ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: การแพร่กระจายของ "คาถา-เยธัมมา" จากชมพูทวีปสู่สุวรรณภูมิ  (อ่าน 499 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


:25: :25: :25:
.
การแพร่กระจายของ "คาถา-เยธัมมา" จากชมพูทวีปสู่สุวรรณภูมิ

A SPREADING OF YE DHAMMA STANZA FROM JAMBUDIPA TO SUVANNABHUMI


พระมหาดาวสยาม วชิรปญฺโญ
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณาชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น
Phramaha Daosayam Vajirapanno
Mahachulalongkornrajavidyalaya University Khonkaen Campus, Thailnad
Email : starsiam45@hotmail.com



บทคัดย่อ

พระพุทธศาสนาได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อ 2600 กว่าปีที่ผ่านมา ณ ดินแดนชมพูทวีป หรือประเทศอินเดียในปัจจุบัน โดยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ชาวพุทธเรียกกันติดปาก พระองค์มีนามจริงว่า สิทธัตถะ(สันสกฤต สิทธารถะ) นามสกุลว่า โคตรมะ (สันสกฤตว่า เคาตมะ) เมื่อทรงออกผนวช พระชันษา 29 ต้องใช้เวลาบำเพ็ญเพียรอยู่ถึง 6 ปี จึงได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ จากนั้นจึงได้แสดงธรรมครั้งแรกโปรดปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี

เมื่อออกพรรษาแล้ว จึงได้ส่งสาวก 60 องค์ ไปเผยแผ่พุทธศาสนา โดยย้ำไม่ให้เสด็จไปด้วยกันทางเดียว เพื่อพุทธศาสนาจะได้รับการเผยแผ่ไปในวงกว้าง เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์ทั้งมวล ในบรรดาพระสาวกทั้ง 60 องค์นั้น พระอัสสชิเถระ(สันสกฤตว่า อัศวชิต) ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ออกบวชพร้อมคณะปัญจวัคคีย์ ได้เดินทางมุ่งหน้าไปยังกรุงราชคฤห์ เพื่อเผยแผ่พุทธศาสนาตามพุทธดำรัสของพระพุทธองค์

ในขณะที่ท่านบิณฑบาตบนถนนภายในเมืองราชคฤห์ อุปติสสะปริพพาชกซึ่งต่อมา คือ พระสารีบุตร เกิดความสนใจจึงติดตามแล้วขอฟังธรรมจากท่าน พระเถระจึงได้แสดงธรรมโปรดแบบย่อ ๆ ว่า "เย ธัมมา เหตุปัพพวา เตสัง เหตุง ตถาคโต เตสัญจ โย นิโรโธ จ เอวัง วาที มหาสมโณ" คาถาเย ธัมมานี้เองต่อมาได้กระจายไปทั่วอินเดีย มากกว่าคาถาอื่น ๆ จากนั้นได้กระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ดินแดนสุวรรณภูมิ


คำสำคัญ : พระคาถา เย ธัมมา ; พระอัสสชิ ; อุปติสสะปริพพาชาก ; ชมพูทวีป ; สุวรรณภูมิ

______________________________________________________________
ได้รับบทความ : 11 กุมภาพันธ์ 2564 ; แก้ไขบทความ : 27 มีนาคม 2564 ; ตอบรับตีพิมพ์ : 30 มีนาคม 2564
Received : February 11, 2021 ; Revised : March 27, 2021 ; Accepted : March 30, 2021



Abstract

Buddhism was founded by Shakyamuni Buddha in 2600 years ago, he came from Shakya clan, when he was 29 years old, he left the palace from Kapilvastu and decided to renounce the world and search for the way of enlightenment,

finally he got it under the Bodhi tree in the full moon day of Visakha month when he was 35 years old, and taught his sermon to 5 disciples at Isipatana deer park near Varanasi, finally he got 60 disciples for first retreat lent.

After the first Buddhist lent, the Buddha himself has sent 60 disciples for spreading Buddhism in all directions for the benefit of people and human peace,

among them, venerable Assaji (Asvajit in Sanskrit) came to  Rajagaha (Rajagriha in San-skrit) and taught to Upatissa in a short stanza (Sloka) that

   “Ye Dhamma Hetu Pabhava Tesam Tetum Tathagato Tesanca Yo Nirodho Ca Evam Vadi Mahasamano”.

After that, Buddhism spread throughout Jambudipa (Jambudvipa in Sanskrit) or India and Suvan-nabhumi (Suvarnabhumi in Sanskrit) or Southeast Asia and become the most popular stanza in Buddhism.


Keywords : Ye Dhamma Stanza ; Assaji ; Upatissa ; Jambudipa ; Suvannabhumi



บทนำ

คาถาเย ธัมมา เป็นคาถาที่สำคัญคาถาหนึ่งในพุทธศาสนาเถรวาท จนมีนักวิชาการบางคนกล่าวว่าคาถานี้เป็นหัวใจของพุทธศาสนาเลยทีเดียว คาถานี้เกิดขึ้นที่เมืองราชคฤห์ ผู้กล่าวเป็นท่านแรก คือ พระอัสสชิ อันเป็นหนึ่งในคณะปัญจวัคคีย์ชาวเมืองกบิลพัสดุ์ ออกบวชตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จนได้ฟังธรรมครั้งแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสีแล้วขออุปสมบท (วิ.ม. (ไทย) 4.10/15)

จากนั้นเดินทางมาเผยแผ่พระธรรมตามพุทธโอวาทของพระพุทธองค์ แล้วได้แสดงธรรมโปรดอุปติสสะปริพพาชกจนได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะอุปติสสะเป็นคนมีปัญญามาก อาศัยฟังเพียงโศลกหรือคาถาแค่นี้ แต่สามารถบรรลุโสดาบันได้

เมื่อเข้ามาบวชเป็นพระสงฆ์ในทางพุทธศาสนาแล้ว อุปติสสะปริพพาชกรู้จักกันในนามของพระสารีบุตรระลึกถึงและให้ความเคารพอาจารย์ของท่านเป็นอย่างยิ่ง เมื่อทราบว่าอาจารย์ท่านอยู่ในทิศใด จะหันหัวไปทางทิศนั้น แล้วกราบลงด้วยความเคารพอย่างสูง

คาถาเย ธัมมานี้มี 2 ลักษณะ คือ

1. ลักษณะในภาษาบาลี เขียนเต็มว่า
    “เย ธมฺมา เหตุปฺปพพวา  เตสํ เหตํ ตถาคโต อาห
     เตสญฺจ โย นิโรโธ จ    เอวํ วาที มหาสมโณ”


2. ลักษณะในภาษาสันสกฤต เขียนเต็มว่า
    “เย ธรฺมา เหตุปฺปรฺพวา  เหตํ เตสามฺ ตถาคตห หยวททตฺ
     เตสามฺ จ โย นิโรธห    เอวามฺ วาที มหาศรฺมณ”


ส่วนคำแปลนั้นเหมือนกันทั้งภาษาบาลีและสันสกฤต โดยแปลว่า “ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคตตรัสแสดงเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติตรัสอย่างนี้” (วิ.ม. (ไทย) 4/60/73)

ความหมาย คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีเหตุเป็นแดนเกิด คือ มีสาเหตุของการเกิดทั้งนั้น ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นมาลอยๆ ดังนั้นจะต้องรู้ขั้นตอนการเกิดและการดับเหตุของธรรมเหล่านั้น การเข้าไปดับซึ่งเหตุของธรรมเหล่านั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้อง และควรรู้ พระพุทธองค์มีปกติตรัสอย่างนี้

พระคาถานี้มีปรากฏในพระวินัยปิฎกมหาวรรค มหาขันธกะ เป็นเหตุการณ์ที่พระอัสสชิแสดงธรรมโปรดแก่อุปติสสะปริพพาชก
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 03, 2023, 10:59:15 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


การกระจายของคาถา เย ธัมมาในชมพูทวีป (อินเดีย)

เมื่อพุทธศาสนาแพร่หลายไปยังรัฐต่างๆในประเทศอินเดีย จารึกเย ธัมมาได้กระจายไปหลายที่หลายแห่ง แต่ส่วนใหญ่นั้นได้จารึกด้วยภาษาสันสกฤต ดังนี้

