ยินดีต้อนรับคุณ, บุคคลทั่วไป กรุณา เข้าสู่ระบบ หรือ ลงทะเบียน

ผู้เขียน หัวข้อ: ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล  (อ่าน 394 ครั้ง)

0 สมาชิก และ 1 บุคคลทั่วไป กำลังดูหัวข้อนี้

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28448
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล
« เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2023, 08:16:18 am »
0
.



ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล (1)

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

สีเลนะ สุคะติ ยันติ สีเลนะโภคะสัมปะทา
สีเลนะ นิพพุติงยันติ อิมัสสะ ธัมมะปะริยา
ยัสสะ อัตโถ สาธายัสมันเตหิ สักกัจจัง ธัมโม โสตัพโพติ

ณ บัดนี้ อาตมภาพจะได้แสดงพระธรรมเทศนา พรรณนาธรรมะคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อฉลองศรัทธาชี้สัมมาปฏิบัติแด่ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลายที่มาประชุมกัน ณ ธรรมสภาศาลาที่นี้ โดยสมควรแก่เวลา เนื่องในวันนี้เป็นการทำบุญข้าวสาก อันเป็นวัฒนธรรมที่ดีของชาวพุทธอย่างหนึ่งที่กระทำกันทุกปี และวันข้าวประดับดินที่ผ่านมาแล้วก็ดี ทั้งสองวันนี้เป็นคัมภีร์ของพราหมณ์เขากล่าวไว้ บุญข้าวสาก บุญข้าวประดับดิน เป็นวันที่พระยายมบาลปล่อยสัตว์นรกให้กลับมาสู่มนุษย์ มาเพื่อเยี่ยมเยือนญาติพี่น้องของตนที่อยู่ภายหลังยังไม่ตาย เพื่อรับบุญรับกุศล

เขาจึงมีพิธีว่าปล่อยสัตว์นรกขึ้นมาสู่มนุษยโลก พวกญาติพี่น้องที่อยู่ภายหลังยังไม่ตายก็จัดแจงอาหารหวานคาว ผลไม้ เป็นสำรับๆ ไว้ต้อนรับเปรตชนที่มาจากนรก เมื่อทำเสร็จแล้วเอาไปวางไว้ป่าช้า วางไว้กำแพงวัด วางในบริเวณวัด ทุกคนมีพี่น้องที่ตายไป ผู้ยังมีชีวิตอยู่จึงทำการเพื่อต้อนรับแขกผู้เป็นญาติเราที่มาจากนรก เพื่อจะได้กินอาหาร จึงจัดแจงภาชนะดังกล่าวนั้นมาวางไว้ เป็นการต้อนรับญาติพี่น้องที่เป็นสัตว์นรกนั่นเอง เสร็จจากนั้นแล้วก็พากันไปแม่น้ำคงคา เอาฝ่ามือทั้งสองกอบเอาน้ำให้สูงขึ้นเพียงตา แล้วก็หยาดน้ำลงมาทีละหยดๆ ลงในแม่น้ำคงคาอีก

@@@@@@@

การอุทิศส่งน้ำให้ญาติที่ตายไปแล้วนั้นคือพิธีของพราหมณ์ แต่ว่าพระพุทธศาสนาเกิดในภายหลัง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เผยแผ่ศาสนาพุทธออกมาเพื่อบัญญัติเป็นข้อปฏิบัติว่าการทำเช่นนั้นครูบาอาจารย์ของเราที่เป็นบิดามารดาครูบาอาจารย์ของพระกรรมฐาน หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และครูบาอาจารย์อื่นอีก ได้แนะนำสั่งสอนวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับญาติพี่น้องก็ดี เกี่ยวกับประโยชน์ปัจจุบันก็ดี ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทำไม่ถูกต้อง

ธรรมดาว่าอาหารการกินที่เอาไปวางไว้ในลานวัด ในป่าช้า มันเป็นอาหารของสามัญชนมนุษย์ผู้มีชีวิตอยู่ ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้ถือว่าให้แก่ผู้ที่ลับโลกไปแล้วมารับเอา มันก็กินไม่ได้อยู่นั้นเอง เพราะเป็นอาหารของหยาบ มีแต่ดวงวิญญาณดวงจิตดวงใจขึ้นมาเยี่ยมมาเยือนเท่านั้น ก็คงไม่ได้รับ เพราะอยู่อีกภพหนึ่ง

การทำบุญอุทิศอย่างนั้นท่านว่าทำไม่ถูกทาง ท่านว่าไม่ได้รับมากินอย่างนั้นไม่สมควรกับบุคคล ผู้มีแต่วิญญาณ มีนามธรรมมารับ ควรจะทำบุญอย่างอื่น เป็นต้นว่าได้บุญแล้วส่งบุญไปให้ ท่านแนะนำอย่างนั้น เพราะว่าเปรตชนผู้เป็นเปรตเป็นสัตว์นรกอยู่ เป็นเพียงนามธรรมคือจิตใจเท่านั้น จะมากินอาหารที่หยาบๆ อย่างที่เรากินนี้ไม่ได้ อาหารเหล่านี้เป็นของมนุษย์ สัตว์ นก กา เป็นต้น

ที่กินได้แต่เปรตรับไม่ได้เพราะว่าเป็นของหยาบ ต้องทำอาหารนั้นไปบริจาคทานแก่ภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีล ได้บุญขึ้นมาจากการบริจาคทาน เกิดจากการรักษาศีล เกิดจากการเจริญภาวนา ได้บุญแก่ใจตนเองแล้ว จึงแผ่อุทิศส่วนกุศลนั้นไปให้ภายหลัง ขอเดชะผลบุญที่ข้าพเจ้าได้ทำแล้วนี้ จงไปถึงผู้นั้นๆ ที่เป็นเปรตชน เป็นบิดา มารดา และเป็นญาติของข้าพเจ้า ขอเชิญมาอนุโมทนาเถิด เปรตชนผู้เป็นแต่เพียงจิตวิญญาณนั้น เมื่อได้รับข่าวเช่นนั้นก็ดีใจ สาธุการ ประนมมือรับพร อย่างนั้นเขาจึงจะได้รับ

@@@@@@@

ที่เคยทำมานั้นครูบาอาจารย์ท่านสั่งสอนว่าผิดแบบ ท่านบอกให้เลิก เพราะฉะนั้นการที่เอาข้าวไปวางไว้ลานวัด วางไว้ตามป่าช้าก็ดี กำแพงวัดก็ดี จึงหยุดมาตั้งแต่บัดนั้น แต่ก็ยังมีบางบ้านที่ทำกันอยู่ ได้ทราบข่าวจากโยมว่าบ้านหนองแวงมากราบคารวะ บอกว่าการเอาอาหารไปวางไว้ในลานวัด ตามกำแพง หรือในป่าช้าก็ยังทำกันอยู่ แต่บ้านเรานั้นเลิกกันแล้ว

ตามคำสอนที่มีมาในศีลสารสูตรกล่าวถึงการเอาอาหารให้แก่ผู้ตายนั้นว่า ในครั้งพุทธกาล มีเศรษฐีผู้มีเงินมาก มีสมบัติพัสถานมาก ได้ลูกชายผู้หนึ่งเกิดมาเป็นแก้วตาดวงใจของบิดา รักอย่างสุดซึ้ง ต่อมาบุตรได้ตายลง ด้วยความวิปโยคโศกเศร้า จึงนำศพไปสู่ป่าช้าแล้วเผาศพ แล้วคิดว่าลูกชายที่ตายไปแล้วเขาคงจะหาอาหารการกินไม่มี จึงได้จัดแจงคนใช้ให้นำอาหารคาวหวาน ผลไม้ สำรับหนึ่งไปวางไว้ป่าช้าทุกวันตั้งแต่วันที่ตาย เพื่อหวังให้ลูกชายได้กิน ประมาณเดือนหนึ่งสองเดือนทำอยู่อย่างนั้น

ต่อมาวันหนึ่งเกิดฝนตก คนที่นำเอาอาหารไปให้ลูกชายเศรษฐีนั้นจึงไปหลบยังศาลาแห่งหนึ่ง เห็นภิกษุผู้ทรงศีลเดินมาจากป่ามาบิณฑบาต จึงสำคัญว่าท่านอยู่ป่าคงอยู่ใกล้กับที่เผาลูกเศรษฐี เราไปวันนี้ก็ติดฝนตก ไปไม่ได้ จึงขอฝากอาหารนี้ไปให้ลูกเศรษฐีบริโภคใช้กินตามความประสงค์ แต่ได้คิดว่าข้าพเจ้ามีความประสงค์นำอาหารนี้อุทิศแด่ลูกเศรษฐีผู้ตายแล้วในป่าช้า จึงวางอาหารทุกอย่างลงในบาตรของพระเถระ พระเถระก็กล่าวว่า “ยะถา วาริวหา ปูรา ปริ ปูเรนฺติ สาครํ” สิ่งที่ท่านปรารถนามานั้นจงสำเร็จเถิด

ต่อมาในกลางคืนวันนั้นเอง ลูกเศรษฐีมาปรากฏในฝันของบิดาของตนเอง ไปต่อว่าต่อขานกับบิดาว่า ท่านผู้เป็นบิดานี้ท่านไม่รักลูกเลย ผมตายมาแล้วตั้งสองเดือนไม่ได้กินอาหารเลย มาได้กินในเช้าวันนี้เอง นับแต่ตายมาได้สองเดือนแล้ว เศรษฐีจึงเอะใจว่าที่ใช้ให้คนเอาอาหารไปส่งในป่าช้านั้นเขาทำหรือเปล่า จึงให้อีกคนหนึ่งไปนับภาชนะดู เพราะภาชนะนั้นเมื่อใส่อาหารไปแล้วก็วางซ้อนกันอยู่วันละสำรับ คนไปนับสำรับก็พบว่าครบถ้วนบริบูรณ์ มิได้ขาด เหตุใดลูกจึงมาต่อว่าว่าไม่ได้รับ ได้กินอาหารเพียงเช้าวานนี้เอง จึงไปถามคนที่เอาภาชนะไปวางนั้น จึงเล่าตามเหตุการณ์ที่กล่าวมาแล้ว

