ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ท้าวเวสสุวรรณ who are you.?  (อ่าน 638 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28450
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ท้าวเวสสุวรรณ who are you.?
« เมื่อ: สิงหาคม 16, 2023, 07:41:56 am »
0

 


ท้าวเวสสุวรรณ who are you.? | คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ถ้าถามว่าตอนนี้ “สายมู” เขากำลังสนใจเทพองค์ใด ใครกำลังเป็นกระแส เป็นที่สนใจของวงการการตลาดวัตถุมงคลไทย ห้วงเวลานี้คงไม่พ้น “ท้าวเวสสุวรรณ” (เขียนอย่างไทยๆ) ครับ

ผมเห็นคนดัง เพื่อนในเฟซบุ๊กและอินสตาแกรมโดยเฉพาะสาวๆ ต่างพากันไปกราบไหว้ “พ่อเวสฯ” ณ วัดแห่งหนึ่งซึ่งเปิดให้ไหว้ได้แม้ในเวลาดึกดื่น สถานสักการะหลายแห่งของเอกชนต่างรีบก่อสร้างท้าวเวสสุวรรณอย่างเร่งด่วน รวมทั้งวัดหลายแห่งก็รีบจัดสร้างวัตถุมงคลกันเป็นการใหญ่

ภาพแบบนี้จะกลับมาเป็นระลอกๆ ครับ ตั้งแต่สมัยจตุคามรามเทพ เรื่อยมาจนไอ้ไข่ ดูเหมือนตอนนี้ไอ้ไข่จะเพลาๆ ความนิยมลงบ้างแล้ว ท้าวเวสสุวรรณกำลังมา พร้อมๆ กับสายจีนที่เริ่มมีกระแสของเทพเห้งเจียหรือไต่เส่งปุดจ้อ (เขียนอย่างฮกเกี้ยน ถ้าแบบแต้จิ๋วก็เรียก ไต้เสี่ยฮุดโจ้ว)

@@@@@@@

ทำไมท้าวเวสสุวรรณกลายเป็นที่นิยม

ตอบแบบกำปั้นทุบดิน ผมคิดว่าก็เพราะวงจรวัตถุมงคลเวียนมาถึงพอดี ยิ่งเป็นเทพที่ดูแรง ดูมีความคลุมเครือหรือที่มาที่ไปมีหลายแบบ แถมเกี่ยวกับโชคลาภก็ยิ่งแล้วใหญ่

สังเกตดูครับ เทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์องค์ใดที่มีที่มาที่ไปชัดเจน จะทำให้บูมระเบิดเปรี้ยงเดียวก็ไม่ค่อยได้ เพราะสร้างคำอธิบายใหม่ๆ โดยเฉพาะในเรื่องสรรพคุณได้ยาก แต่หากคลุมเครือหน่อยจะกลายเป็นวัตถุดิบชั้นดีที่จะสร้าง “เรื่องเล่า” ต่อได้

พลังของเรื่องเล่านี้แหละที่สร้างมูลค่าอย่างมหาศาลให้กับวัตถุมงคล

ที่จริงจะบอกว่า ท้าวเวสสุวรรณมีความคลุมเครืออย่างจตุคามรามเทพก็ไม่ใช่หรอกครับ เพียงแต่เทพองค์นี้ถูกสร้างความหมายไว้หลายแบบ นับตั้งแต่ก่อนจะเข้ามาสู่สังคมไทยแล้วซะอีก พอเข้ามาในสังคมไทยก็ยังมีความหมายใหม่ๆ ซ้อนทับลงไปหลายชั้น

หากว่ากันตั้งแต่โบราณ ที่จริง ท้าวเวสสุวรรณ (ชื่ออย่างไทยที่ลากเข้าคำนาม สุวรรณ แปลว่าทอง) มีที่มาที่ไปเก่าแก่ถึงยุคพระเวท นามเดิมจากยุคนั้นคือ ไวศรวัณ (ซึ่งในบาลีเขียน เวสสวัณ และเพี้ยนเป็น เวสสุวรรณ) หรืออีกชื่อคือท้าวกุเวร

ท้าวกุเวร จะว่าไปก็ไม่ใช่เทพในความหมายที่เคร่งครัด แต่เป็นอมนุษย์จำพวก “ยักษ์”


@@@@@@@

เผอิญในสังคมไทย เราเรียกยักษ์รวมกับอมุษย์ประเภทอื่นๆ ที่คล้ายกันโดยไม่แบ่งแยก แล้วทำรูปให้มีหน้าตาอย่างเดียวกัน ซึ่งชวนให้สับสน เช่น ทศกัณฐ์ ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับท้าวกุเวรนั้น ที่จริงเป็นพวก “รากษส” ไม่ใช่ “ยักษะ” อย่างท้าวกุเวร

คนไทยเรียกยักษ์เรียกมารหมด ปั้นรูปไว้เฝ้าหน้าวัดก็ปั้นหน้าตาอย่างเดียวกัน นี่เลยทำให้บางคนไปถือเอารูปยักษ์หรือรากษสเฝ้าวัดเป็นท้าวเวสสุวรรณไปหมด เพราะสับสนนี่แหละ