1. ถ้ำเอลโลร่า (Ellora Caves) อำเภอ ออรังคบาด รัฐมหาราษฏร์ เป็นหมู่ถ้ำ 3 ศาสนา จารึก เย ธัมมา ไว้ที่หน้าถ้ำหมายเลข 10 ถ้ำนี้ที่เรียกว่า "วิศวกรมา" เป็นถ้ำเจาะเป็นเจดีย์ภายในเป็นห้องยาวตั้งอยู่ที่ภูเขาชรานันทรี 30 กิโลเมตร จากเมืองออรังคบาด รัฐมหาราษฏร์ ถ้ำหมายเลข 1-12 เป็นถ้ำในศาสนาพุทธ 13-29 เป็นถ้ำในศาสนาฮินดู 30-34 เป็นถ้ำทางศาสนาเชน ทั้ง 3 ศาสนาของอินเดีย มาสร้างถ้ำอยู่ติดกัน (James Fergusson and James Burgess, 2000 : 377) ประดิษฐานเจดีย์อยู่ตรงกลาง หน้าเจดีย์เจาะเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่ปางแสดงธรรมหย่อนพระบาท ภาษาสันสกฤตอักษรอินเดียตะวันตกสมัยหลังคุปตะ ที่พัฒนามาจากอักษรพราหมี อายุพุทธศตวรรษที่ 12-13 เขียนไว้ที่มุขด้านหน้าถ้ำ ข้อความทำเป็น 2 บรรทัด (James Burgess, 1883 : 13)

2. สารนาถ (Sarnath) เมืองสารนาถสมัยโบราณเรียกว่าป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ห่างจากเมืองพาราณสี 10 กิโลเมตรทางทิศเหนือ เป็นสถานที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมครั้งแรกโปรดปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 เป็นที่กำเนิดพระรัตนตรัย จากการขุดค้นของนักโบราณคดีหลายท่าน คือ เซอร์อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม, จอห์น มาร์เชล, ทยาราม สาหนี ได้พบหลักฐานหลายอย่างที่มีจารึกเกี่ยวกับคาถาเหล่านี้

     2.1 จารึกที่ฐานพระพุทธรูปหินดำ พระเศียรขององค์พระหายไป สร้างสมัยปาละ อายุประมาณ พ.ศ.1500 ข้อความจารึกนั้นมี 2 ชุด ชุดแรกเขียนไว้ข้างบนระบนามผู้สร้างคืออุบาสกนามว่านามว่าสถิรปาละ และวสันตปาละ แห่งเมืองกาสี (พาราณสี) ชุดที่ 2 เขียนเป็นคาถาว่า เย ธัมมาเป็นภาษาสันสกฤต มี 2 แถว อักษรเทวนาครี (Daya Ram Sahni, 1972 : 88) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับอักษรเทวนาครีที่ชาวอินเดียส่วนใหญ่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

     2.2 จารึกเย ธัมมา ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี เขียนไว้ที่แผ่นหิน ระบุนามผู้สร้างคือ อุบาสกนามว่า สามังกะ (Samanka) จากแคว้นมคธได้สร้างไว้ พ.ศ.1500 ขุดพบที่สารนาถเมืองพาราณสี (Ibid. : 235)

     2.3 จารึกที่ดินเผา พบใกล้ๆกับมูลคันธกุฏิ ขุดพบโดยนายฌองค์ ฟิลิปล์ โวเกล (Vogel)ใน พ.ศ. 2434 ภาษาบาลีแต่ผสมกับภาษาสันสกฤตเล็กน้อย อักษรคุปตะของอินเดีย พ.ศ.800 มี 6 แถว(Archeological Survey of India, 2002 : 74) เป็นที่น่าสังเกตว่า จารึกนี้ใช้คำว่า อโวจ แทนคำว่าอาหะ และใช้คำว่า มหาศรมโณ แทนคำว่า มหาสมโณ นี้เป็นคาถา เย ธัมมา ชิ้นแรกที่เป็นภาษาบาลีที่ขุดพบที่นี่

3. พุทธคยา (Buddhagaya) พุทธคยา คือ สถานที่ตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลคยา อำเภอคยา รัฐพิหาร พระมหาบุรุษออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ มั่งหน้าแสวงหาคุณวิเศษจนมาถึงที่นี่ พระองค์ใช้เวลาบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 ปีจึงตรัสรู้ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 จากนั้นมาที่นี่กลายเป็น 1 ใน 4 สังเวชนียสถานของชาวพุทธเดินทางจารึกแสวงบุญต่อเนื่องมิได้ขาดจนเมื่อพุทธศาสนาสูญสลายไปในพ.ศ.1700 ที่นี่จึงรกร้าง พ.ศ. 2404 นายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮมได้มาสำรวจและขุดค้นที่นี่ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก จารึก เย ธัมมา ที่นี่ คือ

     3.1 จารึกใต้ฐานพระพุทธรูปองค์ดำ ขุดพบที่พุทธคยา สูง 3 ฟุตเศษ สร้าง พ.ศ.1300 สมัยราชวงศ์ปาละ เขียนด้วยอักษรเทวนาครี ภาษาสันสกฤต (Alexander Cunningham, 1892 : 89)ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ปัฏนะ

     3.2 จารึกที่ฐานพระพุทธรูปหินดำ ปางชนะมาร สูง 4 ฟุตเศษ พบที่วังมหันถ์ที่พุทธคยาสมัยปาละ พบครั้งแรกโดยนายพรานซีส บูคานัน ฮามินตั้น โดยเขาได้สเก็ตภาพนี้ไว้ จารึกภาษาสันสกฤตมี 1 แถว อักษรเทวนาครี พ.ศ. 1500 (Claudine Bautze Picron, 2015 : 335)

4. นาลันทา (Nalanda) นาลันทาเป็นบ้านเกิดและที่นิพพานของพระสารีบุตร ห่างจากพุทธคยา90 กิโลเมตร ห่างจากราชคฤห์ 16 กิโลเมตร ต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยที่สำคัญทางพุทธศาสนาจนถึง พ.ศ.1700 จึงได้ถูกทำลายลงโดยกองทัพมุสลิม โบราณสถานที่นี่จึงมีมากมาย พระพุทธรูปที่มีการจารึกคาถา เย ธัมมา นั้นมีทั้งหมด 12 องค์ ที่เด่นที่สุด คือ พระพุทธรูปองค์ดำ สร้าง พ.ศ.1500 ศิลปะสมัยปาละ จารึกนี้เขียนไว้ที่ฐานพระ ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี พบโดย ดร.ฟรานซีส บูคานัน ฮามิลตั้น (Dr.Francis Buchanan Hamilton) พ.ศ. 2377 ปัจจุบันองค์พระตั้งอยู่ที่หมู่บ้านบาระกาว (Bargaon) ติดกับซากมหาวิทยาลัยนาลันทา (Charles Allen, 2002 : 83) พระพุทธรูปองค์นี้ชาวไทยเรียกว่า หลวงพ่อดำ (Black Buddha) ชาวบ้านเรียกว่าเตริย บาบา (Teriya Baba)


ภาพวาดพระพุทธรูปที่นาลันทา โดยนายคามิลตั้น พร้อมจารึกเย ธัมมา

5. สุลต่านกันช์ (Sultanganj) พ.ศ. 2404 (ค.ศ.1861) วิศวกรก่อสร้างทางรถไฟชาวอังกฤษนามว่า อี.บี.แฮร์รีส (EB.Harris) ได้รื้อเนินโบราณเพื่อสร้างทางรถไฟ ได้พบพระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นได้พระพุทธยืนประทานอภัย โดยแกะสลักเป็นคนนั่งประนมมือยู่ข้าง ๆ ด้านขวา สูง 3 ฟุตเศษ ทำจากหินดำศิลปะปาละ ที่ฐานพระจารึกเย ธัมมา ภาษาสันสกฤต อายุพุทธศตวรรษที่ 15 มีจำนวน 2 แถว อักษรเทวนาครี(Sultanganj Buddha, 2563)

