ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: กึสุ โลกสฺมิ ชาคโร - อะไรหนอ.? เป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก.!!  (อ่าน 563 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออนไลน์ ออนไลน์
  • กระทู้: 28448
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.



สติ โลกสฺมิ ชาคโร (บาลีวันละคำ 3,984)



เรียนบาลีจากคำผิด

"สติ โลกสฺมิ ชาคโร"  คำบาลีที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นเป็น “คาถา” 1 บาท หรือ 1 วรรค คำว่า “คาถา” หมายถึงบทร้อยกรองในภาษาบาลี อย่างที่พูดในภาษาไทยว่า กาพย์กลอนโคลงฉันท์

“คาถา” นั้น ในบาลีนิยมเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ฉันท์” แต่อาจแยกความหมายได้ดังนี้ :-

    - เมื่อหมายถึงบทร้อยกรองทั่วไปในภาษาบาลี เรียกว่า“คาถา”
    - เมื่อหมายถึงชนิดหรือประเภทของบทร้อยกรองนั้นๆ (ชนิดหรือประเภทของคาถา) เรียกว่า “ฉันท์”

“ฉันท์” นั้นมีมากมายหลายชนิด แต่ละชนิดมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไป ฉันท์ทุกชนิดมีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานกลางเหมือนกัน คือ 4 บาท เป็น 1 บท (ในภาษาไทย คำว่า “บาท” เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “วรรค”)

ความแตกต่างของฉันท์แต่ละชนิดกำหนดด้วย (1) จำนวนพยางค์ใน 1 บาท และ (2) ลำดับคำที่เป็นครุหรือลหุในแต่ละบาท คือในแต่ละบาท คำที่เท่าไรต้องเป็นครุ คำที่เท่าไรต้องเป็นลหุ ข้อกำหนดว่าด้วยคำ ครุ-ลหุ นี้ เรียกว่า “คณะฉันท์” รู้ไว้คร่าวๆ เท่านี้ก่อน ผู้สนใจพึงศึกษารายละเอียดต่อไป

คำบาลีที่ยกขึ้นตั้งข้างต้นเป็นคาถาชนิดที่มีชื่อว่า “ปัฐยาวัตฉันท์” ฉันท์ชนิดนี้มีกำหนดว่า 1 บาทมี 8 พยางค์ (โปรดนับพยางค์ในคำบาลีข้างต้นนั้นดู)

ข้อความที่เป็นคาถาหรือฉันท์นั้น ถ้าอ่านในเล่มคัมภีร์จะรู้ได้ง่าย เพราะคัมภีร์ที่พิมพ์เป็นเล่มนิยมแบ่งวรรค แบ่งบรรทัด ให้เห็นได้ชัดเจนว่าข้อความนั้นเป็นคาถา แต่ถ้ายกเฉพาะบาทคาถามาเขียนเป็นต่างหาก ผู้ที่ไม่ได้เรียนบาลีหรือนักเรียนบาลีที่ยังเรียนไม่ถึงวิชาแต่งฉันท์ ก็อาจจะไม่รู้ว่า คำบาลีที่เห็นนั้นเป็นคาถาหรือว่าเป็นคำธรรมดา

“สติ โลกสฺมิ ชาคโร” เป็นคาถาปัฐยาวัตฉันท์ 1 บาทหรือ 1 วรรค เขียนแบบคำอ่านเป็น “สะติ โลกัส๎มิ ชาคะโร”


@@@@@@@

ศึกษาศัพท์

(๑) “สติ” อ่านว่า สะ-ติ รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส) : สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า
            (1) “กิริยาที่ระลึกได้”
            (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้”
            (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”

“สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า...
“สติ : (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกตัว, เช่น ได้สติ ฟื้นคืนสติ สิ้นสติ, ความรู้สึกผิดชอบ เช่น มีสติ ไร้สติ, ความระลึกได้ เช่น ตั้งสติ กำหนดสติ. (ป.; ส. สฺมฺฤติ).”