@@@@@@@

ด้วยเหตุนี้จึงมีความสงสัยว่า เหตุใดอาหารการกินที่นำไปให้เปรตชนที่ป่าช้านั้นจึงไม่ได้รับ แต่เมื่อถวายพระแล้วจึงได้รับ ดังนี้แล้วจึงไปทูลถามพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าจึงบอกว่า ความจริงเป็นเช่นนั้น เพราะว่าผู้ที่ตายไปแล้วไม่มีร่างกายเหมือนสัตว์หรือมนุษย์ซึ่งเป็นของหยาบ แต่ผู้ที่ตายไปแล้วเป็นเพียงวิญญาณ เป็นเพียงแต่จิตประคอง เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง ต้องทำการกุศลเป็นต้นว่าให้ทาน รักษาศีล บำเพ็ญภาวนา เป็นนามธรรมคือบุญเกิดที่ใจของผู้กระทำเช่นนั้น เมื่อได้บุญแล้วจึงส่งบุญไปให้ ซึ่งเป็นของนามธรรมเช่นเดียวกัน เหมาะเจาะแก่กัน ผู้รับเป็นเพียงวิญญาณ ผู้ส่งไปก็เป็นบุญ เมื่อได้รับข่าวแล้วก็โมทนาสาธุการไปเกิดเป็นมนุษย์อีก หรือเป็นเทวดา นี้เป็นการปฏิบัติถูกต้องตามทำนองของพระพุทธศาสนา

เพราะฉะนั้นการที่ทำดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้นจึงเป็นการทำที่ไม่ถูกต้อง ครูบาอาจารย์แนะนำสั่งสอนให้เลิกละพอสมควรแล้ว เราจึงถือปฏิบัติอย่างนี้ตลอดมา แม้แต่วันนี้คณะศรัทธาญาติโยมของวัดชัยมงคลที่มาทำบุญทุกบ้าน ทำบุญข้าวสาก ข้าวประดับดินที่ผ่านมาแล้ว จึงถือเป็นวันสำคัญที่ควรถือปฏิบัติสืบทอดเป็นของดี ทำดีไว้ให้ลูก ทำถูกไว้ให้หลาน ได้สืบทอดการปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบต่อไป

เพราะฉะนั้นวันเช่นนี้ได้เวียนมาถึงแล้ว ศรัทธาญาติโยมบ้านแพงมีกติกาสัญญากันว่าให้ฟังเทศน์แต่ละวัด รอบๆ กันไปถ้วนหน้า ครบรอบแล้วก็กลับมา ซึ่งในวันนี้เป็นวาระของวัดชัยมงคล วันนี้จึงเป็นการทำบุญทำกุศลที่สมควรจะทำให้เป็นประโยชน์คือ มีการฟังธรรมฟังเทศน์ เพื่อสนองศรัทธาประสาทะของญาติโยมทั้งหลายขอให้ตั้งใจฟังธรรมมะที่จะแสดงต่อไปนี้ด้วยความเคารพ ตั้งใจฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา ดังพระบาลีว่า “สุสุสฺสํ ลภเตปัญฺญํ ผู้ฟังด้วยดีย่อมได้ปัญญา”




การที่ผู้ฟังธรรมนั้นฟังอย่างไรเรียกว่า ฟังด้วยดี เพื่อให้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม หรือกติกาที่กำหนดไว้ คนฟังธรรมมีอยู่ 4 ลักษณะ

    1. อุปมาเหมือนกับหม้อที่ปิดฝาแล้วไปวางไว้กลางแจ้ง ฝนตกทั้งคืนไม่สามารถที่จะให้น้ำเต็มหม้อได้ เพราะหม้อมันถูกปิดอยู่นี่อย่างหนึ่ง
    2. อุปมาเหมือนหม้อที่เปิดฝาไว้แล้ว แต่หม้อก้นรั่ว เปิดฝาให้เม็ดฝนลงไปในหม้อเหมือนกัน แต่ก้นหม้อมันรั่ว มันก็ซึมซาบไหลไปหมด

นี่เป็นวิธีที่ไม่ถูกต้อง การทำให้ถูกต้องมีสองลักษณะเหมือนกันคือ
    1. หม้อเปิดฝา และ
    2. หม้อนั้นไม่รั่ว เปิดตั้งไว้ในที่แจ้งแล้ว เมื่อฝนตกลงมาในหม้อที่เปิดนั้น เป็นการรองรับน้ำฝน น้ำฝนก็เต็มหม้อ

ฉันใดก็ดี นี้เป็นอุบายเปรียบเทียบผู้ฟังธรรมทั้งหลายที่จะฟังด้วยดีนั้นคือ จะต้องเป็นลักษณะเปิดฝาหม้อออก หม้อก็ไม่ให้รั่ว เปิดฝานั้นหมายความว่า เปิดประตูใจรับฟังคำสั่งสอนของท่านผู้แสดงว่าธรรมมะ ที่ท่านแสดงนั้นหมายความลึกตื้นหนาบางอย่างไร มีความประสงค์อย่างไร มีอธิบายอย่างไร จดจำได้หมด ไม่เป็นเพียงแค่ว่านั่งในสมาคมของการฟังธรรมแล้วจิตใจไปห่วงหน้าห่วงหลัง ไปห่วงลูกห่วงหลานอยู่ในบ้านในเรือน คิดฟุ้งซ่านไปอย่างอื่น มีหูก็ไม่ได้รับฟังธรรมมะส่องเข้าไปในหูเลย เรียกว่าเหมือนกับหม้อที่ปิดฝา เป็นการฟังที่ไม่ตั้งใจฟัง แส่ใจไปทางอื่น ลักษณะที่สองแบบฟังแล้วตั้งใจฟัง แต่ว่าไม่ได้เก็บไว้ ลืมทั้งหมด เป็นคนหม้อก้นรั่ว รับเข้าไปแล้วแทนที่จะมีความคิดจดจำธรรมะคำสั่งสอนไปปฏิบัติ แต่ก็ลืมไปหมด พอออกจากวัดไป พ้นเขตวัดศีลก็คืนมาหมด ไปแต่ตัวเปล่า อย่างนี้เรียกว่าหม้อก้นรั่ว ไม่ได้ประโยชน์

ต้องเปิดฝาให้ดี ฝาที่เปิดออกนั้นเรียกว่าตั้งใจฟัง จดจำธรรมะคำสั่งสอนของท่านที่แสดงอย่างไร ในการฟังธรรมนั้นต้องจับให้มันได้ เปิดประตูใจของเรา เปิดหู เปิดใจ ขึ้นมารับฟังธรรมคำสั่งสอน แล้วก็จดจำไว้ให้มั่นคง ไม่ให้หลงลืมเสียหาย กลับไปบ้านไปเรือนแล้วให้ยังนึกถึงธรรมะที่ท่านแสดงอยู่ตลอดเวลา เข้าใจความหมายแล้วก็ปฏิบัติตาม นี้ชื่อว่าฟังธรรมที่ดี เป็นหม้อเปิดฝาแล้วก้นไม่รั่ว จิตจำ ฟังธรรมแล้วปฏิบัติตามนั้น ชื่อว่าการฟังธรรมที่ถูกต้อง ต้องได้ปัญญาเกิดขึ้น

เพราะฉะนั้นธรรมมะที่จะแสดงต่อไปนี้ จะได้ชี้แจงสิกขาบทคือศีลของภิกษุ สามเณรพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ให้รักษาศีล ภิกษุสงฆ์‌นั้นต่างหาก ส่วนทายก ทายิกานั้น ยังไม่บวชให้มีศีลสองประการ คือ ศีล 8 และศีล 5 , ศีล 8 ‌นั้นเป็นศีลอุโบสถก็มี เป็นศีล 8 ธรรมดาก็มี

@@@@@@@

ทำไมจึงเรียกว่า ศีลอุโบสถ ศีล 8

คำว่า อุโบสถ นั้นเป็นชื่ออย่างหนึ่งของการบำเพ็ญพรต‌ของศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพราหมณ์ถือว่า‌ เดือนหนึ่งมี 4 ครั้ง ขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น 15 ค่ำ แรม ‌8 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ เป็นวันอุโบสถ เขาให้ชื่อว่า วันอุโบสถ พวกพราหมณ์เขาก็ทำกันอย่างนั้น ‌

เมื่อถึงวันอุโบสถมาถึงเวลาใดก็ตามแล้ว ก็ออก‌จากบ้านเรือนเข้าไปสู่ป่าหาที่สงัด บำเพ็ญพรต‌ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ เป็นต้นว่า ‌อดอาหาร ไม่กลืนน้ำลาย ทรมานร่างกายต่างๆ ‌ตามคำสอนของศาสนาพราหมณ์ เขาทำอย่างนี้‌เรียกว่า ทำอุโบสถ ไปอุโบสถ