6. สาวัตถี (Savatthi) นครสาวัตถีเป็นเมืองที่รุ่งเรืองมากในสมัยพุทธกาล ปกครองโดยพระเจ้าปเสนทิโกศล พระพุทธองค์มาประทับที่เมืองนี้ถึง 25 พรรษา อารามที่สำคัญ คือ เชตะวันบุปผาราม ราชิการาม ปริพพาชิการาม โบราณสถานที่เมืองนี้จึงมีมาก พ.ศ.2404 อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Alexander Cunningham) ผู้อำนวยการกรมโบราณคดีท่านแรกของอินเดีย ได้มาสำรวจที่นี่ ได้ขุดค้นพบพระพุทธรูปจำนวนมาก ที่มีจารึกเย ธัมมามี 2 อย่าง คือ

     6.1 ที่ฐานพระ มีจำนวน 3 องค์ องค์ที่ 1 สูง 4 นิ้ว เขียนด้วยภาษาสันสกฤต มี 2 แถวอักษรอินเดีย พ.ศ.1000 องค์ที่ 2 สูง 3 นิ้ว เขียนด้วยภาษาสันสกฤต มี 2 แถว อักษรอินเดีย พ.ศ.1100 องค์ที่ 3 สูง 4.3 นิ้ว เขียนด้วยภาษาสันสกฤต มี 2 แถว อักษรอินเดีย พ.ศ.1100

     6.2 ตราประทับดินเผา มีตราประทับทำจากดินเหนียวเผาอย่างดีทรงกลม แกะเป็นรูปสถูปขนาดเล็ก 14 องค์ มีจารึก เย ธัมมา ภาษาสันสกฤต อักษรอินเดีย พ.ศ.1100 เขียนไว้ที่ใต้ตราประทับจำนวน 4 ชิ้น (Alexander Cunningham, 2000 : 89)

7. เดวเรีย (Deoria) เมืองนี้ตั้งห่างจากโครัขปูร์ 30 กิโลเมตร รัฐอุตตรประเทศ ที่นี่เป็นศูนย์กลางของพุทธศาสนามาหลายร้อยปี จนพุทธศาสนาได้เสื่อมสลายไปจากอินเดีย นายพลอเล็กซานเดอร์คันนิ่งแฮม อดีตผู้อำนวยการกรมโบราณคดี ได้มาสำรวจและขุดค้น พ.ศ.2404 ได้พบพระพุทธรูปหลายองค์ พระโพธิสัตว์ รวมทั้งรูปเคารพในศาสนาฮินดู เช่น พระพรหม พระพิฆเนศ หลายชิ้น ส่วนจารึก เย ธัมมา ที่พบคือ ที่ใต้ฐานพระพุทธรูปหินทรายแดง สมัยคุปตะ พุทธศตวรรษที่ 9 อักษร สมัยคุปตะ ภาษาสันสกฤต เขียนไว้ 2 แถว (Alexander Cunningham, 1966 : 5-6) พระพุทธรูปนี้ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองลัคเนาว์ เมืองหลวงของรัฐอุตตรประเทศ

8. สาญจี (Sanchi Stupa) สาญจีเป็นชื่อของโบราณสถานทางพุทธศาสนา ตั้งที่ภูเขาเจติยคีรีใกล้เมืองโภปาล รัฐมัธยประเทศ เป็นสถานที่พระมหินทะ โอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชได้พำนักก่อนที่เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่ศรีลังกา ต่อมาได้สร้างเป็นวัดทางพุทธศาสนาบนเทือกเขาโดยหลักฐาน คือ มีจารึกสมัยพระเจ้าอโศกเป็นจำนวนมาก ที่สาญจีมีจารึก เย ธัมมา ปรากฏที่แผ่นหินจำนวน 3 แผ่น โดยเจ้าภาพสร้างถวายพระเจดีย์ หรือสถูปที่นี่ ภาษาปรากฤต พ.ศ.800 (Alexander Cunningham, 1854 : 248) อักษรที่พัฒนาการมาจากอักษรพรหมีในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช

9. โกสัมพี (Kosambi) เมืองโกสัมพีตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำยมุนา รัฐอุตตรประเทศ สมัยพุทธกาลเป็นเมืองสำคัญเมืองหนึ่ง ปกครองโดยพระเจ้าอุเทน พระพุทธองค์เคยจำพรรษาที่เมืองนี้หลายพรรษา มีอารามที่สำคัญ คือ โฆสิตาราม ปาวาริการาม กุกกุฏาราม มีอุบาสิกาที่เอาใจใส่ในการสนับสนุนพุทธศาสนา คือ พระนางสามาวดี พระมเหสีของพระเจ้าอุเทน และนางขุชชุตรา ซึ่งเป็นสาวใช้ พ.ศ.2404 นายพลอเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้มาสำรวจและขุดพบพระพุทธรูปที่นี่ พบว่ามีจารึกที่ฐานพระเป็นคาถา เย ธัมมา อักษรสมัยคุปตะ พ.ศ. 800 ทำจากหินทรายแดงสูง 2 ฟุตเศษ (ArunaTripathi, 2003 : 34) ปัจจุบันนี้เก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เมืองประยาคราช หรืออิลลาหบาด

10. วิกรมศิลา (Vikramshila) มีชื่อในปัจจุบันว่าอันติจักร เป็นมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงเคียงคู่ไปกับนาลันทา ปัจจุบันอยู่ที่อำเภอภคัลปูร์ รัฐพิหาร เป็นซากขนาดใหญ่ที่รัฐบาลได้ขุดค้นตั้งแต่พ.ศ. 2413 (ค.ศ.1870) โดยนักโบราณคดีชาวอินเดีย ได้พบพระพุทธรูป และรูปปั้นพระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมาก ที่พบจารึกเย ธัมมา เป็นรูปพระโพธิสัตว์ตารา เทพแห่งความเมมตา ของนิกายมหายาน สาขาตันตรยาน รูปเทพีตารานี้สูง 2 ฟุตเศษ แกะด้วยหินดำ จารึกนั้นเป้นภาษาสันสกฤตอักษรเทวนาครี อายุประมาณ พ.ศ.1600 (B.S. Verma, 2011 : 173) ที่น่าสนใจคือมีการเขียนว่าสิทธํ แปลว่าความสำเร็จใส่หน้า เย ธัมมา ด้วย นับว่าเห็นได้ยาก ที่นี่นับว่าเป็นจารึกที่ใหม่ที่สุดกว่าทุกจารึกเกี่ยวกับ เย ธัมมา ในอินเดีย

11. กุสินารา (Kusinara) พุทธสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอกุศินาการ์ (Kushinagar) รัฐอุตตรประเทศ เป็นสถานที่เสด็จดับขันธปรินิพพานของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 6 ใต้ต้นสาละทั้งคู่ สถานที่แห่งนี้กลายเป็นหนึ่งในสังเวชนียสถานของชาวที่ไปกราบไหว้จาริกแสวงบุญไม่เคยขาด จนเมื่อพุทธศาสนาสูญสลายจากอินเดียไป พ.ศ.2404 อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม ได้มาสำรวจที่นี่จึงได้ยืนยันว่าเป็นสถานที่ปรินิพพาน พ.ศ.2434 นายเอ.ซี.แอล.คาร์ไลย์ ผู้ช่วยของคันนิ่งแฮมได้มาสำรวจและขุดค้นด้านหน้าสถูปปรินิพพาน ได้พบโบราณวัตถุหลายชิ้น จารึก เย ธัมมา ถูกจารึกไว้ที่แผ่นทองแดง ยาว 4 นิ้วครึ่ง กว้าง 1 นิ้ว มี 3 แถว ภาษาสันสกฤต อักษรอินเดีย พ.ศ.1000 (A.C.L.carlleyle,2018 : 70)

12. อุทัยคีรี (Udayagiri) พุทธสถานแห่งนี้ตั้งอยู่ที่อำเภอชาชปูร์ (Jajpur) รัฐโอริสสา ปัจจุบันเรียกว่าโอดิสา เป็นโบราณสถานขนาดใหญ่ตั้งบนภูเขา ที่นี่เป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาตันตระยานระหว่าง พ.ศ. 1300-1700 โดยมีรัตนคีรี และลลิตาคีรีด้วย จนถึง พ.ศ.1700 จึงได้สิ้นสุดลง นักโบราณคดีชาวอินเดียได้มาสำรวจและขุดค้นในปี พ.ศ.2544 (ค.ศ.2001) ได้พบโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ทั้งพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ที่มีจารึกเย ธัมมา คือ

