได้ร่างรายการอาหารสำหรับต้อนรับนักกีฬา เจ้าหน้าที่รัฐ โดยในรายการประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น มีชื่อของเบียร์ชิงเต่า เหมาไถ และเหล้านารีแดงแห่งเส้าซิงรวมอยู่ด้วย


ออกเรือนมิอาจขาดนารีแดง

นารีแดง(女儿红-หนี่ว์เอ๋อร์หง) เป็นเหล้าฮวาเตียวที่ขึ้นชื่อของอำเภอเส้าซิง มีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เหล้าบุตรสาว” (女儿酒) ประกอบด้วย 6 รสชาติ ได้แก่ หวาน ฝาด เปรี้ยว ขม ร้อน และ กลมกล่อม

ในบันทึกตำราสมุนไพรแดนใต้ 《南方草木状》 สมัยราชวงศ์จิ้นได้ระบุไว้ว่า ในอดีตเมื่อคุณหนูสกุลสูงศักดิ์จะออกเรือน จะมีการนำเหล้านารีแดงเตรียมไว้ให้เจ้าสาวนำติดตัวไปด้วย

นอกจากนี้ยังมีเรื่องเล่าถึงที่มาชื่อของนารีแดงด้วยว่ามาจากในอดีต อำเภอเส้าซิง มณฑลเจ้อเจียง มีช่างตัดเสื้ออยู่ผู้หนึ่ง เขาได้แต่งภรรยาเข้าบ้าน ก็เพื่อหวังจะมีบุตรชายไว้สืบสกุล และแล้ววันหนึ่งช่างตัดเสื้อได้ทราบว่าภรรยาของตนเองนั้นตั้งครรภ์ ก็ให้รู้สึกดีใจเป็นอย่างยิ่ง จัดแจงซื้อเหล้าหลายไหกลับบ้าน เตรียมไว้รอลูกชายคลอดออกมาก็จะนำเหล้าเหล่านี้ออกมาเลี้ยงญาติสนิทมิตรสหาย


@@@@@@

แต่คาดไม่ถึง ภรรยาของเขากลับให้กำเนิดบุตรสาว ในขณะนั้นสังคมจีนให้ความสำคัญกับลูกชายมาก มองไม่เห็นความสำคัญของลูกสาว ด้วยความโมโห ช่างตัดเสื้อจึงได้นำเหล้าทั้งหมดที่ซื้อมานำไปฝังไว้ใต้ต้นดอกกุ้ยฮวา

วันเวลาล่วงเลยผ่านไป บุตรสาวเติบโตเป็นสาวเต็มตัว ทั้งยังเฉลียวฉลาด สามารถเรียนรู้ศิลปะวิชาการปักผ้าจากผู้เป็นพ่อได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง แถมยังมีฝีมือการปักดอกไม้ที่วิจิตรบรรจงงดงามอีก กิจการการค้าของร้านนับวันยิ่งดีวันดีคืน


เหล้านารีแดง

กระทั่งช่างตัดเสื้อคิดได้ว่าการให้กำเนิดลูกสาวไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสียทีเดียว ดังนั้นจึงได้ตัดสินใจยกลูกสาวให้แต่งงานกับลูกศิษย์คนโปรดของตน และลงทุนจัดงานแต่งงานให้ลูกสาวอย่างยิ่งใหญ่ และในวันแต่งงานนั้นเอง ช่างตัดเสื้อนึกขึ้นได้ถึงเหล้าที่ฝังอยู่ใต้ต้นกุ้ยฮวาหลายสิบปี จึงได้นำเอาเหล้าออกมาให้แขกเหรื่อได้ลิ้มรส ปรากฏว่าแค่เพียงเปิดฝาไหออก กลิ่นหอมก็ขจรขจายไปทั่ว รสชาติของเหล้าที่บ่มนานนับสิบปีก็กลมกล่อมยิ่ง ดังนั้นทุกคนพร้อมใจกันเรียกเหล้าดังกล่าวว่า “นารีแดง”

หลังจากนั้นมา ไม่ว่าบ้านใดให้กำเนิดลูกสาว ก็จะนิยมนำเหล้าไปฝังดิน เมื่อลูกสาวออกเรือนก็จะขุดเอาเหล้าที่ฝังไว้ออกมาเลี้ยงแขก กลายเป็นประเพณีนิยมสืบทอดกันต่อมา


@@@@@@

ในภายหลังแม้แต่บ้านที่ให้กำเนิดลูกชาย ก็มีประเพณีนิยมฝังเหล้าด้วยเช่นกัน ด้วยหวังว่าเมื่อบุตรชายสอบติดจอหงวนแล้ว ก็จะนำเอาเหล้าที่ฝังไว้ออกมาดื่มฉลอง และเรียกเหล้าดังกล่าวว่า “จอหงวนแดง” ด้วย

ทั้งนารีแดงและจอหงวนแดง ล้วนเป็นเหล้าเก่าที่ผ่านการเก็บบ่มมาเป็นเวลานาน รสชาติของเหล้ากลมกล่อมและเยี่ยมยอด ดังนั้นผู้คนจึงนิยมนำเหล้าประเภทนี้มาเป็นของขวัญมอบให้แก่กันนั่นเอง



แปล/เรียบเรียงโดย สุกัญญา แจ่มศุภพันธ์
ขอบคุณ : https://mgronline.com/china/detail/9510000071641
คอลัมน์ อู่วัฒนธรรม ,เผยแพร่ : 18 มิ.ย. 2551 19:03 ,โดย : MGR Online
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