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนาก็เอามาบัญญัติ‌เป็นการปฏิบัติว่าดี เดือนหนึ่งแบ่งเป็นสี่ครั้ง ทั้งสี่ครั้งนี้ก็คงพอดีกับการครองชีพของฆราวาส ‌ที่ยังเป็นผู้วุ่นวายอยู่กับอาชีพการงาน เข้าวัดไม่ได้ตลอดทุกวัน เอาถือว่าเดือนหนึ่งเข้าวัดสี่วันก็แล้วกัน ก็เรียกว่า วันอุโบสถ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงสอนว่า วัน‌อุโบสถได้มาถึงแล้ว ฝ่ายภิกษุให้ทำปาติโมกข์เพื่อ‌ทบทวนสิกขาบทของตน ฝ่ายฆราวาสคือ ญาติ‌โยมก็รักษาศีล 8 ประการ เรียกว่า ศีลอุโบสถ

ศีลอุโบสถกับศีล 8 ต่างกันอย่างไร มีความ‌หมายต่างกัน

ถ้าผู้ใดรักษาศีล 8 ในวันขึ้น 8 ค่ำ ‌ขึ้น 15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำ เรียกว่า ถือศีล 8 อุโบสถ คำอาราธนาก็ต่างจากที่ถือศีล ‌8 เฉยๆ เรียกว่า อัฏฐะ หรือศีล 8 ประการ ดัง‌ที่แม่ชีรักษาเป็นนิจกาลนี้เรียกว่ารักษาศีล 8 คำ‌ อาราธนาก็ต่างกัน ถ้าวันใดเป็นวันขึ้น 8 ค่ำ ขึ้น ‌15 ค่ำ แรม 8 ค่ำ แรม 15 ค่ำแล้ว มีคำอาราธนา‌ว่า “มยํ ภนฺเต ติสรเนน สห อฏฺฐํค สมณาคตํ ‌อุโบสถํ ยาจามิ” นี่ชื่อว่ารักษาศีลอุโบสถ วัน 8 ‌ค่ำ วัน 15 ค่ำ ถ้ารักษาศีล 8 ธรรมดา คือวันที่‌ไม่ถูกกับวันอุโบสถ ก็อาราธนาว่า “มยํ ภนฺเต ‌ติสรเนน สห อฏฺฐ สีลานิยาจามิ” นี่คำอาราธนา‌ก็ต่างกัน การปฏิบัติก็ต่างกัน

เพราะฉะนั้นเป็นการบัญญัติคำสอนลงในคติ‌ของพราหมณ์ที่ทำกัน ฝ่ายภิกษุสงฆ์ก็ให้สวดปาติโมกข์ ท่องสิกขาบทวินัยของตน ฝ่ายคฤหัสถ์‌ก็ให้รักษาศีลอุโบสถหรือศีล 8 หรือรักษาศีล 5

@@@@@@@

จำเป็นอย่างไรจึงต้องรักษาศีล 5

อันว่าศีล 5 นั้น เรียกชื่ออย่างหนึ่งว่า นิจศีล แปลว่า ศีล‌ที่ควรรักษาเป็นนิจ บางคนก็ว่าจะรักษาศีล 5 ให้‌เป็นนิจอย่างไร เพราะว่ายากยุ่งอยู่กับอาชีพการ‌งานธุระหน้าที่ที่ทำอยู่ตลอดเวลา ไม่มีเวลาว่าง ‌ไม่มีโอกาสจะรักษาเป็นนิจ ไม่แก่ไม่เฒ่าแล้วยัง‌ไม่สมควรจะเข้ามารักษาศีลธรรม คนแก่คนเฒ่า ‌คนไม่มีงานจึงสมควรไปฟังเทศน์ฟังธรรมจำศีล

นี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะว่าศีล 5 เป็นนิจศีลสำหรับฆราวาสผู้ปฏิบัติให้รักษาเป็นนิจ จึงเรียกว่า นิจศีล เราจะ‌เข้าใจอย่างอื่นไม่ได้ จะหลีกเลี่ยงว่าไม่รักษาไม่ได้

ทายก ทายิกา อุบาสก อุบาสิกา ผู้ชาย ผู้หญิงในโลกนี้ ผู้ใดปฏิญาณตนว่า พุทธัง สรณัง ‌คัจฉามิ ธรรมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง ‌คัจฉามิ เป็นผู้ถือพระศาสนาแล้ว ถ้าเป็นผู้ชายเรียกว่า อุบาสก ถ้าเป็นผู้หญิงเรียกว่า ‌อุบาสิกา ผู้ถึงพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง อุบาสก ‌อุบาสิกานี้ ต้องมีความพร้อมด้วยองค์สมบัติ‌ของอุบาสก อุบาสิกา จึงเรียกว่า อุบาสก อุบา ‌สิกา ผู้ปฏิญาณตนว่าถือ พระพุทธ พระธรรมพระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งอื่นไม่มี พระพุทธเจ้า‌เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มี พระธรรมเจ้า‌เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มี พระสงฆ์เจ้า‌เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า นี้เป็นการปฏิญาณตน

เช่นนี้แล้วก็จำเป็นต้องมีองค์สมบัติว่าอะไร‌ เป็นผู้มีนามว่า อุบาสก อุบาสิกา ต้องพร้อมด้วยองค์สมบัติ 5 ประการ เป็น‌หน้าที่ของผู้รักษาศีล 5 ประการนี้ คือ

    1. มีศรัทธาบริบูรณ์
    2. มีศีลบริสุทธิ์
    3. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรม ไม่เชื่อมงคล
    4. ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา
    5. แสวงหาบุญแต่ในเขตพระพุทธศาสนา

 


ขอบคุณที่มา : https://www.posttoday.com/lifestyle/154905
POST TODAY > ไลฟ์สไตล์ > 20 พฤษภาคม 2555 > โดย ภัทระ คำพิทักษ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 05, 2023, 08:57:51 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28448
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล
« ตอบกลับ #1 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2023, 08:56:12 am »
0
.



ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล ( 2 )

อุบาสก อุบาสิกานี้ ต้องมีความพร้อมด้วยองค์สมบัติของอุบาสก อุบาสิกา จึงเรียกว่า อุบาสก อุบาสิกา

อุบาสก อุบาสิกานี้ ต้องมีความพร้อม‌ ด้วยองค์สมบัติของอุบาสก อุบาสิกา จึงเรียกว่า‌อุบาสก อุบาสิกา ผู้ปฏิญาณตนว่าถือพระพุทธ พระ‌ธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่ง ที่พึ่งอื่นไม่มี พระพุทธเจ้า‌เป็นที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มีพระธรรมเจ้าเป็น‌ที่พึ่งของข้าพเจ้า ที่พึ่งอื่นไม่มี พระสงฆเจ้าเป็นที่พึ่ง‌ของข้าพเจ้า

นี้เป็นการปฏิญาณตน เช่นนี้แล้วก็จำเป็นต้องมี‌องค์สมบัติว่า อะไรเป็นผู้มีนามว่าอุบาสก อุบาสิกา ต้องพร้อมด้วยองค์สมบัติ 5 ประการ เป็นหน้าที่‌ของผู้รักษาศีล 5 ประการนี้คือ

    1. มีศรัทธาบริบูรณ์
    2. มีศีลบริสุทธิ์
    3. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว เชื่อกรรมไม่เชื่อมงคล
    4. ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา
    5. แสวงหาบุญแต่ในเขตพระพุทธศาสนา

ในองค์สมบัติอุบาสก 5 ประการนี้ ในข้อที่ว่าประกอบด้วยศรัทธานั้น เราเคารพนับถือ‌พระพุทธเจ้าตลอดชีวิต
- พุทธัง ชีวิตัง ยาวนิพพานัง ‌สรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือพระพุทธเจ้าตลอดชีวิตจนเข้าถึงพระนิพพาน
- ธรรมมัง ชีวิตัง ยาวนิพ‌พานัง สรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือพระธรรมเจ้า‌ตลอดชีวิตจนเข้าถึงพระนิพพาน
- สังฆัง ชีวิตัง ยาว‌นิพพานัง สรณังคัจฉามิ ข้าพเจ้าขอถือพระสงฆเจ้า‌ตลอดชีวิตจนเข้าถึงพระนิพพาน

@@@@@@@

ข้อ 1. มีศรัทธาบริบูรณ์ผู้ที่มีศรัทธาเด็ดเดี่ยว‌ดังที่กล่าวมานี้ ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีศรัทธาบริบูรณ์ใน‌พระพุทธศาสนา ไม่ละเลิกที่จะถอนตัวออกจาก‌พุทธบริษัท เรียกว่ามีศรัทธาบริบูรณ์ แม้ว่าอย่างไร ‌ถึงเอาชีวิตเป็นเดิมพันก็ตาม

เหมือนครั้งพุทธกาล วันหนึ่ง ทุกขตา คนทุกข์‌ยากเข็ญใจคนหนึ่งไปกินอาหารในวัด เกิดความ‌เลื่อมใสศรัทธา ปฏิญาณตนว่าขอถือพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก ด้วยความ‌มั่นเหมาะ เอาชีวิตเข้ากราบ เอาชีวิตเข้าแลกปฏิญาณตน เป็นคนทุกข์คนยากแต่ก็มีจิตใจที่ยอม‌รับในพระพุทธศาสนา บำเพ็ญตนเป็นพุทธบริษัท ‌พุทโธ ธรรมโม สังโฆ เป็นที่พึ่งที่ระลึกอยู่ตลอดเวลา

พระมหากษัตริย์ได้ทดลองจิตใจของทุกขตาคนนั้น บอกว่าขอให้เธอเลิกคำว่าพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่งที่ระลึก แต่ให้พูดว่าข้าพเจ้าไม่พึ่งไม่ถือ‌พระพุทธเจ้า ไม่ถือพระธรรม ไม่ถือพระสงฆ์อย่างนี้เราจะให้เงิน บอกว่าให้ถอนคำพูด บอกว่า‌เป็นที่พึ่งไม่เอา ให้ว่าเลิกแล้ว ท่านให้เลิกอย่างนี้ ‌ทุกขตาบุรุษก็ไม่ยอมเลิก จะให้เงินเท่าไหร่ก็ไม่ยอม‌เลิก แม้จะฆ่าให้ตายก็ไม่ยอมเลิก จะทำอย่างไรก็ไม่‌ยอมเลิก อย่างนี้เรียกว่าศรัทธาในพระพุทธศาสนา‌ข้อ 1 สมบูรณ์แล้ว