     12.1 พระโพธิสัตว์มัญชุศรี มีจารึกแกะติดไว้ด้านหลังรูปปั้นพระโพธิสัตว์มัญชุศรี ภาษาสันสกฤต อักษรเทวนาครี มี 4 แถว (P.K. Trivedi, 2012 : 112) อายุประมาณ พ.ศ.1500
     12.2 พระโพธิสัตว์ปัทมปาณี หย่อนพระบาทขวา พระหัตถ์แปลง สูง 2 ฟุตเศษ จารึกด้วยภาษาสันสกฤตไว้ด้านหลังมี 4 แถว
     12.3 พระโพธิสัตว์โลเกศวรโลเกศวร สูง 2 ฟุต มีจารึกเย ธัมมาไว้ด้านหลัง ภาษาสันสกฤตอายุไล่เลี่ยกัน คือ พ.ศ. 1500
     12.4 จารึกใส่แผ่นหิน จารึกใส่แผ่นหินสีดำ โดยไม่มีแกะสลักรูปเคารพใด ๆ รวม 255 แผ่นภาษาสันสกฤต อุทัยคีรีจึงน่าจะเป็นแหล่งที่พบจารึกเย ธัมมามากที่สุดในอินเดีย เป็นที่น่าสังเกตว่าจารึกเย ธัมมาที่พบในอินเดียนั้นเริ่มประมาณ พ.ศ.800 ในสมัยคุปตะต่อเนื่องไปจนถึงสมัยราชวงศ์ปาละ พ.ศ.1200-16000 ไม่ปรากฏว่ามีจารึกเย ธัมมาภาษาบาลีในสมัยราชวงศ์เมารยะเลย อาจจะมีการจารึก แต่ถูกทำลายหรือยังไม่มีการขุดพบก็อาจจะเป็นไปได้




การเผยแผ่ของคาถา เย ธัมมา ในดินแดนสุวรรณภูมิ

คำว่า "สุวรรณภูมิ" นั้น นักวิชาการยังตีความที่หลากหลายอยู่ว่าเป็นดินแดนแห่งใด เพราะมีการอ้างอิงสถานที่แตกต่างกัน เช่น

    - ไทยถือว่าศูนย์กลางที่นครปฐม
    - กัมพูชาถือว่าศูนย์กลางสุวรรณภูมิอยู่ที่ท่าอกแอ๋ว ซึงเป็นปากอ่าวขนาดใหญ่ของกัมพูชาแต่โบราณ (ทองสืบ ศุภมาร์ก (แปล), 2512 : 13-14)
    - ลาวถือว่า ศูนย์กลางสุวรรณภูมิอยู่ที่เมืองท่าแขก
    - ในเอกสารฝ่ายพม่ายืนยันว่า หมายถึงดินแดนของตนเองโดยมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสะเทิมหรือตะโกง (Thaton) เพราะมีจารึกเรื่องราวของตปุสสะและภัลลิกะ รวมทั้งการส่งสมณทูตมาประกาศศาสนาด้วย (Donald M. Stadtner, 2011 : 168)

นักวิชาการบางส่วนถือว่า ดินแดนสุวรรณภูมิ หมายถึง ดินแดนของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งหมด อันครอบคลุมไปถึงพม่าไทยลาวกัมพูชาและมลายู เมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่มายังดินแดนสุวรรณภูมินั้นมีปรากฏในคัมภีร์มหาวงศ์ ความว่า

    “พระเจ้าอโศกมหาราชครั้นสังคายนาพระธรรมวินัยสำเร็จลงแล้ว ได้ส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่ทั้ง 9 สาย สายที่ 8 นั้นส่งพระโสณะ และพระอุตตระ มายังสุวรรรณภูมิ ในยุคนั้นผีเสื้อสมุทรอาละวาดจับเด็กกินเป็นอาหาร ฝ่ายชาวเมืองเห็นพระเถระและคณะจึงนำหอกและดาบหมายเอาชีวิต จึงได้ให้หยุดแล้วสอบถาม พวกเขาเข้าใจว่าเป็นพวกเดียวกับผีเสื้อสมุทร เมื่อพระเถระอธิบายจึงเข้าใจ เมื่อนางผีเสื้อสมุทรมาถึง พระเถระจึงได้เนรมิตผีเสื้อสมุทรที่กลัวกว่า 2 เท่าแล้ว แล้วป้องกันไว้ทุกด้าน นางยักษ์ไม่ได้โอกาสจึงหนีไป พระเถระแสดงพรหมชาลสูตรให้คนได้นับถือพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก” (สุเทพ พรหมเลิศ, 2553 : 114-115)

@@@@@@@

เมื่อพุทธศาสนาจากชมพูทวีปมาตังมั่นในสุวรรณภูมิแล้ว คาถาเย ธัมมา จึงเริ่มเป็นที่รู้จักของชาวพุทธในดินแดนแถบนี้ จากนั้นจึงมีการเริ่มจารึกคาถานี้ตามสถานที่ต่าง ๆ ในประเทศไทยมีดังนี้ คือ


จากรึกเย ธัมมา บนยอดเจดีย์(พระปฐมเจดีย์) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์พระนคร กรุงเทพฯ

1. นครปฐม พบที่พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมือง นครปฐม เป็นภาษาบาลี อักษรปัลลวะ จารึกที่ยอดสถูปหิน ปัจจุบันนำเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติ กรุงเทพมหานคร มีอายุระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12 พบในปี พ.ศ.2470 ไม่ปรากฏนามผู้พบครั้งแรก แต่ต่อมา นายประสาร บุญประครอง ได้พบ เมื่อ พ.ศ.2506 ที่วัดพระปฐมเจดีย์ แปลโดย นายชะเอม แก้วคล้าย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2561 : 156)

2. อยุธยา ที่อยุธยามีการค้นพบจารึกเย ธัมมา ที่วัดมเหยงค์ อำเภอเมือง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เขียนด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 เป็นจารึกหินขุดพบขณะมีการบูรณะพระเจดีย์ ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์เจ้าสามพระยา 

3. เพชรบูรณ์ พบที่เมืองโบราณศรีเทพ เป็นอักษรปัลลวะ ภาษาบาลีจารึกไว้ที่แผ่นหินอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 จำนวน 1 ด้าน 4 แถว หลักนี้พระปลัดโปรด สุมโนวัดเสาธงทอง ตำบลท่าหิน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี ได้รับถวายจากราษฎรผู้หนึ่งที่จังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2519 แผ่นจารึกชำรุดแตกออกเป็นหลายชิ้น เจ้าหน้าที่กองหอสมุดแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจและทำสำเนาจารึกไว้ เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2523

4. สุพรรณบุรี พบที่อู่ทองเป็นแผ่นอิฐดินเผา อักษรปัลลวะ ภาษาบาลี มี 4 แถว อายุพุทธศตวรรษที่ 13 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์อู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

5. เชียงใหม่ พบที่วัดเจดีย์งาม อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ อักษรปัลลวะ อายุพุทธศตวรรษที่ 14 จารึกไว้ที่ใต้ฐานพระพระพุทธรูปองค์นี้สันนิษฐานว่ามีการเคลื่อนย้ายมาจากภาคกลาง หรือภาคกลางตอนบนที่ใดที่หนึ่ง เพราะวัฒนธรรมทวาราวดีไม่น่าจะครอบคลุมถึงอำเภอฝางซึ่งอยู่ค่อนข้างห่างไกล ในประเทศพม่า มีดังนี้

     5.1. จารึกที่ฐานสถูป แกะด้วยหินทราย อักษรสมัยคุปตะของอินเดีย อายุประมาณ พ.ศ.900 -1100 พบที่บ้านมีซวงวา (Meechuangwa) เมืองคโยคแถว (Kyauktaw) รัฐยะไข่ หรืออารคันสถูปหินนี้ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปะอมราวดีของอินเดีย (ศักดิ์ชัย สายสิงห์, 2557 : 73-74) 