(๒) “โลกสฺมิ” อ่านว่า โล-กัด-สมิ , สฺ ออกเสียงครึ่งเสียง ถ้าอ่านแยกพยางค์เด็ดขาดเพื่อนับจำนวนพยางค์ ก็อ่านว่า โล-กัด-มิ เป็น 3 พยางค์ แต่เวลาอ่านจริง –มิ มีเสียง สะ นำหน้าครึ่งเสียง คือไม่ใช่ สะ-มิ แต่เป็น สฺมิ คล้ายกับจะออกเสียงว่า สิม แต่ปลายเสียงเป็น -มิ

    “โลกสฺมิ” รูปคำเดิมเป็น “โลก” อ่านว่า โล-กะ รากศัพท์มาจาก 
     (1) ลุชฺ (ธาตุ = พินาศ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แปลง ช เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ : ลุชฺ > ลุก > โลก + ณ = โลกณ > โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะพินาศไป”
     (2) ลุจฺ (ธาตุ = ย่อยยับ, พินาศ) + อ (อะ) ปัจจัย แปลง จ เป็น ก แผลง อุ เป็น โอ : ลุจฺ > ลุก > โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่จะย่อยยับไป”
     (3) โลกฺ (ธาตุ = เห็น, ปรากฏ; ตั้งอยู่) + อ (อะ) ปัจจัย : โลก + อ = โลก แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างอันเขาเห็นอยู่” (2) “ร่างเป็นที่ตั้งอยู่แห่งบุญบาปและผลแห่งบุญบาปนั้น”

“โลก” (ปุงลิงค์) มีความหมายดังนี้
(1) ดินแดน แผ่นดิน วัตถุธาตุ หรือดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง คือโลกที่เรามองเห็นและอาศัยอยู่นี้ รวมทั้งดาวดวงอื่น
(2) สิ่งมีชีวิต เช่น คน สัตว์ เช่นในคำว่า สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม
(3) สังคม หมู่ชน ชุมชน เช่นในคำว่า โลกติเตียน เมตตาธรรมค้ำจุนโลก
(4) ชีวิต อันประกอบด้วยร่างกาย จิตใจ และพฤติกรรม ของแต่ละคน ที่สำนวนเก่าเรียกว่า “โลกคือกายยาววา หนาคืบ กว้างศอก”
(5) วิสัยหรือธรรมดาของโลก เช่น เกิด แก่ เจ็บ ตาย พบ พราก ได้ เสีย อิ่ม อด สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์
(6) ค่านิยม ความคิดจิตใจ ความประพฤติแบบหนึ่ง ที่ตรงกันข้ามกับ “ธรรม” เช่น – ดื่ม กิน เที่ยว เสพสุข เป็น “โลก” สงบ สำรวม ควบคุมขัดเกลาตนเอง เป็น “ธรรม”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า...
“โลก, โลก– : (คำนาม) แผ่นดิน, โดยปริยายหมายถึงหมู่มนุษย์ เช่น ให้โลกนิยม; ส่วนหนึ่งแห่งสกลจักรวาล เช่น มนุษยโลก เทวโลก พรหมโลก โลกพระอังคาร; (คำที่ใช้ในภูมิศาสตร์) ดาวเคราะห์ดวงหนึ่ง มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ ๕ ในระบบสุริยะ เป็นที่อยู่อาศัยของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ลักษณะอย่างรูปทรงกลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางที่ศูนย์สูตรยาว ๑๒,๗๕๕ กิโลเมตร ศูนย์กลางที่ขั้วโลกยาว ๑๒,๗๑๑ กิโลเมตร มีเนื้อที่บนผิวโลก ๕๑๐,๙๐๓,๔๐๐ ตารางกิโลเมตร. (ป., ส.).”

บาลี “โลก” (โล-กะ) แจกด้วยวิภัตตินามที่เจ็ด (สัตตมีวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โลกสฺมิ” แปลว่า “ในโลก”

โปรดเปรียบเทียบ
“โลก” (โล-กะ) แปลว่า “โลก”
“โลกสฺมิ” แปลว่า “ในโลก”

(๓) “ชาคโร” อ่านว่า ชา-คะ-โร รูปคำเดิมเป็น “ชาคร” อ่านว่า ชา-คะ-ระ รากศัพท์มาจาก “ชาครฺ” (ธาตุ = สิ้นความหลับ) + อ (อะ) ปัจจัย : ชาครฺ + อ = ชาคร แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ตื่นตัว” หมายถึง ตื่น, เฝ้าสังเกต, คอยเอาใจใส่, ระวังระไว, ตั้งตาคอยดู (waking, watchful, careful, vigilant)

“ชาคร” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “ชาคโร”

หมายเหตุ : “ชาคร” มักใช้เป็นคุณศัพท์ (วิเสสนะ) แต่ใช้เป็นคำนามก็มี “ชาคร” ที่ใช้เป็นคำนามเป็นทั้งปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์




ขยายความ

“สติ โลกสฺมิ ชาคโร” (สะติ โลกัส๎มิ ชาคะโร) แปลว่า “สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก”