พวกรากษสในเทวตำนานอินเดียนั้น เป็นพวกดุร้าย นิสัยไม่ใคร่ดี มักจับมนุษย์หรือสัตว์กิน ส่วนพวกยักษ์ถ้าจะเทียบกับเทวตำนานฝรั่งคือพวก “แคระ” (dwarf) พวกนี้เกี่ยวพันกับความอุดมสมบูรณ์ และสินทรัพย์ทั้งหลายในดินหรือใต้ดิน

อันที่จริง อมนุษย์จำพวกนี้คือเทพหรือผีของชาวบ้านนั่นเอง ซึ่งมีลักษณะต่างไปจากเทพของพวกอารยัน แม้ว่าอารยันจะรับเข้ามาเป็นเทพของตัวก็มีอยู่ แต่ก็มิได้สำคัญเท่าเทพอื่นๆ

ท้าวกุเวรหรือไวศรวัณจึงถือเป็นเทพแห่งทรัพย์ เพราะที่มาจากคติดั้งเดิม เมื่อยุคเทวตำนานแพร่หลาย ก็ว่ากันว่า ท้าวเธอเป็นผู้ภักดีต่อพระศิวะอย่างยิ่งยวด พระศิวะจึงประทานเมืองให้หลังจากทศกัณฐ์มาแย่งเมืองและวิมานบุษบกหรือเครื่องบินส่วนตัวของเธอไป

คนฮินดูเชื่อว่าท้าวกุเวรแม้จะเป็นเจ้าแห่งทรัพย์ แต่ก็เข้าทำนองปู่โสมเฝ้าทรัพย์ หรือเป็นนายคลังของเทวดา มากกว่าจะเป็นผู้ประทานโชคลาภโดยตรงอย่างพระลักษมี และมักบูชาในฐานะเทพที่เป็น “ทิกปาล” หรือเทพเจ้าผู้ประจำทิศมากกว่า แต่นักโหราศาสตร์อินเดียก็พยายามให้มีการบูชารวมไปกับพระลักษมีอยู่บ้าง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องไม่ได้เก่านัก

@@@@@@@

ท้าวกุเวรประจำอยู่ทิศเหนือ ที่น่าสนใจคือ เทวตำนานบางเรื่องจะบอกว่า พระองค์มีพาหนะเป็น “มนุษย์” หรือขี่คนนั่นแหละ บางท่านตีความว่า เรื่องเงินทองทรัพย์สิน (ซึ่งแทนด้วยท้าวกุเวร) นี้ ใครใหลหลงเข้ามันก็จะขี่เราอยู่เสมอไป

ท่านจึงทำรูปนี้ไว้เตือนใจ ว่าระวังอย่าให้เงินทองทรัพย์สินมันขี่เอา

ดังที่ผมกล่าวไว้ข้างต้นว่า พวกยักษ์เป็นเทพของชาวบ้าน พวกยักษ์จึงเป็นที่นิยมของพุทธศาสนาและศาสนาไชนะ (เชน) ในยุคต้น ซึ่งเป็นศาสนาของชาวบ้าน ไม่ใช่ศาสนาหลวงอย่างพราหมณ์ เราจึงพบรูปสลักยักษะและยักษีในพุทธสถาน เช่น สถูปสาญจีหรือแหล่งโบราณคดีทางพุทธศาสนา ท้าวกุเวรหรือไวศรวัณจึงเข้าไปมีบทบาทในพุทธศาสนาด้วย

ทว่าบทบาทของท้าวไวศรวัณหรือเวสวัณในพุทธศาสนานั้น ดูมีแง่มุมที่ต่างออกไป นอกจากจะเป็นเทพประจำทิศอย่างฮินดู (คือเป็นจตุโลกบาล) ยังมีพระสูตรที่พูดถึงบทบาทของเทพองค์นี้เป็นพิเศษ คือ อาฏานาฏิยสูตร ที่กล่าวว่าท้าวเวสวัณประสงค์จะปกป้องพุทธบริษัทจากภัยของอมนุษย์ทั้งหลาย จึงรับหน้าที่ดูแลชาวพุทธจากภัยเหล่านั้น

ส่วนพุทธศาสนาฝ่ายวัชรยานถือว่าท้าวกุเวรหรือที่นิยมเรียกว่า “ชัมภล” เป็นพระโพธิสัตว์องค์หนึ่งเลยทีเดียว มีหน้าที่ดูแลผู้ปฏิบัติธรรมไม่ให้ยากไร้จนเสียการปฏิบัติ และทำให้วัดวาอารามมีความมั่งคั่งพอเลี้ยงดูพระเณรผู้คน

ความร่ำรวยจากพระชัมภลนี้จึงเป็นความร่ำรวยไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง แต่เพื่อสรรพสัตว์ทั้งปวง