     5.2 จารึกพระพิมพ์ เป็นพระพิมพ์ที่ทำจากดินเผาพบที่เมืองพุกาม จารึกคาถา เย ธัมมา ภาษาสันสกฤต อักษรสมัยปาละ อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 16 ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปปางชนะมาร ทำเป็นพระเจดีย์ขนาดเล็ก 4 องค์อยู่เคียงข้าง ส่วนจารึกนั้นเขียนไว้ใต้องค์พระ 2 แถว พระพิมพ์นี้ได้รับอิทธิพลศิลปะจากพุทธคยาอย่างเห็นได้ชัด ปัจจุบันจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร

     5.3 จารึกดินเผาที่เมืองพุกาม ในสมัยที่อังกฤษปกครอง นักโบราณคดีชาวพม่า นามว่า ตอเสนโก (Taw Sein Ko) ได้ขุดค้นโบราณสถานที่พุกามในปี ค.ศ.2447 (ค.ศ.1904) ได้พบพระดินเผา หรือพระพิมพ์เป็นจำนวนมาก หลายองค์ในนั้นจารึกคาถาเย ธัมมา ภาษาบาลี อักษรพม่าโบราณ อายุราว พ.ศ.1800 (Archeological Survey of India, 2002 : 133) ปัจจุบันเก็บรักษาไว้บางส่วนที่พิพิธภัณฑ์พุกาม

     5.4 จารึกพระดินเผา พบระหว่างการขุดค้นที่วัดโยบินคอนกวง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของเมืองไคยกฐา ใกล้พุกาม ได้พบพระพุทธรูปจำนวนมาก หนึ่งในนั้นได้พบพระพุทธรูปทำจากดินเผาสูง 18 เซนติเมตร ที่ฐานขององค์พระมีจารึก 2 แถว ข้อความว่า เย ธัมมา ฯลฯ ภาษามอญโบราณ (Elizbeth Howard Moore, 2012 : 300) อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 12 ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ศรีเกษตร




สรุป

คาถา เย ธัมมา เป็นคาถาที่พระอัสสชิเถระ ซึ่งเป็นหนึ่งในปัญจวัคคีย์ แสดงธรรมโปรดอุปติสสปริพพาชก หรือพระสารีบุตรที่กรุงราชคฤห์ เมื่อได้ฟังธรรมโดยย่อแล้ว อุปติสสะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน จึงได้ไปชวนเพื่อนที่ท่านมีนามว่า โกลิตะ หรือ พระโมคคัลลานะ เข้ามาบวชในพุทธศาสนา

คาถานี้แม้จะเป็นคาถาที่พระอัสสชิกล่าว แต่เนื้อหาเป็นคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดสาวก พระอัสสชิจึงนำมาถ่ายทอดให้อุปติสสะอีกทีหนึ่ง แม้จะเป็นโศลกหรือคาถาสั้น ๆ แต่ได้ใจความ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงมักจำคาถานี้สืบ ๆ กันมา เพราะจำง่ายไม่ยาวเมื่อพุทธศาสนากระจายไปทั่วชมพูทวีป

คาถานี้ก็ได้รับการจารึกไว้ในที่ต่าง ๆ มากมาย เป็นที่น่าสังเกตว่า ภาษาที่ใช้นั้นเปลี่ยนเป็นสันสกฤตแทนภาษาบาลี สาเหตุเพราะตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 10 เป็นต้นมา พุทธศาสนาในอินเดียเปลี่ยนแปลงเป็นฝ่ายมหายานโดยมาก และมหายานได้ใช้ภาษาสันสกฤตเป็นหลักในการจารึกเรื่องราวต่าง ๆ จารึกเย ธัมมา ที่ขุดพบที่อินเดียจึงเป็นภาษาสันสกฤตเป็นหลัก

เมื่อพุทธศาสนาเผยแผ่มายังดินแดนสุวรรณภูมิแล้ว คาถานี้ก็ได้รับการเผยแผ่มากมาย โดยอักษรที่ใช้คือ อักษรปัลลวะ ในราวพุทธศตวรรษที่ 12 ภาษาที่ใช้จารึกนั้นมีทั้งภาษาบาลี และสันสกฤต

จากหลักฐานที่พบในที่ต่าง ๆ ยืนยันได้ชัดเจนว่า คาถาเย ธัมมา นี้นับเป็นคาถาที่สำคัญมาก ถือว่าเป็นหัวใจของพุทธศาสนา แม้พุทธศาสนาในระยะหลังในอินเดียจะพัฒนาการจากฝ่ายเถรวาท เป็นแบบมหายาน ตันตระยาน และ วัชรยานตามลำดับแล้ว

แต่เรายังพบว่า คาถานี้ยังมีความสำคัญถูกจารึกไว้ใต้ฐานพระ ตราประทับดินเผา ที่ผนังถ้ำมาทุกยุคทุกสมัย ด้วยภาษาสันสกฤต แต่อักษรหลากหลายตามแต่พื้นที่ จึงเป็นเครื่องบ่งบอกได้ชัดเจนว่า คาถานี้มีความสำคัญเคียงคู่ไปกับพุทธศาสนาตลอดมา จนวาระสุดท้ายที่พุทธศาสนาสูญสลายไปจากอินเดีย ส่วนที่สุวรรณภูมินั้นสามารถกระจายอยู่ทั่วไปเช่นกัน


st11 st11 st11





ขอขอบคุณ :-

บทความ : วารสารบัณฑิตศึกษามหาจุฬาขอนแก่น ,ปีที่ 8 ,ฉบับที่ 1 ,มกราคม-มีนาคม 2564 ,หน้าที่ 51-60
Journal of Graduate MCU KhonKaen Campus ,Vol. 8 ,No.1 ,January-March 2021 ,page no. 51-60
ที่มา : https://www.tci-thaijo.org/
ดาวน์โหลด pdf file ได้ที่ : https://so02.tci-thaijo.org/index.php/jg-mcukk/article/view/247337/168101

เอกสารอ้างอิง :-

- มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.(2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. (2539). พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณ ราชวิทยาลัย. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- ทองสืบ ศุภมาร์ก (แปล). (2512). พระพุทธศาสนาในกัมพูชา. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2561). ศิลปะทวาราวดี วัฒนธรรมทางศาสนายุคแรกเริ่มในดินแดนไทย. กรุงเทพมหานคร : ด่านสุทธาการพิมพ์.
- ศักดิ์ชัย สายสิงห์. (2557). ศิลปะพม่า. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มติชนปากเกร็ด.
- สุเทพ พรหมเลิศ. (2553). มหาวงศ์ ภาค 1. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
- A.C.L.Carlleyle. (2018). Report of a tour in the Gorakhpur district in 1875-76 and 1876-77 Vol.18. London : Trademark of FB & Ltd.
- Alexander Cunningham. (1892). Mahabodhi or The Great Buddhist Temple under Bodhi Tree at Buddhagaya. London : W.H. Allen & Co., Limited
- Alexander Cunningham. (1854). The Bhilsa Topes. London : Smith Elder & Co.,
- Alexander Cunningham. (1966). Report of tour in Bundelkhand and Malwa. Varanasi : Skylark Printers.
- Alexander Cunningham. (2000). Report of tour in Gangetic Provinces from  Badaon to    Biahar. New Delhi : Veerendra Printers.
- Aruna Tripathi. (2003). The Buddhist Art of Kaushambi. New Delhi : D.K. Printworld Ltd.
- Archeological Survey of India. (2002). Annual Report 1907-1908. New Delhi : S Naray an & Son.
- Archeological Survey of India. (2002). Annual Report 1907-1908. New Delhi : S Narayan & Son.
- B.S. Verma. (2011). Antichak Excavations-2 (1971-1981). New Delhi : Chandu Press.
- Charles Allen. (2002). The Buddha and the Sahib. London : John Murray.
- Claudine Bautze Picron. (2015). The Forgotten Place, stone images from Kurkihar, Bihar. Noida : Angkor Publishers.
- Daya Ram Sahni. (1972). Catalogue of the museum of archeology ae Sarnath. New Delhi : New Era Offsett.
- Donald M. Stadtner. (2011). Sacred Sites of Burma. Bangkok : Siriwattana Interprint Public Co, Ltd.
- Elizbeth Howard Moore. (2012). The Pyu Landscape : Collected Articles. Rangoon: MCK Printing.
- James Burgess. (1883). Report on the Ellura Cave Temples and The Brahmanical and Jaina caves in Western India. London : Trubner & Co., Ludgate Hill.
- James Fergusson and James Burgess. (2000). The Cave Temples of India. New Delhi : Munshiram Manoharlal Publishers Pvt., Ltd.
- P.K. Trivedi. (2012). Further Excavations at Udayagiri-2, Odisha (2001-03). New Delhi : Chandu Press
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 03, 2023, 11:31:32 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.