เหล่าทายก ทายิกาทั้งหลายต่างปฏิบัติกันมา‌อย่างนี้ ไม่เคยละเลยเลิกละในการนับถือศาสนา‌พุทธ ก็สมควรเรียกว่าศรัทธามีความเชื่อสมบูรณ์‌แล้ว

ข้อ 2. มีศีลบริสุทธิ์นี่สำคัญ ข้อนี้แหละที่ว่าเป็นสมบัติของอุบาสก อุบาสกจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า‌เป็นคนยุ่งยากกับวัยอายุสังขารยังเล็กน้อย ยังมีธุระยุ่งอยู่ รักษาไม่ได้ หรือยังไม่แก่ไม่เฒ่า ไม่รักษา‌แล้ว เป็นการหนี ปลีกตัวไม่ได้ เพราะว่ามีศีลบริสุทธิ์ หมายถึงศีล 5 นี้เอง ศีล 5 นี้เป็นศีลประจำ ‌เพราะฉะนั้น จึงสมควรให้รักษาศีลตลอดเวลา

ข้อ 3. ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวพุทธบริษัทไม่ควรหูเบา ปัญญาเบา เชื่อคำโฆษณาว่าการต่างๆ คำยั่วยุ ในทางไม่ดี ทางไม่ชอบ ตื่นข่าวว่าผู้นั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ผู้นี้เป็นผู้มีบุญเกิดแล้ว หรือมารดาไม่เห็นลูก บางทีก็เข้าไปในท้อง บางทีก็ออกไปจากท้องมารดา เป็นลูกผู้ประเสริฐ ตื่นกันขนาดหนักเมื่อ 20 ปีมาแล้วที่อุดรฯ นั่นเรียกว่าเชื่อมงคลตื่นข่าว หูเบาปัญญาเบา ไม่ใช้สติพิจารณาให้ถ่องแท้ ‌หลงใหลปฏิบัติในทางที่ผิด เข้าใจผิดเช่นนั้น เรียกว่าเชื่อมงคลตื่นข่าว ให้ใช้สติพิจารณาให้ถ่องแท้ อย่า‌หลงใหลในทางที่ผิด ต้องเชื่อกรรม เชื่อผลของกรรม ‌เรียกว่าไม่เชื่อมงคลตื่นข่าวไม่เป็นคนหูเบา

ข้อ 4. ไม่แสวงหาบุญนอกเขตพระพุทธศาสนา‌ได้แก่ความนิยมชมชอบในศาสนาอื่น...

ข้อ 5. แสวงหาบุญแต่ในเขตพระพุทธศาสนา‌มีการให้ทาน รักษาศีล ใส่บาตร ถวายอาหารบิณฑบาต ถวายผ้าจีวร ถวายเสนาสนะ ถวายยา‌รักษาโรคแก่พระภิกษุสงฆ์ ทำอย่างนี้เรียกว่าแสวง‌บุญแต่ในพระพุทธศาสนา เป็นคุณสมบัติที่สมบูรณ์‌บริบูรณ์ทุกอย่าง องค์ 5 ประการนี้แหละเป็นการ‌บังคับว่าให้รักษาศีล แต่ก็คำที่ว่าเราไม่สมควรเป็นผู้รักษาศีล เรายังหนุ่มยังแน่น ยังมีภาระหน้าที่ไม่มีเวลารักษาศีล นั้นเป็นการเข้าใจผิด ควรรักษา‌อยู่ตลอดทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย รักษาศีล 5 ประจำ ‌เรียกว่านิจศีล

เพราะฉะนั้น การที่จะรักษาศีลให้ตลอดเวลานี้‌เราจะทำอย่างไรให้ปฏิบัติได้การที่จะเป็นผู้มีศีลนั้น‌จะต้องถูกต้องในองค์สมบัติ คือมีลักษณะว่าเป็นผู้มีศีล ศีลเกิดได้จากการตั้งใจรักษา ไม่ใช่ว่าเพียง‌แต่ไม่ทำ ไม่ชื่อว่าเป็นศีล

@@@@@@@

การที่ตั้งใจรักษาศีล ต้องพร้อมด้วยองค์สมบัติ‌ คือ

1. เป็นผู้มีเจตนาสัมปัตตวิรัติ มีความอยากจะ‌รักษาศีล ให้ศีลเกิดเฉพาะหน้าคือพบคนที่จะฆ่า‌เราก็ไม่ฆ่า พบยุงที่กัดเราเราก็ไม่ฆ่า มีใจคิดขึ้นมา‌เราจะไม่ฆ่า เราควรมีศีล งดจากการฆ่านั้นเอง‌ปัจจุบันทันด่วน นั่นชื่อว่าเกิดศีลขึ้นแล้วในใจ บุคคล‌พบของที่ควรลัก พบผู้หญิงที่ควรประพฤติผิดใน‌กาม ระหว่างผัวระหว่างเมียของกันและกัน สมควร‌จะทำได้แต่ก็ไม่ทำ เกิดความมีศีลขึ้นมาในใจ

อย่างนี้เรียกว่ามีศีลเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ประสบ‌พบเหมาะกับสิ่งที่ทำให้ผิดศีลทั้ง 5 ข้อ แต่ก็ไม่ทำ ‌กำหนดจิตใจของตนให้ลด ละ เว้น ในการผิดศีลที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้านั้นเรียกว่ามีศีลอย่างหนึ่งเกิดเป็นศีลแล้วเรียกว่าสัมปัตตวิรัติ ละเว้นในการ‌เฉพาะหน้า

2. สมาทานวิรัติ ศีลจะเกิดขึ้นในจิตในใจได้ด้วย‌การสมาทานได้แก่การอาราธนาขอศีลจากภิกษุ‌สามเณรผู้ทรงศีล แล้วท่านก็กล่าวคำสิกขาบทให้ ‌แล้วรับเอาคำที่กล่าวดังเคยที่สอนกันมาและที่ปฏิบัติกันมาตลอดเวลานี้ เพราะฉะนั้น ศีลเกิดขึ้น‌โดยการสมาทาน ขอศีลแล้วท่านก็ให้ศีล ที่จริงท่าน‌ก็ไม่ให้หรอกศีลนั่น ท่านประกาศข้อห้ามให้รู้จักเองว่า นั่นคือข้อห้าม อันนี้เป็นศีล เว้นดังที่ประกาศ ‌ให้เราตั้งใจสมาทาน เกิดศีลขึ้นมาในใจ เพียงไม่ทำบาป เพียงไม่คิดบาป เพียงไม่พูดบาป ก็ถือว่า‌เป็นศีลไม่ได้ ต้องตั้งใจสมาทาน

3. เรียกว่าสมุจเฉทวิรัติ ถึงพร้อมด้วยความ‌เด็ดขาดดังศีลของพระอริยะ

ทั้ง 3 ประการนี้ ลักษณะของศีลที่ต่างกัน ‌สมุจเฉทวิรัติเป็นศีลของพระอริยะ เป็นศีลที่‌เด็ดขาด เป็นศีลที่ยอดเยี่ยม เพราะฉะนั้น เกิดศีลขึ้นมาแล้วมีคำถามว่า วัว ควาย มันไม่เคยลัก‌ของใคร ไม่เคยฆ่าใคร ไม่เคยผิดลูกผิดเมียใครไม่เคยพูดปด ไม่เคยดื่มสุราเมรัย วัวควายนั้นจะมี‌ศีลหรือไม่ ถ้าทำนองนี้เรียกว่าไม่มีศีลเพราะมันไม่มีเจตนา ผู้ที่รักษาศีลนั้นต้องเป็นผู้มีเจตนาสังวร‌ละเว้น

แม้จะสมาทานจากพระโพธิสัตว์ ชุมชน หมู่มาก‌เต็มศาลาก็ตาม ประกาศศีลแล้ว กล่าว“มะยังภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ ติสะระเน นะสะหะ ปัญจะ สีลา นิยา จามะ”ก็ตาม ว่าตามไปแล้ว จบแล้ว ให้ศีลแล้วเกิดศีลได้หรือไม่ ไม่เกิด‌ศีล ไม่เป็นศีล ไม่เป็นบุญ ไม่เป็นบาป เพราะว่าไม่ได้ตั้งเจตนางดเว้นต้องเจตนางดเว้น มีสัจจะ‌จริงใจขึ้นมา จึงชื่อว่าเป็นผู้มีศีลเหมือนกับการที่เราตั้งใจรักษาศีลก็รักษาศีล ตั้งใจงดเว้น มีความ‌คิดความอ่านที่เหมาะเจาะแน่วแน่เข้าไปในการ‌รักษาศีลจึงจะมีศีล เพียงแต่การสมาทานพูดตาม‌หมู่ไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ว่าเป็นศีลเพราะไม่มีเจตนา

ดังพระบาลีว่า
    “เจตนาหัง ภิกขะเว สีลังวะทามิ” ‌ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ความเจตนางดเว้นอันเป็นตัว‌ศีล
    “เจตนาหะ กัมมัง วะทามิ” เจตนานั้นเป็นกรรม ‌หากไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นศีล
ลักษณะของศีลเกิดขึ้นมาด้วยการอย่างนี้