ข้อความเต็มของคาถาบทนี้อยู่ในปัชโชตสูตรในพระไตรปิฎก ขอนำข้อความเต็มๆ มาแสดงไว้ในที่นี้เป็นการศึกษาเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้

(เทวดาทูลถามว่า)
กึสุ โลกสฺมิ ปชฺโชโต - อะไรหนอเป็นแสงสว่างในโลก
กึสุ โลกสฺมิ ชาคโร - อะไรหนอเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
กึสุ กมฺเม สชีวานํ - อะไรหนอเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน
กึสุ จสฺส อิริยาปโถ - อะไรหนอเป็นเครื่องสืบต่อชีวิตของเขา
กึสุ อลสํ อนลสญฺจ มาตา ปุตฺตํว โปสติ - อะไรหนอย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง ดุจมารดาเลี้ยงดูบุตร
กึสุ ภูตา อุปชีวนฺติ เย ปาณา ปฐวึ สิตาติฯ - เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยอะไรหนอเลี้ยงชีวิต

(พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า)
ปญฺญา โลกสฺมิ ปชฺโชโต - ปัญญาเป็นแสงสว่างในโลก
สติ โลกสฺมิ ชาคโร - สติเป็นธรรมเครื่องตื่นอยู่ในโลก
คาโว กมฺเม สชีวานํ - ฝูงโคเป็นสหายในการงานของผู้เป็นอยู่ด้วยการงาน
สีตสฺส อิริยาปโถ - ไถเป็นเครื่องต่อชีวิตของเขา
วุฏฺฐิ อลสํ อนลสญฺจ มาตา ปุตฺตํว โปสติ - ฝนย่อมเลี้ยงบุคคลผู้เกียจคร้านบ้าง ไม่เกียจคร้านบ้าง เหมือนมารดาเลี้ยงบุตร
วุฏฺฐึ ภูตา อุปชีวนฺติ เย ปาณา ปฐวึ สิตาติฯ - เหล่าสัตว์มีชีวิตที่อาศัยแผ่นดิน อาศัยฝนเลี้ยงชีวิต

________________________________________
ที่มา : ปัชโชตสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 217, 218

@@@@@@@

แถม

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ โปรดดูภาพประกอบเพื่อตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ ภาพประกอบเป็นภาพปกหนังสือที่พิมพ์เผยแพร่ไปแล้ว โปรดดูข้อความบรรทัดบนสุดที่ปรากฏบนปกเปรียบเทียบกับข้อความที่นำมาจากพระไตรปิฎก และที่อธิบายมา ท่านสามารถบอกได้หรือไม่ว่าข้อความบนปกหนังสือผิดพลาดคลาดเคลื่อนตรงไหน เรื่องนี้ไม่ใช่การจับผิด แต่เป็นการถือโอกาสเรียนบาลีจากคำผิด

สิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ในปัจจุบันนี้ก็คือ ถ้อยคำภาษาหรือข้อธรรม เมื่อมีการพูดผิด เขียนผิด นำมาแสดงผิด ก็มักไม่มีใครสนใจหรือติดใจที่จะชี้แจงแก้ไข มักอ้างว่าเป็นแค่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่เหตุผลสำคัญคือเพราะเกรงกลัวคำประณามที่จะตามมาว่า “ดีแต่เที่ยวตำหนิคนอื่น” หรือ “ดีแต่เที่ยวจับผิดชาวบ้าน”

สังคมเรามาถึงขั้นที่แยกไม่ออกบอกไม่เป็นแล้วว่า อย่างไรคือจับผิด อย่างไรคือชี้โทษ เพราะฉะนั้น ความวิปริตทั้งทางโลกและทางพระศาสนาก็นับวันจะแพร่หลายขยายตัวออกไปทุกทีๆ และสักวันหนึ่งก็จะถึงขั้นที่แยกไม่ออกบอกไม่เป็นว่า อะไรถูกอะไรผิด อะไรชั่วอะไรดี อะไรควรเว้นอะไรควรทำ เห็นสิ่งควรทำเป็นสิ่งควรเว้น และเห็นสิ่งควรเว้นเป็นสิ่งควรทำ และเมื่อถึงวันนั้น มนุษย์ก็จะอยู่ร่วมกันแบบ-ไม่ต่างไปจากสัตว์

ดูก่อนภราดา.! เห็นการชี้โทษเป็นการจับผิด คือให้สิทธิ์คนสร้างความวิปริตได้อย่างเสรี




Thank to : https://dhamtara.com/?p=27187
บาลีวันละคำ (3,984) | admin : suriyan bunthae | 24 สิงหาคม 2023
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: กันยายน 23, 2023, 08:21:50 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