เลขทะเบียน ๗๖/ ๒๕๑๙ สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒) หิน, ยาว ๖๓.๕ เซนติเมตร สูง ๓๐ เซนติเมตร หนา ๑๕ เซนติเมตร


จารึกคาถา เย ธฺมมา ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์

นายประสาร บุญประคอง พบจารึกนี้ในบริเวณระเบียงองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม เมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๐๖ ย้ายมาจากพิพิธภัณฑ์วัดพระปฐมเจดีย์ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๕๑๔ (ทะเบียนจารึก นฐ.๒) สภาพของจารึกชำรุดมากโดยเฉพาะตัวอักษรข้อความทางตอนต้นบรรทัด
         
ลักษณะของจารึกชิ้นนี้เป็นแผ่นหินรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ปลายด้านหนึ่งโค้งมน จารึกเพียงด้านเดียว มีจำนวน ๒ บรรทัด ด้านข้างและด้านบนของแผ่นหินโกลนไว้ จนแลดูเรียบร้อยกว่าด้านหลังซึ่งขรุขระกว่ามาก
         
นายชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านแปลและวิจารณ์ไว้จากอักษรที่เหลืออยู่ สรุปได้ว่าเป็น คาถา เย ธฺมมา จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุของตัวอักษรราว พุทธศตวรรษที่ ๑๒ แปลว่า ธรรมเหล่าใดมีเหตุเป็นแดนเกิด พระตถาคต ตรัสเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะ มีปกติตรัสอย่างนี้ฯ

คาถาเย ธมฺมา ถือเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนามาจากคาถาสมบูรณ์ ดังนี้

   "เย ธมฺมา เหตุ ปัพฺพวา เตสํ เหตุงฺ ตถาคโต เตสญฺจะ โย นิโรโธ จะ เอวํ วาที มหาสมฺโณ"
   "ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าทรงแสดงเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น พระมหาสมณะมีปกติ ทรงสั่งสอนอย่างนี้"


@@@@@@@

ความเป็นมาของพระคาถาบทนี้ปรากฏอยู่ในประวัติของพระสารีบุตร พระอัครสาวกเบื้องขวา มีเนื้อความโดยย่อคือ หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้และแสดงธรรมสั่งสอนประกาศพระศาสนาแล้ว ครั้งหนึ่งได้เสด็จมาประทับอยู่ ณ เวฬุวันมหาวิหาร กรุงราชคฤห์

วันหนึ่ง พระอัสสชิ ผู้เป็นหนึ่งในพระปัญจวัคคีย์ซึ่งตามเสด็จฯ พระพุทธองค์มาด้วย เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ระหว่างทาง อุปติสสะปริพพาชกซึ่งเดินทางมาจากสำนักปริพพาชกได้พบเห็นพระอัสสชิมีกิริยาอาการอันสงบสำรวม น่าเลื่อมใส จึงอยากทราบว่าใครเป็นศาสดาของพระอัสสชิและมีคำสั่งสอนเช่นไร พระอัสสชิจึงแจ้งว่าตนเป็นนักบวชในสำนักของพระมหาสมณะ ผู้เป็นโอรสแห่งศากยวงศ์ พร้อมกับแสดงธรรมอันย่นย่อของพระพุทธองค์ ซึ่งก็คือพระคาถา เย ธมฺมาฯ นั่นเอง

จากนั้น อุปติสสะปริพพาชกจึงเดินทางกลับมายังสำนัก และบอกเล่าเรื่องที่ได้พบกับพระอัสสชิ ตลอดจนแสดงธรรมที่พระอัสสชิกล่าวให้แก่สหาย คือโกลิตตะปริพพาชกฟัง จนกระทั่งเกิดดวงตาเห็นธรรมเช่นกัน ปริพพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารจึงพากันไปเข้าเฝ้าฯ พระพุทธองค์ยังเวฬุวันมหาวิหาร และทูลขออุปสมบท พระพุทธองค์จึงประทานอนุญาตให้ปริพพาชกทั้งสองพร้อมด้วยบริวารได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ

พระโกลิตตะปริพพาชก ซึ่งต่อมาก็คือพระโมคคัลลานะ หลังจากอุปสมบทได้ ๗ วัน ก็สำเร็จอรหัตตผล ส่วนอุปติสสะปริพพาชก หรือพระสารีบุตร บรรลุเป็นอรหันต์หลังจากอุปสมบทได้ ๑๕ วัน ส่วนบริวารทั้งหลายภายหลังก็ได้บรรลุเป็นอรหันต์จนหมดสิ้น

@@@@@@@

โดยพระคาถานี้ ทำให้พระพุทธองค์ทรงได้สาวกองค์สำคัญ คือพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรมาเป็นอัครสาวกซ้ายขวา พุทธศาสนิกชนจึงนับถือกันเป็นพระคาถาวิเศษ ถือเป็นสัมฤทธิมนต์สำหรับเปลี่ยนแปลงความนับถือของผู้ที่ยังไม่เคยสดับรับฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ จึงนิยมจารึกไว้เพื่อประกาศพระพุทธศาสนาให้เผยแผ่ออกไป

พระคาถา เย ธมฺมาฯ จึงมักพบปรากฏอยู่ในงานศิลปกรรมทางพุทธศาสนาตั้งแต่ยุคแรกๆ เช่นในศิลปะทวารวดีและศิลปะศรีวิชัย นอกจากที่จารึกอยู่บนพระพิมพ์แล้ว ยังพบปรากฏอยู่บนศาสนวัตถุอื่นๆ เช่นเสาศิลาจารึก ฐานธรรมจักร หรือภาพสลักพระพุทธรูปอีกด้วย

นอกจากศิลาจารึกคาถาเย ธมฺมา ข้างต้นแล้ว ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ ยังเก็บรักษายอดสถูปจำลอง ตามประวัติกล่าวว่าพบที่วัดพระงาม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม ลักษณะของยอดสถูปจำลอง คล้ายหม้อทรงกลมแป้น คดคอดสั้น มีขอบปากผาย ส่วนเชิงเป็นทรงกระบอกสูงตอนปลายผายออก ซึ่งส่วนล่างของเชิง มีจารึก ๑ แถว เป็นจารึก เย ธมฺมา ภาษาบาลี อักษรปัลลวะแบบหวัด

จะเห็นได้ว่าในดินแดนเมืองนครปฐมโบราณ มีหลักฐานโบราณวัตถุหลายประการที่สะท้อนถึงการแรกรับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาประดิษฐานยังนครรัฐ นอกเหนือไปจากธรรมจักรอย่างที่พบเป็นจำนวนมาก



เลขทะเบียน ๓๐๕/ ๒๕๑๙ สมัยทวารวดี (ราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ – ๑๖) ดินเผา, เส้นผ่าศูนย์กลางยอด ๑๒.๕ เซนติเมตร สูง ๓๕.๕ เซนติเมตร

หากผู้สนใจต้องการศึกษาจารึกไม่เพียงแต่เฉพาะภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระปฐมเจดีย์ เท่านั้น ภายในบริเวณวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร ยังมีศิลาจารึกคาถาเย ธมฺมา ให้ศึกษาได้ คือ บริเวณภายในเก๋งจีนหน้าพระอุโบสถวัดพระปฐมเจดีย์ หรือที่เรียกว่าศิลาจารึกที่ศาลเจ้า พระปฐมเจดีย์ จารึกด้วยอักษรปัลลวะ ภาษาบาลี อายุราวพุทธศตวรรษที่ ๑๒ เช่นกัน









ขอบคุณ : https://www.finearts.go.th/promotion/view/15316
กลุ่มเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ | เว็บท่ากรมศิลปากร
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28446
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
0
.