เพราะฉะนั้น ศีลสำคัญคือศีล 5 ประการนี้ ‌จำเป็นอย่างไรที่จะรักษาให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ตลอด‌เวลา อย่าเข้าใจผิดว่าเป็นของคนแก่คนเฒ่าจึงเข้า‌วัดฟังธรรม เท่านั้นที่จะรักษาหรือเป็นพระเป็นเณร‌เท่านั้นจึงรักษาศีล ที่จริงเราเป็นพุทธบริษัทก็ต้องมี‌ศีลตลอด แม้ว่าเวลาใด วัยใด คนหนุ่ม คนแก่คนเฒ่า เด็กก็ตาม ต้องเป็นผู้มีศีลเพราะเรานับถือพระพุทธศาสนาแล้วต้องมีศีล มีคุณสมบัติดังกล่าว‌มาแล้วแต่สำคัญว่าเราจะปฏิบัติอย่างไร ที่จะให้‌ศีลเรามีตลอด หนทางปฏิบัตินั้นก็คือตั้งใจงดเว้น‌รักษา ด้วยการสมาทานก็ดี ด้วยการบังเกิดศรัทธา‌เฉพาะหน้า บำเพ็ญเฉพาะหน้าก็ดี เราตั้งใจรักษา‌แล้ว กล่าวแล้ว เว้นแล้ว ตั้งใจรักษาตลอดชีวิตจึงจะเป็นผู้มีความสุข หรือว่าเจตนานี้สำคัญที่จะต้องรักษาตลอดไปเพื่อไม่ให้ขาดสิกขาบทใด‌สิกขาบทหนึ่ง

การรักษาศีล 5 ที่เรียกว่า นิจศีล คือ รักษาศีลเป็นนิจนั่นเอง เพราะเป็นพุทธบริษัทแล้ว เป็นทายก ‌ทายิกา แล้วต้องเป็นผู้มีศีลเท่านั้น เข้าใจอย่างนี้ชื่อว่าถูกต้อง แต่ว่าเราเข้าทำนอง‌ว่าถือศีลเป็นพิธีกรรมเฉยๆ ทำไปตามประเพณีของ‌ตนไปแล้ว แต่การรักษาไม่มี

ดังที่พระฝรั่งองค์หนึ่ง‌เห็นภิกษุรักษาศีล พัฒนาศีลทั้งหมดทุกๆ องค์นั้น ‌ไปที่ไหนก็เห็นอย่างนั้น จึงอัศจรรย์ใจว่าชาวพุทธ‌ไทยนี้ตั้งใจเด็ดเดี่ยวรักษาศีล สมาทานศีลทั้งหมด‌ทุกคน ไม่มีใครเว้นที่จะไม่รักษา เข้าใจว่าเป็นเช่น‌นั้น รักษากันจริง ปฏิบัติจริง แต่ก็ไปเห็นคนที่รักษา‌ศีลไปแล้วดื่มเหล้าเมาแค่นั้นเอง นั้นพระฝรั่งจึงแปลกใจว่าทำไมรักษาศีลอาราธนาศีลแล้วจึงยัง‌กินเหล้าอยู่เลย สมาทานขอศีลแล้วทำไมจึงยังมา‌กินเหล้าอีก พระฝรั่งจึงเอะใจว่าเป็นความเข้าใจผิด‌ของพระฝรั่งนั้นเอง ประเพณีการรักษาศีลของไทย‌เป็นเพียงประเพณีเท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้น ศีล 5 นะโม ตัสสะ เป็นของสำคัญ‌อย่างไรที่ขาดไม่ได้ในการงานทุกอย่าง จะถวาย‌อาหารก็ดีต้องรับศีลก่อน จะถวายกฐิน ผ้าป่าก็ดี‌ต้องรับศีลก่อน จะสวดมงคลบ้านหรือว่าอวหมงคล‌ก็ดี ก็รักษาศีลก่อน ต้องว่า นะโมก่อน เพราะอะไร‌จึงเอานะโมไว้ก่อน เพราะฉะนั้น จึงต้องเข้าใจ‌ปฏิบัติ

เพราะว่า “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต” นี้ ‌เป็นการไหว้ครู บรมครูคือพระศาสดาของเรา ‌เหมือนกับนักมวยจะต่อยกันในสนามก็ต้องไหว้ครู‌ก่อน เราเป็นชาวพุทธจะทำกิจการใดก็ต้องไหว้ครู‌เป็นการระลึกถึงพระพุทธเจ้าก่อน เป็นที่พึ่งที่ระลึก ‌เป็นของที่แน่นอน จะลืมเลือนไปไม่ได้ต้องคิดตักเตือนตัวเองอยู่เสมอว่าเป็นผู้ไหว้ครูแล้ว รักษา‌ศีล 5 แล้วตลอดชีวิต เราจะทำได้อย่างไรการทำไปดังกล่าวมาแล้วตั้งใจสมาทานสิกขาบททั้ง 5 ‌ประการ เราทุกคนคงจำกันได้หมดแล้วว่าจะรักษา‌ตลอดชีวิต

การรักษาศีลของศรัทธาญาติโยมกับแม่ชีนั้น‌ต่างกัน แม่ชีนั้นบวชแล้วก็รักษาศีล 8 ตลอดชีวิต ‌ส่วนทายก ทายิกานั้น ยังไม่บวชก็รักษาศีล 5 ตลอด‌ชีวิตเช่นกัน เพราะฉะนั้น เพื่อความถูกต้อง

@@@@@@@

ศีลของแม่ชีกับศีลของฆราวาสต่างกันอย่างไร

ต่างกัน ศีลของแม่ชีหรือศีล 8 นี้ รักษาตลอด‌ชีวิต เป็นของรวมกัน ขาดข้อหนึ่งก็ขาดไปหมด ศีลของภิกษุก็เช่นกัน 227 ข้อ สามเณร 10 ข้อ ‌เพียงขาดไปละเมิดสิกขาบทข้อเดียวศีลของพระ ‌227 ก็ขาดหมด เพราะเป็นสัจจะรวมขอบวชใน‌พระพุทธศาสนา พระภิกษุรับศีลในเวลาไหน ไม่มี‌การรับศีลของภิกษุผู้บวช เป็นการขออุปสมบทเป็น‌ภิกษุสงฆ์ โดยการกล่าวว่า

   “สังฆัม ภันเต อุปสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุ‌มัง ภันเต สังโฆอนุกัมปัง อุปาทายะทุติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปสัมปะทัง ยาจามิ อุลลุมปะตุมัง ภันเต สังโฆอนุกัมปัง อุปาทายะตะติยัมปิ ภันเต สังฆัง อุปสัมปะทัง ยาจามิอุลลุมปะตุมัง ภันเต สังโฆอนุกัมปัง อุปาทายะ”

นี้เป็นคำขอบวชขอประพฤติพรหมจรรย์การ‌ประพฤติพรหมจรรย์ต้องมีศีล 227 ข้อกำกับ เพียง‌ข้อเดียวว่าข้าพเจ้าจะประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น ‌ก็เป็นอันว่าศีล 227 ข้อ อยู่ในใจผู้นั้นแล้ว

ฝ่ายอุบาสกก็เหมือนกันที่จะรักษาศีล 5 ก็ตั้งใจ‌จะรักษาศีล 5 ไว้ในใจของเราแล้ว เป็นของจำเป็น‌อย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจใหม่ ด้วยการสมาทานศีล 5 ‌แล้ว เป็นการรักษาตลอดเวลา ศีลของทายก ทายิกา‌ที่เป็นชาวบ้านนั้นต่างกันคือขาดข้อใด ก็เพียงข้อนั้น‌ขาด อีก 4 ข้อก็ยังอยู่ ขาด 3 ข้อ อีก 2 ข้อก็ยัง‌อยู่ ขาด 4 ข้อ ข้อ 5 ก็ยังอยู่ นี้ยังมีศีลอยู่ เพื่อจะให้ศีลของเราเต็มบริบูรณ์ตลอดเวลาทำอย่างไร ‌ก็ทำการสมาทานศีลใหม่ เมื่อมีการทำบุญทำทานใด‌ก็สมาทานขอศีลจากพระคุณเจ้าว่า

    “มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะ นัตถายะ ติสะ‌ระเนนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะ นัตถายะ ‌ติสะระเนนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะ นัตถายะ ‌ติสะระเนนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ”

นี่เป็นการขอศีล ซึ่งกล่าวว่า
    “ข้าพเจ้าขอถือศีลต่างๆ กันในศีล 5 ประการนี้ ครั้งที่สองข้าพเจ้าขอถือศีลต่างๆ กันในศีล 5 ประการนี้ครั้งที่สาม ข้าพเจ้าขอถือศีลต่างๆ กันในศีล 5 ‌ประการนี้”


@@@@@@@

คำว่า วิสุง วิสุง นั้นแปลว่า ลักษณะต่างๆกัน ‌มีความหมายอย่างไร ว่ามีความหมายต่างๆ กัน เช่นว่า โยม ก ขาดข้อ 1 โยม ข ขาดข้อ 2 โยม ‌ค ขาดข้อ 3 นาง ง ขาดข้อ 4 นาย จ ขาดข้อ 5 ‌มันขาดศีลไปแล้ว ล่วงไปแล้ว ข้าพเจ้าขอสมาทาน‌ศีลให้เต็มเหมือนเก่า ในลักษณะต่างกันหลายคนที่มาขอวันนี้ขาดไม่เหมือนกันนี้ความหมายเพื่อให้‌ศีลเราอยู่ตลอดเวลานั่นเอง

เพราะฉะนั้น จึงเป็นศีลขึ้นมาเพียงแต่ไม่ทำ‌บาป ไม่ประพฤติผิดในกามเฉยๆ เหมือนกับวัว ‌ควาย ที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็ไม่เป็นศีลอยู่เอง ไม่ได้ทำ‌อะไรก็ตาม แต่ไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป

เพราะฉะนั้น จึงสมาทานศีลด้วยตนเอง ‌เรียกว่าสัมปัตตวิรัติ ตั้งใจขอศีลด้วยตัวเอง ไม่ต้อง‌ขอจากพระจากเจ้าก็เป็นศีลขึ้นมา เพื่อให้ความ‌บริสุทธิ์ บริบูรณ์ทุกเวลาไม่ว่าจะนอนกราบไหว้‌แล้วกล่าว
     “อะระหัง สัมมา สัมพุทโธ ภะคะวา พุทธังภะคะวันตัง อะภิวา เทมิ สวากขาโต ภะคะวะตา ‌ธัมโม ธัมมัง นะมัสสามิ สุปฏิปันโน ภะคะวะโตสาวะกะสังโฆ สังฆังนะมามิ”

แล้วก็ต่อสมาทานขึ้นเลย
    “ปาณาติปาตา เวร‌มณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ อะทินนาทานา เวรมณี ‌สิกขาปะทัง สมาธิยามิ กาเมสุ มิจฉาจารา เวรมณี ‌สิกขาปะทัง สมาธิยามิ มุสาวาทา เวรมณี สิกขา‌ปะทัง สมาธิยามิ สุราเมระยะมัชฌะปมา ทัฏฐานา ‌เวรมณี สิกขาปะทัง สมาธิยามิ”

จบลงเป็นศีล เพิ่มศีลต่อศีลเราอย่าให้มันขาด ‌แล้วจึงนอน

เพราะฉะนั้น การทำอย่างนี้เรียกว่าการรักษา‌ศีลของตนให้บริสุทธิ์ไม่ให้มันขาด ขาดข้อใดก็เพิ่ม‌เอาข้อนั้นใกล้จะนอนแล้วเรากราบไหว้สมาทาน‌ศีลให้มีศีลในร่างกาย มีศีลในจิตใจ แม้จะตายในคืนนั้นก็ได้ชื่อว่าตายอย่างมีศีล บุญกุศลที่รักษาไว้ผู้มีศีลบริสุทธิ์มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาไว้ให้ตลอด ไม่‌มีขาดตอน ก็มีวิธีอย่างนั้นที่ท่านปฏิบัติ

ถ้าไม่มี‌โอกาสสมาทานจากพระเจ้าพระสงฆ์ก็สมาทานเอง‌ในที่นอนนั้นเอง ก็มีศีลไม่ขาดตลอดเวลา ตื่นขึ้นมา‌วันใหม่แล้วศีลของเรายังบริสุทธิ์อยู่ในกลางวันวันนี้‌เราจะทำบาปอะไรบ้าง ศีลของเราขาดตกบกพร่อง‌อะไรบ้าง ก็ตรวจตราก่อนจะนอนวันใหม่ อย่าให้ตก อย่าให้ขาดว่าง นี้เป็นวิธีที่จะทำให้‌ได้ศีล





ขอบคุณที่มา : https://www.posttoday.com/lifestyle/156229
POST TODAY > ไลฟ์สไตล์ > 27 พฤษภาคม 2555 > โดย ภัทระ คำพิทักษ์
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: พฤศจิกายน 05, 2023, 08:58:06 am โดย raponsan »
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ

raponsan

  • มารยิ่งมี บารมียิ่งแก่กล้า
  • ผู้ดูแลบอร์ด
  • โยคาวจรผล
  • ********
  • ผลบุญ: +61/-0
  • ออฟไลน์ ออฟไลน์
  • กระทู้: 28448
  • Respect: +11
    • ดูรายละเอียด
Re: ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีล
« ตอบกลับ #2 เมื่อ: พฤศจิกายน 05, 2023, 09:18:43 am »
0
.



ศีลกถา ประโยชน์ของการรักษาศีลกถา(จบ)

ถ้าจะรักษาศีลทั้ง 5 ประการ จึงทำดังนี้

ข้อ 1. โดยเฉพาะอย่างยิ่งศรัทธาญาติโยม‌ที่อยู่ในตลาด ใกล้ตลาด เช่น อ.บ้านแพง ‌อ.ศรีสงคราม ก็ดี เป็นการที่ว่า ปาณาติปาตา ‌เวรมณี นี้ที่มันจะขาด ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไป‌ฆ่า เพียงซื้อของที่มันตายมาแล้วทำอาหาร ก็‌ไม่ฆ่า ไม่ฆ่ายุง ไม่ฆ่ามด ก็เป็นศีลขึ้นมาก็รักษา‌ได้ไม่ขัดข้อง

ข้อ 2. อทินนาทานา ก็เป็นการลักของเขา เราจำเป็นอย่างไรที่จะไปลักของคนอื่นเขา ‌สัมมาอาชีพทำการงานสุจริต มีอาชีพตามทำ‌นองคลองธรรม นี้ก็เป็นศีลอยู่แล้วไม่ขาดแล้ว ‌ข้อนี้จึงไม่ขัดข้อง

ข้อที่ 3. กาเมสุมิจฉาจาร ไม่ประพฤติล่วง‌เกินผัวเขา เมียเขา ลูกสาวเขา เกิดผิดศีตจาก‌ครรลองประเพณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องทำ ‌ไม่ประพฤติผิดศีลข้อ 3 ก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็ชื่อว่า‌เป็นของที่ไม่จำเป็น

ข้อ 4. มุสาวาทา เวรมณี เว้นจากการพูด‌เท็จ เป็นพยานเท็จเบิกความในศาล หรือ‌หลอกลวงคนไปทำงานแล้วไม่ได้เงิน บอกทาง‌คนเดินทางผิด เหล่านี้เป็นการพูดปด ก็เป็น‌บาป เราจะเสแสร้งให้ผิดจากความจริง‌อย่างไร ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพูดปด ศีล‌ข้อนี้ก็ไม่ขัดข้อง

ข้อที่ 5. สุราเมระยะ ดื่มสุราเมรัยก็ไม่จำเป็นสำหรับชีวิต ปัจจัย 4 คือ จีวรบิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรค 4 อย่างนี้‌มีแล้ว สมบูรณ์แล้ว รักษาชีวิตไว้ได้ ไม่จำเป็น‌ต้องมีปัจจัย 5 คือ สุรายาเมาเข้าไปอีก เพราะ‌ว่าการเมาเหล้านี้เป็นเหตุให้ฉิบหาย ดังที่‌รัฐบาลประกาศว่าประชาชนชาวไทยของเรา ‌63 ล้านคนนี้ จะตายด้วยอาการของการเมา‌สุราเสียปีละ 2 หมื่นคน ทรัพย์สินเงินทองเสีย‌ไปเป็นจำนวนมาก คน 2 หมื่นคนตายไป‌เพราะเหล้าเป็นเหตุเท่านั้น นี้เป็นของที่ไม่‌จำเป็นเพราะรักษาศีลไม่ได้

@@@@@@@

เพราะฉะนั้นศีล 5 ประการนี้ จึงควรรักษา‌ให้ได้ ผู้ที่เป็นผู้บริสุทธิ์ศีล 5 คือ ในหลวงพระราชินี พระมหากษัตริย์รักษาศีล 5 ‌ประการไม่ขาดตกบกพร่อง เพราะฉะนั้นเวลา‌พระเจ้าแผ่นดินตาย เรียกว่า สวรรคต คือว่า‌ไปสู่สุขคติแล้ว ไปสู่สวรรค์แล้ว มีหวังที่จะไป‌สู่สวรรค์

เหมือนดังพระบาลีที่อาตมายกมาใน‌ตอนต้น ว่า
   “สีเลนะ สุคติง ยันติ”
    ผู้จะไปสุข‌คติไปเกิดเป็นเทวดาอีก ไปเกิดเป็นมนุษย์อีก ‌ไปเกิดเป็นพรหม
   “สีเลนะ โภคะสัมปทา”
    จะ‌มีโภคทรัพย์บริบูรณ์สมบูรณ์ไม่ขาดตกบก ‌พร่อง ก็เพราะมีศีล
   “สีเลนะ นิพพุติง ยันติ”‌
    จะไปพระนิพพานได้ก็เพราะศีล

อานิสงส์ของ‌ศีลที่ม้วนเป็นครั้งสุดท้ายของการให้ศีลอยู่แล้ว ‌เพราะฉะนั้นพระเจ้าแผ่นดิน ในหลวงจึงมีหวัง‌ได้สุขคติอยู่แล้วตลอดเวลาเป็นแน่นอน

เราทุกคนที่เป็นพุทธบริษัทก็ควรมีศีลอยู่‌ตลอดเวลาดังกล่าวมาแล้ว ตั้งใจใหม่ตั้งแต่‌วันนี้เป็นต้นไปก็ไม่สาย สมาทานศีลแล้วก็ตั้ง‌ใจรักษาศีล ตรวจตราศีลอยู่ตลอดเวลา พอจิต‌มันหน่วงเหนี่ยวเอาศีลเป็นที่พึ่งที่ระลึกแล้ว ‌จิตใจก็ไม่คิดอย่างอื่น ไม่คิดบาป บาปไม่มี‌โอกาสเข้ามาแทรกแซงในจิต จิตเราแนบแน่น‌อยู่กับศีลทุกวัน ทุกเวลา ทุกกาล ทุกสมัย เป็น‌ผู้มีศีลตลอด เพราะฉะนั้นจึงเป็นการปฏิบัติที่‌ถูกต้องทำนองคลองธรรม