@@@@@@@

ส่วนในไทยเรานั้น เน้นที่มาจากอาฏานาฏิยสูตรมาก จนก่อให้เกิดพิธี “สวดภาณยักษ์” ที่นำเอา “อาฏานาฏิยปริตร” มาสวดทำเสียงยักษ์เสียงโหยหวนเพื่อไล่พวกอมนุษย์ภูตผีปีศาจออกไป

ท้าวเวสสุสรรณในคติบ้านเราจึงไม่ค่อยมีเค้าแบบฮินดูในฐานะเจ้าแห่งทรัพย์ แต่เราเน้นมิติของภูตผีปีศาจมากกว่า รูปลักษณ์เราก็เอาอย่างยักษ์ ถือกระบองทรงพลานุภาพเป็นอาวุธ และไม่ได้ถือสัญลักษ์แห่งทรัพย์ดังที่ปรากฏในฝ่ายวัชรยาน

ผมทราบมาว่า แต่เดิมผ้ายันต์รูปแม่ซื้อที่ผูกเปลเด็ก เขามักมีอีกด้านเป็นรูปท้าวเวสสุวรรณ เผื่อไล่ภูตผีปีศาจไม่ให้มารบกวนเด็กอ่อน แต่มีธรรมเนียมว่า ถ้าเป็นลูกชาวบ้าน ให้ใช้ท้าวเวสสุรรณหน้ายักษ์ แต่หากเป็นเปลหรือพระอู่เจ้านาย ให้ใช้รูปท้าวเวสสุวรรณหรือเป็นหน้าเทวดา นอกจากจะเป็นเครื่องแบ่งชนชั้นแล้ว คงแสดงให้เห็นว่าเจ้านายมีความสุขุมาลย์ หรือ บอบบางกว่ากันกระมัง

นอกจากนี้ ในพระราชพิธีพัจฉรฉินท์ หรือพิธีตรุษไทยในสมัยก่อน มีการสวดอาฏานาฯ เพื่อไล่ผี ทั้งยังมีการทำกระบองด้วยใบตาลหรือวัสดุอื่น ซึ่งถือกันว่าเป็นอาวุธของท้าวเวสสุวรรณให้ถือในพิธีอีกด้วย

@@@@@@@

ความเชื่อถือท้าวเวสสุวรรณในฐานะนายผีนี้ นอกจากปรากฏในพิธีต่างๆ ข้างต้น แม้แต่ในสมัยปัจจุบัน สถานที่หลายแห่ง ที่เชื่อกันว่ามีภูตผีปีศาจรบกวน แทนที่จะตั้งศาลพระภูมิหรือศาลเทพอื่นๆ บางครั้งก็มีการตั้งศาลท้าวเวสสุวรรณ

นาม “ไวศรวัณ” ยังมีความพิเศษอีกอย่างในบ้านเรา คือเมื่อแผลงเป็นไทย “ไพศรพณ์” กลายเป็นเทพเจ้าอยู่สององค์ องค์หนึ่งเป็นเทพบุรุษทรงปลากรายซึ่งค่อยๆ ถูกลืมเลือนไป อีกองค์ก็คือผีแม่ข้าวพื้นเมือง ซึ่งนำนาม “โพสพ” (คำกลายจากไพศรพณ์)

ทั้งหมดนี้จะเกี่ยวกันอย่างไร ขอเวลาผมคิดและค้นคว้าอีกหน่อยเถิด

หากพูดแบบนักการตลาดวัตถุมงคล ท้าวเวสสุวรรณมีจุดแข็งมากๆ คือ คนชอบสายมูซึ่งมีจำนวนมากขึ้น อาจระแวงว่าตนจะโดนของหรือโดนภูตผีจาก “สายดำ” ครอบงำด้วยความไม่รู้ โดยเฉพาะวัยรุ่นมือใหม่หัดมู ท้าวเวสสุวรรณซึ่งเป็นสายปกป้องเรื่องพวกนี้โดยตรงและคุ้นเคยกันดีอยู่แล้วก็จะเข้ามาเสริมตรงนี้ได้อย่างง่าย

ยิ่งพอองค์ความรู้จากอินเดียมีมากขึ้น เริ่มรู้กันแล้วว่า เออ เดิมท่านเกี่ยวกับทรัพย์สินอะไรต่างๆ นี่หว่า พอมีฟังก์ชั่นด้านความร่ำรวยเพิ่มขึ้น ก็จะกลายเป็นจุดขายที่ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่คนเล่นสายมูหรือเน้นกันผีเท่านั้น

แต่ก็นั่นแหละครับ ใครใคร่ไหว้อะไรก็ไหว้ไปเถิด ดูแลตัวเองกันไปด้วย ที่สำคัญลองสังเกตว่า มีอะไรหนักๆ ที่หลังเราไหม อย่าให้อะไรมาขี่หลังเรา ไม่ว่ายักษ์หรือคนด้วยกัน





ขอขอบคุณ :-
ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2565
คอลัมน์ : ผี-พราหมณ์-พุทธ
ผู้เขียน : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เผยแพร่ : วันอังคารที่ 15 สิงหาคม พ.ศ.2566
website : https://www.matichonweekly.com/column/article_522991
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