คาถา "เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา.." | ยอดแห่งพุทธธรรม กลั่นออกมาจาก "พระอัสสชิ"

มักมีข้อโต้แย้งกันอยู่เสมอว่า พระพุทธศาสนา เป็น ศาสนา หรือ religion หรือ เป็นปรัชญา หรือ philosophy หรือเป็นวิถีการครองชีวิตแบบหนึ่ง a way of life นักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในปัจจุบันของเรา อย่างท่านพุทธทาส และท่านเจ้าคุณพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จึงเลี่ยงมานิยมใช้คำว่า พุทธธรรม เพื่ออธิบายถึงประมวลคำสอนของพระพุทธองค์ พุทธธรรมนอกจากเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ยังรวมถึงความเป็นไปในพระชนม์ชีพและพระปฏิปทาของพระพุทธองค์ ซึ่งสะท้อนออกมาให้ปรากฏในพุทธธรรมอีกด้วย

พระพุทธศาสนาเป็นธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ซึ่งมิได้ตั้งอยู่ในความงมงาย เพราะศรัทธาในพระพุทธศาสนา ต้องเป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยเหตุผล

ในกาลามสูตร พระพุทธองค์ทรงเทศนาสั่งสอนชาวกาลามะ แห่งเกศปุตตนิคม ในแคว้นโกศลว่า อย่าให้เชื่อถืองมงายไร้เหตุผล ด้วยเหตุต่างๆ ถึง 10 ประการ รวมทั้งอย่าเชื่อเพราะนับถือว่าผู้นั้นเป็นสมณะหรือครูของตน แต่ให้เชื่อต่อเมื่อได้พิจารณาด้วยปัญญาของตนเองแล้วสิ่งใดกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล

หลักธรรมที่สอนให้เชื่อด้วยปัญญาของตนเองนั้น ตรงกับหลักโยนิโสมนสิการ ซึ่งเป็นหลักวิธีคิด เป็นการพิจารณาเพื่อเข้าถึงความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย เป็นการตริตรองด้วยตนเอง ให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว แยกแยะได้เองว่าอะไรเป็นกุศลกรรม อะไรเป็นอกุศลกรรม

เหนือสิ่งอื่นใด จะเห็นได้ว่า พระธรรม ซึ่งเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น แต่ละเรื่องแต่ละราว ล้วนประกอบด้วยเหตุและผลสัมพันธ์กันทั้งนั้น

@@@@@@@

มีคาถาสำคัญบทหนึ่ง ซึ่งบรรยายถึงลักษณะสัมพันธ์ระหว่างเหตุและผลในหลักพุทธธรรมเรียกว่า คาถา "เย ธมฺมา" ก่อนที่จะได้กล่าวถึงตัวคาถาดังกล่าวพร้อมทั้งความหมายที่สำคัญ ต้องขอเล่าเรื่องประกอบคาถาบทนี้ เป็นเรื่องนำเสียก่อน

มีเรื่องเล่ามาว่า ที่ใกล้กรุงราชคฤห์ มีหมู่บ้านพราหมณ์อยู่ 2 หมู่บ้าน หัวหน้าหมู่บ้านทั้งสองได้เป็นมิตรสหายสนิทสนมกันมาช้านาน และต่างก็มีบุตรชาย หัวหน้าพราหมณ์ หมู่บ้านหนึ่ง มีบุตรชายชื่อ อุปติสสะ อีกหมู่บ้านหนึ่งหัวหน้าพราหมณ์ก็มีบุตรชายเหมือนกัน ชื่อ โกลิตะ

อุปติสสะ และ โกลิตะ ได้คบหากันเป็นเพื่อนสนิท เล่าเรียนวิชาทางลัทธิพราหมณ์มาด้วยกัน แต่ก็มีความรู้สึกว่าแนวทางสั่งสอนของสำนักพราหมณ์ต่างๆ นั้น หาใช่ทางแห่งความหลุดพ้นอย่างแท้จริงไม่ ทั้งสองคนจึงต่างออกแสวงหาศาสดา ที่สอนอมตธรรมคือธรรมที่ไม่ตาย โดยให้คำมั่นสัญญากันว่า เมื่อฝ่ายใดสามารถได้พบศาสดาที่สอนธรรมเช่นนั้นได้ก่อน ก็ต้องกลับมาบอกอีกฝ่ายหนึ่งให้ทราบด้วย จะได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์พร้อมกัน

วันหนึ่ง อุปติสสะมาณพ ได้ไปพบ พระอัสสชิ ซึ่งเป็นภิกษุองค์หนึ่งในปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นปฐมสาวกของพระพุทธองค์ ขณะนั้นพระอัสสชิกำลังเที่ยวบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์ อุปติสสะเห็นกิริยาสำรวมและสงบของพระอัสสชิ ก็เกิดความสนใจและเลื่อมใส

     ๐ อุปติสสะจึงเดินตาม พระอัสสชิ จนท่านบิณฑบาตเสร็จ กลับไปฉันเรียบร้อยแล้ว จึงได้ช่อง เข้าไปถามว่า ท่านบวชกับใคร ใครเป็นศาสดาของท่าน
     ๐ พระอัสสชิตอบว่า พระศาสดาของท่านคือพระสมณโคดม ซึ่งอยู่ในวงศ์ศากยะ ได้เสด็จทรงผนวชจนตรัสรู้โดยพระองค์เอง
     ๐ อุปติสสะ จึงถามต่อไปว่า พระสมณโคดม ศาสดาของท่าน สอนธรรมอะไรเป็นสำคัญ ขอให้แสดงธรรมะนั้นให้ฟัง
     ๐ พระอัสสชิก็กล่าวถ่อมตนว่า ท่านเพิ่งเข้ามาบวช ยังไม่อาจแสดงหลักธรรมได้กว้างขวางมากนัก ได้แต่กล่าวอย่างย่อๆ อุปติสสะ ก็บอกว่าไม่ต้องแสดงหลักธรรมให้ยืดยาวเยิ่นเย้อหรอก เอาแต่แค่ใจความก็พอแล้ว!

     พระอัสสชิ จึงกล่าวเป็นคาถาสั้นๆ รวมสี่บาท ความว่า :-

     เย ธมฺมา เหตุปฺปภวา ธรรมเหล่าใด เกิดแต่เหตุ
     เตสํ เหตุ ตถาคโต พระตถาคต กล่าวเหตุแห่งธรรมเหล่านั้น
     เตสญฺจ โย นิโรโธ จ และความดับของธรรมเหล่านั้น
     เอวํ วาที มหาสมโณ พระมหาสมณะมีวาทะอย่างนี้

@@@@@@@

พระอัสสชิถ่อมตนว่าบวชใหม่ รู้น้อย แต่สามารถสรุปหัวใจของอริยสัจได้ในคาถาเพียงสี่บาทเท่านั้น แสดงว่าพระปัญจวัคคีย์รูปนี้เป็นผู้รู้จริง รู้ลึกถึงแก่นของหลักอริยสัจทีเดียว

ฝ่ายอุปติสสะ ได้ฟังคาถาที่พระอัสสชิกล่าวแล้ว ก็เกิดดวงตาเห็นธรรม มองเห็นว่า สรรพสิ่งทั้งหลายมีความเกิดเป็นธรรมดา แต่สรรพสิ่งเหล่านี้ล้วนมีความดับสูญเป็นธรรมดาเช่นกัน อุปติสสะจึงกลับไปหาเพื่อนที่ชื่อ โกลิตะ ตามที่สัญญากันไว้ บอกเพื่อนว่าได้พบศาสดาผู้ล่วงรู้อมตธรรมแล้ว

มาณพทั้งสองจึงพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้า แถมยังพาบริวารของตนมีจำนวน 250 คนไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วย ทั้งหมดได้ทูลขออุปสมบท พระพุทธเจ้าก็ประทานให้อุปสมบทด้วยวิธีเอหิภิกขุอุปสัมปทา คืออุปสมบทโดยตรงจากพระพุทธองค์ มาณพทั้งสอง รวมทั้งบริวาร เมื่อได้อุปสมบทแล้ว และได้บำเพ็ญเพียร ไม่ช้านักก็สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด

      พระอุปติสสะ รู้จักในวงการพระพุทธศาสนาว่า พระสารีบุตร คือเรียกขานท่านตามชื่อของมารดา คือเป็นบุตรของนางสารีพราหมณี จึงชื่อว่าสารีบุตร หรือผู้เป็นบุตรของนางสารีนั่นเอง
      ส่วนพระโกลิตะ ก็เช่นเดียวกันในทางพระพุทธศาสนาเรียกท่านว่า พระโมคคัลลานะ ตามชื่อของมารดาท่านเช่นกัน แปลว่าบุตรของนางโมคคัลลีพราหมณี

พระพุทธองค์ทรงยกย่องพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ว่า เป็นอัครสาวก พระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวา ทรงยกย่องว่าเป็นเลิศในทางมีปัญญามาก ส่วนพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย ทรงยกย่องว่าเป็นเลิศในทางมีฤทธิ์มาก

@@@@@@@

ในสมัยต่อมาเมื่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ อย่างเช่นพระประธานในพระอุโบสถ หรือในพระวิหาร จึงนิยมสร้างรูปพระอัครสาวกทั้งคู่ ให้ยืนหรือให้นั่งอยู่สองข้างพระประธานด้วยกัน พระอัครสาวกที่สร้างขึ้นนั้นมีสองรูป คือพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ แต่ทั้งสองรูปมีร่างเหมือนกัน

การสังเกตว่าพระอัครสาวกเป็นรูปใด ก็ให้สังเกตว่าเบื้องขวาของพระประธาน คือพระสารีบุตรเถระ ส่วนด้านซ้ายของพระประธานคือพระโมคคัลลานะเถระ ต้องสังเกตด้วยว่าเมื่อเราหันหน้ากราบพระประธานนั้น ก็ต้องกลับกัน ด้านซ้ายของตัวเราคือพระสารีบุตร ส่วนด้านขวาของเราคือพระโมคคัลลานะ

ส่วนคาถา เย ธมฺมา ซึ่งพระอัสสชิ กล่าวแก่ อุปติสสะมาณพนั้น เป็นการกล่าวสรุปในหลักธรรมสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา คือ อริยสัจ

อริยสัจมีสี่ประการ ประการแรก ได้แก่ ทุกข์ ซึ่งเป็น ผล
ประการที่สอง ได้แก่ สมุทัย ได้แก่ เหตุให้เกิดทุกข์ จึงเป็น เหตุ ที่ทำให้เกิด ผล คือ ทุกข์ ในประการแรก
ประการที่สาม คือ นิโรธ คือความดับทุกข์ ซึ่งเป็น ผล ทำให้ทุกข์นั้นดับสิ้นไป และ
ประการที่สี่ซึ่งเป็นประการสุดท้าย คือ มรรค เป็นข้อปฏิบัติให้เกิดความดับทุกข์ นับว่าเป็น เหตุ อีกเหมือนกัน


@@@@@@@

เมื่อนำหลักอริยสัจสี่ประการนี้ เข้ามาพิจารณาตัวคาถา เย ธมฺมา จะเป็นดังนี้

    - คาถาบาทที่หนึ่ง มีความว่า ธรรมเหล่าใดเกิดแต่เหตุ ก็หมายถึง ทุกข์ ซึ่งป็น ผล อันเกิดจาก เหตุ ดังกล่าว
    - คาถาบาทที่สอง มีความว่า พระตถาคตตรัสเหตุของธรรมเหล่านั้น นี่ก็คือเรื่อง สมุทัย ซึ่ง เหตุ เป็นอริยสัจข้อที่สอง
    - คาถาบาทสาม มีความว่า และความดับของธรรมเหล่านั้น ก็คือพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมเรื่อง นิโรธ และ มรรค ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติอันเป็น ผล นำไปสู่ให้ถึงความดับทุกข์ในที่สุด
    - ส่วนคาถาบาทสุดท้าย ความว่า พระมหาสมณะมีวาทะไว้อย่างนี้ ก็คือ พระพุทธองค์ได้ ตรัสสั่งสอนไว้เช่นนี้

อันที่จริง คาถา เย ธมฺมา ซึ่งพระอัสสชิกล่าวนี้ มิได้หมายเฉพาะแต่เรื่องอริยสัจสี่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงหลักธรรมทั่วไปของพระพุทธศาสนาอีกด้วย หลักธรรมของพระพุทธศาสนาโดยทั่วไป ได้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ระหว่าง เหตุ กับ ผล ผล ที่ดีต่างๆ ล้วนเกิดจาก เหตุ ที่ดีทั้งนั้น ซึ่งจะเรียกว่า บุญ หรือกุศลกรรมก็ได้ ส่วน ผล ที่ไม่ดีต่างๆ ก็ล้วนเกิดจาก เหตุ ที่ไม่ดี คือบาป หรืออกุศลกรรมนั่นเอง

     พระพุทธองค์จึงได้ทรงชี้ให้เห็นว่า เหตุ ที่ดี คือ บุญหรือกุศลกรรมย่อมมี ผล ในทางที่ดี ส่วน เหตุ ที่ไม่ดี คือ บาปหรืออกุศลกรรม ก็ย่อมมี ผล ในทางตรงข้าม
     นอกจากนั้นยังตรัสชี้ เหตุคือทำความดี คือทำบุญหรือกุศลกรรม เพื่อให้เกิดผลที่ดีแก่ตัวผู้ปฏิบัติเอง ในทำนองเดียวกัน เหตุคือทำความไม่ดี คือทำบาปหรืออกุศลกรรม ก็ย่อมนำผล ร้ายมาสู่ชีวิตของผู้ปฏิบัติเองเช่นกัน

@@@@@@@

พระพุทธศาสนาจึงเป็นศาสนาที่ไม่ได้สอน ให้คนหวังความช่วยเหลือเอื้ออำนวยจากพลังภายนอก หรือพลังเหนือธรรมชาติ ในรูปใดๆ ก็ตาม แต่สอนให้เชื่อมั่นในหลัก "กรรม" คือการกระทำของตนเอง ถ้าทำดี ก็ย่อมได้ผลที่ดี ตรงกันข้าม ถ้าทำชั่วทำเลว ก็ย่อมได้รับผลร้ายหรือผลไม่ดีเอง!

คาถา เย ธมฺมา ซึ่ง พระอัสสชิ กล่าวนั้น จึงเป็นการกล่าวคาถาสรุป รวมยอดของพุทธธรรมเดียว

ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ทรงโปรดให้สลักแท่งศิลาจารึกคาถาบทนี้ไว้มากมาย ต่อมามีผู้ขุดค้นพบหลักศิลาจารึกดังกล่าวนี้อยู่ทั่วไปในชมพูทวีป แสดงว่าพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสในคาถา เย ธมฺมา บทนี้ ว่าเป็นคาถาซึ่งสรุปหัวใจพระพุทธศาสนาไว้อย่างรัดกุมทีเดียว

มีเกร็ดเล่า เมื่อก่อสร้างโรงแรมอินทรา ที่บริเวณประตูน้ำ ผู้ลงทุนได้มาปรึกษาท่านอาจารย์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ว่าจะสร้างศาลพระพรหมอย่างโรงแรมอื่นเขาบ้างจะดีไหม.?

ท่านอาจารย์คึกฤทธิ์ ได้แนะนำว่า ไม่ควรสร้างเทวรูปตามลัทธิพราหมณ์ แต่ควรสร้างเป็นศาลประดิษฐานรูปธรรมจักร ที่ฐานสลัก คาถา เย ธมฺมา ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญทางพุทธศาสนาจะเหมาะสมกว่า.! เชื่อว่าศาลที่มีรูปธรรมจักร และจารึกคาถาบทนี้ ก็คงยังตั้งอยู่ที่โรงแรมแห่งนั้น







Thank to : https://mgronline.com/daily/detail/9470000048923
เผยแพร่ : 6 ก.ย. 2547 18:27 , โดย : เกษม ศิริสัมพันธ์
ขอบคุณภาพจาก : http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613&start=30
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