สมุจเฉทวิรัติ การงดเว้นของพระอริยเจ้า‌เรียกว่าศีลประเสริฐ ศีลของพระอริยเจ้า‌หมายความอย่างไรว่าศีลประเสริฐ ศีลบริสุทธิ์‌ผุดผ่องครบถ้วนบริบูรณ์ หมายความอย่างนี้ ‌คือศีลของพระอริยเจ้านั้นท่าน งดเว้นเด็ดขาด ‌ท่านไม่คิดจะทำชั่ว ไม่คิดจะพูดชั่ว ไม่คิดจะคิด‌ชั่ว สิ่งที่ชั่วทั้งหลายนั้นเป็นของเลวทราม ท่าน‌หลีกเว้นที่สุด แม้เสียชีวิตก็ไม่ยอมปฏิบัติตาม ‌


@@@@@@@

ดังยกนิทานมาเป็นเครื่องประกอบให้ทายก ทายิกาฟังดังต่อไปนี้

พระจักขุบาล ท่านชวนภิกษุ 30 รูป เรียน‌กรรมฐานจากพระศาสดาแล้วออกไปบำเพ็ญ‌สมณธรรมในหมู่บ้านต่างๆ ไปถึงหมู่บ้านแห่ง‌หนึ่งทายก ทายิกาได้มีศรัทธาเลื่อมใส ขอ‌นิมนต์ให้ท่านอยู่จำพรรษาที่นั่น เพื่อพวกเขา‌จะได้มาปฏิบัติและฟังธรรมคำสอนทุกวัน ท่าน‌ก็อยู่บำเพ็ญเพียรถึงกลางพรรษา

ในกลางพรรษานั้นท่านเตือนภิกษุที่เป็น‌หมู่กันไปว่า“พวกท่านจะมีกติกานัดหมาย‌อะไรในกลางพรรษานี้ก็ทำตามใจเถิด ทำตาม ‌กติกาของตนเองไปเลย ส่วนผมนั้นจะขอตั้ง‌อธิษฐานว่าจะไม่นอน จะเดิน ยืน นั่ง ไม่นอน‌ตลอดพรรษา”ท่านทำไปๆ ตาท่านก็เจ็บ‌เพราะฝืนธรรมชาติ จนในที่สุดตาท่านก็แตก ‌กายก็แตกคือตาแตก ใจก็แตกคือแตกกิเลส ‌เป็นพระอรหันต์ ความมืดก็แตกคือรุ่งเช้าพอดี ‌สามแตกรวมกัน ใจแตก กิเลสแตก โลกแตก ‌ความมืดแตก นี้คืออานิสงส์ของการปฏิบัติใน‌กลางพรรษานั้นเอง

เมื่อออกพรรษาแล้วภิกษุ 30 รูป จะไปกราบ‌พระศาสดา จึงมาชวนหัวหน้าคือพระจักขุบาล ‌ท่านก็บอกว่า“ผมเป็นคนตาบอด จะเป็นที่ยุ่ง‌ยากแก่พวกท่านทั้งหลายอาจจะเดินทางล่าช้า ‌เพราะฉะนั้นขอเชิญพวกท่านไปกราบพระ‌ศาสดาเถิด ผมไม่เป็นธุระของท่านให้ยุ่งยากดอก ‌แต่ผมขอสั่งคำหนึ่งว่าเมื่อไปถึงเมืองสาวัตถีแล้ว‌ให้ไปบอกน้องชายผมว่าผมตาบอดแล้ว ให้น้อง‌ชายผมจัดการมารับผมเอง”

ภิกษุรับคำสั่งของอาจารย์พระจักขุบาล‌แล้วก็ไปกราบไหว้พระพุทธเจ้า แล้วจึงไปบอก‌น้องชายของพระจักขุบาล เมื่อน้องชายของ‌พระจักขุบาลได้ทราบข่าวแล้ว จึงให้ลูกชาย‌ของตนเองไปรับหลวงลุงที่บ้านนอกนั้นให้เข้า‌มา หลานชายจึงคิดว่าเราจะเดินทางผ่านบ้าน ‌ผ่านเมือง ผ่านดงไปอย่างนี้อาจเกิดอันตราย ‌จากการเบียดเบียนของผู้อื่น เพื่อความ‌ปลอดภัยคือเป็นสมณเพศ จึงไปบวชเป็น‌สามเณร นุ่งห่มเหลืองเพื่อกันภัยที่อาจถูก‌เบียดเบียนจากผู้อื่น แล้วจึงไปหาหลวงลุง

@@@@@@@

เมื่อไปถึงหลวงลุงแล้ว จึงแจ้งความ‌ประสงค์ให้ทราบว่า “น้องชายของท่านคือพ่อผม ให้มารับหลวงลุงกลับไป”
พระจักขุบาลก็‌ว่า “เออ ดีแล้ว”
เมื่อเตรียมของเรียบร้อยแล้ว ‌จึงให้หลานชายถือไม้เท้าจูงเดินทางผ่าน บ้าน‌ผ่านเมืองไปหลายเมือง

แล้วมาถึงกลางดง‌แห่งหนึ่ง ในตรงนั้นมีเสียงสตรีร้องเพลงเก็บ‌ฟืนอยู่ในกลางดงนั้น ส่วนหลานชายก็บอกว่า ‌
“หลวงลุงครับ ผมมีธุระจำเป็นอย่างอื่นที่จะ‌ต้องทำ ขอให้หลวงลุงพักอยู่ตรงนี้ก่อน ผมไป‌ทำธุระเสร็จแล้วผมจะกลับมา”

เมื่อหลานชายไปแล้ว เสียงผู้หญิงนั้นก็‌เงียบไม่มีเสียงร้องเพลง เพราะไปทำประพฤติ‌ผิดล่วงสิกขาบทของสามเณรกับผู้หญิงนั้เมื่อสมควรแล้วก็กลับมาหาหลวงลุงว่า “ผม‌เสร็จแล้วธุระ จับไม้เท้า ผมจะจูงหลวงลุงไป”

พระจักขุบาลก็ว่า “ขอถามก่อนว่า เธอไปหาผู้หญิงนั้น เธอทำผิดสิกขาบทของเธอ ละล่วงสิกขาบทจริงหรือไม่”
หลานชายก็บอกว่า “มัน‌ไม่เป็นความจริง”
พระจักขุบาลจึงว่า “เมื่อเธอ‌จากเราไปแล้วเสียงผู้หญิงนั้นยังร้องเพลงอยู่ ‌เมื่อเธอจากไประยะหนึ่งเสียงผู้หญิงนั้นก็เงียบ‌ไปไม่ร้องเพลงอีก เพราะเธอได้ไปล่วงละเมิด‌สิกขาบทของเธอ เพราะฉะนั้นเธอเป็นคนชั่ว ‌เป็นคนเลว คนไม่ดี คนอัปรีย์ คนนรก ประพฤติ‌ผิดสิกขาบทของตนเองทั้งที่เป็นสมณะ”

หลานชายก็ว่า “ผมมิได้บวชด้วยตั้งใจ‌ศรัทธาหรอกครับ ผมบวชเพื่อความสะดวกของผมเอง”
ท่านก็ว่า “ศรัทธาหรือไม่ศรัทธาก็‌ตาม เมื่อเธอหัวโล้นผ้าเหลืองเป็นสามเณร‌แล้ว โลกเขาก็รู้จักว่าเป็นนักบวช มีศีล มีธรรม ‌นี่เธอแกล้งล่วงละเมิดสิกขาบทของตนโดยไม่‌ละอายแก่ใจ เธอเป็นคนเลวต่ำช้าลามก”‌หลานชายจึงว่า“ผมขอสารภาพผิดแล้ว ขอ‌หลวงลุงจงโปรดยกโทษด้วยเถิด จับไม้เท้าผม‌แล้วผมจะจูงหลวงลุงไป”

พระจักขุบาลท่านก็บอกว่า “เราจะไม่ยอม‌ตามคนประพฤติชั่วที่เห็นแก่กิเลส ตัณหา ‌ราคะของตัวเองตลอดเวลา แม้ก้าวเดียวเราก็‌จะไม่ตามเธอไป เพราะฉะนั้นขอให้เธอจงไป‌ตามทางของเธอเถิด ปล่อยให้เราอยู่นี่”
หลาน‌จึงว่า “ถ้าผมไม่จูงหลวงลุงไปแล้ว หลวงลุงจะ‌ตายอยู่ในนี้นะครับ”
ท่านบอกว่า “ตายหรือไม่‌ตาย เป็นหน้าที่ของเรา ส่วนเธอมีหน้าที่หนี‌จากเราไป เราจะไม่เดินตามเธออีกต่อไปแล้ว”

หลานชายไม่มีคำตอบ เดินร้องไห้จากไป ‌ปล่อยให้พระจักขุบาลอยู่ในกลางดงนั้น




เรื่องนี้ได้เดือดร้อนถึงพระอินทราธิราชบน‌สวรรค์ มองมาเห็นพระจักขุบาลตาบอดอยู่ในกลางดง หลานชายจากไปไหนแล้ว ไม่รู้จะไป‌ที่ไหนได้ ถ้าเราไม่ไปช่วยไม่รู้จะไปที่ไหนได้ ‌พระอินทร์จึงแปลงกายเป็นบุคคลธรรมดามา‌ในที่ที่พระเถระอยู่ กระแอมขึ้นมาทำท่าให้‌ท่านรู้จัก

พระจักษุบาลจึงว่า “โยมจะไปไหน”‌
ท่านก็ว่า “จะไปเมืองสาวัตถี ผมจะรับท่านไป‌ด้วย”
ท่านก็ว่า “อาตมาตาบอด จะเป็นธุระ‌ท่านนะ ลำบากเฉยๆ ไปเถิด”
พระอินทร์จึงว่า ‌“ผมไม่มีธุระอะไรรีบร้อน ขอผมได้จูงท่านไป‌ให้พ้นจากดงนี้ถึงเมืองสาวัตถีเถิด”

เมื่อทายกปลอมอ้อนวอน ท่านก็จับไม้เท้า‌ของทายกพระอินทร์เดินตามกันไปได้ไม่นาน ‌ก็ได้ยินเสียงอึกทึกของชาวเมืองสาวัตถีเมือง‌ใหญ่ ท่านจึงเอะใจว่า “เอ๊ะทำไม จากนี้ถึง‌เมืองสาวัตถีไม่ใช่ของใกล้นะ นี่ทำไมได้ยิน‌เสียงเมืองสาวัตถีแล้ว”
พระอินทร์จึงตอบว่า ‌“ผมมีคาถาย่นแผ่นดินให้สั้นเข้า” ท่านก็เดิน‌ต่อไปอีกตามหลัง พระอินทร์ไป

เมื่อไปส่งถึงวัด ก็เข้าไปกราบพระพุทธเจ้า‌แล้วพระอินทร์ก็หายไป เมื่อพระจักขุบาลมา‌ถึงวัดของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ทำกุฏิของท่าน‌เป็นพิเศษ ทำราวไว้ให้จับเพื่อเดินไปอาบน้ำ ‌เดินตามราวไปเดินจงกลม ท่านปฏิบัติอย่าง‌นั้น แล้วมีคืนหนึ่งในฤดูฝน แมลงเม่าทั้งหลาย‌ออกจากรูของตนเอง บินไปมาแล้วก็มาตกเรี่ย‌ราดอยู่ตามทางเดินจงกลม ทำให้ท่านเหยียบ‌แมลงเม่าตายเป็นอันมาก ท่านก็ไม่รู้ว่าแมลง‌เม่าตาย พอตื่นเช้าขึ้นมา

ลูกศิษย์ลูกหายังไม่ได้กวาดที่ทาง แต่ภิกษุ‌สังวัคคีมาเห็นก่อนก็ว่า“นี่หรือพระอรหันต์ ยังเหยียบแมลงเม่าตายอย่างนี้หรือ เป็นพระ‌อรหันต์ อรหันต์อย่างไรไม่ทราบ จึงฆ่าสัตว์ไม่‌ละอาย ไม่เกรงกลัวต่อบาปอกุศลเลย”จึงไป‌ฟ้องพระพุทธเจ้าว่า พระจักขุบาลท่านเป็น‌พระอรหันต์อย่างไร จึงเหยียบแมลงเม่าตาย‌เป็นเบือเลย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เรียกพระจักขุบาลมาหา ท่านมากราบพระพุทธเจ้า‌แล้วพระพุทธเจ้าจึงทรงถามว่า“เธอเหยียบ‌แมลงเม่าตายเป็นจำนวนมากใช่ไหม”

พระจักขุบาลจึงกราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ‌“ข้าพระองค์ตาบอดทั้งสองข้าง มีความมืดอยู่ตลอดเวลา ตาไม่มีแล้วเมื่อเหยียบอะไรก็ไม่‌รู้จัก มองไม่เห็น ไม่ได้เจตนา ถ้าแม้นว่าข้า‌พระองค์เห็นแล้วจะมีคนมาบังคับให้ข้า‌พระองค์เหยียบข้าพระองค์ก็จะไม่เหยียบ ‌แมลงเม่านั้น แม้นเขามาขู่จะฆ่าให้ตาย ข้า‌พระองค์ก็ยอมถูกฆ่าให้ตายดีกว่าจะไปเหยียบ‌แมลงเม่าให้ตาย”

@@@@@@@

นี้เองพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า พระจักขุบาล‌เป็นผู้เที่ยงแท้แน่นอน เป็นพระอริยะมีศีล‌มั่นคง แน่แน่ว เอาชีวิตเป็นเดิมพัน เรียกว่า‌เสียชีพอย่าเสียสัตย์ แม้จะต้องตายก็ตามก็จะ‌ไม่ยอมเสียศีล

นี่เป็นอุทาหรณ์ว่า สมุจเฉทวิรัติ ศีลของ‌พระอริยเจ้าเป็นอย่างไร ขึ้นชื่อว่าความชั่ว‌ท่านไม่พอใจที่จะทำ แม้คนชั่วท่านก็ไม่พอใจที่‌จะเดินตามคนชั่ว เป็นกิจวัตรของพระอริยเจ้า ‌เป็นศีลอันประเสริฐทั้งทางกาย ทางวาจาและ‌ทางใจ

ศีลของเราปุถุชนนี้ที่รักษาศีล 8 ศีล 5 ‌รักษาศีลแต่ทางกายและวาจา แต่ทางใจนั้นไม่‌รักษา ก็ไม่ถือว่าขาดศีล เช่น ว่าดื่มสุราเมรัย‌เป็นบาป ถ้าหากว่าไม่ดื่มเขาจะฆ่าให้ตายก็‌ยอมให้ฆ่าให้ตายไม่ยอมละศีล แต่ว่าใจของ‌ปุถุชนไม่เป็นเช่นนั้น คิดอยาก ฆ่าอยู่สำนึกขึ้น‌ได้ว่าเรามีศีลไม่ควรฆ่า เช่น มด ยุงมาตอม มา‌กัด ก็สำนึกขึ้นได้ว่าเราเป็นคนมีศีล ไม่ควรจะ‌ทำ แต่ใจอยากฆ่าอยู่ ใจอยากประพฤติล่วง‌ละเมิดอยู่ สามีภรรยาที่ไปทำชู้ทำสาว ‌ประพฤติกาเมสุมิจฉาจาร พอเหมาะพอควรที่‌จะทำได้ ก็ตั้งใจไม่ทำ แต่ว่าใจอยากทำอยู่แต่ก็‌มีศีลมาขัดไว้จึงไม่ทำ ไม่สมควร

นั่นชื่อว่าเป็นศีลของปุถุชนสามัญเรา ไม่‌เหมือนศีลของพระพุทธเจ้าหรือพระอริยเจ้า‌ทั้งหลายดังพระจักขุบาลเป็นต้น ท่านไม่ยอม‌เดินตามหลังหลานชายไปนั้น เพราะรังเกียจ‌ความชั่วของคนชั่วนั้นเอง เป็นศีลที่ประเสริฐ ‌เป็นศีลที่บริสุทธิ์ ...ศีลของพระอริยเจ้าจึง‌ประเสริฐที่สุด นี้ชื่อว่าการรักษาศีลธรรม พระ‌มีศีล 227 เณรมี 10 สิกขาบท ที่เป็นศีลแล้ว ‌ถ้ามีศีลไม่บริสุทธิ์แล้วอย่าหวังผลเป็นสมาธิ‌เลย ดังพระบาลีว่า

    “สีละ ปะริภาวิโต สะมาธิ มะหัปผะโล ‌โหติ มะหานิสังโส”
     เมื่อมีศีลบริสุทธิ์แล้ว ย่อม‌มีผลใหญ่ อานิสงส์ใหญ่ คือ สมาธิ

    “สมาธิ ปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา ‌โหติ มะหานิสังสา”
     เมื่อมีสมาธิบริสุทธิ์แล้ว ‌ย่อมมีผลใหญ่ อานิสงส์ใหญ่ คือ ปัญญา

    “ปัญญา ปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ ‌อาสะเวหิ วิมุจจะติ”
     เมื่อมีปัญญาบริสุทธิ์แล้ว ‌ย่อมมีผลใหญ่ อานิสงส์ใหญ่ คือ วิมุตติ หลุด‌พ้นจากกิเลสตันหาบั้นปลายที่สุด

@@@@@@@

เพราะฉะนั้นเบื้องต้นของศีลนี่แหละ‌สำคัญ ถ้าศีลไม่บริสุทธิ์ อย่าไปหวังเลยสมาธิ ‌ไม่ได้แน่นอนดังพระบาลีที่กล่าวมาแล้ว ‌เพราะฉะนั้นศีลจึงสำคัญที่สุด เป็นประโยชน์‌อย่างยิ่ง

เพราะฉะนั้นศีลกถาที่อาตมาได้ชี้แจง‌แสดงมาก็พอสมควรแก่เวลาขอให้ศรัทธา‌ญาติโยมตั้งใจฟัง แล้วก็ทำตามด้วย คือตั้งใจ‌สมาทานศีลใหม่ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ตั้งใจ‌ใหม่ว่าเราจะมีศีลตลอดเวลาทุกชีวิต ทุกวันทุก‌เวลา เป็นทางปฏิบัติสู่อริยะสูงขึ้นไป เพราะ‌ฉะนั้นธรรมที่อาตมาชี้แจงมาก็สมควรแก่เวลา

ท้ายที่สุดแห่งพระธรรมเทศนานี้ ขอ‌อ้างอิงเอาคุณพระศรีรัตนตรัยและผลศีลผล‌ทานศรัทธาญาติโยมที่ฟังเทศน์ในวันนี้ก็ดี จง‌รวมกันเป็นมหันตเดชานุภาพบันดาลให้ท่าน‌ทั้งหมดจงแคล้วคลาดปราศจากอุปัทวันตราย ‌ประสบแต่ความสุขความเจริญยิ่งๆ ขึ้นไปทุกทิพาราตรีกาลทุกๆ คน ทุกๆ ท่านเทอญเอวังก็มีด้วยประการฉะนี้


 


ขอบคุณที่มา : https://www.posttoday.com/lifestyle/157632
POST TODAY > ไลฟ์สไตล์ > 03 มิถุนายน 2555 > โดย ภัทระ คำพิทักษ์
บันทึกการเข้า
ปัญจะมาเร ชิเนนาโถ ปัตโต สัมโพธิมุตตะมัง จตุสัจจัง ปะกาเสติ มหาวีรัง นะมามิหัง ปัญจะมาเร ปลายิงสุ